ฉบับที่ 97 ทรัพย์สิน “หนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท” เป็นของใคร

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org จากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม ๕ คน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น ณ. วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดิน มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดินเวนคืน ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ ๓ โครงการอีก ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และได้แจ้งให้กับสำนักงานเลขาธิการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บริษัทปตท. ว่า ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก ๓๒,๖๑๓ ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท หากรวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มนับว่าไม่น้อยกว่า ๑๘๙,๑๗๕ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ต่างใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน การใช้ที่ดินราชการ การใช้ที่สาธารณะ ซึ่งบริษัทปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน นอกจากไม่มีใครสนใจทวงคืน นับตั้งแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดูเหมือนจะร่วมมือกันไม่ปฏิบัติหน้าที่กันถ้วนหน้า จะให้ปตท.แจ้งคืนก็ดูจะผิดธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาทวงแล้วก็ยังคืนไม่ครบถ้วน แต่ที่น่าเจ็บใจบริษัทปตท. ได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้ง ๆที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี กำลังจะนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางชั้นดีให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๙.๗๔ บาทต่อล้านบีทียู เป็น ๒๑.๗๖ บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น ๒.๐๒ บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ประชาชนตาดำผู้ใช้ไฟต้องรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ใครมีข้อเสนอดี ๆ ว่าเราจะสามารถนำทรัพย์สินของบริษัทปตท.คืนให้ครบ และคัดค้านการนำทรัพย์สินของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้น เพราะที่ผ่านมาไปยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน ท่านก็มีคำสั่งว่าประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจบังคับคดี แถลงข่าวว่าปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบก็ไม่ค่อยเป็นข่าว ไปยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานว่า ห้ามขึ้นค่าบริการใช้ท่อก๊าซกับ รัฐมนตรีปลัดกระทรวงพลัง และกกพ. ก็เงียบ “ ทำอย่างไรกันดีประเทศไทย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 - รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่

บทบรรณาธิการ / รางวัลผลิตภัณฑ์ ยอดเยี่ยม ยอดแย่โดย สารี อ๋องสมหวัง ความพยายามของหลายกลุ่มที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชัดเจนในสังคมที่ต้องการเห็นความคืบหน้าของการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เสนอให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก กลุ่มสมานฉันท์ที่ต้องการใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก กลุ่มผู้ไม่เอาสงครามกลางเมืองที่ได้สะท้อนมูลเหตุสำคัญทางการเมืองที่รอวันปะทุของสงครามกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าต่อสู้และไม่ยอมรับการตัดสินของศาลจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร คุณภาพ จริยธรรม ภาวะตกต่ำของนักการเมืองที่กลุ่มคนดูหมดความอดทน การเคลื่อนตัวของกลุ่มคัดค้านทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย สื่อสารมวลชนของรัฐที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่ วิทยุชุมชน เอเอสทีวี ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการ ไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีการบริหารจัดการ  ได้แต่มีความหวังว่าเมื่อหนังสือฉลาดซื้อถึงมือผู้อ่าน คงไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้อีก ฉลาดซื้อได้ริเริ่มโครงการให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ร่วมตัดสินและโหวตให้คะแนนกับผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ หลักเกณฑ์ในการส่งรายชื่อก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ใครคิดว่าในรอบปีที่ผ่านมา (2551) ถูกบริษัทไหนละเมิดสิทธิมากที่สุด และบริษัทที่ดูดีที่สุดในสายตาของเราทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งโฆษณาชิ้นไหนที่ชื่นชอบและดูแย่ที่สุดในสายตาคุณ แต่มีเกณฑ์สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีวางขายทั่วประเทศ และโฆษณาเฉพาะโทรทัศน์เท่านั้น หวังว่าสมาชิกจะช่วยกันส่งชื่อกันเข้ามาให้มากนะคะ ถึงแม้ ช่วงนี้ข่าวสารอื่นๆ ที่สำคัญมักจะถูกให้ความสำคัญน้อย ไม่จะเป็นปัญหาด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ เพราะแม้แต่วิกฤตการเงินซึ่งเกิดขึ้นเกือบทั่วโลก ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเป็นปัญหามากนักในประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองยึดครองพื้นที่สาธารณะเป็นเวลานาน หรือเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าหากทำอะไรช่วงนี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ ดังนั้นการใช้สิทธิโหวตครั้งนี้มีความหมาย เพราะการเป็นการลงคะแนนทางตรงให้กับผู้ประกอบการ เหมือนกับประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และต้องมีความหวังกับการเมืองทางตรงของภาคประชาชนที่ต้องทำให้มีเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางความอับจนของการเมืองตัวแทน แต่ต้องบอกว่าห้ามโหวตการเมืองยอดแย่กันเข้ามานะ(ฮา)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ

แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่

“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ระวังถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว

ใครจะไปคิดว่าการบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไปกับบริษัทประกันภัย จะสามารถสร้างปัญหาหนักใจให้เราภายหลังได้ และเราควรจัดการปัญหานั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสุชาติถูกชักชวนให้ทำประกันทางโทรศัพท์จากบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ซึ่งภายหลังฟังข้อเสนอต่างๆ เขาก็ไม่มีความประสงค์ที่จะทำประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนวางสายพนักงานก็พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และแน่นอนเขาได้บอกไปตามความจริงทุกอย่าง เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ภายหลังได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำประกันไปซะแล้ว เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามที่บริษัทดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ไม่ได้หลอกผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องเป็นคนบอกข้อมูลส่วนตัวให้ทำประกันเอง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาในครั้งนั้นอีกด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องยกเลิกประกันภัยทางโทรศัพท์ โดยส่งหนังสือยกเลิกสัญญา พร้อมหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ไปยังบริษัทประกันภัย และธนาคารเพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บเงิน หรือตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มของหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์มาขอคำแนะนำได้ที่เบอร์ 02 - 2483737 (จันทร์ – ศุกร์, 09.00 – 17.00 น.)นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่อยากเกิดปัญหาสมัครประกันแบบไม่รู้ตัว สามารถทำได้โดยการปฏิเสธอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่สนใจข้อเสนอของประกันภัยนั้นๆ เราควรขอกรมธรรม์มาศึกษาก่อน และหากไม่แน่ใจรายละเอียดยิบย่อย สามารถโทรศัพท์สอบถามที่สายด่วนประกันภัย คปภ. ที่เบอร์ 1186 ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 หน้าเป็นแผล เพราะเลเซอร์

แม้ปัจจุบันสถานบริการความงามต่างๆ จะมีบริการกำจัดไฝหรือขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมักโฆษณาว่าเป็นวิธีที่สะดวก เห็นผลชัดเจนและราคาไม่สูงมากนัก แต่เราสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้จริงหรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอตกลงใช้บริการเลเซอร์ลบขี้แมลงวันบนใบหน้า ที่คลินิกแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำโดยคิดราคาเป็นคอร์สละ 16,500 บาท อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังใช้บริการ เธอได้ยินพนักงานคุยกันว่า “เลเซอร์เครื่องนี้ไม่ดีเลย ไม่ยอมโฟกัสจุดบนผิวหน้า” ซึ่งเธอก็คิดว่าพนักงานจะหยุดใช้เครื่องดังกล่าว แต่เธอคิดผิด เพราะพนักงานยังคงใช้เครื่องเลเซอร์นั้นบริการเธอต่อไป ซึ่งภายหลังการยิงเลเซอร์ เธอก็รู้สึกร้อนผ่าวไปทั่วหน้า และพบว่ามีรอยแผลเป็นจุดแดงๆ ที่ทราบภายหลังว่า ไม่สามารถหายเองได้ เธอจึงร้องเรียนไปยังคลินิก เพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้มารักษากับทางคลินิก ซึ่งเธอไม่ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของคลินิกดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นเธอจึงไปรักษาต่อที่สถาบันด้านผิวหนังด้วยตนเอง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังต้องเลื่อนงานแต่งงานของตัวเองออกไปอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากการเข้ารับบริการเลเซอร์ขี้แมลงวันบนใบหน้า ซึ่งถือเป็นความประมาทเลินเล่อของแพทย์จากคลินิกดังกล่าว โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาแผลบนใบหน้า ที่เกิดจากความผิดพลาดในการรักษาอีกด้วย ศูนย์ฯ จึงส่งหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยผู้ร้องได้เสนอให้ทางคลินิกช่วยเยียวยาความเสียหาย ซึ่งภายหลังคลินิกก็ยินยอมช่วยเหลือผู้ร้อง ด้วยการคืนเงินค่าคอร์ส พร้อมชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ค่าเสียเวลา และค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และยุติการร้องเรียนไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 สคบ. เผยปี58 ยอดร้องเรียนศัลยกรรมความงามพุ่ง 100%

นพ.จักรพงษ์ ชุณหเสวี คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้บริการเสริมความงาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่1 ม.ค. - 19 ต.ค. 2558  มีผู้มาร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสถานเสริมความงาม และศัลยกรรมความงามกับสคบ. จำนวน355 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีการร้องเรียน158 ราย โดยเมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่าสามารถแบ่งประเภทความเสียหายจากคลินิกศัลยกรรม เสริมความงาม จำนวน81ราย ประเด็นการร้องเรียน คือจมูกเบี้ยว เอียง อักเสบ รูจมูกไม่เท่ากัน จมูกยุบ ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ทำตาสองชั้นผิดรูป หนังตาปิด ทำเต้านมไม่ได้ขนาดตามสัญญา เต้านมเอียง ไม่เป็นธรรมชาติ อักเสบ ปัญหาการดูดไขมัน เป็นต้นนพ.จักรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการร้องเรียนในสถานบริการเสริมความงามที่เป็นคลินิก และสปา ที่ไม่ใช่คลินิกศัลยกรรม 433 ราย ประเด็นที่ร้องเรียนคือ เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวไหม้ ผิวหนังอักเสบ เป็นฝ้า กระ เพิ่มขึ้นหลังรับบริการยิงเลเซอร์ ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาไกล่เกลี่ยพบปัญหาว่า เกิดจากพนักงานที่ให้บริการไม่มีความชำนาญ ผู้ประกอบกิจการไม่มีแพทย์ หรือ แพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำ ให้บริการโดยตรงหรือแพทย์ให้คำปรึกษาเพียงสัปดาห์ละ1วัน เมื่อเกิดปัญหาพนักงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การบริการไม่ตรงตามที่ตกลงกับพนักงาน เช่น จำนวนครั้ง หรือ ลักษณะคอร์สที่ใช้บริการ การทำหัตถการบางอย่างไม่ได้ทำกับแพทย์อย่างการทำเลเซอร์ สถานบริการปิดกิจการ และผู้ใช้บริการไม่สามารถยกเลิก หรือ ขอค่าสมัครคืนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สคบ.ได้ตักเตือน และให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณภาพตามที่กำหนด “เห็นได้ว่าปัญหาที่น่ากังวล คือ การเข้าไปใช้บริการคลินิกที่ไม่ใช่แพทย์จริงๆ หรือ เป็นแพทย์ที่แอบอ้างว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม ผู้ใช้บริการสามารถ ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ที่ http://tmc.or.th/check_md โดยกรอกชื่อนามสกุล และค้นหากก็จะทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เชี่ยวชาญตามที่ระบุไว้หรือไม่” นพ.จักรพงษ์ กล่าวที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/676725  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ค่าทำ(ตา)ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาเป็นแสน

การมีดวงตาที่สวยงามเป็นความฝันของใครหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมีตาสองชั้น ทำให้การทำศัลยกรรมตาสองชั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะพบว่าการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การศัลยกรรมดังกล่าว มีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพงเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ทำศัลยกรรมแล้วจะสวยสมใจหรือปลอดภัยเสมอไป ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธมลเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตาสองชั้นที่คลินิกย่านรามคำแหง โดยตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมที่ 12,000 บาท ภายหลังทำเสร็จเรียบร้อยเธอก็เชื่อว่า อาการบวมหรือรอยช้ำต่างๆ น่าจะหายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เธอคิด หลังจากเวลาผ่านไป 2 เดือน ตาข้างขวาของเธอมีอาการปวดแสบ เหมือนมีอะไรบาดตาเวลากะพริบตา รู้สึกระคายเคือง มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และบางครั้งถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ในเวลากลางวัน เธอจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ากระจกตาดำของเธอเป็นแผล มีแคลเซียมที่เปลือกตาและต้องรักษาด้วยการขูดออกอย่างไรก็ตามแม้จะรักษาหลายครั้ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อผ่านไปประมาณ 7 เดือนนับจากวันที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เธอก็ยังคงเข้ารับการรักษาดวงตาเช่นเดิม เพียงแต่พบข่าวใหม่ที่ไม่น่ายินดีว่า อาการเจ็บตาของเธอนั้นมีสาเหตุมาจาก ไหมที่ค้างอยู่ในเปลือกตาตั้งแต่ตอนทำศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเอง! แม้แพทย์จะผ่าตัดไหมดังกล่าวออกให้แล้ว แต่อาการระคายเคืองต่างๆ ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทำให้เธอยังคงต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ เธอจึงกลับไปร้องเรียนคลินิกเดิมที่เคยทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะเชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่รอบคอบของแพทย์ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้เธอแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะเสียเงินค่าทำศัลยกรรมตาสองชั้นในราคาที่ไม่แพงเท่าไรนัก แต่เธอได้แจงรายละเอียดค่ารักษา เพื่อให้ดวงตากลับมาดีเหมือนเดิมว่า เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องก้มหน้าตลอดเวลา เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยสู้แสงอีกด้วย ซึ่งภายหลังทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์ดังกล่าวมาเจรจา ซึ่งผลจะอย่างไรทางศูนย์ฯ จะคอยติดตามเรื่องต่อไปทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม คือ การเลือกศัลยแพทย์ที่ได้การรับรอง โดยให้สังเกตง่ายๆ จากใบประกอบโรคศิลป์ที่มักจะติดไว้ในคลินิก และดูว่าชื่อแพทย์ที่ได้รับการรับรองนั้น ตรงกับคนที่มาทำศัลยกรรมให้เราหรือเปล่า รวมถึงเลือกวิธีการศัลยกรรมให้ปลอดภัย โดยคำนึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราด้วยตรวจสอบรายชื่อศัลยกรรมตกแต่ง สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย    http://www.plasticsurgery.or.th/lst.php

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 หมอลืมของไว้ในแก้มฉัน

การศัลยกรรมให้ใบหน้าสวยเข้ารูปด้วยการตัดกราม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สาวๆ หลายคนยอมเจ็บตัว ซึ่งผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เมื่อการศัลยกรรมดังกล่าวออกมาสวยดั่งใจและปลอดภัย แต่หากเราพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อรักษาตัวจากการมีสิ่งแปลกปลอมอย่าง ผ้าก๊อซปิดแผล ที่ถูกลืมไว้ในแก้ม เราควรจะทำอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคุณพัชราภา ที่เข้ารับการผ่าตัดกรามจากคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยสาเหตุที่เธอเลือกใช้บริการคลินิกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคลินิกที่มีชื่อเสียง ได้รับการรีวิวจากผู้ใช้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เธอจึงตัดสินใจนั่งเครื่องบินจากประเทศเยอรมันกลับบ้านเกิด เพื่อมาทำศัลยกรรมดังกล่าว ซึ่งตกลงกันอยู่ที่ 60,000 บาทอย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย และมาพักฟื้นที่กรุงเทพฯ เธอก็พบว่าแผลที่ผ่าตัดเป็นหนองอักเสบ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่เธอยังปวดแผล และพบว่ามีหนองไหลออกมาจากแผลตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงกลับไปที่คลินิกเดิม เพื่อให้แพทย์ที่ทำการศัลยกรรมให้ตรวจรักษาแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อเธอเดินทางกลับประเทศเยอรมันก็พบว่าอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เธอจึงไปพบแพทย์และได้รับข้อมูลที่น่าตกใจหลังการเอ็กซ์เรย์ว่า มีเศษกระดูกชิ้นเล็กติดค้างอยู่ตรงบริเวณที่แผลอักเสบ และเมื่อแพทย์ผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวออก ก็ยังพบผ้าก๊อซถูกทิ้งไว้ที่บริเวณแผลผ่าตัดอีกด้วย! แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ทำหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งทางด้านผู้ร้องได้ชี้แจงว่า ยังคงมีอาการที่ไม่ดีขึ้น โดยหากต้องพูดนานๆ เธอจะมีอาการชาที่บริเวณคางและริมฝีปากล่าง ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงเสนอให้ทางคลินิกดังกล่าวรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านบาทด้านบริษัทฯ ก็รับว่าจะนำข้อเสนอของผู้ร้องกลับไปพิจารณา แต่ยังไม่ตอบตกลง ซึ่งภายหลังก็เสนอกลับว่า ยินยอมที่จะเยียวยาค่ารักษาส่วนหนึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 3 แสนบาท แต่ให้สิทธิ์ผู้ร้องสามารถรักษาฟรีที่คลินิกของของตนเอง หรือให้พาเพื่อนมาทำศัลยกรรมได้ฟรีอีก 1 คน อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม และดำเนินการใช้สิทธิ์ทางศาล ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 รับบริการปลูกผม แต่ไม่ได้ผล

ปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้บริโภคอย่างเรา ซึ่งหากเราชะล่าใจ หรือรอการตอบกลับจากทางบริษัทเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ว่าอาจทำให้อายุความของคดีนั้นหมดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเราทั้งในเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเยียวยาที่เราควรจะได้รับด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการปลูกผม โดยเขาเลือกใช้บริการจากบริษัท สเวนสันแฮร์  ตอนปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาผู้ร้องพอใจมากเพราะผมค่อยๆ ขึ้นทีละน้อย อย่างไรก็ตามในการรักษา 3 ครั้งสุดท้าย พนักงานได้เปลี่ยนวิธีการรักษาไปจากเดิม โดยไปเน้นการขยี้หนังศีรษะเพียงอย่างเดียว ไม่มีอบและนวดหนังศีรษะเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านไปสักพักก็เกิดสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นแดงจำนวนมากบนหนังศีรษะ เขาจึงสอบถามและร้องเรียนไปยังบริษัทเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ภายหลังผู้ร้องจึงไปร้องเรียนที่ สคบ. ในปี 2558 ก็ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 6,000 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมด 80,000 บาท นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ผู้ร้องลบทุกข้อความที่เขียนไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการเยียวยาของบริษัทฯ ยังไม่มีความเป็นธรรม จึงมาร้องเรียนต่อที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในการร้องเรียนลักษณะนี้ หากผู้ร้องมีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการเข้ารับบริการปลูกผมจริง เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในจำนวนที่เป็นธรรม โดยผู้ร้องสามารถรวบรวมเอกสารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด มาเรียกร้องในส่วนที่เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมความเสียหายได้อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ร้องได้มากกว่านี้ เพราะคดีได้หมดอายุความในเรื่องสัญญาหรือการละเมิดไปแล้ว เพราะกฎหมายได้กำหนดให้อายุความในการฟ้องร้องคดีการละเมิดอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งหากฟ้องร้องต่อไปก็จะถูกโต้แย้งในประเด็นอายุความและถูกยกฟ้องในที่สุด นอกจากนี้บริษัทอาจอ้างได้อีกว่า ผู้ร้องยินดีรับเงินค่าชดเชยไปแล้วอีกด้วย ทำให้เขาจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไปดังนั้นแล้วจะฟ้องก็รีบฟ้อง เดี๋ยวจะหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เครื่องสำอางเด็กหมดอายุ

การร้องเรียนกรณีห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุแล้ว ยังคงมีเข้ามาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้สำหรับการบริโภค แต่สำหรับกรณีนี้กลับเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีไว้ให้เด็กเล่นอีกต่างหาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอซื้อชุดแต่งหน้าสำหรับเด็กยี่ห้อ บาร์บี้ (Barbie) จากแผนกของเล่นเด็กที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล สาขาเวตส์เกต ในราคาลด 50% จากราคาเต็มเกือบสองพัน ลดแล้วเหลือเพียงเก้าร้อยกว่าบาท  ซึ่งก่อนซื้อเธอได้สอบถามพนักงานว่า สินค้าดังกล่าวมีตำหนิอะไรหรือไม่จึงนำมาลดราคา แต่พนักงานก็ไม่ได้แจ้งว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เธอเห็นว่าสินค้าก็มีสภาพดีจริง จึงให้พนักงานนำสินค้าดังกล่าวไปห่อของขวัญ เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้ลูกสาว อย่างไรก็ตามเมื่อนำกลับไปบ้าน เธอก็สังเกตเห็นฉลากที่ระบุวันผลิตและหมดอายุไว้ว่า สินค้านี้ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2555 หรือ 4 ปีที่แล้วและหมดอายุไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงต้องการร้องเรียนให้ทางห้างสรรพสินค้าแสดงความรับผิดชอบที่นำของหมดอายุมาจำหน่าย โดยส่งกล่องเครื่องสำอางดังกล่าวมาให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบอีกครั้งด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นและพบว่า สินค้าดังกล่าวมีการโฆษณาและแนะนำให้ใช้ในการแต่งหน้าเด็ก ซึ่งสามารถเข้าข่ายเครื่องสำอาง แต่ไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีการควบคุมของสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับไว้ที่ข้างกล่องเท่านั้น นอกจากนี้ฉลากภาษาไทยกำกับไว้ว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 – 12 ปี ก็ไม่ตรงกับฉลากภาษาอังกฤษที่ระบุไว้บนกล่องว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และมีคำเตือนกำกับไว้สำหรับผู้เล่นอายุต่ำกว่า 3 ปี เช่น ควรมีผู้ปกครองดูแล ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึง 1. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการตรวจสอบของเล่นดังกล่าว ว่าเป็นของเล่นที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ ซึ่งหากบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องมีการดำเนินการจดแจ้งกับ อย.ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และหากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้มีการตรวจสอบฉลากสินค้าภาษาไทยที่ระบุวันหมดอายุ ไม่ตรงกับข้างกล่อง เพราะถือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในกรณีการขายสินค้าที่หมดอายุนั้น สคบ. มีอำนาจในการสั่งปรับผู้ผลิตและบริษัทผู้นำได้ไม่เกิน 50,000 บาท รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายไม่เกิน 20,000 บาท3. ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการตรวจสอบสินค้าประเภทเดียวกันที่นำมาจัดจำหน่ายว่า ยังมีกล่องไหนที่หมดอายุอีกหรือไม่4. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าหมดอายุ ทั้งนี้สำหรับผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 อันตรายในบ้านลม

บ้านลม หรือเครื่องเล่นเป่าลม คือสถานที่โปรดของเด็กส่วนใหญ่ โดยเราจะเห็นบ้านลมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถหาเล่นได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือตามงานต่างๆ และเรามักจะพาลูกหลานไปเล่น โดยลืมนึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กติดระหว่างช่องตัวตุ๊กตา หรือเด็กล้มแขนหักในบ้านลม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรไปทวงความรับผิดชอบจากใครเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นกับคุณปวีณา เมื่อเธอพาลูกๆ ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ ซึ่งพบว่าในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของบริษัทไทยประกันชีวิต โดยมีการนำบ้านลมมาตั้งให้เด็กเข้าไปเล่นได้ เพียงแค่ระบุข้อมูลส่วนตัวก็จะได้คูปองเข้าไป จากการชักชวนของพนักงาน เธอจึงให้ลูกๆ เข้าไปเล่น โดยเธอยืนเฝ้าอยู่ข้างนอก แต่สักพักเดียว เธอได้สังเกตว่า ลูกสาวของเธอได้ไถลตัวลงจากสไลเดอร์มานานแล้ว แต่ไม่เห็นวิ่งขึ้นมาเล่นอีกครั้งสักที จึงชะโงกหน้าเข้าไปดูและพบว่า ลูกสาวกำลังนอนร้องไห้อยู่ จึงรีบพาลูกออกมา ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าลูกสาวบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตามลูกของเธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด และเมื่อเธอสังเกตที่แขนลูกก็พบว่า มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด จึงพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลูกสาวของเธอ ข้อศอกหักทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและใส่เหล็กดามกระดูก เธอจึงติดต่อกลับไปที่ห้างดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางห้างก็ได้ติดต่อเจ้าของกิจกรรมในวันงาน คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เพื่อมาเจรจากับเธอ แต่ทางบริษัทฯ กลับชี้แจงว่า “ไม่ได้บังคับให้เด็กเล่นบ้านลม”  ผู้ปกครองจึงต้องช่วยดูแลความปลอดภัยบุตรหลานของท่านเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องได้ติดต่อไปที่ห้างอีกครั้งเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าเป็นภาพของเด็กใส่ชุดสีชมพู ปีนขึ้นมาตรงทางสไลด์แล้วโดนชนตกลงไปแล้วก็ปีนขึ้นมาใหม่ ทำให้ทางบริษัทอ้างว่าลูกสาวของเธอเล่นพิเรนทร์ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอของผู้ร้องที่ต้องการให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท โดยจะรับผิดชอบเพียง 50,000 บาทเท่านั้น ภายหลังศูนย์ฯ ได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันอีกครั้ง แต่ทางผู้ร้องได้แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแทน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้สิ่งที่น่าคิดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเล่นเด็กมีมากแค่ไหน  เพราะเราจะสังเกตได้ว่าบ้านลมเกือบจะทุกที่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอยู่ภายใน มีเพียงคนดูแลและผู้ปกครองที่รอดูอยู่ด้านนอกเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องเล่นดังกล่าวยังไม่มีคำแนะนำในการเล่น หรือคำเตือนที่ระบุว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไร หรือกำหนดอายุของเด็กในการเล่นเลย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะเกิดการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเหมือนดังกรณีนี้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียว

ของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 โปรดดูวันหมดอายุก่อนซื้อ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทางบริษัทฯ ทั้งหลายก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไรนัก ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อนซื้อ ต้องเสี่ยงดวงว่าจะสังเกตเห็นก่อนรับประทานเข้าไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อนมกล่องยี่ห้อดูแม็กไฮคิววัน จำนวน 2 แพ็ค ราคา 132 บาท จากห้างเทสโกโลตัสแถวบ้าน ภายหลังลูกชายนำนมไปดื่มก็มีอาการอาเจียนและอุจจาระเหลว เขาจึงนำนมกล่องดังกล่าวมาตรวจสอบดูและพบว่า มีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติและเลยวันหมดอายุไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีความรอบคอบในการวางจำหน่ายสินค้า และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่ง ผู้ร้องซื้อกาแฟยี่ห้อมอคโคน่า ราคา 99 บาท จากห้างเทสโกโลตัสสาขามหาชัย โดยไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุ ภายหลังนำกลับมาที่บ้านจึงสังเกตเห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เธอจึงนำสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน กลับไปที่ห้างดังกล่าว ซึ่งภายหลังการติดต่อที่จุดบริการลูกค้า เธอเรียกร้องให้ทางห้างเยียวยาค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่พนักงานกลับนำกระเช้าของขวัญมาให้ พร้อมขอเก็บสินค้าดังกล่าวไปแทน ซึ่งเธอยินยอมให้สินค้าไป แต่ยืนยันที่จะขอรับค่าเสียหาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้พนักงานจึงเสนอให้คูปองเงินสดจำนวน 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าห้างดังกล่าวควรมีความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานและขอสินค้านั้นคืน แต่พนักงานก็ได้แจ้งว่าทำสินค้าดังกล่าวหายไปแล้ว เธอจึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับ 2 กรณีข้างต้นมีประเด็นเหมือนกันคือ สินค้าหมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่าย และมีคู่กรณีเดียวกันคือห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ศูนย์ฯ จึงนัดเจรจาพร้อมกันระหว่างผู้ร้องทั้ง 2 กรณีและสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับในกรณีแรกผู้จัดการห้างได้ติดต่อผู้ร้องเพื่อขอตรวจสอบสินค้า และพร้อมจ่ายค่าเยียวยาให้จำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการนัดเจรจา ผู้ร้องทั้งคู่ต้องการค่าชดเชยคนละ 20,000 บาท ทำให้ทางบริษัทฯ ขอนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ทางศูนย์ฯ ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าต่อ ทั้งนี้แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราซื้อสินค้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อน แล้วพบว่าหมดอายุไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออย่ารีบทิ้งสินค้าดังกล่าว โดยให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ / วันหมดอายุ / ใบเสร็จรับเงิน* และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการร้องเรียน*หมายเหตุ เนื่องจากใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิด เราจึงไม่ควรทิ้งทันทีที่ซื้อของเสร็จ เพราะหากมีปัญหาอาจทำให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างลำบาก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ความคาดหวังของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นเรื่อง สัญญาณเครือข่ายที่ดีและมีความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายผ่านการบริการที่เรียกว่า การย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการดังกล่าว โดยเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 10 วัน ภายหลังการติดต่อขอย้ายเครือข่ายใหม่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสุชาติ ซึ่งเดิมทีใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ดีแทค (Dtac) แต่พบว่าในพื้นที่ที่เขาใช้งานไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้การติดต่องานต่างๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาจึงต้องการเปลี่ยนค่ายใหม่เป็นเครือข่าย ทรูมูฟเอช (TrueMove-H) อย่างไรก็ตามภายหลังไปดำเนินการย้ายค่ายในวันที่ 13 มี.ค.และรอให้มีการรีเซทสัญญาณใหม่ครบ 3 วันแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้ โดยทางทรูมูฟเอชแจ้งว่าไม่สามารถดึงสัญญาณโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเครือข่ายเดิมไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะได้รับความเดือนร้อนติดต่องานหรือธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้เลย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามปัญหาดังกล่าวที่ Call center ของเครือข่ายดีแทค (1678) ก็ได้รับการชี้แจงว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการดึงสัญญาณ ซึ่งทางเครือข่ายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องจะสามารถโอนย้ายเครือข่ายใหม่ได้ภายในวันที่ 21 มี.ค.ทำให้สิ่งที่ผู้ร้องทำได้ในขณะนั้นคือ รอ! ให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น และในที่สุดหลังจากรอเครือข่ายเดิมดำเนินการย้ายค่ายไปทั้งหมดเกือบ 10 วัน เขาก็สามารถกลับมาใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติสำหรับเหตุการณ์นี้แม้ผู้ร้องจะได้ใช้งานเครือข่ายใหม่ที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประกาศการย้ายค่ายเบอร์เดิมของ กสทช. ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เครือข่ายใหม่ที่ดีกว่าได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ คือ กรอกแบบคำขอโอนย้ายพร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของราชการ ณ จุดให้บริการของค่ายใหม่ที่จะย้ายไป และชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการอนุมัติ ซึ่งประมาณ 3 วันทำการ (วันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้นั้น ผู้บริโภคสามารถทำตามได้จริงแค่ไหน* หมายเหตุ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการย้ายค่าย หรือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ กสทช. Call center 1200 (โทรฟรี) ซึ่งมีอำนาจตาม พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 64, 65, 66 ในการสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการย้ายค่าย ซึ่งหากฝ่าฝืน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย

เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้องคุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ”อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้วทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ระวังผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด เถื่อน

สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่คอยดูดเลือดและแฝงตัวอยู่กับน้องหมาอย่างเห็บหมัด ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนไม่อยากเจอ ทำให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาดังกล่าวจะทำให้เห็บหมัดหายไป หรือมีความปลอดภัยต่อน้องหมาและเราจริงๆเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้เห็นข่าวจากกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ที่ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดเถื่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ เขาจึงต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเป็นอีกหนึ่งในผู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รักสัตว์ทั้งหลาย จึงค้นข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องศูนย์ฯ ก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม และพบข่าวการแจ้งเตือนดังกล่าวว่า นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนผู้เลี้ยงสัตว์อย่าหลงเชื่อผู้ผลิตหรือผู้ขายยาสัตว์อวดอ้างสรรพคุณ เพราะใช้แล้วอาจมีพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท และการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของท่านพิการและตายได้ ซึ่งหากร้านใดมีการขายยาสัตว์จะต้องได้รับใบอนุญาต หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้สำหรับหลักการเบื้องต้นในการสังเกตว่าผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดยี่ห้อไหนได้รับมาตรฐาน เราสามารถตรวจสอบได้ดังนี้ 1. ยาแท้ต้องมีชื่อยา: โดยมีทั้งชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ) และชื่อสามัญทางยาหรือสารออกฤทธิ์สำคัญ2. ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยา: โดยจะสังเกตเห็นข้อความว่าทะเบียนยา เลขทะเบียนยา หรือ Reg. No. หรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งจะสังเกตเห็นข้อความ “อย. วอส.” ในกรอบสัญลักษณ์เช่น วอส. 1266/25543. ยาแท้ต้องระบุปริมาณ: หรือขนาดบรรจุของยา เช่น มียากี่เม็ด มียากี่หลอด และแต่ละหลอดบรรจุปริมาณเท่าใด เป็นต้น4. ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิต: หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต หรือครั้งที่วิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No. Cont. No. หรือ Batch No. แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต5. ยาแท้ต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต: ซึ่งจะใช้อักษรย่อว่า Mfd. หรือ Mfd. Date ตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต และระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp. Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ6. ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ผู้ผลิต: มีชื่อและสถานที่ผู้นำเข้ามาจำหน่ายระบุไว้อย่างละเอียดด้วย7. ยาแท้ต้องมีวิธีใช้: รวมถึงคำเตือน ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษา ระบุไว้อย่างชัดเจน8. หากเป็นยาพิเศษจะมีข้อความระบุด้วยอักษรสีแดงชัดเจน: เช่น ยาสำหรับสัตว์ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ แล้วแต่ว่าจะเป็นยาอะไรนอกจากนี้ยังมีหลัก 5 สอ เพื่อป้องกันพิษภัยจากยาฆ่าเห็บหมัดในสุนัข คือ1. ศึกษา: ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยอ่านจากเอกสารกำกับยาหรือฉลากยา ซึ่งภายในนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้ทั้งหมด2. สอบถาม: ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์หรือผู้รู้ให้ดีก่อนนำยามาใช้ อย่าเชื่อจากคำบอกเล่าโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ3. สวมใส่: ควรสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนตัวน้องหมาให้สวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลียสารพิษเข้าสู่ร่างกาย4. สัมผัส: หลักเลี่ยงการสัมผัสลูบคลำตัวน้องหมาที่เพิ่งใส่ยา หยอดยา ทายา หรือพ่นยาตามตัวมา ที่สำคัญควรเก็บยาที่เหลือใช้ให้พ้นมือเด็ก5. สังเกต: ให้สังเกตอาการน้องหมาหลังได้รับยาด้วยว่า มีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้หรือไม่ ถ้ามีให้รีบปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลต่อไปอ้างอิงข้อมูล: กรมปศุสัตว์ http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/1491-19-12-58 และ Doglike.com/สังคมอบอุ่นของน้องหมาสุดรัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง

แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม >