ฉบับที่ 240 การต่อสัญญาสัมปทานกับปัญหาราคารถไฟฟ้าแพง

        ข่าวไม่ลงรอยกันของสองบิ๊กมหาดไทยและคมนาคมปลายปีที่แล้ว กรณีการขยายสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS เมื่อคมนาคม “ประกาศค้าน” แผนขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสของ กทม.ที่เสนอคณะรัฐมนตรีโดยกระทรวงมหาดไทย ออกไปอีก 30 ปี (จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602) แลกกับการเก็บค่าโดยสารตลอดสายเพียง 65 บาท และปลดหนี้แสนล้านของ กทม.         ในขณะที่ภาคสังคมกำลังเกิดความสับสนถึงแผนขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสว่าจะได้ไปต่อหรือไม่  กลับมีข้อมูลอีกชุดที่ปล่อยสู่สาธารณะคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวรวมตลอดทั้งสายจะมีตัวเลขค่าโดยสารสูงถึง 158 บาท ก่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงค่าโดยสารมหาโหด จนบีทีเอสต้องรีบแก้ต่างว่าไม่เป็นความจริงตัวเลข 158 บาท เป็นเรื่องผลการศึกษาเท่านั้นยืนยันจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 15 บาท รวมตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาว กทม.        อย่างไรก็ตาม 15 ม.ค. ผู้ว่าฯ กทม. ใจดีแจกของขวัญปีใหม่ช่วงโควิดออกประกาศเก็บเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บจริง 16 ก.พ. แน่นอน แถมย้ำว่าค่าโดยสาร 104 บาท ตลอดสายไม่แพงสำหรับผู้บริโภค ทันทีที่ ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส 104 บาท ทุกองค์กรหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ กรรมาธิการคมนาคม และองค์กรผู้บริโภค ต่างออกมาตั้งคำถามและคัดค้านประเด็นค่าโดยสารแพง ไม่โปร่งใสขัดต่อกฎหมาย ไม่มีที่มาของหลักคิดค่าโดยสาร เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี และยังเป็นภาระผูกพันต่อรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานอีก 39 ปี เรียกได้ว่าสร้างภาระไปถึงรุ่นลูกหลานกันเลยทีเดียว         ว่ากันด้วยเหตุผลถึงแม้ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท ที่ กทม. ประกาศ จะน้อยกว่า 158 บาท ที่ รฟม. เคยศึกษาไว้ แต่ยังถือว่าแพงเมื่อเทียบกับรายได้ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร เพราะหากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับร้อยละ 31.5 หรือหากต้องเดินทางไปกลับจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึงร้อยละ 63  ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถสองแถว หรือแม้แต่รถแท็กซี่ และเมื่อเทียบกับต่างประเทศค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยกลับแพงที่สุด เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากร พบว่า เมืองใหญ่ของโลก เช่น ปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียง 3 - 9% เท่านั้น           ขณะที่กระแส #หยุด104บาท #หยุดกทม. กลายเป็นประเด็นร้อน กทม. กลับเลือกจะไม่ฟังเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากทุกส่วนของสังคมและเดินหน้ายืนยันต้องเก็บค่าโดยสาร 104 บาท จึงอาจจะมองได้ว่า กทม. ต้องการใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับคณะรัฐมนตรีให้มีมติขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส จนสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท แทนที่จะต้องเสีย 104 บาทตามประกาศของ กทม. เพราะตอนนี้ส่วนต่อขยายทั้งหมดเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว และ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายสะสมที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอส         การมองแบบนี้สอดรับกับการที่บีทีเอสที่เก็บตัวเงียบมาตลอดได้ออกโนติสทวงหนี้ กทม. กว่า 30,000 หมื่นล้านบาท ที่มาจากหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าเครื่องกลที่ต้องจ่าย 20,248 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอีก 9,377 ล้านบาท เรียกได้ว่าออกมาจังหวะดีช่วยเรียกความน่าเห็นใจให้กับ กทม. ที่ถูกทวงหนี้ ส่วน กทม. ก็รับลูกเล่นตามน้ำโอดโอยไม่มีเงินจ่ายอยากฟ้องก็ฟ้องไปหากรวมหนี้ก้อนใหญ่ที่มาจากการหนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 69,105 ล้านบาท จะเท่ากับ กทม.มียอดหนี้รวมเกือบแสนล้านบาทเลยทีเดียว         และนี่เองจึงอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไม กทม. ต้องเร่งรีบต่อสัญญาให้กับบีทีเอส ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 9 ปี แลกกับการให้บีทีเอสปลดหนี้แสนล้าน เพราะตอนนี้ กทม.อยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย “ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย” ไปซะแล้ว         อย่างไรก็ตามเมื่อ #หยุด104บาท #หยุดกทม. กระจายไปทั่วสังคม ในที่สุดกลางดึกคืนวันที่ 8 ก.พ. ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกประกาศเลื่อนการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าออกไปก่อน และจะกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานครให้เกิดความเหมาะสม แม้การยอมถอยของ กทม. ครั้งนี้ จะช่วยลดบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดลงได้บ้าง และถือว่าเป็นชัยชนะก้าวแรกของผู้บริโภคที่ช่วยกันหยุดไม่ให้ กทม. เก็บค่าโดยสาร 104 บาท ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ การขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสครั้งนี้อยู่บนผลประโยชน์นับแสนล้านที่มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตของผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อมองถึงทางออกเร่งด่วนตอนนี้ คือ ทำอย่างไรจึงจะหยุดแผนขยายสัญญาสัมปทานก่อน แล้วทบทวนสัญญาสัมปทานทุกเส้นทางหาค่าโดยสารที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคนใช้ได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 มูลนิธิ ฯ เปิด 8 เหตุผลคัดค้านและเสนอทางออก ก่อนขึ้นราคา 104 บาท

        จากการที่พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุมัติให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ ทำให้ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าโดยสารสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยวในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้มีการคัดค้านจากประชาชน จากหน่วยงานกระทรวงคมนาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการจาก TDRI พรรคการเมืองต่างๆ และรวมถึงกรรมาธิการคมนาคมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงใคร่ขอเสนอ 8 เหตุผลคัดค้านและเสนอทางออกก่อนการขึ้นราคาในครั้งนี้        1.ทุกคนมีความทุกข์จากการเดินทางในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนให้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 43% ใช้รถมอเตอร์ไซต์ 26% และใช้บริการรถขนส่งสาธารณะเพียง 24% จากรถโดยสาร 15.96% รถแทกซี่ 4.2% ระบบราง 2.68% รถตู้ 1.28% เรือ 0.28%         2.ผู้บริโภคสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้น้อยลง บริการรถไฟฟ้ากลายเป็นบริการทางเลือกแทนที่จะเป็นบริการขนส่งมวลชนดังเช่นที่ทุกประเทศดำเนินการให้ทุกคนต้องขึ้นได้ เพราะต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย BTS ตลอดสายสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 31.5% ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานครทีมีรายได้ขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน หรือสูงถึง 63% ต่อค่าจ้างรายวัน หากใช้การเดินทางไปกลับ        3. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยแพงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้สูงถึง 26-28% ของรายได้ขั้นต่ำขณะที่ กรุงปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียง 3-9% เท่านั้น        4.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ ขนส่งมวลชนที่ราคาถูกในหลายประเทศ เพราะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณรถไฟฟ้า หรือรายได้จากการโฆษณามาสนับสนุนราคาค่าโดยสาร ขณะที่กรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานที่ให้สัมปทานไม่มีการเปิดเผยผลประโยชน์ในส่วนนี้ ว่ามีการแบ่งหรือจัดสรรอย่างไร หรือแม้แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือท้องถิ่น        5. ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กทม. ต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และพิจารณาเรื่องค่าแรกเข้ารถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขัดต่อกฎหมายของกรุงเทพมหานคร ที่การอนุมัติให้ขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร        6.ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียว หรือสัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก หรือการขึ้นราคาในส่วนต่อขยาย ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานรายได้ โครงสร้างหนี้ หรือรายละเอียดกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงการเตรียมการให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ต้องยอมรับราคา 65 บาทต่อเที่ยว ซึ่งยังมีราคาแพงและไม่มีเหตุผลในการกำหนดราคานี้และยาวนานถึง 38 ปี        7.พิจารณาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีบริการรถไฟฟ้าให้บริการ 6 สายในปัจจุบัน และมีโครงการ 14 สายในอนาคต ซึ่งเชื่อมโยงกันหลายสาย แต่มีปัญหาการสัมปทานที่แตกต่างๆ กันไป จากหลายหน่วยงาน ทำให้ผู้บริโภค ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแรกเข้าหรือการใช้บริการครั้งแรกให้กับทุกสัมปทาน ให้กับทุกบริษัทหรือทุกสายที่ใช้บริการ (ค่าแรกเข้าทุกครั้งที่ใช้บริการแต่ละสาย) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบและกำหนดให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับของทุกคน        8.กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวัน เช่นประเทศมาเลเซียที่กำหนด 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือมีเพดานราคาสูงสุดของประชาชนในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวัน เช่น ออสเตรเลีย หรือแม้แต่การกำกับให้สามารถใช้บัตรรถไฟฟ้าใบเดียว หรือบัตรประชาชน หรือโทรศัพท์มือถือ เหมือนที่รัฐบาลไทยเคยมีแผนงานเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการจนปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ต้องชะลอการขึ้นราคา 104 บาททันทีเพื่อดำเนินการให้บริการขนส่งมวลชนซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน ไม่ใช่เป้าหมายการแสวงหาผลประโยชน์จากการให้สัมปทานของหน่วยงานต่างๆ กับการมีบริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ต่างส่วนต่างทำ ไม่มีการกำกับดูแลเช่นในปัจจุบัน #หยุด104บาท #หยุดกทม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 อ้าว! ทำไมราคาพัดลม ไม่ตรงป้าย

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ที่ได้ไปซื้อสินค้าแล้วมาพบตอนที่จะชำระเงินว่า ราคาสินค้าไม่ตรงกับป้ายที่แสดงไว้ โดยเรื่องมีอยู่ว่า..        บ่ายวันหนึ่ง คุณอรอุมาได้แวะเข้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา เพื่อเลือกซื้อพัดลมตั้งโต๊ะตัวใหม่ เมื่อเดินสำรวจพัดลมแต่ละยี่ห้อ ก็พบว่าเป็นช่วงที่ห้างฯ จัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอยู่พอดี เมื่อเลือกได้พัดลมตัวที่ถูกใจ ที่ป้ายติดราคา 379 บาท คุณอรอุมาก็หิ้วกล่องพัดลมไปชำระค่าสินค้าที่แคชเชียร์ แต่เมื่อคิดราคาแล้วปรากฏว่า ราคาพัดลมกลายเป็น 399 บาท ซึ่งแพงกว่าป้ายราคาที่ติดไว้ 20 บาท         คุณอรอุมารู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกอีกครั้งแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ราคาสินค้าไม่ตรงป้าย คุณอรอุมาจึงร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาเพื่อขอความเป็นธรรม         แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณอรอุมา จึงดำเนินการทำหนังสือส่งเรื่องรายงานไปถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับห้างฯ ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย        ข้อแนะนำผู้บริโภค         หากผู้บริโภคพบเจอว่า สินค้าที่ซื้อมีราคาไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ก็ให้ถ่ายภาพสินค้าและป้ายราคา เก็บใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน ร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งตาม ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแสดงสินค้าและค่าบริการ กำหนดให้ผู้จำหน่ายต้องแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือบริการให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ เว้นแต่จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าราคาที่แสดงไว้         ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้าหรือบริการ หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย เป็นความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ราคาอาหารไม่ตรงกับเมนู

        เวลาที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ราคาเป็นข้อมูลจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ขาย ต้องแสดงอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างราคาอาหารที่ต้องแสดงไว้ในเมนูของร้านเพื่อแจ้งต่อผู้บริโภค ถ้าไม่มีถือว่าผิด         คุณแก้วตากับเพื่อน ๆ ตั้งใจขับรถไปเที่ยวจังหวัดราชบุรีในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงจึงได้จอดรถแวะรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เมื่อเปิดดูเมนูอาหาร คุณแก้วตาและเพื่อนสาวก็สั่งอาหารอย่างที่ตนเองชอบ หลังจากจัดการอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็เรียกพนักงานเสิร์ฟมาคิดเงิน         เมื่อพนักงานแจ้งค่าอาหาร พบว่าราคาแต่ละจานไม่ตรงกับที่แสดงไว้ในเมนูเลย ทุกจานมีราคาแพงกว่าในเมนู 5 บาท คุณแก้วตาจึงขอคุยกับเจ้าของร้าน ซึ่งได้คำตอบว่าช่วงนี้วัตถุดิบขึ้นราคา จึงต้องปรับราคาอาหารขึ้นไปแต่ยังไม่มีเวลาเปลี่ยนป้ายราคา คุณแก้วตาและเพื่อนๆ ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงอะไร เพราะยังมีเรื่องที่ต้องเดินทางต่อแต่ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้ จึงได้สอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ร้านอาหารทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ร้องเรียนได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีร้านค้าแสดงราคาอาหารในเมนูไม่ตรงกับราคาขาย ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ข้อ 11 ซึ่งกำหนดให้ การแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือค่าบริการ ต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ซึ่งร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า หรือค่าบริการ หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย หรือค่าบริการที่เรียกเก็บ เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ที่กำหนดว่า ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตาม มาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ร้านยาไม่ติดป้ายราคา

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อยาในร้านขายยาแห่งหนึ่ง ว่า..         “มีอาการไอและเจ็บคอขณะเดินทางกลับบ้าน จึงจอดรถแวะซื้อยาในร้านยาแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา” คุณกชกร ผู้บริโภคที่ร้องทุกข์ผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ แจ้งชื่อยาแก้ไอตัวเดิมที่เคยซื้อก่อนหน้านี้ คนขายหยิบยามาให้พร้อมแจ้งราคา ปรากฏว่ายานั้นมีราคาแพงกว่าที่เคยซื้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (กับคนขายอีกคนหนึ่ง) คุณกชกรจึงถามกลับไปว่า “ยาปรับขึ้นราคาเป็น 65 บาทหรือคะ” ซึ่งคนขายตอบว่า “ยาตัวนี้ก็ราคานี้แหละ” คุณกชกรคิดในใจจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งซื้อไปราคา 55 บาท แต่ด้วยความรีบร้อนคุณกชกรจึงไม่ได้กล่าวคัดค้านเหมือนอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามคุณกชกรสังเกตว่าสินค้าอื่นๆ ภายในร้าน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ไม่มีการติดป้ายบอกราคาเช่นกัน         อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ร้านขายยาแห่งนี้ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ซึ่งตนเองพอจะทราบมาว่า ตามกฎหมายร้านขายยาทุกร้านต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำเพื่อคอยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา คุณกชกรรู้ว่า ยาที่ตนเองซื้อมาเป็นยาแก้ไอเคยรับประทานและพอทราบวิธีใช้อยู่บ้าง แต่หากเป็นผู้บริโภคคนอื่นที่เข้ามาซื้อยาแล้วไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายขึ้นได้        ดังนั้นถึงแม้คุณกชกรจะไม่กลับไปใช้บริการร้านนี้อีก แต่ก็คิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบร้านยาแห่งนี้ จึงได้ร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาเพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูล แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เรื่องของการไม่ติดป้ายราคาสินค้านั้นอยู่ในการกำกับดูแลของทางพาณิชย์จังหวัด หลังจากแจ้งข้อมูลไปหน่วยงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษปรับร้านยาดังกล่าวแล้ว ซึ่งการไม่แสดงราคาสินค้ามีบทกำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542          ส่วนกรณีที่ร้านขายยาไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยหากร้านยาขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบร้านขายยาใดไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือ ไม่แสดงป้ายราคาสินค้า ก็สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานข้างต้นให้ช่วยดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งหากผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ท่านสามารถขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา โทร. 054-458-757

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ไม่ส่งสินค้าให้ เพราะแสดงราคาผิด

เพราะสินค้าในตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มักมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินซื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเราซื้อแล้วพบว่าราคาที่แสดงหน้าเว็บไซต์กับราคาที่ต้องจ่ายจริงต่างกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้างคุณพอใจต้องการลำโพงไร้สายคุณภาพดี ราคาเหมาะสม จึงตัดสินใจเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลาง คอยรวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว คล้ายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้านั่นเอง ทั้งนี้หลังจากเธอพบสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วไป จึงรีบกดซื้อและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต พร้อมรอให้มีการจัดส่งสินค้าภายใน 10 วันตามที่ระบุไว้อย่างไรก็ตามหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว คุณพอใจก็ยังไม่ได้รับสินค้า เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านค้าและได้รับการตอบกลับมาว่า เหตุที่ยังไม่ส่งสินค้าดังกล่าวให้ เนื่องจากทางร้านลงราคาผิดพลาดและไม่มีความประสงค์จะขายในราคาที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ ดังนั้นจึงขอให้ลูกค้าไปติดต่อขอคืนเงินกับทางเว็บไซต์ได้เลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพอใจจึงไม่พอใจมาก จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาว่าสามารถจัดการร้านค้าเช่นนี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องแจ้งรายงานพฤติกรรมผู้ขายไปยังเว็บไซต์ เพื่อให้มีมาตรการลงโทษผู้ขายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมแนะนำให้ดำเนินการขอเงินคืนทั้งหมด ส่วนการเรียกค่าเสียหายหรือขอให้ส่งของมาให้ตามที่ซื้อ จะต้องแจ้งให้ผู้ขายหรือเว็บไซต์รับผิดชอบ แต่หากยังปฏิเสธหรือเพิกเฉย สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือบังคับให้ส่งสินค้าตามสัญญาได้ทั้งนี้หลังการดำเนินการข้างต้นและผู้ร้องได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็พบว่าทางเว็บไซต์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ ด้วยการคืนเงินทั้งหมดพร้อมคูปองลดราคาสินค้าอื่นๆ และลงโทษผู้ขายตามข้อกำหนดของบริษัท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 เครื่องสำอางราคาไม่เหมาะสม

เครื่องสำอางกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากดูดี ดังนั้นต่อให้เครื่องสำอางราคาแพงแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนก็ยอมที่จะซื้อมาใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องสำอางบางยี่ห้อ กลับคิดราคาตามใจชอบ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้คุณปราณีไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านรังสิต และถูกชักชวนจากพนักงานขายเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดีมาเชิญชวนให้เข้ามาทดลองสินค้า ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ต้องการซื้อเครื่องสำอางดังกล่าว แต่พนักงานเหล่านั้นก็หว่านล้อมต้อนหน้าหลัง จนทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปทดลองสินค้าในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองสินค้าหลายชนิดที่พนักงานนำมาทดสอบให้ดู เธอก็มีความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสอบถามราคากลับต้องตกใจ เพราะเครื่องสำอางแต่ละชิ้นราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวเมื่อพนักงานเห็นว่าคุณปราณีมีท่าทางตกใจในราคาก็พากันเสนอโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่พนักงานก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการขาย ด้วยการเสนอราคาโปรโมชั่นสุดร้อนแรงลดกระหน่ำไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ คุณปราณีก็เริ่มลังเลใจและเกรงใจพนักงาน จนทำให้ตกลงซื้อสินค้ามาทั้งหมด 7 ชิ้น รวมเป็นเงินกว่า 100,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อเธอกลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ก็พบว่า มีคนรีวิวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้าในด้านบวกไว้มากมาย แต่หลายคนก็ไม่พอใจกับราคาสินค้า เพราะนอกจากจะแพงมากแล้ว ยังเสนอขายในราคาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่หน้าร้านไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นที่เห็นได้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่จะถูกเชิญชวนเพราะบอกว่าเป็นโปรโมชั่นลับเฉพาะสำหรับพนักงาน และเสนอให้กับผู้ซื้อเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังการใช้สินค้าคุณปราณีพบว่ามีอาการผื่นคัน จึงไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มา เพื่อนำไปแจ้งยังบริษัทฯ เพื่อขอให้คืนเงิน แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ใบรับรองแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเธอแพ้ครีมของบริษัท จึงไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดสินค้าทั้งหมด ภาพถ่ายสินค้า ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์มาให้เพิ่มเติม และช่วยทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบราคา รวมทั้งส่งสินค้าทดสอบสารประกอบ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลจะเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับใครที่พบเห็นสินค้ามีราคาไม่เหมาะสม ควรถ่ายรูปป้ายราคาสินค้าที่หน้าร้านเก็บไว้ หรือหากซื้อสินค้ามาแล้วก็ควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ก่อน และโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายในเบอร์ 1569 นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยพิจารณาจากปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการทาทิ้งไว้ในบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเครื่องสำอางที่แสดงรายละเอียด ดังนี้1.มีเลขที่จดแจ้ง10หลักซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย.หรือ ค้นหาที่นี่ เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย นอกจากนี้เลขที่จดแจ้งยังมีไว้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดความผิดปกติกับผิวหนัง ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งหรือตามตัวผู้ผลิตได้  2. มีฉลากภาษาไทยที่อย่างน้อยแสดงข้อความต่อไปนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 โฮมสเตย์ไม่คืนเงินค่ามัดจำ

ปัจจุบันการจองที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มักให้ลูกค้าโอนเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่งมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากลูกค้าเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้าพักตามที่ตกลงกันไว้ คู่สัญญาก็มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามการริบค่ามัดจำ ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการร้องเรียน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติสนใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์ชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงโทรศัพท์ไปสอบถามอัตราค่าห้องพัก ซึ่งทางโฮมสเตย์ได้แจ้งมาว่าห้องละ 600 บาท/คืน ด้านคุณสุชาติต้องนำข้อมูลไปพิจารณาก่อน จึงยังไม่ได้ตอบตกลงในวันนั้น อย่างไรก็ตามภายหลังเขาก็ตัดสินใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้ จึงโทรศัพท์กลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันการจองห้องพัก แต่กลับพบว่าราคาห้องไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ตอนแรก เนื่องจากพนักงานคนเดิมแจ้งว่าเธอได้บอกราคาผิด ซึ่งจริงๆ แล้วห้องพักราคา 800 บาท/คืน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบก็จะลดราคาให้เหลือห้องละ 700 บาท/คืน ซึ่งคุณสุชาติเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตอบตกลงและจองห้องพักไปทั้งหมด 5 ห้อง พร้อมโอนเงินค่ามัดจำจำนวน 3,500 บาทไปให้ เนื่องจากทางโฮมสเตย์กำหนดให้ลูกค้าที่จองห้องพักต้องวางเงินมัดจำเต็มจำนวน ต่อมาภายหลังคุณสุชาติพบว่า เขาถูกยกเลิกกำหนดการที่จะต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดดังกล่าวกะทันหัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักที่โฮมสเตย์นั้นอีกต่อไป จึงโทรศัพท์แจ้งไปยังโฮมสเตย์เพื่อขอให้คืนเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขาโทรศัพท์กลับไปเหลือเวลาอีก 25 วัน ก่อนจะถึงกำหนดวันเข้าพักที่จองไว้ อย่างไรก็ตามทางโฮมสเตย์ได้ปฏิเสธการคืนเงินมัดจำทุกกรณี แต่เสนอทางเลือกมาว่าจะขยายเวลาเข้าพักให้ โดยคุณสุชาติจะเข้ามาพักเองหรือให้ผู้อื่นมาแทนก็ได้ ด้านคุณสุชาติเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า โดยปกติเงินมัดจำเป็นเงินที่จ่ายไว้กับคู่สัญญาเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะทำตามสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องผิดสัญญาไม่เข้าพักทางโฮมสเตย์ก็จะสามารถริบเงินมัดจำได้ทันที แต่การเก็บเงินมัดจำเต็มจำนวนราคาห้องพัก ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ควรลดลงได้เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์ฯ จะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์นี้ผู้ร้องได้ไปดำเนินการเจรจาต่อเองที่ สคบ. และได้ผลสรุปว่าทางโฮมสเตย์จะคืนเงินค่ามัดจำให้ในอัตราร้อยละ 50 ของทั้งหมด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เอาอะไหล่เดิมคืนมา

คงไม่มีใครคาดคิดว่าการนำรถยนต์จอดทิ้งไว้ที่ศูนย์บริการเพื่อซ่อมแซมแล้วจะโดนเปลี่ยนอะไหล่ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราควรจัดการปัญหานี้อย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจนำรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบสภาพรถและทำสีใหม่ โดยก่อนตกลงซ่อมได้มีการถ่ายรูปรอยขีดข่วนรอบคันไว้ด้วย พร้อมทำใบประเมินราคาส่งให้กับประกันภัย และทางศูนย์ฯ ได้นัดให้มาทำสีรถในสัปดาห์ถัดไป เมื่อถึงวันนัด ศูนย์ฯ แจ้งว่าสัปดาห์นี้คนคุมราคายังไม่เข้ามาทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำสีรถในวันที่นัดกันไว้ได้ และบอกต่อว่า “หากคุณสมใจไม่ได้ใช้รถในช่วงนี้ก็สามารถจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์ฯ ก่อนได้ น่าจะได้ทำสีภายในอาทิตย์ถัดไป” ด้านคุณสมใจเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงตกลงตามข้อเสนอดังกล่าวเมื่อถึงวันนัดครั้งที่ 2 หลังคุณสมใจได้พูดคุยกับฝ่ายประเมินราคาแล้วพบว่า เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมและทำสีจำนวนมาก ทำให้เธอตัดสินใจยกเลิกการซ่อมทั้งหมดและขอรับรถคืน อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณสมใจสังเกตว่าพวงมาลัยรถไม่เหมือนเดิม และเมื่อตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าถูกเปลี่ยนหลายรายการ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ศูนย์ฯ ว่ามีการเปลี่ยนอะไหล่ให้กับรถเธอหรือไม่ แต่ได้รับการปฏิเสธและเกิดการโต้เถียงกัน เนื่องจากเธอไม่เชื่อว่าอุปกรณ์ทั้งหมดคืออะไหล่เดิม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมใจจึงไปแจ้งความ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารการตรวจสภาพรถตั้งแต่ครั้งแรกที่นำรถเข้าศูนย์ฯ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือมีความเสียหายใดเกิดขึ้นหรือไม่ พร้อมนัดให้มีการพูดคุยเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทเองโดยตรง โดยบริษัทปฏิเสธการเจรจา เพียงแค่ส่งเอกสารการตรวจสอบรถยนต์คันกล่าวมาให้ โดยยืนยันว่าหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีรหัสตรงกัน และชี้แจงว่าบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าวจริง ไม่มีการสับเปลี่ยนอะไหล่ตามที่ผู้ร้องแจ้งแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังการฟ้องร้องคดีก็พบว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการสับเปลี่ยนอะไหล่จริงสำหรับผู้ที่กำลังจะนำรถเข้าศูนย์ฯ ซ่อมหรือตรวจสภาพ ควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เช่น ใบรับรถ ระยะไมล์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ดี ซึ่งอาจถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ได้ ทั้งนี้หากพบว่าศูนย์ฯ ไม่สามารถตรวจสอบหรือซ่อมภายในระยะเวลาที่เราต้องการได้ เราสามารถเลือกไปศูนย์บริการอื่นแทนได้ทันที นอกจากนี้หากซ่อมเสร็จแล้วควรตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อนออกจากศูนย์บริการแห่งนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ขายหวยชุดเกินราคา

แม้รัฐบาล คสช. จะประกาศห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด คือ คู่ละ 80 บาท แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังพบปัญหาราคาสลากกินแบ่งแพงอยู่ดี โดยพ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายมีการจำหน่ายหวยชุด หรือสลากกินแบ่งที่มีตัวเลขเดียวกันจำนวน 5 -10 ใบ แล้วนำไปบวกราคาเพิ่มอีก 50 – 200 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเลือกซื้อหวยชุดจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี เมื่อสอบถามราคาก็พบว่าจำหน่ายอยู่ที่ชุดละ 450 บาท โดยมีสลากกินแบ่งทั้งหมด 5 ใบ ซึ่งเมื่อคิดราคาต่อฉบับแล้วอยู่ที่ 90 บาท เธอจึงลองไปดูร้านอื่น ก็พบว่าทุกร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งชนิดดังกล่าวในราคาพอๆ กัน โดยราคาสลากในชุดจะมีตั้งแต่คู่ละหรือใบละ 90 -120 บาท ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดหวยชุดจึงต้องขายราคาสูงกว่าปกติ และเมื่อสอบถามคนขายก็ได้รับคำตอบแค่ว่า เจ้าอื่นก็ขายราคานี้กันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้คุณสมพรจึงรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กฎหมายกำหนด เพราะตามมาตรา 39 ของคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาคู่ละ 80 บาทเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าผู้ใดเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศูนย์ฯ จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าดังกล่าว ภายหลังกองสลากได้รับเรื่องก็ประสานงานให้กองสลากประจำพื้นที่อุบลราชธานีเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งได้แจ้งกลับมาว่าไม่พบการจำหน่ายสลากเกินราคาตามที่ผู้ร้องแจ้งมา อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องพบเห็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาอีก สามารถร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานกองสลากในพื้นที่ๆ อาศัยอยู่ หรือโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์เบอร์ 02-345-1466 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเดินทางหรือส่งจดหมายไปร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล: 359 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 เบอร์โทรศัพท์ 02-528-8888 หรือโทรสาร 02-528-9228

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ป้ายลดราคาปิดทับวันหมดอายุ

ความคุ้มค่าของสินค้าลดราคา สามารถวัดได้จากสินค้าที่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะหากเราได้สินค้าที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปแล้วก็ไม่ต่างจากการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่ไหวตัวทันก่อนเสียรู้ได้ของหมดอายุที่นำมาลดราคาคุณสมศักดิ์ต้องการซื้อไข่ไก่สดจากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งมีโปรโมชั่นลดราคาจาก 89 บาท เหลือ 44.50 บาท อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจซื้อเขาได้พยายามหา ว/ด/ป หมดอายุที่ต้องระบุไว้ข้างกล่อง แต่ก็ไม่พบรายละเอียดดังกล่าว เขาจึงลองแกะป้ายลดราคาออกดูและพบว่าป้ายลดราคาได้ปิดทับวันหมดอายุไว้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบจึงทราบว่าไข่ไก่ดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 2 วันก่อน และเมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีการติดป้ายราคาทับวันหมดอายุในลักษณะเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงถ่ายรูปรายละเอียดต่างๆ เก็บไว้เป็นหลักฐาน และเขียนเล่าเหตุการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยทำข่าวและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำข่าวดังกล่าว และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org) พร้อมแนะนำว่าหากผู้ร้องต้องการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวก็สามารถทำได้ เนื่องจากการที่ห้างสรรพสินค้ามีการแสดงป้ายราคา โดยปิดทับวันเดือนที่ผลิตหรือหมดอายุ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด อาจเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 343 โดยมีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการแจ้งความใดๆ เพียงแต่ต้องการแจ้งข่าวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเตือนให้ผู้บริโภคคนอื่นมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 กระแสต่างแดน

Shonky 2016ได้เวลาประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี 2016 โดย CHOICE นิตยสารผู้บริโภคของออสเตรเลียกันแล้ว มาดูกันว่ามีใครติดบัญชีดำบ้าง• นม Camel Milk Victoria ติดโผเพราะคำกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง(และผิดกฎหมาย) คนออสซี่กัดฟันซื้อนมยี่ห้อนี้ในราคาลิตรละ 21 เหรียญ(ประมาณ 560 บาท) เพราะเป็นนมที่เชฟชื่อดังและรายการ Master Chef แนะนำ ... ใครจะไม่อยากจ่ายเพิ่มให้กับนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมชนิดอื่นๆ ดื่มแล้วระบบภูมิคุ้มกันจะแข็งแรงขึ้น และยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน วัณโรค ฯลฯ• มันฝรั่งทอดพริงเกิลส์ Pringles ที่ “ลดราคา” ลงเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ CHOICE พบว่าความจริงแล้วน้าหนวดเขาขึ้นราคาจากเดิมร้อยละ 9 ด้วยวิธีลดขนาดกระป๋องและขนาดชิ้นมันฝรั่งลง แต่ก็ชดเชยด้วยการเพิ่มปริมาณไขมันอิ่มตัวให้ถึงร้อยละ 60 เชียวนะ น้าหนวดบอกว่าไม่ได้ขึ้นราคามา 4 ปีแล้ว ... แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคของขนมขบเคี้ยวและขนมหวานเขาเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 1.3 เองนะคุณน้า• เครื่องดื่มไมโล ที่ประทับตราความเป็นมิตรต่อสุขภาพ (Healthy Star Rating) ไว้ที่ 4.5 ดาวโดยใช้การคำนวณแบบสุดล้ำในสามโลก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบร้อยละ 46 ได้คะแนนดีขนาดนั้นได้อย่างไร เนสเล่เขาคำนวณจากการชงไมโลด้วยนมพร่องมันเนยยังไงล่ะ ความจริงแล้วมีเพียงร้อยละ 13 ของผู้บริโภคออสซี่ที่ใช้นมพร่องมันเนยชงไมโล ร้อยละ 55 นิยมชงกับนมสดธรรมดา ซึ่งเครื่องดื่มที่เตรียมแบบนี้จะได้เรตแค่ 2.5 ดาวเท่านั้น• Samsung Note 7 ... ซึ่งทุกท่านคงทราบว่าบริษัทได้ประกาศหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ได้ปล่อยสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวลงตลาดออสเตรเลียไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 เครื่อง ปีที่แล้วซัมซุงก็ประกาศเรียกคืนเครื่องซักผ้าฝาบนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ไปกว่า 144,000 เครื่องด้วยเช่นกัน หลังจากพยายามปกปิดปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นหลายครั้ง• บัตรเครดิต American Express โฆษณาว่าไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ CHOICE ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ร้านค้าจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทบัตรเครดิตเสมอ และ Amex ก็เป็นเจ้าที่คิดค่าธรรมเนียมสูงกว่า Master หรือ VISA ถึงสองเท่าด้วย ถ้าร้านไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ซื้อได้เขาก็อาจจะเพิ่มราคาสินค้าในร้าน คราวนี้ก็ซื้อของแพงขึ้นกันหมดทั้งลูกค้าที่จ่ายเงินสดและที่ใช้บัตรเครดิตเจ้าอื่น• เว็บไซต์ www.commoncents.com.au ของบริษัทรับจำนำ Cash Converters ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเงินและการออม ได้รางวัลนักบุญจอมปลอมจาก CHOICE ไปเลย เพราะนอกจาก “คำแนะนำดีๆ เรื่องการใช้เงิน” แล้วคุณยังจะได้เป็นลูกหนี้ของ Cash Converters ด้วยค่าแรกเข้าร้อยละ 20 บวกค่าธรรมเนียมร้อยละ 4 ต่อเดือน เอาเป็นว่าถ้ากู้เขามา 2,000 เหรียญ เป็นเวลา 1 ปี คุณต้องจ่ายคืนถึง 3,360 เหรียญ เท่ากับคุณจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 68 … คุณพระ!• อากาศอัดกระป๋อง Green and Clean ที่เจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กังวลเรื่องมลพิษในอากาศ อากาศบริสุทธิ์ในกระป๋องนี้ขายในราคาโหลละ 246 เหรียญ (ประมาณ 6,600 บาท) แต่เราต้องสูดอากาศที่ว่านี้มากแค่ไหน คนทั่วไปในขณะพักจะต้องการอากาศประมาณ 5 ถึง 8 ลิตร ต่อนาที แล้วอากาศอัดแค่หนึ่งกระป๋องจะช่วยอะไรได้ ... โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่หายใจวันละ 20,160 ครั้ง ลองคิดเล่นๆ หากหนึ่งกระป๋องใช้ได้ 255 ลมหายใจ (ตามโฆษณา) เราจะต้องใช้กี่กระป๋อง ... ผลลัพธ์อาจทำให้คุณหายใจไม่ออก• The Medical Weightloss Institute ขายฝัน เอ้ย! ขายโปรแกรมที่อ้างว่าช่วยให้ลดน้ำหนักได้โดยไม่ต้องออกกำลังกาย “สถาบัน” นี้ใช้วิธีตรวจเลือดก่อนการรักษาด้วยฮอร์โมนและการควบคุมอาหาร และเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ลูกค้ารายหนึ่งลดน้ำหนักไป 2 กิโลกรัมในเดือนแรก เธอจ่ายไป 4,400 เหรียญ (โปรโมชั่นลด 50%) สำหรับยาที่ทานแล้วคลื่นไส้ การให้คำปรึกษาสัปดาห์ละครั้ง และเมนูอาหาร 2 หน้ากระดาษอีก รวมจ่ายไป 5,420 เหรียญสำหรับโปรแกรม 35 สัปดาห์ แต่เมื่อเธอขอพบแพทย์เพราะทานยาแล้วคลื่นไส้ สถาบันบอกให้เธอไปพบแพทย์ประจำของเธอเอง ... ใกล้ชิดจริงๆ• ผลิตภัณฑ์ Vanish Preen Powerpowder ประกาศตนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะปฏิวัติการทำความสะอาดพรมด้วยความสามารถในการกำจัดคราบที่ดีขึ้นถึง 5 เท่า แต่การทดสอบของ CHOICE พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ราคาขวดละ 14.70 เหรียญ (395 บาท) กลับมีประสิทธิภาพในการกำจัดคราบจากไวน์ น้ำมัน ดิน ซอส และกาแฟ น้อยกว่าน้ำเปล่าด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 โปรแกรมไหนให้ความมั่นใจคุณได้มากกว่า

กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบโปรแกรมรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท จากองค์กรทดสอบสากล (ICRT) เจ้าเก่าที่เราเป็นสมาชิกอยู่ การทดสอบครั้งนี้มีโปรแกรม (เวอร์ชั่นปี 2009) ทั้งหมด 15 โปรแกรมด้วยกัน ที่มีราคาตั้งแต่ 1,300 ถึง 3,400 บาท ประเด็นทดสอบ1. ประสิทธิภาพในการป้องกันการถูกเจาะข้อมูล (Firewall)2. ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสและสปายแวร์ 3. ความสะดวกในการลงโปรแกรม 4. ความสะดวกในการใช้งาน   ข้อสรุปจากการทดสอบ- เรายังไม่พบว่ามีโปรแกรมใดได้ 5 ดาว ในทุกๆหัวข้อที่ทดสอบ- ยกเว้นในเรื่องของ การป้องกันการถูกเจาะข้อมูลที่ที่ได้ 5 ดาว ไป 2 โปรแกรมคือ Gdata และ Bitdefender- 5 อันดับแรกของโปรแกรมที่ได้คะแนนสูงสุดได้แก่ Gdata Bitdefender Kaspersky Avira และ F-secure สำหรับคะแนนโดยละเอียดในแต่ละด้าน สามารถดูได้จากตารางต่อไปนี้ โปรแกรม เวอร์ชั่น คะแนนรวม ป้องกันการถูกเจาะข้อมูล (Firewall) การป้องกันไวรัสและสปายแวร์ ความสะดวกในการลงโปรแกรม ความสะดวกในการใช้งาน ราคา*   Gdata Internet Security 2009 4 5 4 4 4 1,600 Bitdefender Internet Security 2009 4 5 3 4 4 1,300 Kaspersky Internet Security 2009 4 4 3 4 4 2,200 Avira Premium Security Suite 4 4 3 3 4 1,800 F-secure Internet Security 2009 4 3 3 4 4 3,200 McAfee Internet Security Suite with Site Advisor 2009 3 4 3 4 4 2,900 Panda Internet Security 2009 3 4 3 4 4 3,200 Bullguard Internet Security 8.5 3 4 3 3 4 2,500 Symantec Norton Internet Security 2009 3 3 3 3 4 3,400 Checkpoint ZoneAlarm Internet Security Suite 2009 3 3 3 4 4 1,700 Trend micro Internet Security 2009 3 4 2 4 4 2,900 Agnitum Outpost Security Suite Pro 2009 3 5 2 4 4 2,700 Avg Technologies Security Suite 3 4 2 4 4 2,300 Steganos Internet Security 2009 3 4 2 4 4 1,700 CA Internet Security Suite Plus 2009 2 3 2 4 3 2,800 หมายเหตุ ราคาที่แจ้งนั้นเป็นราคาที่สำรวจจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจซื้อ สมาชิกควรตรวจสอบราคาอีกครั้งหนึ่ง และอย่าลืมสอบถามผู้ขายด้วยว่าเราสามารถนำไปลงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้กี่เครื่อง (บางเจ้าอาจให้ลงได้ถึง 5 เครื่อง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 144 Skyscanner บินลัดฟ้าข้ามหาราคาที่พึงพอใจ

  ฉบับนี้มาบินลัดฟ้าท่องเที่ยวกันทั่วโลกดีกว่าค่ะ ใครที่ชอบเดินทางไปโน่นมานี่ โดยใช้บริการเครื่องบินโดยสารสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมของบริษัท ติดต่อธุรกิจ แม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ไม่มากก็น้อยที่เคยใช้บริการซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์  เพราะสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคา และเลือกเวลาการเดินทางได้ด้วยตนเอง   ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านที่ชอบใช้บริการบนเว็บไซต์ ลองเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่น Skyscanner บนโซเชียลมีเดียกันดูบ้าง เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชั่นลงบนมือถือ ที่รองรับได้หลากหลายประเภท ได้แก่ ไอโฟน(iphone) ไอแพด(ipad)  แอนดรอยด์ (Android)  แบล็คเบอร์รี่ (Blackberry) นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นสำหรับวินโดวส์ (Windows 8) ที่ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดมาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ได้เลย หรือถ้าไม่ถนัดแอพพลิเคชั่น ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่ http://th.skyscanner.com  ในเวอร์ชั่นภาษาไทย   แอพพลิเคชั่นนี้ มีประโยชน์ในการใช้ค้นหาและเปรียบเทียบตั๋วเครื่องบินจากสายการบินทั่วโลก ที่มีมากกว่า 1,000 สายการบิน  รองรับภาษาต่างๆ ได้ถึง 28 ภาษา และสามารถเปลี่ยนสกุลเงินได้กว่า 61 สกุลเงิน ซึ่งช่วยให้นักเดินทางสะดวกและรวดเร็ว โดยสามารถระบุวันที่ที่ต้องการเดินทาง ประเภทที่นั่ง เมืองหรือประเทศที่ต้องการเดินทางไป   โปรแกรมจะช่วยประมวลผลราคาและช่วงเวลาในการเดินทางของสายการบินต่างๆ จากนั้นราคาทั้งหมดที่ใช้ในการเดินทางก็จะถูกสรุปออกมาพร้อมกับสายการบินต่างๆ  เพื่อให้เลือกได้ตามความพึงพอใจ เมื่อได้สายการบิน ราคา ช่วงเวลาเดินทางที่ต้องการทั้งหมดแล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะส่งต่อหน้าเว็บไปยังเว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ หรือเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินได้โดยตรง ตามราคาที่แจ้งมานั้น โดยที่ไม่ต้องเสียค่าบริการผ่าน Skyscanner แต่อย่างใด หรือถ้ายังไม่แน่ใจ คลิกที่ปุ่ม Call โทรหาสายการบินนั้นได้ทันที   แต่ถ้าผู้อ่านยังไม่รู้จุดหมายปลายทางที่แน่ชัด ก็สามารถค้นหาเมืองในประเทศต่างๆ ว่ามีที่ใดบ้าง ในราคาตั๋วเครื่องบินเท่าไร ได้ที่ปุ่ม Explore  และทำขั้นตอนเพื่อใช้บริการตามเดิม หลังจากเลือกตั๋วเครื่องบินที่ต้องการได้แล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะเก็บข้อมูลการค้นหาไว้ เพื่อสะดวกในการเรียกใช้ในครั้งต่อไป นอกจากค้นหาตั๋วเครื่องบินแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้ยังช่วยค้นหาโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล ที่พักต่างๆ รถเช่า ได้อีกด้วย และถ้าต้องการแบ่งปันรายละเอียดเที่ยวบินที่น่าสนใจให้กับเพื่อน ขวามือด้านบน จะมีปุ่มเพื่อแบ่งปันข้อมูลไปยัง E-Mail  Facebook หรือ Twitter ได้เลย   Skyscanner ใช้งานฟรีค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 Price Grab เปรียบเทียบความคุ้มค่าสินค้า ใน App Box

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้  A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา  Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้  Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย  pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 25545 กันยายน 2554สินค้าลดราคาช่วยเหลือผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการ ปรับลดราคาสินค้า 5 ประเภท รับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสินค้าทั้ง 5 รายการประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ลดราคาถุง (50 กก.) ละ 5-10 บาท จากราคาปัจจุบัน 135-140 บาท กระเบื้องมุงหลังคา ลดลงแผ่นละ 5 บาท จากราคา 36-40 บาท ปุ๋ยเคมี ลดลงถุงละ 5-8 บาท จากราคา 905-1,010 บาท เครื่องปั๊มน้ำ ลดลงเครื่องละ 100-200 บาท จากราคา 4,590 บาท และแป้งสาลี ลดลงถุงละ 10 บาท จากราคา 477-698 บาท  นอกจากนี้กระทรวงจะพิจารณาปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดูตามราคาทุนหากมีการปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่ยังไม่สามารถลดราคาได้ทันที ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะตรึงราคาจำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี ได้แก่ หมวดของใช้ประจำวัน เช่น ผงชักฟอก สบู่ ยาสีฟัน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้น-------------   14 กันยายน 2554  แปรงสีฟัน เลือกไม่ดีอาจมีเสี่ยง เมื่อการแปรงฟันอาจเป็นฝันร้าย เพราะอันตรายจากแปรงสีฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยผลสำรวจแปรงสีฟันที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ พบว่าด้อยคุณภาพถึง 61% ซึ่งมีปัญหาขนแปรงแข็งเกินไป หัวแปรงใหญ่และขนหลุดง่าย แถมยังพบสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ที่บริเวณด้ามแปรง และหัวแปรง ซึ่งถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่พบเฉพาะในแปรงสีฟันที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น   สคบ. จึงได้ประกาศให้แปรงสีฟันจำนวน 83 ยี่ห้อ 229 รุ่น เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุลักษณะของขนแปรง ชนิดของขนแปรง วัสดุที่ใช้ผลิตด้ามแปรง และวิธีใช้ ถ้าเป็นแปรงสีฟันนำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย สำหรับวิธีการเลือกซื้อแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนาดพอดีกับช่องปากของเรา หัวแปรงต้องไม่มีลักษณะทรงแหลมหรือมีความคม ด้ามแปรงก็ต้องไม่สั้นเกินไป ขนแปรงต้องทำจากเส้นใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เป็นเส้นกลม หรือรี ขนตั้งตรง ผิวเรียบ ปลายมน ไม่มีขอบคม หรือขรุขระ ที่สำคัญคือควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และผู้บริโภคควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุกๆ 3 เดือน------------     16 กันยายน 2554ห้ามตัดสัญญาณมือถือเติมเงิน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเตรียมเฮ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามตัดสัญญาณคนใช้มือถือแบบเติมเงินที่ไม่ได้เติมเงินในเวลาที่กำหนด หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งเสียเวลาในการพิจารณาไปกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งมาถึงผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนให้กับค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการระงับการใช้มือถือแบบเติมเงิน สิทธิในเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นของผู้ใช้  ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการพิจารณามาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติของทั้งผู้ให้บริการ และให้ผู้บริโภคได้รู้สิทธิของตัวเอง ----------  เฝ้าระวังความปลอดภัย “ของกิน – ของเล่นหน้าโรงเรียน” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝากข้อความร่วมมือจากครู – อาจารย์ ตามโรงเรียนต่างๆ  ไปจนถึงพ่อ – แม่ ผู้ปกครอง ตรวจตราดูอาหารและของเล่นที่ไม่ได้มาตราฐานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน เพราะอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน  อย. ได้ฝากเตือนว่า อาหารที่ขายให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพวกของทอดหรือปิ้งย่าง ถ้าเป็นขนมก็เป็นพวกขนมกรุบกรอบหรือไม่ก็ขนมที่มีสีสันน่าสงสัย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนของเล่นที่ขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนนั้น แนะนำให้สังเกตสัญลักษณ์ของ สมอ. เพื่อความปลอดภัย และให้ระวังของเล่นต้องห้าม ทั้ง ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตัวดูดน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่อันตรายมากหากหลุดเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าใครพบเจอของเล่นต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ที่เบอร์ 1166 ----------------------------------     รถตู้โฟตอนไม่ได้คุณภาพ เสียทั้งค่าเช่าจ่ายทั้งค่าซ่อมสมาชิกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อโฟตอนจาก บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลล์ จำกัด ซึ่งรถตู้ยี่ห้อดังกล่าวเป็นรถด้อยคุณภาพ ต้องนำรถไปซ่อมแซมหลายครั้ง ไม่สามารถนำรถยนต์มาประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ซื้อรถต้องแบกรับภาระทั้งค่าเช่าซื้อและค่าซ่อมแซม กลายเป็นหนี้ค้างชำระกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องถูกยึดรถยนต์และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่อศาล รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท   โดยที่บริษัทยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นายทรงผล พ่วงทอง ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า การที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ อยากขอให้รัฐมนตรี ช่วยดำเนินการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >