ฉบับที่ 148 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2556 “รถคันแรก” เริ่มมีปัญหา โครงการรถยนต์คันแรกเริ่มส่งสัญญาณของปัญหา เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมายอมรับว่าตอนนี้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มียอดร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับ 1 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญา ทั้งการจองรถแล้วไม่ได้รถตามกำหนด การเรียกยึดรถอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งความล่าช้าในการส่งมอบรถและคืนเงินในโครงการรถคันแรก กรณีผู้ซื้อรถรอระยะเวลาการส่งมอบรถยนต์ไม่ไหว จึงต้องการขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก สคบ. ได้รับเรื่องและขอระยะเวลาเจรจากับบริษัทรถยนต์อีกครั้ง เชื่อว่า จะสามารถเจรจาแก้ไขระหว่าง 2 ฝ่ายได้ ส่วนกรณีผู้ซื้อรถยนต์ต้องการขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืนด้วยเหตุผลอาจจะผ่อนส่งไม่ได้ หรือไม่ต้องการรถ ตามกฎหมายผู้รับจองมีสิทธิยึดเงินจองได้ เช่นเดียวกับกรณีผู้แทนจำหน่ายรถยนต์มีรถยนต์พร้อมส่งมอบแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่ไปรับรถตามสัญญา ผู้แทนจำหน่ายมีสิทธิยึดเงินจองคืนได้ไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สคบ. ฝากเตือนคนที่ซื้อรถอย่าขาดส่งค่างวดติดต่อกันเกิน 3 งวด มีสิทธิ์ถูกยึดรถ และถ้าเข้าร่วมโครงการรถคันแรก ผู้ซื้อยังต้องคืนเงิน 100,000 บาทให้กับรัฐด้วย     เครื่องไฟฟ้าต้องติดฉลาก ประหยัดไฟจริงไม่จริง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ควบคุมให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องแสดงรายละเอียดค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าแต่ละชนิดใช้พลังงานเท่าไหร่ ประหยัดมากน้อยเพียงใด หลังจากที่ผ่านมาได้หารือกับกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้แสดงฉลากประหยัดไฟเพียงเบอร์ 5 อย่างเดียว แต่เบอร์อื่น ๆ ไม่ได้แสดงให้ผู้บริโภครับทราบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบ และแสดงความชัดเจนให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดได้อย่างเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางเดือน มิ.ย.นี้ การแสดงฉลากประหยัดไฟครั้งใหม่นี้ ผู้ประกอบการจะต้องแสดงรายละเอียดของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทให้ชัดเจน โดยใช้ข้อมูลจริงที่กระทรวงพลังงานตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีค่าการใช้พลังงานอยู่ที่เท่าใด จากนั้นจึงกำหนดว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น สมควรที่จะติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ใด เพื่อแสดงเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค     อย.ไม่ให้ขาย “ชาเจสันวินเทอร์ที” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ ชาเจสันวินเทอร์ที (Jason Winters Tea) ซึ่งนำเข้าโดย บริษัท เอส-คลาส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนประกอบที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค คือ Special spice, Red clover และ Chaparral ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารใหม่ที่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังแสดงชนิดของส่วนประกอบไม่ตรงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 280) พ.ศ. 2547 เรื่อง ชาสมุนไพร จึงเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม แสดงฉลากลวงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิด ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัยในการบริโภค อย.จึงได้ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์ชาเจสันวินเทอร์ทีดังกล่าว มีผลทำให้ผู้นำเข้าต้องหยุดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทันที และให้เก็บผลิตภัณฑ์ออกจากท้องตลาด และขอให้ร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่าย เร่งส่งคืนผลิตภัณฑ์ไปยังผู้นำเข้า หากพบว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป     คนใช้ทางด่วนเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม คณะกรรมการการทางพิเศษ(กทพ.)  เตรียมขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร(ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช(ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษบูรพาวิถี(บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษอุดรรัถยา(บางปะอิน-ปากเกร็ด) ตั้งแต่ 5-10 บาท เริ่ม 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2541 และทุกระยะเวลา 5 ปี นับจากนั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2541, 2546 และ 2551 สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ ของโครงข่ายในเขตเมือง (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร : ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ, ทางพิเศษศรีรัช ส่วน A และ B : พญาไท-พระราม 9, พญาไท-บางโคล่) จะปรับอัตรา ค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ จากเดิม 45 บาท เป็น 50 บาท รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 70 บาท เป็น 75 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 100 บาท เป็น 110 บาท ตามลำดับ ส่วนโครงข่ายนอก เขตเมือง (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C และ D) จะปรับเฉพาะทางพิเศษศรีรัช ส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) สำหรับ รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 50 บาท เป็น 55 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 70 บาท เป็น 75 บาท ตามลำดับ โดยรถ 4 ล้อ ยังไม่ปรับราคา สำหรับทางพิเศษอุดรรัถยาและทางพิเศษบูรพาวิถี จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์และสัญญาที่เกี่ยวข้อง     คนไทยป่วยโรคความดันเพิ่มขึ้น 5 เท่า มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบสถานการณ์ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว ตลอดช่วงปี 2544-2554 ที่ผ่านมา ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ โรคเบาหวาน และโรคไตวาย กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่ชอบบริโภคอาหารรสเค็ม บริโภคผักผลไม้น้อย คนอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง และผู้มีความเครียดเรื้อรังที่จัดการไม่ได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ดังนี้ เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ หายใจลำบาก บวมปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ได้แก่ ปากเบี้ยว แขน ขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก ตามองไม่ชัด มีปัญหาด้านการพูด ถ้าหากหมดสติต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง จะช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้หรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2555 คุณพ่อก็ลาคลอดได้รู้กันหรือยังว่า คุณพ่อก็ลาคลอดได้ ไม่ต้องสงสัยว่าผู้ชายจะคลอดลูกได้ไง เพราะสิทธิที่ได้คือการลาหยุดเพื่อไปดูแลภรรยาในช่วงหลังคลอดบุตร ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ได้ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยคุณพ่อสามารถลาหยุดไปดูแลคุณแม่และลูกน้อยได้ 15 วัน โดยไม่ถือเป็นวันหยุด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากที่ให้คุณพ่อได้ไปช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลลูกทำให้คุณแม่สามารถพักฟื้นร่างกายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่บอกว่า การที่สามีอยู่ใกล้ชิดภรรยาหลังคลอดจะทำให้ภรรยารู้สึกดีมีกำลังใจในการเลี้ยงลูก โดยภาวะหลังคลอดของผู้หญิง จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า เหนื่อยล้า ซึ่งอาจส่งผลทำให้ปริมาณน้ำนมแม่ลดลง แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะสิทธิวันหยุดนี้ยังให้สิทธิเฉพาะข้าราชการเท่านั้น พนักงานและลูกจ้างบริษัทเอกชนยังไม่มีโอกาสได้ใช้ ก็หวังว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันผลักดันสิทธิวันหยุดลาคลอดของผู้ชายให้ทุกคนได้ใช้กันอย่างเท่าเทียม-------------   ขนมจากชายแดน...วายร้ายอิมพอร์ต เรื่องขนมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากซื้อมารับประทานสุ่มสี่สุ่มห้าระวังโรคร้ายถามหาไม่รู้ตัว ยิ่งตอนนี้ขนมที่ไม่ได้มาตรฐานที่ทะลักเข้ามาจากชายแดนกำลังระบาดหนัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ขนมที่ลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำมาขายในบ้านเรามักเป็นเป็นขนมที่มีคุณภาพต่ำ  ไม่มีการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่มีการแสดงฉลากภาษาไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และสีผสมอาหาร แถมยิ่งถ้ารับประทานแล้วเกิดเจ็บป่วยก็ยากที่จะหาผู้รับผิดชอบ เพราะไม่มีข้อมูลที่อยู่ผู้ผลิตที่จะเอาผิดได้ นอกจากขนมที่ลักลอบนำเข้ามาตามชายแดนแล้ว ทาง อย. ยังฝากเตือนให้ระวังอันตรายของขนมที่นำมาแบ่งขายหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่น่าสงสัย ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการบอกข้อมูลใดๆ ทั้งชื่อผู้ผลิต ส่วนประกอบ และวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ เพราะตอนนี้มีผู้ประกอบการที่ไม่หวังดีไปตระเวนรับซื้อขนมที่หมดอายุ ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หีบห่อฉีกขาดจากโรงงาน จากนั้นนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่และวางขายในราคาถูก------------------   แต่งไฟหน้ารถ ระวังผิดกฎหมายใครที่กำลังคิดจะแต่งหรือดัดแปลงโคมไฟหน้ารถสุดรักของตัวเอง อย่าลืมศึกษาข้อมูลทางกฎหมาย รวมทั้งอย่ามองข้ามเรื่องความปลอดภัย เพราะตอนนี้กองบังคับการตำรวจจราจรเขาเอาจริง เร่งกวดขันรถยนต์ที่ดัดแปลงไฟหน้าให้มีความสว่างมากกว่าปกติ ซึ่งแสงที่มีความสว่างมากเกินไปจะรบกวนการมองเห็นของผู้ขับขี่รายอื่นทำให้เกิดอันตราย ซึ่งสีของโคมไฟหน้ารถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเท่านั้น ถ้าเป็นสีอื่นนอกเหนือจากนี้ถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก นอกจากนี้กองบังคับการตำรวจจราจรยังฝากเตือนถึงสินค้าตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนที่ชอบแต่งรถอย่าง ไฟซีนอนวงแหวน 2 ชั้น หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ไฟทรานส์ฟอร์เมอร์” เพราะมีลักษณะคล้ายดวงตาของหุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ ซึ่งมีผลิตออกมาหลายสี ถ้าหากใช้สีอื่นๆ นอกจากสีขาวและสีเหลืองอ่อนถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโคมไฟรถยนต์ที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก โคมไฟแสงพุ่งไกลหน้ารถต้องมีความสูงจากพื้นถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.6 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาว มีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ โดยขณะนี้นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) พยายามเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกแก้ไขความสูงไฟหน้ารถจากพื้นราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคม จากเดิมกำหนดไม่เกิน 1.35 เมตร เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1.2 เมตร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทกระบะหรือโฟร์วีล เมื่อบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก รถยนต์จะเงยสูงขึ้นไปอีก ทำให้ทิศทางของแสงไฟหน้ารถรบกวนรถยนต์คันอื่นๆ---------------- เจ็บป่วยไม่สบาย รักษาหายด้วยการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าพัฒนาการแพทย์แผนไทย ประกาศให้การรับรองการรักษาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยขณะนี้มี 8 โรคที่กระทรวงฯ ให้การรับรอง ได้แก่ 1.งูพิษกัด 2.โรคกระดูกหัก 3.โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต 4.อาการปวดเมื่อย 5.ไหล่ติด 6.โรคเรื้อรังอาทิเบาหวาน 7.โรคสะเก็ดเงิน 8.โรคตับแข็ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก การบำรุงน้ำนมแม่หลังคลอด ซึ่งมีโรงพยาบาลที่รับรองการรักษาแล้วทั้งหมด 23 แห่ง ใน 16 จังหวัด  โดยแต่ละโรงพยาบาลก็จะให้การรักษาในแต่ละโรคแตกต่างกันไป ตามความถนัดของหมอพื้นบ้านในพื้นที่นั้นๆ ประกอบด้วย การรักษากระดูกหักที่โรงพยาบาลได้แก่ 1.รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 2.รพ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี 3.รพ.กันทราลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ 4.รพ.สูงเม่น จ.แพร่ 5.รพ.สอง จ.แพร่ 6.รพ.พิชัย จ.อุตรดิถต์ 7.รพ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา 8. รพ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี 9.รพ.เทพา จ.สงขลา และ 10.รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 11.รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร 12.รพ.หลังสวน จ.ชุมพร  13.รพ.ละแม จ.ชุมพร การรักษาปัญหาไหล่ติดที่ รพ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี, รักษาอัมพฤกษ์/อัมพาตที่ รพ.เทิง จ.เชียงราย รักษาโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานที่ รพ.คลองใหญ่ จ.ตราด,  และโรคปวดเมื่อยด้วยวิธีย่ำขางที่ รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย, รักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคตับแข็งที่ รพ.พระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ซึ่งจัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งเดียวที่บริการด้านนี้, การรักษางูพิษกัด สัตว์พิษกัด ที่รพ.พนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ และรพ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ------------- “เลิกเก็บ 30 บาท” “เครือข่ายประชาชนคนรักหลักประกันสุขภาพ” คือเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพจากทั่วประเทศ ที่ขอทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศในการเป็นกระบอกเสียงส่งต่อไปถึงภาครัฐ เรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการบริการด้านการรักษาพยาบาลของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกิดการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ทางเครือข่ายฯ กำลังเดินหน้าเรียกร้องกับรัฐบาล คือเรื่องการขอให้ยกเลิกการเก็บค่าบริการ 30 บาทจากผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย และสิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ภาครัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชนคนไทยทุกคน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านบริการสาธารณสุขอื่นๆ ที่เครือข่ายฯ วอนให้ภาครัฐช่วยปรับปรุงพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้มีระบบสุขภาพของประเทศ ที่มีคุณภาพเพียงมาตรฐานเดียว ซึ่ง ณ เวลานี้ประเทศไทยเรายังมีการแบ่งเรื่องการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายระบบ ทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม ระบบราชการ ทำให้ระบบการรักษาพยาบาลของบ้านเรามีหลายมาตรฐาน รวมทั้งการขอให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณา(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ที่จะช่วยชดเชยผู้ป่วยในกรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล โดยจะไม่มีการเอาผิดจากแพทย์ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องนำไปสู่การฟ้องร้องอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 นิวเคลียร์ อาหาร และผีเสื้อ

หลังจากเกษียณราชการแล้วผู้เขียนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงนั่งคิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ผ่านไป วันหนึ่งก็คิดถึงนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ลาออกก่อนถูกปฏิวัติว่า ต้องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งได้รับการต้อนรับแบบว่าทั้งโขกทั้งสับจากวิญญูชน เนื่องจากเป็นโครงการใช้ภาษีซึ่งรีดจากประชาชนมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของคนขยุ้มมือหนึ่งในการนั่งรถไฟไปไหนเร็วๆ ทั้งที่ค่าเครื่องบินของสายการบินราคาประหยัดก็แพงกว่ารถทัวร์ไม่เท่าไรแล้ว ดังนั้นการปฏิวัติจึงทำให้โครงการนี้หยุดไปก่อน หลายท่านคงภาวนาให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่าเพิ่งกลับมาตอนนี้ แบบว่าขอให้กลับมาในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยแล้วกัน(เพราะในยุคนั้นอะไรๆ ก็ฟรี) เนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าความเร็วสูงเช่นรถไฟหัวจรวดในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก เมื่อราวยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยขึ้นรถสายชินคันเซนจากโตเกียวไปเมืองฮามะมะสึ จังหวัดชิสุโอกะ ระยะทางราว 210 กิโลเมตรนั้น ค่าโดยสารเที่ยวเดียวก็ปาเข้าไปเจ็ดพันกว่าบาทไทย ดังนั้นจึงต้องเป็นการขึ้นฟรีอย่างเดียว(แบบรถเมล์และรถไฟชั้นสาม)เท่านั้นกรรมกรและชาวนาจึงมีสิทธิขึ้นได้ โดยไม่ต้องฆ่าตัวตายเมื่อถึงปลายทาง สาเหตุของความแพงในค่าโดยสารนั้นคงเป็นเพราะต้นทุนการวางรางและตู้รถไฟสูงมาก ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบจริงจังหรือไม่ ผู้เขียนใช้การค้นหาทางอินเตอร์เน็ทพบเอกสาร (pdf file) 2 ชิ้นชื่อ “มาตรฐานสากลด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) กรณีศึกษา: รถไฟความเร็วสูง ตอนที่ 1 และตอนที่ 2” เขียนโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ แห่งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และรูปแบบเอกสารสวยดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่พบในเอกสารของ ดร.ไกรสร คือ พลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นมาจากไหน เพราะโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เรามีอยู่ก็ผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้อยู่แล้ว ต้องซื้อไฟจากลาวมาใช้ จนถ้าวันใดลาวไม่ขายไฟให้เรา(เพราะลาวเองก็กำลังพัฒนาบ้านเมืองอย่างก้าวกระโดดโดยไม่กลัวคอหัก) คนไทยที่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า ชอบความฟุ้งเฟ้อตอนค่ำคืน คงได้ลงแดงกันบ้าง   ด้วยความใคร่รู้ ผู้เขียนจึงต้องพึ่ง Professor Wikipedia ภาคภาษาไทยว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงได้พลังงานไฟฟ้ามาแหล่งใด ปรากฏข้อมูลสรุปได้ว่า มีน้อยมากที่รถไฟความเร็วสูงใช้เชื้อเพลิงดีเซลหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ โดยในประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมมาก สัดส่วนใหญ่ของกระแสไฟฟ้ามาจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์นั้นดีร้ายเช่นใดมีคนวิเคราะห์และสรุปไว้มากมายแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏนั้นขึ้นกับว่าคนสรุป ชอบหรือกลัวนิวเคลียร์ มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเยอรมันซึ่งพบได้ใน wikipedia หัวข้อ Nuclear power in Germany กล่าวว่า Merkel's government announced that it would close all of its nuclear power plants by 2022 ซึ่งหมายความว่า อีกไม่กี่ปีเยอรมันจะเป็นประเทศที่เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ (โดยหันไปใช้พลังงานทางเลือกเช่น กังหันลม โซลาร์เซลล์ เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า) โดยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงอนุสรณ์สถานทำไมคนเยอรมันจึงกลัวนิวเคลียร์ถึงขนาดบีบให้รัฐบาลสร้างแนวทางเลิกใช้นั้น ใน wikipedia ได้อธิบายไว้แล้ว โดยมีประเด็นหนึ่งที่พาดพิงถึงปัญหาของโรงไฟฟ้าปรมาณูของญี่ปุ่นที่โดนสึนามิถล่มแล้วยังแก้ไขไม่จบจนถึงวันนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในปี 2011 นั้นโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะ ที่เมืองเซ็นได ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดมิยะงิ ประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาในการควบคุมปฏิกิริยาของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์หลังโดนสึนามิทำให้เกิดการรั่วไหลของสารรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยรอบวารสารออนไลน์ชื่อ sciencedaily ฉบับวันที่ 23 กันยายนปีนี้มีบทความชื่อ Food affected by Fukushima disaster harms animals, even at low-levels of radiation, study shows ซึ่งมีใจความว่าจริงอยู่แม้ว่าไม่มีความเสียหายถึงชีวิตของประชาชนแต่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยริวกิว (Rukyus) จังหวัดโอกินะวะ (Okinawa) ก็ได้ติดตามตรวจสอบอันตรายที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติบริเวณนั้น โดยศึกษาในผีเสื้อสายพันธุ์ pale grass blue butterflies (Zizeeria maha หรือ Pseudozizeeria maha ซึ่งมีชื่อภาษาไทยที่ค้นได้คือ ผีเสื้อเซลจุดป่าสูง) ที่กินใบไม้ที่เก็บจากเมืองรอบๆ โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์ปรมาณูฟูกูชิมะ ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Evolutionary Biology ชุดที่ 14 หน้า 193 ปี 2014ที่จริงแล้วการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เคยกระทำหลังการระเบิดไม่นานนัก พบว่าการให้ผีเสื้อกินใบไม้ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระดับสูงนั้นทำให้ผีเสื้อมีปัญหาทางสุขภาพ โดยผีเสื้อที่กินใบไม้ที่เก็บจากต้นที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าซึ่งมีระดับรังสีเป็นพันๆ เบคเคอเรลต่อน้ำหนักใบไม้ 1 กิโลกรัม มีขนาดตัวเล็กและมีสัณฐานร่างกายโดยเฉพาะปีกที่ผิดปรกติ สำหรับการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2013 นั้น ได้ทดลองให้ผีเสื้อกินใบไม้ที่เก็บตั้งแต่ปี 2012 จากบริเวณที่มีการปนเปื้อนต่ำ 6 จุด ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งของโรงไฟฟ้า 59-1760 กิโลเมตร และพบว่าช่วงชีวิตของผีเสื้อนั้นต่างกันขึ้นกับว่าใบไม้นั้นมีการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมเป็นเท่าใด (ซึ่งอยู่ระหว่าง 0.2-161bq/kg) ศาสตราจารย์ โจจิ โอตากิ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยหลักได้กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นได้รับอันตรายในระดับต่างๆ กันแม้ว่าอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนรังสีระดับต่ำ ในการศึกษาเดียวกันนั้นมีภาคที่ 2 ซึ่งนักวิจัยได้เฝ้าสังเกตผีเสื้อรุ่นลูกและพบว่า ลูกผีเสื้อ(ได้จากพ่อแม่ ซึ่งกินใบไม้ปนเปื้อนสารรังสีระดับสูง)ที่ถูกเลี้ยงให้กินใบไม้ที่ไม่มีรังสีนั้น มีอวัยวะเกือบทุกอย่างเหมือนผีเสื้อธรรมดายกเว้นปีก ซึ่งเล็กกว่าผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่กลุ่มควบคุม(ที่ไม่ได้กินใบไม้ปนเปื้อนรังสี) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลูกผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่ที่กินใบไม้ปนเปื้อนรังสีและต้องกินใบไม้ปนเปื้อนรังสีด้วยนั้นมีความผิดปรกติในระดับที่สูงมากกว่า ซึ่งแสดงว่าอันตรายของสารรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถสืบต่อขยายผลไปได้ในรุ่นลูกหลานที่ยังกินอาหารปนเปื้อนต่อไป ดังนั้นวิธีลดอันตรายจากสารรังสีทำได้โดยไม่กินอาหารปนเปื้อนสารรังสี ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ซึ่งเราคงสร้างแน่ถ้ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูง) ที่นำเสนอนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การจะได้อะไรที่คิดว่าสุดดีนั้น อาจจำเป็นต้องแลกกับความเสี่ยงซึ่งสุดเลวอยู่เหมือนกัน เมืองไทยมีสึนามิมาแล้ว ดังนั้นถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูอยู่ใกล้ทะเล (ซึ่งนิยมทำกันเพราะสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่ต้องใช้และอื่นๆ) ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นคงนอนตาไม่หลับกันแน่ (ยกเว้นจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทั้งหมดไปอาศัยอยู่แถวนั้นสักสิบปี) ที่สำคัญอาหารทั้งที่เป็นพืชหรือสัตว์ก็อาจเกิดปัญหาได้ถ้ามีความบกพร่องเกิดขึ้นดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่น่ากลัวสุดๆ ก็คือ เวลาเกิดปัญหาทางเทคนิคใดๆ ก็ตามในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่มักปกปิดจนกว่าปัญหามันเกินเลยถึงขั้น ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด จึงมีการออกมารับผิดแบบมีข้อแก้ตัวต่างๆ นานา จากนั้นเรื่องก็เงียบ ขาดคนซึ่งหน้าบางพอที่จะลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด ไม่เหมือนนักบริหารของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ อะไรนิดหน่อยก็ลาออกหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งหลายคนในเมืองไทยคิดว่ามันโง่หน้าบางเองนี่หว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 รถติดไฟแนนซ์ ห้ามเบี้ยว ห้ามทำหาย ห้ามขายต่อ

เศรษฐกิจฝืดเคืองเยี่ยงนี้ ใครที่ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้ว เริ่มช็อต หมุนเงินไม่ทัน โปรดอ่านโดยพลัน 1.    ถ้าคุณทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ แล้วอยู่ในระหว่างผ่อนค่างวดอยู่ โปรดรู้ว่าคุณยังไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอย่างแท้จริง เพราะตามกฎหมายคุณเป็นแค่ “ผู้เช่าซื้อ” ซึ่งมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถเท่านั้น ตราบใดที่คุณผ่อนหมดนั่นล่ะคุณถึงจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์2.    การผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้ออาจเกิดขึ้นได้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด คุณอาจจะค้างค่างวด หรือจ่ายค่างวดช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่จำไว้ว่า “ห้ามเบี้ยว ผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน” เพราะไฟแนนซ์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แล้วมายึดรถคืนไปได้ ถ้าหากไฟแนนซ์ไหน เขียนสัญญาเช่าซื้อต่างไปจากนี้ ก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะ สคบ.เขามีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 คุ้มครองผู้เช่าซื้ออยู่ 3.    ในฐานะผู้เช่าซื้อ ผู้ครอบครองรถ คุณต้องใช้สอย ดูแลรักษารถยนต์ที่เช่าซื้อมาให้ดี “ห้ามทำหาย” แต่ถ้าเกิดโชคร้ายจริง ๆ รถที่เช่าซื้อมาถูกขโมยไป คำถามที่พบบ่อยก็คือ แล้วจะต้องจ่ายค่างวดที่เหลือต่อจนครบสัญญาไหม ข้อนี้ในทางกฎหมาย(ประกาศ สคบ. ฉบับข้างต้น) บอกเลยว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อมาหายไป ก็ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุด คุณไม่ต้องผ่อนกุญแจรถต่อ แต่อย่าเพิ่งสบายใจไป คุณยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไฟแนนซ์อยู่ดี 4.    สำหรับคนที่ผ่อนต่อไม่ไหวแล้วคิดจะเอารถไปขายต่อคนอื่น ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะคุณในฐานะคนเช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิเอารถไปขายคนอื่นได้ ถ้าเจ้าหนี้เขารู้ขึ้นมา คุณอาจโดนคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ดังนั้น “ห้ามขาย” รถติดไฟแนนซ์แต่ถ้าเป็น “การขายดาวน์” หรือ “ขายสิทธิการเช่าซื้อ” หาคนมาผ่อนรถต่อจากคุณแบบนี้ ทำได้นะครับ แต่ต้องแจ้งไฟแนนซ์ให้รับรู้และทำสัญญาใหม่แก้ไขเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อให้ถูกต้อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 เหลี่ยมไฟแนนซ์

“เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริหารประเทศไทย ไม่เคยสนใจคนไทยด้วยกัน “ต้องรอให้ต่างชาติมาให้ใบแดงใบเหลือง” ถึงจะหูตาเหลือกลุกขึ้นมาแก้ไข แต่ถ้าเป็นความเดือดร้อนของคนไทยก้นไม่ร้อน “รอไปก่อนนะ”ชี้กันชัดๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ วินัย(นามสมมุติ) มาหารือว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มา 1 คัน โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละ 2,350 บาท เป็นเวลา 24 เดือน วินัยเล่าต่อว่าเขาผ่อนตรงตามสัญญา มาแล้ว 6 งวด(เหลือ 18 งวด) อยู่ๆ ก็ได้รับหนังสือจากไฟแนนซ์ ที่เขาผ่อนรถอยู่ เปิดอ่านก็พบว่า ทางบริษัทเสนอโปรโมชั่นใหม่ ให้กับเขา โดยมีข้อความสำคัญที่เสนอมา คือชื่นชมที่เขาผ่อนตรงตามสัญญา บริษัทเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่างวดลงบ้างในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี บริษัทยินดีเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเป็นการลดภาระในการจ่ายค่างวดของผู้เช่าซื้อดังกล่าวลง จากเดิมที่เคยจ่ายเดือนละ 2,350 บาท ปรับลดลงเป็นเดือนละ 2,069 บาท โดยเงื่อนไขใหม่ระบุชัดเจนว่าผ่อนงวดละ 2,060 บาท โดยผ่อนต่อจากสัญญาเช่าซื้อเดิมที่ชำระไว้แล้วต่อไปอีก 27 งวด วินัยบอกอีกว่า ถ้าดูเผินๆ ก็จะมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อลูกค้าชั้นดีอย่างเขา แต่เท่าที่อ่านและวิเคราะห์โปรโมชั่นนี้ แยกแยะเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทไฟแนนซ์ได้ดังนี้ 1. โปรโมชั่นนี้จะเลือกเฉพาะลูกค้าที่จ่ายค่างวดตรงเวลา ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายแน่นอน 2. โปรโมชั่นนี้ เป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ผ่อนชำระเข้าใจได้ว่า ตนเองจะจ่ายเงินน้อยลง 3. โปรโมชั่นนี้ เสนอมาอย่างหว่านแห หากผู้เช่าซื้อไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นเหยื่อทันที เพราะผลจริงๆ หลังจาก บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าข้อเสนอนั้นไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นข้อเสนอแบบ”ลับ ลวง พราง” เป็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัท เพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้เช่าซื้อ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดูง่ายๆ คือเอายอดที่ต้องผ่อนเดิมเดือนละ 2,350 บาท มาคูณค่างวดที่เหลืออีก 18 เดือน เขาจะจ่ายเงินอีกเพียง 42,300 บาท แล้วก็ลองเอาตัวเลขที่บริษัทเสนอมาให้ผ่อนเดือนละ 2,069 บาท มาคูณ 27 เดือน ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 55,863 บาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,563 บาท เห็นชัดๆ ว่าหากผู้เช่าซื้อหลงเชื่อ ทำตามข้อเสนอของบริษัท ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัทเรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นตัวอย่าง ที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ของประเทศไทย “อ่อนแอ ไร้การควบคุม” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 บ้านมือสองกับค่าประกัน น้ำ ไฟฟ้า

ผู้บริโภคทั่วไปที่คิดจะซื้อบ้านมือสองควรรอบคอบและสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของงานสาธารณูปโภคพวกน้ำ และไฟฟ้า ด้วย สิ่งเล็กๆ นั้นคือ ค่าประกันการใช้น้ำและค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เพราะอาจก่อปัญหาที่คุณคาดไม่ถึงได้ อย่างกรณีของคุณสาวิตรี เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้พบบ้านมือสองในทำเลและราคาที่ถูกใจมากๆ จึงได้ตกลงปลงใจซื้อบ้านตึกสองชั้นพร้อมที่ดิน จากผู้ขายและได้โอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และอยู่อาศัยมาด้วยความผาสุกเรื่อยมา จนต้นปี 2556 คุณสาวิตรีเพิ่งสังเกตเห็นว่า ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาและใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า นั้นยังเป็นชื่อผู้ใช้น้ำคนเดิมคือเจ้าของบ้านคนเก่า คุณสาวิตรีจึงได้พยายามติดต่อการประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของพื้นที่ปทุมธานี เพื่อขอดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองให้คุณสาวิตรีจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานของผู้ใช้น้ำ ของกรณีผู้โอนและผู้รับโอนเป็นบุคคลธรรมดามาประกอบการดำเนินเรื่อง แต่ว่าการซื้อบ้านของผู้ร้องนั้นได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถที่จะติดต่อกับผู้ขายบ้านหลังนี้ได้ จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำหนังสือเพื่อสอบถามและขอให้ทั้งสองหน่วยงานของรัฐช่วยเหลือผู้ร้อง การประปาส่วนภูมิภาค ปทุมธานี ได้ชี้แจงต่อกรณีนี้ว่า ตามระเบียบของการประปาส่วนภูมิภาค การโอนสิทธิในการใช้น้ำประปา หากมีการซื้อขายบ้านที่ติดตั้งประปาไว้แล้ว ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้พนักงานประปาทราบและให้ผู้รับโอนมาลงนามในสัญญาใช้น้ำ โดยหลักฐานที่นำมาแสดง อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบเสร็จเงินประกันค่าน้ำตัวจริง ,ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายหรือสำเนา หากทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้กับญาติดำเนินการแทนได้ เป็นต้น บ้านของผู้ร้องนั้นเป็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันการใช้น้ำ ขนาดมาตร 1/2 (นิ้ว) ค่าประกันการใช้น้ำ เป็นเงิน 535 บาท และการประปาฯ จะช่วยดำเนินการติดตามกับผู้ใช้น้ำเดิมเพื่อสอบถามว่าจะขอคืนเงินประกันการใช้น้ำหรือโอนเปลี่ยนให้กับผู้ร้องต่อไป แต่ในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ได้รับคำตอบต่อกรณีร้องเรียนดังกล่าวนี้แต่อย่างใดในขณะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งจะได้ติดตามผลให้กับคุณสาวิตรีต่อไป แต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านหรืออาคารมือสองจึงนำมาลงไว้เป็นกรณีศึกษา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 “สิทธิ” ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องเดินหน้าชน

ผ่านไปกับงานสุขภาพดีวิถีไทย 24-27 กรกฎาคม 57 จัดขึ้นเพื่อคนรักสุขภาพ ที่เมืองทองธานี   งานนี้มีผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพมาหาซื้อสินค้ากันอย่างเนืองแน่น  ศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีโอกาสไปตั้งบูธรับเรื่องร้องเรียนด้วย  ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มีปัญหาเดินมาปรึกษาอยู่ตลอด  โดยเฉพาะผู้ร้องที่ชื่อ คุณนิรภา ที่แกเห็นบูธเราก็ตรงเข้ามาซักถามปัญหาที่แกหนักอกหนักใจที่ไม่รู้จะหาทางออกยังไง“ฉันโสดอยู่ตัวคนเดียวในคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัด   มีของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น  เช่น  ตู้เย็น  โทรทัศน์  พัดลม  เตารีด เป็นต้น ค่าไฟฟ้าต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 250-280  บาทไม่เกินนั้น เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 57 ได้รับบิลค่าไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรี  เป็นยอดค่าใช้ไฟของเดือนพฤษภาคมที่เรียกเก็บสูงถึง 512 บาท  ฉันตกใจมาก คิดไปก่อนว่าสงสัยตู้เย็นที่ใช้เก่ามากแล้วคงกินไฟ   แล้วกังวลว่าเดือนต่อไปค่าไฟคงสูงเป็นหลักพันแน่  จึงตัดสินใจซื้อตู้เย็นใหม่  หลังจากซื้อตู้เย็นใหม่   เดือนต่อมาก็เกิดอาการงง  เพราะไม่มีบิลค่าไฟฟ้ามาเรียกเก็บ  จึงโทรติดต่อไปที่ Call Center1130  เพื่อสอบถาม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วบอกว่า  เดือนนี้ค่าไฟฟ้าของฉันเป็น 0.00 บาท  ด้วยความงุนงง เดินไปดูมิเตอร์ก็พบว่าหมุนตามปกติ  ต่อมา บิลค่าไฟเดือนกรกฎาคม เป็นปกติอีก”    เอาละซิ  เกิดอะไรขึ้น ?คราวนี้คุณนิรภา เลยโทรไปถามเจ้าหน้าที่    การไฟฟ้าฯ อีกครั้ง ก็ได้รับเพียงคำตอบว่าจะตรวจสอบให้   หายเงียบไปอีก 7 วันก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ว่า  “จดมิเตอร์ผิด” ปริ๊ดแตกทันที  อารมณ์โกรธขึ้นสมอง แล้วทำไมไม่แจ้งกันสักคำ  เวลาค้างชำระยังส่งใบเตือนจะตัดไฟ ที่จดผิดกลับไม่แจ้ง  ถ้าไม่โทรไปถามก็ไม่ทราบ  คิดในใจว่าใครจะยอม เสียเวลา เสียเงินตั้งหลายพันบาท    เลยโทรติดต่อกลับไปใหม่ แจ้งให้การไฟฟ้าชดใช้ค่าเสียหาย เป็นค่าตู้เย็นที่ซื้อใหม่  และค่าไฟเดือนพฤษภาคม ที่เก็บเกินไปทั้งหมดคืน แต่การไฟฟ้าก็บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด  เลยต้องมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ  ได้ฟังปัญหา   และขอรายละเอียดการใช้ไฟย้อนหลังตั้งแต่มกราคม 57 จนถึงเดือนกรกฎาคม 57 มาตรวจสอบ  พบว่าไม่มีการเรียกเก็บค่าไฟเดือนมิถุนายนจริง  อีกทั้ง บิลเรียกเก็บค่าไฟเดือนกรกฎาคม  เริ่มจดเลขมิเตอร์ไฟโดยใช้เลขมิเตอร์ล่าสุดที่จดผิดจากเดือนพฤษภาคม  ทำให้ค่าไฟในเดือนกรกฎาคมนั้นถูกกว่าทุกเดือนที่ผู้ร้องใช้ปกติ    จึงอธิบายให้ผู้ร้องเข้าใจ   แต่ผู้ร้องยังยืนยันว่าการไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าตู้เย็น  หากการไฟฟ้าไม่จดผิด  ตนเองก็ไม่เข้าใจผิด             ปวดหัวล่ะซิ  เรื่องนี้คนกลางอย่างเราคงจัดการลำบาก  แต่ในฐานะผู้ร้องซึ่งเป็นสามารถใช้สิทธิได้เต็มที่อยู่แล้ว  เลยแนะนำให้ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าเพื่อให้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร  ส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจนต้นเดือนตุลาคม  ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้องแจ้งว่า  หลังจากที่ทำหนังสือส่งไปถึงการไฟฟ้าฯ  ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม   ผู้ร้องติดตามเป็นระยะ  ด้วยวิธีการ โทรศัพท์ไปถามความคืบหน้าและหาก ไปชำระค่าไฟจะสอบถามกับเจ้าหน้าที่    ทุกครั้งจะได้รับคำตอบว่า  แจ้งให้ผู้บริหารรับทราบแล้วน่าจะกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่  ล่าสุดทนไม่ไหว  เลยขอเข้าพบผู้จัดการ  ชื่อคุณสัมฤทธิ์  ได้เจรจากัน   การไฟฟ้าฯ อ้างว่าได้แก้ไขปัญหาแล้ว  จะให้เยียวยาความเสียหายเท่ากับเงินค่าตู้เย็นใหม่นั้น คงทำไม่ได้   ขอช่วยเหลือที่จำนวนเงิน  1,600  บาทเป็นค่าตู้เย็นเก่าแล้วกัน   ผู้ร้องเห็นว่าไม่อยากยืดเยื้อจึงยอมตกลง    และขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์ที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ รายนี้   ต้องยอมยกนิ้วให้คุณผู้ร้องจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด B ดีจริงๆ หรือ?

สินค้า เกรด B  เป็นสินค้าที่ผู้ขายมักบอกกับผู้ซื้อว่า  เป็นสินค้าเกรด A  นั่นแหละ  มีตำหนิ นิดหน่อย ซึ่งมักจะสังเกตพบได้ง่าย  เช่น ตู้เย็นที่มีรอยตำหนิบริเวณประตู สีไม่เรียบ  แต่อุปกรณ์ภายใน ไม่ว่าจะเป็นคอมเพรสเซอร์หรืออะไหล่ส่วนอื่นเหมือนสินค้าเกรด  A ทุกอย่าง  หากลูกค้าไม่ซีเรียสเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก  มักจะตัดสินใจซื้อ  เพราะได้สินค้าที่ราคาถูกกว่ามากคุณนิรภา ก็ใช้เหตุผลเดียวกันที่ยอมซื้อตู้เย็น 6.6  คิวและเครื่องซักผ้าขนาด 7.2  กก. ยี่ห้อโตชิบา มาใช้   ยอมควักเงินจำนวน 9,982  บาท   เพราะมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าดีใช้งานได้ตามที่โทรศัพท์คุยกับพนักงานและติดต่อสั่งซื้อที่บริษัทโดยตรง    แต่เมื่อรับสินค้ามาใช้งาน ก็เริ่มพบปัญหา  ตู้เย็น บานประตูช่องแช่แข็งปิดไม่แน่น ตรวจพบว่าเขี้ยวที่เป็นตัวล็อคหัก   ขอบบนประตูตู้เย็นไม่แน่น  ช่องแช่แข็งไม่สามารถแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส   ส่วนเครื่องซักผ้า  มีปัญหาว่าตอนล้างผ้าและปั่น เสียงดังมาก     อ้าว?  ไหนว่าเกรด B มีตำหนิเฉพาะภายนอกไงคุณนิรภาจึงโทรไปแจ้งที่ศูนย์บริการลูกค้า  แต่บริษัทฯ กลับบอกว่า  สินค้าเกรด B ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้  แต่จะซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ให้ คุณนิรภาคิดว่าคงเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ อย่างที่บริษัทแจ้ง  เลยยอมให้ช่างมาซ่อม ช่างเปลี่ยนคอยด์เย็นตัวใหม่ให้ ส่วนประตูช่างบอกเปลี่ยนอะไหล่ไม่ได้ ต้องซื้อเปลี่ยนทั้งบานราคาประมาณ 2 พันบาท ผู้ซื้อต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนเครื่องซักผ้า เปลี่ยนอะไหล่แล้วยังดังเหมือนเดิม   ทำยังไงดีล่ะ จะต้องซ่อมกันตลอดเวลาไหม  ซ่อมแล้วยังใช้ไม่ได้นี่แหละปัญหาใหญ่ อยากได้ของถูกสินค้าเกรด B จ่ายเงินเหมือนกันกลับบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้  และเป็นที่คับข้องใจว่า สินค้าเกรด B  เปลี่ยนไม่ได้จริงหรือ คุณนิรภาจึงต้องหาตัวช่วย แนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  ได้รับเรื่องร้องเรียนของคุณนิรภา สอบถามวัตถุประสงค์ก็รับทราบว่าต้องการเปลี่ยนสินค้าใหม่เท่านั้น  เจ้าหน้าที่ศูนย์จึงต้องถามกับคุณนิรภาว่า หากเกิดปัญหาอีกคุณนิรภายอมรับได้หรือไม่  เพราะสินค้าเกรด B  นั้นต้องยอมรับว่า เป็นสินค้าที่มีปัญหาคล้ายกับรถยนต์มือสอง ที่ต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา  ผู้ซื้อต้องยอมรับได้ตรงจุดนั้น แต่ถ้ารับไม่ได้ก็จะเป็นปัญหากวนใจไปตลอด   ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด A ราคาไม่ต่างจากเกรด B  มากนัก อีกทั้งยังมีการประกันสินค้าหรือหากมีปัญหาในระยะ 7  วัน  ผู้ขายจะเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ทันทีสุดท้ายคุณนิรภาจึงตัดสินใจขอเงินคืนเพื่อเอาไปซื้อสินค้าใหม่เกรด A ดีกว่าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงแนะนำให้คุณนิรภา ทำหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น  และขอให้บริษัทฯ คืนเงินทั้งหมด  ด้วยเหตุที่ว่าไม่สามารถใช้สินค้าได้  ต้องซ่อมแซมมาตลอด และเมื่อซ่อมแล้วอาการเสียยังเหมือนเดิม  เมื่อบริษัททราบเรื่องร้องเรียนกลับบอกว่า คุณนิรภารู้อยู่แล้วว่าสินค้าเกรด B เป็นสินค้ามีปัญหาและผู้ซื้อยอมรับได้ บริษัทฯ คืนเงินให้ได้แต่ขอหักค่าเสื่อมราคาและค่าอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยน จากการใช้งานรวมแล้วเป็นประมาณเกือบ 5,000 บาทเรื่องจึงมาถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  โดยสอบถามกลับไปที่บริษัทฯ เพื่อขอทราบเหตุผลการหักค่าเสื่อมและค่าอะไหล่ เพราะกรณีสินค้าที่ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ขายต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว  ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นสินค้าเกรด B  ผู้ซื้อทราบอยู่แล้วนั้น  ผู้ขายแจ้งข้อมูลเพียงว่า เป็นสินค้ามีตำหนิเฉพาะภายนอกเท่านั้น อีกทั้งเมื่อซื้อมาแล้วไม่สามารถใช้งานได้จนได้รับความเสียหาย  เสียทั้งเงินและเวลา จะมาหักค่าเสื่อมได้อย่างไรเมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้ จึงยอมคืนเงินให้กับคุณนิรภาทั้งหมด  คุณนิรภาสะท้อนความรู้สึกให้เราฟังว่า ตนเองมีสตางค์พอที่จะซื้อสินค้าเกรด A แต่ชอบของถูก  เข็ดแล้วกับสินค้าเกรด B   เพราะเหนื่อยกับการสู้รบกับบริษัทฯ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คงไม่ได้เงินคืน  ต่อไปจะซื้ออะไรคงต้องตรวจสอบและตัดสินใจให้ดีกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ปลั๊กไฟรุ่นพิเศษ เสียบปุ๊บ ไฟดับปั๊บ...

คุณโสภา  ได้ซื้อปลั๊กไฟชนิดอย่างดียี่ห้อหนึ่ง จากร้านจำหน่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นปลั๊กไฟแบบ 5 ช่องเสียบ ยาว 4.5 เมตร  มา 1 อัน ในราคา 400 บาทเมื่อกลับมาถึงบ้าน  คุณโสภาได้หยิบปลั๊กมาเพื่อใช้งานทันที หลังจากเสียบปุ๊บ ทันใดนั้นไฟฟ้าทั้งชั้นก็ดับสนิท อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เปิดอยู่ เช่น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างดับหมด  แต่คุณโสภา ยังไม่อยากเชื่อว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมาจะเสีย ที่ไฟดับอาจเป็นเพราะพอดีการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟก็ได้ คุณโสภาจึงไปขอทดลองเสียบปลั๊กไฟอีกครั้งกับบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียววัน เมื่อเสียบปุ๊บ ผลเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นดับสนิท ทุกอย่างไม่สามารถใช้งานได้ คุณโสภาจึงรีบโทรศัพท์ไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมามีปัญหา แต่ร้านที่ซื้อบอกไม่เกี่ยวกัน ให้ไปติดต่อกับบริษัทเอาเองเจอแบบนี้ คุณโสภา มึนแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง ปลั๊กก็เสีย ไฟก็ดับ จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แนวทางแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วง่ายมาก ตามสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็ย่อมมีสิทธิได้เปลี่ยนสินค้าหรือได้เงินคืนกรณีนี้คุณโสภา สามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อได้เลย แต่อาจจะมีปัญหาถกเถียงกันนิดหน่อย หากร้านที่ขายไม่ยอมให้เปลี่ยน อาจทำให้อารมณ์เสีย แต่ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาและไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ซื้อมาแล้วยังต้องเอาไปเปลี่ยน เพื่อความรวดเร็วจึงแนะนำให้กดโทรศัพท์ไปที่บริษัทผู้ผลิตปลั๊กไฟ ที่ระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่กล่องผลิตภัณฑ์ เพื่อขอให้บริษัทส่งพนักงานเข้ามาตรวจสอบปลั๊กไฟที่ซื้อและระบบไฟฟ้าที่บ้านว่าเกิดจากสาเหตุใด หากมีความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า อันเกิดจากปลั๊กไฟที่ชำรุดเสียหายแล้วนำมาจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหลังการแนะนำ คุณโสภาได้ทำตาม  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน บริษัทได้ส่งช่างเทคนิคมาตรวจสอบปลั๊กไฟและระบบไฟฟ้าของบ้านทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าของบ้านไม่มีปัญหา ช่างของบริษัทสามารถแก้ไขให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่ในส่วนปลั๊กไฟที่ซื้อมานั้น ทดสอบแล้วพบว่ามีความชำรุดบกพร่องของสินค้าจริง บริษัทจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำปลั๊กไฟตัวใหม่ที่ทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้มาให้แทน และขอนำปลั๊กไฟตัวปัญหากลับคืน เพื่อทดสอบหาสาเหตุต่อไปเรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี ถ้าคุณโสภาเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาที่ไม่คิดมาก แต่คุณโสภา เข้าใจว่าปัญหาแบบนี้อาจเกิดได้กับทุกคนที่ซื้อปลั๊กไฟ และเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ขอสงวนสิทธิที่จะไม่ให้ปลั๊กไฟตัวปัญหาให้กับบริษัท แต่จะขอนำส่งให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงของการชำรุดเสียหายของปลั๊กไฟนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที กับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทเช่นนี้ ทำให้คุณโสภา ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เกิดความสบายใจและไม่คิดจะ ซึ่งหากใครที่เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วง แบบต่างๆ ที่ขายกันในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้ว มี มอก. เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรฐานสายไฟ คือ มอก. 11-2531  หรือ มอก. 11 ที่เป็นสายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC  เท่านั้น โดยที่ในส่วนที่เป็นรางปลั๊กไฟทั้งชุด มอก. ไมได้กำหนดมาตรฐานควบคุมไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีมาตรฐานดังกล่าวของสายไฟดังกล่าว ทาง มอก.  ได้ออกเป็นมาตรฐานประเภททั่วไป ที่ไม่มีการบังคับ คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่นำปลั๊กไฟมาขายนั้น ขอแค่มีสายไฟที่ถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ก็จะสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็จะไม่บอกข้อมูลในส่วนนี้ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันด้วย บอกแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้ มอก. เท่านั้นเท่านี้ ผู้บริโภคก็คิดกันไปเองว่า มอก. นี้คือ มาตรฐานของปลั๊กไฟทั้งชุด... อึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ !!!เจอแบบนี้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเอง การเลือกใช้ปลั๊กไฟจึงควรพิจารณาในส่วนประกอบต่างๆ ของปลั๊กให้ดี ทั้งตัวปลั๊กเสียบ สายไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้ทำรางปลั๊ก และอย่างน้อยก็ อย่าลืมมองหาปลั๊กไฟที่มีตรามาตรฐาน มอก. ในการพิจารณาเลือกซื้อ แม้จะมีมาตรฐานเฉพาะสายไฟอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการใช้งานนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัดนี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนดเวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด

หลายท่านคงยังจำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14  จังหวัดในภาคใต้ได้ดี  และหลายคนคงจะยังงงๆ  เหมือนผู้เขียนที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไง?  ก็เลยตามข่าวสารมาเล่าสู่กันฟัง   การเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้   วันที่  21  พฤษภาคม 2556   ความเข้าใจตามข่าวคือ ดับ 14 จังหวัด แต่เรื่องจริงคือ ดับ 16 จังหวัด เพราะนอกจาก ชุมพร  ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ สตูล สงขลา   สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา  แล้วยังมีเพชรบุรีบางส่วน(ตั้งแต่อำเภอบ้านลาดลงไป) และประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดด้วยโอ้โฮ!  มันกว้างขวางใหญ่โตมากนะ ความเดือดร้อนเสียหายจากไฟฟ้าดับงวดนี้   ตามมาด้วยเสียงโหยหวน ของ รมต.พลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  มันเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ฟ้ามันผ่า ไม่มีใครผิด   ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมสงสัยให้ขยายกว้างมากขึ้นดังนี้1.ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม ผลิตได้ 824 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากระบี่ ผลิตได้ 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ารัชประภา ผลิตได้       240  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางลาง  ผลิตได้ 73.3  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากลัฟยะลากรีน ผลิตได้ 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้  731 เมกะวัตต์  เป็นต้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุที่จอมบึงไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้  มีการบริหารจัดการอย่างไรจึง ปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า แต่ทำไมไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีการเตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับปัญหาในกรณีเกิดไฟฟ้าไม่พอใช้หรือไฟฟ้าดับ  ทั้งนี้จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า  และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่ เกาะสมุย  น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อม  มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้พลังงานในวงกว้าง 3. เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและการผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ในส่วนกลาง  สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ?  เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับ  ก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ทั้งที่หากเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้อย่างเร็วต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้  ดังนั้นการมีเป้าหมาย ในการผลิตไฟฟ้าไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่?4. การที่ปล่อยให้มีการผูกขาดแผนขาดแผนพลังงานไว้เพียงในส่วนกลาง  ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟฟ้าดับ เป็นสาเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ท่านผู้อ่านล่ะสงสัยเหมือนเรามั้ย?  หากสงสัยโปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัดในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียววันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ากฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาทีทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว. ข้อค้นพบและข้อสังเกตแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุปแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ไฟฟ้าตก แต่ต้องจ่ายค่าไฟแพง

พอดีผู้เขียนได้ทำหน้าเป็นประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงาน(คพข) เขต 10 ราชบุรี  (ตาม พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550)  มีจังหวัดในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ระนอง,ชุมพร,ประจวบ,เพชรบุรี,สมุทรสงครามและราชบุรี  ภารกิจที่สำคัญคือการรับและแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน   มีเรื่องร้องเรียนมามากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องถูกเก็บค่าต่อเชื่อมมิเตอร์ 107 บาท ทั้งที่ไม่ได้ถูกตัดไฟ(ไฟไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) การถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าราคาไม่เป็นธรรม ถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าแต่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจคือเรื่องร้องเรียนกรณีไฟฟ้าตก(ตกติดต่อกันเกิน 6 เดือนแล้ว)  เปิดไฟฟ้าไม่ค่อยติดแต่บิลค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติ เกือบ 2 เท่า(หลักฐานจากประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน)ผู้ร้องแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านตกมาก  ตกขนาดไฟฟ้าทุกดวงที่บ้านดับหมด ดูทีวีได้อย่างเดียว  เข้าห้องน้ำก็ต้องใช้เทียน จนอ่างน้ำจะเป็นกระถางน้ำมนต์อยู่แล้วเพราะมีน้ำตาเทียนลอยอยู่เต็ม   หรือไม่ก็ต้องกระเสือกกระสนไปซื้อไฟฟ้าฉุกเฉินมาใช้ในเวลากลางคืน  เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งตู้เย็น  พัดลม หม้อหุงข้าว  เสียหมดต้องซื้อใหม่ยกชุด  แต่พอบิลค่าไฟฟ้ามาเก็บถึงกับเข่าอ่อน จากเดิมที่เคยเสียอยู่  1,300 บาท  กลับมีตัวเลขถึง 2,700  บาทเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา  คพข. ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าจังหวัด  ไฟฟ้าได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตัวเลขที่จดว่าตรงกันไหม  ผลัดกันไปหลายชุด  ปรากฏว่าตัวเลขในบิลเรียกเก็บกับมิเตอร์ตรงกัน  ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ไม่ยอมและได้นำคลิปวิดีโอมาให้ดูว่า  เขาเปิดไฟฟ้าทั้งบ้าน  ทุกดวงมีการสตาร์ทไฟแดงๆ แต่ไม่ติด พร้อมคำถาม ไฟฟ้าไม่ได้ใช้ทำไมต้องจ่ายค่าไฟแพงด้วย และยืนยันว่าจะยอมจ่ายค่าไฟฟ้า ตามตัวเลขที่เคยใช้เท่านั้น  ส่วนที่เกินไปไม่ใช่ความผิดของผู้ใช้ไฟ ดังนั้นไม่ควรโยนภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ไฟฟ้าได้นำไปหารือในคณะกรรมการเพราะไม่เคยมีใครมาร้องเรียนในประเด็นอย่างนี้  สรุปมาคร่าวๆ คือกำลังไฟฟ้า โวลต์กับแอมแปร์มาไม่เท่ากันทำให้ไฟฟ้าสตาร์ทตลอดเวลา  แต่ไฟฟ้าไม่ติด  และการที่ไฟฟ้าสตาร์ทตลอด มิเตอร์จะเดินเร็วทำให้ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปกติ   แต่การไฟฟ้าบอกว่าต้องพิจารณาก่อนเพราะไฟฟ้าจังหวัดไม่มีอำนาจตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าให้ใคร   ต้องเก็บตามตัวเลขที่ขึ้นตามมิเตอร์  ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใช้ไฟยืนยันว่าไม่ยอมจ่าย  ที่สำคัญในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนกันอยู่  ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเตือนให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้า  ไม่อย่างนั้นอาจถูกตัดไฟฟ้า  หรือเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าก็โทรมาให้ไปจ่ายค่าไฟก่อนได้ไหมไม่อย่างนั้นฝ่ายบัญชีไม่ผ่านตัวชี้วัดบ้าง  หรือไม่ก็บอกว่าหากผู้ร้องไม่ยอมจ่ายส่วนต่างที่เกินขึ้นมา เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าต้องช่วยกันออกเงินแทน(ฟังดูเหมือนผู้ร้องเรียนเป็นมารร้ายยังไงก็ไม่รู้)ขณะเขียนเรื่องนี้ เหตุการณ์ยังไม่จบ แต่ก็นำมาเป็นกรณีศึกษา หากท่านผู้อ่านท่านใดเจอเรื่องแบบนี้สามารถร้องเรียนไปได้ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ชั้น 15 ตึกจามจุรีสแควร์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต(สกพ.) ซึ่งมีอยู่ 13 เขตทั่วประเทศ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า

ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ“ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน”“พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้วผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาทปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ทำงานเป็นทีม “กินรวบพลังงานไฟฟ้า”

บรรยากาศที่แสนร้อนของปีนี้ ผ่อนคลายลงได้ เมื่อหลายคนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน และได้สัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำที่สาดใส่กัน ณ เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา   ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของความสุขสนุกสนาน ซึ่งหลายคนอยากเก็บช่วงเวลานั้นไว้นานๆ   แต่เมื่อเทศกาลจบลง  ชีวิตก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง   ณ ช่วงเวลาที่แสนร้อนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ไฟฟ้า และการขึ้นราคาค่า Ft นั่นเองหากย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ก็จะได้เห็นข่าว ผู้บริหารกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าว  เรื่องการใช้ไฟฟ้า ว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากทำลายสถิติของปีที่ผ่านถึง 2  ครั้ง ในเดือนมีนาคม  และก็มีข่าวมาจาก กฟผ. ออกมาว่าไฟฟ้าอาจจะไม่พอใช้  เพราะมีโรงไฟฟ้าหลายโรงปิดซ่อมบำรุง ในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน   จากนั้นก็มีการออกมาให้ข่าวเพิ่มเติมว่า  เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอาจขาดแคลนเพราะ พม่าจะปิดหลุมก๊าซ เพื่อซ่อมบำรุงช่วงนี้เช่นกัน  คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.)ก็ออกมารับลูกทันที โดยให้ข่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาจต้องทบทวนการขึ้นราคาค่า Ft  โอ้โห...เห็นไหมว่าสถานการณ์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ มันช่างน่ากลัวจริงๆ   กลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เกือบจะตกเป็นจำเลยสังคมกันไปตามๆ กันนั่นเป็นข้อมูลที่ฝ่ายพลังงานออกมาให้ข่าวฝ่ายเดียวผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำแผน  PDP 2010  ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ จัดขึ้น โดยมีการเชิญ รมต.ว่าการกระทรวงพลังงาน  ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกกพ. มาชี้แจงข้อร้องเรียน ซึ่งทุกองค์กรส่งตัวแทนมา(ตัวจริงไม่มีใครมา) ทำให้ความจริงเปิดเผยในหลายเรื่อง เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน  เป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามากทำไมจึงมาปิดซ่อมบำรุงช่วงนี้  ทำไมไม่ไปซ่อมบำรุงในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าปกติ ไม่มีคำตอบ และที่ว่าพม่าปิดหลุมก๊าซเพื่อซ่อมบำรุง เป็นไปได้อย่างไร  ในเมื่อหลุมก๊าซนั้น ปตท.ได้สัมปทานการขุดเจาะจากพม่า(เหมือนบริษัทเชฟล่อนมาเจาะก๊าซ+น้ำมันในบ้านเรา) ดังนั้นการจะปิดซ่อมหรือไม่ซ่อม สิทธิอยู่ที่ ปตท. ไม่ใช่ประเทศพม่า เหมือนที่มีข่าวออกมา ไม่มีคำตอบเช่นกัน ที่น่าแปลกคือหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รู้ข้อมูลนี้  แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลจริง  แต่กลับปล่อยให้มีการปล่อยข่าว โยนขี้ให้พม่า โดยที่ ปตท.ซึ่งเป็นตัวการปิดซ่อมในช่วงเวลาคับขัน ลอยนวล  เมื่อถามถึงการปรับปรุงแผนพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) ว่า มีการปรับปรุงอย่างไร ขบวนการเอื้อเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนหรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบอะไรที่ชัดเจน (เหมือนเดิม) แต่กระบวนการปั่นข่าวจากฝ่ายบริหารพลังงานก็ยังดำเนินต่อไป  และสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2555 กกพ.ก็มีมติให้ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า(Ft) อีกหน่วยละ 40 สต. โดยที่คนใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ มีหน้าที่ต้องจ่ายอย่างเดียว   โดยที่ไม่รู้ข้อมูลจริงว่าที่ต้องขึ้นราคาไฟฟ้าเพราะเหตุอันใดส่วนฝ่ายการเมืองก็พึ่งไม่ได้  เพราะไม่มีพรรคไหน  หือ....อือ...กับเรื่องนี้   มัวแต่อุตลุดอยู่กับการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ    ผู้เขียนที่พอรู้ข้อมูลบ้างก็รู้สึกอึดอัดคับข้องไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร(คงต้องพึ่งกันเอง)  ก็ได้แต่เขียนระบายเพื่อเล่าสู่กันฟัง  แต่ขอบอกไว้ว่าเราจะไม่นิ่งเฉย  และจะเดินหน้าแฉ...ขบวนการเอาเปรียบผู้บริโภคให้สังคมได้รับรู้ให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะทำได้  ซึ่งเครือข่ายประชาชนกำลังร่วมกันจัดทำแผน PDP2012 ภาคประชาชน   ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับแผนของกฟผ.เพื่อป้องปรามมิให้  กฟผ.กินรวบพลังงานไฟฟ้าอย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 ร้องการไฟฟ้า กระแสไฟตกทำเครื่องไฟฟ้าเจ๊ง

ชาวบ้านลำลูกกา ปทุมธานี ลงชื่อกว่าครึ่งร้อย เรียกร้องการไฟฟ้าลำลูกกาแก้ไขปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอ ไฟตกบ่อยครั้งทำเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ๊งกันระนาว  ร้องไปร่วม 5 เดือนไม่มีความคืบหน้าเมื่อเดือนมกราคม 2555 คุณอาทิตยาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระแสไฟฟ้าตกในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ถึงขั้นต้องไปขอให้ตำรวจช่วยลงบันทึกประจำวันเนื่องจากกระแสไฟตกทำให้จอคอมพิวเตอร์ขนาด 18 นิ้วได้รับความเสียหาย และได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 50 รายชื่อไปแจ้งให้การไฟฟ้าลำลูกกาให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่าต้องรอหม้อแปลงไฟฟ้า จนถึงเดือนมกราคม 2555 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับการไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การประกอบการของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วแต่กรณีพื้นที่ และทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะมีสำนักงานประจำตามเขตต่างๆ กรณีนี้เกิดขึ้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จึงอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 7 และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา โดยระบุไปในจดหมายว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 4 หมู่จากปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอและมีกระแสไฟฟ้าตกเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-23.00 น. ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลังทำหนังสือร้องเรียนไป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา ได้ส่งพนักงานเข้าไปตรวจสอบและได้วัดโหลดปรับปรุงเพิ่มขนาดหม้อแปลงจาก 100 กิโลโวลท์แอมแปร์ เพิ่มเป็น 160 กิโลโวลท์แอมแปร์ และตัดต่อจุดต่อสายใหม่พร้อมจัดโหลดให้สมดุลได้ 220 โวลท์ทุกเฟส หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ร้องเรียนเพื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพของไฟฟ้าได้รับคำตอบว่าใช้ไฟฟ้าได้ปกติแล้ว ในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา มีแผนงานปรับปรุงเพิ่ม โดยจะติดตั้งหม้อแปลงเสริมฝั่งตะวันออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >