ฉบับที่ 187 รู้เท่าทันสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

มีการโฆษณาสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวานหรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดจำนวนมากในเว็บไซต์ต่างๆ  บางรายโฆษณาการได้ขึ้นทะเบียน อย.  บางรายโฆษณาว่าสมุนไพรนั้นปลูกแบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ  บางยี่ห้อก็ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว โดยจับเอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลมาใส่รวมกัน  เมื่อผู้อ่านไปค้นข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวก็จะพบว่าลดน้ำตาลได้  จึงเชื่อว่าสมุนไพรยี่ห้อนั้นมีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้จริง  เรามารู้เท่าทันสมุนไพลดน้ำตาลกันเถอะการขึ้นทะเบียนอย. ถ้ามีการอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนอย.  ขอให้เราอ่านให้ละเอียดว่าขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือไม่  หรือเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันนั้น ต้องมีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ มีการวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ ว่ามีประสิทธิผลจริงๆ  จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้  นอกจากนี้การสั่งจ่ายยานั้นต้องสั่งโดยแพทย์หรือไม่  เพราะยารักษาโรคเรื้อรังนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ใช่ซื้อได้ทั่วไป ยกเว้นเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้นยาสมุนไพรลดน้ำตาลยี่ห้อต่างๆ มักจะมีสัญลักษณ์ของอย.  แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดว่าขึ้นทะเบียนยาอะไร มีเลขทะเบียนยาอะไร  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยา เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น  แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นจะโฆษณาเป็นยารักษาโรค  ซึ่งตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 นั้น ไม่สามารถโฆษณายาทางสื่อสาธารณะ หรือโอ้อวดสรรพคุณยาการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นหลักประกันว่าสมุนไพรนั้นไม่มีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี  ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า สมุนไพรยี่ห้อนั้นสามารถรักษาเบาหวานได้ ค้นคว้าข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัว เราควรค้นหาข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไร  ข้อมูลที่ค้นง่ายและน่าเชื่อถือคือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพราะจะกระชับ เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ  เราอาจค้นเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นอบเชย มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สรุป อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอผักเชียงดา มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่ระบุว่าผักเชียงดาและสารสกัดจากผักเชียงดา มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาในคนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวโดยสรุปแล้ว เราต้องรู้ให้ทันกับการโฆษณาสมุนไพรลดน้ำตาลและลดเงินในกระเป๋าของเราว่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลเพียงพอหรือยัง  เพื่อที่เราจะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและได้ผล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ไม่พอใจหลังเซ็นสัญญา

สิ่งสำคัญก่อนตกลงเซ็นชื่อลงในสัญญาใดๆ คือ เราต้องรู้และเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของสัญญานั้น เพราะบางทีคู่สัญญาของเราก็ไม่ได้บอกทุกรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับเรา และอาจทำให้เรารู้สึกภายหลังว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม หรือรู้อย่างนี้ไม่เซ็นชื่อไปก็ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมศรีได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการนวดแผนไทย โดยศูนย์บริการนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่าช่วยรักษาโรคให้ดีขึ้นได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดต่างๆ แต่ศูนย์บริการแนะนำว่าให้มาตรวจอาการดูก่อน จึงสามารถวินิจฉัยการรักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เธอและคุณแม่เดินทางไปที่ศูนย์ดังกล่าว ภายหลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ แพทย์ก็แจ้งว่าเธอควรรักษาอาการเข่าเสื่อม บ่าแข็งและตะคริว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่านี้ ส่วนคุณแม่ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็ควรทำการรักษาด้วยการนวดบำบัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิการได้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นคอร์สรักษา 10 ครั้ง 65,000 บาท โดยแบ่งจ่ายล่วงหน้า 55,000 บาทก่อนได้ หลังได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว คุณสมศรีก็ตัดสินใจตกลงเข้ารับบริการ และทำการรักษาในครั้งแรก ซึ่งเมื่อรักษาเสร็จพนักงานก็นำเอกสารมาให้เซ็นเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเป็นส่วนของการรับทราบผลการรักษา และยอดค้างชำระ อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าพนักงานเร่งรัดให้เธอรีบเซ็นชื่อและไม่ให้ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งไม่ให้สำเนาของเอกสารดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงเอกสารที่ได้เซ็นชื่อไป โดยขอให้พนักงานถ่ายรูปข้อความในเอกสารส่งมาให้ดู และเมื่อได้อ่านเอกสารดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าข้อสัญญาเอาเปรียบมากเกินไป เช่น หากทำผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญา นอกจากนี้ยังตะหนักว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นที่เคยใช้บริการมา เธอจึงต้องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยผู้ร้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา และสอบถามถึงข้อเท็จจริงก่อนการตกลงทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งพบว่าผู้ร้องรับทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อนเซ็นชื่อแล้ว เช่น ราคาหรือจำนวนครั้งที่สามารถใช้บริการได้ เพียงแต่เธอไม่พอใจที่พนักงานเร่งรัดให้เซ็นเอกสาร โดยไม่แนะนำให้อ่านรายละเอียดก่อน หรือไม่แจ้งข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่เพิ่งตระหนักได้ภายหลังว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับที่อื่นที่เคยใช้บริการมา จากกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการยกเลิกสัญญา พบว่าเป็นไปได้ยากเพราะเธอรับทราบรายละเอียดของการเข้ารับบริการและพึงพอใจก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อแล้ว ซึ่งแม้ภายหลังศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ อย่างไรก็ตามศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำให้ผู้ร้องไปเจรจาต่อรองกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ก่อน โดยหากเห็นว่าค่าบริการแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่เคยรักษาในวิธีการอย่างเดียวกันมาก็ควรขอต่อรองราคา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ทางศูนย์บริการยินยอมลดให้ 10,000 บาท และทางผู้ร้องก็พอใจและยินดีใช้บริการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของสัญญาที่ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญาหากทำผิดสัญญานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้บริการจะถูกฟ้องร้อง หากทำผิดข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ แต่หากถูกฟ้องแล้วก็ต้องมาตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปจริงหรือไม่ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าเอาเปรียบเกินสมควรจริง ตามกฎหมายก็จะบังคับให้ชดใช้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หรือตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ผมร่วง: สาเหตุ วิธีป้องกันและรักษา

ท่านทราบหรือไม่ว่าเส้นผมบนหนังศีรษะของคนเราตั้งแต่งอกจากรากผมจะมีอายุอยู่บนหนังศีรษะเราได้นาน 2-3 ปี แต่ละเส้นจะงอกยาวประมาณ 1 เซ็นติเมตรต่อเดือน ประมาณ 90  % ของเส้นผมบนหนังศีรษะจะอยู่ในระยะของการเจริญเติบโต และอีก 10 %   จะอยู่ในระยะพักตัว     หลังจากพักตัวได้ 3 ถึง 4 เดือน เส้นผมที่พักตัวแล้วก็จะหลุดร่วงออกไป และเส้นผมใหม่ก็จะงอกแทนที่ ในคนที่สุขภาพปกติจะมีเส้นผมร่วงได้ประมาณวันละ 100-150 เส้น ในวันที่สระผมจะเห็นผมร่วงชัดเจน หลายๆ คนอาจมีเส้นผมร่วงมากผิดปกติจนเป็นกังวล พบทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย   อะไรคือปัจจัยร่วมที่ทำให้ผมบางและหัวล้าน? ผมบางและหัวล้านมักเป็นรูปแบบที่พบในผู้ชาย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน ผู้ชายที่มีผมร่วงผมบางตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม มักจะต้องประสพปัญหาหัวล้านในวัยชรา และยังสืบทอดจากกรรมพันธุ์อีกด้วย ผู้หญิงที่มีปัญหาผมบาง มักจะมีเส้นผมร่วงกระจายทั้งศีรษะ ส่วนในผู้ชายมักจะเห็นเป็นล้านที่หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทอย   อะไรคือสาเหตุทำให้เส้นผมร่วงมากผิดปกติ? มีหลายสาเหตุ หากเส้นผมร่วงมากผิดปกติในระยะเวลาสั้นๆ มักจะมีสาเหตุจากสุขภาพที่มีปัญหารุนแรงจากโรครุมเร้า จากโรคติดเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อราที่พบบนหนังศีรษะในเด็กจนทำให้เส้นผมร่วงมากผิดปกติ หรือคนไข้หลังจากการผ่าตัด เป็นต้น จากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเก๊า ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดันเลือด ยาแก้เครียด ยาคุมกำเนิด และวิตามิน เอ ถ้าได้รับมากเกินไปทำให้เส้นผมร่วงมากผิดปกติได้ สาเหตุจากความเครียดของปัญหาหน้าที่การทำงานหรือจากปัญหาครอบครัว สาเหตุจากการลดน้ำหนักอย่างหักโหมและรุนแรง ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม สาเหตุจากอาหารการกินที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ เช่น ไม่กินอาหารเพราะกลัวอ้วนจนผอมโซ หรือหลังการกินอาหารจะกินยาล้างท้องหรือทำให้อาเจียน มีผลทำให้เส้นผมหลุดร่วงมากผิดปกติได้ สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ผมร่วงมากหลังการคลอดบุตร โรคจากฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ที่มากเกินไปหรือต่ำเกินไปก็ทำให้เส้นผมร่วงมากผิดปกติได้เช่นกัน สาเหตุการตกแต่งทรงผมด้วยน้ำยาเคมีที่รุนแรงไม่ได้มาตรฐาน และทำซ้ำๆ บ่อยเกินไปจนหนังศีรษะอักเสบ   การแก้ปัญหาและการป้องกันผมร่วงผิดปกติ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาโรคและสุขภาพ หรือให้แพทย์ปรับเปลี่ยนยารักษาเพื่อลดอาการข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วง เมื่อหยุดรับประทานวิตามิน เอที่มากไป อาการข้างเคียงจากพิษสะสมของวิตามินจะหมดไป เส้นผมจะกลับงอกขึ้นใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องรักษา ผู้ที่ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารกลุ่มโปรตีนเพียงพอ เส้นผมจะหยุดเติบโตและหลุดร่วง ดังนั้นควรจะปรับการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ เส้นผมจะหยุดร่วงได้ การขาดธาตุเหล็กก็ทำให้เส้นผมหลุดร่วงได้เช่นกัน ธาตุเหล็กหาได้จากอาหารประเภท ถั่ว ฟักทอง ผักใบเขียว หอยแครง และเนื้อแดง เป็นต้น   เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยับยั้งผมร่วง ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยาบำรุงหรือแชมพูหยุดผมร่วง ที่มีจำหน่ายทั่วไปยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่ามีกลไกช่วยยับยั้งเส้นผมร่วงมากผิดปกติได้ ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงมากควรพิจารณาถึงต้นเหตุและพยายามแก้ที่ต้นเหตุจากที่กล่าวมาข้างต้น เช่น พบแพทย์เพื่อรักษาโรค หรือปรับเปลี่ยนการกินอาหาร เป็นต้น ส่วนผมร่วงมากที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม อาจจะเสริมแต่งทรงผมด้วยวิกผมหรือวิธีอื่นๆ ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถช่วยได้ ยาปลูกผม มีทั้งชนิดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองและไม่รับรอง ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง วิตามินเสริม เช่น ซิงค์ แคลเซียม วิตามินบี ธาตุเหล็ก วิตามินดี และไบโอติน ได้รับการยอมรับว่าดีต่อร่างกายและเส้นผม แต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับที่แน่นหนา อย่างไรก็ตามวิตามินเสริมเหล่านี้สามารถได้จากการรับประทานอาหารครบทุกหมู่ได้ เอกสารอ้างอิง 1. American Academy of Dermatology. http://www.aad.org/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 น้ำกัดเท้าและยารักษา

  โรคที่มากับมหาอุทกภัยน้ำท่วม 2554 คือโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากการเดินลุยน้ำบ่อยๆ นานๆ หรือเป็นประจำ จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ในประเทศที่เจริญแล้ว มักพบบ่อยในนักกีฬาที่สวมใส่รองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อระหว่างเล่นกีฬา จึงได้ชื่อว่า “โรคเท้านักกีฬา” (Athlete’s foot) โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าที่ชื้นแฉะมีเชื้อราสะสม เป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกับโรคขี้กลาก ซึ่งมักเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น จากการลุยน้ำท่วมขัง รองเท้าเปียก พื้นห้องอาบน้ำที่ใช้ร่วมกันหลายๆ คน และพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เมื่อเดินหรือย่ำบนพื้นดังกล่าว หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนัง และก่อโรคน้ำกัดเท้าได้ นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ง่ายจากการใช้รองเท้าร่วมกัน ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันและใช้ถุงเท้าไม่สะอาด นอกจากเท้าแล้วยังเชื้อราชนิดนี้ยังทำให้เกิดโรคได้กับผิวหนังส่วนอื่นๆ เช่น เล็บ และขาหนีบ อาการเด่นชัดที่พบ เช่น ง่ามเท้าแห้งตกสะเก็ด เป็นขุย ผิวหนังแตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บและคัน อาจมีตุ่มน้ำใสๆ ร่วมด้วย แนวทางการรักษา การใช้ยาต้านเชื้อราทาเฉพาะที่บริเวณแผล ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นตำรับในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ขี้ผิ้งวิทฟิวด์ (Whitfield ointment) มีตัวยาหลักคือ ยาต้านเชื้อราเบนโซอิคแอซิด 6% และซาลิไซลิคแอซิด 3% จะพบว่าขี้ผึ้งชนิดนี้มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงควรระวังไม่ทาผิวหนังส่วนอื่นที่บอบบาง ตำรับยาต้านเชื้อราอื่นๆ เช่น คลอไตรมาโซลหรือคีโตโคนาโซลครีมที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ราคาจะแพงกว่ามาก  ควรทำความสะอาดเท้าให้สะอาด ใช้สบู่ขัดถูตามซอกและง่ามนิ้วเท้าซึ่งมักมีเชื้อราสะสมและหมักหมมจนก่อให้เกิดโรค ต้องซับผิวหนังให้แห้งสนิทก่อนทาขี้ผึ้งบางๆลงบริเวณผิวหนังที่มีปัญหา วันละ 1-2 ครั้ง แนะนำให้ทาก่อนนอนและไม่ควรย่ำไปไหนเมื่อทายาเสร็จ ตัวยาจะได้ไม่หายหรือเลอะเลือนไปกับรองเท้าหรือพื้น   ข้อควรระวังการใช้ยา อาการคันที่เท้าจากโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรซื้อยาแก้คันที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้แผลอักเสบที่เท้ามีอาการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า - ผู้ที่ยังไม่ทันเป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรทายาต้านเชื้อรา แต่ควรป้องกันโดยการล้างเท้าให้สะอาด ซับให้แห้งสนิททันทีภายหลังจากการย่ำน้ำ และใช้แป้งฝุ่นโรยง่ามเท้าให้ทั่วเป็นการป้องกันผิวหนังไม่ให้ชื้นแฉะ และควรพยายามหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำหรือการสวมใส่รองเท้าบู้ทหรือสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าก่อนย่ำน้ำ - รองเท้าที่สวมใส่ทุกวัน ควรดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ คือต้องให้ภายในรองเท้าแห้ง ไม่อับชื้น ควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อสวมสลับกัน ซักด้านในรองเท้าให้สะอาด ปัจจุบันนี้มีสเปรย์สำหรับรองเท้าเพื่อฆ่าเชื้อโรค - ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าสาธารณะโดยไม่จำเป็น - ต้องรักษาความสะอาดถุงเท้า เมื่อเปียกต้องเปลี่ยนเสมอ -ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น ผ้าเช็ดเท้า และผ้าเช็ดตัว ควรเป็นคนละผืนกัน   เอกสารอ้างอิง1, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์: http://haamor.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 มายา ฮือฮา ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศรักษามะเร็ง ได้ถึง 12 ชนิด ต่างประเทศยอมรับแล้ว ฯลฯ” ข้อความโฆษณาสรรพคุณมหัศจรรย์ของผลิตภัณฑ์ทุเรียนเทศทำนองเหล่านี้  เรามักพบเจออยู่เสมอๆ ในงานแสดงสินค้าต่างๆ ยิ่งเป็นงานใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดมาแสดง นอกจากจะสร้างความตื่นตาแล้ว มันยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่งด้วย หันไปทางไหนก็มีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่หน่วยงานคัดสรรมาออกร้านด้วยนี่นา ทุเรียนเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังฮือฮาอย่างมาก มีการเผยแพร่สรรพคุณทางยาผ่านช่องทางต่างๆมากมาย สรรพคุณที่นำมากล่าวอ้างมีมากมาย ทั้งบำรุงหัวใจ ป้องกันความดันสูง และเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากคือกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยมีการอ้างอิงผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งบางสถาบันก็เป็นชื่อแปลกๆ ด้วยซ้ำ ล่าสุด ผมไปเดินในงานแสดงสินค้างานหนึ่ง พบว่ามีการเผยแพร่สรรพคุณของใบทุเรียนเทศว่า สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด และมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศวางจำหน่ายรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ชาชง รวมถึงแนะนำให้ใช้ชาชงใบทุเรียนเทศร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่ก่อนจะตัดสินใจเชื่อข้อมูลดังกล่าว สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคให้ตั้งสติก่อนนำมาบริโภคว่า มีงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ในใบของทุเรียนเทศมีสารแอนโนนาซิน ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อเซลล์ประสาท และหากบริโภคปริมาณมากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของไตได้ ขณะนี้สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังรวบรวมใบทุเรียนเทศ มาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการ  เพราะการจะนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยให้ปลอดภัยเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย การศึกษาวิจัยมีหลายขั้นตอน เช่น ศึกษากลไกออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง การแยกสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ ในใบทุเรียนเทศ ตลอดจนการศึกษาด้านพิษวิทยาและความปลอดภัย อันที่จริงทุเรียนเทศ ไม่ใช่ผลไม้ที่น่ารังเกียจ มันเป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานได้  มีการนำมาแปรรูปเป็นผลไม้กวน เยลลี ไอศกรีม ในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนามมีการนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ ในเม็กซิโกและโคลัมเบีย ก็เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานและใช้ทำขนมเช่นกัน  ในแง่สารอาหาร ทุเรียนเทศมีสารคาร์โบไฮเดรตมาก โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส วิตามินซี และวิตามินบี   ในผล ใบและเมล็ด พบว่ามันมีฤทธิ์ทางยา มีการใช้เป็นยาสมุนไพร  เช่น มาเลเซียใช้ผลใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร   และยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้น หากเราจะบริโภคทุเรียนเทศเป็นอาหารทั่วๆ ไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่การนำมาใช้โดยคาดหวังผลในการรักษาโรคมะเร็ง ยังไม่มีข้อมูลยืนยันและหากไม่ระมัดระวังอาจเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ตะเกียงรักษาโรค ทำอับโชคจนอาจหมดตัว

“ตะเกียงผีบ้า  ผีบอ อะไรจะมารักษาคนได้ พวกนี้หากินบนความทุกข์ของชาวบ้าน ไม่นานมันก็ฉิบหาย  เงินทองที่เสียไปไม่ได้เสียดงเสียดายมันหรอก ขอแค่ได้ลูกสาวกลับมาเป็นผู้เป็นคนเหมือนเดิมก็พอใจแล้ว” เสียงก่นด่าอย่างโกรธแค้นของของคุณลุงท่านหนึ่งในอำเภอโคกเจริญ ถูกถ่ายทอดผ่านมาทาง เภสัชกรภูริทัต ทองเพ็ชร เภสัชกรประจำโรงพยาบาลโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี “ลุกสาวลุงแกไปทำงานย่านนวนคร ระหว่างนั้นได้หลงไปเข้าไปอบรมที่บริษัทย่านพระรามเก้าเกี่ยวกับธุรกิจเครือข่ายขายตะเกียงบำบัดโรค หลังจากอบรมไม่นาน ก็กลับมาคะยั้นคะยอให้พ่อแม่เข้ารับการอบรมด้วย แต่เมื่อไม่สำเร็จ เธอกับเพื่อนก็พากันมาหาแกที่บ้าน พร้อมทั้งนำตะเกียงบำบัดโรคมาจุดให้แกและภรรยาทดลองดมควัน” “ตะเกียงนี้สามารถรักษาได้สารพัดโรค ทั้งมะเร็ง  เบาหวาน  ความดัน  โรคที่หมอโรงพยาบาลรักษาไม่หาย  ตะเกียงนี้เอาอยู่ เพื่อนลูกสาวบรรยายสรรพคุณ แต่หลังจากสูดดมควันไปชั่วครู่  ภรรยาของแกกลับเกิดอาการเวียนหัว และ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  แกจึงรีบโทรติดต่อหลานชายซึ่งเป็นตำรวจในพื้นที่ให้มาดูว่าการกระทำแบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้เพื่อนของลูกสาววิ่งหลบหนีไป ส่วนลูกสาวแกยังยืนยันที่จะเอาเงิน 2 แสนบาทจากแกเพื่อไปซื้อตะเกียงบำบัดโรค และยังจะหาสมาชิกรายอื่นมาซื้ออีก” “ลุงแกเล่าว่า ลูกสาวบอกว่าหากหาสมาชิกใหม่มาซื้อตะเกียงบำบัดโรคราคา 2 แสนบาทนี้ได้สำเร็จ  จะได้เงินส่วนแบ่งจากบริษัท  46,000 บาท  สุดท้ายแกจะได้มีรถคันใหญ่ๆ  มีบ้านหลังใหญ่ๆ  ให้พ่อแม่ ได้อยู่อย่างสบาย” “สุดท้ายลูกสาวแกก็แอบขโมยโฉนดที่ดิน 1 ไร่ ไปขายและจำนอง ได้เงินมาประมาณ 2 แสนกว่าบาทและได้ให้บริษัทไปทั้งหมด แต่ผลที่ได้กลับได้ความสูญเสียตอบแทนกลับมา  ต้องคอยวิ่งหลอกผู้คนให้ซื้อตะเกียงบำบัดโรค  ไม่มีแม้เงินที่จะกินข้าว  ลูกสาวแกทนอยู่ในวังวนแชร์ตะเกียง อยู่ 6 เดือน ในที่สุดจึงตัดสินใจออกจากวังวนที่เลวร้ายนี้ และหมดหนทางที่จะเอาที่ดินกลับคืนมา นี่ยังมีคนในหมู่บ้านอีกประมาณ 10 กว่าราย ที่ถูกหลอกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้อย่างไม่มีวันถอนตัวได้  จนกว่าทรัพย์สมบัติจะหมด  ” “ยังมีอีกหลายรายนะครับ ที่อำเภอพิมาย โคราช ก็มีคนหลงเป็นเหยื่อแชร์ตะเกียงแบบนี้ เท่าที่ทราบเสียที่นา หมดเนื้อหมดตัว ไปตามๆ กัน” เภสัชกรภูริทัต เล่าเรื่องราวอย่างอ่อนใจ   บทเรียนแสนแพงของแชร์ตะเกียงบำบัดโรค คงไม่ใช่แค่การหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพเท่านั้น มันเข้าข่ายการต้มตุ๋นคนซื่อๆ ให้หลงเป็นเหยื่ออย่างน่ากลัว ใครพบเห็นรีบแจ้งตำรวจจัดการได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 น้ำกัดเท้า

น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ...... โอมเพี้ยง....ขออย่าให้คณะผู้บริหารจัดการน้ำไม่เป็นแบบคำพังเพยโบราณเลย....... ถ้าน้ำมาก็ขอให้น้อยกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบปี 55 นะๆๆ แต่ถ้าน้ำนองในบางพื้นที่ ขอแนะนำสูตรยาแก้น้ำกัดเท้าที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่สมัยสังคมไทยยังเป็นเมืองทำนาปลูกข้าวกว่า 80% จนตอนนี้หดหายไปเกือบครึ่ง หลบไปทำอย่างอื่นกันหมด แม้ยังทำเกษตรแต่ก็แห่ไปทำสวนยางสวนปาล์มกันมากมาย โบราณกาล ชาวนาเขาต้องยืนแช่น้ำในนาข้าวอยู่นานสองนาน ต้องเจอกับน้ำกัดเท้าเป็นประจำ ตำรับยานี้จึงทำง่ายสุดๆ และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมขนานแท้ เพียงแค่นำสารส้มสะตุ และดินสอพองสะตุมาผสมกัน คำว่าสะตุ เป็นคำโบราณเกี่ยวกับการปรุงยาไทย หมายถึงไปทำให้สะอาดหรือดับพิษลดพิษจากตัวยาเสียก่อน วิธีทำ ให้นำสารส้มมาบดเป็นผงละเอียด นำไปใส่ในหม้อดิน แล้วนำไปตั้งไฟ สารส้มจะฟูขึ้น ปล่อยไว้จนฟูขาวสะอาดดี จึงนำลงจากเตาไฟ เรียกว่าสารส้มสะตุ สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า สารส้มช่วยสมานทั้งภายในภายนอก เฉพาะยาภายนอกช่วยแก้อาการคัน สมานแผล ห้ามเลือด ดินสอพองสะตุ ให้นำดินสอพองใส่กระทะ ตั้งไฟให้ร้อน คั่วดินสอพองให้สุกหรือผ่านความร้อนเพื่อทำให้สะอาดเช่นกัน ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ และเป็นเหมือนแป้ง เมื่อทาผิวจะลดความชื้น แก้อาการคัน และไม่ให้เชื้อราลุกลามได้ง่ายนั่นเอง   ตำรับยาให้ใช้สารส้มสะตุและดินสอพองสะตุ อย่างละเท่าๆ กัน นำผสมกันใช้ทาที่แผล(หยดน้ำสะอาดเล็กน้อยเพื่อให้ผงยาเป็นยาเหลวทาง่ายขึ้น) ใช้วันละ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าหาดินสอพองทำยาได้ยาก ก็ไม่ต้องใช้ ให้ใช้เฉพาะผงสารส้มสะตุละลายน้ำทาเลย ถ้าน้ำท่วมใหญ่มาอีกรอบ ขอให้บริจาคก้อนสารส้มกันบ้าง แล้วบรรดาอาสาสมัครแบ่งกลุ่มมาช่วยกันนั่งตำให้เป็นผง ตั้งเตาไฟใส่หม้อดินตามวิธีข้างต้น ปล่อยให้แห้งหาขวดใบเล็กๆ กรอกไว้แจกจ่าย แล้วแบ่งงานอาสาอีกกลุ่มช่วยกันทำฉลากและวิธีใช้ติดข้างขวด ใครๆ ก็ใช้ได้ถูกต้อง แต่ถ้าจวนเจียนไม่มีใครทำสะตุให้ ทำแบบสดๆ ก็สามารถใช้ได้ทันที ให้เอาก้อนสารส้มก้อนเล็กๆ ใส่ในช้อน แล้วเอาช้อนไปลนไฟเทียนไข สารส้มจะค่อยๆ ละลายเป็นน้ำ ใช้ก้านไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำสารส้ม แล้วเอามาทาที่น้ำกัดเท้า ทาบางๆ วันละ 3-4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ดีไม่แพ้กัน อีกสูตรหนึ่งถ้าพื้นที่แห้งมีการปลูกต้นพลูไว้ ให้อาสาสมัครนอกแนวน้ำท่วมช่วยกันเอาใบพลูมาล้างให้สะอาด หั่นซอยเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ครกตำให้ละเอียด ใส่ภาชนะหรือโหลแก้วแล้วเทเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ให้ท่วมยา ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง) กรอกเอาแต่น้ำยาบรรจุขวดเล็กๆ เวลาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยาในพลูทาที่แผล วันละ 3-4 ครั้ง ใบพลู ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด ช่วยแก้อาการคัน และแก้กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่มาจากเชื้อราได้ ขณะนี้มีการผลิตเป็น เจลพลู หรือเรียกโก้ๆ ว่าพลูจีนอล สรรพคุณไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันเลย ใบพลูแน่กว่ายาต้านเชื้อราเฉยๆ เพราะใบพลูมีสรรพคุณลดอาการคันด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีฤทธิ์คล้ายยาชาเฉพาะที่ (ฤทธิ์อ่อนๆ) จึงช่วยแก้อาการคัน ถ้าต้องเดินลุยน้ำแช่น้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง ช่วยลดการเกิดน้ำกัดเท้า แต่ถ้าเสียทีน้องน้ำแล้ว ให้ลองใช้ตำรายาโบราณสู้กับน้ำกัดเท้าดูนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 สมุนไพรหมื่นแปดหายทุกโรค!

  หากมีคนมาขายยาสมุนไพร ชุดละ 18,000 บาทต่อเดือน โดยโฆษณาว่ารักษาหายได้ทุกโรค ท่านคิดว่าผู้ป่วย จะซื้อหรือไม่ ? น้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำปางแจ้งข้อมูลให้ผมทราบว่า มีบุคคลอ้างว่าตนเป็นหมอสมุนไพร จบจากเมืองนอก มาจัดการโฆษณาขายยาสมุนไพรที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยในการจัดกิจกรรมนั้นได้เชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซื้อยาสมุนไพรที่อ้างว่ารับประทานแล้วหายได้ทุกโรคนำไปใช้รับประทาน สมุนไพรที่ว่านี้ราคาสูงถึงชุดละ 18,000 บาท (มีทั้งแบบซองสำหรับชงและแบบแท่งสำหรับต้มดื่ม) ผู้บริโภครายหนึ่งที่ได้เข้าไปฟังการโฆษณาจึงหลงเชื่อ ซื้อกลับมา 1 ชุดเพื่อให้ญาติของตนที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ลองใช้รักษาอาการป่วย หลังจากนั้นไม่นาน ทางโรงพยาบาลก็ได้รับตัวผู้ป่วยชาย อายุ 58 ปี ซึ่งป่วยเป็นเนื้องอกร้ายของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คราวนี้ ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการปวดขาข้างขวามาก เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจึงพบว่าเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันที่ขา เภสัชกรที่โรงพยาบาลได้ไปซักประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติม ได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมการบริโภคอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิมเลย นอกจากกินยาสมุนไพร 18,000 บาทที่โฆษณาว่าหายทุกโรคนี่แหละ เมื่อขอยาสมุนไพรที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 2 แบบมาดู ก็พบว่า ยาสมุนไพรทั้ง 2 แบบนี้ มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาดองเหล้าสมุนไพรแอนนี่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาแต่กลับโฆษณาสรรพคุณมากมาย ส่วนยาสมุนไพรแอนนี่ แม้ไม่ได้ระบุสรรพคุณยาบนฉลาก แต่ก็เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน หากแสดงเลขที่ใบอนุญาตตั้งคลินิกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถมาเร่ขายยาตามโรงแรมได้ เพราะเขาอนุญาตให้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่รับบริการจากคลินิกเท่านั้น ล่าสุดทราบว่า เภสัชกรได้แจ้งข้อมูลไปให้ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและจังหวัดอุบลราชธานีทราบ เพื่อช่วยกันติดตามดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว หากใครเจอการเร่จัดมหกรรมโฆษณาขายยาที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ อย่าหลงเชื่อนะครับ อาจจะเสียทั้งเงินและได้รับอันตรายได้ ช่วยๆ กันเตือนเพื่อนฝูงและแจ้งข้อมูลให้หน่วยราชการทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันจัดการให้ยาหายทุกโรคแบบนี้ หายไปจากการหลอกลวงซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปวดร้าวเพียงใด

ฉบับที่แล้วผมให้ข้อมูลไปว่า ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่มีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษาเพียงใด โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายในทำนองนี้ด้วย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร หากเราสังเกตชื่อที่ระบุประเภทว่า “เครื่องดื่ม” เราจะทราบว่ามันคือเครื่องดื่ม ไม่ใช่ยา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถ บำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ล่าสุดเภสัชกรสาวสวยคนเดิมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ส่งข้อมูลมาอีกแล้ว เธอเล่าว่าผู้ป่วยชาย อายุ 60 ปี ได้ซื้อเครื่องดื่มสมุนไพรจีน มิทเชลล์ฉาง มารับประทาน โดยดื่มวันละ 2 อึก แก้พังผืด ข้อตึง (สรุปง่ายๆ คือซื้อมากินเพื่อรักษาโรคนั่นแหละ) หลังจากรับประทานมาประมาณ 1 เดือน ก็มีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เภสัชกรสาวสวยขี้สงสัยคนนี้ จึงได้ส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลปรากฏว่าคราวนี้เธอร้องกรี๊ดดดดด ดังกว่าเดิม (ไม่รู้ตกใจหรือโกรธ) เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพบยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ผสมอยู่ด้วย เธอจึงรีบแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามให้ติดตามตรวจสอบต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดนี้มีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด ในราคา ขวดละพันกว่าบาท โดยโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่ม สูตรสมุนไพรแบบองค์รวม ปรุงขึ้นตามตำรับจีนโบราณ โดยเน้นความสมดุลของระบบหยิน-หยาง และธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพ สามารถขจัดอนุมูลอิสระ(Antioxidant) อันเป็นเหตุของความชราภาพและโรคภัยต่างๆ มากมาย(ในโฆษณาไม่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันนะครับ) ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบเชิงลึกอยู่นะครับว่า ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล มันเข้ามาอยู่ในขวดได้อย่างไร แต่เผอิญเมื่อวานได้มีโอกาสนั่งประชุมกับน้องๆ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม น้องเล่าว่าผลการตรวจยาสมุนไพรมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ ที่พบแค่สารสเตียรอยด์โดยพบว่าเริ่มมีการผสมยาแผนปัจจุบันบางชนิดแล้ว และยังพบในผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลูกกลอนด้วย เช่น พบในยาผงสมุนไพร หรือยาน้ำหรือเครื่องดื่มอีกด้วย {xtypo_info}เรื่อง ที่เล่ามานี้คงเป็นข้อมูลเตือนภัยอีกทางหนึ่งว่า แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง และถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่ยา (เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ) ยิ่งต้องระวัง ไม่ใช้อย่างสับสน ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “มันคืออาหาร ไม่ใช่ยา มันจึงรักษาโรคไม่ได้” เราจะได้ปลอดภัยทั้งตัวและปลอดภัยทั้งตังค์นะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ค่าทำ(ตา)ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาเป็นแสน

การมีดวงตาที่สวยงามเป็นความฝันของใครหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมีตาสองชั้น ทำให้การทำศัลยกรรมตาสองชั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะพบว่าการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การศัลยกรรมดังกล่าว มีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพงเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ทำศัลยกรรมแล้วจะสวยสมใจหรือปลอดภัยเสมอไป ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธมลเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตาสองชั้นที่คลินิกย่านรามคำแหง โดยตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมที่ 12,000 บาท ภายหลังทำเสร็จเรียบร้อยเธอก็เชื่อว่า อาการบวมหรือรอยช้ำต่างๆ น่าจะหายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เธอคิด หลังจากเวลาผ่านไป 2 เดือน ตาข้างขวาของเธอมีอาการปวดแสบ เหมือนมีอะไรบาดตาเวลากะพริบตา รู้สึกระคายเคือง มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และบางครั้งถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ในเวลากลางวัน เธอจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ากระจกตาดำของเธอเป็นแผล มีแคลเซียมที่เปลือกตาและต้องรักษาด้วยการขูดออกอย่างไรก็ตามแม้จะรักษาหลายครั้ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อผ่านไปประมาณ 7 เดือนนับจากวันที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เธอก็ยังคงเข้ารับการรักษาดวงตาเช่นเดิม เพียงแต่พบข่าวใหม่ที่ไม่น่ายินดีว่า อาการเจ็บตาของเธอนั้นมีสาเหตุมาจาก ไหมที่ค้างอยู่ในเปลือกตาตั้งแต่ตอนทำศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเอง! แม้แพทย์จะผ่าตัดไหมดังกล่าวออกให้แล้ว แต่อาการระคายเคืองต่างๆ ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทำให้เธอยังคงต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ เธอจึงกลับไปร้องเรียนคลินิกเดิมที่เคยทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะเชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่รอบคอบของแพทย์ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้เธอแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะเสียเงินค่าทำศัลยกรรมตาสองชั้นในราคาที่ไม่แพงเท่าไรนัก แต่เธอได้แจงรายละเอียดค่ารักษา เพื่อให้ดวงตากลับมาดีเหมือนเดิมว่า เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องก้มหน้าตลอดเวลา เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยสู้แสงอีกด้วย ซึ่งภายหลังทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์ดังกล่าวมาเจรจา ซึ่งผลจะอย่างไรทางศูนย์ฯ จะคอยติดตามเรื่องต่อไปทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม คือ การเลือกศัลยแพทย์ที่ได้การรับรอง โดยให้สังเกตง่ายๆ จากใบประกอบโรคศิลป์ที่มักจะติดไว้ในคลินิก และดูว่าชื่อแพทย์ที่ได้รับการรับรองนั้น ตรงกับคนที่มาทำศัลยกรรมให้เราหรือเปล่า รวมถึงเลือกวิธีการศัลยกรรมให้ปลอดภัย โดยคำนึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราด้วยตรวจสอบรายชื่อศัลยกรรมตกแต่ง สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย    http://www.plasticsurgery.or.th/lst.php

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 มะเร็งร้ายหายแต่ได้ภาวะแทรกซ้อนมาแทน

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา โดยให้เราลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าถ้าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เราปัสสาวะเองไม่ได้นานเป็นปี เรายังจะตัดสินใจรับการผ่าตัดนั้นอยู่หรือไม่ผู้ร้องอายุ 48  ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะแรก หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉือนบางส่วนออกเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจทำตามโดยใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งหลังการผ่าตัดนั้นก็พบว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกไปได้หมดจริงๆ แต่กลับทำให้เธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้อีกเลย หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 9 วันโดยการใช้ถุงเพื่อปัสสาวะมาตลอด เธอก็กลับบ้านและพบว่าชีวิตประจำวันของตัวเองต้องเปลี่ยนไป เพราะคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาช่วยกันดูแล สำหรับการสวนปัสสาวะทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยอาการยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม้จะไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่ได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแต่แจ้งว่าเป็นผลจากการผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาและฝึกฉี่เองอีกครั้ง และให้ถุงฟอเล่ หรือถุงฉี่กลับบ้านมาเท่านั้น การสวนปัสสาวะเองทุกครั้งก็ทำให้เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และถูกส่งตัวไปรักษาต่อตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันภายหลังเธอจึงไปตรวจอาการอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้พบความจริงว่าการผ่าตัดครั้งนั้นมีผลกระทบทำให้เส้นประสาททางเดินปัสสาวะโดนผ่าออกไปด้วย เพราะเส้นประสาทดังกล่าวผสานอยู่กับเนื้อเยื่อข้างเคียงของปากมดลูก ซึ่งมีสิทธิทำให้เซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกลุกลามได้ เป็นเหตุให้เธอเกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้) ซึ่งหมอก็ไม่ยืนยันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อพบว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกว่า ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะหากทราบก่อนการผ่าตัดว่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นนี้ ในตอนนั้นเธออาจจะเลือกไม่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะปัสสาวะเองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอยังต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งหากคิดแล้วก็ตกที่เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งยังต้องเดินทางไปหาหมอตามสถานที่ต่างๆ เองอีกด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความเป็นธรรม โดยหวังว่าอย่างน้อยแค่ให้หมอมาดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อสวนปัสสาวะบ้างก็ยังดีแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้ร้องใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงทำให้เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเองด้วย ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา อีกทั้งทำไมหมอที่ดูแลอาการถึงไม่ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนให้เธอทราบก่อนการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะทำให้เส้นประสาทปัสสาวะได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้มีการเจรจากับโรงพยาบาล โดยตัวแทนของศูนย์ฯ ไปร่วมเจรจาด้วย และให้ผู้ร้องทำรายการค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้รักษาหลังการผ่าตัดออกมา (ย้อนหลังไปประมาณ 8 เดือน) ซึ่งผลก็คือหมอที่ดูแลอาการได้ขอโทษผู้ร้อง ที่ไม่ได้ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด พร้อมเยียวยาเบื้องต้นโดยให้ผู้ร้องสามารถรับอุปกรณ์สำหรับสวนปัสสาวะฟรี รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ร้องเสียไปแล้วจำนวน 1 แสนบาท ผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ค่ารักษาพยาบาลมหาโหด

เช้ามืดวันหนึ่ง ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหล แต่คุณใหญ่ กลับทรมานด้วยอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว  และมีอาการปวดหลังร่วมด้วย พอเหมาะกับสามีก็ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้โทรศัพท์ให้น้องชายพาไปโรงพยาบาล ขณะที่เดินทางไปพบแพทย์คุณใหญ่เล่าว่าตัวเองมีสติครบถ้วน  และรู้สึกตัวดีทุกประการ  ไม่มีอาการของผู้ป่วยในลักษณะรุนแรง หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด   โดยเมื่อมาถึงโรงพยาบาล  แพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นได้สอบถามอาการต่างๆ และยังสอบถามกับคุณใหญ่ว่าประสงค์จะนอนพักที่โรงพยาบาล  หรือจะเพียงฉีดยาแล้วเอายากลับไปรับประทานที่บ้าน และตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปด้วย  ซึ่งคุณใหญ่ก็แจ้งข้อมูลว่า ได้ทำประกันไว้กับ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งพร้อมกับแสดงบัตรของบริษัทประกันภัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ทำการรับตัวเข้าเป็นผู้ป่วยในทันที“เจ้าหน้าที่พาดิฉันไปเปลี่ยนเสื้อผ้า  เจาะเลือด  ฉีดยา  ให้น้ำเกลือ  และนำสารเคมีอะไรบางอย่างมาให้ ดิฉันดมจนหมดสติไป     ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็ทราบว่านอนอยู่ในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน( ห้อง ไอ ซี ยู ) เสียแล้ว”จากการสอบถามแพทย์ว่าเพราะเหตุใดท้องเสียต้องเข้ารักษาในห้องไอ ซี ยู   แพทย์ตอบว่าความดันต่ำต้องดูแลใกล้ชิด   คุณใหญ่ได้โต้แย้งว่าความดันต่ำเป็นโรคประจำตัวและเป็นปกติอยู่แล้ว  ไม่มีปัญหาอะไร  และขอออกจากห้อง ไอ ซี ยู   แต่แพทย์ไม่ยอมให้ออกท่าเดียวโดยอ้างเรื่องความดันต่ำ เป็นเหตุให้คุณใหญ่ต้องอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  เป็นเวลาถึง  3 วัน                             .ในระหว่างอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  มีการตรวจรักษามากมายหลายรายการ เช่น มีการให้เลือด การเอ็กซ์เรย์ปอด  มีการตรวจช่องท้องโดยอัลตร้าซาวด์  มีการตรวจมะเร็งที่สำไส้ และที่รังไข่  และอื่น ๆ อีกมาก  ทั้ง ๆ ที่ คุณใหญ่เองได้แจ้งต่อแพทย์ ผู้ตรวจตลอดเวลาว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก และได้ตรวจร่างกายครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา  ผลการตรวจร่างกายก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเลย  แต่แพทย์ก็ยังฝืนตรวจร่างกายอย่างบ้าคลั่ง เกินความจำเป็น  และไม่เกี่ยวกับโรคที่มาเข้ารับการรักษา   เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลสูงมากถึง  139,553 บาท  หักประกันจำนวน  16,400 บาท  แล้วคง เหลือที่จะเรียกเก็บเป็นเงินจำนวน  122,573 บาท  คุณใหญ่เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นค่ารักษาที่เกินความจริง เกินความจำเป็น  จึงไม่ชำระเงิน และออกจากโรงพยาบาลมาโดยยังไม่ได้ชำระเงินแต่อย่างใด ผ่านมาเกือบ 2  ปี คุณใหญ่ได้รับหมายศาล เพราะโรงพยาบาลฟ้องเรียกค่าเสียหาย  จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  ซึ่งมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลือและจัดให้ทนายความอาสาของมูลนิธิให้การแก้ต่างในคดีนี้ แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวหากผู้บริโภคเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ไม่สมเหตุสมผล แพงเกินจริง หรือมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นกว่าโรค (เจ็บเกินโรค) สามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ ยอมรับสภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกับทางสถานพยาบาล แต่ต้อง “ทักท้วง” ในส่วนที่เป็นความผิดปกตินั้นเพื่อให้ทางสถานพยาบาลแสดงถึง ข้อเท็จจริง เอกสารใบเสร็จ กระบวนการขั้นตอนการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ว่ามีความจำเป็น และ เหมาะสมจริงหรือไม่ หากสถานพยาบาลไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ ผู้บริโภคควรสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่าบริการที่เรียกเก็บ ในกรณีที่สถานพยาบาล แสดงเอกสารข้อมูลมาแล้ว แต่ผู้บริโภคเห็นว่า ไม่สามารถรับได้ ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน ในกรณีที่สถานพยาบาล จะใช้วิธีการกักขัง-หน่วงเหนี่ยว** ตัวผู้บริโภคไว้ ไม่ให้ออกจากสถานพยาบาล โดยอ้างว่าจะปล่อยตัวเมื่อชำระค่าใช้จ่ายหมดสิ้นก่อน ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิดำเนินคดีอาญากับทางสถานพยาบาลนั้นๆ ได้ เพราะมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 310 โปรดจงจำไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาล เป็นคดีความทางแพ่ง หากผู้บริโภคไม่มีเงินจ่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก** กักขัง-หน่วงเหนี่ยว  คือ ผู้ใด หน่วงเหนี่ยว หรือ กักขัง ผู้อื่น หรือกระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว  ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำ ต้องระวางโทษดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เจ็บป่วยฉุกเฉิน สิทธิการรักษาที่สร้างความสับสน

นิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”   คงจะใช้ไม่ได้ในหลายกรณี เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้   คุณสายันห์  อายุ 61 ปี อาศัยอยู่แถว ซ.ประชาอุทิศ 19  ทุ่งครุ  เกิดอาการล้มหมดสติ เวลาประมาณ 23.00 น ในวันที่ 3 มกราคม 2557  ญาติได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน   ระหว่างที่นำส่งญาติทราบดีว่าสิทธิของผู้ป่วยอยู่ รพ.ตากสิน แต่ขณะที่อยู่บนรถ คุณสายันห์ เกิดอาการหยุดหายใจ ญาติจึงเร่งนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน จนกระทั่งอาการดีขึ้นต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่ารักษาคุณสายันห์ เป็นเงิน 148,324 บาท  ญาติถึงกับตกใจ ภรรยาคุณสายันห์ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอให้ทางโรงพยาบาลย้ายคุณสายันห์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตากสินตามสิทธิ  แล้วจึงไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำกลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลแรกที่ช่วยรักษาคุณสายันห์ ปัญหาคือ ทำไมโรงพยาบาลจึงไม่แจ้งเรื่องสิทธิฉุกเฉิน 3 กองทุนที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้ ทำไมต้องมาแบกรับภาระค่ารักษาทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพเมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลตากสิน จนอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ แต่ญาติๆ พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากช่วงที่หัวใจหยุดเต้นก่อนถึงโรงพยาบาล  ปัจจุบันต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลาตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”  อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เช่นกรณีคุณสายันห์ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหยุดหายใจเฉียบพลัน ซึ่งเข้าตามเกณฑ์ที่สภาพยาบาลได้ให้ไว้  แต่สุดท้ายก็ต้องจ่ายเงิน(อย่างตกใจ)ไปก่อน พอได้ทราบเรื่องสิทธิและตามเบิกตามสิทธิแห่งตน ก็ได้รับการอนุมัติเงินคืนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปก่อนหน้านั้นเพียง 16,543  บาท  หากเทียบกับยอดค่าใช้จ่ายที่ญาติผู้ป่วยจ่ายไป 148,324 บาท ยังไม่ได้ถึง 20% ของจำนวนเงินดังกล่าวเลย คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า อะไรคือมาตรฐานในการพิจารณาค่ารักษากรณีฉุกเฉิน  แล้วทำไมสถานพยาบาลจึงไม่มีข้อมูลแจ้งต่อผู้ป่วยหรือญาติ ในการอธิบายหรือช่วยประสานงานกับหน่วย EMCO หรือหน่วยดูแลกองทุนฉุกเฉิน ของ สปสช. ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อตัดสินใจเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดจากกรณีป่วยฉุกเฉิน ด้วยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายลงได้ แต่กลับพบว่ามันไม่เป็นจริง แนวทางแก้ไข1. ประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพื่อตรวจสอบกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ 1330 ได้แจ้งให้ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพื่อทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO2. ประสานโรงพยาบาลที่ทำการรักษาให้ทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO3. เมื่อได้รับการอนุมัติค่ารักษาแล้วพบว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สปสช.   นโยบายรัฐให้คำจำกัดความเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง  ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรงมีอาการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรง  มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ชักตลอดเวลา หรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศา ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าหรือลำคอ รักษาทุกที่ หมายถึง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ทุกรพ.ทั้งรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ถูกถามสิทธิก่อนการรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลาลง ทั่วถึงทุกคน หมายถึง  ผู้ที่มีสิทธิของ 3 กองทุน ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการและครอบครัว (ประมาณ 5 ล้านคน) จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกรมบัญชีกลาง กลุ่มลูกจ้างพนักงาน (ประมาณ 10 ล้านคน) จากกองทุนประกันสังคม กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ประมาณ 48 ล้านคน) จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคเวลาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องปฏิบัติดังนี้ ข้อควรปฏิบัติในการนำผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาล กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1)       ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนผู้ป่วยไปด้วยทุกครั้ง ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ 2)       เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากเลือกได้ ขอให้เป็นโรงพยาบาลของรัฐ เพราะโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ 3)       ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หากไม่มีบัตรประชาชน ให้แจ้งชื่อ-สกุลผู้ป่วย แล้วรีบนำบัตรประชาชนมายื่นภายหลัง 4)       หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ให้ยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉินตามสิทธิที่มี และอ้างนโยบายรัฐบาล แต่หากเจ้าหน้าที่ยังยืนยันจะเก็บเงิน ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นเงินมัดจำ แล้วจะคืนให้เมื่อเบิกจาก สปสช. ได้  ให้โทรไปสายด่วน 1330 สปสช. เพื่อให้เจราจากับโรงพยาบาล 5)       เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง 6)       หากได้รับความเสียหายในการใช้สิทธิ สามารถแจ้งเรื่องได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.) สายด่วน 1330  และกรณีอยู่ต่างจังหวัด ให้แจ้งเรื่องไปที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 7)       กรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการ ผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา ความเสียหาย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41   ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่ วันที่ทราบถึงความเสียหาย       //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ร้องหมอผ่าตัดทำเสียดวงตา

คุณปภาวี วัย 49 ปี มีอาชีพรับราชการพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกคุณปภาวี มีอาการเจ็บป่วยทางสายตาทั้งสองข้าง และต่อมาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดรักษาจอประสาทตา ทั้งหมด 4 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาขวาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ครั้ง เมื่อ 6 สิงหาคม 2552 อีก 3 ครั้งเป็นการผ่าตัดจอประสาทตาซ้ายโดยแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ผ่าตัดในวันที่ 4 มีนาคม, 4 เมษายน และ 28 เมษายน 2553คุณปภาวีได้ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดตาทั้งสองข้าง ทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์  ผ่าตัดเปลี่ยนน้ำวุ้นในตาและอัดแก๊สไว้ นอนคว่ำนาน 1 เดือนครึ่งทุกครั้ง “ดิฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนกันทุกครั้ง”ผลการรักษาที่ได้รับคือ จอประสาทตาด้านขวากลับมามองเห็นได้หลังการผ่าตัด ส่วนตาข้างซ้ายหลังการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ตากลับมืดบอดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลยคุณปภาวีบอกถึงสาเหตุที่มาเข้ารับการรักษาที่ ร.พ. รามาธิบดีว่า เนื่องจาก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ เครื่องยิงเลเซอร์เสีย แพทย์จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่อื่น“ดิฉันจึงไปที่ ร.พ.รามาฯ ซึ่งอยู่ใกล้กัน คิดว่าแพทย์คงจะชำนาญในการรักษาเช่นเดียวกัน แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามทั้งที่ทำการผ่าตัดรักษาเหมือนกัน แต่แพทย์เข้ามาชี้แจงว่า ตำแหน่งจอตาฉีกขาดนั้นต่างกัน คือตาขวาเป็นด้านบนจะติดง่ายกว่า ส่วนตาซ้ายเป็นด้านล่าง”ด้วยความที่มีอาชีพเป็นพยาบาลคุณปภาวี มีความเห็นว่าการผ่าตัดที่ ร.พ.รามาธิบดี อาจมีข้อบกพร่อง เช่น“ผ่าตัดครั้งแรกกับนายแพทย์.......ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่ามีความชำนาญพร้อมเพียงพอที่จะทำการรักษาหรือไม่ เพราะได้ยินพยาบาลห้องผ่าตัดพูดกับแพทย์คนนี้ว่า ไม่เป็นไรหรอกหมอ..... อีกเดือนเดียวก็จะจบแล้ว” “การผ่าตัด(ตาข้างซ้าย)ครั้งแรก ใช้เวลานานมากคือ 3 ชั่วโมงกว่า (ขณะที่ร.พ.จุฬาฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) ดิฉันปวดมากจนต้องขอฉีดยาชาเพิ่ม”หลังรู้ผลการผ่าตัดตาข้างซ้ายของตนว่า ตามืดบอด คุณปภาวี จึงได้ไปตรวจที่ ร.พ.ศิริราช จักษุแพทย์ได้บอกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะจอตาเป็นแผลเป็น ลักษณะก้อนแข็งกลม ถ้าแผ่เป็นแผ่นบางๆ ก็อาจจะทำได้“ดิฉันถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แพทย์บอกว่ามันเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นได้”หลังจากนั้นคุณปภาวีจึงได้ไปทำบันทึกข้อความร้องเรียนไว้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และต่อมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้เรียกคุณปภาวีเข้าไปคุยบอกว่า “โรงพยาบาลไม่มีนโยบายจะจ่ายเงินชดเชย เพราะท่านไม่มีอำนาจไม่ใช่คณบดี ได้แต่บอกว่า จะช่วยผ่าตัดตาขวาซึ่งมีต้อกระจกให้”คุณปภาวีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากจะไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษในอาชีพของตนเองจากที่เคยได้รับเดือนละ 2,000 บาท“ตาที่มองไม่ชัดทำให้ทำคลอดไม่ได้ เย็บแผลไม่ได้ ทำหัตถการต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็ช่วยสรุปเขียนแฟ้มประวัติผู้ป่วยกลับบ้าน ส่งแฟ้มคืนห้องบัตร ทำเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ มากกว่า”“ดิฉันอยากเรียกร้องค่าเสียหายจากทางโรงพยาบาลรามาฯ ไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่” คุณปภาวีทิ้งคำถามสำคัญ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำจดหมายขอเข้าพบเพื่อรับทราบคำชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 และในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ผู้บริหารของโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้นัดเจรจากับคุณปภาวีพร้อมครอบครัว และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาข้อยุติกรณีร้องเรียน จากการเจรจาในวันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดียินดีจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย เป็นเงินทั้งสิ้น 278,500 บาท ประกอบด้วยค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้ต่อมาในวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาคุณปภาวีพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตามนัด และรับเงินช่วยเหลือตามจำนวนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย“การรักษาดวงตานั้นมีความเสี่ยงสูง  โรงพยาบาลไม่ควรจะให้นักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัดมาทำการรักษา เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกับผู้ป่วยได้เพราะยังไม่มีความชำนาญในการรักษา และอยากจะให้เรื่องของดิฉันเป็นตัวอย่างหรืออุทาหรณ์เตือนใจทั้งแพทย์และการแสดงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก” คุณปภาวีกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ช้อนตวงยา อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

  การกินยาสำหรับเด็กๆ อาจเป็นเรื่องยากและลำบากใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ “ยาน้ำ” จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กๆ หรือคนที่ไม่ชอบกินยาเม็ดหรือแคปซูล ซึ่งการกินยาน้ำแม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ข้อพึ่งระวัง โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามอย่าง “ช้อนและถ้วยตวงยา” ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตยาที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด จึงทำให้ลักษณะของช้อนและถ้วยตวงยาก็มีความหลากหลายทั้ง ขนาด รูปทรง วัสดุ ซึ่งความแตกต่างทั้งหมดของช้อนและถ้วยตวงยาที่กล่าวมาอาจมีผลต่อปริมาณของยาที่รับประทาน และอาจกลายเป็นผลเสียกับร่างกาย ฉลาดซื้อ จึงอยากชวนทุกคนใส่ใจและให้ความสำคัญกับช้อนและถ้วยตวงยาน้ำมากขึ้น ด้วยผลทดสอบความจุของช้อนและถ้วยตวงยาพลาสติก โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม มาดูกันซิว่าช้อนและถ้วยตวงยาที่เราใช้กันอยู่ได้มาตรฐานหรือเปล่า      ตารางแสดงผลทดสอบความจุของช้อนตวงยาพลาสติก ที่ปริมาตร 5 มิลลิลิตร ในยาน้ำสำหรับเด็ก      เครื่องหมายถูก = มี     เครื่องหมาย x = ไม่มี ผลทดสอบโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามหมายเหตุ : * ทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่มีจำหน่ายในร้านยา จังหวัดสมุทรสงคราม **  ตามเกณฑ์มาตรฐานช้อนตวงยาพลาสติกของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ มอก. 1411-2540 ***ผลทดสอบปริมาตรถ้วยตวงยา Dimetapp ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตัวอย่างถ้วยยาพลาสติกของตัวอย่าง lot การผลิตเดียวกัน มีความจุแตกต่างกันมาก มีทั้งผ่านมาตรฐาน และไม่ผ่านมาตรฐาน   สรุปผลทดสอบ - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ มี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปแบบช้อน และรูปแบบถ้วย ซึ่ง ช้อนยาตวงพลาสติกในรูปแบบถ้วยยานั้น ไม่เข้ามาตรฐานถ้วยตวงยาพลาสติกของ มอก. เนื่องจากมีปริมาตรสุทธิ ไม่ถึง 30 มิลลิลิตร ในการทดสอบนี้จึงใช้เกณฑ์มาตรฐานความจุของช้อนตวงยาพลาสติกโดยไม่สนใจลักษณะทางกายภาพ (คำนิยามของช้อนตวงยาพลาสติกของ มอก. หมายถึง ช้อนพลาสติกมีด้ามจับ ใช้สำหรับตวงยาน้ำเพื่อรับประทาน) - ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของช้อนตวงยาพลาสติก  มอก. ที่ 1411-2540 ระบุ ให้ช้อนตวงยาพลาสติกขนาด 1 ช้อนชา มีความจุ 5 ลูกบาศก์เซนติเมตร (มิลลิลิตร หรือซี.ซี.) โดยมีความคลาดเคลื่อนได้ ± 0.25 ลูกบาศก์เซนติเมตร นั่นเท่ากับว่า ช้อนตวงยา 1 ช้อนชา มีความจุอยู่ระหว่าง 4.75 – 5.25 มิลลิลิตร - ช้อนตวงยาพลาสติกส่วนใหญ่ มีปริมาตรความจุ เกินกว่า 5 มิลลิลิตร ยกเว้น ช้อนตวงยาของยาที่มีช่วงการรักษาแคบ ที่มีปริมาตรความจุสุดท้ายน้อยกว่า 5 มิลลิลิตร - ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกที่ทำการทดสอบมีทั้งหมด 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็นรูปแบบช้อนยา 12 ตัวอย่าง และรูปแบบถ้วยยาจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยการทดสอบ ผู้ทดสอบจะไม่ทราบว่า ช้อนมีเลขรหัสการผลิตหรือไม่อย่างไร ผู้แปรผลสุดท้ายจะทราบรายละเอียดทั้งหมดของช้อน ซึ่งพบว่า ตัวอย่างในรูปแบบช้อนยา ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 3 ตัวอย่าง และตัวอย่างในรูปแบบถ้วยยาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง โดยในจำนวนตัวอย่างที่ผ่านมาตรฐานทั้งหมด มีเพียงตัวอย่างเดียวที่ไม่ระบุหมายเลขการผลิตของช้อนตวงยาพลาสติก (ช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ BEE-COL ซึ่งเป็นตำรับยาบรรเทาหวัดสูตรผสมของ ห้างหุ่นส่วนจำกัด โบร์วู๊ด ฟาร์มาซูติคอล ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ที่ผ่านมาตรฐาน ได้แก่ ช้อนตวงยาพลาสติกของผลิตภัณฑ์ PARACAP ของบริษัท ยูเมด้า จำกัด มีความจุ 5.13 มิลลิลิตร, DENAMOL 120 ของบริษัท ที.โอ. ฟาร์ม่า จำกัด มีความจุ 5.08 มิลลิลิตร, Tempra Kids ของ PT Taisho Pharmaceutical Indonesia Tbk. ผลิตให้กับ Taisho Pharmaceuticsl Co., Ltd. นำเข้าโดย DKSH (Thailand) Limited และ Calpol TM ของ SmithKline Beecham, Rizel, Philippines. นำเข้าโดย GlaxoSmithKline (Thailand) Limited. ที่มี Paracetamol 120 มิลลิกรัม เป็นส่วนประกอบ) - อย่างไรก็ตามมีตัวอย่าง ที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจาก ช้อนตวงยาพลาสติกที่นำมาทดสอบ ที่เก็บตัวอย่างจากรุ่นการผลิตเดียวกัน มีความจุสุทธิที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (ตัวอย่างช้อนตวงยาพลาสติกในผลิตภัณฑ์ Dimetapp  ของบริษัทอินเตอร์ไทย ฟาร์มาซูติเคิ้ล แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นตำรับยาผสม ประกอบด้วย Brompheniramine Maleate 2mg และ Phenylephrine HCl 5 mg) - เป็นที่น่าสังเกต บริษัทผู้ผลิตยาส่วนใหญ่ ใช้ช้อนตวงยาพลาสติกเป็นของตนเอง โดยระบุชื่อผู้ผลิตหรือชื่อของผลิตภัณฑ์ไว้ที่ช้อนตวงยาพลาสติก อาทิเช่น บริเวณด้ามจับของช้อน พื้นที่ผิวด้านในของตัวช้อน ขอบบนของถ้วย และก้นถ้วย -BEE-COL มีส่วนผสมของยาแก้ปวด 2 ชนิด คือ N-Acetyl-p-aminophenol และ Salicylamide ซึ่งคือ Salicylic acid ที่มีคำสั่งกระทรวงที่ 193/2536 ให้ถอนออกจากตำรับ -ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นตัวยาที่นิยมผลิตเป็นยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก โดยมักจะต้องรับประทานยาทุก 4 – 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำว่าไม่ควรรับประทานยา 2 ชนิดนี้พร้อมกัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ----------------------------------------------------------------------------------------   ลักษณะทั่วไปของช้อนและถ้วยตวงยา -ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องเป็นสีขาว มีลักษณะโปร่งใสหรือโปร่งแสง-พื้นผิวต้องเรียบ-ขอบของช้อนหรือถ้วยต้องมีลักษณะโค้งมน ไม่มีมุมหรือส่วนที่เป็นคม-ช้อนหรือถ้วยตวงยาต้องสามารถตั้งวางได้โดยไม่ทำให้ยาหก-ที่ช้อนหรือถ้วยตวงยาควรมีอักษรหรือเครื่องหมายแจ้งปริมาณ เช่น “1” หรือ “1 ช้อนชา”   การรับประทานยาโดยใช้ช้อนหรือถ้วยตวงยานั้น มีความจำเป็นอย่างมากับยาชนิดที่เป็นน้ำ ซึ่งยาน้ำมักจะเป็นยาสำหรับเด็กเพราะรับประทานง่ายกว่ายาชนิดเม็ด แถมเดี๋ยวยาน้ำรักษาโรคต่างๆ ก็นิยมผลิตออกมาให้มีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเวลาที่เด็กต้องรับประทานยา เด็กไม่ได้เป็นคนที่ตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกว่าจะรับประทานยาชนิดไหน แต่เป็นหน้าที่ของพ่อ – แม่ ผู้ปกครองที่จะต้องเป็นคนเลือกว่าจะให้ลูกรับประทานยาอะไร จะพาไปหาหมอหรือซื้อยามารับประทานเอง การให้เด็กรับประทานยาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความระมัดระวัง เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองการรับประทานยาอย่างขาดความเข้าใจ ไม่ตรงกับโรค หรือรับประทานในปริมาณที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งหากเป็นเด็กผลเสียก็จะยิ่งมากกว่า   สิ่งที่ควรรู้เรื่องการใช้ยาสำหรับเด็ก 1.ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ระบบการทำงานต่างๆ ยังด้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดูดซึมยาไปใช้หรือการการเผาผลาญหรือการขับยาส่วนเกินออกจากร่างกายยังทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ การกำหนดปริมาณสำหรับเด็กจึงมีความสำคัญมาก 2.ก่อนที่จะให้เด็กรับประทานยาใดๆ ต้องอ่านฉลากยา ศึกษาข้อควรระวังหรือคำเตือน ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละวัย รวมถึงอาการผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมวิธีรักษาหรือแก้ไข 3.การให้เด็กรับประทานยาควรใช้อุปกรณ์ตวงยาที่มาพร้อมกับยา หรือเป็นอุปกรณ์สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ ควรหลีกเลี่ยงช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่ใช้อยู่ เพราะอาจทำให้ปริมาณยาคลาดเคลื่อนได้ 4.ไม่ควรใส่ยาลงในขวดนมหรือใส่ไปพร้อมกับอาหารที่เด็กรับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารเหล่านั้นอีก ถ้าอยากให้ยามีรสหวานเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายขึ้น สามารถเติมน้ำเชื่อมเพิ่มลงไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 134 ไม่เก็บได้ไหม 30 บาท

  เหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย “30บาท รักษาทุกโรค” จากกระแสข่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาของสถานพยาบาลที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มักประสบกับภาวะขาดทุนเป็นประจำ เพราะมีคนมาใช้บริการมากขึ้น จึงเป็นข้ออ้างที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องนำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” กลับมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อลดปัญหาการขาดทุนของสถานพยาบาล และต้องการให้ประชาชนใช้บริการสุขภาพเท่าที่จำเป็น แต่ในมุมของกลุ่มที่เห็นต่างมองว่า การให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับระบบสาธารณสุขไทย รัฐบาลจึงไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยเหตุผลดังนี้… เป็นการผลักภาระให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบเพียงระบบเดียว รายได้หลักของสถานพยาบาลของรัฐ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และกองทุนที่ได้จากประกันสังคมอีกเล็กน้อย เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนของค่ายา วัสดุทางการแพทย์ เงินเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ   หากวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ และเงินเดือนที่จ่ายประจำเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จะเติบโตในระดับคงที่ ในขณะที่ค่าตอบแทน ซึ่งหมายถึงค่าล่วงเวลา ค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าตอบแทนอื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือน เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีต้นทุนที่เป็นค่าตอบแทน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 – 40 ส่วนต้นทุนที่เป็นเงินเดือน และค่ายา เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 – 2 เท่านั้น โดยต้นทุนค่าตอบแทนนั้นเกิดจากการให้บริการแก่ผู้ป่วยในทุกระบบประกันสุขภาพ หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการเพิ่มรายได้ให้กับสถานพยาบาล ก็ต้องพิจารณาดูว่าสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ได้รักษาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย “ดังนั้น การผลักภาระให้ผู้ป่วยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท เพียงระบบเดียว ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้รับบริการในระบบดังกล่าวเลย”   จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะรักษาฟรี การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประเมินร่วมด้วย ทั้งการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งในสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง การรักษาผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การผ่าตัดต้อกระจก การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนประชาชนแทบจะไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในกลุ่มโรคดังกล่าวเลย รวมถึงจากการศึกษาตัวเลขในเชิงระบาดวิทยา ที่อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ในระดับภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี 2544 – 2552 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และอาหารการกินที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ประชาชนป่วยมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ และผู้ประกันตนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน   จะไปสถานพยาบาลต้องคิดให้ดี ถึงรักษาฟรีแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องออกเอง ประชาชนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ รองรับเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างรายวัน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งแตกต่างจากการรับราชการหรือการเป็นพนักงานในสถานประกอบการต่างๆ หากประชาชนที่มีรายได้แบบรายวัน จะเข้ารับบริการในสถานพยาบาลแต่ละครั้ง ก็ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการในการลาป่วย ไม่มีหลักประกันชดเชยเมื่อขาดรายได้ หากต้องหยุดงาน นั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ไปในทันที ในขณะที่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม หรืออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่าที่พัก ฯลฯ ดังนั้น ในยุคที่คนต้องทำมาหากินหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง การหยุดงานบ่อยๆ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็น ดูจะไม่มีความสมเหตุสมผล อีกทั้งการให้ประชาชนร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท ก็ยังสร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างภาระให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะข้าราชการก็มีระบบสวัสดิการจากรัฐดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ระบบประกันสังคม ก็มีนายจ้าง ผู้ประกัน และรัฐร่วมกันจ่าย แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนที่ต้องจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท เป็นเงินส่วนตัวที่ต้องควักออกจากกระเป๋าร้อยละ 100 ดังนั้น ผลกระทบที่มาจากการร่วมจ่ายก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย แม้รัฐบาลจะมองว่า การจ่ายเงิน 30 บาท เน้นในกลุ่มที่มีกำลังจ่าย ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ให้รักษาฟรี เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจนจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ดูถูกดูแคลนในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง   รายได้จากการเก็บ 30 บาท เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรร เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ การยกเลิกเก็บ 30 บาท จึงไม่ส่งผลให้สถานพยาบาลได้รับผลกระทบมากนัก และยังลดภาระงานให้กับโรงพยาบาลในการจัดเก็บข้อมูลลงบัญชีอีกด้วย และหากใช้ข้อมูลปี 2552 ซึ่งมีผู้มารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 163 ล้านครั้ง คิดเป็นจำนวนครั้งที่คาดว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 30 บาททั้งสิ้นประมาณ 65 ล้านครั้ง คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท จะพบว่ารายได้จากการจ่ายร่วมเป็นมูลค่าที่น้อยนิดเพียงร้อยละ 1.75 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ต้องการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2552 ดังนั้นการร่วมจ่ายจึงไม่ใช่แหล่งทุนหลักที่จะใช้ในการแก้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาลเลย   ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่จำเลยที่ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล้มละลาย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการตั้งงบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาล เป็นระบบปลายปิด โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก จะเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว โอนตรงให้กับโรงพยาบาลเต็มจำนวน ตามการดูแลประชากรในความรับผิดชอบ ส่วนงบผู้ป่วยใน จะจ่ายตามน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือระบบดีอาร์จี (DRG) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลในราคาที่ตกลงล่วงหน้า โดยประเมินราคาบนต้นทุนของการรักษาที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะจ่ายให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในต่อครั้ง ทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ขณะเดียวกันรัฐก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และยังทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ เป็นระบบปลายเปิด ที่รัฐต้องจ่ายค่าบริการตามรายการและอัตราที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ และรัฐเองยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบการจ่ายเงินที่ให้แต่ละสถานพยาบาล ทำให้สถานพยาบาลไม่ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังเป็นช่องว่างในการแสวงหาผลกำไรเกินจำเป็น เช่น การจ่ายยา หรือเลือกใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แพงเกินจำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการล้มละลายสูง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้ หากรัฐบาลจะหันมาใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง นับเป็นการสร้างอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งที่เป็นบทบาทของรัฐในการจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพราะคนที่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้มาก ย่อมเข้าถึงการรักษาได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเป็นนโยบายที่...   “สร้างความเหลื่อมล้ำ ลดความเป็นธรรม ให้กับระบบสาธารณสุขของไทยอย่างชัดเจน”   อ้างอิงข้อมูลจาก “การพิจารณาความเหมาะสมในการใช้นโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาทต่อครั้ง ในการใช้บริการด้านสุขภาพของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการไปโรงพยาบาลของประชาชนภายใต้ระบบ UC กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ: ผู้ป่วยที่เคยไปรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ระยะเวลาที่ทำการสำรวจ: 10-15 กุมภาพันธ์ 2555 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 589 คน พบว่าเป็นเพศหญิง 390 คน (66.2%) เพศชาย 199 คน (33.8%) ตามลำดับ เป็นผู้ป่วยที่มีอายุอยู่ระหว่าง 1 – 90 ปี มีอายุเฉลี่ย 51 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 40.4 และพบว่ามีถึงร้อยละ 8.3 เป็นผู้ว่างงาน อาชีพหลัก จำนวน ร้อยละ รับจ้างทั่วไป 238 40.4 ค้าขาย 160 27.2 ทำสวน 4 0.7 แม่บ้าน/พ่อบ้าน 53 9.0 ธุรกิจส่วนตัว 13 2.2 นักเรียน นักศึกษา 20 3.4 อสม. 3 0.5 พนักงานบริษัท 5 0.8 สูงอายุ 35 5.9 เด็ก 0-6 ปี 9 1.5 ว่างงาน 49 8.3   รายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ระหว่าง 0-2,000 บาท (ประกอบธุรกิจส่วนตัว) โดยมีรายได้เฉลี่ย 210 บาทต่อวัน ในการรับบริการสุขภาพครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่ไปรับบริการที่โรงพยาบาล ร้อยละ 49.2   Frequency Percent ศูนย์บริการสาธารณสุข 170 28.9 คลินิก 129 21.9 โรงพยาบาล 290 49.2 Total 589 100.0 ในการรับบริการครั้งล่าสุดเป็นบริการแบบผู้ป่วยนอกถึง 538 ราย (ร้อยละ 91.3)   Frequency Percent ผู้ป่วยนอก 538 91.3 ผู้ป่วยใน 51 8.7 Total 589 100.0 การเจ็บป่วยในกรณีผู้ป่วยนอกนั้นกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 55) เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังไปรับการรักษาต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 28.3  (81 ราย)ผู้ป่วยเบาหวาน ร้อยละ 18.9 (54 ราย) และเป็นทั้งเบาหวานและความดันร้อยละ 17.1 (49 ราย) นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ HIV อีก 3 รายที่เข้ารับยาต้านไวรัส ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ โรคเรื้อรัง 286 55.0 มีไข้ ไอ 62 11.9 ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ 43 8.3 ปวดศีรษะ 20 3.8 โรคแผลในกระเพาะอาหาร 18 3.5 อุบัติเหตุ 15 2.9 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 12 2.3 ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ 11 2.1 ตรวจสุขภาพ 11 2.1 ทันตกรรม 9 1.7 ทำแผล 5 1.0 อื่นๆ 28 5.4 รวม 520 100.0   สำหรับความเจ็บป่วยในกรณีที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 7 ราย (ร้อยละ 13.7) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 5 ราย (ร้อยละ 9.8) ผู้ป่วยที่มาคลอดบุตร 4 ราย (ร้อยละ 7.8) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ 3 ราย ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง 3 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจ 3 ราย โรคมะเร็ง 2 ราย ตามลำดับ ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ เบาหวาน 9 17.6 ความดันโลหิตสูง 6 11.8 คลอดบุตร 4 7.8 ท้องเสีย 3 5.9 อุบัติเหตุ 3 5.9 หัวใจ 3 5.9 แผลในกระเพาะอาหาร 3 5.9 มะเร็ง 2 3.9 เข้ารับการผ่าตัด 2 3.9 อื่นๆ 16 31.4 Total 51 100   การเจ็บป่วยในครั้งล่าสุดนั้นต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป 224 คน คิดเป็นร้อยละ 38.0   ในการเดินทางไปใช้บริการครั้งล่าสุด ผู้ป่วยเดินทางด้วยรถ Taxi เป็นหลัก   Frequency Percent เดิน 27 4.6 รถเมล์ 80 13.6 รถมอเตอร์ไซค์ 128 21.7 เหมารถ 22 3.7 รถยนต์ส่วนตัว 36 6.1 Taxi 280 47.6 รถประจำทางในหมู่บ้าน 16 2.7 Total 589 100.0   ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการในแต่ละครั้ง แบ่งตามลักษณะการเข้ารับการรักษา พบว่า ตารางที่  ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาลและต้นทุนทางอ้อมในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ค่าเดินทาง 113 157 ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ 59 101 ค่าใช้จ่ายในการให้ผู้อื่นดูแลบ้านแทนตนเอง 2 5 ค่าขาดรายได้ในระยะเวลาที่เข้ารับบริการ 181 461   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน เป็นเวลาทั้งวัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานในวันนั้น   Frequency Percent ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 270 50.2 ไม่เกิน 6  ชั่วโมง 196 36.3 1 วัน 73 13.5   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยในนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 56.9 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน มากกว่า 1 วัน โดยเฉลี่ยเวลาที่เสียไปจากการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในอยู่ที่ 2.4 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานดังกล่าว   Frequency Percent 1 วัน 22 43.1 มากกว่า 1 วัน 29 56.9 Total 51 100.0   ความคิดเห็นต่อการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 67.8 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยและจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล   Frequency Percent เห็นด้วยเพราะโรงพยาบาลจะบริการดีขึ้น 142 24.1 เห็นด้วยเพราะจะได้ใช้บริการอย่างมีศักดิ์ศรี 47 8.0 ไม่เห็นด้วยเพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย 362 61.5 ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายไม่ได้รับการรักษา 37 6.3 แบบใดก็ได้ 1 0.2 Total 589 100   ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทนั้นส่วนใหญ่คิดว่าควรยกเว้นบางกลุ่ม เช่น ผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ไม่ต้องร่วมจ่าย   Frequency Percent ทุกคน 54 28.6 ยกเว้นบางกลุ่ม เช่นผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 135 71.4   189 100 ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.9) คาดหวังว่าจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ และมีการบริการที่ดีขึ้น   Frequency Percent คุณภาพ 134 70.9 ศักดิ์ศรี 51 27.0 มีส่วนร่วม 2 1.1 ไม่คาดหวังอะไร 2 1.1 Total 189 91.2    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 รักษาโรคทางโทรศัพท์

ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับคดีเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์มาฝากท่านสมาชิกฉลาดซื้อ ไม่อยากโม้มากเดี๋ยว บก.หาว่าอู้บทความมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ มาดูเรื่องจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552 จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง  แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง  แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม  ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่  ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด  ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ   เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ  หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง  โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน  อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการทำละเมิด  จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์  โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย  ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม  ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน  ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่  หมายเหตุผู้เขียน 1.คดีนี้ฟ้องคดีก่อนที่ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันคดีพิพาทที่คนไข้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลโดยมีสาเหตุเกิดจากการรักษาพยาบาลแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นคดีผู้บริโภคตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 58/2551 2.เมื่อเป็นคดีผู้บริโภคแล้วภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายแพทย์หรือโรงพยาบาลที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองรักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องรับผิด ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 บัญญัติว่า ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น 3.คดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิด รักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า โจทก์ยินยอมให้ยอมรับผลการรักษาแล้ว และจำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามในเรื่องความยินยอมของโจทก์ในการรักษาเป็นการอ้างข้อต่อสู้ตามหลัก “ ความยินยอมไม่เป็นละเมิด “ เห็นว่าคดีนี้แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 3 รักษาก็ต้องถือว่า เป็นการยินยอมให้รักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามีการรักษาบกพร่องผิดจากมาตรฐาน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ 4.คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียทั้งสิ้น 2,000,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน  จำเลยที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่าย  

อ่านเพิ่มเติม >