ฉบับที่ 141 ลูกอม หมากฝรั่ง ซูการ์ฟรี??

รสหวานมีใครบ้างไม่ชอบ หวานทำให้อาหารมีรสสัมผัสที่ดี อร่อย และยังช่วยให้สดชื่นด้วย เพราะน้ำตาลที่สร้างรสหวานนั้นให้พลังงานสูง อาหารที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักก็คงหนีไม่พ้นพวกลูกอม ลูกกวาด รวมไปถึงหมากฝรั่ง ซึ่ง  90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในส่วนผสมเป็นน้ำตาล แต่หวานจากน้ำตาลหลังๆ ชักมีปัญหา เพราะถูกประณามว่าทำให้อ้วน หรือถ้าเคี้ยวหนุบหนับในปากเขาก็ว่าทำให้ฟันผุ เพราะจุลินทรีย์ที่ทำร้ายฟันก็ชอบกินน้ำตาลเหมือนกัน ถ้าจะหนีภัยฟันผุและอ้วน ก็ต้องเลิกกินหวาน เลิกเคี้ยวลูกอม หรือหมากฝรั่งไปเลย แต่มนุษย์เราไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ คือแทนที่จะเลิกหวาน ก็ขอหวานเถอะ แต่ไม่เอาแคลอรีหรือพลังงาน จึงคิดค้นหารสหวานที่มาจากอย่างอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาเฉพาะว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เวลาได้ยินโฆษณาว่า ไม่มีน้ำตาล หรือ ซูการ์ฟรี หรือ แคลอรีต่ำ หากเราไม่รู้จักวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลมาก่อน เราก็อาจคิดได้ว่า เขาโกหก เพราะกินแล้ว มันก็หวานชะมัด หวานติดลิ้นด้วยซ้ำ จะมาบอกว่าไม่มีน้ำตาลได้ยังไง แต่ถ้าเราลองอ่านฉลากดู บนฉลากจะถูกกำหนดให้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ใช้อะไรให้ความหวานแทนน้ำตาล  คราวนี้ล่ะ เราจะเห็นชื่อแปลกๆ มากันหลากหลาย ทั้ง แอสปาแตม อะซีซัลเฟม-เค ซูคราโลส ไซลิทอล ซอร์บิทอล มอลทิทอล ไอโซมอลต์ ฯลฯ ชื่อที่ยกมาข้างต้นเป็นชื่อของ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ทำไมต้องเรียกว่า “วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” ทำไมไม่เรียก “น้ำตาลเทียม” ไปเลยล่ะ เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะ ก็ต้องบอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่น้ำตาลเทียมนะสิ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล หลายตัวมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งความหวานและให้พลังงานด้วย แอบมีคุณค่าทางโภชนาการนิดๆ  คือตัวมันยังเป็นน้ำตาลอยู่ เพียงแต่เป็นน้ำตาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนน้ำตาลทรายที่เรารู้จัก (ถ้าเป็นน้ำตาลเทียมจะเป็นสารสังเคราะห์ที่จะมีความหวานกว่าน้ำตาลแท้เป็นสองสามร้อยเท่า ทำให้ใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ ค่าพลังงานเลยเกือบจะเท่ากับ 0) ดังนั้นถ้าจะลองจำแนก วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยดูจากหลักเกณฑ์เรื่อง คุณค่าทางโภชนาการ ก็จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม   วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้ทดแทนรสหวานจากน้ำตาลในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ขนม ลูกอม ลูกกวาด เบเกอรี่ อาหารหรือเครื่องดื่มไดเอ็ตทั้งหลาย หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมยา  การใช้สารหรือวัตถุให้ความหวานมีการใช้ทั้งในลักษณะเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งการใช้สารให้ความหวานมากกว่า 1 ชนิดประกอบกันได้รับการยอมรับ เนื่องจากสารให้ความหวานแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีสารให้ความหวานใดดี หรือสมบูรณ์แบบที่สุด ฉลาดซื้อในครั้งนี้ ออกไปช้อปหมากฝรั่งและลูกอม เพื่อมานำเสนอเป็นตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่น้ำตาลกำลังจะหายไป แต่กลายเป็นการนำวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล มาใช้แทนที่ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ดังนั้นบางตัวก็สร้างปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน แม้จะเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ก็ควรจะได้รู้เป็นข้อมูลไว้เพื่อการพิจารณา    ผลิตภัณฑ์ หมากฝรั่ง ------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก โพลิออล (polyols) หรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohols; polyhydric alcohol; polyalcohol) บางครั้งเรียกว่า “sugar replacers” หรือ “bulk sweeteners” ใช้เป็นสาร ปรุงแต่งในอาหารที่มีความสำคัญเช่นกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล สารให้ ความหวานเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มมวลหรือปริมาตรของน้ำตาล มีความหวานต่ำกว่าน้ำตาลทราย(ซูโครส) เป็นสารให้ความหวานลดแคลอรี (reduced- calorie sweeteners) สามารถรวมกับสารอื่นได้ดี เช่น มีคุณสมบัติส่งเสริมกันกับสารให้ความหวานชนิดแคลอรีต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีแคลอรีลดลงและมีรสชาติดีคล้ายกับ ผลิตภัณฑ์สูตรดั้งเดิม กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจากดูดซึมได้ช้า และตกค้างมาเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องของภาวะท้องเสีย -------------------------------------------------   วัตถุให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก สารให้ความหวานที่จัดอยู่ในประเภทนี้กลุ่มหนึ่งจะไม่ให้พลังงานเลย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีหน้าที่ให้รสหวานเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ให้พลังงานต่ำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าคือสารให้รสหวานที่ให้พลังงานน้อยกว่า 2% ของจำนวนพลังงานที่ได้จากน้ำตาลทราย ในระดับที่ให้ความหวานเท่ากัน การที่ต้องกำหนดไว้เนื่องจากสารรสหวานบางชนิดเป็นสารที่ให้พลังงานตามธรรมชาติ เช่นจัดเป็นเปปไทด์ (หน่วยย่อยของโปรตีน) เพราะฉะนั้นจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมเหมือนโปรตีนอื่น แต่เนื่องจากสารนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า เวลานำมาใส่ในอาหารจึงใช้ปริมาณน้อยมาก จนปริมาณดังกล่าวให้พลังงานแก่ร่างกายเพียงน้อยนิด ต่อไปจะขอแนะนำให้รู้จักสารรสหวานที่นิยมใช้กันบางชนิด   แอสปาแตม ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นสารพวกโปรตีน (เปปไทด์) แอสปาแตมถือเป็นสารรสหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือพลังงานต่ำ ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยการสังเคราะห์โดยเชื้อจุลินทรีย์ และนำมาใช้แทนน้ำตาลบริโภคในเครื่องดื่มต่างๆ ของหวานโดยเฉพาะเยลลี่ ไอศกรีม ลูกกวาดและอาหารแห้ง ข้อที่ควรระวังของการใช้แอสปาแตมในผลิตภัณฑ์อาหารคือ ผู้ที่เป็นโรค Phenylketonuria จะไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีแอสปาแตมเป็นส่วนประกอบ จึงต้องระบุคำเตือนบนฉลาก ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-40 (บางประเทศ 0-50) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน อะซีซัลเฟม-เค เอะซีซัลเฟม-เค คงตัวอยู่ได้ในสภาพความเป็นกรด-ด่างของอาหารและในช่วงอุณหภูมิของกระบวนการผลิตอาหารทั่วๆ ไป มีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ในทำนองเดียวกับแอสปาแตม ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันคือ 0-15 (บางประเทศ 0-9) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นมและหมากฝรั่ง ดูดซึมและขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการย่อยสลาย ซูคราโลส ซูคราโลสเป็นสารที่ได้จากดัดแปลงน้ำตาลทราย (ซูโครส) ด้วยวิธีทางเคมี ทำให้มีความหวานสูงขึ้น โดยยังคงรสชาติของน้ำตาล และมีความคงตัวสูงจึงสามารถนำไปใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย รวมถึงอาหารที่เป็นกรด และอาหารที่ต้องผ่านกระบวนให้ความร้อน เช่นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ถึงแม้จะมีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลทราย แต่ซูคราโลสไม่ถูกย่อยสลายในร่างกาย ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-15 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 175 กระแสต่างแดน

ของต้องห้ามกฎหมายอินโดนีเซียระบุให้สถานที่สาธารณะ สถานพยาบาล สถานศึกษา สนามเด็กเล่น สถานีขนส่ง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ แต่เรื่องราวมันไม่ง่ายอย่างนั้นคุณแม่รายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องของเธอในเว็บไซต์ www.change.org ว่าขณะที่เธอและลูกน้อยวัยขวบกว่าๆ กำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านกาแฟเจโค ในห้างลิปโปมอลล์ กรุงจาการ์ตานั้น มีลูกค้าผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาบอกให้เธอพาลูกไปนั่งที่อื่น เพราะเขาต้องการสูบบุหรี่ เธอแจ้งกับพนักงานร้านแต่กลับได้รับคำยืนยันว่า “ไม่ต้องห่วง การระบายอากาศของร้านเราดีเลิศ”เธอส่งคำร้องไปยังร้านกาแฟเจโค ห้างลิปโป รวมถึงผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา ให้ลงมือทำอะไรสักอย่างได้แล้ว และคำร้องนี้มีคนร่วมลงชื่อไม่ต่ำกว่า 38,000 คน       และนั่นนำไปสู่การสำรวจของ Jakarta Environmental Management Agency ที่ได้ข้อค้นพบอันน่าตื่นตะลึงว่าร้อยละ 90 ของศูนย์การค้าและห้างร้านต่างๆ ในเมืองนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการติดประกาศกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ อาจตื่นตัวช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ทางการได้ออกประกาศว่าจะเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ลืมติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ให้มากขึ้น และผู้ฝ่าฝืนซ้ำซากจะได้รับโทษหนักกว่าเดิมแน่นอน     Fast Fashion, Slow Recycling  เมื่อเสื้อผ้าราคาถูกลง ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น ปรากฏการณ์นี้ยืนยันได้ด้วยยอดขายเสื้อผ้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  คำถามคือ ในอนาคตเราจะมีวัตถุดิบ (ซึ่งส่วนใหญ่คือฝ้ายที่ต้องอาศัยน้ำและสารเคมีปริมาณมหาศาลในการปลูก) เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่แบรนด์เสื้อผ้าหลายเจ้า เช่น Marks and Spencer และ H&M เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยโครงการรับเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลแต่ปัญหาคือเทคโนโลยีการรีไซเคิลใยฝ้ายในปัจจุบันยังไม่ดีพอ มีเพียงร้อยละ 20 ของใยฝ้ายจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเท่านั้นที่นำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ได้ เพราะกระบวนการตัดเพื่อรีไซเคิลทำให้ได้เส้นใยที่สั้นลง นี่ยังไม่นับว่าเรายังไม่มีวิธีจัดการกับเสื้อผ้าที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นใยต่างชนิดกันด้วยคาร์ล โจฮาน เพอซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ H&M บอกว่าบริษัทจะตั้งงบประมาณปีละ 1 ล้านยูโรเพื่อการวิจัยหาเทคนิคใหม่ๆ ในการรีไซเคิลเส้นใยโดยไม่ทำให้มันเสื่อมคุณภาพอย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงประเด็น ... มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราออกแบบให้เสื้อผ้าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้นก่อนจะเสื่อมสภาพหรือเสื่อมความนิยมไปถึงเวลาของ Slow fashion แล้วกระมัง ...      อาหารดีต้องมีที่มาถ้าได้รู้ว่าของกินที่ไหนอร่อย แม้ราคาจะสูงไปบ้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยินดีจ่าย แต่ปัญหามันอยู่ที่ เราไม่มีโอกาสได้รู้นี่สิ สมาชิกคนหนึ่งเสนอร่างกฎหมายต่อวุฒิสภาออสเตรเลียว่าด้วยการให้ร้านอาหารเปิดเผยที่มาของวัตถุดิบอาหารทะเล เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สนับสนุนกิจการประมงในประเทศ และได้รู้ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่รับประทานนั้นสดสะอาด ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ผิดกฎหมายหรือไม่เรื่องนี้เรื่องใหญ่เพราะปัจจุบันคนออสเตรเลียนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากขึ้น และงานวิจัยก็พบว่าร้อยละ 70 ของคนออสซี่ชอบอาหารทะเลที่หาได้ในประเทศมากกว่าอาหารนำเข้า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร ร้อยละ 90 ของผู้คนที่นั่นยินดีจะซื้อสินค้าที่ระบุว่า “ทำในออสเตรเลีย” มากกว่าสินค้านำเข้าด้วยน่าเสียดายที่ร้อยละ 75 ของอาหารทะเลที่ขายตามร้านอาหารในออสเตรเลียถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปลากะพงจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และซาอุดิอาราเบีย  ปลาปนเปื้อนยาปฏิชีวนะจากเอเชีย (ข่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศไหน) แล้วยังมีเนื้อปลาที่ขายในร้านฟิชแอนด์ชิปส์ที่ได้มากจากปลาฉลามอีก สุดท้ายแล้ววุฒิสมาชิกออสเตรเลียมีมติไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว “เมนูปลาวันนี้” จึงบอกอะไรผู้บริโภคไม่ได้เหมือนเดิม  สงครามแอพยานเด็กซ์ เว็บค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของรัสเซียร้องเรียนต่อหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกูเกิ้ลที่ใช้อำนาจการตลาดในรัสเซียเอาเปรียบคู่แข่งผ่านแอพฯเพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคที่ซื้อโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะได้แอพลิเคชั่นจากกูเกิ้ลพ่วงไปด้วย ทำให้กูเกิ้ลถูกตั้งให้เป็นเว็บค้นหาหลักประจำเครื่องและมีไอคอนอยู่บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่ายานเด็กซ์กำลังจะเสียลูกค้าให้กับกูเกิ้ลเป็นจำนวนไม่น้อย หน่วยงานดังกล่าวฟันธงแล้วว่า กูเกิ้ลกระทำผิดตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง ความผิดดังกล่าวมีโทษปรับร้อยละ 15 ของรายได้ของกูเกิ้ลรัสเซียในปี 2014 ทั้งนี้เขายังไม่เปิดเผยรายได้ดังกล่าวเพราะถือเป็นความลับทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 กูเกิ้ลมีรายได้รวมทั่วโลก 66,000 ล้านเหรียญ และรัสเซียเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท นอกจากรัสเซียแล้ว กูเกิ้ลกำลังเผชิญกับข้อหาเดียวกันนี้ในสหภาพยุโรปเช่นกัน  “ติ๊งติ๊ง”ได้ไปต่อ ฮ่องกงก็ประสบปัญหารถติดเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั้งหลาย ที่ปรึกษาด้านผังเมืองจึงเสนอให้ยกเลิกรถรางบางสายในย่านเซ็นทรัล บนเกาะฮ่องกง ด้วยเหตุผลว่ามันวิ่งช้าเกินไป และกีดขวางการจราจรเพราะต้องใช้พื้นที่มาก นอกจากนี้เครือข่ายรถไฟฟ้าไต้ดินก็เพียงพอที่จะให้บริการอยู่แล้ว แน่นอนแผนนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างก็รู้สึกว่ารถรางซึ่งมีมากว่า 110 ปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮ่องกง  บ้างก็ไม่อยากสูญเสียรูปแบบการเดินทางสาธารณะที่ถูกที่สุดบนเกาะฮ่องกงไป (ค่าโดยสาร 2.30 เหรียญตลอดสาย และ 1 เหรียญสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ) นอกจากนี้รถรางยังปล่อยมลพิษน้อย เหมาะสมกับยุคที่ต้องช่วยกันลดโลกร้อน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้โดยสารรถรางใช้เนื้อที่ถนนน้อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ถึง 19 เท่าส่วนนักวิชาการด้านการขนส่งก็ยืนยันว่าการยกเลิกรถรางสายนั้นออกไปคงไม่ช่วยลดปัญหารถติด เพราะเมื่อไม่มีรถราง ก็จะมีจำนวนรถยนต์เข้ามาแทนที่อยู่ดี ปัญหาที่แท้จริงคืออาคารในเขตเซ็นทรัลที่สร้างมานานแล้วไม่มีพื้นที่ให้รถบรรทุกเข้ามาจอดเทียบส่งของ ทำให้รถเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ถนนเป็นที่จอด จึงนำไปสู่ปัญหารถติด ถ้าจะแก้ก็น่าจะแก้ที่จุดนี้ หรือถ้าคิดในทางกลับกัน เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินมีโครงข่ายครอบคลุมแล้วทำไมไม่ประกาศให้เซ็นทรัลเป็นเขตปลอดรถยนต์ไปเสียเลยสุดท้ายบรรดาผู้ใช้รถรางกว่า 200,000 คนต่อวันก็โล่งใจได้ เพราะเจ้ารถ “ติ๊งติ๊ง” ที่ว่านี้จะยังคงให้บริการครบทุกเส้นทางตามเดิม พูดลอยๆ ตรงนี้เลย ว่าถึงแม้ค่าโดยสารรถรางจะถูกแสนถูก แต่บริการยังน่าประทับใจ และผลกำไรจากการประกอบการก็ยังคงดีงามเหมือนเคย …   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กระแสต่างแดน

ความสะดวกต้องมาก่อน? พาคุณผู้อ่านไปดูสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะในจีนกันบ้าง ข่าวว่ามีอุบัติเหตุบ่อยไม่แพ้ที่เมืองไทย แต่มันประหลาดกว่าตรงที่เราเลือกเดินทางกับรถทัวร์เพราะมันถูก แต่คนจีนเขานิยมเดินทางด้วยรถทัวร์กันมากที่สุดทั้งๆที่ตั๋วรถทัวร์แพงกว่าตั๋วรถไฟด้วยซ้ำ เหตุเพราะเวลาของรถทัวร์มันช่างเหมาะกับการใช้ชีวิตเสียจริงๆนะพี่น้อง ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาซื้อของไปขาย ตัวอย่างเช่น รถทัวร์ระหว่างลินเฮกับปักกิ่ง มีให้ขึ้นกันทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยค่าโดยสาร 250 หยวน ( ตั๋วรถไฟ ราคาเพียง 150 หยวน เท่านั้น) บรรดาพ่อค้าแม่ขายมาจะถึงปักกิ่งประมาณเที่ยง แล้วเดินจากสถานีขนส่งเข้าตลาดไปหาซื้อของได้เลย ได้ของครบก็กลับมาขึ้นรถที่ออกตอน 16.30 น. กลับบ้านสบายใจเฉิบ แถมบนรถยังมีพื้นให้วางของอีกด้วย ลืมบอกไปว่ารถโดยสารส่วนหนึ่งของที่นี่เขาเป็นรถนอน สองชั้น ขนาด 30 เตียง ส่วนใหญ่พาผู้โดยสารข้ามเมืองผ่านเส้นทางคดเคี้ยว มือใหม่หัดนั่งก็อาจจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่หลายคนที่ใช้บริการอยู่บอกเดี๋ยวก็ชิน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น 13 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 252 คน สาเหตุหลักมากจากโครงสร้างตัวรถและอาการหลับในของพนักงานขับรถนั่นเอง ทางการเขามีกฎให้เปลี่ยนคนขับทุก 4 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงก็อย่างที่เรารู้ๆกัน ยิ่งช่วงเทศกาลด้วยแล้วยิ่งเป็นโอกาสทองที่คนขับเขาจะทำเงิน มีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้าสภาพร่างกายเขาอึดพอ เขาจะสามารถหาเงินได้ ถึง 20,000 หยวน ซึ่งเท่ากับเงินที่หาได้จากการทำงาน 11 เดือนเลยทีเดียว รัฐบาลเขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะลดอุบัติเหตุ ตั้งแต่การบังคับติดกล้องวงจรปิดบนรถ และห้ามรถวิ่งในระหว่างเวลาตี 2 ถึง ตี 5 (ซึ่งจากสถิติแล้วเป็นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด) ไปจนถึงการสั่งเลิกผลิตรถสองชั้นพวกนี้ และไม่รับต่อทะเบียน ขอแสดงความเสียใจกับคนที่อยากไปทดลองขึ้น ลองแสวงหาความตื่นเต้นกันด้วยวิธีอื่นไปก่อนแล้วกัน     เวียดนามอัพเกรดกฎหมายโฆษณา กลับมาที่เพื่อนบ้านใกล้ตัว กฎหมายโฆษณาของเวียดนามฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เขาอนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มหน้าโฆษณาได้ และให้วิทยุ/โทรทัศน์มีโฆษณาได้ร้อยละ 10 ของเวลาออกอากาศ (มากกว่ากฎหมายเดิมซึ่งอนุญาตเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น) ประมาณการณ์ได้ว่าผู้ผลิตจะต้องมีเฮ ... แต่เดี๋ยวก่อน เขาระบุไว้ด้วยว่า ทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริษัทโฆษณาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบถ้าโฆษณาดังกล่าวมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ค่าปรับตามกฎหมายใหม่นั้น มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ใครลงโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ท่านก็มีสิทธิถูกปรับถึง 200 ล้านดอง (เกือบสามแสนบาท) ผู้ชมโทรทัศน์บอกว่าโฆษณาทุกวันนี้ ไม่ไหวจะดู แถมยังโผล่มาไม่เป็นเวล่ำเวลาอีกด้วย เห็นบอกว่าดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องเจอกับโฆษณาแทรกถึง 4 ครั้ง (นี่แสดงว่ายังไม่เคยดูละครไทยกันล่ะสิ) สื่อเวียดนามเขายังมีข้อสงสัย ว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามรู้สึกมั่นใจขึ้นว่าตัวเองจะปลอดภัยจากโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้จริงหรือไม่? ใครจะเป็นผู้รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์? ใครจะเป็นผู้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเวลาที่ผู้ประกอบการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆในโฆษณา? ข่าวเขายกตัวอย่าง การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจากการเข้าไปรับบริการที่มาเรีย คลินิก ซึ่ง โฆษณาว่าเป็นหนึ่งในคลินิกที่ดีที่สุดของเวียดนาม หรือโฆษณาหมวกกันน็อค ที่อ้างว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย ที่มาถูกจับได้ในภายหลังว่าเป็นหมวกกันน็อคชนิดที่ใช้สำหรับการขับขี่จักรยานเท่านั้น ผู้ผลิตถูกปรับไปเพียง 27.5 ล้านดอง (ประมาณ 45,000 บาท) ซึ่งเท่ากับเงินเดือนเพียงสองเดือนของคนชั้นกลางในเวียดนามเท่านั้น     ห้าม “อินเตอร์” แค่ชื่อ ขณะที่เรากำลังจะปั้นตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มาเลเซียเขาก็ตั้งธงจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน เริ่มจากกระทรวงอุดมศึกษาของเขาประกาศเข้มงวดกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน ที่ตั้งชื่อด้วยการใส่คำว่า “นานาชาติ” ว่าต้องมีคุณภาพและมาตรฐานสมระดับ international จริงๆ เขาบอกว่าต่อไปนี้ใครใช้คำที่ว่า ก็แปลว่าต้องมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นต้องมีสนามกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่มด้วย จะมามีเฉพาะห้องเรียน ห้องประชุมไม่ได้แล้ว แถมยังบอกว่ากำลังพิจารณาให้มหาวิทยาลัยตามตึกแถว ที่มีคำว่า “นานาชาติ” อยู่ในชื่อ ถอนคำดังกล่าวออกไปด้วย เพราะสถาบันพวกนี้ ตอนที่มาขอจดทะเบียนก็อ้างว่าขอใช้ห้องแถวเพียงชั่วคราว แต่ 15 ปีผ่านไปก็ยังไม่ขยับขยายไปที่อื่น ปัจจุบันมาเลเซียมีมหาวิทยาลัย “นานาชาติ” อยู่ทั้งหมด 109 แห่ง ในกลุ่มนี้เป็น “ห้องแถว” นานาชาติเสีย 48 แห่ง     ขาดแคลนจิตวิญญาณ การสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ของกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมของเวียดนามพบว่า ร้อยละ 20 ของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยที่นั่นยังไม่มีห้องสมุด อันนั้นไม่เท่าไร แต่เขาบอกว่าอีกร้อยละ 80 นั้นมีห้องสมุดก็จริง แต่มันเป็นห้องสมุดที่ช่าง “ขาดจิตวิญญาณ” เสียนี่กระไร จากการสำรวจ 196 คณะในมหาวิทยาลัยของกระทรวงฯ (จากทั้งหมด 392 แห่ง) พบว่ามีเพียง ร้อยละ 80.4 เท่านั้นมีห้องสมุด ในขณะที่มหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดกระทรวงอื่น หรือภายใต้สังกัดการปกครองท้องถิ่นนั้น มีสถิติการมีห้องสมุดสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 40 ในกลุ่มนี้ ที่มี “ห้องสมุดอิเล็กทรอนิ กส์” ให้นักศึกษาได้ใช้กัน ผู้บริหารคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาแห่งฮานอย บอกว่านี่แหละคือสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ณ ปัจจุบัน แม้แต่ข่าวห้องเรียนหรืออุปกรณ์การศึกษาไม่เพียงพอ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เขายกตัวอย่างว่า นักศึกษาจำนวน 10,000 คน ของมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาและการทำเหมืองก็ต้องใช้ห้องที่เป็นของโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นห้องเรียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการกีฬาแห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ก็บอกว่าปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งคือการมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการซื้อที่ดินมาทำสถานศึกษาด้วย     โชว์ห่วยแดนภารตะ  ผู้อ่านฉลาดซื้อคงจะได้ยินข่าวเรื่องรัฐบาลอินเดียยินยอมให้ห้างค้าปลีกข้ามชาติ อย่างวอลมาร์ท ของสหรัฐฯ หรือเทสโกของอังกฤษเข้าไปตั้งสาขาในแดนภารตะที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคนได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะโชติช่วงเท่าที่ควร แน่นอนอยู่แล้วว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจ เพราะตามถนนหนทาง ตรอกซอยต่างๆ ที่อินเดียนั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยร้านโชว์ห่วย ที่ถือเป็นกิจการของครอบครัว สืบทอดกันมากจากรุ่นสู่รุ่น ข้อมูลของสหพันธ์ผู้ค้าแห่งอินเดีย ระบุว่ามีร้านค้าประเภทนี้กว่า 50 ล้านแห่ง และมีผู้คนกว่า 220 ล้านคนที่การทำมาหากินของพวกเขาต้องพึ่งพาร้านเหล่านี้ คนกลุ่มนี้จึงเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ทีเดียว ต้องจับตาดูกันว่ารัฐบาลเขาจะเลือกอย่างไร แม้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจะมองว่า สังคมอินเดียน่าจะไม่ถูกผลกระทบจากการมีห้างเหล่านี้ซึ่งคาดว่าต้องออกไปตั้งอยู่ตามชานเมือง ในขณะที่ร้านโชว์ห่วยดั้งเดิมมีทำเลที่ดีกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับลูกค้า ข่าวบอกว่ารัฐบาลจำกัดให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดได้เฉพาะในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน (ซึ่งไม่น่าจะหายากนักในอินเดีย) ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายสินค้าที่จากท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 30 มาลุ้นกันดูว่าเหตุการณ์จะจบลงคล้ายที่บ้านเราหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 กระแสต่างแดน

ถ้าจะรับ ช่วยขยับมาอีกนิดไปรษณีย์เดนมาร์คเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณจดหมายที่จะต้องจัดส่งน้อยลงอย่างฮวบฮาบ แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ไปต่อในโลกที่ใครๆก็ใช้แต่จดหมายอิเลคทรอนิกส์ หรือไม่ก็บีบีหากันแทบจะทุกนาทีอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้กิจการเขาก็ดีอยู่ สถิติบอกว่า ในปีค.ศ. 1999 ชาวแดนิชเขาส่งจดหมายกันคนละ 272 ฉบับ  อีก 10 ปีต่อมา จำนวนจดหมายลดลงเหลือ 181 ฉบับต่อคนต่อปี เขาคาดว่ากว่าจะถึงปีค.ศ.  2019 ตัวเลขนี้ก็จะลดลงเหลือง เพียง 70 เท่านั้น (นี่น้อยของเขาแล้วนะ) คิดไปคิดมา Post Denmark ก็ตัดสินใจขึ้นค่าธรรมเนียมการส่งจดหมายเสียเลย จากเดิมที่เคยคิดค่าส่งจดหมายธรรมดาฉบับละ 5.5 โครเนอร์ (ประมาณ 30 บาท) ก็ขึ้นเป็น 8 โครเนอร์ (ประมาณ 44 บาท)  ข่าวว่ามาตรการอัพราคานี้จะทำให้ Post Denmark มีรายได้เพิ่มขึ้น 100 ล้านโครเนอร์ ยังมีเด็ดกว่านั้น เขาตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วยการขอความร่วมมือจากประชากรกว่า 100 ครัวเรือน ให้ย้ายกล่องรับจดหมายจากหน้าประตูบ้านตนเองออกมาให้ใกล้ถนนให้มากที่สุดด้วย ... นะ ช่วยๆกัน   รับบริการตรวจความดันเพิ่มไหมครับ ต่อไปคุณผู้ชายที่ไปใช้บริการร้านตัดผมในรัฐเท็กซัส อเมริกา ก็อาจจะได้รับบริการเสริมเป็นการตรวจวัดความดันให้ด้วยทั้งนี้เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าถ้าทางร้านตัดผมเสนอบริการดังกล่าวให้ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้าไปตัดผม จะทำให้ลูกค้าชายเหล่านั้นมีแนวโน้มในการไปพบแพทย์เพื่อจัดการกับปัญหาความดันโลหิตสูงมากขึ้น และทำให้คนเหล่านั้นให้กลับมามีความดันระดับปกติในที่สุด งานวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการ Archives of Internal Medicine เขาทดลองให้ร้านตัดผม 17 ร้าน ในรัฐเท็กซัสในเขตดัลลัส เคาน์ตี้ ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นอเมริกันชนผิวสี ลองเสนอบริการเสริมที่ว่านั้น โดยแยกการบริการออกเป็นสองระดับ ร้านกลุ่มแรก (8 ร้าน) แจกแผ่นพับให้ความรู้กับลูกค้าที่มีความดันโลหิตสูงเกินปกติ ร้านกลุ่มที่สอง (อีก 9 ร้านที่เหลือ) ทั้งแจกแผ่นพับและตรวจวัดความดันให้ลูกค้าทุกครั้งที่มาใช้บริการ พร้อมกับให้ช่างผมคะยั้นคะยอให้ลูกค้าไปพบแพทย์ ข่าวบอกว่าถ้าลูกค้ามีผลการตรวจจากแพทย์มาแสดง ก็จะได้ตัดผมฟรีอีกด้วย ผลปรากฏว่า ลูกค้าร้านตัดผมเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของตนเองได้ ทั้งนี้มีลูกค้าถึงร้อยละ 20 ในกลุ่มที่ได้รับบริการตรวจเช็คความดันทุกครั้งที่ไปใช้บริการในช่วงเวลา 2 ปี กลับมามีความดันโลหิตในระดับปกติด้วย ... เป็นบริการเสริม (สุขภาพ) ที่เข้าท่าดีเหมือนกันนะนี่   คูปองลดความอ้วน สมาชิกที่ติดตามช่วงกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่าเมืองนิวยอร์กนั้นเขาช่างมุ่งมั่นสร้างสุขภาพให้ชาวเมืองอยู่เนืองๆ คราวนี้นายกเทศมนตรีนายไมเคิล บลูมเบิร์ก สร้างกระแสอีกครั้งด้วยการเสนอให้มีการตั้งกฎห้ามใช้คูปองอาหารเพื่อแลกซื้อน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คูปองดังกล่าวซึ่งแจกให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการฯ ก็ไม่สามารถใช้แลกซื้อบุหรี่ เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ หรืออาหารสำเร็จรูปได้ เขาว่าเจตนาของมาตรการดังกล่าวคือการลดจำนวนผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในเมืองนิวยอร์ก แต่หลายคนมองว่ามันเป็นการกล่าวหาผู้มีรายได้น้อยว่าพวกเขาเลือกซื้ออาหารไม่เป็น บางคนเสนอว่าแค่จัดโปรแกรมให้ความรู้เรื่องโทษของการดื่มน้ำอัดลมก็น่าจะเพียงพอ บลูมเบิร์กบอกว่าขอทดลองห้ามสักสองปีก่อน เพื่อดูว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะลดลงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็อาจจะห้ามตลอดไป เครื่องดื่มที่อยู่ในข่ายถูกห้ามซื้อด้วยคูปองได้แก่ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงกว่า 10 คาลอรี่ต่อ 8 ออนซ์ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐนิวยอร์กแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องคูปองอาหารของอเมริกา คุณบลูมเบิร์กแกคงต้องลุ้นตัวโก่ง เพราะเมื่อปีค.ศ. 2004 กระทรวงเกษตรเคยปฏิเสธข้อเสนอของรัฐมินิโซตา ที่ต้องการให้ห้ามนำคูปองดังกล่าวไปซื้ออาหารขยะมาแล้ว เหตุที่เมืองนี้เขาจริงจังกันมากเรื่องการลดน้ำตาลก็เพราะมีสถิติอย่างเป็นทางการว่า 1 ใน 8 ของผู้ใหญ่ที่นั่นเป็นโรคเบาหวาน และเกือบร้อยละ 40 ของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่สอง มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และอัตราการเป็นโรคอ้วนในย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้น้อยนั้นจะสูงกว่า ในขณะเดียวกันก็พบว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในเขตรายได้ต่ำนั้นจะสูงกว่าด้วย เทศบาลเมืองนิวยอร์กเคยเสนอให้มีการเก็บภาษีจากน้ำอัดลมมาแล้ว แต่ก็ถูกแรงต้านจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและบรรดาร้านขายของชำไม่น้อย โฆษกสมาคมเครื่องดื่มแห่งอเมริกาออกมาโต้ตอบข้อเสนอของนายกเทศมนตรีว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลพยายามจะเข้ามากำหนดว่าคนนิวยอร์กจะดื่มจะกินอะไร” ก็... นะ สำนักอนามัยเขาประเมินไว้ว่าการดื่มน้ำอัดลมปริมาณ 12 ออนซ์ซึ่งให้พลังงานสูงถึง 150 คาลอรี่ ทุกวัน จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นปีละ 15 ปอนด์  ซึ่งก็ไม่น่าจะใช้สิ่งที่คนนิวยอร์กต้องการอยู่แล้ว   ฉลากใหม่ลดขยะ ญี่ปุ่นเขาก็มีปัญหาเรื่องฉลากกับเขาเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าจะเป็นคนละแนวกับบ้านเรา เคยเห็นแต่ปัญหาอาหารหมดอายุแล้วยังวางขายอยู่ แต่ที่นี่บรรดาร้านค้าปลีกเขารีบเก็บอาหารสำเร็จรูปออกจากชั้นก่อนจะถึงวันหมดอายุจริง ซึ่งทำให้อาหารที่ยังรับประทานได้อยู่ต้องกลายเป็นขยะไปโดยไม่จำเป็น  องค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่นเลยต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารสำเร็จรูปซึ่งกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นประเมินไว้ว่ามีปริมาณ 5 ล้าน ถึง 9 ล้านตันต่อปี  ว่าแล้วก็เสนอให้รัฐบาลออกคำแนะนำเรื่องการติดฉลากอาหารพวกนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการติดฉลากแบบแจ้งเวลาที่เหมาะที่สุดในการรับประทาน (best-by date) โดยให้ผู้ผลิตอาหารเพิ่มข้อความเพื่อแจ้งผู้บริโภคว่าอาหารเหล่านั้นยังสามารถรับประทานได้แม้จะผ่านช่วงเวลา “ที่ดีที่สุด” ไปแล้วก็ตาม  ข่าวบอกว่าระบบฉลากที่แสดง best-by date นั้นจะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังใช้ระบบฉลากที่แสดงว่าควรบริโภคก่อนวันที่เท่าไร (use-by date) แต่ก็อย่างที่บอกไป บรรดาร้านค้าต่างก็ไม่ยอมเสี่ยงขายอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้เกินหนึ่งในสามของเวลาระหว่างวันผลิตจนถึงวันหมดอายุ เรียกว่าเสียของข้าไม่ว่า ... เสียหน้าข้ายอมไม่ได้   ดูไบเข้มงานคุ้มครองผู้บริโภคฉลาดซื้อขอพาคุณผู้อ่านไปเยือนรัฐดูไบ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันบ้าง ทุกท่านคงทราบอยู่แล้วว่าที่นั่นมีแต่ของแพง ของมีระดับ คราวนี้ดูไบบอกว่าเขาต้องการสร้างชื่อในการเป็นแหล่งช็อปปิ้งและท่องเที่ยวระดับเวิร์ลด์คลาสด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ว่าแล้วก็เริ่มจากการกำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ติดประกาศแจ้งสิทธิของผู้บริโภคบริเวณหลังเคานท์เตอร์คิดเงิน ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ขนาดตัวอักษรนั้นเขาก็กำหนดไว้ทางอ้อมด้วยการทำประกาศสำเร็จรูปไว้ให้ร้านต่างๆเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน แล้วสั่งพริ๊นท์บนกระดาษขนาด A4 เป็นอย่างต่ำ ใครอยากพิมพ์เองให้สวยกว่านั้น เขาก็ระบุไว้ว่าขนาดตัวอักษรต้องไม่เล็กไปกว่าฉบับที่เตรียมไว้สำเร็จรูปนั้นแล นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้ทราบด้วยว่าถ้าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ จะต้องติดต่อที่ไหน อย่างไร ข่าวบอกว่าเขาจะมีผู้ตรวจการจากส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ มาคอยสอดส่องดูแล ใครไม่ติดประกาศที่ว่า ก็จะถูกตักเตือนหนึ่งครั้ง เตือนแล้วยังไม่ติดก็จะต้องเสียค่าปรับประมาณ 81,000 บาท หรืออาจจะถูกสั่งปิดร้านชั่วคราวไปเลย การแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงสิทธิของตนเองนั้นครอบคลุมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือบริการการเงินการธนาคารด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 คำมั่นสัญญา มีผลทางกฎหมายอย่างไร

 สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องการไปสัญญามั่นหมายกับคนอื่นในการซื้อของ บางครั้งการที่กล่าวอะไรออกไป แม้ดูว่าเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในทางกฎหมายนั้น คำมั่นคือสัญญาที่ผู้ให้คำมั่นผูกพันตนเองในการที่จะให้คำมั่นแก่ผู้รับคำมั่น เรียกง่ายๆ ว่าผู้ให้สัญญายอมผู้ผูกพันตนเองแต่ฝ่ายเดียวนั่นเอง ตามกฎหมายแล้วถือว่ามีผลผูกพันมีผลใช้บังคับกันได้นะครับ ดังนั้นจะต้องระวังกันให้ดี อย่างเช่นเรื่องดังต่อไปนี้ มีคนสองคนเขาเป็นญาติกัน วันหนึ่งพวกเขาตกลงขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่กัน  โดยมีเงื่อนไขว่า ภายใน 10 ปี ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายมาซื้อคืนได้ แต่ตกลงกันด้วยปากเปล่า แล้วต่อมาจึงมีการทำสัญญากันภายหลัง โดยมีคำมั่นต่อกันว่า ผู้ขายจะไม่นำที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวไปขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ซื้อขาย หากผู้ขายมีเงินสามารถซื้อคืนได้    เช่นนี้ คำมั่นดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ เมื่อต่อมา ผู้ขายมีเงินมาซื้อที่ดินและโรงเรือนคืน ผู้ซื้อไม่ยอมขาย ผู้ขายจึงมีสิทธิมาฟ้องบังคับตามคำมั่นในสัญญาได้ ดังตัวอย่างคำพิพากษาฏีกาที่  170/2497  และ คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 คำพิพากษาฏีกาที่  170/2497   “ขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่ญาติกัน โดยตกลงกันด้วยปากเปล่า ก่อนทำหนังสือสัญญาซื้อขายว่า ภายใน 10 ปีผู้ซื้อยอมให้ผู้ขายมีสิทธิไถ่คืนได้ ถือว่าการตกลงด้วยปากเปล่าดังนี้เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนแล้ว ข้อตกลงเช่นนี้ ก็สูญเปล่าไม่มีผลบังคับแก่กันได้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันในภายหลังนั้น จึงสำเร็จเด็ดขาดไป แต่เมื่อปรากฎว่าต่อมาอีก 2 ปีเศษ ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ทำหนังสือสัญญากันอีก ให้คำมั่นสัญญาว่า ที่ดินและโรงเรือนรายนี้จะไม่ขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันซื้อขาย ผู้ขายมีเงินจะซื้อกลับผู้ซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเซ็นสัญญา ดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นคำมั่นจะขายตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 456 วรรค 2 ผู้ขายเดิมจึงมีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาใหม่นี้ได้”  คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 “ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกันไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2 จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้” อีกเรื่องที่อยากให้ผู้อ่านทราบคือ เวลาให้คำมั่นกับใครก็ตาม หากเราได้กำหนดระยะเวลาไว้ คำมั่นนั้นก็มีผลเพียงเท่าระยะเวลาที่กำหนด  แต่ถ้าเกิดให้คำมั่นแล้วไม่กำหนดเวลาไว้ ศาลได้ตัดสินว่า คำมั่นที่ไม่มีกำหนดเวลา จะมีผลผูกพันตลอดไป ดังเช่น คำพิพากษาฏีกาที่ 1004/2485 คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2485(ประชุมใหญ่) “ทำสัญญาขายนาแล้ว ต่อมาทำหนังสือมีข้อความว่า ถ้าผู้ขายมีเงินมาไถ่คืนเมื่อใด ผู้ซื้อจะคืนนาให้เมื่อนั้น โดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนี้เป็นคำมั่นในการซื้อขาย คำมั่นในการซื้อขายซึ่งไม่มีกำหนดเวลา ถ้าผู้ให้คำมั่นมิได้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบตกลงให้เสร็จไป คำมั่นนั้นก็ผูกพันอยู่ตลอดไป แม้จะเกิน 10 ปี อีกฝ่ายก็ยังตอบตกลงให้ทำการซื้อขายได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 คำมั่นสัญญา มีผลทางกฎหมายอย่างไร

 สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เราจะมาคุยกันถึงเรื่องการไปสัญญามั่นหมายกับคนอื่นในการซื้อของ บางครั้งการที่กล่าวอะไรออกไป เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในทางกฎหมายนั้น คำมั่นคือสัญญาที่ผู้ให้คำมั่นผูกพันตนเองในการที่จะให้คำมั่นแก่ผู้รับคำมั่น เรียกง่ายๆ ว่าผู้ให้สัญญายอมผู้ผูกพันตนเองแต่ฝ่ายเดียวนั่นเอง ตามกฎหมายแล้วถือว่ามีผลผูกพันมีผลใช้บังคับกันได้นะครับ ดังนั้นจะต้องระวังกันให้ดี อย่างเช่นเรื่องดังต่อไปนี้ มีคนสองคนเขาเป็นญาติกัน วันหนึ่งพวกเขาตกลงขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่กัน  โดยมีเงื่อนไขว่า ภายใน 10 ปี ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายมาซื้อคืนได้ แต่ตกลงกันด้วยปากเปล่า แล้วต่อมาจึงมีการทำสัญญากันภายหลัง โดยมีคำมั่นต่อกันว่า ผู้ขายจะไม่นำที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวไปขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ซื้อขาย หากผู้ขายมีเงินสามารถซื้อคืนได้    เช่นนี้ คำมั่นดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ เมื่อต่อมา ผู้ขายมีเงินมาซื้อที่ดินและโรงเรือนคืน ผู้ซื้อไม่ยอมขาย ผู้ขายจึงมีสิทธิมาฟ้องบังคับตามคำมั่นในสัญญาได้ ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่  170/2497  และ คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 คำพิพากษาฎีกาที่  170/2497   “ขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่ญาติกัน โดยตกลงกันด้วยปากเปล่า ก่อนทำหนังสือสัญญาซื้อขายว่า ภายใน 10 ปีผู้ซื้อยอมให้ผู้ขายมีสิทธิไถ่คืนได้ ถือว่าการตกลงด้วยปากเปล่าดังนี้เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนแล้ว ข้อตกลงเช่นนี้ ก็สูญเปล่าไม่มีผลบังคับแก่กันได้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันในภายหลังนั้น จึงสำเร็จเด็ดขาดไป แต่เมื่อปรากฏว่าต่อมาอีก 2 ปีเศษ ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ทำหนังสือสัญญากันอีก ให้คำมั่นสัญญาว่า ที่ดินและโรงเรือนรายนี้จะไม่ขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันซื้อขาย ผู้ขายมีเงินจะซื้อกลับผู้ซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเซ็นสัญญา ดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นคำมั่นจะขายตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 456 วรรค 2 ผู้ขายเดิมจึงมีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาใหม่นี้ได้” คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 “ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกันไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2 จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้” อีกเรื่องที่อยากให้ผู้อ่านทราบคือ เวลาให้คำมั่นกับใครก็ตาม หากเราได้กำหนดระยะเวลาไว้ คำมั่นนั้นก็มีผลเพียงเท่าระยะเวลาที่กำหนด  แต่ถ้าเกิดให้คำมั่นแล้วไม่กำหนดเวลาไว้ ศาลได้ตัดสินว่า คำมั่นที่ไม่มีกำหนดเวลา จะมีผลผูกพันตลอดไป ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2485 คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2485(ประชุมใหญ่) “ทำสัญญาขายนาแล้ว ต่อมาทำหนังสือมีข้อความว่า ถ้าผู้ขายมีเงินมาไถ่คืนเมื่อใด ผู้ซื้อจะคืนนาให้เมื่อนั้น โดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนี้เป็นคำมั่นในการซื้อขาย คำมั่นในการซื้อขายซึ่งไม่มีกำหนดเวลา ถ้าผู้ให้คำมั่นมิได้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบตกลงให้เสร็จไป คำมั่นนั้นก็ผูกพันอยู่ตลอดไป แม้จะเกิน 10 ปี อีกฝ่ายก็ยังตอบตกลงให้ทำการซื้อขายได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 แก้กฎหมายซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด คุ้มครองผู้ซื้อบ้านและคอนโดมือ 2 ไม่ต้องจ่ายหนี้ส่วนกลาง

นี่คงเป็นข่าวดี สำหรับคนที่สนใจซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดผ่านช่องทางการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี ที่จะมีกฎหมายคุ้มครองคนซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดให้ได้รับความเป็นธรรมจากการขายทอดตลาดดียิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาความสนใจของผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดในตลาดดังกล่าวไม่ค่อยมีเท่าที่ควร เพราะเจอปัญหาที่ผู้ประมูลจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหนี้ส่วนกลาง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ประมูล แต่เนื่องจากลูกหนี้เดิมค้างชำระค่าส่วนกลางบวกกับดอกเบี้ยปรับที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะมากพอๆ กับราคาประมูลขายห้องชุด ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการซื้อขาย กรมบังคับคดี ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปลดล็อกภาระผู้ซื้อห้องชุด ในที่สุดก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เพิ่มเติม มาตรา 309 จัตวา ว่าด้วยการซื้อห้องชุดและบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จึงขอสรุปโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ผู้ที่ประมูลซื้อที่อยู่อาศัย ประเภทอาคารชุด และ ที่ดินจัดสรร จากการขายทอดตลาดไม่ต้องรับภาระชำระหนี้ค่าส่วนกลางที่เจ้าของห้องเก่าค้างชำระไว้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ก่อนขายทอดตลาดเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่จะต้องบอกกล่าวแก่ นิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร แล้วแต่กรณี เพื่อให้แจ้งหนี้สินค่าส่วนกลางที่ค้างชำระ ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ 2. เมื่อขายทอดตลาดแล้ว กรมบังคับคดีจะกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้คงค้าง เพื่อให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของใหม่ได้ต่อไป โดยผู้ซื้อไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้   3. กรณีที่ นิติบุคคลฯ แจ้งว่าไม่มีหนี้ค้างค่าส่วนกลาง หรือ ไม่แจ้งภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ หรือในกรณีบ้านจัดสรร หากยังไม่มีการตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อ 4. ขั้นตอนหลังจากนั้น เมื่อกรมบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ได้แล้ว ก็ให้นำเงินมาชำระให้นิติบุคคลฯ ก่อนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยกรณีที่ดินจัดสรรแปลงนั้น ๆ ถูกระงับการโอนไว้เนื่องจากค้างหนี้ค่าส่วนกลาง ให้ถือเป็นอันยกเลิก โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีเหตุผลที่มาสำคัญเกี่ยวกับการบังคับคดีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังมีข้อขัดข้อง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดกระบวนการโอนทรัพย์สินมีทะเบียนหรือเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ที่สะดวกรวดเร็ว และเพื่อเป็นการคุ้มครองให้ผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องรับผิดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากความรับผิดดังกล่าวเป็นของเจ้าของเดิม และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายไปแล้ว ทำให้แนวคำพิพากษาของศาลเดิมที่ ได้วางบรรทัดฐานไว้ให้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าส่วนกลางทั้งต้นเงินและค่าปรับที่เจ้าของเดิมค้างชำระจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554 หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง ดังนั้น คำพิพากษาข้างต้น จึงไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเรื่องความรับผิดของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดอีกต่อไป ซึ่งต่อจากนี้ไป ( หลังวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ) ผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดหรือบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องกังวลกับหนี้ค่าส่วนกลางอีกต่อไปแล้ว และสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลของการต่อเติมห้องชุดโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ฉบับนี้เป็นเรื่องจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดอยากจะต่อเติมห้องชุดให้เป็นวิมาน จึงได้ตกแต่งห้องชุดดังกล่าวโดยขยายผนังห้องชุด ซึ่งเป็นขอบเฟรมอะลูมิเนียมพร้อมกระจกไปติดตั้งไว้บนขอบระเบียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์(นิติบุคคลอาคารชุด) และต่อเติมส่วนของอาคารให้มีลักษณะแตกต่างจากระเบียงห้องชุดอื่น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และโครงสร้างของทรัพย์ส่วนกลาง ต่อเติมเสร็จไม่นานมารความสุขก็มาเยือน นิติบุคคลอาคารชุด เห็นว่าเป็นการขัดต่อข้อบังคับของนิติบุคคลฯ จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อผนังที่ติดตั้งไว้บนขอบระเบียงให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม แต่จำเลยก็ดื้อตาใสแบบว่า วิมานข้าฯ ใครอย่าแตะ นิติบุคคลฯ ก็ของขึ้น  จึงไปฟ้องศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอน  จำเลยให้การต่อสู้คดีแบบสู้ตายจัดหนัก ที่เด็ดที่สุดสู้ว่าทำเพื่อความปลอดภัยเพราะเมียจำเลยกลัวความสูง( แบบว่าทำไปเพราะรักเมีย กลัวเมียตกคอนโดฯ ตาย) ผลคดีศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนอีก จำเลยก็ยิ่งเฮใหญ่  นิติบุคคลฯ ก็กัดฟันยื่นฎีกาอีก แบบว่ากะวัดดวงกันโค้งสุดท้าย มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2554  วินิจฉัยว่า “ ห้องชุดของจำเลยอยู่ในอาคารชุดที่จัดสร้างขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ดังนั้น การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในอาคารชุด หรือการดำเนินการของทั้งโจทก์และจำเลยอันเกี่ยวกับอาคารชุดจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งอาคารชุดดังกล่าวยังมีข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อใช้บังคับแก่เจ้าของร่วมทุกคนอีกด้วย สำหรับการต่อเติมห้องชุดของจำเลยนั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด มาตรา 48 (เดิม) บัญญัติว่า การอนุญาตให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งทำการก่อสร้างต่อเติมที่มีผลต่อทรัพย์ส่วนกลางหรือลักษณะภายนอกอาคารชุดต้องได้รับมติจากคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด  ส่วนในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 7 เรื่องการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลในข้อ 26.12 ว่าการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือต่อเติมตกแต่ง  จะต้องขออนุญาต และผู้จัดการจะอนุญาตได้ต่อเมื่อเห็นว่า ไม่กระทบโครงสร้างระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ หรือไม่ยื่นล้ำพื้นที่ห้องชุดหรือแนวอาคารชุด   การที่ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ได้บัญญัติให้การใช้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้แดนกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของร่วมในอาคารชุดให้น้อยลงซึ่งแตกต่างจากหลักกรรมสิทธิ์โดยทั่วไปเช่นนี้ ก็เป็นเพราะการเป็นเจ้าของและพักอาศัยในอาคารชุดนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันของผู้เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดซึ่งมีจำนวนมาก เจ้าของร่วมจึงจำต้องระมัดระวังการใช้สิทธิของตนซึ่งอาจจะมีผลกระต่อสิทธิเจ้าของร่วมคนอื่นหรือผลประโยชน์ของส่วนราม และการอยู่ร่วมกันในอาคารชุดเจ้าของร่วมจะต้องสละประโยชน์ส่วนตัวหรือความเห็นส่วนตนซึ่งเคยมีอยู่ตามปกติในบางประการ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งออกมาเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย การต่อเติมของจำเลยเป็นการเปลี่ยนลักษณะการใช้สอยระเบียงของอาคารชุดตามที่ออกแบบมา และได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างแล้วการจัดให้มีระเบียงเป็นการออกแบบเพื่อความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับอาคารชุดนั้น และผู้ออกแบบประสงค์จะให้ใช้ประโยชน์แบบพื้นที่นอกอาคาร จึงไม่ใช่ส่วนของห้องชุดที่จะมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับส่วนของห้องชุดที่อยู่ภายใน  การต่อเติมของจำเลยจึงเป็นการขยายพื้นที่ใช้สอยของตนเองมากกว่าเพื่อความปลอดภัยหรือเป็นเพราะภริยาจำเลยกลัวความสูงดังที่จำเลยอ้าง ทั้งเห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบและเปลี่ยนรูปลักษณะอาคารชุดภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ  จำเลยจะต้องขอมติต่อเจ้าของร่วมและได้รับอนุญาตเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแล้วจึงจะกระทำได้    ที่จำเลยอ้างว่ามีเจ้าของห้องชุดอื่นหลายห้องที่ดัดแปลงต่อเติมห้องชุดลักษณะเดียวกับจำเลยแต่โจทก์ไม่ฟ้องร้องเหมือนเช่นจำเลย เป็นการเลือกปฏิบัตินั้น เห็นว่า จำเลยจะอ้างการกระทำของจำเลยที่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับให้เป็นการกระทำที่ชอบเพราะมีผู้อื่นกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยด้วยย่อมไม่ได้ และการที่โจทก์ไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิดรายอื่นก็ไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต  แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบในการกระทำของโจทก์เอง และที่จำเลยอ้างว่าการต่อเติมของจำเลยไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างอาคารเพราะจำเลยเพียงแต่ขยายแนวกระจกเดิมออกไปเท่านั้น  ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนที่จำเลยต่อเติมไม่มีการระบุจำนวนพื้นที่ไว้ว่าเป็นเท่าใด แต่จำเลยขยายออกไปจนชิดขอบระเบียงเท่ากับนำพื้นที่ระเบียงมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ใช้สอยภายในทั้งหมดอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งของห้องชุด ย่อมทำให้โครงสร้างอาคารชุดรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นแบบอย่างให้เจ้าของร่วมรายอื่นนำมาอ้างและทำการต่อเติมได้ทุกห้องชุด อันจะมีผลเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอาคารชุด การต่อเติมห้องชุดของจำเลยมีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกและโครงสร้างของอาคาร  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนและปรับปรุงผนังที่ติดตั้งตามฟ้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่งและสภาพเดิม “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถุงกอล์ฟหายในสนามกอล์ฟ

ผู้บริโภคไปเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยนำถุงกอล์ฟซึ่งบรรจุไม้กอล์ฟยี่ห้อคอลลาเวย์ไปยังซุ้มหน้าบริเวณคลับเฮ้าส์  ที่เป็นจุดรับส่งถุงกอล์ฟ  เพื่อให้พนักงานยกถุงกอล์ฟลงจากรถเพื่อส่งมอบต่อให้แคดดี้ที่รออยู่  หลังจากเล่นกอล์ฟเสร็จแล้ว  ผู้บริโภคและแคดดี้เดินไปที่บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  แคดดี้ได้นำถุงกอล์ฟไปวางไว้ที่ข้างซุ้มบริเวณบันไดหน้าทางขึ้นคลับเฮ้าส์  แล้วแคดดี้กลับออกไป  ระหว่างผู้บริโภคเดินไปเข้าห้องน้ำในคลับเฮ้าส์คนร้ายได้ลักถุงกอล์ฟไป  โดยคนร้ายขับรถยนต์เก๋งมาจอดที่หน้าคลับเฮ้าส์อ้างกับพนักงานของสนามว่า เป็นคนขับรถของผู้บริโภค  แล้วยกถุงกอล์ฟใส่กระโปรงท้ายรถของคนร้ายไป         ผู้บริโภคเรียกร้องให้เจ้าของสนามชดใช้ค่าเสียหาย  เจ้าของไม่ยอม โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องศาล  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาท่านจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ แม้บริเวณหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  จะไม่มีข้อความระบุเป็นจุดรับฝากถุงกอล์ฟและไม่มีการออกหลักฐานการรับฝาก  แต่ในทางปฏิบัติของสนามกอล์ฟและลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟโดยทั่วไปต่างเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์  จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟเป็นจุดที่พักถุงกอล์ฟ  เมื่อเล่นกอล์ฟเสร็จแล้วแคดดี้จำต้องนำถุงกอล์ฟมาส่ง ณ จุดดังกล่าว  ดังนั้นการปฏิบัติระหว่างสนามกอล์ฟกับลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟจึงเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ ตาม  ป.พ.พ. มาตรา 657  กรณีต้องถือว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้แล้ว  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้  จำเลยจะต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 657 วรรคสามบัญญัติว่า  "ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขาย หรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น"ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ  จำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการสนามกอล์ฟ  แต่ตามการปฏิบัติของจำเลยปรากฏว่าจำเลยไม่มีมาตรการใดๆ ในการดูแลรักษาถุงกอล์ฟของลูกค้าที่มาใช้บริการของจำเลยแต่อย่างใด อาทิ เช่น  ออกหลักฐานการรับถุงกอล์ฟไว้ หรือจดหมายเลขทะเบียนรถที่จะมารับถุงกอล์ฟไว้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีคนร้ายอ้างต่อนายไพฑูรย์ว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟของโจทก์ให้ยกใส่รถและนายไพฑูรย์ยอมให้ถุงกอล์ฟของโจทก์ไปทั้งๆ ที่ในเรื่องนี้นายไพฑูรย์เบิกความรับว่าแคดดี้ของโจทก์แจ้งให้ทราบว่า โจทก์นั่งรถแท็กซี่มาเล่นกอล์ฟ นายไพฑูรย์ย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ไม่ได้มีรถส่วนตัวมาเล่นกอล์ฟ  เมื่อมีผู้มาอ้างว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟเหตุใดจึงไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าเป็นคนขับรถของโจทก์จริงหรือไม่  หรือรอสอบถามโจทก์เสียก่อนกลับยอมให้ถุงกอล์ฟไปโดยไม่มีหลักฐานอย่างใดเลย กรณีเช่นนี้ถือว่านายไพฑูรย์พนักงานของจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายของอุปกรณ์กอล์ฟต่อโจทก์ " หมายเหตุผู้เขียน หลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว  ผู้เขียนสงสัยว่านายไพฑูรย์ยังคงจะได้ทำงานอยู่กับจำเลยหรือไม่  น่าเป็นห่วงจริงๆ และฉบับหน้าอย่าพลาดมี “ คดีเด็ด “ ที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ “ฉลาดซื้อ “ ฉบับเดียวในประเทศไทย เท่านั้น ขอบอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 สระว่ายน้ำข้าฯ ใครอย่าแตะ

ฉบับนี้เป็นเรื่องของหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าชื่อโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ ถนนพัทยาสาย 3 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ที่สร้างขายก่อนที่จะมี พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543  ใช้บังคับ โดยขณะนั้นมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่286  ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน  2515  โดยจอมพลถนอม  กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ประกาศ  หมู่บ้านดังกล่าวบริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โฆษณาและจัดไว้เป็นสาธารณูปโภคที่ผู้อาศัยในหมู่บ้านเดอะวิลเลจใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยสร้างเป็นสระน้ำ  คลับเฮ้าส์  สวนหย่อมและสนามเด็กเล่น   สร้างเสร็จและให้ผู้อาศัยในหมู่บ้านเข้าใช้ตั้งแต่ปี 2531 ต่อมาปี 2532  บริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง(ส่วนที่เป็นสาธารณูปโภค)เป็นชื่อบริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด จนกระทั่งปี 2538   บริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด ได้โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลย ( บริษัทพาเลซอินเตอร์เทรด จำกัด ) หลังจากนั้นในปี 2539  ทางราชการได้เวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วนเพื่อสร้างถนนพัทยาสาย 3 โดยเวนคืนที่ดินส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมด คงเหลือคลับเฮ้าส์และเวนคืนส่วนที่เป็นสวนหย่อมและสนามเด็กเล่นไปบางส่วน ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 28666  เหลือเนื้อที่ 2 งาน 93.5  ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ เหลือเนื้อที่ 1 งาน 89.2  ตารางวา ทั้งนี้ โดยจำเลยได้รับเงินค่าเวนคืนสำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไปเป็นเงิน  7,000,000  บาท แล้วจำเลยอ้างว่า  จำเลยเป็นบุคคลภายนอก  และที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกราชการเวนคืนแล้วไม่ยอมสร้างใหม่เพื่อทดแทน   พวกลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงมาฟ้องศาล มาดูกันว่าข้อแก้ตัวของจำเลยศาลจะรับฟังหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2555 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286  ข้อ 30  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น  ให้ถือว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมแห่งที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไปและจะกระทำการใดๆ  อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากบริษัท ก. ซึ่งรับโอนมาจากบริษัท ว. จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  จำเลยจะอ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ว. หาได้ไม่  ทั้งการตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็มีการจดทะเบียนบันทึกในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทว่า  ที่ดินอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากบริษัท ก. ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบทราบได้ก่อนการซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หลังจากทางราชการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปบางส่วนก็ยังมีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่ไม่ถูกทางราชการเวนคืนอยู่อีก 1 ไร่ 82.7 ตารางวา ที่ดินที่เป็นภาระทรัพย์ส่วนนี้จึงหาได้สลายไปไม่  ภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในส่วนนี้จึงยังมีอยู่และจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกทางราชการเวนคืนไปก็ตาม  แต่จำเลยก็ได้รับค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นเงินถึง 7,000,000 บาท  ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวรวมถึงในสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นที่ถูกเวนคืนอยู่ด้วย  จำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ว. ทั้ง 180 หลังได้รับประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเช่นที่เคยได้รับ  จำเลยจึงต้องสร้างสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เหลือให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ซ.ได้ใช้ประโยชน์ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย...ฯลฯ พิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 28663  และ 28666   ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสระว่ายน้ำ สวนหย่อม สนามเด็กเล่นและคลับเฮ้าส์บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมบ้านและที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อาศัยในโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2

  ต่อกันจากคราวก่อน เรื่อง ฝากครรภ์ไว้กับโรงพยาบาลแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น มีทางสำหรับการชดเชยเยียวยาครับ มาดูตัวอย่างกรณีศึกษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2554 คดีระหว่าง นางสุภีย์  ศรีบุญเพ็ง โจทก์ กับ กระทรวงสาธารณสุข จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ การประเมินสถานการณ์ที่จะทำคลอดให้โจทก์ของ ส. แพทย์เวรผิดพลาด เมื่อโจทก์ไม่สามารถคลอดเองโดยธรรมชาติ ส. ได้ทำคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถคลอดทารกออกมาได้  เป็นเหตุให้ทารกตกอยู่ในภาวะเครียดและถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำจนมาสู่การสำลักน้ำคร่ำ ปอดแตก และสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ประกอบกับโจทก์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะคลอดทารก แต่ต้องรอทำการคลอดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  เมื่อแพทย์และพยาบาลเริ่มทำการคลอดให้โจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการให้คลอดเองตามธรรมชาติและต่อมาโดยใช้เครื่องสุญญากาศดูดทารก ก็ไม่อาจนำทารกออกมาได้  ทั้งๆที่ก่อนคลอดสุขภาพโจทก์และทารกอยู่ในสภาพปกติ  ต้องถือว่าการตายของทารกมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทำคลอดที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปและการเลือกใช้วิธีการทำคลอดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของโจทก์อย่างทันท่วงที จึงเป็นการไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนและความระมัดระวังตามแกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่จำเลยต้องรับผิดชอบ"   หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,800,000  บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยใช้เงิน 360,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องทำนองเดียวกันนี้( ข้อเท็จจริงเหมือนกันเลย)  และผู้เสียหายไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ในชั้นไกล่เกลี่ย กระทรวงสาธารณสุขยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย 200,000 บาท  โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  สาวท้องแก่ใกล้คลอดขอให้เลือกโรงพยาบาลดีๆ หน่อยก็แล้วกัน   พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538 “ หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย “ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1

โรงพยาบาล ของรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีสังกัดดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัยของรัฐ 3.หน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา 4.หน่วยงานทหาร ตำรวจ 5.รัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลยาสูบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538  มาตรา 4 บัญญัติว่า “ ในพระราชบัญญัตินี้ “ เจ้าหน้าที่ “ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด “   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย“ และตาม มาตรา 5 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง“ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ “ มีปัญหาต่อไปว่าผู้เสียหายจะต้องฟ้องยังศาลไหน ศาลปกครอง หรือ ศาลยุติธรรม ? มีหลักดังนี้ กรณีต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม คือ 1.เป็นการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ( เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ) 2.เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิใช่เกิดจาก  การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง , การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น  ,  จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร  กรณีต้องฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. การกระทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 2.การกระทำละเมิดตาม (1) เกิดจาก การใช้อำนาจตามกฏหมายปกครอง , การออกกฏ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำสั่งอื่น , จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การที่แพทย์โรงพยาบาลของรัฐผ่าตัด/รักษาโรคแก่คนไข้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล  ถือว่าเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ เป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่   68/2544 , 70/2544, 213/2545, 250/2545,566/2545,546/2547   คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (2/2545, 14/2548) ครั้งหน้า เราจะมีกรณีศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ผลร้ายของการชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว

โดยปกติเจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับชำระหนี้ภายในอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้  ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือน ถึง 10 ปี เช่น  กรณีผู้พักอาศัยในโรงแรมจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ผู้พักอาศัยพามาไว้ในโรงแรมจากเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 678   หรือ 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในกรณีฟ้องเรียกให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์หรือให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามมาตรา 671 หรือ 1 ปีในกรณีของการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามมาตรา 488 วรรคหนึ่ง หรือ 2 ปี ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายแทนผู้ถือบัตรไปตาม มาตรา 193/34(7) หรืออย่างยาวที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี ดังกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องหรือหนี้รายนั้นระงับสิ้นไปเพียงแต่ให้ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น  หากลูกหนี้ยอมชำระหนี้ให้ ถึงจะไม่รู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งมิใช่ลาภมิควรได้ ลูกหนีจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 408(2)   ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ที่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้นั้นได้ กฎหมายเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้นตามมาตรา 193/10 หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแจ้งชัด คดีก็เท่ากับลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมาตรา 193/29 บัญญัติห้ามไว้ ในกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสีย  จะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตามเช่น  ปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ  ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกอายุความที่ขาดไปแล้วนั้นขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ และต้องเริ่มนับอายุความเดิมกันใหม่  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 193/24 มาดูกรณีศึกษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7912/2553 จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ซื้อสินค้าและบริการ  ธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2537 แต่จำเลยไม่ชำระ  ธนาคาร ก.จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน  2537 เป็นต้นไป  เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539   หลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว  จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมา  โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม  2544  เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า  จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก.   และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ก. ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน ลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลายจำไว้ให้แม่นๆ  หนี้ขาดอายุความไปแล้ว อย่าเผลอผ่อนชำระใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ดอกเบี้ยที่เกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด

  ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจ( บริษัทจีอี แคปปิตอล  (ประเทศไทย) จำกัด) ฟ้องศาลบังคับให้จำเลย( ผู้บริโภค)ชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ได้กู้เงินสินเชื่อควิกแคชไป โดยผู้บริโภคกู้เงินต้นไปเพียง 100,000 บาท  แต่ได้รับเงินจริง 98,500 บาท เพราะ  โดนหักค่าบริการครั้งแรกในอัตราร้อยละ  0.5 ของวงเงิน และจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ 5,064.02 บาท เป็นเวลา 30 เดือน เป็นเงิน 151,920.60 บาท  เมื่อหักเงินที่จำเลยได้รับมาจริง  98,500 บาท โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ถึง 53,420.59 บาท (ดอกโหดจริงๆ) ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ได้ผ่อนชำระ โจทก์จึงมาฟ้องคดีโดยเรียกเรียกดอกเบี้ยมาเต็มอัตราศึก มาดูกันสิว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 116,891.09 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 81,371.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 81,371.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท   จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ... คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย  ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน  ดังนั้นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654  และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี  แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก  และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป  แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน  ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน  โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญา ได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 53,420.59 บาท  ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วมากกว่าร้อยละ 15  ต่อปี  อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน   โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือน โดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง  อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย  และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี  นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และเมื่อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้  จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด...ฯลฯ พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,966.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 98,500 บาท นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ให้นำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์(วันที่ 20 เมษายน 2547) จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2548  ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 98,500 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์...ฯลฯ “ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13835/2553) หมายเหตุผู้เขียน มีสุภาษิตคำพังเพยทางกฎหมายว่า มาศาลด้วยมืออันสกปรก ศาลไม่รับบังคับให้ สมน้ำหน้ามัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เจตนาส่อพฤติกรรม เรื่องต้องรู้คนคอนโด

กรณีเจ้าของอาคารชุดไม่ยอมชำระค่าส่วนกลาง แล้วเจอการขัดขวางการใช้ทรัพย์ด้วยวิธีการแปลกๆ พิลึกพิลั่น เช่น ติดตั้งประตูกลอัตโนมัติหากไม่มีบัตรรหัสผ่านก็เข้าไม่ได้ ไม่ให้บัตรจอดรถ  ตัดน้ำตัดไฟ ปิดประกาศทวงหนี้หน้าตึกให้อับอายไปทั้งวงศ์ตระกูลฯลฯ วิธีการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกระทำละเมิดทั้งสิ้น แม้จะอ้างว่าเป็นระเบียบข้อบังคับของนิติบุคคล แต่ข้อบังคับเหล่านี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้หลายคดีแล้วว่า เป็นการออกข้อบังคับเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีทางศาล ไม่มีผลใช้บังคับได้ และต้องใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดนั้นด้วย ส่วนจะมากจะน้อยก็แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี อย่างไรก็ตามมีคดีล่าสุดที่ศาลเห็นว่าโจทก์มีส่วนผิดและส่อไปในทางไม่สุจริต  ผลเรื่องค่าเสียหายพลิกล็อคถล่มทลาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553 การที่เจ้าของร่วมรวมทั้งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั้น  เป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 18  ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกันและเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.วิ.พ. ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิจารณาพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้  และตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ  ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการ  ตรงกันข้าม พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41  กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ดังกล่าวไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้  แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุด และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางด้วย  ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด มาตรา 13 วรรคหนึ่ง  มิสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลางที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นด้วย ย่อมไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ ส่วนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือได้นั้น  เมื่อพิจารณาถึงข้อบังคับในหมดเดียวกันนี้ข้ออื่นๆ ที่มีข้อความกำหนดการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมต้องไม่เป็นการใช้หรือกระทำการใด ๆ  อันก่อให้เกิดความเดือดร้อน  รำคาญ รบกวน ละเมิดสิทธิ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วมในอาคารชุด และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งต้องใช้ไปตามเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติระยะเวลาการใช้หรือกฎเกณฑ์อื่นที่กำหนดให้ใช้   ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่เป็นการใช้ทรัพย์ส่วนกลางโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบที่กระทบสิทธิเจ้าของร่วมรายอื่น  จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลางเพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแต่อย่างใด   ดังนี้ ในกรณีการจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์นั้น แม้การจ่ายน้ำประปาจะต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์  ซึ่งโจทก์น่าจะได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริตจึงไม่สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้เข้าอยู่ในอาคารชุดเดือนละ 100,000 บาท จนกว่าจำเลยจะส่งมอบบัตรคีย์การ์ด บัตรผ่านติดรถยนต์และจ่ายน้ำประปา แต่ศาลไม่ให้แม้แต่บาทเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 สนามกอล์ฟข้าฯ ใครอย่าแตะ

  ฉบับนี้เป็นเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับผู้บริโภคซึ่งเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งวันดีคืนดี(ที่ถูกน่าจะเป็นวันร้ายคืนร้ายเสียมากกว่า) ทางสนามกอล์ฟก็มีหนังสือถึงผู้บริโภคให้ชำระค่าบริการรายปีเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3,000  ผู้บริโภคไม่ยอมชำระ ทางสนามกอล์ฟจึงไม่ให้ใช้บริการสนามกอล์ฟ สงสัยผู้บริโภครายนี้คงเคยอ่านหนังสือฉลาดซื้อ(ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทยในหนังสือประเภทเดียวกัน) เลยทราบดีว่าร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง และการยื่นฟ้องคดีก็น่าจะดีกว่าการร้องทุกข์ มาดูกันว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2552 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันยกเลิกกฎข้อบังคับที่ออกใหม่ทั้งหมดและให้ใช้กฎข้อบังคับฉบับเดิมจนกว่าจะครบกำหนด 30 ปี และให้โจทก์ทั้งแปดใช้บริการสนามกอล์ฟเมืองแก้วได้ต่อไปตามกฎข้อบังคับเดิมจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 30 ปี กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 96,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องตนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง  จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กฎและข้อบังคับของสนามกอล์ฟเมืองแก้วของจำเลยทั้งสามที่ออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544  ไม่มีผลใช้บังคับกับโจทก์ทั้งแปดและให้โจทก์ทั้งแปดมีสิทธิใช้สนามกอล์ฟเมืองแก้วได้ตามกฎและข้อบังคับเดิมจนกว่าครบกำหนดเวลาอายุสมาชิก 30 ปีกับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการบริหารกิจการสนามกอล์ฟเมืองแก้ว โจทก์ทั้งแปดเป็นสมาชิกสามัญของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งแปดรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกมาจากสมาชิกของจำเลยที่ 2 สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งแปดกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน  คู่สัญญาต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน กล่าวคือโจทก์ทั้งแปดจะต้องชำระเงินค่าสมาชิกและเงินประกันค่าบำรุงสนาม เมื่อโจทก์ทั้งแปดชำระเงินดังกล่าวแล้วเกิดสิทธิที่จะใช้สนามกอล์ฟตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2  ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับเงินจากโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวก็มีหน้าที่ให้โจทก์ทั้งแปดเข้าสนามกอล์ฟ  ดังนั้น  หากจำเลยที่ 2 จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญคือการเรียกเก็บค่าบำรุงสนามเป็นรายปีก็จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นคู่สัญญาก่อน  หามีสิทธิกระทำตามลำพังแต่อย่างใดไม่ ที่ใบรับขอโอนสมาชิกมีข้อความว่าโจทก์ทั้งแปดยินยอมที่จะปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีภายหน้า ก็หมายความแต่เพียงกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้สนามกอล์ฟเท่านั้น  หาได้รวมถึงค่าบำรุงสนามรายเดือนแต่อย่างใด  เพราะโจทก์ทั้งแปดรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกจากสมาชิกเดิมของจำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าตอบแทนต่างหากจากค่าสมาชิกและเงินประกันค่าบำรุงสนามรายเดือนอีกต่างหาก  ส่วนกฎและข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ที่มีหมายเหตุว่าค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ นี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมนั้นเป็นข้อความที่เขียนต่อจากหัวข้อค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ไม่เกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสนามรายเดือนแต่อย่างใด  มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นสมาชิกแต่เพียงค่าบริการสนามกอล์ฟแก่ผู้ที่สมาชิกพาไปเล่นกอล์ฟเท่านั้น “ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ซื้อคอนโดจากการขายทอดตลาด ต้องรับภาระหนี้เดิมหรือไม่

การซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาด เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการจะมีบ้านหรือห้องชุด อย่างแรกไม่โดนหลอกขายแน่ๆ เพราะมีการรับประกันโดยหน่วยงานของรัฐ ราคาก็แล้วแต่การประมูล แต่ข้อพึงระวังก็เยอะเช่นกัน ทั้งเรื่องสภาพบ้านที่อาจจะประเมินยากว่า เสื่อมสภาพไปแค่ไหน หรือปัญหาการไม่ยอมออกจากบ้านของเจ้าของเดิมที่ยังทำใจไม่ได้ ฉลาดซื้อมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีศึกษาของผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ที่โดนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของเดิมค้างชำระไว้ ปัญหาคือเจ้าของใหม่ต้องจ่ายหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10390/2553  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ...โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี  แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระกับเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 1,264,798.51 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต่อมาตรวัดน้ำให้ห้องชุดพิพาท ไม่มอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับผ่านประตูเข้าออกอาคารชุดและไม่ออกหนังสือรับรองรายการหนี้ห้องชุดพิพาทให้โจทก์เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหรือไม่  เห็นว่า ตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วม(หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด)  ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูและรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และมาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง  นางสาวชลธร  มีวงษ์อุโฆษ เจ้าพนักงานบังคับคดีเบิกความประกอบประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดไว้ว่า “ ...ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน(หากมี)ที่มีต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วย” ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดีที่กำหนดให้ระบุข้อความลักษณะดังกล่าวในกรณีที่ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นอาคารชุดเพื่ออนุวัตรตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ห้องชุดพิพาทได้จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะปฏิเสธอ้างว่าไม่ทราบเงื่อนไขนี้ไม่ได้ ทั้งนางสาวชลธรยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ก่อนประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม  2544 แจ้งบอกหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจำนวนดังกล่าวที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระอยู่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว  ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบภาระหนี้สินดังกล่าวได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าสู้ราคาได้อยู่แล้ว เพราะเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี  ทั้งเป็นข้อมูลสำคัญที่โจทก์ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด  ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าไม่ทราบว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทมีภาระหนี้สินจำนวนเท่าใดจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือการปลอดหนี้ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน หมายเหตุ ตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้แม้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพราะจำเลยไม่ออกหนังสือปลอดหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถนำหนังสือปลอดหนี้มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนมาโดยไม่สุจริตศาลฎีกาจึงรับรองสิทธิการครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อห้องชุดได้จากการประมูลขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยที่ 1 (นิติบุคคลอาคารชุด) โดยจำเลยที่ 2 (ผู้แทน) ต่อมาตรวัดน้ำ มิเตอร์ไฟ และส่งมอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์(คีย์การ์ด)ให้โจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถใช้ประโยชน์และครอบครองห้องชุดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่

  เป็นเรื่องถกเถียงกันมาตลอดว่า เราสามารถเอาอาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่ได้จำหน่ายหน้าโรงภาพยนตร์เข้าไปรับประทานในขณะชมภาพยนตร์ได้หรือไม่ “ได้สิ ก็หน้าโรงขายแพงเหลือเกิน ราคาขูดรีดมาก ซื้อข้างนอกถูกกว่าตั้งแยะ” “ทำไมจะไม่ได้ ก็ขายของราคาเอาเปรียบมาก เราซื้อตั๋วแล้ว ก็น่าจะนำเอาอาหารเข้าไปได้ ของที่เราซื้อก็เหมือนหน้าโรงหนังนั่นแหละ” บลาๆๆ เรื่องนี้ก็เห็นจะต้องแยกเป็นสองประเด็นก่อน คือ 1.เราเอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่ 2.ราคาอาหารหน้าโรงหนังแพงเกินไป ประเด็นแรกคือ เราต้องยอมรับก่อนว่า เราเข้าไปซื้อบริการ “ชมภาพยนตร์” ในสถานที่ของเจ้าของกิจการ เท่ากับว่า เรายินยอมรับเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด เช่น ห้ามนำอาหารจากร้านค้าภายนอกที่ไม่ได้จำหน่ายโดยโรงหนังเข้าไปภายในโรง หรือการขอตรวจกระเป๋าเพื่อดูว่าเรานำกล้องเข้าไปแอบถ่ายหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าเราไม่ยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด ก็เท่ากับเราละเมิดสัญญาเขาก็มีสิทธิยกเลิกการชมภาพยนตร์ของเราได้ เพราะเราเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไข แต่ในทางปฏิบัติ หลายโรงก็ยืดหยุ่นให้เรานำอาหารเข้าไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความพอใจให้ลูกค้า คงไม่มีโรงไหนกล้าไล่เราออกมาอย่างจริงจัง นอกจากจะเตือนๆ บ้าง สรุปว่า ทางโรงมีสิทธิห้ามไม่ให้เรานำอาหารจากภายนอกเข้าไปได้ ประเด็นที่สอง สินค้าหน้าโรงราคาแพงมาก โดยปราศจากการควบคุมราคานั้น อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด เคยมีการทำเรื่องร้องเรียนกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าก็คือ กรมการค้าภายใน ซึ่งได้อธิบายว่า สินค้าโรงภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพราะถือเป็น “บริการทางเลือก” ซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ไปเอาผิดกรณีจำหน่ายสินค้าในราคาแพงกว่าท้องตลาดได้ บริการทางเลือก หมายความว่า เขาไม่ได้บังคับให้ซื้อ ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ อืม ก็จริงนะ แต่ว่า เมื่อไปรวมกับการห้ามนำอาหารจากข้างนอกเข้าไป ก็เลยกลายเป็นว่า มันเหมือนการ “มัดมือชก” ผู้บริโภคดีๆ นี่เอง(ยังไม่รวมเรื่องราคาตั๋วที่แพงจัดและการโฆษณาบ้าเลือดในโรง) เรื่องนี้สำหรับประเทศนี้ กฎหมายคงไม่ใช่ทางออก ผู้บริโภคต้องรวมตัวกันให้ได้จนมีพลังมากๆ มากพอที่จะต่อรองด้วยการไม่ซื้อสินค้าหน้าโรงหนัง จนกว่าผู้ประกอบการจะสำนึกได้ ซึ่งถ้าทำได้จริง รับรองว่า ราคาจะลดลงมาแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >