ฉบับที่ 134 เมื่อข้าวถุงขึ้นราคา...อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

คนที่ชอบรับประทานข้าวหอมมะลิอาจจะต้องเตรียมใจ เมื่อ นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ออกมาบอกว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาข้าวหอมมะลิชนิดบรรจุถุงเพิ่มขึ้นอีกถุงละประมาณ 10 บาท หลังสงกรานต์ปีนี้ เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐซึ่งส่งผลกระทบในมุมของต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน แม้ในยุคนี้หลายคนจะติดพฤติกรรมการกินข้าวนอกบ้านมากกว่าหุงข้าวกินเอง แต่ยังไงซะข้าวสารก็ยังเป็นของสำคัญที่ต้องมีไว้ในครัวที่บ้าน การที่ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงปรับขึ้นราคานั้น แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากหากคิดในแง่ของปริมาณ ยิ่งเมื่อเทียบว่าข้าวถุงส่วนใหญ่วางขายอยู่ในตลาดนั้นจะมีความจุอยู่ที่ 5 กิโลกรับต่อถุง ซึ่งหนึ่งถุงนั้นหลายๆ ครอบครัวสามารถซื้อเก็บไว้กินได้นานเป็นเดือนๆ ก็อาจมองได้ว่าไม่น่าจะเป็นผลกระทบกับเราในฐานะผู้บริโภคมากนัก แต่เราในฐานะที่เราเป็นคนไทย ประเทศเกษตรกรรมซึ่งเกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่งปลูกข้าวทำนา และที่สำคัญคือไม่ว่าจะยังไงข้าวก็ยังเป็นอาหารหลักของคนไทย สถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดกับข้าวไทยของเราจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลย ----------------------   ข้าวถุงบุกทุกครัว!!! คุณแม่บ้าน คุณพ่อบ้านคนไหนที่เคยไปเลือกซื้อข้าวสารถุงตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือแม้แต่ในร้านโชว์ห่วย น่าจะสังเกตเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีข้าวถุงยี่ห้อต่างๆ วางขายแข่งขันกันอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะข้าวหอมมะลิก็มีให้เลือกหลากหลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมสุรินทร์ ข้าวหอมแปดริ้ว ข้าวหอมสุพรรณ ข้าวหอมปทุม ฯลฯ ยังไม่รวมถึงการแบ่งตามลักษณะของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวหอมมะลิขัดขาว ข้าวหอมมะลิกล้อง และข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ส่วนเรื่องราคาก็แตกต่างกันไป ข้าวสารถุง 5 กิโลกรัม ราคาก็มีตั้งแต่ 100 กว่าบาทไปจนถึง 200 กว่าบาท ตามคุณภาพของข้าว หลายคนคงคุ้นเคยกับการซื้อข้าวชนิดบรรจุถุง ทั้งขาวธรรมดาและข้าวหอม ด้วยความที่สะดวกหาซื้อง่ายเพราะมีวางขายตามร้างค้าปลีกทั่วไป บางคนก็คิดว่าข้าวสารบรรจุถุงน่าจะสะอาดและได้ข้าวที่คุณภาพดีกว่าข้าวสารที่แบ่งขายจากกระสอบ แต่ถ้าคิดในแง่ของราคา ข้าวสารแบบตวงขายจะถูกกว่าเมื่อดูจากรายงานราคาข้าวเปลือกและข้าวสารของกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 ที่แจ้งราคาข้าวหอมมะลิ 100% แบบตวงขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 - 38 บาท ขณะที่ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง คิดราคาเฉลี่ยต่อ 1 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 36 – 40 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาที่แตกต่างกันไม่มาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ การโฆษณา บวกกับการออกแบบแพ็กเก็จที่ดูสวยงาม ทำให้ข้าวสารถุงถือเป็นตัวเลือกที่หลายครอบครัวนิยมมากกว่า แม้แต่ในต่างหวัดที่เคยนิยมซื้อข้าวแบบตวงขายมากกว่า ก็หันมาให้ความสนใจข้าวสารบรรจุถุงมากขึ้น เนื่องจากมีข้าวยี่ห้อใหม่ออกมาตีตลาดเป็นจำนวนมาก เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าการแข่งขันของข้าวในตลาดต่างประเทศมีความยากมากขึ้น ผู้ผลิตจึงหันกลับมาทำตลาดในประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัดที่ยังเปิดกว้าง หลายจังหวัดเกิดการปรับเปลี่ยนจากแต่ก่อนที่พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกข้าว ส่วนหนึ่งเอาไว้ขายอีกส่วนก็เก็บไว้กินเอง ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมรุกคืบเข้าไปแทนที่ภาคการเกษตร ทำให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อข้าวไว้รับประทาน (แต่จากการสำรวจราคาข้าวหอมมะลิถุงที่ขายอยู่ในท้องตลาด พบว่าความจริงแล้วมีหลายยี่ห้อที่ขายสูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในสำรวจ แถมจากเดิมที่ข้าวถุงนิยมขายในปริมาณ 5 กิโลกรัมต่อ 1 ถุง แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับขนาดเป็นแบบ 2 กิโลกรัมออกมาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งราคาของข้าวหอมถุงแบบ 2 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 80 – 100 บาทต่อถุง ซึ่งถ้าคำนวณเป็นปริมาณ 5 กิโลกรัม ราคาก็จะสูงเกิน 200 บาทตามที่กรมการค้าภายในสำรวจมาแน่นอน) ตลาดข้าวถุงในประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท มีสินค้าอยู่ในตลาดกว่า 250 แบรนด์ โดยมี “ข้าวตราฉัตร” เป็นผู้นำส่วนแบ่งการการตลาดที่ 10% รองลงมาคือ “ข้าวมาบุญครอง” “ข้างหงส์ทอง” และ “ข้าวตราเกษตร” ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 6 – 7% ที่มา : สยามรัฐ แบรนด์บรรษัท ฉบับวันที่ 27-28 มิถุนายน 2554 -------------------------------------------------------------------------------   นโยบายรับจำนำข้าวกับการเปลี่ยนแปลงของราคา เรื่องของราคาข้าวนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับขึ้นราคาไม่ได้มีเพียงเฉพาะสภาวะต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายเรื่องของราคาข้าวรวมถึงเรื่องของผลกำไรรายได้ที่เกษตรกรจะได้ตอบแทนจากการทำนา คนที่มีอำนาจตัดสินชะตาชีวิตของชาวนาและราคาข้าวที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องจ่ายไม่ใช่ใครที่ไหนไกล หน่วยงานใหญ่ที่มีหน้าที่ดูแลทุกความเคลื่อนไหวของประเทศอย่าง “รัฐบาล” นโยบาย ณ ปัจจุบันนี้ที่ภาครัฐนำมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็คือ “นโยบายการรับจำนำข้าว” ซึ่งภาครัฐตั้งใจให้นโยบายนี้ช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งราคาจำนำข้าวที่รัฐบาลจ่ายถือว่าสูงมาก คือ หากเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิจะอยู่ที่ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมเท่ากับ 20,000 บาท ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ อย่าง ข้าวหอมจังหวัด ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ราคาก็จะแตกต่างลดหลั่นกันไปตามคุณภาพของข้าว   ตารางเปรียบเทียบราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี – นาปรังของรัฐกับราคาซื้อขายข้าวเปลือกเฉลี่ยในตลาดทั่วประเทศ ชนิดของข้าว *ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี – นาปรังของรัฐ (บาท/ตัน) **ราคาซื้อขายข้าวเปลือกเฉลี่ยในตลาดทั่วประเทศ (บาท/ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) 20,000 15,651 ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) 18,000 14,875 ข้าวเปลือกปทุม (42 กรัม) 16,000 - ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว 16,000 12,882 ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น 15,000 - ข้าวเปลือกเจ้า 100% 15,000 - ข้าวเปลือกเจ้า 5% 14,800 10,050 ข้าวเปลือกเจ้า 10% 14,600 10,064 ข้าวเปลือกเจ้า 15% 14,2 00 - ข้าวเปลือกเจ้า 25% 13,800 9,300   *ราคารับจำนำของรัฐปรับเพิ่ม – ลดจากราคาข้างต้นตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท **ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555   จริงที่ราคาจำนำข้าวที่รัฐจ่ายให้เกษตรกรนั้นเป็นตัวเลขที่สูงและน่าจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การที่เปิดรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป ซึ่งราคาเฉลี่ยของข้าวหอมมะลิในตลาดทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 15,000 บาทเท่านั้น (*ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555) ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่เลือกขายข้าวให้กับรัฐบาล ขณะที่พ่อค้าข้าวรายอื่นไม่สามารถให้ราคาแข่งกับรัฐบาลได้ จึงไม่มีข้าวขายต่อ หรือถ้าต้องการข้าวเพื่อนำมาส่งขายก็ต้องจ่ายในราคาสูงในระดับใกล้เคียงกับที่รัฐบาลจ่าย ซึ่งบรรดาพ่อค้าข้าวรายย่อยส่วนใหญ่คือผู้ค้าที่นำข้าวมาขายต่อให้กับผู้บริโภคในประเทศ ขณะที่ข้าวที่รัฐบาลรับจำนำไว้จะเป็นข้าวที่ไว้สำหรับส่งขายในต่างประเทศ แน่นอนว่าเมื่อข้าวถูกอัพราคาขึ้นด้วยนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทางออกของผู้ค้าข้าวรายย่อยคือต้องยอมซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาสูง ต้นทุนเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปรับขึ้นราคาข้าวถุง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวหอมมะลิถุงที่ตามข่าวบอกว่าเตรียมขึ้นราคาหลังสงกรานต์ ส่วนข้าวขาวธรรมดายังพอที่จะคงราคาเดิมไว้ได้ เนื่องจากเดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ทำให้ยังมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแต่นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลเท่านั้นที่ส่งผลให้เกิดการปรับราคาขึ้นของข้าวหอมถุง แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งมีผลต่อค่าขนส่ง และรวมถึงนโยบายการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำรายวันที่ 300 บาท ที่เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา แม้จะเป็นข้อกำหนดกับแรงงานเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ไม่นับรวมภาคเกษตรกรรม แต่ในภาพรวมย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำนาปลูกข้าวแรงงานยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในเกษตรกรรายเล็กๆ ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มาก ยังไม่มีทุนมากพอที่จะใช้เครื่องจักรมาช่วยในการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยว ในกรณีของเกษตรกรรายเล็กๆ ปัญหาของราคาน้ำมันและการปรับขึ้นค่าแรง อาจส่งผลกระทบมากถึงขนาดที่ราคาจำนำข้าวที่ตันละ 20,000 บาทของรัฐบาลยังได้ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเกษตรกรต้องดำเนินการด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยื่นเรื่องลงทะเบียน ไปจนถึงนำข้าวไปยังจุดรับจำนำ ซึ่งเกษตรกรที่มีข้าวจำนวนไม่มาก เมื่อหักค่าการจัดการต่างๆ เงินที่ได้จากการจำนำข้าวก็อาจเหลือเป็นกำไรไม่มาก จึงทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายเล็กๆ ยังเลือกที่ขายข้าวให้กับโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลหรือพ่อค้าข้าวรายอื่นๆ แม้จะได้ราคาต่ำกว่า แต่ตัดปัญหาต้นทุนค่าจัดการค่าขนส่ง เพราะโรงสีและพ่อค้าเหล่านี้ยินดีที่จะมารับซื้อข้าวถึงที่ คิดทบต้นทบดอกแล้วได้กำไรคุ้มค่ากว่า ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปมือพนม เป็นเครื่องหมายที่รับรองคุณภาพของข้าวหอมมะลิบรรจุถุงโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นช่วยการันตีให้ผู้บริโภคได้มีความมั่นใจถึงคุณภาพของข้าวหอมมะลิ โดยข้าวหอมมะลิที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและได้รับโลโก้รูปมือพนมจากกรมการค้าภายในมี 8 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ข้าวขาวหอมมะลิ 10% ข้าวหอมมะลิ 5% ข้าวขาวหักหอมมะลิเอวันเลิศ ข้าวขาวหักหอมมะลิเอวันเลิศพิเศษ ข้าวกล้องหอมมะลิ 100% ข้าวกล้องหอมมะลิ 10% และ ข้าวกล้องหอมมะลิ 5% โดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปมือพนมจะอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ “แบบรับรองมาตรฐานทั่วไป” กับ “แบบรับรองมาตรฐานดีพิเศษ” 78 ล้านไร่ คือ พื้นที่โดยประมาณที่ใช้ในการเพราะปลูกข้าวทั้งหมดในประเทศไทย 31ล้านตัน คือ ผลผลิตข้าวที่ได้ 458 กิโลกรัม คือ ปริมาณข้าวที่ได้ต่อไร่ 12,801 บาท คือ ราคาขายข้าวต่อ 1 ตันที่เกษตรกรได้รับ 400 ล้านบาท คือ มูลค่าของข้าวทั้งหมด ที่มา : ข้อมูลสถิติการเกษตรของประเทศไทย ในส่วนของข้าว ปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คำแนะนำง่ายๆ ในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิ -ต้องมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ (กลิ่นของข้าวหอมจะคล้ายๆ กลิ่นของใบเตย) -ไม่มีแมลงปนเปื้อนอยู่ในข้าว -สังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์ ต้องแสดงข้อมูลที่สำคัญ เช่น ชนิดของข้าว ระดับคุณภาพของข้าว น้ำหนักสุทธิ ข้อมูลผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต คำแนะนำในการหุงต้ม ฯลฯ -สังเกตเครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ -------------------------------   ข้าวพื้นบ้าน(ต้อง)ช่วยกันรักษา เพราะประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำนาปลูกข้าวกันมาช้านาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกกันมาก็มีหลากหลายสายพันธุ์ นับๆ รวมแล้วมีมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ ซึ่งข้าวพื้นบ้านล้วนแล้วแต่มากด้วยคุณค่าทางอาหาร มีสรรพคุณป้องกันโรคได้ด้วยอีกต่างหาก แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันข้าวที่วางขายตามตลาดทั่วไปมีข้าวให้เราเลือกกินอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ แต่ก็ใช่ว่าเราจะหาข้าวพื้นบ้านกินกันไม่ได้ซะเลยทีเดียว เพราะยังมีหน่วยงานต่างๆ หลายกลุ่มหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พยายามรักษาพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ บางคนอาจจะเคยได้ยินหรือเคยกินข้าวพื้นบ้านอย่าง ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ฯลฯ ซึ่งเป็นเพราะยังมีเกษตรกรที่พร้อมจะรักษาข้าวพื้นบ้านซึ่งเป็นเหมือนสมบัติของชาติให้ยังคงอยู่ต่อไป เราในฐานะผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งแรงสำคัญที่จะช่วยให้ข้าวพื้นบ้านยังคงดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการช่วยกันสนับสนุนข้าวพื้นบ้านจากกลุ่มเกษตรกรทางเลือกตามจังหวัดต่างๆ หรือติดต่อสอบถามที่มูลนิธิขวัญข้าว จ.สุพรรณบุรี โทร. 035-597193 http://www.khaokwan.org/ , มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)  โทร. 02-591-1195 http://sathai.org/ (***หาอ่านข้อมูลผลการเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพื้นบ้านพันธุ์ต่างๆ ได้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 97) ----------------------------------------------------------------------------------------   ข้าวอินทรีย์ ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หลายคนน่าจะเคยเห็น เคยได้ยิน หรืออาจจะได้ลองกิน “ข้าวอินทรีย์” กันอยู่บ้าง แต่ก็คงมีหลายคนเช่นกันที่ยังไม่รู้ว่าที่บอกว่าเป็นข้าวอินทรีย์นั้นแตกต่างจากข้าวทั่วไปยังไง ข้าวอินทรีย์ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเกษตรอินทรีย์อื่นๆ คือ ข้าวที่มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงในขั้นตอนการแปรรูป การสี การบรรจุ การเก็บรักษา ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์นอกจากจะปลอดภัยกับผู้บริโภคแล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งตอนนี้ผู้บริโภคบ้านเราก็เริ่มให้ความสนใจเลือกรับประทานข้าวอินทรีย์กันมากขึ้นและเริ่มมีเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นด้วย แต่ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในเมืองไทยส่วนใหญ่ถูกส่งขายไปต่างประเทศ คิดเป็น % มากกว่า 90% ซึ่งประเทศไทยเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวอินทรีย์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สาเหตุที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลักเพราะในบ้านเรากลุ่มผู้บริโภคที่นิยมรับประทานข้าวอินทรีย์รวมสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ยังมีจำนวนไม่มาก ด้วยว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังไม่มีจำหน่ายแพร่หลายและด้วยราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วๆ ไป เกษตรอินทรีย์ทำไมต้องแพง -แม้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีขนาดเล็ก แต่ใช้แรงงานต่อหน่วยในการผลิตมากกว่าฟาร์มทั่วไป -สินค้ายังมีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภค -ปริมาณของสินค้าเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างน้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าออกสู่ตลาดสูงกว่าผลผลิตทั่วไป -เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีได้รายได้ที่เป็นธรรมและพอเพียง พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายใหม่ๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น   ใน 1 ปี คนไทยกินข้าวอยู่ที่ประมาณ 2 ล้าน 6 แสนตัน ที่มา : หนังสือ “เรื่อง ข้าว ข้าว ที่เข้าปาก” แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร มูลนิธิชีววิถี ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล กรรมการและเลขาธิการ  มูลนิธิสายใยแผ่นดิน คุณวัลลภ พิชญ์พงศา  รองกรรมการผู้จัดการ บ.นครหลวงค้าข้าว จำกัด คุณธวัชชัย  โตสิตระกูล  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรงสีชุมชน    รองประธานมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 ปัญหาราคาพลังงาน ความจริงที่ไม่เท่ากัน

  พลังงานราคาแพง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (เท่ากับปรับขึ้นสูงถึง 70%) 2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ด้วยเหตุผลเพื่อให้ราคาจำหน่ายสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คำถามก็คือ ต้นทุนที่แท้จริง เป็นความจริงของใคร ต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ?? จากผลการศึกษาและจากการจัดประชุมสัมมนาหลายครั้งที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า นโยบายการลอยตัวเชื้อเพลิงทุกประเภทของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการประกาศให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยอ้างถึงความต้องการให้ราคาเชื้อเพลิงสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงนั้น  ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน  และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่เรื่อง พลังงานแพงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใหญ่หลวง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำ รายงานการศึกษา ของคณะกรรมาธิการฯ มาสรุปสาระสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ค่อยมีสื่อใดจะนำไปเปิดเผย   รายงานศึกษาตรวจสอบ เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา   1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่หลายแหล่ง และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ปัจจุบันประเทศไทยมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 หลุม  โดยมีแปลงสัมปทานทั้งสิ้น 81 แปลง แท่นผลิต 225 แท่น     เดือนมิถุนายนปี 2553 ไทยสามารถขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 40 ล้านลิตรต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ปริมาณ 105 ล้านลิตรต่อวัน จากเอกสารรายงานประจำปี 2552 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 ถึงสิ้นปี 2552 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,628,647.50 ล้านบาท4 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดเก็บค่าภาคหลวงได้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 329,729.26 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 12.54 และตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2551 มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 429,212.28 ล้านบาท5 หากรวมค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2524-2552 โดยเทียบกับมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นแผ่นดินไทย รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศเท่ากับร้อยละ 28.87 ของมูลค่าเท่านั้น ซึ่งจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีสถิติในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน  แผนภูมิปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ  และก๊าซธรรมชาติเหลว (เทียบเท่าน้ำมันดิบ)จำนวนล้านลิตรต่อปี (พ.ศ. 2529-2553) ที่มา : กระทรวงพลังงานจากฐานข้อมูลของสถาบัน Energy Information Administration (EIA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 23 และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ1อันดับ 35 จากจำนวน 217 ประเทศของโลก2  ขณะที่กลุ่มโอเปค หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของโลกจำนวน 12 ประเทศ จัดอยู่ในผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับที่ 31 แรกของโลก  ข้อมูลดังกล่าวของสถาบัน EIA จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตพลังงานได้ปริมาณมาก แม้ว่าไทยจะไม่มีศักยภาพมากเท่าประเทศซาอุดิอาระเบียก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมของไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยมูลค่าของปิโตรเลียมที่สูงนี้เองทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง การใช้อำนาจโดยมิชอบ และความขัดแย้งในสังคม   2. การขึ้นราคาก๊าซ NGV เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ?     บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้ประชาสัมพันธ์ถึงต้นทุนที่แท้จริงของ NGV อยู่ที่ 14.96 บาท/ กิโลกรัมการขาย NGV ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ ปตท ขาดทุน และต้องการให้รัฐบาลขึ้นราคา NGV   โครงสร้างราคา NGV ของ ปตท ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท + ¬¬¬ค่าบริหารจัดการและขนส่ง 5.56 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีค่าการตลาด 1.01 บาท  รวม 14.96 บาท/กิโลกรัม   2.1 ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง? โฆษณาของ ปตท. ระบุว่า “ต้นทุนเนื้อก๊าซที่ 8.39 บาท/ ก.ก. เป็นราคาเดียวกับที่ขายให้โรงไฟฟ้า” แต่ ปตท. ไม่เคยสดงข้อมูลต่อสาธารณะเลยว่า ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทยนั้นราคาเท่าไหร่?  ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงโดยตรง คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบข้อมูลว่า ปตท. ซื้อก๊าซจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 45-50% เช่น ในปี 2551 ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดสหรัฐ  ที่แหล่ง Henry Hub อยู่ที่ 8.79 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคาปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ปตท.ซื้ออยู่เพียง 4.85 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง) ปัจจุบัน (ตุลาคม 2554)  ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกถูกลงอย่างมาก ในแหล่ง Henry Hub ราคาอยู่ที่ 3.63 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูหรือเท่ากับ 4 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น (คิดเทียบจากค่าความร้อน NGV จาก ปตท = 35,947 บีทียู/ก.ก.) ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่รัฐบาลและ ปตท. ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องตั้งคำถามกับ รมต.พลังงานและรัฐบาลว่า ได้เคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ปตท. มีต้นทุนค่าซื้อก๊าซจากปากหลุมในอ่าวไทยในราคา 2 บาท/กิโลกรัม จริงหรือไม่ ถ้าใช่ย่อมแสดงว่า ราคาเนื้อก๊าซ 8.39 บาท/กิโลกรัม ที่ ปตท. โฆษณาประชาสัมพันธ์และนำไปเสนอขอปรับขึ้นราคากับรัฐบาลนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ และสูงกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริงถึง 4 เท่าตัว 2.2 ต้นทุนปั๊ม NGV และค่าขนส่ง 5.56 บาท/กิโลกรัม  ต้นทุนที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของ ปตท ? ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยผลิตได้ ส่วนใหญ่ใช้โดยตรงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ปตท.)และโรงไฟฟ้าเอกชน และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ (NGV) เนื่องจาก NGV เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ และมีน้ำหนักเบากว่า LPG หลายเท่าตัวจึงมีแรงดันมหาศาล การขนส่งไปให้ถึงสถานีบริการอย่างปลอดภัยจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะ NGV ไม่สามารถบรรจุลงถังเหล็กขนาดใหญ่แบบรถบรรทุกก๊าซ LPG ได้ จึงต้องใช้วิธีส่งตามท่อส่งก๊าซหรือบรรจุลงในถังก๊าซที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษเท่านั้น และจะมีสถานีบริการ NGV ทำหน้าที่จ่ายก๊าซ NGV ให้กับผู้ใช้รถยนต์ NGV ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีสถานีบริการ NGV จำนวน 453 สถานี จำหน่ายก๊าซ NGV 6,895 ตันต่อวัน และ สถานีบริการ NGV ที่มีอยู่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ สถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ และสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ข้อมูลจาก ปตท ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 พบว่า มีสถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ เพียง 104 แห่งทั่วประเทศ (มีการใช้งานอยู่เพียงร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตเท่านั้น)  ดังนั้นจึงมีสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯมากถึงเกือบ 350 สถานี การตั้งสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ จำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนของก๊าซ NGV เนื่องจากสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ชุมชนที่ไม่มีแนวท่อก๊าซธรรมชาติผ่าน จึงต้องพึ่งพารถบรรทุกพ่วง(Trailer) ขนส่ง NGV จากสถานีจ่ายก๊าซฯ หลัก ซึ่งการขนส่ง NGV ในแต่ละเที่ยวจะขนส่งในสถานะที่เป็นก๊าซจึงบรรจุได้ในปริมาณน้อย มีระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งนาน มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ นี้มีปริมาณ NGV สำหรับบริการแก่ผู้ใช้รถ NGV ไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการใช้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้ใช้ NGV จะต้องรอจนกว่ารถ Trailer รอบถัดไปจะมาถึง สถานีบริการ NGV แนวท่อฯ เป็นสถานีฯ ที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งรับก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ โดยตรง และสามารถจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถ NGV ได้โดยตรง ดังนั้น สถานีบริการฯ ประเภทนี้จึงไม่ต้งพึ่งพารถ Trailer ในการขนส่ง NGV ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความต่อเนื่องของปริมาณก๊าซฯ สำหรับให้บริการผู้ใช้รถ NGV จึงได้รับความสะดวกในการเติม NGV ที่สถานีบริการ NGVตามแนวท่อฯ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สถานีบริการ NGV จึงควรจะอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการบริหารสินค้าคงคลัง(Inventory) และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถบรรทุก เพราะก๊าซถูกส่งไปตามแนวท่ออยู่แล้ว แต่หากเพิ่มสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯให้มีมากขึ้น ต้นทุนของค่าขนส่งก็จะสูงตามไปด้วย แทนที่ ปตท. จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสถานีบริการ NGV  แนวท่อฯ ให้มากขึ้น กลับแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นราคาผลักภาระมาให้ผู้ใช้ก๊าซ NGV แทน จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถยนต์ NGV ทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคิดเทียบต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งก๊าซที่ ปตท. แสดงอยู่ที่ 5.56 บาท/กิโลกรัม (ซึ่งไม่ควรจะสูงขนาดนี้หากเป็นสถานีบริการ NGV แนวท่อฯ) รวมกับราคาเนื้อก๊าซ NGV ที่ ปตท ใส่เข้ามาอีก 8.39 บาท/กิโลกรัม จะพบว่าต้นทุนค่าปั๊มและค่าขนส่งก๊าซมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของราคาก๊าซทั้งหมดที่ยังไม่รวมภาษี แต่หากคิดเทียบจากต้นทุนราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริงซึ่งซื้อจากหลุมก๊าซในอ่าวไทยที่ 2 บาท/กิโลกรัม จะพบข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า สัดส่วนของต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งสูงถึง 73% ของราคาก๊าซทั้งหมดยังไม่รวมภาษี ใครที่ทำธุรกิจคงรู้ดีว่า...ถ้าต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วนสูงขนาดนี้ หากไม่มีวิธีแก้ไขทางอื่น การเลิกทำธุรกิจน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด เพราะธุรกิจทั่วไปไม่สามารถผลักภาระขนาดนี้มาให้กับผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน   3. การขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ? ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน โดยการนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติมาผสมกัน อัดใส่ถังก็จะเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) หรือที่เรียกว่า ก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เชื้อเพลิงของรถยนต์ และนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย ความจริงที่ควรรู้คือ รถยนต์ LPG ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซ LPG ขาด และต้องเสียเงินนำเข้า จึงไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการปรับขึ้นราคา LPG ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้ 4.4 ล้านตัน พบว่าภาคครัวเรือนใช้อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน และรถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน รวมแล้วเท่ากับ 3.1 ล้านตันเท่านั้น ยังเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ถึง 1.3 ล้านตันโดยไม่ต้องนำเข้า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่พอเพียง เป็นเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ ปตท. มีการใช้ LPG ในปริมาณที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ในปี 2551-2553 การใช้ก๊าซ LPG ของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ที่ 9 แสนตัน , 1.28 ล้านตัน และ 1.59  ล้านตัน เรียงตามลำดับ เป็นปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แม้แต่ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขอปรับราคา LPG ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสัดส่วนการใช้ LPG สูงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 68% ของปริมาณที่ประชาชนทั้งประเทศใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่เพียงพอ และเกิดภาระ การชดเชยจากการนำเข้าจาก ต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 – กันยายน 2554 คิดเป็นเงินประมาณ 57,339 ล้านบาท แทนที่รัฐบาลจะไปจัดเก็บเงินค่าก๊าซกับกลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบ ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซ LPG ต้องจ่ายเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ในอัตรากิโลกรัมละ 8 - 11 บาท (ในช่วงปี 2555 เป็นต้นไป) และยังผลักภาระมาให้ประชาชนด้วยการขึ้นราคา LPG อีก   ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ข้อขี้แจงของ ปตท. ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ปตท. ยืนยันว่าต้องปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนมาก โดยราคากลางที่สถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาอยู่ที่ 15 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งการที่ภาครัฐอุดหนุนราคามาโดยตลอดเป็นการบิดเบือนกลไกราคา ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ขณะนี้มีประชาชนออกรถใหม่ที่ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมาวิ่งบนท้องถนนเพิ่มถึงวันละ 300 คัน ซึ่งสุดท้ายจะมาแย่งการเติมก๊าซเอ็นจีวีจากรถบรรทุกและรถขนส่ง ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลน และ ปตท.ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น และหากไม่ขึ้นราคาก็ต้องเข้าไปอุดหนุน โดยที่ผ่านมาตลอด 9 ปี ปตท. ขาดทุนสะสมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท การนำราคาก๊าซแอลเอ็นจีในสหรัฐฯมาอ้างอิงกับราคาของปตท. และพบว่าราคาที่สหรัฐฯถูกกว่า นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นคนละแหล่งกับที่ ปตท.นำเข้า ซึ่ง ปตท.นำเข้ามาจากพม่า จีน และยังต้องมีต้นทุนค่าขนส่งในระดับสูง นอกจากนี้ราคาก๊าซที่สหรัฐฯ ต่ำ เนื่องจากเป็นนโยบายภายในประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน   ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี ปตท. บริษัทที่กำลังจะถูกแปรรูปอีกครั้งได้ชี้แจงถึงราคาต้นทุกก๊าซแอลพีจีว่า  การคำนวณราคาก๊าซที่ทำโดยสถาบันปิโตรเลียม ซึ่งได้ประมาณการต้นทุนราคาแอลพีจีแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ  ต้นทุนโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 14.10 บาท กิโลกรัม มีราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 21.80 บาท กิโลกรัมซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ให้เงินชดเชยราคาก๊าซส่วนนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องรับภาระ 3.50 บาท กิโลกรัม หรือ 612 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนที่สองต้นทุนโรงกลั่นอยู่ที่ 23.33บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินชดเชย 12.88 บาท กิโลกรัม หรือ 955ล้านบาท/เดือน ส่วนที่สามคือ ต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ 29.28บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายชดเชย 19.22บาท กิโลกรัม หรือ 2,153 ล้านบาทต่อเดือน และจากโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี และขอยืนยันว่าราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีปัจจุบันยังต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่มาก และปัจจุบันรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึง 2 หมื่น 6 พันล้านบาท และชดเชยราคาให้โรงกลั่นน้ำมันอีก 1หมื่นล้านบาท นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผนหน่วยธุรกิจก๊าซ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )   โครงสร้างราคาที่อิงประโยชน์ผู้ขาย โครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีกับเอ็นจีวียึดราคาที่ต่างกัน ขณะที่แอลพีจีไปยึดราคาตลาดโลกแต่เอ็นจีวียึดตลาดในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อก๊าซแอลพีจีคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องซื้อก๊าซในราคาที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าตัว  เมื่อราคาแอลพีจีสูงก็ไปยึดหลักอิงตามราคาตลาดโลก หลักอิงนี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้ขายอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นก๊าซเอ็นจีวีราคาตลาดโลกต่ำกว่า 3-4 เท่า เราไม่อิงตลาดเขาแต่ยึดตลาดในประเทศ (แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่)   นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่10 อันดับแรกของ ปตท. ณ วันที่ 9 กันยายน 2554 ลําดับที่ รายชื่อ จํานวนหุน รอยละของจํานวน หุนทั้งหมด 1. กระทรวงการคลัง 1,459,885,575 51.145 2. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) 217,900,000 7.634 3. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. กรุงไทย จํากั ด (มหาชน) 217,900,000 7.634 4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร จํากัด 88,919,503 3.115 5. CHASE NOMINEES LIMITED 42 72,840,201 2.552 6. HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 57,254,742 2.006 7. STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 41,235,271 1.445 8. NORTRUST NOMINEES LTD 31,371,462 1.099 9. สํานักงานประกันสังคม (2 กรณี) 25,794,700 0.904 10. STATE STREET BANK EUROPE LIMITED ที่มา http://ptt-th.listedcompany.com/shareholdings.html   กําไรและที่มาของรายได้ของปตท.วิเคราะห ผลการดําเนินงาน แยกตามกลุมธุรกิจ ป กําไรกอนหัก ดอกเบี้ยและ ภาษี (ลานบาท) กําไรก่อนหัก ภาษีและดอก เบี้ย หนวยธุรกิจ กาซธรรมชาติ (ลานบาท) กําไรจาก ธุรกิจการ สํารวจ และผลิต ปโตรเลี่ยม (ปตท สผ) (ลานบาท) กําไร (ขาดทุน) จากธุรกิจ น้ำมัน (ลานบาท) จากการคา ระหวางประเทศ (ลานบาท) คาใชจายในการบริหาร (ลานบาท) คาตอบแทน กรรมการ (ลานบาท) กําไรสุทธิทั้งป (ลานบาท) กําไรตอหุน(บาท) 2551 109,882.83 48,505 74,643 (1,720) 4,310 18,190 389 66,535 18 2552 102,004.71 32,921 51,570 9,000 2,016 22,322 508 68,690 21 2553 139,037.13 37,617 64,348 9,402 2,338 24,196 697 99,930 29 2554 ถึง ก.ย. 54 137,367.382 เกาเดือนแรก 21,052 465 101,772 มค-กย 54 31 อ้างอิงจาก รายงาน 56-1 ประจําปี 2553 หน้า 306 , 311 รอบปีงบประมาณ 2554 (1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554) ปตท.ใช้งบประมาณว่าจ้างหน่วยงาน องค์กรเอกชน โฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวม 44 รายการ วงเงินรวม 651.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2553 ปตท.ได้ใช้เงินประชาสัมพันธ์ ผ่านบริษัทต่างๆ 34 รายการ รวมเม็ดเงิน 687.2 ล้านบาท รวม 2 ปี ปตท.หว่านเม็ดเงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงเกือบ 1,400 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 รู้ทันสินค้าราคา sale!

รู้ไหมว่า การซื้อสินค้าลดราคา ก็ไม่คุ้มค่าเสมอไป ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้เท่าทันกลยุทธการส่งเสริมการขายของร้านค้าปลีก ทั้งโดยสำรวจตลาดคนเดินถนน เพื่อรวบรวมกลวิธีการติดป้ายบอกราคาที่ชวนให้เข้าใจผิดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางคน และตลาดติดแอร์ โดยเจาะลึกถึงช่วงเวลาการส่งเสริมการขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Big C, Robinsonและ Central & Zen ฉลาดซื้อสำรวจตลาดนัดสวนจตุจักร จากการสำรวจการติดป้ายราคาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในตลาดนัดสวนจตุจักร (สำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552) พบว่ามี 7 ร้านที่มีการติดป้ายราคาที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การเขียนป้ายราคาขนาดใหญ่ในราคาถูก เห็นชัดเจนเพียงป้ายเดียวในร้าน แต่ราคานั้นไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งร้าน (พบ 5 ร้าน) 2. การเขียนป้ายราคาขายผลไม้ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยเขียนคำว่า “ครึ่ง” ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมาก และคำว่า “โล 15” ขนาดใหญ่มาก (พบ 2 ร้าน) 3. รถเข็นขายสตรอเบอรี่สดใส่แก้ว เขียนป้ายราคาด้วยเลข “20” เมื่อเข้าไปถามราคาผู้ขายจะรีบตักพริกเกลือราดสตรอเบอรี่ในแก้ว พร้อมกับบอกราคาว่า 40 บาท เมื่อสอบถามก็จะบอกว่า “20 คือราคาต่อขีด ในแก้วนี้ 2 ขีดก็ 40 บาท” รถเข็นขายมะม่วงหั่นใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ติดราคา “10” เมื่อซื้อ มะม่วง 1 ถุงคนขายคิดราคา 30 บาท เมื่อสอบถามผู้ขายบอกว่า 10 บาท คือราคาน้ำจิ้ม ถ้าซื้อมะม่วงด้วยก็ 30 บาท (พบ 2 ร้าน) *กรณีร้านสตรอเบอรี่ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ บางรายพยายามจะคืนสินค้าและเอาเงินคืนผู้ขายก็จะแสดงสีหน้าไม่พอใจและต่อว่าผู้ซื้อเสียงดังเพื่อให้ผู้ซื้ออาย และไม่กล้าต่อรอง(*อ้างอิงจาก http://babyfancy.com/printer_friendly_post.asp?TID=58138) 4. ร้านขายเสื้อผ้าที่คนขายมักจะบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” อยู่เสมอ แม้ไปสำรวจครั้งที่ 2 ร้านเดิมก็ยังบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” (พบ 1 ร้าน)ดังนั้นการซื้อสินค้าทุกครั้งเราควรถามราคาพ่อค้าแม่ค้าให้แน่ใจก่อนจะซื้อสำหรับใครที่ซื้อสินค้าเพราะหลงกลเจ้าป้ายราคาแบบนี้แล้วอยากคืนสินค้า ฉลาดซื้อแนะนำว่า ถ้าการเขียนป้ายราคานั้นทำให้เราเข้าใจผิดอย่างเจตนา ก็เจรจาขอคืนสินค้ากับแม่ค้าโดยตรงเลย เรามีสิทธิคืนได้ เพราะเขาทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน ถ้าเขาไม่ยอม และเราไม่แน่ใจว่าเขาผิดหรือไม่ เก็บหลักฐานไว้แล้วโทรไปปรึกษากับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการร้องเรียนได้เลยค่ะที่สายด่วน 1569   ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากการสำรวจการส่งเสริมการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ BigC, Robinson และ Central&Zen ที่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตลอดทั้งปี 2552 โดยเลือกเฉพาะการส่งเสริมการขายในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ดังนี้     8 วิธีปฏิบัติ เมื่อเจอป้ายโปรโมชั่น1. นับ 1- 10 ก่อน พร้อมถามตัวเองว่าสินค้านั้นมีความจำเป็นต่อเราหรือไม่ ถ้ายังตอบไม่ได้ นับถึง 20 เลยก็ได้ 2. สำรวจเงินในกระเป๋าให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะยังมีเงินใช้ไปจนตลอดสิ้นเดือน 3. ตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าไว้ก่อน ถ้าราคาสินค้าเกินกว่านั้น ตัดใจก่อนดีกว่า 4. คำนวณดูว่าลดราคาครั้งนี้ ลดกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่าไหม 5. เช็คดูสภาพสินค้ากันก่อนดีกว่า สภาพยังดีอยู่หรือเปล่า ตรวจดูทุกซอกทุกมุม อย่าลืมดูวันผลิตและวันหมดอายุด้วย 6. ถ้าเป็นสินค้าที่มีขายหลายๆ ร้าน ยอมเสียเวลาสักนิดไหม เดินไปดูราคาที่ร้านอื่นก่อน ถ้าถูกกว่า คุ้มกว่าจริง ค่อยกลับมาซื้อ 7. เห็นป้ายโปรโมชั่นติดอยู่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะซื้อ สอบถามพนักงานให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าที่จะซื้ออยู่ในโปรโมชั่นด้วยหรือไม่ 8. ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลดราคา แล้วอยากจะซื้อจริงๆ แนะนำให้ไปซื้อในวันแรกๆ ของการลดราคา เพราะจะมีโอกาสเลือกสินค้ามากกว่าและได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าวันหลังๆ ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point