ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 คนถือบัตรเสริมต้องรับผิดร่วมกับบัตร (เครดิต) หลักทุกกรณีหรือไม่

        ในปีนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตไปพอสมควรจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 เรื่องที่จะหยิบยกมาแบ่งปันในวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวการใช้บัตรเครดิต หลายท่านรู้จักและได้ใช้บัตรเครดิต เพราะในยุคนี้ต้องยอมรับว่าการใช้บัตรเครดิตทำให้เราสะดวกมากขึ้น แต่ภายใต้ความสะดวกก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ค้างจนกระทบต่อเงินในบัญชีของเรา          คดีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเรื่องของคนใช้บัตรเสริมของบริการบัตรเครดิต ที่ตอนสมัครก็ไปลงลายมือชื่อในสัญญาสมัครบัตรเครดิตว่า ยอมรับผิดร่วมกับบัตรหลัก  ครั้นพอคนใช้บัตรหลักเป็นหนี้สถาบันการเงินก็มาฟ้องให้คนถือบัตรเสริมร่วมรับผิดด้วยก็เกิดการโต้แย้งกันเพราะคนใช้บัตรเสริมเห็นว่า ตนไม่ควรต้องรับผิดในหนี้ที่ตนเองไม่ได้ร่วมใช้ คดีก็สู้กันจนถึงศาลฏีกาและศาลได้ตัดสินคดีเป็นบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิคนถือบัตรเสริม         กล่าวคือ คนถือบัตรเสริมไม่ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ของบัตรหลักเพราะตอนทำสัญญาสถาบันการเงินยึดถือผู้ใช้บัตรหลักเป็นลูกหนี้หลัก อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัด ให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ดังนั้นข้อสัญญาที่ระบุให้คนถือบัตรเสริมต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้บัตรหลักจึงเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560         แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด          ดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ตีแผ่อาหารเสริม "ถังเช่า" บำรุงร่างกายจริงหรือตัวเร่งตับ-ไตพัง

        “ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน  กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต             กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา           เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง  บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด  ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น         แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม          ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น         “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล”         นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที         ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์         ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน  ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป         “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้  ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต”          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี  มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย         ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม         น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก         “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย  ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก”           ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.  พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง         ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี        แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี          บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง                 กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย         และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์         “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท  และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”         อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง  เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย         ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง  เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง         ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา         ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น          รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้         “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว”         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้         “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป         คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ              2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน”         ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า           “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด”          ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น         ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ไหนบอก.. ดูดไขมัน ทำแล้วไม่เจ็บ

        บ่ายวันหนึ่งระหว่างที่คุณสุปราณีเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานสาวสวยหน้าคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาหา พร้อมกับเสนอโปรโมชันพิเศษคอร์สเสริมความงาม ดูดไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน แบบที่คุณสุปราณีก็ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณสุปราณีได้ฟังข้อมูลจากพนักงานขายก็เริ่มเกิดความสนใจ และได้เข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดขั้นตอนและราคากับทางคลินิก         หลังจากพูดคุยตกลงความต้องการกันเสร็จเรียบร้อย ทางคลินิกได้แจ้งกับคุณสุปราณีว่า จะให้บริการดูดไขมันในครั้งแรกทั้งหมด 7 จุด ที่บริเวณหน้าท้องและใต้คอ รวมค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และยังได้ให้คำแนะนำคุณสุปราณีว่า การดูดไขมันนั้นไม่เจ็บมาก โดยจะทำการฉีดยาชาให้ก่อน และรูที่ดูดไขมันนั้นก็เล็กเท่าปลายปากกา         เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการครั้งแรก คุณสุปราณีไปคลินิกด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าคอร์สดูดไขมันมาก่อนในชีวิต โดยหลังจากคลินิกได้ทำการดูดไขมันให้ คุณสุปราณีรู้สึกว่าเจ็บมาก ไม่ใช่เจ็บนิดเดียวอย่างที่คลินิกบอก และทางคลินิกก็ทำการดูดไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ และรูที่ดูดก็ไม่ได้เล็กเท่าปลายปากกา แต่ใหญ่กว่ามาก หลังจากที่กลับมาสำรวจรูปร่างของตัวเองก็พบว่าหน้าท้องไม่ได้ยุบลงจากเดิมเลยคุณสุปราณีรู้สึกผิดหวังกับทางคลินิกที่ให้บริการไม่ตรงกับที่บอกไว้ จึงอยากขอเงินอีกครึ่งหนึ่งคืน และไม่ต้องการกลับไปใช้บริการคอร์สดูดไขมันอีกแล้วเพราะรู้สึกเจ็บมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณสุปราณีสามารถบอกเลิกสัญญากับทางคลินิกได้ เพราะคลินิกไม่ได้ให้บริการดูดไขมันให้ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ ถือว่าผิดสัญญา  และยังชี้ชวนว่า การดูดไขมันไม่เจ็บ ถือเป็นการชวนเชื่อให้เข้าใจผิด คุณสุปราณีต้องแจ้งต่อคลินิก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน หากคลินิกไม่ยอมคืนเงิน คุณสุปราณีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้         ทั้งนี้ การใช้บริการคอร์สเสริมความงามเช่นการดูดไขมันนี้ อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายได้หากผู้ให้บริการขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 รู้เท่าทันอาหารเสริมบำรุงตา

        โรคความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นคือ สายตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัด พร่ามัว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมาโฆษณาชักชวนให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อให้สายตาดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาก็พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่ที่มีคนถามไถ่มากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดี คอนแทค ว่ามีสรรพคุณรักษาดวงตาตามโฆษณาจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ดีคอนแทคคืออะไร               มีการโฆษณาดีคอนแทค (D-Contact ) ทั้งจากผู้จำหน่าย ร้านค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยดูแลดวงตาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้แก่ ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม ตาบอดกลางคืน โรคตาแห้ง เป็นต้น         มีการโฆษณาว่าในดีคอนแทคมีส่วนประกอบหลักจากสารต่างๆ จากธรรมชาติ ได้แก่ เบต้ากลูแคนจากยีสต์ สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ กรดแอสคอร์บิก สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ สารสกัดจากบลูเบอรี่ สารสกัดจากดอกดาวเรือง เบต้า- แคโรทีน วิตามิน บี 12  รวมทั้งมีเลขทะเบียน อ.ย 10-1-15456-5-0019         ราคาขายมีตั้งแต่กล่องละ 700 กว่าบาทจนถึง 1,200 กว่าบาท กล่องละ 30 แคปซูล โดยสามารถหาซื้อได้จากผู้ขายตรงและในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ  ดีคอนแทคน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย        พยายามค้นข้อมูลดีคอนแทคในต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ในชื่อ ดีคอนแทคในต่างประเทศ และพยายามค้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องใน Pubmed และ Cochrane และในหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พบ จึงเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เลขทะเบียนอ.ย 10-1-15456-5-0019        เมื่อค้นข้อมูลในอย. พบข้อมูลว่า         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่างๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค         ต่อมา นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่ง อย.ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562        สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอย. แต่มีการนำไปโฆษณาใช้เป็นการรักษาโรค ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายจึงขอให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันไว้ว่า การมีเลขทะเบียนอย. นั้น ไม่ใช่การรับรองว่าเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้รักษาโรคได้ต่างๆ นานาตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 คดีบัตรเครดิต คนใช้บัตรหลักก่อหนี้คนเดียว คนใช้บัตรเสริมต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่?

        สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับฉบับนี้ เรามาพูดถึงเรื่องที่หลายท่านเคยเจอหรืออาจเจอสักวัน คือการเป็นหนี้บัตรเครดิต บางคนมีบัตรหลายใบ บางคนทำบัตรเครดิตทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม จึงมีคนสงสัยว่า กรณีเราเป็นคนใช้บัตรเสริม เกิดวันหนึ่งคนใช้บัตรหลักไปสร้างหนี้ไว้ เราจะถูกฟ้องให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ จึงขอหยิบยกคดีตัวอย่างสักเรื่องซึ่งศาลฏีกาได้เคยตัดสินไว้ และเป็นสิ่งที่น่ายินดีกับลูกหนี้บัตรเสริมซึ่งไม่ต้องรับผิด เนื่องจากในคดีนี้ศาลฏีกาเห็นว่าผู้ใช้บัตรหลักเป็นคนไปก่อหนี้เพียงคนเดียวโดยตรง ดังนั้นผู้ใช้บัตรเสริมจึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดด้วย         คำพิพากษาฎีกาที่  2765/2560         การทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลัก ซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริม         แม้ในใบสมัครบัตรเสริมมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ก็ไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นข้อสัญญาไม่ธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภค ประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมกับกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์         จากคำพิพากษานี้ เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่องนะครับ ตั้งแต่ข้อสัญญาในใบสมัครบัตรเสริมที่ระบุให้ผู้ใช้บัตรเสริมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อันนี้ศาลก็เห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้ อีกประเด็นคือคนก่อหนี้คือคนใช้บัตรหลักผู้เดียว และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ก็กำหนดไว้แล้วว่าผู้ใช้บัตรหลักต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด  เช่นนี้ ใครเป็นคนใช้บัตรหลักก็ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีว่าควรให้ใครใช้บัตรเสริม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ

        ระยะนี้มีการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากมาย  มีการนำดารา ศิลปิน นักกีฬามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า พรีเซนเตอร์เหล่านี้มีชื่อเสียง ฐานะดี คงไม่มาหลอกลวงเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีมาโฆษณาอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงเพราะเอาพระเอกที่คนไทยชื่นชอบมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตับกำลังมาแรง เพราะภาวะตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กำลังพบมากขึ้น ทำให้ผู้คนบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันตับจากภาวะดังกล่าว        เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับอย่างน้อย 4-5 รายการที่มีการโฆษณาขายในเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีการขายกันในโลกออนไลน์มากกว่า 10 รายการขึ้นไป มีการโฆษณาต่าง ๆ นานาว่าเป็นการ “ปกป้องตับ ฟื้นตับ ดีท็อกซ์ตับ คลีนตับ ขับสารพิษในตับ ตับสะอาด ขับของเสียจากแอลกอฮอล์ ไม่เมาค้าง” เป็นต้น  ทำให้ตับกลับคืนส่สภาพเดิม รู้สึกดีขึ้น  ในบ้านเราเน้นไม่เมาค้าง ทำให้สายดื่มได้เฮกันเพราะจะได้ดื่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์บำรุงตับมีอะไรบ้าง         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้นจะใช้สมุนไพรหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ มิลค์ ทิสเทิล (milk thistle)  ใบอาร์ทิโชก รากแดนดิไลออน[1]           สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์อย่างไรต่อตับ?        ในมิลค์ ทิสเทิล จะมีสารไซลิมาริน ซึ่งเป็นสารเคมีในพืช ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารไซลิมารินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเซลล์ตับ ลดการอักเสบ ป้องกันเซลล์ตับ จึงทำให้มีการนำสมุนไพรนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงตับ       ใบอาร์ติโชคมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยสร้างเซลล์ตับได้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าช่วยลดการทำลายตับลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ต้องมีการศึกษาในทางคลินิกต่อไป        รากของแดนดิไลออนนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตับมานาน แต่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผล        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับชนิดต่าง ๆ มีการผสมสมุนไพรเพิ่มเติม เช่น โกจิเบอร์รี่ สมอพิเภก บ๊วย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือ         เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่า การวิจัยสมุนไพรหลัก 3 ชนิดในคนยังไม่มีและคุณภาพงานวิจัยยังไม่ดีพอ ต้องทำการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม ส่วนการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคตับต่าง ๆ นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และอาจทำให้เอนไซม์ตับมีค่าสูงขึ้น เราจะดูแลตับให้ดีได้อย่างไร         เราสามารถดูแลตับให้แข็งแรงได้โดย การลดไขมันในอาหาร ลดสารพิษ เช่นยา สารเคมี ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย กินผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีอันตรายมากขึ้น สรุป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรซึ่งมีความปลอดภัย แต่สรรพคุณนั้นยังต้องการการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม[1] สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดพบในเขตหนาว ไม่พบในบ้านเรา ยกเว้นอาร์ติโชค มีการนำมาปลูกโดยโครงการหลวง แต่ไม่เป็นที่นิยม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 คลินิกเสริมสวยเปิดใหม่เซลล์ขายแหลกแต่ทำไม่ได้จริง

        ได้ชื่อว่าเซลล์ตำแหน่งนี้วัดกันที่การขาย ใครหาลูกค้าได้มากรายได้ก็มากตามขึ้นไป ผู้บริโภคหลายคนจึงถูกเซลล์ปั่นจนหวั่นไหว เสียเงินไปแบบคิดไม่ทันจนเจ็บใจมาก็เยอะ ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง         คุณพบรัก เผอิญไปพบเจอเซลล์หรือพนักงานขายของคลินิกเสริมความงามแห่งใหม่เข้าอย่างจังในระหว่างเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พนักงานหญิงสองคนประกบหน้าหลัง ชักชวนให้ตรวจหน้าแบบฟรีๆ เพื่อดูสภาพผิวว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณพบรักไม่ทันคิดอะไรนัก คิดว่าฟรีก็ดีเหมือนกันไม่ได้ตรวจสภาพผิวหน้าตัวเองนานแล้ว ลองดูสักหน่อยไม่เสียหาย         โอ้ สุขภาพผิวคุณดีจังเลย ไม่ใช่คำตอบที่คุณพบรักได้รับแต่เป็นผลตรงกันข้าม พนักงานแจ้งว่า สุขภาพผิวหน้าแย่มากๆ ทางคลินิกของเราขอรับอาสามาเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ให้ พอถามไปว่าต้องทำอย่างไร พนักงานก็ขอบัตรเครดิตพร้อมแนะนำคอร์สหนึ่งให้ในราคา 7,000 บาท จากนั้นก็รูดบัตรเสร็จสิ้นกระบวนการ คุณพบรักได้สลิปบัตรมาพร้อมใบเสร็จชั่วคราวอย่างงงๆ พร้อมคำสัญญาของพนักงานว่า ระหว่างนี้คลินิกยังไม่พร้อมให้บริการ คุณพบรักต้องรอ 3 เดือนจึงจะไปใช้บริการได้         ผ่านมาเกือบสามเดือนพนักงานที่ขายคอร์สให้ได้โทรมานัดให้ไปที่คลินิกเพื่อตรวจสภาพผิวอีกครั้ง แต่พอใกล้วันจริง “นางบอกว่า อย่าเพิ่งมาดีกว่าเพราะกลิ่นสียังไม่ทันจาง และทางหน่วยงานรัฐยังเข้ามาตรวจสอบไม่เสร็จ ไว้เป็นสัปดาห์หน้านะคะ” คุณพบรักจึงได้แต่รอต่อไป         ในวันนัดจริงเมื่อคุณพบรักมาถึงคลินิกก็พบเรื่องน่ารำคาญใจหลายเรื่อง ตั้งแต่มีการนัดคนมาใช้บริการในวันดังกล่าวจำนวนมาก คุณพบรักต้องรอถึง 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงคิวของตัวเอง พอกำลังจะเริ่มรับบริการ ก็ยังต้องรอเครื่องมือจากห้องอื่น แม้จะเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกต้องเพราะเครื่องมืออาจติดเชื้ออะไรก็ได้จากคนที่ใช้บริการก่อนหน้าตนเอง แต่นอนบนเตียงไปแล้วจะร้องเรียนอะไรก็ทำไม่ได้ จึงต้องปล่อยเลยตามเลย แถมระหว่างนวดหน้าอยู่ เซลล์ยังโทรเข้ามาขอโทษที่ให้ลูกค้ารอนาน “มันใช่เวลาไหม” คุณพบรักหงุดหงิดอยู่ในใจ        เมื่อใช้บริการนวดหน้าเสร็จ พนักงานแจ้งให้ไปรออีกห้องหนึ่งก่อน เมื่อมาที่ห้องนี้ก็กลายเป็นห้องสำหรับการขายโปรโมชั่น(อีกแล้ว) คุณพบรักมีความขยาดอยู่จึงไม่สนใจโปรที่พนักงานเสนอ จนพนักงานงัดทีเด็ดบอกว่า โปรนี้พิเศษมากๆ ลูกค้าจ่ายเพียง 23,000 บาท รวมกับของเดิม 7,000 บาท เท่ากับ 30,000 บาท แต่จะได้รับบริการในระดับเดียวกับการจ่ายคอร์ส 90,000 บาท และจะมอบบริการพิเศษให้คุณพบรักสามารถผ่อนบัตรเครดิต 0% ได้อีกด้วย โอ้ คุ้มมากคุณพบรักคิดจึงตอบตกลงไป พร้อมรูดเงินไป 13,000 บาท เนื่องจากวงเงินวันนั้นไม่พอ จึงค้างไว้ก่อน 10,000 บาท         อย่างไรก็ตาม การผ่อนชำระ 0% นั้น พนักงานแจ้งภายหลังว่า ไม่สามารถทำได้ ขั้นต่ำคือคุณพบรักต้องผ่อนกับบัตรเครดิตที่ดอกเบี้ย 0.89%         คุณพบรักตอนนี้เริ่มพบว่า ไม่ไหวจะเคลียร์แล้ว พนักงานขายทำไม่ได้จริงสักอย่างที่สัญญาไว้ จึงทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาไปที่คลินิกและทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตร ทางธนาคารแจ้งว่าอย่างไรก็ตามจะต้องให้ทางคลินิกยกเลิกสัญญาก่อนจึงจะปิดหนี้บัตรเครดิตให้ คุณพบรักจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และดำเนินการติดต่อกับคลินิกเพื่อขอยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน แนวทางแก้ไขปัญหา         คุณพบรักดำเนินการแจ้งร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมๆ กัน ต่อมา ทางคุณพบรักแจ้งกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า  ได้ไปเจรจากับทางคลินิกที่ สคบ.แล้ว บริษัทฯ จะคืนเงินให้ 70% ในส่วนของ 13,000 บาท คือ 9,100 บาท ส่วนที่เหลือ คือ 7,000 บาทแรกนั้น เนื่องจากมีการรับบริการไปแล้ว 1 ครั้ง จึงขอให้คุณพบรักไปใช้บริการต่อในส่วนนั้น บริษัทฯ อ้างว่า ส่วนที่หัก 30% คือค่าดำเนินการที่จะขยายคอร์สจาก 30,000 เป็น 90,000 บาท ส่วน 7,000 ก่อนหน้าตามเงื่อนไขของบริษัทฯ หากมีการใช้บริการไปแล้วจะไม่คืนเงินส่วนที่เหลือต้องใช้บริการไปจนจบคอร์สนั้นๆ         คุณพบรักไม่อยากยุ่งยากจึงรับข้อเสนอดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 แค่สระไดร์ ทำไมแพงจัง

สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงนำมาเสนอฝากเป็นเรื่องเตือนใจถึงผู้บริโภคท่านอื่น ดังนี้         คุณศรีสมรไปประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ช่วงเย็นหลังเลิกงานประชุมแล้ว คุณศรีสมรแวะเข้าไปใช้บริการสระไดร์จากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งที่เปิดบริการอยู่ใกล้ๆ โรงแรม เท่าที่สังเกตคือ ร้านเสริมสวยดังกล่าวไม่ได้ติดป้ายแสดงราคาค่าบริการเอาไว้ ส่วนคุณศรีสมรเองตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก จึงไม่ได้สอบถามค่าบริการก่อนแต่แรก คิดว่าแค่สระไดร์คงไม่เกิน 150 บาท เพราะเคยทำในราคานี้         หลังจากรับบริการเสริมสวยเป็นที่เรียบร้อย คุณศรีสมรก็ต้องตกใจ เมื่อเจ้าของร้านเรียกเก็บค่าบริการเป็นเงินจำนวน 340 บาท ซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก คุณศรีสมรจึงสอบถามเจ้าของร้านไปว่า ทำไมค่าบริการถึงแพงจัง ?  ซึ่งเจ้าของร้านได้ตอบกลับมาว่า “ ผมสั้น 200 บาท ผมยาว 340 บาท ค่ะ ”         คุณศรีสมรนำเรื่องมาปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ถึงปัญหาการคิดค่าบริการสระไดร์ของร้านเสริมสวยดังกล่าวว่าแพงเกินไปหรือไม่ ทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้แจ้งกับคุณศรีสมรไปว่า การที่ทางร้านไม่ติดป้ายแสดงราคานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น จะทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. หากผู้บริโภคเจอปัญหาเช่นนี้ ให้ถ่ายภาพสถานที่ร้านเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจถ่ายภาพจากระยะห่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงกัน        2. ร้องเรียนไปยัง กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 เพื่อขอให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค        - ควรเลือกใช้บริการร้านค้าที่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า/บริการที่ชัดเจน  หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สอบถามและตกลงค่าบริการกันก่อนใช้บริการ         สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สามารถขอคำแนะนำหรือร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคได้ที่ สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น  เลขที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.065 052 5005  หรือ อีเมล cakk2551@gmail.com หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/Cakk2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ถึงเวลาเอาคืนดาราและเน็ตไอดอล

        ข่าวที่ปรากฏครึกโครมทางสื่อมวลชล  ตั้งแต่กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไล่จัดการเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แอบผสมยาลดน้ำหนัก จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา จนผู้ป่วยจำนวนมากหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้          หากติดตามข่าวจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ มีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล แม้กระทั่งนักแต่งเพลง ใช้ความดัง ความน่าเชื่อถือ หรือความชื่นชอบของบรรดาแฟนๆ มาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้ทางราชการจะไล่จับ แต่ก็ไม่ค่อยทัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องตั้งสติ ให้เท่าทันการโฆษณาหลอกลวง         1. เห็นโฆษณาเมื่อใด ให้ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ก่อนว่า เราเชื่อว่าพวกดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโฆษณาจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงคนกลุ่มนี้ต้องไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะผลิตภัณฑ์มันโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดนึกนี่นา         2. ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ดีจริงอย่างที่โฆษณา ทำไมในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เอาไว้ใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล         สิ่งสำคัญอีกอย่างที่พวกดาราและเน็ตไอดอลกลัว คือผลกระทบต่อความดัง หรือความฉาวของชื่อเสียง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกัน เอาคืนดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้เสียที          1. เจอโฆษณาที่ไหน ให้บันทึกข้อมูลให้ละเอียด เช่น เว็บไซต์ไหน สื่อโซเชียลไหน ถ้าจับภาพหน้าจอหรือบันทึกคลิปได้ ให้บันทึกไว้เลย ระบุวันเวลาที่พบด้วย ถ้ามีเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ ต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน         2. หาช่องทางติดต่อสอบถามดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องตอบว่าใช้แน่นอน หลังจากนั้น ให้สอบถามถึงสรรพคุณต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ดาราและเน็ตไอดอลพวกนี้ว่าเป็นจริงที่ตามที่โฆษณาหรือไม่ เพื่อให้มีข้อมูลออกมาจากเขาโดยตรง จะได้ไม่ต้องอ้างเวลาถูกดำเนินคดีว่า ตนไม่รู้เรื่อง เจ้าของผลิตภัณฑ์เอาภาพตนไปทำโฆษณาเอง         3. จับภาพหน้าจอ หรือบันทึกคลิปที่ดาราหรือเน็ตไอดอลเหล่านี้ ยืนยันสรรพคุณต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน         4. นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป         5. พวกดาราและเน็ตไอดอล มักกลัวความฉาวส่งผลกระทบต่อความดัง มาตรการเอาคืนอีกทางหนึ่งคือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้สื่อมวลชนที่เรารู้จัก หรือสื่อโซเชียลที่สนใจประเด็นเหล่านี้ นำไปขยายผลหรือติดตามตรวจสอบต่อไป         6. เมื่อผลคดีตัดสินว่า ดาราและเน็ตไอดอลทำผิดจริง ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและทวงถามความรับผิดชอบจากดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ หรือชวนกันบอยคอตไม่สนับสนุนผลงาน         ยิ่งเรารัก เราชื่นชอบดาราหรือเน็ตไอดอลคนไหน เรายิ่งต้องตรวจสอบ เพื่อดูแลให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้อง ไม่เผลอไผลไปกระทำผิดให้บรรดาแฟนๆ เจ็บช้ำใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายจากห้างค้าปลีกออนไลน์

        ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและวิธีที่ปลอดภัยคือการพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีคุณผู้ชายเป็นจำนวนมากไม่ยินดีพบแพทย์ เลือกที่จะทดลองรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยเพิ่มขนาดน้องชาย เพิ่มระยะความสุขในกิจกรรมทางเพศ ทำให้สู้ศึกได้ยาวนาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำอวดอ้างสรรพคุณที่เกิดจากการลักลอบนำยาอันตราย ที่มีผลในการรักษาภาวะองคชาติไม่แข็งตัวผสมไปในผลิตภัณฑ์ โดยผลข้างเคียงของการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายนี้อาจเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเหล่านี้ มีขายกลาดเกลื่อนบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจได้รับทราบคำเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างว่ามีความเสี่ยง ทำให้หลายคนเปลี่ยนไปซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อมั่นในตัวห้างออนไลน์ว่าจะช่วยคัดกรองผู้ผลิต ผู้ประกอบการให้กับทางผู้บริโภค แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงทดลองสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยแก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ฟิตเปรี๊ยะ ตลอดจนเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ยอดนิยม 6 แห่ง ได้แก่ SHOPEE, Watsons, LAZADA, Shop at 24, 411estore.com, และ We mall  ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหาสาร (ยา) ในกลุ่มที่แก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งผลทดสอบเป็นที่น่าห่วงใยอย่างมาก ผลทดสอบ    ผลการทดสอบหายา ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล(Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ 6 แห่ง พบว่า 7 ใน 10 ตัวอย่าง มีการผสมสารหรือยาแผนปัจจุบัน ดังนี้    1.   DRACO รุ่นผลิต 15/01/2561 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    2.   แซต4 (Z4) ตรา PLAYS รุ่นผลิต 3/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก Watsons    3.   MO CHA รุ่นผลิต 7/02/2562 พบ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    4.   OMG รุ่นผลิต 9/12/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก 411estore.com    5.   So Kool รุ่นผลิต 2/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก We mall    6.   CHU รุ่นผลิต 11/02/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA    7.   Vitalmax Vitality Reborn รุ่นผลิต 16/11/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA     ทั้งนี้พบว่า ทั้งหมดมีเลขสารบบอาหาร (อย.) เมื่อตรวจสถานะพบว่า สถานะยังคงอยู่ (ล่าสุดเดือนเมษายน 2562) โดย ยี่ห้อ Vitalmax Vitality Reborn นั้นมีชื่อผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับในเลขสารบบอาหารการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย        หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและมีสาร  ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เมื่อบอร์ดวุฒิศักดิ์คลินิกประชุมแก้ปัญหาลูกค้ากว่า 6 เดือน

            ปีที่ผ่านมามีข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและการปิดตัวหลายสาขาของคลินิกเสริมความงาม เจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” วุฒิศักดิ์คลินิก ทำให้ผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อคอร์สเสริมความงามได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ก็คือ คุณปราง ที่ต้องรอวุฒิศักด์คลินิกแก้ปัญหากว่าครึ่งปี          เพราะชื่อเสียงก่อนหน้านี้ของวุฒิศักดิ์คลินิกและจำนวนสาขาที่มีมากมาย ทำให้คุณปรางไว้ใจและซื้อคอร์สเสริมความงาม ที่เรียกว่า เลเซอร์และอัลตราดีฟ ในราคา 24,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ณ สาขาเซ็นทรัลขอนแก่น แต่พอเดือนถัดมาคลินิกสาขานี้ก็ปิดตัวลง แจ้งเพียงว่าให้ลูกค้าไปใช้บริการต่อที่คลินิกสาขาบิ๊กซี ขอนแก่น ซึ่งคุณปรางเล่าว่า “ใช้บริการไม่ได้เลย ไปทีไรคิวเต็มบ้าง ไม่มีพนักงานบ้าง ยาหมด หมอไม่อยู่...” ทำให้คุณปรางต้องขับรถไปใช้บริการถึงเดอะมอลล์ โคราช และที่เหนื่อยใจที่สุดก็คือคุณปรางไม่สามารถติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิกได้เลย จึงต้องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้รับการร้องเรียนเดือนพฤษภาคมจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิก ซึ่งเป็นไปตามที่คุณปรางระบุคือ ไม่สามารถติดต่อได้ จึงใช้อีเมล์ติดต่อไปตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลไว้ และติดต่อไปยังเบอร์ของสำนักงานหลัก จึงได้คุยกับพนักงาน ทางพนักงานแจ้งว่า ขอให้ผู้ร้องคือคุณปรางส่งเอกสารร้องเรียนไปที่สำนักงานหลักที่กรุงเทพฯ และทางสำนักงานจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาเพื่อคืนเงินให้ ซึ่งคุณปรางก็ปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดตามข้อมูลกรณีร้องเรียนของคุณปรางกับทางสำนักงานหลัก ได้รับแจ้งว่าเรื่องการพิจารณาเพื่อคืนเงินยังไม่คิวของคุณปราง ขณะนี้(เดือนกรกฎาคม) ยังเป็นคิวของผู้ร้องขอคืนเงินที่ยื่นเรื่องในเดือนกุมภาพันธ์อยู่          ทางศูนย์พิทักษ์ฯ พยายามติดตามเรื่องให้คุณปรางโดยตลอดพบว่า เรื่องของคุณปรางยังอยู่ในระหว่างพิจารณา จนวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เมื่อติดต่อไปจึงได้รับแจ้งจากพนักงานว่า ยังไม่มีการประชุมบอร์ดในขณะนี้และไม่ทราบว่าจะประชุมเมื่อใดเพราะผู้บริหารไปต่างประเทศ อีกอย่างหนึ่งยอดเงินของคุณปรางเหลือที่ต้องคืนอยู่เพียง 936 บาท จึงแนะนำว่าให้กลับไปใช้บริการต่อที่สาขาบิ๊กซีขอนแก่นหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าแทน เมื่อทางศูนย์ฯ นำเรื่องแจ้งต่อคุณปรางตามที่ได้รับคำตอบมา คุณปรางก็ขอยุติเรื่อง เพราะไม่สะดวกและเบื่อการรอคอยคำตอบจากวุฒิศักดิ์คลินิกแล้ว “มันนานเกินไป” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม

เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ              รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม    เคยไหมเวลาเดินเล่นเพลินๆ ให้ห้างสรรพสินค้า แล้วถูกเซลล์ของบรรดาคลินิกหรือสถานเสริมความสวยงาม สถานบริการลดน้ำหนัก พุ่งเป้าเล็งคุณด้วยการเชิญชวนที่ยากจะปฏิเสธ กว่าจะรู้ตัวก็เซ็นสัญญารูดบัตรเครดิตไปเรียบร้อย ถ้าพลาดไปแล้วจะทำอย่างไร ลองดูกรณีตัวอย่างนี้     ขณะคุณปิ๊กกำลังเพลิดเพลินเดินห้างอย่างสบายอารมณ์ พนักงานขายของคลินิกบริการด้านความงาม (ขอเรียกว่า คลินิก T) “พยายามเรียกดิฉันให้เข้าไปในบูท บอกว่าแค่เขียนชื่อเพื่อที่ตัวน้องเขาจะได้ยอด” ด้วยความใจดี คุณปิ๊กจึงช่วยเขียนชื่อให้เพราะไม่คิดว่าต้องเสียอะไร      แต่คุณปิ๊กคงคาดไม่ถึงว่าตนเองต้องผจญกับการเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งลด แจก แถม ที่พนักงานขายพยายามเสนอให้อย่างสุดความสามารถ เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ     เมื่อกลับมาบ้านจึงมีเวลาได้ทบทวนและตรวจสอบราคาค่าบริการ คุณปิ๊กพบว่าราคาค่าบริการของคลินิก T แพงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-10 เท่า แม้แต่ราคาโปรโมชั่นที่ได้ซื้อไปก็แพงกว่า 2 เท่า จึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา     เนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำเบื้องต้นให้ทำหนังสือ (จดหมาย) “บอกเลิกการใช้บริการและขอเงินคืนทั้งหมด” ถึงคลินิก T และทำหนังสือ “ขอระงับการจ่ายเงิน” ถึงผู้ให้บริการบัตรเครดิต (ธนาคาร) แล้วสำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อจะได้ดำเนินการต่อเนื่อง     ผลการดำเนินการ ทางคลินิกแจ้งเป็นหนังสือว่าจะจ่ายเงินค่าคอร์สคืนให้แก่ผู้ร้องคือคุณปิ๊ก จำนวน 19,500 บาท จากจำนวนเต็ม 30,000 บาท โดยขอหักไว้ 35% (10,500 บาท) อ้างว่า เป็นค่าธรรมเนียม กรณีนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่าผู้ร้องควรใช้สิทธิดำเนินการทางศาลหรือฟ้องเรียกเงินคืนจะดีกว่าวิธีที่ผู้ร้องคิด คือจะขอไปใช้บริการในส่วน 10,500 บาทและรับเงินคืน 19,500 ซึ่งวิธีนั้นทางคลินิกไม่ยินยอมและยืนยันการคืนเงินตามหนังสือที่แจ้งมา ถ้าผู้ร้องฟ้องคดีอาจได้รับเงินในส่วนที่ถูกหักไว้ 35% คืนกลับมา เพราะค่าธรรมเนียมที่ทางคลินิกเรียกถึง 35% นั้นสูงเกินไป ซึ่งคุณปิ๊กเห็นด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ในกระบวนการฟ้องคดี และจะนำมารายงานต่อเมื่อคดีสิ้นสุด                               ใจแข็งไว้นะคะเวลาเผชิญหน้ากับเซลล์ ไม่ว่าจะสินค้าใดก็ตาม ผู้บริโภคควรมีเวลาสำหรับการหาข้อมูลให้แจ้งชัดและมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (2)

ห้องน้ำและห้องนอน (ต่อ) : หลายคนมักเก็บเครื่องสำอาง ซึ่งบางทีเป็นของใช้ส่วนตัวแยกต่างจากเครื่องสำอางที่ใช้ทั่วๆไป เครื่องสำอางเหล่านี้มักเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะหาซื้อมาตามความชอบใจ หากเป็นยี่ห้อที่มีวางขายเปิดเผยตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉลากจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้ง เลขจดแจ้ง ชื่อสถานที่ผลิตหรือจำหน่าย วันผลิตวันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งหากเกิดปัญหา เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแจ้งทางห้างหรือร้านที่นำมาจำหน่ายได้แต่เครื่องสำอางที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่ คือเครื่องสำอางที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ซื้อจากเน็ตไอดอล หรือตามที่ดารามารีวิวแนะนำสินค้า เครื่องสำอางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตที่เราอาจไม่รู้จัก และจากกรณีที่เป็นข่าวก็ทำให้เราทราบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่มีสถานที่ผลิตจริง หากแต่ไปจ้างโรงงานผลิต เวลาไปขอจดแจ้งจากราชการ ก็อาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจสถานที่ เลยแจ้งที่อยู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้พวกเน็ตไอดอลหรือดาราหลายคน ก็ออกมาสารภาพกันแล้วว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย (บางคนก็อ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเคยใช้แค่ครั้งสองครั้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าโกหกอีกหรือเปล่า) ดังนั้น ถือโอกาสสังคายนา ตรวจสอบเครื่องสำอางประจำตัวของสมาชิกในบ้านเลยว่า มีเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะเครื่องสำอางเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ในกลุ่มที่กำพืดไม่ค่อยจะชัดเจน และที่อันตรายอย่างยิ่ง คืออาจมีการเติมสารอันตรายต่างๆ เข้าไปด้วย และหากพบว่าสมาชิกในบ้านใช้ไม่เท่าไร ดันเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที เช่น ผิวขาวกะทันหัน ขาวผิดพ่อผิดแม่ ยิ่งส่อให้เห็นว่าแนวโน้มมีสารอันตรายเจือปนสูง ควรกำจัดออกจากบ้านไปเลยพื้นที่อื่นๆ : นอกเหนือจากอาหารและเครื่องสำอางแล้ว เราลองตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านนำมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว เพราะจะเป็นเป้าหมายหลักในการถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสี่ยงๆ มาใช้ เช่น ยาน้ำสมุนไพรหรือยาลูกกลอนบางชนิด(หรือผลิตภัณฑ์อาหาร) ที่อ้างรักษาอาการปวดเข่า หรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ฯลฯวิธีสังเกตง่ายๆ ก็เหมือนที่เคยบอกไปแล้ว เช่น ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารถ้าอ้างว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะอาหารรักษาโรคไม่ได้ (ถ้ารักษาได้แสดงว่าต้องเติมอะไรเข้าไปแนอน) และที่ต้องย้ำคือ แม้จะมีฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณเหมาะสมอยู่ในร่องในรอยแล้ว แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานแล้วเกิดได้ผล อาการป่วยต่างๆ หายอย่างน่าประหลาดใจ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบทันที จำไว้ว่า “ยาเทวดาสุดมหัศจรรย์ไม่มีในโลก” อย่าลืมนะครับ ใช้วิธีการที่เคยแนะนำไปแล้วตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆในบ้านตั้งแต่วันนี้ หากพบ “สี่สงสัย” ให้รีบใช้ “สองส่งต่อ” เพื่อเตือนคนใกล้ตัวและแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >