ฉบับที่ 243 เมื่อโดนฟ้องปิดปาก

        เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา แจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบริษัทก็ยังไม่ตอบโจทย์  ผู้บริโภคจึงไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องต่อสื่อมวลชน หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะให้บริษัทสนใจหาวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้บริโภคถูกบริษัทฟ้องคดีกลับ เพื่อให้หยุดร้องเรียน เรามาดูบทเรียนจากเรื่องนี้กัน        ผู้บริโภคท่านหนึ่งซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ มาใช้ ต่อมาพบว่าเครื่องมีปัญหาเริ่มจากโช้ครั่ว โดยพบปัญหานี้หลังใช้รถเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ต่อมาก็พบปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาดอีก ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เขาได้แจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา บริษัทก็นำรถไปซ่อมแล้วหลายครั้งอาการต่างๆ ก็ยังไม่หาย เขารู้สึกว่าเขาซื้อรถป้ายแดงก็อยากได้รถที่มีคุณภาพดี ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อซ่อม แถมยังต้องระวังอันตรายขณะขับรถเพราะ รถมีปัญหา ซึ่งเขาก็แทบจะไม่ได้ใช้รถเลยเพราะรถต้องเข้าศูนย์เพื่อซ่อมบ่อยครั้ง ถ้ารถยนต์คุณภาพไม่ดีแบบนี้เขาขอให้บริษัทมาสด้าคืนเงินให้เขาและเอารถยนต์กลับคืนไปดีกว่า         เมื่อเขายื่นขอเสนอไปแล้วแต่บริษัทก็ปฏิเสธกลับมา จึงเกิดการเจรจากับบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ เชิญบริษัทเจรจาอีกครั้ง และพาผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และออกสื่อเพื่อให้บริษัทมาสด้าแก้ไขปัญหา โดยขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้นำพาแก้ไขปัญหาตามที่ผู้บริโภคขอ แต่กลับเล่นงานผู้บริโภคกลับ ด้วยการฟ้องคดีอ้างว่า ใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท          แนวทางการแก้ไขปัญหา        การฟ้องคดีผู้บริโภคลักษณะนี้ เรียกว่า การฟ้องปิดปาก/การฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPPs) Strategic Lawsuit against Public Participation หรือที่นิยมเรียกว่า SLAPPs คือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน เพื่อให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ หรือหยุดการแสดงออกของประชาชนในบางเรื่อง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทำให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นสาธารณะนั้นเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือทำให้เกิดความกลัว จนในที่สุดประชาชนเหล่านั้นก็จะละทิ้งความตั้งใจที่จะออกมาใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งกรณีของผู้ร้องเป็นการที่บริษัทฟ้องปิดปากผู้ร้องไม่ให้ร้องเรียนหรือหยุดพูดถึงปัญหาการใช้งานของรถยนต์ ข่มขู่ ทำให้ผู้ร้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจำนวนมากถึง 84 ล้านบาท         กรณีนี้ผู้ร้องต้องตั้งสติ ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องคดี เมื่อถูกฟ้องคดีแล้วติดต่อทนายความเพื่อทำคำให้การ ยื่นให้แก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ทำคำให้การว่า  การออกมาฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธิว่าละเมิดใช้สิทธิเกินส่วน โดยยกข้อความจากเฟซบุ๊กว่า ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความไม่ตรงกับความจริงนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ปกติการใช้สิทธิของตนเอง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนบ้างก็ตาม การที่จะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้ง โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว จึงจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งใคร จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน         ต่อมาผู้ร้องได้มีทีมทนายความเข้ามาช่วยเหลือให้การสืบคำให้การ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้น เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         หลังจากนั้นคดียังไม่จบ เพราะว่าบริษัทอุทธรณ์คำพิพากษศาลชั้นต้น ศาลอุทธณณ์ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บริษัทก็ยังฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของบริษัท จึงส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุดลง กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ร้องใช้สิทธิตามปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วน ไม่มีความผิดตามที่บริษัทฟ้อง ไม่ต้องจ่ายเงิน 84 ล้านบาทให้แก่บริษัท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 แฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน ผ่านมาปีกว่ายังไม่ได้ของคืน

        ส่งจดหมายผิดซองคงเป็นเจ้าของที่พลาดเอง แต่ถ้าส่งพัสดุไปผิดบ้าน งานเข้าบริษัทรับส่งของไปเต็มๆ คงยากจะปัดความรับผิดชอบ         คุณกันยากร อยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อต้นเมษายน 2563 ได้สั่งซื้อกางเกงยี่ห้อมาริฮอร์นทางออนไลน์ให้จัดส่งไปบ้านของคุณพ่อที่เมืองไทย จากนั้นปลายเดือนเดียวกัน เธอไลน์ถามหลานชายว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้านหรือยัง ทั้งหลานชายและคุณพ่อต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่เห็นมีของมาส่งเลย คุณกันยากรจึงถามกลับไปที่ร้านค้าว่าส่งของให้หรือยัง ทางร้านแจ้งว่าส่งให้แล้วโดยใช้บริการของแฟลช เอ็กซ์เพรส จากนั้นคุณพ่อของคุณกันยากรไปทวงถามที่บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ คุณพ่อจึงไปที่โกดังของบริษัทที่บางพลัด แต่ผู้จัดการดูไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เมื่อคุณพ่อโชว์หลักฐานให้ดู บริษัทก็บอกว่าจะชดเชยให้แค่ 400 บาท เป็นการเคลมนอกระบบ แต่คุณพ่อไม่ยอมรับ หลังจากนั้นพนักงานชื่อนพดลได้มาที่บ้านและสารภาพว่าเขาเป็นคนส่งพัสดุไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งเอง และรับปากว่าจะติดตามของมาคืนให้ แต่แล้วก็เงียบหายไป         คุณกันยากรยังไม่ละความพยายาม แม้ตัวจะอยู่ไกล เธอก็ยังไลน์ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทตลอด ทางบริษัทก็ตอบว่ากำลังตามสินค้าให้ และจะให้พนักงานติดต่อกลับไป แต่วันแล้ววันเล่าก็ยังไม่มีพนักงานคนไหนติดต่อกลับมาอีกเลย คุณกันยากรจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นแนะนำให้คุณพ่อของคุณกันยากรไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากมูลนิธิฯ ได้รับรายการตรวจเช็คพัสดุที่ส่งมา ซึ่งในใบพัสดุระบุว่า “เซ็นรับแล้ว” แต่ไม่มีลายเซ็นปรากฎอยู่ และมีรูปพัสดุที่คนส่งนำไปไว้ในตู้ของอีกบ้านหนึ่ง ศูนย์ฯ จึงทำจดหมายถึงบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งทางบริษัทตอบกลับมาว่าจะติดตามให้ ล่าสุดแจ้งว่าจะชดเชยเป็นเงินให้ แต่จนแล้วจนรอด ณ วันนี้ คุณกันยากรก็ยังไม่ได้ของคืน หรือค่าชดเชยใดๆ ในกรณีแฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน เรื่องแบบนี้คงต้องว่ากันในทางคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สั่งสินค้าจากร้านค้าบนเฟซบุ๊กแล้วไม่ได้ของต้องทำอย่างไร

        เฟซบุ๊กนอกจากจะเป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุย อัปเดทข่าวสารและติดตามชีวิตของเพื่อนแล้ว เฟซบุ๊กยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถซื้อขายสินค้าได้ ซึ่งก็มีสินค้าจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าในเฟซบุ๊กต้องอาศัยความเชื่อกันอย่างมากจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะว่าผู้ซื้อไม่เห็นสินค้า ไม่แน่ใจว่าจะได้สินค้าตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ หรือผู้ขายอาจจะไม่ส่งสินค้ามาเลยก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน         นักรบสั่งซื้อเสื้อออกกำลังกาย จำนวน 2 ตัว ราคา 500 บาท จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง และได้โอนเงินจ่ายค่าเสื้อเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายตามที่ได้รับการแจ้งมา หลังจากโอนเงินเสร็จเรียบร้อยก็ได้แจ้งการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าไปทางกล่องข้อความ ซึ่งทางแอดมินเพจแจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3-5 วัน ครั้นเมื่อครบ 5 วันนักรบก็ยังไม่ได้สินค้า เขาจึงแจ้งไปยังแอดมินเพจว่ายังไม่ได้สินค้านะครับ แอดมินตอบกลับมาว่าได้ดำเนินการต่อแล้ว ทางระบบจัดส่งจะโทรหาล่วงหน้า แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีใครติดต่อมาอีกเลย เขาจึงสอบถามแอดมินอีกครั้งเพราะว่าเลยกำหนดมา 11 วันแล้ว คราวนี้แอดมินอ่านข้อความเขาแล้วแต่ไม่ตอบอะไรเลย เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจัดการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้รับคำร้องของคุณนักรบแล้ว ได้แนะนำว่า ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ดังนี้        1. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าที่สถานีตำรวจ โดยนำหนักฐานข้อความในแชทสลิปโอนเงิน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย        2. ขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารของร้านค้า (บัญชีที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป) ปล. เอกสารตัวนี้จะเป็นเอกสารที่มีครุฑอยู่ด้านบน        3. นำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารไปดำเนินการขออายัดบัญชีที่ธนาคารที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป ณ สาขาไหนก็ได้        4. บัญชีธนาคารขอร้านค้าจะถูกระงับ และร้านค้าจะรีบติดต่อกลับมา เพื่อเจรจากับผู้ร้อง        สำหรับการจัดการเบื้องต้นนี้ควรเร่งดำเนินการทันที เมื่อเปิดการเจรจาแล้วค่อยดูกันต่อไปว่ายังต้องการสินค้าอีกหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 กระแสต่างแดน

ส่วนลดความสะดวก        สมาร์ตการ์ดเป็นสิ่งที่มีใช้ในแทบทุกวงการในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรโดยสารรถสาธารณะ แต่ผู้พิการหรือผู้ดูแลที่มีสิทธิได้รับส่วนลด กลับไม่สามารถใช้บัตรดังกล่าวกับรถไฟของบริษัทเจแปน เรลเวย์ (JR) ได้        พูดง่ายๆ หากต้องการส่วนลด 50%  ผู้โดยสารต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้พิการ/ผู้ดูแล ก่อนซื้อตั๋วจากเจ้าหน้าที่  หรือหากใช้สมาร์ตการ์ดรูดไปก่อน เมื่อถึงที่หมายก็จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเงินคืน         กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้พิการในเมืองชิบะ สำรวจพบว่าการเดินทางด้วยรถไฟโดย “ใช้ส่วนลด” นี้ทำให้กลุ่มผู้พิการใช้เวลาเดินทางนานกว่าคนทั่วไป 35 นาที (เที่ยวเดียว) หรือ 56 นาที (ไปกลับ) กรณีผู้ใช้วีลแชร์จะใช้เวลานานขึ้นถึง 71 นาที เนื่องจากต้องหาลิฟต์และตู้รถไฟที่รองรับวีลแชร์ด้วย         ทางกลุ่มฯ ส่งข้อเรียกร้องไปยัง JR หลายครั้ง แต่บริษัทก็บ่ายเบี่ยงด้วยเหตุผลนานาประการ คราวนี้เขาจึงทำหนังสือถึงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว เพื่อเรียกร้องให้มีสมาร์ตการ์ดสำหรับผู้พิการด้วย     คุณค่าที่อาจไม่ควร        กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนออกมาประณามเหล่า “อินฟลูเอนเซอร์” คนดังบนแพลตฟอร์มโต่วยิน (หรือติ๊กต่อกในเวอร์ชันของจีน) ที่แชร์คลิปโอ้อวดชีวิตเลิศหรู สวนทางกับค่านิยมเรื่องความขยัน ประหยัด และอดทน         “บิ๊กโลโก้” ซึ่งมีผู้ติดตามถึง 27 ล้านคนรีบออกมาขอโทษ บอกว่า “ทำไปโดยไม่ได้คิด” เขาคนนี้โพสต์วิดีโอขณะกินอาหารในร้านหรูและเข้าพักในห้องระดับไฮเอนด์ของโรงแรมต่างๆ         “เสี่ยวหยู” ซึ่งมีผู้ติดตาม 6 ล้านคนก็เช่นกัน เขาทำคลิปนำชมศูนย์พักฟื้นสำหรับคุณแม่หลังคลอด ที่ให้บริการห้องพักขนาด 800 ตารางเมตร พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลส่วนตัว รวมถึงนักโภชนาการและแม่บ้าน ในราคาคืนละ 100,000 หยวน (ประมาณ 485,000 บาท)         ซินหัวเตือนเหล่า “ผู้ติดตาม” ให้ระวังอย่าเป็นเหยื่อคนเหล่านี้ที่ทำทุกอย่างเพื่อยอดคลิก โดยไม่รับผิดชอบต่อเยาวชนหรือสังคม         ขณะนี้โต่วยินได้ปิดบัญชีที่มีคอนเทนต์ “บูชาความร่ำรวย” ไปแล้วกว่า 4,000 บัญชี      โปรดใช้ความระมัดระวัง        ในเดือนเมษายน คณะกรรมการด้านความปลอดภัยสินค้าของสหรัฐฯ ออกคำเตือนให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก หยุดใช้ลู่วิ่งออกกำลังกาย Tread+ ของค่าย Peloton เนื่องจากมีรายงานอุบัติเหตุในเด็กถึง 38 ครั้ง และมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 1 ราย         ขณะนี้คณะกรรมการกำลังทำการสอบสวนเพิ่มเติม และให้คำแนะนำผู้บริโภคว่า หากยังต้องการใช้เครื่องออกกำลังกายดังกล่าวต่อไป ก็ต้องมั่นใจว่านำไปตั้งในห้องที่ล็อคประตูกันเด็กเข้าได้         ทางด้านบริษัท Peloton ยอมรับว่าข่าวที่มีเด็กเสียชีวิตขณะใช้เครื่อง Thread+ และอีกรายที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนนั้นเป็นความจริง         แต่ก็ตอบโต้ว่า “คำเตือน” ของคณะกรรมการฯ มีข้อมูลที่ยังไม่ถูกต้องนัก และยืนยันว่าผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นต้องหยุดใช้อุปกรณ์ที่ว่า หากทำตามคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยที่แจ้งไว้ในคู่มืออย่างเคร่งครัด ไม่ส่งแล้วจ้า        เกษตรกรในออสเตรเลียต้องรีบหาช่องทางใหม่ในการจัดส่ง “ผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียได้” ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2564 ไปรษณีย์ออสเตรเลียซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ จะหยุดให้บริการจัดส่งสินค้าดังกล่าว         เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่หันมาจัดส่งสินค้าถึงบ้านโดยตรงตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด รวมถึงร้านอาหารที่เชฟจะใช้วัตถุดิบหายากมารังสรรค์เมนูเอาใจลูกค้าเพื่อสร้างเทรนด์และเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรได้ทำตลาด         แน่นอนยังมีอีกหลายพื้นที่ห่างไกลที่ผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพา Australia Post ในการจัดส่ง เนื่องจากไม่มีเจ้าอื่นให้บริการ         บริษัทบอกว่าจำเป็นต้องเลิกจัดส่งสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากกฎหมายหรือข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางอาหารที่ซับซ้อนและแตกต่างกันในแต่ละเขตหรือมลรัฐ  ขอผลข้างเคียง        Consumer NZ หรือองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ ออกมาเรียกร้องให้มีการแสดงข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของ “ซีรัมบำรุงขนตา” ผลิตภัณฑ์ราคาแพงที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในนิวซีแลนด์ขณะนี้         ใครบ้างจะไม่อยากมีขนตายาวงอนงามสีเข้มในเวลาไม่กี่สัปดาห์ (โฆษณาเขาอ้างว่าอย่างนั้น) แถมผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เหล่านี้ยังระบุไว้อีกว่า “ไม่ระคายเคือง” หรือ “คิดค้นสูตรโดยแพทย์” อีกด้วย         ในขณะที่ซีรัมเหล่านี้อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบในสหภาพยุโรป หลังมีรายงานเรื่องผลข้างเคียงในผู้ใช้ เช่น เปลือกตาบวม และอาการแสบร้อนในดวงตา         Consumer NZ ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลายยี่ห้อมาส่องฉลากดู ก็ไม่พบคำเตือนใดๆ มีเพียงหนึ่งยี่ห้อที่ให้คำเตือนไว้ในสมุดพับเล่มเล็กๆ ในกล่อง ซึ่งหมายความว่าต้องซื้อไปก่อนจึงจะได้ข้อมูล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 สะดวกซื้อ สะดวกร้อง?

        บทเรียนการเรียนรู้จากผู้บริโภคที่มาปรึกษาเหตุการณ์การซื้อสินค้าจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อหลายราย        รายแรก ผู้บริโภคซื้อนมสดชนิดบรรจุถุงจากร้านสะดวกซื้อไปให้ลูกชายรับประทาน เมื่อลูกชายรับประทานบอกว่านมมีรสเปรี้ยว ตนเองจึงลองชิมดูบ้าง ปรากฏว่ารสเปรี้ยวจริงๆ นมน่าจะบูด ตนจึงเช็ควันหมดอายุที่ข้างถุง ก็ยังไม่เลยวันหมดอายุ จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร        รายที่สอง ผู้บริโภคซื้อเกี๊ยวกุ้งจากร้านสะดวกซื้อ จะนำมาอุ่นรับประทานที่บ้าน พอตัดถุงจะนำไปอุ่นในไมโครเวฟ พบว่ามีเกี๊ยวหนึ่งชิ้นที่ไม่มีไส้บรรจุอยู่ ผู้บริโภครายนี้จึงอุ่นรับประทานไปหมด แล้วมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการกับผู้ผลิตได้อย่างไรบ้าง         รายที่สาม ผู้บริโภคซื้อแกงกะทิบรรจุในถุงจากแม่ค้าขายข้าวแกงในตลาด โดยแกงนี้จะถูกตักไว้เป็นถุงๆ วางไว้ที่โต๊ะข้างหม้อแกงที่แม่ค้าตักขาย เมื่อใครจะซื้อก็หยิบให้เลยเพื่อความสะดวก ผู้ร้องซื้อแกงกะทิตั้งแต่เช้าแล้ววางตั้งไว้ในครัว โดยไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้านตอนค่ำ จะนำมารับประทานปรากฎว่าแกงกะทิบูด         การดำเนินการในสามกรณีข้างต้น จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิสูจน์ และค่อนข้างจะสรุปได้ยาก เพราะอาจเกิดการโต้แย้งจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีแรกอาจง่ายหน่อยตรงที่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่หมดอายุ แต่ดันมีรสเปรี้ยว และผู้ร้องเพิ่งรับประทานจึงมีหลักฐานอยู่ ส่วนกรณีที่สองจะพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งถูกรับประทานไปจนหมด ข้อกล่าวหาจึงเป็นคำพูดลอยๆ ของผู้ร้องเท่านั้น  ส่วนกรณีที่สามแม้แกงกะทิจะบูดจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ยากว่า มันบูดตั้งแต่ตอนตักใส่ถุง หรือบูดเพราะผู้ซื้อไม่ได้นำไปเก็บในที่ที่เหมาะสม         เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ผู้บริโภครีบนำสินค้ากลับไปหาผู้ขายโดยเร็วที่สุด หากเป็นร้านสะดวกซื้อให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปเป็นหลักฐานด้วย (กรณีซื้อสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่ควรรีบทิ้งใบเสร็จรับเงิน เราควรแนบติดกับสินค้าไว้ก่อน เผื่ออาจจะจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉินดังกล่าว) เท่าที่มีประสบการณ์ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งมักจะรับเรื่องและชดเชยสินค้าให้ด้วย บางรายเขาจะชดเชยให้กรณีที่เสียเวลามาด้วยซ้ำ ส่วนกรณีแกงถุงจากแม่ค้า จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ถ้าคุยกันดีๆ มักจะได้ชดเชยให้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน         รายที่สี่ ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณมาจากคนรู้จัก เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนบรรจุในซองซิบใส ไม่มีฉลากใดๆ คนรู้จักที่นำมาขายบอกว่าแก้ปวดเส้นและแก้โรคเก๊าท์ ตนเองกินแล้วได้ผลดี กินไปหลายซองแล้ว สงสัยว่ายานี้มีสารอะไรบ้างจึงนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ         เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามว่ายานี้ซื้อมาจากใคร หรือพอทราบแหล่งที่ส่งต่อยามาขายหรือไม่ ผู้ร้องก็บอกว่าไม่กล้าบอก เป็นห่วงคนที่ขาย เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่สอบถามก็เพื่อจะติดตามไปยังแหล่งต้นทางที่ผลิต ขอให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการติดตาม และจะได้ช่วยคนอื่นๆ ด้วย ผู้ร้องก็ไม่ยอมบอกและขอนำยากลับคืนไป        ในทีสุดเจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนำว่า ยาที่ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่ายาตำรับนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยถึงจะอนุญาตให้ผลิตได้ ยาผงที่นำมาให้ตรวจสอบไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย แสดงว่าไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับและยังไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอีก แสดงว่าผู้ผลิตมีเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะไม่รู้ว่าในยานี้มีสารอันตรายหรือไม่และยิ่งกินแล้วได้ผลดีอย่างรวดเร็ว ยิ่งน่าสงสัยว่าจะมีการปลอมปนสารเคมีอันตราย เช่น สเตียรอยด์ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ซื้อมะม่วง 1 กิโล แต่โดนโกงไป 2 ขีด

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน คุณสุรีย์ได้จอดรถแวะซื้อกับข้าว ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขณะเดินจ่ายตลาดอยู่นั้น คุณสุรีย์ได้เหลือบไปเห็นมะม่วงในร้านผลไม้สดร้านหนึ่ง ดูแล้วน่ารับประทานดี แม้จะไม่เห็นป้ายราคาเขียนติดเอาไว้ คุณสุรีย์ก็คิดว่าราคาน่าจะไม่แพงเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงออกเยอะ จึงได้บอกแม่ค้าไปว่า ขอซื้อมะม่วง 1 กิโล เมื่อแม่ค้าได้ยินดังนั้น ก็หยิบมะม่วงใส่ถุงหูหิ้ว ขึ้นชั่งน้ำหนัก ครั้นส่งถุงมะม่วงให้ก็แจ้งราคาคุณสุรีย์ทราบ        ฝ่ายคุณสุรีย์แม้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราคามะม่วง แต่ก็แอบสังเกตเข็มตาชั่งของแม่ค้า พอรับถุงมะม่วง ก็ลองเอามือถ่วงๆ ดู ก็เดาว่ามะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม จึงได้ทักท้วงกลับไป  แม่ค้าเมื่อได้ยินคุณสุรีย์ทักท้วงเรื่องน้ำหนักมะม่วง แต่ยังคงยืนยันกลับมาว่า มะม่วงนั้นหนัก 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการชั่งน้ำหนักมะม่วงให้ลูกค้าดูอีกรอบ         หลังจากได้ยินแม่ค้าตอบอย่างนั้น คุณสุรีย์แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่า มะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโล แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากต่อปากต่อคำกับแม่ค้า จึงควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี เมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อคลายความสงสัยที่มี คุณสุรีย์จึงนำมะม่วงขึ้นชั่งบนตราชั่งที่บ้าน ปรากฏว่า น้ำหนักมะม่วงหายไปเกือบ 2 ขีด คุณสุรีย์รู้สึกว่าโดนแม่ค้าโกง แบบชัดแจ้ง จึงได้ร้องเรียนเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางแก้ไขแก้ปัญหา        ตาม  พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  มาตรา 79 กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าเครื่องชั่งนั้นชำรุด ก็จะทำการยึดเครื่องชั่งนั้นไปทำลายด้วย         กรณีที่แม่ค้ารู้อยู่แก่ใจว่า เครื่องชั่งที่ใช้ขายผลไม้นั้นชำรุด แต่ยังนำมาชั่งสินค้าขาย อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้ การไม่แสดงป้ายราคาสินค้าอย่างเปิดเผย ณ จุดขาย ยังมีโทษปรับตาม ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ในมาตรา 40 ที่ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับ ร้อยละ 25 ของค่าปรับด้วย         หากผู้บริโภคมาทราบทีหลังว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น น้ำหนักขาดไปจากความเป็นจริง ก็สามารถแจ้งกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบร้านค้านั้นๆ ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 สั่งซื้อชุดเครื่องนอนผ่านแอปแล้วผิดหวัง

        ตลาดออนไลน์นั้น ง่าย สะดวก แต่ก็ต้องรอบคอบเพราะไม่ได้เห็นสินค้าจริงหรือจับต้องก่อนจะตัดสินใจซื้อ อีกทั้งผู้ค้าที่หลอกลวงก็มีจำนวนมาก ความไม่พอใจที่เกิดจากการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปกหรือไม่ใช่อย่างที่ตั้งความหวังจึงมีสูง แล้วเราจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร        คุณชไมพร อยากได้ชุดเครื่องนอนใหม่ จึงเปิดแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ในมือถือ จนพบชุดเครื่องนอนจากร้านค้าแห่งหนึ่งที่สวยถูกใจ เป็นชุดประกอบด้วย ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มในราคา 570 บาท บวกค่าจัดส่ง 80 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 650 บาท คุณชไมพรได้เลือกชำระค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) เพราะต้องการความมั่นใจว่า จะได้รับสินค้าอย่างแน่นอนก่อนจ่ายเงิน โดยข้อมูลบนแอปฯ แจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3 วัน คุณชไมพรจึงทำการสั่งซื้อ และรอการยืนยันจากทางร้าน         เวลาผ่านไป 5 วัน คุณชไมพรยังไม่มีวี่แววยืนยันการจัดส่งสินค้าจากทางร้านค้าดังกล่าว คุณชไมพรจึงได้เข้าไปทำการยกเลิกคำสั่งซื้อในแอปพลิเคชัน เพราะขาดความมั่นใจและได้หาซื้อชุดเครื่องนอนใหม่จากร้านค้าอื่นแทน         แต่เมื่อผ่านไปอีกสามวัน คุณชไมพรได้รับการติดต่อจากพนักงานของร้านค้าที่ได้ยกเลิกคำสั่งซื้อไปแล้วว่า ได้จัดส่งชุดเครื่องนอนให้คุณชไมพรเรียบร้อยแล้ว คุณชไมพร จึงตอบกลับไปว่า ตนได้สั่งซื้อชุดเครื่องนอนจากที่อื่นไปแล้ว พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งกลับว่า “ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะได้จัดส่งสินค้าไปให้แล้วค่ะ” แม้ว่าคุณชไมพรจะเสนอว่าจะจัดส่งสินค้ากลับไปให้ทางไปรษณีย์ โดยรับผิดชอบค่าส่งให้ แต่พนักงานก็ยังคงยืนยันว่าไม่รับคืนสินค้า         คุณชไมพรไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร จึงขอคำปรึกษากับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ได้ติดต่อไปยังร้านค้าดังกล่าวและปรึกษาเรื่องการคืนสินค้าของคุณชไมพร ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคที่กระทำได้ ซึ่งทางผู้จัดการร้านกล่าวขอโทษ ที่พนักงานของตนปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงดำเนินการเรียกคืนสินค้าที่คุณชไมพรได้ยกเลิกการสั่งซื้อ ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งทางร้านได้ฝากขอโทษคุณชไมพรด้วยที่สร้างความกังวลใจให้และจะอบรมพนักงานของตนต่อไป          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         กรณีซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้  ถือว่าทางร้านค้าได้ทำผิดเงื่อนไข ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกคำสั่งซื้อได้ โดยทำการแจ้งยกเลิกในระบบเว็บไซต์ห้างออนไลน์ และไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการจัดส่งสินค้าที่ได้แจ้งยกเลิกไว้แล้ว         ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักประกันความพึงพอใจ ไม่ว่าสินค้าจะชำรุดหรือไม่ หากผู้รับสินค้าเกิดความไม่พอใจ ก็สามารถคืนได้ภายใน 7 วัน (มาตรา 33) และผู้ขายต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อภายใน 15 วัน (มาตรา 36)         นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้า และปลอดภัยจากการถูกหลอกถูกโกงมากขึ้น         หากผู้บริโภคต้องคำปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ในพื้นที่ภาคเหนือท่านสามารถติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เลขที่ 9 ถนนรถแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000 หรือ ติดต่อผ่านเฟสบุ๊คwww.facebook.com/consumerslamphun/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อของออนไลน์ จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย มั่นใจ ได้เงินคืน

        ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ ธุรกิจ e-Commerce หรือตลาดออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย “เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์” ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อมูลระบบการชำระเงินและคืนเงินกรณีซื้อสินค้า/บริการออนไลน์” เมื่อช่วงต้นปี 2562 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนตลาดออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน และไร้ขอบเขต จึงเป็นหนึ่งช่องทางอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคบนตลาดออนไลน์ได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสำรวจของบ้านสมเด็จโพล พบว่ากว่า 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งนี้  “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้นำเอาข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่เป็นประโยชน์มาฝากผู้อ่านเป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของออนไลน์ โดยพุ่งเป้าไปที่ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลักๆ พบว่ามี ดังนี้1. เงินสด2. จ่ายผ่านบัตรเดบิต3. บัตรเครดิต4. เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรซื้ออาหารในศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงินซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต บัตรชมภาพยนตร์ และกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น5. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 6. การชำระเงินผ่านตัวกลาง (PayPal) สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ และ7. การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จ่ายแบบไหนปลอดภัยสุด         โดยในงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินทั้ง 7 วิธีการแล้ว และได้บทสรุปออกมาว่า “การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลัก และรหัส OTP อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือก คือ         1.ติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง หรือ        2.ในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน        แต่สิ่งที่แตกต่างจากบัตรเดบิต คือ บางธนาคารอนุโลมให้ผู้ถือบัตรเครดิตยังไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ยื่นเรื่องขอตรวจสอบได้ แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตนั้น ผู้ซื้อจะถูกหักเงินค่าสินค้าออกจากบัญชีธนาคารไปก่อน แล้วหลังจากตรวจสอบเสร็จ จึงดำเนินการคืนเงินให้         อีกทั้งระยะเวลาคืนเงินของบัตรเครดิตยังอาจรวดเร็วกว่าบัตรเดบิตในกรณีที่ซื้อสินค้าและขอคืนเงินผ่านตลาดกลางซื้อขายออนไลน์เช่น Lazada หรือ Amazon และยังมีขั้นตอนการขอคืนเงินที่ง่ายกว่ากรณีที่ชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินทางบัญชีธนาคาร เพราะหากโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรงและไม่ได้รับสินค้าในกรณีของประเทศไทย จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนจากผู้ขายหรือไม่         “การชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต” ถึงแม้จะมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่ในขั้นตอนการขอเงินคืนนั้น อาจจะใช้เวลาที่มากกว่าบัตรเครดิต อีกทั้งยังเป็นการหักเงินในบัญชีเป็นค่าซื้อสินค้าไปก่อน         “การชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดปลายทาง” เรียกว่ามีความปลอดภัยสูงว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน แต่การใช้จ่ายด้วยเงินสดมีต้นทุนการใช้ที่สูงกว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และในกรณีที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ และต้องการคืนสินค้านั้น จะมีความเสี่ยงมากว่ากรณีซื้อตรงกับผู้ขายอาจจะมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถติดต่อผู้ขายเพื่อขอคืนเงินได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินปลายทางผ่านตลาดกลางเช่น Lazada นั้น ยังสามารถติดต่อผ่านตลาดกลางนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าถูกนำส่งโดย บริษัทเคอรี่ มีแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้บริโภค ที่เลือกการชำระเงินโดยจ่ายปลายทาง แล้วพบว่า หลังจากชำระเงินไปแล้ว สินค้าที่ซื้อไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่สั่งไป มีสิทธิขอเงินคืนได้ เนื่องจากกรณีที่เราชำระเงินปลายทาง ผู้ส่งของ คือบริษัทเคอรี่ จะคงเก็บเงินไว้ 3 วันตามนโยบายของบริษัท ที่ตกลงไว้กับผู้ส่งว่า “บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ค่าบริการคิดเป็น 3% ของยอดที่เรียกเก็บ ผู้ส่งจะชำระค่าขนส่งและค่าบริการนี้ ณ จุดส่ง สำหรับยอดเงินเรียกเก็บปลายทางระบบจะทำการโอนเงินคืนผู้ส่งใน 3 วันทำการหลังจากลูกค้าปลายทางได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย" ดังนั้น เมื่อได้รับของและชำระเงินแล้ว ควรตรวจสอบสินค้าภายใน 3 วัน และหากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่ง ควรติดต่อไปยังบริษัทเคอรี่ เพื่อขอคืนเงิน โดยแจ้งเลขที่พัสดุ ชื่อผู้ส่ง หลังจากนั้นบริษัทจะประสานสาขาใกล้เคียงให้มารับของนั้นคืนไป และคืนเงินให้กับผู้บริโภค(ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)        “การชำระเงินผ่าน e-money” กรณีเป็นบัตรพลาสติกจะมีความคล้ายคลึงกับเงินสด หากสูญหาย ก็เหมือนกับสูญเสียเงินสดเท่ากับมูลค่าที่มีในบัตรพลาสติก แต่ e-money อีกประเภทที่คล้ายกับบัตรเครดิตแบบเติมเงินล่วงหน้านั้น จะมีความปลอดภัยเพราะจำกัดวงเงินความเสียหายเท่ากับเงินที่เติมไว้ในบัตร แต่ตอนนี้ e-money ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายจนสามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าหรือทุกเว็บไซต์         “การจ่ายเงินผ่านตัวกลาง” เช่น “PayPal” นั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะ PayPal มีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนโดยเปิดข้อพิพาทกับ PayPal ได้ภายใน 180 วันนับจากวันชำระเงินค่าสินค้า         “การจ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือ “อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง” ผู้ซื้อจะต้องเข้ารหัสส่วนตัว เพื่อเข้าไปทำธุรกรรม ซึ่งหลังจากทำรายการแล้ว จะมี sms แจ้งเตือนให้ผู้ซื้อทราบว่าได้มีการใช้จ่ายจากบัญชีของตนเอง หรือในบางครั้งถ้ามีการโอนเงินไปบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก จะต้องใส่รหัส OTP ด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืนโดยเฉพาะกรณีซื้อสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ในกรณีประเทศไทยต้องมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อขออายัดบัญชีของผู้ขาย        “การจ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย” ความปลอดภัยในการใช้บัตรขึ้นกับ Payment gateway ที่ให้บริการ แต่โดยทั่วไป Payment gateway เหล่านั้นจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปอยู่แล้ว ลักษณะการใช้งานคล้ายกับกรณีของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต แต่หากผู้บริโภคเลือกจ่ายผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารก็อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืน         อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องทางให้สามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะสามารถทำได้ตามอำเภอใจทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเอาไว้ โดยหลักๆ จากที่งานวิจัยได้รวบรวมเอาไว้ อาทิ  สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ สินค้าชำรุด เสียหาย ถูกแกะออกมาใช้หรือเป็นสินค้ามือสอง  ไม่ได้รับของตรงตามกำหนดเวลา ได้รับของไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์        และการจะเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ผู้ซื้อจะต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีทีเกิดปัญหา เช่น หลักฐานระยะเวลาการรับประกันการคืนสินค้า หลักฐานการชำระค่าสินค้า หลักฐานการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพราะในบางครั้งแม้ผู้ซื้อจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีระยะเวลาประกันการคืนสินค้าภายใน 14 วันจริง ก็ยังมีปัญหาในการคืนสินค้าดังกรณีตัวอย่างของ Lazada ที่ระบบแจ้งว่าต้องคืนสินค้าภายใน 7 วันแต่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ว่าคืนได้ภายใน 14 วัน วิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์         ผู้บริโภคควรเรียนรู้สิทธิและวิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สามารถใช้วิธีปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) ได้หากเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า และมีระยะเวลาคืนเงินที่รวดเร็วกว่าการใช้บัตรเดบิต แต่การชำระเงินค่าสินค้าผ่านการโอนเงินธนาคารนั้น มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะการซื้อกับผู้ขายโดยตรง เพราะถ้าไม่ได้รับสินค้าและไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ต้องดำเนินเรื่องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งยังไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การซื้อสินค้าผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อจากผู้ขายโดยตรง เพราะมีการรับประกันสินค้าและนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนกว่า          ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเรียกร้องสิทธิโดยตรงกับทางผู้ขาย หรือธนาคารสถาบันที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินไปแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้         1.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)         2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)         4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)         5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)         6.ธนาคารแห่งประเทศไทย        7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ขั้นตอนการร้องเรียน        ในการร้องเรียนนั้นควรเตรียมหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้พิจารณา เช่น        1. ใบสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ        2. ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย        3. ข้อมูลร้านค้า        4. หลักฐานการชำระเงิน        5. ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน        6. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน           อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ต้องระวังเรื่องการหลอกลวงจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้วสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ “ความอยากของตัวเอง” โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า “การซื้อของ” นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่มีในจิตใจ ยิ่งถ้าซื้อทางออนไลน์ และไม่ได้จ่ายเงินสดยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการต้องควักกระเป๋าจ่ายสด ดังนั้นจงระมัดระวังใจตนเอง ซื้อเท่าที่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >