ฉบับที่ 137 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (2)

ฎีกา(ที่  8772/2550)ในคดีที่ฝากเงินไว้แล้วไม่ได้ติดต่อกับธนาคารไปเกือบสิบปี เมื่อไปถอนเงินโดนปฏิเสธ จึงฟ้องศาลซึ่งสู้กันถึงฎีกานั้น เรามาตามต่อกันเลยครับ ...ส่วนจำเลยมีนายสมเกียรติซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่ดูแลบัญชีธนาคารและบัญชีลูกค้าทั่วไปของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่าบัญชีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นบัญชีรุ่นแรกที่จำเลยออกให้แก่ลูกค้าโดยยอมให้ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ด้วยแต่จำกัดจำนวนการใช้เช็คไม่เกินเดือนละ 4 ฉบับ หากใช้เช็คแล้วก็ไม่จำต้องใช้สมุดฝากเงินเพื่อนำมาถอนเงินออกจากบัญชีแต่อย่างใด แต่ยอดเงินในสมุดฝากเงินจะถือเป็นยอดที่ถูกต้องแท้จริงไม่ได้จนกว่าจะได้มีการปรับยอดบัญชีตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดไว้   ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินได้มีการเปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้สาขาของจำเลยทุกสาขามีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากบัญชีของลูกค้าคนใดขาดการติดต่อกับจำเลยแต่ยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะโอนไปไว้ในบัญชีไม่เดินหรือเรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อแล้วจำเลยจะจ่ายเงินคืนไป ต่อมาในปี 2516 บัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ถูกยกเลิกเนื่องจากมีความยุ่งยากในการปฏิบัติและโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป ตามระเบียบของจำเลยนั้นเอกสารที่เกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินจะเก็บไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะทำลายเกี่ยวกับสมุดฝากเงินจะต้องนำไปปรับบัญชีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปีตามข้อบังคับของธนาคารที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินดังกล่าวเพื่อจะดูว่าลูกค้าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารหรือไม่เพียงใดด้วย แม้หากลูกค้าไม่นำสมุดฝากเงินไปปรับดอกเบี้ยก็ตาม ธนาคารก็จะคิดและลงไว้ในการ์ดบัญชีให้และลูกค้าสามารถนำสมุดฝากเงินไปปรับบัญชีให้ตรงกันแล้วถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ลักษณะการคิดดอกเบี้ยตามสมุดฝากเงินนั้น หากมีเงินฝากและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น จำเลยก็จะนำเงินฝากและดอกเบี้ยมาเป็นต้นเงินและคิดดอกเบี้ยจากเงินที่นำมารวมนั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง เกี่ยวกับสมุดฝากเงินนั้น หากโจทก์ไม่ได้นำไปตรวจสอบยอดเงินตามที่จำเลยระบุไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนแต่อย่างใด แต่ธนาคารก็จะต้องตรวจดูว่ามีเงินคงเหลือในบัญชีอยู่หรือไม่เพียงใดด้วย เห็นว่า จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยรับฝากเงินและให้ประชาชนทั่วไปกู้ยืมเงินซึ่งในการรับฝากเงินจำเลยจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จำเลยเรียกจากผู้มากู้ยืมเงินซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะเป็นผลกำไรของจำเลย จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าการรับฝากเงินจากโจทก์เป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานนั้นได้กำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาการรับฝากเงินเช่นนี้ไว้แต่อย่างใดด้วย ดังนั้น เมื่อการรับฝากเงินหรือฝากทรัพย์เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง หากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับฝากเงินจากโจทก์ต่อไปแล้ว จำเลยย่อมกระทำได้โดยการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก็ไม่เคยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ที่จำเลยนำสืบและอ้างในฎีกาว่าเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้ทุกสาขาของจำเลยมีหนังสือโดยส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากลูกค้าคนใดขาดการติดต่อและยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะนำไปโอนไว้ในบัญชีไม่เดินหรือที่เรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อรับเงินคืนไป จนกระทั่งบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2516 และจำเลยโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ และจำเลยจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี ตามระเบียบของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็จะนำไปทำลายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือที่แจ้งไปยังโจทก์ว่าได้เปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และงดจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ต่อไปแล้ว... แหม เข้มข้นจริงๆ ไปติดตามตอนจบในฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (1)

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารชื่อดัง เค – แบ็งก์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ไปถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 มียอดเงินฝากคงเหลืออยู่ในสมุดคู่ฝากจำนวน 22,596.33 บาท แล้วก็เก็บสมุดไว้และไม่ได้ไปทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารอีกเลย ต่อมาเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2544 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ผู้บริโภคไปติดต่อถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธและแจ้งว่า ไม่มียอดเงินเหลืออยู่ในบัญชีที่ผู้บริโภคอ้าง ผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลดำเนินคดี คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาลงให้แบบ “ จัดเต็ม “ ให้เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8772/2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ฝาก 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ สิ้นปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,596.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2504 โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์และนำเงินฝากไว้กับจำเลยที่สาขาพัฒนพงศ์ เป็นบัญชีเลขที่ 1194 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากและถอนออกไปตลอดมาโดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย 3 ,000 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2507 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ยังคงมีเงินฝากเหลืออยู่ 22,596.33 บาท ปรากฏตามสมุดฝากเงินที่จำเลยทำมอบให้ไว้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีกเลย ต่อมาในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 โจทก์ได้ติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าไม่พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตามที่โจทก์อ้าง ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยต้องชำระเงินฝากคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องถอนเงินคืนจากจำเลยได้ตลอดเวลา โดยโจทก์มีสมุดฝากเงินมาเป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามสมุดฝากเงินดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดระยะเวลาในการรับฝากเงินไว้แต่อย่างใด … เนื้อหามีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้นอ่านกันต่อฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (2)

  เรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่นั้น มาตามต่อกันเลยครับ   “...จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น (ศาล)เห็นว่า ตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความว่า “ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) (จำเลยที่ 2) ได้เล็งเห็นถึงความเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในย่านประตูน้ำจึงพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดศูนย์รวมการค้าขาย ทั้งประเภทการค้าส่งและการค้าปลีกเป็นรูปแบบใหม่ให้เข้ามารวมอยู่ในจุดเดียวกันในชื่อโครงการว่า “ โครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม “ โดยมอบหมายให้บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด “ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้ารับผิดชอบเป็นเจ้าของโครงการ และเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 แผ่นที่ 5 มีข้อความว่า “ ...รับประกันโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมดเป็นหลักประกันความสำเร็จที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจในอนาคตของคุณ”  และในแผ่นที่ 15 และ 21 มีข้อความว่า “ เจ้าของโครงการและกรรมสิทธิ์ที่ดินบริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด ทุนจดทะเบียน 10,000,000  บาท บริหารโครงการโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.474 )ทุนจดทะเบียน 750,000,000 บาท(ชำระเต็มมูลค่า) ประธานกรรมการคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรม์ กรรมการผู้จัดการ นายประภา  สมุทรโคจร...” ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ และข้อความดังกล่าวย่อมทำให้พยานโจทก์และประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 750,000,000 บาท ขณะที่จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000,000 บาท  และในเอกสารดังกล่าวมีข้อความย้ำหลังข้อความเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ว่า “ ชำระเต็มมูลค่า“ ประกอบด้วย  ย่อมจูงใจให้ผู้พบเห็นข้อความนี้เชื่อถือโครงการดังกล่าวจากฐานะความมั่นคงของจำเลยที่ 2  ประกอบกับนางสาว ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวคนหนึ่งเบิกความว่า ก่อนตกลงซื้อพยานหนังสือเชิญชวนจากจำเลยที่ 2 ให้ซื้ออาคารและห้องชุดของจำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือรวมทั้งโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมด้วย  ซึ่งเป็นการยืนยันว่าโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเป็นโครงการหนึ่งในเครือของจำเลยที่ 2 ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารโครงการทำหน้าที่ขายและไม่รู้เห็นในการจัดทำเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 ทั้งเหตุที่ต้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารโครงการเพื่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 นั้น ไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์  แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จ.7 จ.10 และ จ.19 เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้กับจำเลยที่ 1 ก็ตาม  แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมฟังได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมโดยต่างมีประโยชน์ร่วมกันในโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “   แอบชักใยเบื้องหลัง ก็โดนครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (1)

  คดีเด็ดสำหรับเดือนนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาใหม่ล่าสุด เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ มีทุนจดทะเบียนเป็นร้อยล้าน แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียนแค่ สิบล้าน ครั้นเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่  คดีนี้สามารถใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่ทำมาหากินในระดับโครงการร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งถ้าดูแค่ทุนจดทะเบียนอาจจะคิดไปได้ว่า ฟ้องไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าบริษัททำมาหากินในลักษณะส่งรายได้ให้กับบริษัทใหญ่ เราก็ฟ้องให้เป็นจำเลยร่วมกันได้เลยครับ   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2638 /2553 คดีระหว่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ กับ บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด กับพวก จำเลย  ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “... พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 (บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมและทำสัญญาขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย แล้วผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและหยุดการก่อสร้าง   ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ร้องเรียนต่อโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 (บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่  โจทก์มี นางสาว ค. นาง ม. นางสาว ป. นาง ท. และ นาง พ. ผู้บริโภคสั่งซื้อห้องชุดในโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเบิกความทำนองเดียวกันว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากแผ่นพับโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 และทราบจากพนักงานขายของโครงการว่าเป็นโครงการของคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรณ์ และเป็นโครงการในเครือของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  พยานทั้งห้าจึงให้ความเชื่อถือในโครงการและตกลงซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น”  เอาล่ะสิ จำเลยที่ 2 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง พยายามดิ้นที่จะไม่รับผิดชอบในคดีนี้ แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากมีเนื้อหาฎีกาที่ค่อนข้างยาว ติดตามกันต่อฉบับหน้าครับ  แต่ยังไงเสีย คนผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย

  มีคดีน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ประกันมาฝากครับ สัญญาประกันชีวิตนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 นั้นระบุว่า ในสัญญา ประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง มีคดีตัวอย่าง ผู้เอาประกันภัยเมาแล้วขับรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย แพทย์ตรวจพบว่าผู้เอาประกันภัยมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงขนาดเรียกได้ว่าเมาสุรา บริษัทฯ ผู้เอาประกันภัยจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้รับผลประโยชน์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล มาดูกันสิว่าบริษัทฯ จะต้อง จ่ายเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2538 นางสาวเจริญวัลย์ แซ่เตีย โจทก์บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำเลย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ตกลงรับประกันชีวิตนาย พงษ์เดช แซ่เตีย โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประ โยชน์ครั้น วันที่ 5 มีนาคม 2532 อันเป็นช่วง ระยะเวลา ที่อยู่ ใน ระหว่าง อายุ สัญญาประกันภัย นายพงษ์เดช ได้ขับรถยนต์คัน หมายเลข ทะเบียน 1ร-4173 กรุงเทพมหานครเกิด อุบัติเหตุเฉี่ยว ชน กับ รถยนต์ คัน อื่น ได้รับ บาดเจ็บ และถึงแก่ความตายในวันเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลย ใช้เงินจำนวน 436,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง   จำเลยให้การ ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะหรือเนื่องจากนาย พงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ในขณะที่ เมาสุรา จึงอยู่ในบังคับของข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง   ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี นับแต่ วันที่ 5 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึง วันฟ้อง(1 มิถุนายน2533) มิให้คิดเกินกว่า 36,986.30 บาท   จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ ฎีกา ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า "ข้อเท็จจริง ฟังได้ในเบื้องต้น ว่านายพงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ จากสะพาน พระรามหก มุ่งหน้าไปทางสี่แยกท่าพระ ตามถนนจรัญสนิทวงศ์ เมื่อขับมาถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ มีนายปรีชา บำรุงพืช ขับรถยนต์ มาจากทางสี่แยกท่าพระ ถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ ได้ ขับรถเลี้ยวกลับตัดหน้ารถ ที่นายพงษ์เดช ขับมาเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถของนายพงษ์เดช เสียหลักแล่นไปชนท้ายรถยนต์โดยสาร ที่จอดอยู่ริมทาง เป็นเหตุให้นายพงษ์เดช ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ ดังกล่าว แพทย์โรงพยาบาลศิริราชตรวจศพนายพงษ์เดช ผู้ตาย แล้วปรากฏว่า พบ แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย สูงถึง 203 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.203 กรัม เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวงการแพทย์ ถือหลักว่า หากปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดมีถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.15 กรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ มากกว่าถือว่าบุคคลนั้น เมาสุราแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก แอลกอฮอล์ ในเลือดที่มีจำนวนเท่านั้น จะมีผลทำให้ บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์และเป็นปกติมีปฏิกิริยาในการตอบสนองช้าลง ระบบประสาท ซึ่ง ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ จะทำให้บังคับกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสม ประสานกัน สติสัมปชัญญะผิดไปจากคนปกติ และมีความยากลำบาก ในการควบคุมเครื่องจักรกล และการบังคับ ยานพาหนะ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริง ว่าขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ตายเมาสุรา เข้าข้อยกเว้น การรับผิด ตามข้อ 11 (ฎ) จำเลย ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์   มีปัญหาต้องวินิจฉัย ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลย ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์ตาม สัญญา ข้อ 11 (ฎ) หรือไม่ เห็นว่า สัญญา ข้อ 11(ฎ) ระบุ ไว้ว่า "สัญญา เพิ่มเติม นี้ ไม่คุ้มครองการสูญเสียหรือทุพพลภาพ อันเกิดขึ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในขณะหรือเนื่องจากผู้เอาประกัน เมาสุราหรือแพ้ยา " นั้น มี ความหมายว่า สัญญาเพิ่มเติมนี้ ไม่คุ้มครองการมรณะของผู้เอาประกัน อันเกิดขึ้นโดยตรงจาก อุบัติเหตุ ที่ เกิดขึ้นจากผู้เอาประกันเมาสุรา ดังนั้นการที่จำเลย พิสูจน์ได้เพียงว่านายพงษ์เดช ผู้เอาประกัน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะผู้เอาประกันเมาสุราตามหลักวิชาการแพทย์ โดยพิสูจน์ไม่ได้ ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้เอาประกันเมาสุรา จำเลยจึงไม่ได้ รับยกเว้น ตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ ฟังขึ้น "พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น”   สรุป ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย เพราะไม่ได้ตายด้วยเหตุเมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่จัดการแก้ไขทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์แล้ว ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นคืนให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องมอบค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่รับมานั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องมอบค่าใช้ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นด้วย ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2543 ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่นๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้ารถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไปจากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันรับมอบรถยนต์ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545 จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ประกอบ มาตรา 547 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อนเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ “ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันหรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระไปแล้ว และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 มัดจำคืออะไร ผลของมัดจำมีแค่ไหน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 377 บัญญัติว่า “ เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว  อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย “ ดังนั้นมัดจำต้องเป็นสิ่งที่คู่สัญญามอบให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา  ซึ่งต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถส่งมอบให้ไว้แก่กันได้และและต้องเป็นเงินหรือสิ่งของซึ่งมีค่าในตัวเอง เช่น เงินทอง ช้างม้าวัวควาย ฯ  หากไม่มีค่าในตัวเองแม้จะเป็นทรัพย์สินก็ย่อมจะส่งมอบให้ไว้เป็นมัดจำไม่ได้ เช่น โฉนด น.ส. 3ก. สัญญากู้ยืม หนังสือค้ำประกันของธนาคาร ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้มีค่าในเพียงฐานะที่เป็นเพียงเอกสารสิทธิไม่อาจริบได้เมื่อมีการผิดสัญญาหรือจะริบเอกสารไปก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด  แต่เช็คหรือตั๋วเงินอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเองเพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้  จึงส่งมอบให้ไว้แก่กันเป็นมัดจำได้  แต่เมื่อริบมัดจำก็ต้องฟ้องเรียกเงินตามเช็คหรือตามตั๋วเงินภายในอายุความ  กรณีทำสัญญากู้แทนการวางมัดจำเป็นเงินตามสัญญาจะซื้อขาย  สัญญากู้จึงมีมูลหนี้มาจากการที่มีหนี้จะต้องวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อขาย  เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาซึ่งผู้ขายมีสิทธิริบเงินมัดจำ ผู้ขายย่อมฟ้องบังคับตามสัญญากู้ได้  กรณีเช่นนี้ถือว่ามีการส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว  สำหรับจูบมัดจำนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อเพลงไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด หากมีการผิดสัญญาก็เป็นเพียงผิดสัญญาใจไปฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ ผลแห่งมัดจำนั้นก็เป็นไปตาม มาตรา 378 บัญญัติว่า “ มัดจำนั้น  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้  หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น และ (3)  ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอยู่คดีหนึ่งกล่าวคือ ผู้บริโภคไปวางเงินจำนวนหนึ่ง ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน  แต่ในสัญญาว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ต่อมาผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาปัญหามีว่าเงินที่วางไว้ดังกล่าวในวันทำสัญญาจะเป็นเงินมัดจำหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจก็ริบได้ ถ้าไม่เป็นก็ต้องคืน คำพิพากษาฎีกาที่ 9514/2544 วินิจฉัยว่า  แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม  แต่เงินดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าจะเป็นมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์  จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์  ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่เงินมัดจำ  เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญา  จำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้ คดีมันพลิกครับท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ดังที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... เพื่อทดลองทำหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ได้มีความเห็นให้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิจัยในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้นำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และขยายผลโดยการนำเสนอต่อผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป โดยผลจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการปรับปรุงหลักกฎหมายในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่องในลักษณะทำนองเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการปรับปรุงและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิด(ของผู้ขาย) เพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าถือเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่รัฐจะนำไปเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างความสงบและผาสุก(ในแง่ของการทำสัญญาซื้อขาย) ให้แก่สังคม อีกทั้ง หลักกฎหมายดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความคล่องตัวและความมั่นคงทางพาณิชย์อีกด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 โดยบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้สามารถใช้และตีความกฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นตามกาลเวลา แต่ก็อาจจะสร้างความสับสนและก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้และการตีความได้เช่นกัน   ประกอบกับมาตราดังกล่าวได้บัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช 2472 และด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันย่อมแตกต่างกันไปมาก ทั้งในแง่เทคโนโลยี ความซับซ้อนของสินค้า พฤติกรรมของคู่สัญญา หรือวิธีการดำเนินการค้าขายก็แตกต่างกันมากมายในแง่ทางเทคนิค ดังนั้น จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าที่จะเป็นไปได้ และนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบทนิยามของความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมถึงภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรต้องทำการศึกษาต่อไปว่า ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นได้แก่ความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังการส่งมอบสินค้าแล้วก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องแล้วก็จะต้องมาแจกแจงสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายดังกล่าวที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ (Lemon Law) ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาจากระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทยที่ปรากฏในมาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องมีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ อันส่งผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และแม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาหรือกรอบการใช้อำนาจของศาลเท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังเป็นการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “กล้าๆ กลัวๆ” เมื่อเปรียบเทียบกับของเยอรมนีและสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเอาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในระบบกฎหมายไทยควรจะมีการจัดระบบเสียใหม่ เพื่อลบภาพ “กล้าๆ กลัวๆ และผิดฝา ผิดตัว” ออกไปให้ได้ ...   เปรียบเทียบหลักกฎหมายของเยอรมนีและสิงคโปร์ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เยอรมนี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา เยอรมนีได้ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่ง (Das Bürgerliches Gesetzbuch; BGB)  ขนานใหญ่  โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำข้อความคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาใส่ไว้ในระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนองค์ประกอบของนิยามความชำรุดบกพร่อง เหตุยกเว้นความรับผิด รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็น การเรียกให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า การขอลดราคาตามสภาพ การบอกเลิกสัญญา (ขอคืนสินค้าและขอรับเงินที่ชำระไปคืน) รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษ เช่น บทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หรือข้อห้ามในการยกเว้นสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น สิงคโปร์ (Lemon law) ระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสิงคโปร์เป็นระบบความรับผิดที่ปรากฏในระบบคอมมอนลอว์ คือถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ปรากฏชัดแจ้งหรือข้อตกลงโดยปริยายเป็นต้น กรณีที่ผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา (breach of conditions) ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่ขอผูกพันตนตามสัญญาอีกต่อไปได้ โดยสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับมอบสินค้าหรือโดยการขอกลับคืนสู่สถานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่เคยมีสัญญาต่อกัน โดยการบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาไปแล้ว และในกรณีที่ในการผิดข้อตกลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น (breach of warranties) ผู้ซื้อยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาต่อไปได้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่มิได้ให้สิทธิในการปฏิเสธที่จะรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายหรือยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิของผู้ซื้อจึงมีน้อยกว่าหรือหากจะมองในมุมมองของผู้บริโภคจะถือได้ว่า Sale of Goods Act ไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ซึ่งก็มีความพยายามที่จะตีความ Sale of goods act เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ปรากฏความพยายามที่จะอธิบายว่าผู้ขายจะสามารถป้องกันมิให้ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยการส่งมอบสินค้าที่ไม่ชำรุดบกพร่องให้ทันแก่เวลา (เอาสินค้านั้นกลับไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่) แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังมิได้มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า Lemon Law ขึ้น โดยจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ขายจะรับผิดอย่างไร (สิทธิของผู้ซื้อในการเรียกให้ผู้ขายรับผิด) โดยจะมีการบัญญัติถึงการซ่อมแซมแก้ไข การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการลดราคาตามสภาพ รวมถึงบทสันนิษฐานความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องด้วย สำหรับท่านที่สนใจในรายงานฉบับสมบูรณ์ ทางอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษา ผ่านทางเวบไซต์ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=24&Itemid=179 หรือ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเอกสารในรูปอิเลคโทรนิคส์ไฟล์ ได้ทางฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการ ตามที่อยู่อีเมลด้านล่างนี้ pohin59@gmail.com;     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 สัญญาที่ไม่เป็นธรรมของบริการผ่านอินเตอร์เน็ตโปรแกรม SKYPE

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันการใช้บริการโทรศัพท์ติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะสะดวก และประหยัด เช่น การใช้ บริการผ่านโปรแกรมของบริษัทไมโครซอฟท์ ที่มีชื่อว่า SKYPE ซึ่งเป็นบริการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ ผ่านทางอินเตอร์เนต และมีโปรโมชันให้เลือกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีก็ได้ทำหนังสือเตือนไปยังผู้ให้บริการของ SKYPE เนื่องจากมีสัญญา 20 ข้อที่เข้าข่าย เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้บริโภค  ยกตัวอย่างเช่น “การที่ผู้ให้บริการ SKYPE สามารถยกเลิก และเปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการได้ทุกกรณี และตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคยินยอม” “วงเงินเครดิตในการใช้โทรศัพท์ ก็จะมีอายุเพียง 6 เดือน นับจากวันที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินซื้อบริการ” “กรณีการฟ้องร้องต่อศาล ก็ต้องไปขึ้นศาลที่ประเทศลักเซมเบิร์ก และใช้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์กเป็นฐานในการดำเนินคดี” “บริษัทจะไม่รับผิดใด ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางบริษัทไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม”   นอกจากนี้ทางผู้ให้บริการก็สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโทรศัพท์ได้ฝ่ายเดียว ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุไว้เป็นอักษรที่มีขนาดเล็ก ที่ผู้บริโภคมักมองข้ามไป การทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัทผู้ให้บริการนั้น นับว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น ทางไมโครซอฟท์ ก็ได้เปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องการบอกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการก็ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วันเช่นกัน และยกเลิกการหมดอายุของวงเงินเครดิตในการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวนั้น ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเองก็ได้ชื่นชมผู้ให้บริการที่ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพราะถ้าเป็นคดีความฟ้องร้องกว่าที่จะมีคำตัดสินของศาลเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้นก็จะกินเวลาหลายปีทีเดียว สำหรับการให้บริการประเภทนี้ ทางหน่วยงาน กำกับดูแลทางด้านโทรคมนาคม คือ กสทช. คงจะต้องลงไปดู รายละเอียดของสัญญา ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วยว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยหรือไม่ เพราะปัจจุบันการให้บริการหลายๆ ประเภท จะเป็นการดำเนินธุรกรรมผ่านทางโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดน แต่ถ้าเกิดคดีฟ้องร้องกัน นั้น คงเกิดปัญหาขึ้นแน่นอนว่าจะใช้กฎหมายของประเทศอะไร ในเบื้องต้น ทาง กสทช. ก็คงต้องรีบตรวจสอบสัญญาการให้บริการ เพื่อที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคคนไทยครับ ที่มา http://www.vzbv.de/12564.htm วันที่ 5.12.2013   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 Consumer Report 2013

การออกกฎ ระเบียบ การทำสัญญา ตลอดจนมาตรการต่างๆ โดยรัฐ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือประชาชนโดยตรง เช่น การเสนอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน  การปรับขึ้นราคาค่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่างส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน เพราะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำคัญคือ จะประท้วงคัดค้านอย่างไรก็ไม่ประสบผล เพราะจำนนด้วยเงื่อนไขที่รัฐไปผูกพันไว้ อย่างกรณีการปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน ประชาชนจะคัดค้านก็ไม่ทันแล้ว เมื่อเอกชนอ้างว่า เป็นไปตามเงื่อนไขในการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งต่างก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้น จึงได้ตราบทบัญญัติเรื่องของการมีส่วนร่วมไว้ในมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญปี 50) โดยกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ “ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ...” ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการกระทำที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่...ในระหว่างรอให้เกิด องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ (ติดตามกระบวนการจัดทำกฎหมายได้จาก http://www.indyconsumers.org/index.php/know/introduce )  ภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้ร่วมมือกันทดลองสร้างรูปแบบ “คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน” ขึ้นมา และได้ทดลองทำหน้าที่   ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้   1.ด้านการเงินและการธนาคาร 2.ด้านการบริการสาธารณะ 3.ด้านที่อยู่อาศัย 4.ด้านบริการสุขภาพ 5.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 6.ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 7.ด้านอาหาร ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางฉลาดซื้อ จึงขอนำสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในปี 2556 มาเผยแพร่ เพื่อที่เราผู้บริโภค จะได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง -------------------------------------------------------------------------------- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า… สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูล ที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการ บังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้ บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย -------------------------------------------------------------------------------- ด้านการเงินและการธนาคาร ร้องกันเพียบ ขายบัตรเดบิตพวงประกัน! เคยไหม? แค่จะเปิดบัญชีใหม่ ทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ทำไมธนาคารหลายแห่งต้องเสนอบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างว่าบัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด หรือได้ยกเลิกบริการบัตรแบบธรรมดาไปแล้ว ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น อีกทั้งพนักงานธนาคารยังพูดจาหว่านล้อมกึ่งบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกันชีวิต ที่มา http://www.talkystory.com/?p=56419 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดเวทีสาธารณะ พร้อมจัดทำข้อเสนอ 3 เรื่อง ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1.ยกเลิกการขายพ่วงบัตรเดบิต บัตร เอทีเอ็ม พ่วงการขายประกันภัย ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ การขายพ่วงบัตรเครดิต บัตร ATM และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (ออกประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2557) 2.ยกเลิกการบังคับทำบัตรเครดิตแทนบัตร เอทีเอ็ม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิต แทนบัตร ATM แล้ว (ความจริงคือ เป็นทางเลือกอยู่แล้ว แต่พนักงานธนาคารมักโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อหรือบังคับว่าต้องทำเป็นบัตรเดบิตเท่านั้น) 3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ   ความก้าวหน้า : หากมีเรื่องของการร้องเรียนด้านการเงินการธนาคารผ่านคณะกรรมการฯ สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทันที ขณะเดียวกันหากมีประกาศเรื่องมาตรการใดๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะแจ้งมาที่คณะกรรมการฯ ทันที เพื่อประกาศให้ผู้บริโภครับทราบ   ด้านการบริการสาธารณะ v ขึ้นค่าทางด่วน ขึ้นค่าทางด่วน(อีกแล้ว) ข่าวร้ายที่สุดของผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ในรอบปี 2556 เห็นจะไม่พ้นข่าวการขึ้นค่าทางด่วน ทางด่วน 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน(56) นี้!!!! “ทำไมถึงต้องขึ้นค่าทางด่วน?????” คงเป็นคำถามของผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนสงสัย” ที่มา http://www.thairath.co.th/content/331581 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดเวทีสาธารณะ  “บทบาทองค์การอิสระฯ” เรื่องการขึ้นค่าทางด่วน ในวันที่ 21 สิงหาคม 56 และ “ทำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)” เรื่องขอให้ยุติการขึ้นราคาอัตราค่าผ่านทางขั้นที่ 1-2 พร้อมยื่นข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ ให้ยุติการขึ้นค่าผ่านทาง ให้ทบทวนการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้พิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ผลการดำเนินการ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ( BECL ) โดยในสัญญากำหนดให้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางและกำหนดให้ปรับค่าผ่านทางทุกระยะเวลา 5 ปี เพื่อคงมูลค่าที่แท้จริงของอัตราค่าผ่านทางไว้ โดยการปรับตามอัตราเพิ่มของดัชนีผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพมหานครที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์และตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด การพิจารณาต่อสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่   กทพ. ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย   v ขึ้นราคาก๊าซ ดีเดย์ ขึ้นราคาก๊าซ 1 กันยา มติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2556 ให้ขึ้นราคาก๊าซภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย. 2556 จากราคาเดิม 18.13 บาทต่อกิโลกรัม สามารถขึ้นราคาได้เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 1 ปี   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานในการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นหนังสือคัดค้านเรื่อง “การปรับขึ้นราคาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน” พร้อมข้อเสนอสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ควรการเก็บเงินจากธุรกิจปิโตรเคมีในอัตรา 12.55 /ก.ก. เข้ากองทุนน้ำมัน เช่นเดียวกับ ภาคอุตสาหกรรมอื่น 2.ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 3.กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน   ผลการดำเนินการ : กระทรวงพลังงานหนังสือ ตอบเป็นหนังสือชี้แจงว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก๊าซ LPG เป็นราคาตามกลไกตลาดและไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่ต้นทางเหมือนกับภาคอื่นๆ จึงทำให้ราคาขายก๊าซ LPG ภาคปิโตรเคมีสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยไม่ได้รับการอุดหนุนมาตั้งแต่แรก (ภายหลังมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนอื่นในการลดภาระของกองทุนน้ำมันอีกด้วย)  ส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงนั้น กองทุนน้ำมันได้ชดเชยต้นทุนมาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ราคาขายถูกลง ดังนั้นจึงมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ คืนในภายหลังทำให้ราคาราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในการปรับอัตราค่าผ่านท่อนั้น เป็นไปตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.)  โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการทบทวนทุกระยะเวลา 5 ปี หรือกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อให้มีความเหมาะสมตามที่ กพช. กำหนดต่อไป รัฐไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มธุรกิจหนึ่งธุรกิจใด ซึ่งความจริงก๊าซที่มาจากอ่าวไทยนั้นก็ได้จำหน่ายให้กับผู้ใช้ทุกรายในอัตราเดียวกัน เพียงแต่ก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับภาคไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นราคาที่มีการเฉลี่ยรวมกับก๊าซจากพม่าแล้วก๊าซ LNG ซึ่งโรงแยกก๊าซก็ไม่ได้มีการนำก๊าซจากทั้งสองแหล่งนี้ไปใช้แต่อย่างใด   ด้านบริการสุขภาพ ชี้ป่วยฉุกเฉินทำบัตรทองเสียสิทธิ ...เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภายหลังตั้งกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีโดยไม่ถามสิทธินั้น ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่าประชาชนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาฟรีเมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ มีเหตุอันควร ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ต้องเสียเงินหมด เพราะคำว่าฉุกเฉินจะถูกตีความตามนิยามของสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งการตีความค่อนข้างแคบ ที่มา http://www.thaipost.net/news/231213/83745 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือให้ความเห็นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ขอให้ ทบทวนข้อบังคับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุอันควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2555  ที่อาจขัดต่อกฎหมาย ข้อเสนอนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปสช.   ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ฟิตเนสดังเอาเปรียบผู้บริโภค ประเด็นร้อนปี 55-56 เกี่ยวกับธุรกิจออกกำลังกาย คือ กรณีแคลิฟอร์เนียฟิตเนส โดนผู้บริโภคร้อง ทั้งปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ มีการรับสมัครสมาชิกตลอดชีพทั้งที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว ผิดสัญญาแต่ไม่คืนเงินค่าสมาชิกให้กับลูกค้า ปัญหาใหญ่คือ ปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น ทำสัญญาแล้วต้องใช้บริการให้ครบ 1 ปีจึงจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งนี้ศูนย์บริการส่วนใหญ่จะหักเงินบัตรเครดิตผู้บริโภคทันทีในคราวแรก  หรือบางรายต้องจ่ายค่าใช้บริการอื่นเพิ่มจากการชักชวนของพนักงานขาย เช่น ครูฝึกส่วนตัว โปรแกรมเสริมที่หลากหลาย   ซึ่งมีผู้บริโภคมาร้องเรียนถึง 680 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการได้จัดทำความเห็นต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้ปรับปรุง ประกาศ สคบ. ว่าด้วยธุรกิจออกกำลังกาย ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอนุกรรมการด้านสัญญาหมดวาระ   ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คลื่นความถี่ คือหัวใจของการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน 3G และ 4G และผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 3 ราย ต่างต้องการการเติมเต็มช่วงคลื่นความถี่ต่ำ-สูงของตนเพื่อการแข่งขัน การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ส่งผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมและส่งผลบวกทางอ้อมต่อเศรษฐกิจประเทศ ที่นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ได้จากการประมูล โดยเฉพาะที่เกิดจากการลงทุนโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือและการเติบโตของ ธุรกิจแอพพลิเคชั่นหรือคอนเทนต์ ซึ่งล้วนทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทำให้ผู้ให้บริการมือถือต้องถือครองคลื่นหลายช่วงความถี่เพื่อการแข่งขัน คุณสมบัติของคลื่นแต่ละช่วงความถี่แตกต่างกัน คลื่นความถี่ต่ำเช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือ หนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูล ไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ ข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่นเช่น กรุงเทพฯ ที่มา http://www.scbeic.com/document/note_20140402_1800   v การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ จัดทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 2100  MHz โดย ขอให้ กสทช. ดำเนินการโดยคำนึงถึง “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ผลการดำเนินการ : กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz โดยไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด   v กรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดเวที “ ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับฯ ” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 และจัดทำ ทำความเห็นเสนอต่อ กสทช. เรื่องกรณีหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ข้อเสนอ ดังนี้ ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 300,000 เลขหมายต่อวัน กสทช. ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญากาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... กสทช. ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดบริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน  3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อให้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน ขอให้ซูเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็น กสทช.   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   v กรณีโฆษณาผิดกฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ทำอะไร ? คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กสทช.  ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีโฆษณาผิด กฎหมายในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  โดยขอให้ กสทช. ยึดหลักการการกระจายการถือครองและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมองค์กรสาธารณประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐกำหนดสัดส่วนคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 20% ในทุกพื้นที่เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริการชุมชนรวมทั้งเร่งเผยแพร่ความรู้ที่ชัดเจนกับผู้บริโภค ก่อนการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล   ผลการดำเนินการ : ไม่มีการตอบรับจาก กสทช.แต่ประการ   รายชื่อคณะกรรมการ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์        ประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ นายจุมพล  ชื่นจิตต์ศิริ                 รองประธาน / ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ดร.เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์            กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร ผศ.ประสาท  มีแต้ม                    กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ ผศ.รุจน์  โกมลบุตร                     กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ผศ. ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง              กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา             กรรมการ / ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ นางสาวชลดา บุญเกษม              กรรมการ / ผู้แทนเขต 1 ภาคกลาง นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์               กรรมการ / ผู้แทนเขต 2 ภาคตะวันออก 10.  นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 3 ภาคอีสานตอนบน 11.  นางอาภรณ์ อะทาโส                   กรรมการ / ผู้แทนเขต 4 ภาคอีสานตอนล่าง 12.  นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล              กรรมการ / ผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ 13.  นางสาวบุญยืน ศิริธรรม               กรรมการ / ผู้แทนเขต 6 ภาคตะวันตก 14.  ภญ.ชโลม  เกตุจินดา                  กรรมการ / ผู้แทนเขต 7 ภาคใต้ 15.  นายศิริศักดิ์ หาญชนะ                 กรรมการ / ผู้แทนเขต 8 กรุงเทพมหานคร   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point