ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ผู้ป่วยโควิดสีเขียวกักตัวที่บ้าน ต้องจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือไม่

        องค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้ทบทวนการจ่ายเงินชดเชยรายวัน กับผู้ป่วยสีเขียวที่แยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทุกกรณี         กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกรอบ จากข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยที่กักตัวเองที่บ้านแล้วบริษัทอ้างว่า ป่วยน้อย สีเขียว นอนที่บ้านไม่สามารถเรียกเงินชดเชยรายวันได้         โดยใช้คำวินิจฉัยของเลขาธิการคปภ. ในเอกสารแจง 17 ข้อสงสัย เหตุใดจึงไม่ให้เคลมค่าชดเชยรายวันกรณี home isolation หรือแบบ community isolation ได้ทุกกรณี? ได้อ้างเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ปัจจุบัน ในเรื่องค่าชดเชยรายวัน ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยในไม่ครอบคลุมกรณีการรักษาแบบ home isolation หรือแบบ community isolation แล้วไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสภาพที่จะต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน แต่ไม่สามารถหาเตียงสถานพยาบาลได้ จึงต้องรักษาตัวแบบ home isolation และ community isolation ให้ถือเสมือนเป็นผู้ป่วยในและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวันตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และเพื่อป้องกันมิให้มีการเคลมเกินสิทธิที่พึงมีตามเงื่อนไขการคุ้มครองในกรมธรรม์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น เป็นผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ เป็นต้น ซึ่งแม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวัน ซึ่งคำสั่งนี้ได้เปิดช่องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลได้ด้วย         การวินิจฉัยของคปภ.แบบนี้ ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ต้องไม่ลืมว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดจากเดิมกรมการแพทย์บังคับให้ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด 19 แต่เมื่อรัฐไม่สามารถมีเตียงรองรับในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel การนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยจึงเป็นไปไม่ได้ กรมการแพทย์ได้ประกาศให้หน่วยบริการดูแลประชาชนที่บ้าน พร้อมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ป่วยในการแยกตัวที่บ้านประมาณ 1,000 บาทต่อราย ผู้ป่วยจำนวนมากได้ยาต้านไวรัส และต้องติดตามอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ต้องแยกตัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เป็นมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ ทุกคนที่ทำประกันเมื่อไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องได้ค่าชดเชยรายวันทุกคนตามสิทธิ หากในอนาคตการขายประกันของบริษัทจะกำหนดเงื่อนไข ว่า คุ้มครองเฉพาะสีเหลืองและแดงเท่านั้นก็ต้องเป็นเงื่อนไขในอนาคต ไม่ใช่เงื่อนไขในปัจจุบัน         บริษัทประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายสินไหมชดเชยรายวันให้กับผู้บริโภค จากเหตุที่อ้างว่าเพราะอาการของโรคน้อย ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ระบบการทำงานของคปภ.รับฟังความเห็นจากตัวแทนของผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทประกัน และการประกันภัยในประเทศไทย ต้องยึดหลักการจ่ายเป็นหลักปฏิเสธเป็นรอง ถึงเวลาที่คปภ.ต้องจัดการเรื่องนี้เพราะไม่อย่างงั้นบริษัทประกันก็คิดถึงแต่ตัวเลขกำไรงามๆของตนเองฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >