ฉบับที่ 110 กระแสต่างแดน

เกลือต้องห้าม แม้ครั้งหนึ่งเกลือจะเคยมีค่าดั่งทองและมีเครดิตเป็นหนึ่งในรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ แต่วันนี้เกลืออาจมีโอกาสตกอับถึงขั้นโดนห้ามใช้ในร้านอาหาร ถ้าคุณเป็นแฟนกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่ารัฐนิวยอร์คของอเมริกานั้นช่างเป็นรัฐที่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพประชากรดีจริงๆ ขณะนี้มีประชากรนิวยอร์คที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึง 1.5 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นจึงออกมารณรงค์ให้ผู้คนบริโภคเกลือให้น้อยลง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการบริโภคเกลือลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี นายฟิลิกส์ ออร์ทิส สมาชิกสภาจากเขตบรู๊คลิน เลยคิดจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาดด้วยการเสนอร่างกฎหมายห้ามร้านอาหารในนิวยอร์คใช้เกลือเสียเลย ถ้าจับได้ว่าร้านไหนแอบใส่ก็จะลงโทษด้วยการปรับ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 32,000 บาท) คุณออร์ทิสแกบอกว่าสำหรับผู้บริโภคนั้นไม่มีปัญหา ถ้าใครอยากได้รสเค็มก็เติมเองได้จากกระปุกเกลือที่มีวางไว้คู่กับกระปุกพริกไทยบนโต๊ะ จุดประสงค์ของเขาคือต้องการให้ผู้บริโภคเป็นคนที่ควบคุมปริมาณเกลือด้วยตนเอง แต่บรรดาพ่อครัวในร้านอาหารต่างก็หงุดหงิดไปตามๆ กัน พวกเขามองว่าเป็นการห้ามที่เหลวไหลที่สุด และเผลอๆ อาจจะบ่อนทำลายธุรกิจอาหารของเมืองไปด้วย คนอเมริกันบริโภคเกลือวันละ 3,400 มิลลิกรัม ซึ่งเกินจากปริมาณที่แนะนำ 2,300 มิลลิกรัมไปเยอะทีเดียว     รวยเกินไป หัวใจว้าวุ่นข่าวดีสำหรับประเทศที่ยังไม่รวยทั้งหลาย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอิโคโนมิก เจอร์นัล พบว่าความมั่งคั่งนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนในชาติ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สองคน เคอร์ทิส อีตัน จากมหาวิทยาลัยคาลการี และมูเคช เอสวารานจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เขาฟันธงว่าคนอังกฤษมีสุขภาวะที่แย่ลงสืบเนื่องจากความอยากได้อยากมี และเขาคาดว่านโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลอังกฤษจะนำมาใช้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีตันและเอสวาราน เสนอแนวคิดว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชากรที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว การสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นให้ประชากรก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยทั่วไปเมื่อประเทศร่ำรวยเกินภาวะอยู่ดีกินดี การบริโภคของคนในชาติก็จะเปลี่ยนเป็นการซื้อสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องประดับล้ำค่า หรือรถหรู มากกว่าการซื้อคุณค่าการใช้สอยตามปกติของสินค้านั้น ทฤษฎีการบริโภคเพื่อความโดดเด่น บอกว่าคนเราแสวงหา “สถานภาพ” ผ่านทางการบริโภคแบบนี้ ซึ่งคุณค่านั้นไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราบริโภค หากแต่เป็นเพราะมันทำให้คนที่บริโภคได้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ที่สำคัญคือคนเราจะแสวงหาสินค้าประเภทนี้กันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว รวมๆ แล้วงานวิจัยของพวกเขาช่วยยืนยันว่าเวลาที่ความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นนั้น ประชากรจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นแต่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นไปด้วย และเมื่อคนมุ่งแสวงหา “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” ที่ว่านี้ ก็จะมีเวลาใส่ใจกับเพื่อนบ้าน ชุมชนและสังคมน้อยลง ส่งผลให้ภาวะความอยู่ดีมีสุขร่วมกันลดลงไปโดยปริยาย เฮ้อ รอดตัวไป ดีนะที่ยังไม่รวย บอลลิวูดก็โดนผีหลอกไม่ใช่แค่ฮอลลิวูดเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยแผ่นผี ธุรกิจภาพยนตร์อินเดียที่มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านเหรียญก็ต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกับการลักลอบดาวน์โหลดหรือปั๊มแผ่นเช่นกัน สถานการณ์เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอินเดียแย่ลงฮวบฮาบ เพราะความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องเล่นดีวีดีก็เพิ่มจาก 4 ล้านครัวเรือน เป็น 45 ล้านครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวบอกว่าการอัพโหลดไฟล์หนังขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตจะมีขึ้นทุกๆ 5 นาที และมีการประมาณการว่าภารตะชนซื้อแผ่นผิดกฎหมายประมาณปีละ 700 ล้านแผ่น สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแผ่นปลอมไป 330 ล้านเหรียญชิลๆ ด้านฮอลลิวูดก็ดีใจที่จะได้บอลลิวูดมาเป็นพันธมิตรในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โดยทั้งนี้ก็จะพยายามลืมๆ ไปว่าครั้งหนึ่งเคยเคืองบอลลิวูดอยู่ไม่น้อยที่ชอบก็อปปี้หนังดังๆ ของตนเองมาทำเป็นฉบับภารตะ เพราะถ้าอินเดียสามารถปราบปรามได้ก็จะเป็นผลดีต่อตนเองไปด้วย ใครจะไม่อยากได้ตลาดอินเดียที่มีประชากร 1,000 ล้านคนที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจมากกว่าที่ใดๆ ในโลก แต่คงจะเป็นงานหนักอยู่เหมือนกัน แม้ข่าวจะไม่ได้บอกว่าตั๋วหนังที่อินเดียราคาเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆแผ่นผีซึ่งราคาประมาณ 2 เหรียญ (ประมาณ 65 บาท) ก็ทำให้คนไม่อยากเข้าโรงหนังสักเท่าไร คล้ายๆ ที่ประเทศไหนน้า.... ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ช้อปได้แม้อยู่ในห้องน้ำห้องน้ำที่สถานีรถไฟโอซาก้า ในย่านกินซ่าของญี่ปุ่นกำลังเป็นสถานที่แฮงเอาท์แห่งใหม่ของทั้งเด็กมัธยมและสาววัยทำงาน บริการห้องน้ำ “แองเจิลบี” ที่เปิดบริการมาได้ 3 ปีกว่านี้คิดค่าบริการประมาณ 100 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง นอกจากเข้าไปทำธุระส่วนตัวแล้ว สาวๆ ยังจะสามารถนั่งจิบชาสมุนไพรชิลๆ  เรียนเทคนิคการแต่งหน้า ทำผม หรือแม้แต่เลือกซื้อชุดชั้นในกันได้ ผู้ประกอบการห้องน้ำดังกล่าวได้แก่บริษัทเวสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่ให้บริการรถไฟในฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู บอกว่าที่เปิดบริการนี้ก็เพราะได้รับเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้โดยสารหญิงว่าไม่มีสถานที่ให้พวกเธอได้เติมหน้าเติมปากหรือแต่งผมหลังการเดินทางยาวไกลเลย บ้างก็บอกว่าไม่มีกิจกรรมอะไรจะทำเพื่อฆ่าเวลาขณะรอรถไฟ ทุกวันนี้กิจการดีมาก สาวๆ เข้ากันหัวบันไดไม่แห้ง จนมีผู้ประกอบการอื่นๆ เข้ามาทำการตลาดกันในห้องน้ำกันด้วย เช่น พานาโซนิคก็ส่งช่างผมมืออาชีพมาแนะนำวิธีการใช้เครื่องรีดผมของตัวเอง หรือบริษัทเสื้อชั้นในวาโก้ก็มีเสื้อชั้นในรุ่นใหม่ๆ มาให้สาวๆ ได้ลอง รวมถึงชิเซโด้ที่มาตั้งเคานท์เตอร์เครื่องสำอางด้วยเช่นกัน ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการจะลดลงหรือไม่หลังจากมีสปอนเซอร์แล้ว หรือสาวๆ จะต้องเสียเงินเข้าไปทำอย่างเดียวกับที่ทำได้ในห้างโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เมืองปลาที่ไม่มีปลา อีกครั้งที่ผู้บริโภคต้องเตือนตนเองว่าสิ่งที่เห็น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป นักท่องเที่ยวมากมายที่ไปเยือนฟลอริด้าจะต้องไม่พลาดการสั่งอาหารทะเลมารับประทาน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนไปไม่ถึง แต่ขณะนี้ชาวประมงในรัฐที่เรียกตนเองว่า “เมืองหลวงแห่งการตกปลาของโลก”  จับปลาได้น้อยลง เพราะภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในบางช่วง รวมถึงกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นเช่นข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการจับปลา หรือชนิดของปลาที่อนุญาตให้จับได้ ชาวประมงที่นี่เคยชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายเรื่องการจับปลามาแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ห้ามจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการห้ามจับปลาทุกชนิดในบริเวณที่ปลาชนิดนั้นๆอาศัยอยู่ด้วย ปัจจุบันชาวประมงจำนวนไม่น้อยจึงเลิกอาชีพนี้ไป และเรือที่ลอยอยู่ในน่านน้ำฟลอริด้านั้นส่วนใหญ่เป็นพวกล่องเรือตกปลาเล่นๆ มากกว่าจะเป็นประมงตัวจริง สรุปว่าปลาที่เสิริ์ฟในร้านอาหารที่ฟลอริด้านี้เป็นปลานำเข้าจากที่อื่น เช่น แซลมอนจากนอร์เวย์หรือสก็อตแลนด์ ทูน่าครีบเหลืองและโลมาจากเอกวาดอร์ ปลาเก๋าจากเม็กซิโกหรือไม่ก็เวียดนาม เป็นต้น ทางร้านอาหารบอกว่าปลาที่ไหนมันก็ปลาเหมือนกัน(ถ้างั้นกินที่บ้านก็น่าจะได้หรือเปล่า) แต่ตามความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลแล้วปลาที่เดินทางไกลเหล่านี้จะมีคุณภาพลดลง หนึ่งเพราะระยะเวลาและสองกฎระเบียบที่ควบคุมการจับปลาในบางประเทศนั้นไม่เข้มงวดเท่าที่ฟลอริด้าอีกด้วย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมใช้ร่วมจ่ายเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บภาษีถุงพลาสติกในราคาใบละ 50 เซ็นต์ ( 2 บาท) ไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขาจึงคิดจะเริ่มปฎิบัติการขั้นต่อไปในการสร้างจิตสำนึกของการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (ค่าใช้จ่าย) ต่อไปผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นในวันที่เราไม่ต้องการมันอีกต่อไป เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างโทรทัศน์จะมีค่าจัดการ 100 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 420 บาท) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างตู้เย็นจะมีค่าจัดการเพิ่มขึ้นอีกเท่าเป็น 200 เหรียญ แต่รายละเอียดนั้นเขายังเถียงกันไม่จบ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ว่านั้นจะถูกลงหรือไม่ถ้าเราใช้มันนานขึ้นและจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากันหรือไม่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างขนาด ต่างกำลังไฟ ร้อยละ 86 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในฮ่องกงนั้นเป็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และคอมพิวเตอร์

อ่านเพิ่มเติม >