ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 แอบดูการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย

        ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 5 บาทต่อหน่วยแล้วรัฐบาลก็อ้างว่าที่แพงเพราะว่าค่าเชื้อเพลิงแพง คือค่าก๊าซธรรมชาติที่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ             ผมถามว่า...เรามีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่นำมาใช้            รัฐตอบว่า...พลังงานแสงอาทิตย์มันไม่เสถียร กลางคืนไม่มีพระอาทิตย์จะเอาอะไรใช้         แล้วทำไมรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยเราเกือบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไมเขาจึงผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมาใช้ได้เยอะมากเลย จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตามบ้านประมาณ 1.5 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกไฟฟ้ากับรัฐ และต้องย้ำว่า แลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากันด้วย         ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยำยน 2565 ออกมำแล้วว่าให้ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยด่วน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (NetMetering) คือแลกไฟฟ้ากันระหว่างผู้ผลิตบนหลังคากับการไฟฟ้า แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงานไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ไปนานกว่า 8 เดือนแล้ว ฉบับนี้ ผมจะมาแสดงการผลิตำพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เห็นกันว่าเขาทำอย่างไรบ้าง         ผมไปดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของรัฐนี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า โซล่าเซลล์ก็ผลิตได้แล้วจนถึงหนุ่งทุ่มก็ยังทำงานอยู่บางส่วนในบางวัน ผมลองคำนวณคร่าวๆเอาช่วงเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง คิดออกมาเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดแบบบ้านเรา  เป็นค่าเชื้อเพลิงหน่วยละ 2.50 บาท ก็ 400 ล้านบาทต่อวัน นี่คือมูลค่าของแสงแดดที่เรมองข้ามที่สามารถนำมาแทนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องซื้อ        ช่วงที่มีแดด เขาก็ให้แดดผลิตก่อน ตอนที่ไม่มีแดดก๊าซธรรมชาติก็ผลิตได้เยอะ แต่พอมีแดดเขก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งข้อมูลค่าส่วนที่ไม่ต้องไปซื้อก๊าซตรงนี้ก็กลายเป็นรายไดด้ของชาวบ้านไปเลย ในแคลิฟอร์เนียเขาผลิตโซล่าเซลล์เองด้วย เงินจำนวนนี้ก็กระจายอยู่นั้นนอกจากแสงแดดแล้วเขายังใช้เชื้อเพลิงอะไรอีกบ้างในการผลิตไฟฟ้าเรามาดูกันที่รัฐนี้เขาจะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ เขาจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ล่วงหน้า 1 วันล่วงหน้า 1 ชั่วโมง รู้หมด เผื่อมีอะไรผิดพลาดขนาดไหน จะได้ปรับแผนได้         ในหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แดดเยอะ ใช้ก๊าซน้อย พอตอนหัวค่ำก็ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆบางส่วน พอใช้แดดหมดแล้วก็ใช้ลม ใช้พลังน้ำ ใช้แบตเตอรื่เขาใช้นิวเคลียร์คคงที่ตลอดทั้งวันทั้งปี ถ่านหินก็ใช้แค่ 2 เมกะวัตต์เท่านั้น เขาใช้หลักว่าพลังานหมุนเวียนซึ่งไม่ต้องซื้อและไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนให้ผลิตมาใช้ได้ก่อนเลย ถ้าลมมาก็ผลิตเลย แดดมาก็ลิตเลย ถ้าพอกับความต้องการดก็จบ ถ้าเหลือก็เก็บเข้าแบตเตอรี่ ถ้าไม่พอก็เอาจากแบตเตอรี่มาใช้         นี่คือการบริหารพลังงานไฟฟ้าโดยปรับเปลี่ยนตามทรัพยากรที่มี เลือกทรัพยากรของฟรีก่อน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านผลิตได้ ถ้าไม่พอก็ไปใช้ฟอสซิล ไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นของบริษัทต่างๆทีหลัง หลายคนอาจถามว่า...ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ ?         ผมขอตอบว่า...ประเทศไทยเอาพลังงานฟอสซิลก่อน เพราะสามารถผูกขาดได้ แค่นี้ละครับ นี่เป็นมายาคติซึ่งหลายคนไม่เข้าใจเราต้องพยายามอธิบาย ก็ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน นอกจากกนี้ ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนในภาคไฟฟ้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการปล่อยคำร์บอนฯ ในภาคผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจนกระทั่งติดลบ         ผมเองก็สงสัยว่ามันติดลบได้อย่างไร ก็ไปดูว่าเขาใช้พลังงานอะไรบ้างในการผลิต ปรากฏว่าการผลิตไฟฟ้าของเขาในช่วงประมาณบ่าย 3เศษๆ เขามีพลังงานหมุนเวียนเยอะเขามีไฟฟ้าเหลือ เขาส่งออกไปให้รัฐอื่น จึงทำให้การปล่อยคาร์บอนฯของเขาในช่วงเวลาบ่าย 3 เศษๆ นั้นติดลบ นั่นเอง          จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เราแก้ปัญหาโลกร้อนได้ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน คือใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าผู้นำมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลง         ผมมองว่าปัญหาในการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้ คือการผูกขาดคนอื่นผลิตไม่ได้ เขาจะไม่ให้ชาวบ้านผลิตเอง ทั้งๆที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านพลังงาน ที่ใช้คำว่า Prosumer (Production byConsumer – ผลิตโดยผู้บริโภค)         ดังนั้น การอ้างว่าไฟฟ้าแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้พลังงานที่ตัวเองขายไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เท่านั้นแหละครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มีหมายศาลเรียกให้ไปจ่ายค่าไฟจากบ้านที่ขายไปเมื่อ 20 ปีก่อน

        เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้         คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2         เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544)  นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น  “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ”           แนวทางการแก้ไขปัญหา         จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า  “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า”         หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย         คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้         คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป         ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 พลังงานไทยไม่เป็นธรรมตรงไหน?

        เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า         ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก         ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย         ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ         หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน         คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย         ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2  แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน  เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว         ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ  ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้         ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า           ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง  ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ  เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่         ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย         สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับีท่ 263 แปรงสีฟันไฟฟ้า

        ตลาดแปรงสีฟันไฟฟ้าทั่วโลกเริ่มคึกคักและมีแนวโน้มจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น หลังผู้คนหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพอนามัยช่องปากกันมากขึ้น เราได้เห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ราคา รวมถึงแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของแปรงสีฟันไฟฟ้ามาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง* (ดูผลการทดสอบครั้งก่อนหน้าได้ใน ฉกลาดซื้อ ฉบับ 251)         เช่นเดียวกับครั้งก่อน การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่การตรวจวัดในห้องปฏิบัติการ และความเห็นจากอาสาสมัครที่ใช้งานจริง โดยคะแนนจะแบ่งออกเป็นสี่ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟัน (ร้อยละ 50)  แบตเตอรี/การชาร์จ (ร้อยละ 30) การใช้งานสะดวก (ร้อยละ 25)  และการปลอดเสียงรบกวน (ร้อยละ 5)          แปรงสีฟันไฟฟ้า 14 รุ่น ที่ทดสอบ (ราคาระหว่าง 715 ถึง 10,500 บาท)* มีทั้งรุ่นที่ใช้ระบบการสั่นของขนแปรง การหมุนของหัวแปรง หรือทั้งสองระบบรวมกัน แปรงส่วนใหญ่ที่เราทดสอบเป็นชนิดที่ชาร์จไฟได้ มีเพียงหนึ่งรุ่นที่ใช้พลังงานจากถ่านอัลคาไลน์        ในภาพรวมเราพบว่าการลงทุนไม่เกิน 3,000 บาท ก็สามารถได้แปรงไฟฟ้ารุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุด (Oral-B iO-4n) มาครอบครองได้ หรือถ้าใครไม่อยากจ่ายเกินหนึ่งพัน ก็ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนระดับดี (Dontodent) ให้เลือกใช้ เช่นกัน และยังมีแปรงบางรุ่นที่ผู้ผลิตให้หัวแปรงสำหรับเปลี่ยนมากถึง 3 หรือ 4 หัว แม้ราคาอาจจะสูงขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อคำนวณดูแล้วก็เป็นการลงทุนที่น่าจะคุ้มค่าเช่นกัน        การทดสอบโดยสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศครั้งนี้ทำขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจาก ฉลาดซื้อ เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมลงขันจึงสามารถนำผลทดสอบเปรียบเทียบมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่จ่ายค่าสมาชิกของเราได้           ราคาที่นำเสนอแปลงจากหน่วยเงินปอนด์หรือยูโร ตามข้อมูลที่พบในอินเทอร์เน็ต โปรดตรวจสอบราคา (รวมถึงค่าจัดส่งหากสั่งซื้อออนไลน์) อีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 263 กระแสต่างแดน

แทนน้ำเปล่า         ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นการใช้น้ำอัดลมในพิธีกรรมโบราณของคนพื้นเมืองในเม็กซิโก ทั้งพ่อหมอแม่หมอ ต่างยืนยันว่าทวยเทพทั้งหลายล้วนพอใจกับสิ่งนี้          ไม่ต่างอะไรกับคนเม็กซิโกทั่วไปที่นิยมดื่มน้ำอัดลมกันจนเป็นนิสัย แม้พื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ยังมีน้ำอัดลมขาย         ที่แปลกคือน้ำสะอาดสำหรับดื่มเป็นสิ่งหาได้ยาก แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม เช่น โคคาโคลา กลับมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ผลิตเครื่องดื่มออกมาตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างไม่รู้จบ         รายงานระบุว่ารัฐบาลอนุญาตให้บริษัทใช้น้ำได้วันละประมาณหนึ่งล้านลิตร แต่เนื่องจากไม่มีการกำกับดูแลปริมาณน้ำที่ใช้จริง ผู้คนจึงสงสัยว่าสาเหตุที่น้ำดื่มขาดแคลน อาจมาการใช้น้ำของบริษัทเหล่านี้         อัตราการเป็นโรคเบาหวานในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ประชากรเกือบร้อยละ 17 เป็นโรคเบาหวาน และหนึ่งในสามของเยาวชนมีภาวะน้ำหนักเกิน  ของมันต้องขึ้น         ประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 9 ล้านคนในเกาหลีใต้ มีสิทธิขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี         นโยบายนี้ถูกใจวัยเก๋า งานวิจัยก็พบว่ามันช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะการเดินทางออกจากบ้านทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดีต่อสุขภาพจิต         แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ “โซลเมโทร” หน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการรถไฟไต้ดินของกรุงโซล เพราะขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละแสนล้านวอน (ประมาณ 26,700 ล้านบาท) ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด         เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแผนจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบกับฐานเสียง (ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุนั้นมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 23)  โซลเมโทร จึงประกาศขึ้นราคาค่าตั๋วจาก 1,250 เป็น 1,550 วอน (ประมาณ 42 บาท) ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป   มาเฟียรุกทะเล         เมืองแถบชายฝั่งอัฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังหลายประเทศในเอเชีย ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน         หอยส่วนหนึ่งมาจากฟาร์มที่เลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะและจับขายตามกำหนด ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่ราคาค่อนข้างแพง         อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ตลาดล่าง” ที่ดำเนินการโดยมาเฟียท้องถิ่น โดยอาศัยแรงงานราคาถูกของคนหนุ่มสาวที่ยินดีเสี่ยงคุกออกไปลักลอบจับหอยเป๋าฮื้อในทะเล ด้วยราคาที่ถูกลง “ลูกค้า” จึงให้การอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะสุ่มเสี่ยงเรื่องสุขอนามัย           หากไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง หอยเป๋าฮื้อจะหมดไปจากทะเลแถบนั้นภายใน 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แนวชายฝั่ง 2,850 กิโลเมตรนี้ไม่มีเจ้าภาพทำหน้าที่เป็น “ยามชายฝั่ง”  กองทัพเรือของเขาซึ่งปราบโจรสลัดเป็นงานหลักก็ไม่มีเขตอำนาจหน้าที่ในระยะ 100 เมตรจากชายฝั่ง  ของถูกยังมี         ปีที่แล้วราคาเนยในเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เป็นไปในทิศทางเดียวกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ ที่แพงขึ้นร้อยละ 13.4 โดยเฉลี่ย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9 ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน          แต่อยู่ดีๆ ปีนี้ราคาเนยก็ลดฮวบ จาก 2.29 ยูโร (ประมาณ 85 บาท) ลงมาเหลือ 1.59 ยูโร (58 บาท) สำหรับเนยขนาด 250 กรัม         รายงานระบุว่าเป็นเพราะเยอรมนีผลิตน้ำนมวัวได้มากขึ้น แต่คนบริโภคนมน้อยลง และเนยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกแบรนด์ผลิตออกมาในขนาดเดียวกัน ทำให้เปรียบเทียบง่ายเวลาเลือกซื้อ ไม่ว่าร้านไหนก็ไม่ยอมให้ใครถูกกว่า         แต่ข่าวดีจบเพียงแค่นั้น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างชีส หรือโยเกิร์ตยังคงแพงเหมือนเดิม น้ำมันดอกทานตะวันขนาดหนึ่งลิตร ก็ขึ้นราคาเป็น 5.99 ยูโร (220 บาท) จากราคาเดิม 1.29 ยูโร  รักต้องโอน         ธนาคาร TSB ของอังกฤษเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ผ่านการโอน ระหว่างผู้เสียหาย (ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร) กับมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รัก ตามสูตรโรแมนซ์สแกม         ในช่วงโควิด กรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 และมีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ประมาณหนึ่งในสามของเหยื่อได้รับการติดต่อผ่านเฟซบุ๊ค และเกือบร้อยละ 25 ติดต่อกันทางแอปทินเดอร์ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยของผู้เสียหายคือ 47 ปี         สองในสามของเหยื่อเป็นผู้หญิง ที่โดยเฉลี่ยแล้วสูญเงินคนละประมาณ 6,300 ปอนด์ (250,000 บาท) ในขณะที่เหยื่อผู้ชายเสียไปคนละ 4,600 ปอนด์ (190,000 บาท)              สถิติระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่โอนเงินไปถึง 8 ครั้ง ก่อนจะ “รู้ตัว” โดยร้อยละ 32 รู้ตัวหลังคุยกันได้ประมาณสองสัปดาห์ อีกร้อยละ 27 รู้ตัวประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง อีกร้อยละ 11 “คบ” กันเกินครึ่งปี เขายังพบอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การโอนครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายห่างกันประมาณ 62 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 โรงไฟฟ้าชุมชนกับความจริงที่หายไปจากการอภิปรายในสภาผู้แทน

        ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 เมื่อ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566  มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านได้ยกขึ้นมาอภิปราย คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือ VSPP (Very Small Power Producer) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์         ฝ่ายค้านโดยคุณสุทิน คลังแสงได้อภิปรายพอสรุปได้ว่า ท่านเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงซึ่งได้แก่ ไม้โตเร็ว และหญ้าเนเปียร์  เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดคือ ให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วน 10% คุณสุทินเสนอว่าควรจะให้ชุมชนถือหุ้นมากกว่านั้นเป็น 60-70% เป็นต้น ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นมาตอบแบบข่มผู้ตั้งคำถามว่า ให้ไปศึกษาดูให้ดีก่อน วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้นแต่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ถึง 40% ในปีต่อๆ ไป         ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะให้ชุมชนสามารถเพิ่มทุนเป็น 40% ให้สำเร็จภายในปีใด นั่นแปลว่ายังคงถือหุ้นเท่าเดิมคือ 10% ตลอดอายุสัญญา 20 ปีก็ได้ นอกจากนี้ผมได้ติดตามเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” (ออกปี 2564) โดย กกพ.ก็ไม่มีการพูดถึงสัดส่วนการลงทุนแต่ประการใด         ดังนั้นเราพอสรุปได้ว่าเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่บอกว่าจะให้ชุมชนถือหุ้นถึง 40% จึงเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งพลเอกประยุทธ์นำมาหลอกต่อในสภาและคุณสุทินเองก็ไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ระบุเวลา นี่คือความจริงที่หายไปประการที่หนึ่ง         ความจริงที่หายไปประการที่สองคือ ขนาดของโรงไฟฟ้า กำหนดว่าต้องไม่เกิน 3 เมกะวัตต์สำหรับที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอาหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ) และไม่เกิน 6 เมกะวัตต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล (จากเศษไม้โตเร็ว) คำถามคือโรงไฟฟ้าพวกนี้มีขนาดเล็กมากจริงหรือ         ข้อมูลจากผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. ท่านหนึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 4 พันไร่ ถ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าถึง 12,000 ไร่ การขนหญ้ามาขายก็มีต้นทุนคือค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพจึงควรจะมีขนาดเล็กมาก(ตามชื่อ) แต่ควรเล็กขนาดไหน และข้อมูลจากประเทศเยอรมนีก็พบว่า ทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีขนาดเฉลี่ยเพียง 0.6 เมกะวัตต์เท่านั้น (14,400 โรง 9,300 เมกะวัตต์)  มีอยู่โรงหนึ่งขนาดเพียง 75 กิโลวัตต์ (หรือต้องใช้ 14 จึงได้ 1 เมกะวัตต์) ต้องใช้มูลวัว 120 ตัวเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เราลองจินตนาการดู การเลี้ยงวัว 120 ตัวก็พอจะเป็นไปได้ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันดีๆ แต่ถ้าเป็น 3 เมกะวัตต์ต้องใช้วัวกว่า 5 พันตัว มันยุ่งยากไม่น้อยเลย         โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้สามารถขายไฟฟ้าให้กับ กฟน.และกฟภ.ในราคาที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าทั่วไปถึงประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างน้อย 3 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของศักยภาพ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญากับ กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 45% ถึง 70% ของศักยภาพเท่านั้น (เพราะเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน) ในเมื่อ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้น 90% (2) ขายไฟฟ้าได้ในราคาแพงกว่าและ (3) ได้ผลิตไฟฟ้า 100% ของศักยภาพ ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้ามีระยะเวลาคืนทุนเร็วมากเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากเกินไป         สุภาษิตเยอรมันเตือนไว้ว่า “มีปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งอย่างน้อย 2 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละครับ การเมืองไทยมันต้องใช้ภาคประชาชนที่ตื่นรู้คอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่าให้พลาดสายตานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 กระแสต่างแดน

หาเงินง่าย         ปีที่แล้วมีหนุ่มสาวออสซี่ที่ต้องการหางานทำ ถูกหลอกให้ “วางเงิน” ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 44 ปี) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) เตือนผู้ที่กำลังหางานทำให้ระวัง “ข้อเสนอจ้างงาน”​ ที่พบเห็นในโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่มักอ้างว่าเป็นงานเบา งานง่าย แต่รายได้ดีสุดๆแค่นั่งคลิกส่งคำสั่งซื้อสินค้าในแอปฯ หรือกดส่งรีวิว ก็ได้เงินวันละ 1,000 เหรียญแล้ว และถ้าขยันทำทุกวัน ก็ได้ปีละ 365,000 เหรียญ (8.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว นอกจากจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครงานตอนที่ “ลงทะเบียน” เช่น ชื่อ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ แล้ว มิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายบุคคลของบริษัทชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก จะขอให้ผู้สมัครวาง “เงินประกัน” ไว้ด้วยนั่นเอง  เหนือการควบคุม         เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก สั่งห้ามการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดความเดือดร้อนรำคาญของคนในพื้นที่ แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อฟัง ตำรวจจับและปรับผู้ฝ่าฝืนแทบไม่ไหว เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุคนบาดเจ็บจากการเล่นพลุถึง 83 สาย ยังมีกระจกหน้าต่างอาคารกว่า 30 หลังแตกกระจาย แถมด้วยเหตุไฟลุกไหม้บนหลังคาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้พลุและดอกไม้ไฟยังเป็นของที่หาได้ง่าย ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกพลุรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกด้วย สาธารณรัฐเช็กเคยเป็น “ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เสรีมาก” ผู้คนซื้อหาเหล้าบุหรี่ราคาถูกมาดื่มหรือสูบกันได้ทุกที่ ใครจะปลูกกัญชาที่บ้านกี่ต้นก็ได้แม้จะมีกฎหมายห้าม รัฐบาลยุคนั้นมองว่าอิสระเล็กน้อยพวกนี้ทำให้ผู้คนไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ แต่มันกลับส่งผลให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่สามารถควบคุมเรื่องใดได้อย่างจริงจังอีกเลย  ภาษีบินบ่อย         งานวิจัยพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาบนโลกใบนี้เกิดจากร้อยละ 1 ของประชากรเท่านั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 124,000 ยูโร หรือ 4.4 ล้านบาทต่อปี จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของรายได้จากค่าโดยสารเครื่องบินมาจากร้อยละ 20 ของคนรายได้สูง ไม่ต่างกันกับที่อเมริกาเหนือ ทำให้ข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีแบบบินมากจ่ายมาก ถูกพูดถึงอีกครั้ง นักวิจัยเสนอว่าภายในปี 2050 รัฐจะมีรายได้จากภาษีนี้มากถึง 121,000 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากเหล่าซูเปอร์ริช ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สร้างคาร์บอนได้ในปริมาณที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ที่มักไปไหนมาไหนใกล้ๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว หรือโรมัน อับราโมวิช เจ้าของเรือยอทช์ที่มีทั้งสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อยู่ก่อนขาย         โฆษณาขายแฟลตมือสองในราคา 688,888 เหรียญ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตในสิงคโปร์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะราคาแฟลตขนาด 5 ห้อง ที่แพงขึ้นจาก 50,000 เหรียญ (ประมาณ 4 แสนกว่าบาท) ที่ Housing Development Board (HDB) ขายให้กับผู้ซื้อเมื่อปี 2017 แต่เพราะสภาพใหม่เอี่ยมเหมือนไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนต่างหาก ตามกฎหมายสิงคโปร์ เจ้าของแฟลตไม่มีสิทธิขายห้องก่อนจะได้อยู่อาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หากไม่ต้องการอยู่ ก็จะต้องคืนห้องให้กับ HDB ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม (มีข้อยกเว้นกรณีของบุคคลล้มละลายหรือคนที่ต้องการหย่าร้างจากคู่สมรส ที่สามารถขออนุญาตเป็นพิเศษได้) การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีค่าปรับสูงสุด 50,000 เหรียญ และอาจถูกรัฐบาลริบห้องคืนด้วย   มาเร็วกว่ารถไฟ         ในปี 2024 ฝรั่งเศสจะเริ่มโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเมืองบอร์โดและตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สามารถเป็นไปได้ใน 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในระยะขับรถถึงใน 1 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟ (ทั้งหมด 2,340 ชุมชน) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2023 รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษี SET หรือ Special Equipment Tax ได้ถึงปีละ 29.5 ล้านยูโร (ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดใช้ในปี 2032 มีมูลค่า 14,300 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท) งบประมาณร้อยละ 40 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป เพราะรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับสเปน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลาง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดยสารด่วนที่ยังด่วนไม่ได้ของ รถไฟฟ้า BTS

        ในเวลาเร่งด่วน  เชื่อว่าหลายๆ คนก็มักจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ทันใจ รถออกตามเวลาที่กำหนดเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ แต่เรื่องของคุณนิคสะท้อนว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายค่าโดยสารในราคาเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่ได้รับบริการที่สามารถเดินทางไปได้ด่วนอยู่ดี         เรื่องมีอยู่ว่า  คุณนิค ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องจำเป็นต้องใช้ รถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนคือช่วงเวลา 17.00- 17.30 น. ในเวลาดังกล่าวคุณนิคสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวนมากต่อแถวรอซื้อบัตรจนเป็นแถวยาว คุณนิคจึงพยายามหลีกเลี่ยง และเพื่อความรวดเร็วจึงซื้อบัตรจากตู้ระบบอัตโนมัติ ด้วยการสแกน QR CODE ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ใช้เงินสด แต่ครั้งนี้ คุณนิคกลับพบว่า ระบบตู้อัตโนมัติทำงานได้ล่าช้าอย่างมาก หลังจากที่ได้สแกนจ่ายแล้ว  คุณนิครอรับบัตรโดยสารเป็นเวลากว่า 10 นาที เพราะเกรงใจคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง และด้วยความรีบที่จะไปทำธุระต่อ คุณนิคจึงตัดใจเดินออกมาและก็พบว่า ทั้งช่องซื้อบัตรโดยสารกับพนักงาน  ช่องแลกเหรียญแถวยาวมาก จึงหาจังหวะกลับไปซื้อบัตรโดยสารจากระบบตู้อัตโนมัติอีกครั้งในตู้ใหม่ที่อยู่ถัดออกมา การซื้อครั้งที่ 2 คุณนิคยังใช้เวลารอนานกว่า 5 นาทีกว่าบัตรโดยสารจะจ่ายออกมา เมื่อได้รับบัตรแล้ว  คุณนิคจึงรีบวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเมื่อมองลงมายังพบว่า ตู้ระบบอัตโนมัติที่คุณนิคได้สแกน QR CODE ในครั้งแรกหน้าจอยังคงหมุนค้าง  ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีผู้โดยสารมาต่อแถว และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการอะไรแต่อย่างใด         คุณนิคติดใจการทำงานของตู้ระบบอัตโนมัติอย่างมาก เพราะระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับบัตรโดยสาร ที่สำคัญ BTS สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการโดยสารด่วน ทันสมัยแต่ในครั้งนี้ คุณนิคกลับใช้เวลาซื้อบัตรโดยสารทั้ง 2 ครั้ง เกือบครึ่งชั่วโมง !!           ปัญหาตู้ระบบอัตโนมัติยังมีต่อมาในครั้งที่ 2  คุณนิคเป็นผู้โดยสารที่ต่อแถวรอซื้อบัตรโดยสาร ด้วยการสแกน QR CODE อีกครั้ง  ครั้งนี้ คนข้างหน้าเจอปัญหาเหมือนที่คุณนิคเคยเจอมาทุกอย่าง คุณนิคเห็นเธอสแกนเงินแล้ว และได้แต่รอบัตรโดยสาร คุณนิครู้ว่าหากยืนรอก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าระบบจะทำงานได้ตามปกติได้เมื่อไหร่ คุณนิคจึงตัดใจเดินไปต่อแถวซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานเพราะขณะนั้นมีคนจำนวนไม่มากนักและคงจะเร็วกว่าได้แต่รอตู้อัตโนมัติที่ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน  คุณนิคได้บัตรโดยสารแล้วและยังเห็นคนข้างหน้าเธอยังคงยืนรอบัตรโดยสารออกมาจากตู้!         ครั้งที่ 3 ที่ทำให้คุณนิคสุดทนจนมาเล่ากับฉลาดซื้อครั้งนี้ คือเธอซื้อบัตรโดยสารด้วยการ สแกน QR CODE และเจอกับเหตุการณ์ที่เหมือนกับครั้งแรกทุกอย่างคือ ระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้วแต่บัตรโดยสารไม่ออกมา คุณนิคโมโหมาก เพราะรับปากว่าจะไปทำธุระสำคัญให้ทันเวลา ซึ่งหากครั้งนี้ไปสแกนซื้อบัตรครั้งใหม่ เท่ากับว่าเธอจะเสียเงินฟรีให้ระบบซื้อตั๋วเป็นครั้งที่ 2 เธอจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าตู้ไม่ยอมจ่ายบัตรจะต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า พนักงาน BTS แจ้งให้คุณนิคไปต่อแถวผู้โดยสารที่กำลังรอซื้อบัตรโดยสารกับพนักงานเพื่อแสดงหลักฐานการจ่ายเงินแลกกับบัตรโดยสารได้ต่อไป    คุณนิคมองไปเห็นแต่แถวยาว จึงโมโหมากและบอกกับพนักงานไปว่า “กว่าจะได้สแกน ฉันก็ต่อแถวนานแล้ว พอสแกนแล้วระบบก็ไม่จ่ายบัตร  คุณก็ให้ไปต่อแถวใหม่ที่ยาวมาก ระบบมันมีปัญหาไม่ใช่ความผิดของฉันเลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะโดยสารด่วนได้ยังไง ถ้าต่อแถวใหม่กว่าจะถึงฉัน ฉันใช้เวลาซื้อบัตรเกือบ 40 นาทีนะ” แล้วคุณนิคก็จำต้องเดินไปต่อแถวที่ยาวมากดังกล่าว  จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนิคและทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ BTS ดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วนได้จริง คือ   1. BTS ควรหมั่นตรวจสอบระบบตู้ซื้อบัตรอัตโนมัติทั้งแบบ สแกน QR CODE และหยอดเหรียญ ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ซื้อบัตรจำนวนมากยังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  หากตู้มีปัญหาควรติดประกาศว่า ‘หยุดให้บริการชั่วคราว’เพราะหากเกิดปัญหา ล่าช้า ตู้ไม่สามารถจ่ายบัตรได้ ผู้โดยสารจะเสียเวลาซื้อบัตรนานมากกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง เสียเงินโดยที่ไม่ได้รับบริการอีกด้วยBTS ควรจัดให้มีพนักงานและช่องบริการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานีขึ้นมาโดยเฉพาะ การที่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากระบบของ BTS เองและให้ผู้โดยสารต่อแถวร่วมกับช่องขายบัตรเพื่อรอรับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้บริการที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้นได้แต่อย่างใด อีกทั้งการเสนอช่องทางให้ร้องเรียนการให้บริการใน 3 ช่องทางผ่านทาง Message  Line และ Call ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าให้แก่ผู้โดยสารได้แต่อย่างใด ช่องทางดังกล่าวจึงไม่พอเพียง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 กระแสต่างแดน

 แน่นจนน่ากลัว         เหตุการณ์ที่อิแทวอนทำให้ผู้โดยสารรถไฟไต้ดินของกรุงโซลเริ่มวิตก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้คนหนาแน่น เบียดเสียดกันทั้งในสถานีและในขบวนรถเช่นกัน         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางสาย 1 ช่วงระหว่างสถานีกูโรและสถานีกิล การสำรวจโดยบริษัท SK Telecom  พบว่า มีความหนาแน่นของผู้โดยสารถึงร้อยละ 252 หรือเท่ากับ 403 คนต่อคัน (ทั้งที่ควรเป็น 160 คนเท่านั้น)         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินมีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบแจ้งความหนาแน่นในตัวรถ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะผ่าน “ประตู” สถานีเข้ามา ด้านนักวิชาการเสนอให้มีการปรับปรุงตารางรถ ไม่ให้รถไฟเข้าชานชาลาพร้อมกัน รวมถึงเพิ่มเส้นทางรถเมล์ด้วย          ระหว่างนี้เขาจะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มา “ยืน” ให้มากขึ้น นักวิชาการของเกาหลีบอกว่าแผนนี้ใช้ได้ เมื่อคนเกาหลีเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะเกรงใจและขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ไม่เบียด ไม่ผลัก และไม่พยายามแทรกเข้าขบวนรถที่เต็มแล้ว ตั๋วเดือนกลับมาแล้ว         ผลตอบรับที่ดีของ “ตั๋ว 9 ยูโร” ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเยอรมนีเตรียมขาย “ตั๋วเดือน 49 ยูโร”  (ประมาณ 1,800 บาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ตามแผนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้มากขึ้น         ตั๋วที่ว่านี้สามารถใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ทั้งรถราง U-Bahn (รถไฟใต้ดิน)  S-Bahn (รถไฟในเมือง) และรถไฟข้ามเมืองของ Deutsche Bahn เช่นเดียวกับตั๋ว 9 เหรียญ         ตั๋วเอื้ออาทรนี้ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3 ล้านยูโร โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจ่ายคนละครึ่ง   นอกจากนี้เยอรมนียังเตรียมขยายระบบขนส่งมวลชนโดยจัดสรรงบประมาณไว้ปีละหนึ่งพันล้านยูโร (และเพิ่มให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี         ผลโพลล์พบว่าร้อยละ 55 ของคนเยอรมันชอบตั๋วแบบนี้มากถึงมากที่สุด เพราะทุกวันนี้จ่ายอยู่เดือนละ 80 - 100  ยูโร แต่ก็มีถึงร้อยละ 23 ที่ไม่ชอบแนวคิดนี้         บ้างก็ว่าราคานี้ยังแพงไป ที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือ “ตั๋วปี” ในราคา 365 ยูโรรถสะอาด อากาศดี         ฝรั่งเศสเล็งเพิ่มพื้นที่ “มลพิษต่ำ” จาก 11 พื้นที่ในปัจจุบันเป็น 43 พื้นที่ภายในสิ้นปีหน้า         พื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รถรุ่นเก่าเข้ามาวิ่ง หรือวิ่งได้เพียงบางช่วงเวลา และรถที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องมีสติกเกอร์ Crit’Air ซึ่งทางการจะออกให้หลังตรวจประเมินระดับการปล่อยมลพิษ (ระดับ 0 ถึง 5) การขับรถที่ไม่มีสติกเกอร์เข้าเขตดังกล่าวจะมีค่าปรับระหว่าง 68 ถึง 750 ยูโร         รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้ยังไม่ดีพอและไม่มีมาตรฐาน แต่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติโดยใช้กล้องวงจรปิดเข้ามาช่วยในเร็วๆ นี้         ด้านประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (ค่ามลพิษระดับ 0) จะได้ “โบนัส” 7,000 ยูโร โดยรถที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนต้องมีราคาระหว่าง 7,000 - 47,000 ยูโร โดยเจ้าของจะต้องใช้รถอย่างน้อยหกเดือน หรือขับอย่างน้อย 6,000 กิโลเมตร ก่อนจะขายต่อได้         ความนิยมรถไฟฟ้าในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการจดทะเบียนในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 93,344 คัน  รีวิวหลอกดาว         อเมซอนยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าจัดหาผู้มารีวิวสินค้าในประเทศสเปนและอิตาลี หลังพบว่า “ลูกค้า” ที่เข้ามารีวิวสินค้าในอเมซอนไว้อย่างเลิศเลอนั้นไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง         อเมซอนบอกว่าเขาตรวจสอบได้ว่าใคร “ถูกจ้าง” โดยทั่วไปลูกค้าจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่กรณีนี้ผิดสังเกต เพราะลูกค้าที่พึงพอใจมากกลับทำเรื่องขอเงินคืน แล้วก็ได้คืน “เต็มจำนวน” เสียด้วย สุดท้ายพบว่าเงินดังกล่าวคือค่าตอบแทนนั่นเอง         บริษัทที่เป็นจำเลยอ้างว่า พวกเขาเพียงแต่เลือกคนที่พวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่ายินดีจะซื้อสินค้า และจะมีความพึงพอใจขนาดโพสต์รีวิวให้ถึงห้าดาว วิธีการแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นช่วงโควิดระบาดที่ผู้คนนิยมเดินห้างออนไลน์ ก่อนหน้านี้อเมซอนยุโรป ได้ส่งคำเตือนไปยังเว็บไซต์ 5 เว็บในเยอรมนี ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการถูกฟ้อง   ร้อน แล้ง เครียด         ปัจจุบันจำนวนคนชั้นกลางที่มีฐานะดีและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลก แต่อากาศที่ร้อนแล้งขึ้นทุกปีส่งผลให้วัวให้น้ำนมได้น้อยลงเพราะ “ความเครียด” และการขาดแคลนทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากนมวัวจึงมีแนวโน้มจะลดลงและมีราคาแพงขึ้น         มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจากนมวัวของออสเตรเลียจะลดลงไปถึงร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกกิจการไปเพราะเจอกับคลื่นความร้อนหลายปีติดต่อกัน  ด้านอเมริกาก็มีรายงานว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ก่อนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมวัวนมที่นั่นอาจขาดทุนถึงปีละ 2,200 ล้านเหรียญ         ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศหยุดผลิตชีสยอดนิยมที่เรียกกันว่า  Salers เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” เพียงพอ วัตถุดิบที่ว่านั้นคือน้ำนมจากแม่วัวที่กินหญ้านั่นเอง         ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก สถานการณ์ก็ย่ำแย่เช่นกัน เกษตรกรรายย่อย จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำความเย็นให้กับวัวนั่นเอง     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 กระแสต่างแดน

รู้เร็วมีสิทธิรอด        ญาติของชายวัย 66 ปีที่ถูกพบเสียชีวิตในห้องน้ำของ MRT ฮ่องกง เตรียมฟ้องบริษัท หลังได้รับแจ้งจากบริษัทว่าปุ่มกดขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในห้องน้ำสำหรับผู้พิการไม่ทำงาน          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชายคนดังกล่าวซึ่งมากับภรรยาขอตัวไปเข้าห้องน้ำ แต่หายไปนานจนผิดสังเกต ภรรยาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตามหา แต่ก็ไม่มีใครพบตัว ผ่านไปกว่าสี่ชั่วโมง พนักงานทำความสะอาดพบชายคนดังกล่าวเสียชีวิตอยู่ในห้องน้ำผู้พิการ ในฝั่งห้องน้ำหญิง บริษัทแจ้งว่าความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร         เมื่อห้องน้ำในสถานีดังกล่าวเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็พบว่า “ปุ่มฉุกเฉิน” ในห้องน้ำดังกล่าวใช้งานไม่ได้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าในวันเกิดเหตุ ผู้เสียชีวิตได้กดปุ่มนั้นหรือไม่ เพราะห้องคอนโทรลไม่พบสัญญาณเรียกเข้า          อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมติดตั้งเครื่องตรวจจับ “ความไม่เคลื่อนไหว” เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่อาจหมดสติในห้องน้ำได้ทันเวลา โดยจะเริ่มจากสถานีที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดก่อนงบฯ แก้เหงา         เพราะความเหงาไม่เข้าใครออกใคร รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงอนุมัติงบประมาณ 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการหรือการวิจัยใดๆ ก็ตามที่จะช่วย “ต่อต้านความเหงา” ภายใต้หลักความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่ต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย และเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่าง        การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งเนเธอร์แลนด์ที่ทำขึ้นในปี 2021 กับผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 7,000 คน พบว่า ร้อยละ 40 ของคนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกเหงา ในจำนวนนี้บางส่วนตอบว่าเหงาหนักมาก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิดระบาดถึงร้อยละ 7         ที่น่าสนใจคือกลุ่มวัยรุ่น ก่อนโควิดมีเพียงร้อยละ 8 แต่หลังจากนั้นเพิ่มเป็นร้อยละ 13.5 ในทางกลับกันจำนวนผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี ที่รู้สึกเหงากลับลดลง (จากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 9)        ที่เขาต้องจริงจังเพราะความเหงาไม่ได้มาเล่นๆ มันอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น โรคซึมเศร้า การคิดฆ่าตัวตาย โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น เงินเปิดก๊อกไม่ได้         ปีนี้ “แอลเอ” แล้งเป็นประวัติการณ์ เทศบาลจึงต้องออกระเบียบจำกัดการใช้น้ำของครัวเรือน แต่สำหรับ”ชาวบ้าน” บางส่วนที่เป็นเศรษฐีหรือดาราฮอลลิวูด “ค่าปรับ” อย่างเดียวอาจไม่สามารถหยุดพวกเขาได้         บางเขตจึงใช้มาตรการติดตั้ง “อุปกรณ์จำกัดการไหลของน้ำ” ในบ้านที่ใช้น้ำเกินขีดจำกัดมากกว่าร้อยละ 150 เกินสี่ครั้ง (เกณฑ์นี้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2021) การประปาท้องถิ่นบอกว่าหลังจากดำเนินการมาสองสัปดาห์ ยังไม่เจอบ้านไหนโวยวายหรือขู่ฟ้อง        ทางออกสำหรับรายที่ไม่ต้องการให้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น ซิลเวสเตอร์ สตาโลน คือการทำจดหมายยืนยันว่าจะหาวิธีลดการใช้น้ำลงให้ได้ ส่วนมาดอนนานั้น รายงานข่าวระบุว่าเธอรอดไป เพราะสามารถอธิบายได้ว่า มิเตอร์น้ำที่ขึ้นรัวๆ นั้น เป็นเพราะก๊อกรั่ว และเธอได้ดำเนินการซ่อมแล้ว        การทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว (ซึ่งใช้เวลาติดตั้งไม่กี่นาที) ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกดชักโครกตามปกติ เพียงแต่จะอาบน้ำและล้างจานพร้อมกันไม่ได้ ส่วนการรดน้ำต้นไม้นั้นเป็นไปไม่ได้เลยเยอรมันก็ตื่นตูม         ฤดูหนาวใกล้เข้ามาแล้ว สินค้าที่คนเยอรมัน “ต้องมี” นาทีนี้คือเครื่องทำความร้อนชนิดใช้ไฟฟ้า เพราะเครื่องที่แต่ละบ้านมีอยู่ล้วนเป็นแบบใช้ก๊าซ ซึ่งอาจไร้ประโยชน์ทันทีถ้ารัสเซียหยุดส่งก๊าซมาให้        ยอดขายฮีทเตอร์ไฟฟ้าในเยอรมนีจนถึงเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 958,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 76 น่าสนใจว่าเทรนด์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นใน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ซึ่งต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเหมือนกัน หากเฉลี่ยรวมทั้งห้าประเทศจะพบว่ายอดขายลดลงร้อยละ 5.1 ด้วยซ้ำ        ไม่ใช่แค่ซื้อเยอะขึ้น พวกเขายังซื้อชนิดเบอร์ใหญ่ไฮเอนด์ ซึ่งใช้กำลังไฟสูง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โอกาส “โอเวอร์โหลด” จะมีสูงมาก ถ้าทุกบ้านเปิดใช้พร้อมกัน         เจ้าหน้าที่รัฐต้องออกมาให้สติว่าพวกเขากลัวจนลืมไปหรือเปล่าว่า กรณีที่ก๊าซขาดแคลน บ้านเรือน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง จะต้องได้สิทธิในการใช้ก๊าซก่อนภาคธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้วตามกฎหมาย          และยังแนะนำว่าถ้าจะซื้อก็ขอให้ซื้อผ้าห่มไฟฟ้า ถูกกว่า อุ่นกว่า แถมประหยัดไฟกว่าด้วยคุมก่อน เคลียร์ทีหลัง        แอปฯ Buy Now Pay Later (BNPL) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เพราะถูกใจนักช้อปที่ไม่มีหรือไม่ต้องการผ่อนบัตรเครดิต เพราะกู้ง่าย ไม่มีค่าธรรมเนียม        ในอเมริกา หลังการระบาดของโควิด แอปฯ ประเภทนี้ (เช่น Klarna Affirm ZipCo Paypal และ After Pay) มีผู้ใช้มากขึ้นถึง 200% มียอดเงินกู้รวมกันมากถึง 24,200 ล้านเหรียญ         แต่แอปฯ BNPL ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดการรายงานเครดิต คนที่จะปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ คู่แข่ง หรือบริษัทสินเชื่ออื่นๆ จะไม่มีทางรู้ได้ว่าคนที่จะเป็นลูกหนี้ตัวเองนั้นมีหนี้มาแล้วเท่าไร มีความสามารถในการชำระเงินหรือไม่ และ BNPL ยังกำหนด “ค่าปรับ” การชำระเงินล่าช้าได้ตามใจ อย่างที่เคยเป็นข่าวในออสเตรเลีย        สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินของสหรัฐฯ (Consumer Financial Protection Bureau) จึงเริ่มจับตากิจการนี้  แม้จะไม่มีอำนาจโดยตรงแต่ก็มั่นใจว่าสามารถกำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ได้ เพราะทำกิจการไม่ต่างกับบริษัทเงินกู้แบบดั้งเดิม ถ้าใครข้องใจอะไรเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 8 ปี พลเอกประยุทธ์ 8 ปีแผนพลังงานไฟฟ้า ทำไมค่าไฟฟ้าแพง?

        พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็เกิน 8 ปีไปแล้ว ข้อถกเถียงในประเด็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าไฟฟ้า ว่าในช่วง 8 ปีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและเพราะอะไร โดยจะนำเสนอเพียง 3 ประการต่อไปนี้         ประการที่หนึ่ง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานได้เพิ่มขึ้นจาก 2.07 บาทต่อหน่วยในกลางปี 2557 เป็น 2.57 บาทต่อหน่วยในปลายปี 2558 และเป็น 3.25 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 2565)  หรือเพิ่มขึ้น 57% ในช่วง 8 ปี เฉลี่ยร้อยละ 7.13 ต่อปี         โดยปกติครอบครัวคนชั้นกลางจะใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  โดยอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ผมลองใช้เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า พบว่า ถ้าใช้เดือนละ 600 หน่วย อัตราเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.06 บาทต่อหน่วย เห็นไหมครับว่ามันมากกว่า 3.25 บาทซึ่งเป็นอัตราสำหรับผู้ใช้ 150 หน่วย  ถ้าขยับขึ้นเป็น 1,000 หน่วย อัตราก็จะกระโดดไปที่ 4.20 บาทต่อหน่วย         ที่กล่าวมาแล้วเป็นเฉพาะค่าไฟฟ้าฐานเท่านั้น แต่ค่าไฟฟ้าจริงๆที่เราจ่ายประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน อีก 2 ส่วนที่เหลือคือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือที่เรารู้จักกันว่า ค่าเอฟที และค่าบริการ 38.22 บาทต่อเดือน จากนั้นก็ตบท้ายด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสามส่วนอีก 7%         ปัจจุบัน ค่าเอฟที(ซึ่งมาจาก (1) ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และ (3) ค่านโยบายของรัฐบาลของงวดใหม่ที่ผันแปรไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) เท่ากับ 93.43 บาทต่อหน่วย คิดเบ็ดเสร็จแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าจำนวน 1,000 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่ายเท่ากับ 5,530.03 บาท เฉลี่ย 5.53 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าใช้เพียง 900 หน่วย ค่าเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะลดลงมาเหลือ 5.51 บาท         ภาพข้างล่างนี้แสดงสถิติของค่าเอฟทีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับข้อสรุปค่าไฟฟ้าฐานที่ผมค้นคว้ามาประกอบครับ           ประการที่สอง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพิ่มจาก 29% ในสิ้นปี 2557 เป็น 51% ในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565         นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(หรือPDP) มาแล้ว 3 แผน คือ PDP2015 , PDP2018 และ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และกำลังจะมี PDP2022 ในเร็วๆ นี้         แผนพีดีพีก็คือแผนที่กำหนดว่าในปีใดจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าใดเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า ใช้เชื้ออะไรบ้าง และให้รัฐหรือเอกชนเป็นเจ้าของอย่างละเท่าใด         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ตอนสิ้นปี 2557 กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบมีจำนวน 34,668 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ. 45% แต่พอถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม 2565 กำลังการผลิตทั้งระบบมี 50,515 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.เพียง 31% เท่านั้น         นี่คือการคุมกำเนิดหรือจำกัดการเติบโตของ กฟผ. แล้วหันมาส่งเสริมโรงไฟฟ้าเอกชน ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนร่ำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็ว         ประการที่สาม  ค่าไฟฟ้าแพงเพราะนโยบายเอื้อกลุ่มทุนให้ใช้ก๊าซฯของรัฐบาล         ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2 แสนล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่การจัดหาก๊าซฯมาจาก 4 แหล่ง คือ (1) แหล่งในประเทศไทย (2) นำเข้าจากเมียนมา (3) แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และ (4) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยที่ LNG นำเข้าจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับอีก 3 แหล่งที่เหลือ  ปริมาณการจัดหาและการใช้ดังแสดงในภาพถัดไป           เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (ฮาโรลด์ ลาสเวลล์, 1902-1978) ได้กล่าวอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “การเมืองคือการตัดสินใจว่าจะให้ใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร” (“Politics is who gets what, when, and how.”)         ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ คือสามารถอัดก๊าซฯให้เป็นของเหลวแล้วบรรจุใส่ถัง สามารถขนส่งทางเรือได้ เริ่มนำเข้ามาเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2553 แต่เริ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยพลเอกประยุทธ์         สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจคือ เมื่อเรามีก๊าซฯจำนวนจำกัด เราควรจะตัดสินใจให้ใครได้ใช้ก่อน ระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศซึ่งส่วนมากเป็นคนยากจน มีหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมต้องประสบกับภัยพิบัติจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 กับภาคปิโตรเคมีซึ่งสร้างกำไรได้มหาศาลให้กับผู้ถือหุ้นไม่กี่หมื่นราย         ด้วยเหตุทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ถูกบอนไซและเป็นหนี้แทนประชาชนกว่า 8 หมื่นล้านบาท แต่ภาคธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติได้ร่ำรวยอย่างมหาศาล        ความจริงเรื่องทำนองนี้มีการก่อตัวให้เราเห็นแนวโน้มมานานแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นตัวเร่งให้ความหายนะรวดเร็วและรุนแรงขึ้น  ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้าที่พลเอกประยุทธ์จะเข้ามา ประชาชนได้เรียกร้องให้มีการประเทศในหลายด้านรวมทั้งการปฏิรูปพลังงานด้วย  แต่แล้วนอกจากจะไม่ได้ปฏิรูปแล้วยังได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์สาหัสกว่าเดิมมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 นักสะสมรถหรูสู้คดีกับบริษัทรถข้ามชาติจากเยอรมัน ฟ้องให้เรียกคืนบิ๊กไบค์รุ่นอันตรายมาแก้ไข้ให้ปลอดภัย

        “คดีของผมถือเป็นเคสตัวอย่าง ผมยิ่งโมโห เมื่อมารู้ทีหลังว่ามีผู้บริโภคที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ BMW คันแพงๆ นี้แล้วก็เกิดเหตุไฟไหม้แบบผมเยอะมาก แต่เงียบกันไป เพราะว่าหนึ่ง-ไม่มีเวลาไปฟ้อง สอง-ส่วนใหญ่บริษัทจะเปลี่ยนรถใหม่ให้ แล้วยอมๆ กันไป ปิดข่าว จบ แต่ผมไม่ยอมไง ผมสู้”        นี่คือคำพูดของคุณจิรายุ ชีวสาธน์ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้บริษัทที่ขาดความรับผิดชอบมาเอาเปรียบ เพราะเขาเกือบจะสิ้นเนื้อประดาตัว และอาจถึงขั้นเอาชีวิตไม่รอด หากเมื่อ  2 ปีก่อนเขาดับไฟที่ไหม้โรงจอดรถในบ้านไม่ทัน เกิดเหตุการณ์​ไฟไหม้ได้อย่างไร         ผมมีรถมอเตอร์ไซค์สะสมอยู่ประมาณ 18 คัน เคสที่เกิดเหตุเป็นรถ BMW รุ่น Gsa R1,200 ซื้อมาได้ประมาณ 2 ปี วิ่งไปแค่ 3,000 – 4,000 กิโลเอง ถือว่าน้อยมาก ผมดูแลรถทุกคันอย่างดี เก็บในห้องแอร์เหมือนโชว์รูมรถเลย แล้วก็มีการติดเครื่องวอร์มรถ เพื่อให้รถพร้อมใช้งาน อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา         ในวันเกิดเหตุผมก็ติดเครื่องวอร์มตามปกติ ไล่ติดเครื่องไปทีละคัน พอผมติดเครื่องรถคันที่เกิดเหตุนี้ไปประมาณ 5 นาที ผมเดินไปทำโน่นทำที่ แล้วพอหันมามองโรงรถก็เห็นควันโขมงเต็มเลย ผมตกใจจึงวิ่งเข้าไปดูที่รถ ปรากฏว่าเกิดเปลวไฟลุกไหม้ที่ท่อไอเสีย เริ่มลามมาที่เบาะรถ กำลังจะไหม้ทั้งคัน ผมก็ตั้งสติ หยิบเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ทุกจุดในโรงรถมาดับไฟ ผมใช้ถังดับเพลิงไปประมาณ 2-3 ถัง กว่าจะดับไฟได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง         ในโรงรถมีรถจอดอยู่หลายคัน มูลค่าประมาณ 60-70 ล้านบาท แล้วรถทุกคันเติมน้ำมันเต็มถังหมด ถ้าวันนั้นผมดับไฟไม่ทัน ชีวิตผมที่สร้างเนื้อสร้างตัวมา 50 กว่าปี เชื่อว่าไม่เหลืออะไรแน่นอน         วันนั้นส่วนที่เสียหายก็มีผ้าม่าน มู่ลี่ แอร์ รถเฟอร์รารี่ รถลัมโบร์กีนี ที่เบาะ ฟิล์มเคลือบสี เสียหายหมด เพราะผงดับเพลิงที่เป็นเคมีไปกัดสี เกาะเบาะรถ แล้วผมก็ทำความสะอาดไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นหลักฐาน เกือบเดือนกว่าจะนัดกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจที่บ้านได้ ทั้งความร้อน ทั้งสารเคมี ก็กัดรถกัดบ้านผมพังพินาศหมด ความเสียหายส่วนนี้มูลค่า 5 - 6 แสนบาทหลังจากเกิดเหตุแล้วมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง         ผมถ่ายคลิปวิดีโอทันที แล้วโทรแจ้งศูนย์ BMW และไปแจ้งตำรวจว่าเกิดเหตุอย่างนี้ๆ แต่บริษัทรถช้า ผมก็เลยวิ่งทางตำรวจก่อน วันนั้นยกรถไปที่กองพิสูจน์หลักฐานเลย เพื่อเข้าห้องแล็ปตรวจเช็กอย่างละเอียด ทางบริษัทรถก็ส่งเจ้าหน้าที่ตามมาร่วมตรวจด้วย ผลแล็ปของกองพิสูจน์หลักฐานก็ไม่ได้ฟันธงว่าสาเหตุที่เพลิงไหม้เกิดจากอะไร บอกแค่เกิดจากความร้อน แต่ที่ฟันธงแน่นอนก็คือวัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบของท่อไอเสียที่เกิดเพลิงไหม้นั้นเป็นพลาสติกที่ติดไฟได้         จากนั้นผมก็แจ้งผลนี้ไปทางบริษัทรถ ทางนั้นก็เรียกรถคันนี้จากกองพิสูจน์หลักฐานเข้าไปที่ศูนย์เพื่อตรวจสอบ ผมวิ่งไปดูรีพอร์ตที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เลย กลัวว่าเขาจะปกปิดข้อเท็จจริง ผลออกมาว่าสาเหตุที่เพลิงไหม้เกิดจากวาล์วท่อไอเสียของรถคันนี้ทำงานบกพร่อง คือปิดแล้วไม่เปิด ดังนั้นเมื่อติดเครื่องยนต์ไว้ แล้วความร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไหม้ตัวพลาสติกที่เอามาทำเป็นท่อไอเสียนั่นเอง พอผมรู้ ก็บอกช่างว่าช่วยปริ๊นต์รีพอร์ตนี้ให้หน่อย ช่างก็บอกว่าไม่ได้ครับ เป็นความลับบริษัท แต่ผมไม่สน ผมรีบคว้ามือถือขึ้นมาถ่ายจอ ถ่ายแผ่นรีพอร์ตไว้เลย แล้วทางบริษัทผู้ผลิตรถเขาว่ายังไงบ้าง         หลังจากนั้น ประธานใหญ่บีเอ็มดับบลิวประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เขานัดผมไปไกล่เกลี่ยที่บริษัท ผมก็ไปกับทนายด้วย เขาเสนอว่าจะเอารถใหม่มาเปลี่ยนให้ รถผมปี 2016 เขาจะเอารถปี 2019 มาแลก ผมไม่ยอม เพราะผมบอกไปว่านอกจากเปลี่ยนรถใหม่ให้แล้ว คุณจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่บ้านผมเกิดเพลิงไหม้ให้ด้วย แต่ทางบริษัทเขาจะไม่รับผิดชอบในส่วนนี้ ในที่สุดจึงตัดสินใจฟ้องร้อง         ส่วนใหญ่ที่เกิดเคสแบบนี้ เอารถใหม่มาเปลี่ยนก็จะยอมกัน ไม่เป็นข่าว ไม่เป็นคดี เพราะเคลียร์กันจบระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค แต่ของผมไม่จบ เพราะว่าผมไม่ยอม ก็เลยจ้างทนายมาฟ้องคดี จุดประสงค์คือ หนึ่ง-เรียกค่าเสียหายเรื่องรถ สอง-ค่าเสียหายที่บ้านผมเกิดเพลิงไหม้ สาม-ผมกับทนายคุยกันว่า เราอยากให้เรียกรถรุ่นที่มีปัญหานี้ที่ขายในท้องตลอดคืน เพราะเราเห็นแล้วว่ามันอันตรายมาก         สมมติ วันนั้นผมขี่รถจักรยานยนต์คันนี้ออกไปติดอยู่บนถนน แล้วมันเกิดเพลิงไหม้กลางถนน คิดดูสิจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็ขยับไม่ได้ รถข้างๆ ก็ขยับไม่ได้ เพราะว่ารถติด แล้วเป็นบิ๊กไบค์คันใหญ่มาก ผมก็ต้องทิ้งรถ เอาชีวิตรอด แล้วผมจะหาเครื่องดับเพลิงที่ไหน แล้วไฟก็ต้องไปลุกกลางถนน แล้วก็ต้องลามไปรถบนถนนอีกกี่สิบกี่ร้อยคัน อีกกี่ชีวิต เกิดเป็นโศกนาฏกรรม ผมก็เลยว่าสินค้าตัวนี้อันตรายมาก เกิดไฟไหม้อย่างนี้ได้ยังไงถ้าติดเครื่อง แค่วาล์วบกพร่องทำให้ไฟไหม้ได้ยังไง ผมก็เลยฟ้อง         พอดีติดช่วงโควิด กว่าจะขึ้นศาล 2 ปีเพิ่งจะได้สืบพยาน ศาลเพิ่งตัดสินไปเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เอง ศาลชั้นต้น ศาลแพ่ง ตัดสินให้ทางบริษัทรับผิดชอบผม ชดเชยค่าเสียหายให้ แต่ว่าก็น้อยกว่าที่ผมเรียกไป แล้วก็ยังไม่ได้ให้ทางบริษัทเรียกรถกลับด้วย ซึ่งผมก็ยังไม่พอใจ คิดว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่องไปถึงแค่ไหน         ถ้าเป็นเมืองนอก เกิดเหตุร้ายแรงอย่างนี้แค่คันเดียว เขารู้ข้อบกพร่อง เขาจะต้องเรียกรถกลับทั้งโลก เพื่อจะมาแก้สเปกตัวนี้ว่าเป็นพลาสติกไหม้ไฟได้ มันอันตราย ต้องมาถอดออกแล้วเปลี่ยนเป็นเหล็กแทน แล้วเขาไม่มาฟ้องเงินแค่ล้านสองล้าน เขาฟ้องกันเป็นร้อยล้านพันล้าน เพราะว่าในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคมาก ทีนี้ผู้ผลิตเขาเห็นว่ากฎหมายบ้านเราอ่อน แล้วคนฟ้องร้องน้อย ก็ได้ใจ เลยเกิดการเอาเปรียบอะไรกันเยอะแยะไปหมด         ผมคิดว่าเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยยังมีน้อยมาก ก็เลยให้ทนายดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อ แล้วจะสู้กันจนถึงฎีกาเลยก็ได้ จุดประสงค์หลักของผมคือต้องการให้บริษัทเรียกรถกลับไปแก้ไข เพื่อให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภค เรื่องเงินผมไม่สนหรอก คือผมจะสู้กับบริษัทต่างชาติที่มาเอาเปรียบคนไทยให้ถึงที่สุด ทำไมถึงคิดว่าเรื่องนี้ควรมีการเผยแพร่ให้กับผู้ใช้รถรุ่นนี้ท่านอื่นๆ ให้ได้รับทราบ         ผมอยากเล่าเป็นอุทาหรณ์ให้เพื่อนๆ ผู้บริโภคได้ระวัง เพราะตั้งแต่ผมขับขี่รถมา 30-40 ปี ใช้รถจักรยานยนต์มาเป็นร้อยคัน ก็ไม่เคยเจอเคสแบบนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมหลอนมาก ถ้าวันนั้นผมดับไฟไม่ทัน ชีวิตเปลี่ยนเลยนะ         พอผมโพสต์ในเฟซบุ๊กกรุ๊ปคนเล่นรถด้วยกันว่ามีเคสอันตรายแบบนี้ ก็มีคนส่งอินบ็อกซ์มาหาผมเยอะเลย ขอฟ้องร่วมได้ไหม เขาก็เกิดเหตุเหมือนกัน เช่น ลูกปืนล้อแตก ขี่ไปคว่ำเกือบตายก็มี แล้วบางเคสที่ส่งไปเคลมกับบริษัทนี้ ปรากฏว่าทุกเคสเป็นเหมือนกันหมดเลย คือบริษัทรถจะอ้างไปเรื่อยว่ารอตรวจสอบอยู่ ดองเรื่องไว้ 6 - 7 เดือน หรือเป็นปี แล้วทุกคนก็เงียบกันหมด ได้แต่มาบ่นมาด่าให้ผมฟัง ผมก็บอกทำไมไม่ฟ้องล่ะ เขาก็บอกฟ้องร้องต้องจ้างทนาย ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องขึ้นศาล ต้องไปโรงพัก โน่นนี่ ชีวิตต้องทำมาหากินก็เหนื่อยอยู่แล้ว เรื่องก็เลยเงียบ ไม่เป็นข่าว ไม่เป็นคดีขึ้นมา ผู้บริโภคคนอื่นๆ ก็ไม่ได้รับรู้ว่ามีเคสอันตรายอย่างนี้เกิดขึ้น พอไม่รู้ ก็ไม่ได้ระวังตัวกัน ได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง         ผมได้ข้อคิดว่า ชีวิตไม่ปลอดภัย จะใช้อะไรต้องระวัง อย่าประมาทกับชีวิต อย่าชะล่าใจว่ามอเตอร์ไซค์คันเป็นล้านจะต้องดี จะต้องเลิศ จะต้องปลอดภัยเสมอไป เพราะหลังจากผมเจอเคสแรกผ่านไป 6 เดือน ผมขี่รถจักรยานยนต์ BMW อีกคัน เป็นรุ่น R9T ไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่อู่รถ ระยะทางประมาณ 3-4 กิโลเมตรเอง พอไปถึงที่อู่ ยังไม่ทันดับเครื่อง ท่อไอเสียก็ไฟลุกขึ้นมา เกิดเหตุซ้ำสอง แล้วก็สาเหตุเดียวกันด้วย คือไหม้จากพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบของท่อไอเสียเหมือนกัน อันตรายมากนะครับ         ในประเด็นนี้ ผมยังคิดว่าสินค้าอันตรายอย่างนี้ให้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมมาได้ยังไง ทั้งๆ ที่จะมาทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผมอยากเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย เพราะยังมีสินค้าอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าผ่าน มอก.มาได้ยังไง อยากกระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบกันหน่อย อยากฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ อย่างไรบ้าง         ผมอยากให้ผู้บริโภคทุกคนที่เจอเคสอย่างผม หรือจะเป็นสินค้าอะไรก็ได้ที่คุณคิดว่ามันไม่ปลอดภัย หรือคุณถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่าอยู่นิ่งๆ ถึงคุณจะไม่มีเงินไปจ้างทนาย คุณไม่มีเวลาไปต่อสู้กับเขาในศาล อย่างน้อยตอนนี้มีสื่อโซเชียล คุณออกมาเป็นกระบอกเสียง ช่วยโพสต์ ช่วยประจาน ช่วยบอกเตือนสติ ช่วยให้ความรู้กับคนอื่นที่เขาโชคดียังไม่เกิดเหตุอย่างคุณก็ได้ อย่างน้อยเขาจะได้ระมัดระวังว่าสินค้าใดที่ไม่ปลอดภัย เป็นสินค้าอันตรายอย่างนี้         ส่วนใหญ่คนไม่กล้าโพสต์ เพราะถ้าเราผู้บริโภคตัวเล็กตัวน้อยจะไปฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เขาก็กลัวโดนฟ้องกลับ โดนเรียกค่าเสียหาย แล้วสู้ไม่ได้ แต่ผมไม่เคยกลัวเลย ผมอยากให้เป็นข่าวด้วยซ้ำ มาฟ้องผมเลย จะได้เป็นการประจานบริษัทคุณด้วย         “ผมไม่อยากให้ผู้บริโภคคนอื่นต้องไปยอมบริษัทใหญ่ๆ เพราะยอมกันมาตลอด เขาก็เลยได้ใจ”

อ่านเพิ่มเติม >