ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 แนวทางความเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง

11 พ.ค. 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน หรือ คอบช.โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลการกำหนดราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเวชภัณฑ์ ด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ปัญหาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงจนเป็นที่รู้กันนั้น แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนความคับข้องใจของคนไทย เมื่อนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ชักชวนประชาชนร่วมลงชื่อกับ www.change.org/privatehospitals เมื่อปี 2558 เพื่อนำรายชื่อเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล  “ทุกสื่อพร้อมใจกันประโคมข่าวชนิดที่ดิฉันไม่เคยเจอมาก่อน ต้องให้สัมภาษณ์ 3 คืน 4 วันติดกันจนไข้ขึ้น ผลคือประชาชนลงชื่อมากถึง 3.5 หมื่นชื่อในสองสัปดาห์” นางปรียนันท์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผลจากเสียงสะท้อนของคนไทย รัฐบาล คสช.ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้างผลงาน ท่านนายกรัฐมนตรีได้บัญชาการให้มีการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยแนวทางการแก้ไขที่วางไว้ในปีนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ได้จัดตั้งคณะทำงาน มุ่งแก้ไข 3 ประเด็นหลัก ได้แก่1. รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเว็บไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2. เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3. เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ฟรีทุกที ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีเพียงแนวทางที่ 3 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่สำเร็จ  นอกนั้นยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในระยะเวลาที่ผ่านมา  เกิดการผลักดันให้มีการควบคุมราคายา โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดให้ยาเข้าไปอยู่ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม  ซึ่ง ข้อ 3 (16) กำหนดให้ ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาตรการที่ได้มา ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหา   ความเคลื่อนไหวปี พ.ศ.2561เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้บทบาทของภาครัฐจะเริ่มอ่อนลงไป แต่ภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อ ในงานเสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ  ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราทุกคน เพราะทุกคนมีโอกาสจะป่วยหรือเป็นผู้บริโภคที่อาจต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ในช่วงปีที่ผ่านมา มูลนิธิผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ พบว่า หนึ่งในห้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับการร้องเรียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง” ดังนั้นภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่ ปี 2558 จึงต้องก้าวต่อไป       ฉลาดซื้อได้ร่วมฟังเสวนาดังกล่าว พบว่า มีสาระที่น่าสนใจและน่าจะพอเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เข้าใจร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับการที่จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอนำเนื้อหาโดยสรุปมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้  พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองกล่าวว่า ประสบการณ์ตรงคือ ญาติเส้นโลหิตในสมองแตก ถูกพาส่งโรงพยาบาลเอกชนตอนเที่ยงคืนในสภาพไม่รู้สึกตัว เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กว่าจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาคือบ่ายสองโมงของวันถัดมา ประสบการณ์นี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ ต้องตามตัวมาจากโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้สวนทางกับความคาดหวังของญาติคนป่วย ที่ต้องการรักษาชีวิตคนให้ทันท่วงที จึงรีบพามาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเรื่องที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ คงเป็นเพราะโรงพยาบาลต้องการ “ตัดค่าใช้จ่าย” นั่นเอง  ประเด็นต่อมาคือ กรณีของญาติเข้าข่ายเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตนเองพบว่า ทาง รพ.ไม่ได้แจ้ง สพฉ. ตามระเบียบปฏิบัติ การเข้ารักษาตัวเพียงสองวันต้องจ่ายเงินไปเกือบล้านบาท เพราะทาง รพ.ไม่ทำตามเงื่อนไข และเมื่อตนโพสต์เรื่องราวบนโซเชียล กลับถูกตอบโต้จากแพทย์คนหนึ่ง ที่มีนามสกุลเดียวกันกับกรรมการแพทยสภา นี่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่  บทเรียนครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะประเทศไทยเราไม่มีกฎกติกาอะไรที่จัดการปัญหานี้ได้ เคยลองศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนใหญ่ก็เป็นประโยชน์ต่อทางโรงพยาบาลทั้งนั้น ภาครัฐเองก็สนับสนุน เช่น นโยบาย Medical Hub, การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาผลกำไร ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกสิ่งในโลกเป็นทวิภาวะ คือมีสองด้าน โรงพยาบาลเอกชนมีด้านมืด โรงพยาบาลรัฐก็มีเช่นกัน การมองอะไรด้านเดียวจะทำให้เราถูกบีบให้คิดกว้างไม่ได้ เดิมสังคมมนุษย์อยู่กันด้วยความไว้วางใจ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านมีคนอยู่ร่วมกันมากมาย ความไว้ใจอาจไม่พอ ต้องมีรัฐเข้ามาเป็นคนจัดการ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจวางใจรัฐได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมวันนี้จึงมาถึงสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ย่อมถือเป็นกติกาที่วางใจได้  ยกตัวอย่าง “ถ้าตนเองมีเทคโนโลยีที่มีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่ในนี้และควบคุมมันได้  หมายถึงอนุญาตให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลนี้  วันหนึ่งเกิดป่วยต้องไปหาหมอท่านหนึ่ง และเห็นข้อมูลรายการความสามารถในการรักษาโรคของหมอท่านนี้ เช่น ผ่าตัดมา 100 ราย รอด 70 ราย และมีท่านที่ 2,  3,  4  ให้เปรียบเทียบพร้อมกับราคา เมื่อเห็นว่าหมอท่านนี้ท่าทางจะเก็บเงินน้อยที่สุดด้วยฝีมือที่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอนุญาตให้หมอเข้ามาหน้ากระดานอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นแปลว่า หมอสามารถเปิดดูข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้ และถ้าหากตั้งโจทย์ไปว่า วันนี้มียาอยู่ 5 รายการ  แต่มีอาการมึนๆ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากยาหรือไม่ ด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้นก็จะบอกได้ เช่นให้ตัดยารายการที่ 4 ออกน่าจะดีขึ้น  พอหมอให้ความรู้มาก็จ่ายเงินไปอาจจะเป็น bitcoin หรืออะไรก็แล้วแต่   supply chain ซึ่งเป็นคนให้ยาก็จะรู้เลยว่า รอบหน้ายาขนานนี้ไม่ควรจ่ายให้อีก  นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากัน” เรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้เกิดการทดลองขึ้นแล้วในหลายประเทศ  อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบสำเร็จที่จะให้ความหวังทั้งหมด  ในงานวิจัยของผมการได้ข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่มีระบบที่จะเข้าถึงได้ ต้องพลิกแพลง สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อจำแนกโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ ในตลาดหลักทรัพย์  นอกตลาดหลักทรัพย์ และมูลนิธิ  ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคและวิธีการรักษาที่ใกล้เคียงกัน  ราคาแพงที่สุดคือโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์  รองลงมาก็คือโรงพยาบาลนอกตลาดหลักทรัพย์ และถูกที่สุดคือโรงพยาบาลของมูลนิธิ  โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ราคาแพง เพราะถูกกดดันตามกติกาว่าต้องขยายผลกำไรและกิจการทุกๆ ปี คำถามคือ ถ้าฝากความหวังกับกลไกของรัฐ สามารถทำให้โรงพยาบาลเอกชนออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ราคาจะไม่แพงอย่างที่เป็นอยู่ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีอยู่สามประเภท มีราคาขายที่แตกต่างกัน  ทำอย่างไรที่เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลที่มีราคาขายถูกสุด มีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในภาคเอกชน ทพ.อาคม  ประดิษฐ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ สุขภาพ สำนักสถานพยาบาลและประกอบโรคศิลปะ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 350 กว่าโรง  และคลินิกเอกชนประมาณ 20,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลเอกชนเองมีหลายประเภท ที่ปิดกิจการไปจำนวนมากก็มี ตนเองเห็นด้วยกับ นพ.ไพบูลย์ ว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรเข้าตลาดหุ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นบริการทางการแพทย์เข้าตลาดหุ้นไม่ได้ หมอของโรงพยาบาลรัฐบาลจะไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน หรือหมอโรงพยาบาลเอกชนจะมารับราชการก็ไม่ได้ เขาห้ามและแยกเป็นสัดส่วนกัน   ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้รับนโยบายให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก แนวทางแยกเป็นสองเรื่อง คือ การแก้ไขปัญหายาราคาแพง กับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ปัญหาแรกที่แก้ไขคือเรื่องของยาเป็นสินค้าควบคุม ที่ออกจากกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน  ทำอย่างไรจะควบคุมราคายาจากต้นทางได้ กระทรวงพาณิชย์มีกรรมการ เรียกว่า กรรมการควบคุมสินค้าราคากลาง(กกร.) คณะกรรมการนี้มีอำนาจเข้าไปกำหนดราคาสินค้าจากต้นทาง จากโรงงานได้ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว กลับมาที่การควบคุมราคาบริการๆ ก็ผลักดันจนเกิดนโยบายเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรี 72 ชั่วโมง ซึ่งก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด แล้วเรื่องของค่ารักษาแพงได้ทำอะไรไปบ้าง ขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศ ตามมาตรา 3 เรื่องของการประกาศชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล  ยาเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล “การประกาศค่ารักษาพยาบาลต่อไปนี้ต้องทำเป็นแพ็คเกจ ถ้าราคาสามพันก็คือสามพัน จบกันแค่นี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม จะมาบอกว่าค่าผ้าก๊อซ ค่าเข็มฉีดยาเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมต้องแจ้ง  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ และเตรียมเสนอรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศออกมา น่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้” อย่างไรก็ตามประกาศฉบับนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดเรื่องราคาได้ เพราะบริการทางการแพทย์ไม่ใช่สินค้าควบคุม  ที่ทำได้คือ ต่อไปเมื่อโรงพยาบาลประกาศค่ารักษาพยาบาลแล้ว ต้องไม่เก็บเกินนั้น  ถ้าเกินคือผิดกฎหมายและมีบทลงโทษจำคุกด้วย ถ้าถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายเรื่องกำหนดหรือควบคุมราคาไหม มองว่าปัญหาที่จะตามมาคือ เรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ  เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีหลายระดับ ในเรื่องเดียวกัน การควบคุมอาจต่างกัน ต้องมีการคิดทบทวนพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประเทศเราขายบริการทางการแพทย์อยู่ ปีที่แล้วมีคนเข้ารับบริการที่ประเทศเรามากที่สุดในโลกด้วย  และวันนี้ถ้าเราจะคิดเรื่องของการคุมราคา  มีคนเสนอให้คิดคนไทยราคาหนึ่ง คนต่างชาติราคาหนึ่ง แบบนี้ก็มีเรื่องสองมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พูดกันตรงๆ ว่า ปัญหาอยู่ที่เวลาหน่วยงานรัฐทำงานไม่ค่อยให้ภาคประชาชนไปมีส่วนร่วม  จริงๆ แล้วเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่อยากแตะเรื่องค่ารักษาเลย  เพราะว่าแค่ทำเรื่องความเสียหายก็ทำไม่ทันแล้ว แต่ว่าบังเอิญได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาด้วย ปัญหาเรื่องการเก็บค่ารักษาแพงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ มีกรณีโรงพยาบาลเอกชนฟ้องร้องเรียกค่ารักษาจากคนไข้ ขนาดหน่วยงานอย่าง สปสช.บอกว่า คนไข้ไม่ต้องจ่าย แต่ในทางเอกสารหลักฐาน คนไข้จะแพ้คดี เพราะมีการเซ็นลายมือชื่อยินยอมไปแล้วว่า “ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น”   ถามว่าเซ็นทำไม เวลาจริงๆ ที่เราหรือญาติเรากำลังจะเป็นจะตาย พนักงานโรงพยาบาลจะเอาเอกสารมากมายมาให้ก็ต้องเซ็นทั้งนั้น ภาพคนแก่หอบโฉนดที่ดินเอาไปมอบให้ทนายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อชดใช้หนี้นั้น  มันเศร้ามาก ต่อมาที่เครือข่ายได้ทำแคมเปญลงลายมือชื่อเสนอนายกฯ ให้แก้ปัญหา ก็มีการสั่งให้ตั้งกรรมการแต่อย่างที่ท่าน ผอ.อาคมพูด ตั้งแล้วก็ทิ้งภาคประชาชนเอาไว้ข้างหลัง  ไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมเหมือนเราก็เต้นอยู่ข้างนอก พูดอะไรไปเขาไม่ให้ราคาเราเลย  คุยแต่วงราชการด้วยกัน หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้  ภาคประชาชนถูกละเลยอย่างชัดเจน ปัจจุบันปัญหาก็ยังอยู่จุดเดิม คือเมื่อเกิดเรื่องขึ้นประชาชนยังต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แค่ผู้บริโภคมีปัญหา สงสัยเรื่องบิลใบเดียว ค่าหมอ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ 1-2   รายการ  จำนวนเงินเป็นแสนๆ คืออะไรบ้าง  ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน ไม่มี  One Stop Service   ทางออกที่ ท่าน อ.ไพบูลย์ กับ ท่าน สว.เสนอ น่าสนใจมาก  แต่ในฐานะประชาชนที่นอนอยู่กับปัญหา วันนี้จึงขอถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเราอยากได้กรรมการที่จะเป็นจุดที่ช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงาน แค่ไปที่นี่ที่เดียว   ข้อเสนอและทางออกที่น่าสนใจจากวงเสวนา “ตอนนี้อยากขอให้ช่วยกันลงชื่อใน Change.org ให้ครบห้าหมื่น เพื่อยื่นนายกฯ อีกครั้ง ว่าขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล  เราเสนอชื่อไปเลยและฟอร์มทีมไปเลย ถ้าเราเอาห้าหมื่นชื่อไปยื่นแล้วรัฐบาลไม่ขยับ เราจะตั้งกันเองเป็น “แพทยสภาเพื่อประชาชน” คู่ขนานกันไป เวลาวินิจฉัยเรื่องอะไรให้ประชาชนร้องเข้ามา เราก็จะมีข้อมูล  โปรโมทกรรมการชุดนี้ให้เต็มที่เลย  หลังจากนั้นค่อยเคลื่อน เอานักวิชาการและผู้รู้เข้ามา” นางปรียนันท์  ล้อเสริมวัฒนา  “เพิ่มอำนาจซื้อของกองทุน ที่สหรัฐอำนาจซื้อของเขามากพอที่จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องกังวลที่จะถูกตัดทอนสิทธิ แต่ถามว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยส่วนใหญ่มาจากไหน คำตอบคือไม่ได้มาจากกองทุนของรัฐ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องคิดกลไกที่ให้รัฐไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนที่ทำตัวดีได้รับประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลที่มีปัญหา สุดท้าย ข้อเสนอของตนเองก็คือ การใช้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Block Chain  ที่ตัดคนกลางออกไปจากวงจรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่จะมาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการทุกชนิด จะทำให้การสื่อสาร  การรู้เท่าทันกันดีขึ้นมาก  รวมทั้งจะทำให้สังคมอยู่กันโดยมีกติกา  โดยที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับคนกลาง”    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  “ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปจ่ายเอกชน จ่ายให้รัฐดีกว่า รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากกฎหมายให้มากที่สุด สุดท้ายประชาชนต้องช่วยกันทำให้แพทยสภาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ไม่สับสนในบทบาทตนเอง” พ.ต.อ.รศ.พณาเจือเพชร์ กฤษณะราช--------------------------------------------4 ข้อเสนอของ คอบช. ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 25611. ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้ "บริการสาธารณสุข" เป็นบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการ สถานพยาบาลดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลส่งให้ทางกรมการค้า เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาควบคุม2. กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง อาทิ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการประกาศราคาควบคุมตามข้อ 13. พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและรับประกันการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกรณีจำเป็น เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค4. ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างเช่น "ยารักษาโรคซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่1 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค (16 )" เช่นเดียวกันกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย โดยให้มีการแจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธี

เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธีแม้ความขาวใสจะเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ปรารถนา แต่บางครั้งเราอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้ยารักษาฝ้าที่มีส่วนประกอบขอสารไฮโดรควิโนนมาทำให้หน้าขาวขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลเสียร้ายแรงต่อผิวได้ หรือเผลอใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวไปอย่างไม่รู้ตัว โดยเราจะมีวิธีเลือกอย่างไรให้ปลอดภัย ลองไปดูกันมารู้จักยารักษาฝ้ากันสักนิด หนึ่งในวิธีการรักษาฝ้าหรือกระที่แพร่หลาย คือการใช้ยาในกลุ่มที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบครีมและเจล เพราะไฮโดรควิโนนเป็นสารมาตรฐานสำคัญ ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง และส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ภายในเวลาที่รวดเร็วหรือประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาดังกล่าว จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ง่าย หรือสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง รวมทั้งส่งผลเสียต่อผิวพรรณได้ในระยะยาว สารไฮโดรควิโนนส่งผลเสียอย่างไรแม้สารไฮโดรควิโนนจะมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่ต้องใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์ และยังถูกสั่งห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดฝ้าที่มากกว่าเดิม หรือทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสและการระคายเคือง รวมทั้งอาจทำให้เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรหรือฝ้าเส้นเลือดได้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือสามารถทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ หรือเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้แนะวิธีการเลือกใช้อย่างปลอดภัยด้วยคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการรักษาฝ้า ทำให้ยาที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนนยังสามารถใช้ได้ แต่ในกรณีนี้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาดังกล่าวมาใช้เอง โดยควรเลือกซื้อตามร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี ต่างจากยาทั่วไปเช่น ยาแก้ปวดหัว ยาแก้ไอหรือยาแก้โรคหวัดบางชนิดที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อเองได้ทั้งนี้เราควรตรวจสอบข้อมูลสำคัญทางยาบนฉลากยา ได้แก่ ชื่อตัวยาสำคัญ วัตถุประสงค์หรือข้อบ่งใช้ คำเตือนหรือคำแนะนำ หรือเปอร์เซ็นต์ของยาให้อยู่ในปริมาณที่ อย.กำหนด (ไม่เกิน 2%) รวมทั้งควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด และทาเฉพาะจุดที่เป็นฝ้าเท่านั้น โดยหลังจากหยุดการใช้ยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนแล้ว ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องการอาการไวต่อแสงแดดสำหรับในส่วนของเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่แอบลักลอบใส่สารไฮโดรควิโนน ซึ่งผู้บริโภคอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว โดยจะทำให้ผิวขาวขึ้นเร็วผิดปกติ เพราะมักใส่สารดังกล่าวในปริมาณสูงนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการตรวจสอบฉลากว่ามีฉลากภาษาไทยหรือไม่ โดยอย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง ส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ และเลขที่จดแจ้ง ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำเลขที่จดแจ้งหรือชื่อเครื่องสำอางดังกล่าว เข้าไปสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ว่าตรงกับที่ระบุไว้ฉลากหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้เท่าทันการใช้เท้าเหยียบรักษาโรค(ตอนที่ 2)

การใช้เท้าเหยียบรักษาโรคเป็นการแพทย์แผนไทย หรือการนวดไทยหรือไม่ เรามารู้เท่ากันกันต่อการนวดไทยมีการใช้เท้าเหยียบหรือไม่ การนวดไทยแท้มีการใช้ทุกส่วนของร่างกายของหมอนวดเพื่อกด บีบ คลึง ลูบ ร่างกายและจุดต่างๆ ของผู้ป่วย เพื่อรักษาอาการต่างๆ โดยเฉพาะ ปวดเมื่อย การติดขัดของข้อ และโรคต่างๆ  ดังนั้นการใช้ศอกและเท้าจึงเป็นวิธีการหนึ่งของการนวดไทย การใช้เท้านิยมใช้ในนวดไทยและนวดพื้นบ้านที่เรียกว่า ย่ำขาง หรือเหยียบเหล็กแดง  โดยการใช้ส้นเท้าเหยียบบนเหล็กผานไถที่เผาบนเตาถ่านให้ร้อนจนแดง หมอนวดจะใช้น้ำมันทาที่ส้นเท้าแล้วเหยียบลงบนเหล็กที่ร้อนแดงอย่างรวดเร็ว แล้วนำส้นเท้าที่มีความร้อนไปกดตามแนวเส้นและจุดต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อให้เส้นและกล้ามเนื้อของผู้ป่วยที่เกร็ง หดตัว เกิดการคลายตัว และเลือดลมไหลได้สะดวก  การต้องใช้เท้าเหยียบเพราะผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจะมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมาก ดังนั้นการใช้มืออาจให้แรงกดไม่พอ จึงต้องใช้เท้าในการกด ในอินเดียก็มีการใช้เท้าเหยียบเพื่อรักษาเช่นเดียวกัน โดยมีเชือกสำหรับหมอนวดโหน และสามารถขึ้นไปเหยียบนวดบนตัวผู้ป่วยได้ แต่การนวดไทยไม่มีการใช้เท้าเหยียบบนใบหน้า ศีรษะของผู้ป่วย เพราะคนไทยถือว่าศีรษะเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ จึงไม่สมควรที่จะใช้เท้าหมอนวดไปทำกับศีรษะและใบหน้าผู้ป่วย นอกจากนี้บนใบหน้ายังมีเส้นประสาท 12 คู่ ดังนั้นการใช้เท้าเหยียบอาจทำให้เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บศาสตร์พลังบำบัดมีการใช้เท้าหรือไม่   ตามหลักโยคะศาสตร์ เชื่อว่า ร่างกายมนุษย์มีศูนย์รวมพลัง ที่เรียกว่า จักระ อยู่ 7 แห่ง บนศีรษะ ใบหน้า และคอ มีจักระ 3 จักระ ได้แก่  วิสุทธิ  ตั้งอยู่บริเวณคอ ตรงกับร่างแหระบบประสาทที่คอ จักระนี้ควบคุมความบริสุทธิ์ ทำให้มีความสุขุม อัชณา ตั้งอยู่บริเวณหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสอง ที่เรียกว่า ตาที่สาม  จักระนี้ควบคุมความหยั่งรู้ทางจิต พลังทางจิตวิญญาณ สหัสสราร ตั้งอยู่ในสมอง กลางศีรษะ เปิดรับพลังจักรวาล เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้  จักระทั้ง 7 เชื่อมต่อกันแนวทางเดินของพลังที่ชื่อว่า อิทะ ปิงคละ และสุสุมนะ  ซึ่งการนวดไทยก็เชื่อว่ามีพลังตามแนวเส้นประธานสิบเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อดูตามหลักของศาสตร์เรื่องพลังตามแนวโยคะ จะเห็นว่า ศีรษะ ใบหน้า คอ เป็นตำแหน่งของจักระสำคัญ 3 จักระ และไม่มีการใช้เท้าในการกระตุ้นพลังตามจักระต่างๆ  การบำบัดด้วยพลังตามศาสตร์อื่นๆ ก็ไม่พบว่ามีการใช้เท้าเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดด้วยพลังโดยสรุป  การใช้เท้าเหยียบหัว หน้า หรือตามร่างกายเพื่อบำบัดรักษาโรคจากโรคเวรโรคกรรมที่ต้องอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ด้วยพิธีการสื่อสารพลังจิตจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรกนั้น ไม่ได้มาจากพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน และไม่ใช่ศาสตร์การแพทย์แผนไทย การนวดไทยอีกเช่นเดียวกัน  การบำบัดด้วยศาสตร์พลังบำบัดต่างๆ ก็ไม่มีการใช้เท้าในการบำบัดแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 รู้เท่าทันการใช้เท้าเหยียบรักษาโรค (ตอนที่ 1)

ระยะนี้มีข่าวดังทั้งในโลกออนไลน์และโทรทัศน์ มีการแชร์ภาพชายที่อ้างตัวว่ามีพลังจิต ใช้เท้าเหยียบหัว หน้า หรือตามร่างกายเพื่อบำบัดรักษาโรคได้  ชายดังกล่าวอ้างว่า ตนมีพลังจิตที่สามารถบำบัดผู้ป่วยให้หายจากโรคได้ ด้วยพิธีการสื่อสารพลังจิตจาก สมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก โดยการใช้มือ หรือเท้า เป็นสื่อกลางไปที่ผู้ป่วยให้หายจากโรคหรือดีขึ้นในทันที โรคหรือการป่วยไข้ต่างๆ มาจากโรคเวรโรคกรรมที่ต้องอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ทำให้หายจากโรคได้หลายชนิด เช่น กระดูกหัก เอ็นขาด ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อรับบำบัดแล้วก็สามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติในทันที เรามารู้เท่าทันการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบกันเถอะพระพุทธเจ้าโปรดการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบจริงหรือ  ชายผู้นี้อ้างการรักษานี้ว่าใช้การสื่อสารพลังจิตจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก  เราต้องมาดูหลักฐานกันว่า พระพุทธเจ้าโปรดการใช้เท้าเหยียบเพื่อการรักษาโรคจริงหรือไม่ การแพทย์ดั้งเดิมในอินเดียก่อนกำเนิดพระพุทธศาสนานั้นเป็นการแพทย์ในยุคพระเวทตอนต้น คือ เชื่อว่า โรคเกิดจากภูติผีปีศาจและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์  จะมีการท่องคาถาที่มีพลัง รวมทั้งการใช้เครื่องรางของขลังเพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจที่ทำให้เจ็บป่วยและป้องกันไม่ให้มารบกวนอีก เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาขึ้น ได้มีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพภายในวัดวาอาราม ทำให้ การแพทย์อายุรเวทของฮินดูที่เป็นการแพทย์แบบไสยศาสตร์-ศาสนา เปลี่ยนมาเป็นการแพทย์แบบประจักษ์นิยมและเหตุผล ซึ่งพัฒนามาจากจากปรัชญาคำสอนของพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก พบหลักฐานสำคัญว่า1) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องดูแลพระภิกษุที่อาพาธ โดยตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอยพยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาลพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด  สงฆ์ต้องพยาบาลภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”2) พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยเฉพาะ การแก้บน ร่ายมนต์ขับผี ปรุงยา ทำการผ่าตัด เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก เป็นต้น  3) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีทั้งหลาย (ใช้ภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี คฤหัสถ์ ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ) เป็นอาบัติ ยกเว้นการนวดในภิกษุณีที่อาพาธ  จากหลักฐานต่างๆ แสดงว่า • การแพทย์ในสายพระพุทธศาสนาเป็นการแพทย์ที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่การแพทย์แบบไสยศาสตร์ เพราะไม่ใช่หนทางสู่ความจริงแท้และเป็นอิทัปปัจจยตา• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุดูแลพระภิกษุที่อาพาธ แต่ไม่ส่งเสริมให้ภิกษุประกอบวิชาชีพที่เป็นแพทย์โดยตรง• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีที่ไม่อาพาธเป็นอาบัติ ดังนั้นการใช้เท้าเหยียบเพื่อความงามจึงเป็นอาบัติพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงการแพทย์จากไสยศาสตร์ของฮินดูมาสู่การแพทย์แบบประจักษ์นิยมของพุทธศาสตร์ การอ้างพลังจิตของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะองค์ไหนก็ตาม  จึงเป็นมิจฉาทิฎฐิติดตามฉบับหน้าครับ ว่าการใช้เท้าเหยียบนั้นมาจากการการแพทย์แผนไทยหรือไม่ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้าวรักษาเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานมักจะได้รับคำเตือนให้ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล รวมทั้งจำกัดปริมาณข้าวไม่ให้รับประทานมากเกินไปเพราะแป้งในข้าวมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่วันนี้มีผลิตภัณฑ์ข้าวบรรเทาเบาหวาน ... มันคืออะไร? มีผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งแผ่นพับโฆษณามาให้ผมดู พร้อมทั้งถามว่า “มันรักษาเบาหวานได้จริงหรือ?” โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ วันหนึ่งมีบริษัทมาขายข้าว โดยให้ข้อมูลว่าข้าวชนิดนี้เป็นข้าวที่รักษาเบาหวานได้ ในระหว่างขายสินค้า ก็จะมีผู้คนที่อ้างว่าเป็นเบาหวานและปัจจุบันหายจากโรคนี้แล้ว เพราะกินข้าวชนิดนี้ ราคาขายกิโลกรัมละ 220 บาท ถ้าสมัครเป็นสมาชิกจะเหลือกิโลกรัมละ 175 บาท ตนเองสงสัยว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาทเอง ทำไมข้าวชนิดนี้ถึงราคาแพงมาก แล้วมันดีจริงหรือผมดูผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็เหมือนข้าวสารทั่วๆไป แต่ที่น่าสนใจคือรายละเอียดในแผ่นพับ อธิบายว่า ข้าวชนิดนี้เป็นนวัตกรรมโภชนาการบำบัด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหาน และบุคคลทั่วไป ผลิตโดยกระบวนการพิเศษ ทำให้ลดแป้งในเม็ดข้าว ทำให้การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลช้าลง ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้หมด ไม่เหลือในระบบเลือด (เบาหวานลด) นอกจากนี้ก็มีเนื้อหาที่อธิบายโรคแทรกซ้อนในเบาหวาน รวมทั้งอธิบายคุณสมบัติของข้าวชนิดนี้ว่า จะมีสารสกัดน้ำมันรำข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว และมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย สามารถช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงโรคสายตา บำรุงผิวพรรณ ทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ฯลฯ รวมทั้งมีการอ้างอิงวิชาการต่างๆ ด้วย ซึ่งหากดูข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ระบุชัดเจนว่ารักษาโรคได้ โดยพยายามเลี่ยงมาใช้คำว่า “ลด” ความเสี่ยงต่างๆแต่ที่น่าประหลาดใจคือ ข้อความจากรูปถ่าย ป้ายโฆษณาที่ผู้ขายนำมาตั้งไว้ระหว่างขาย กลับแสดงรูปผู้ป่วยหลายคน(บางรายมีแผลลุกลามที่ขา) และมีข้อความโฆษณาสรรพคุณของข้าวชนิดนี้ อย่างเข้มข้นกว่าในแผ่นพับ เช่นระบุว่า ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน  ป้องกันโรคเบาหวาน  ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคสมองเสื่อมผู้บริโภคถามว่า ตนควรจะกินข้าวนี้แทนข้าวกล้องที่กินประจำดีไหม ผมจึงแนะนำไปว่า การรับประทานข้าวกล้องก็ได้วิตามินและแร่ธาตุอยู่แล้ว  ข้าวชนิดนี้มีการอ้างกรรมวิธีการผลิต  ซึ่งผมไม่ทราบว่ากรรมวิธีการผลิตที่แท้จริง  มันจะเป็นอย่างที่โฆษณาหรือไม่ มีข้อสังเกตสองสามอย่างคือ  ข้าวชนิดนี้ราคาจะแพงกว่าข้าวทั่วๆ หลายเท่า และข้อความที่โฆษณาหลายอย่าง โดยเฉพาะในป้ายที่ตั้งโฆษณา เป็นข้อความที่เข้าข่ายเสมือนเป็นยารักษาโรค ซึ่งในแง่ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถโฆษณาแบบนี้ได้ หากจะโฆษณาแบบนี้จะต้องพิสูจน์ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายอมรับว่ามีสรรพคุณดังกล่าวจริงและต้องมาขอขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย  นอกจากนี้ฉลากโภชนาการที่แสดงด้านหลังภาชนะบรรจุ ก็ไม่ใช่แบบที่ถูกต้อง แสดงว่ายังไม่ได้ขออนุญาตใช้ฉลากที่แสดงคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณค่าสารอาหารที่อ้างว่ามี ตรงกับที่แสดงในฉลากหรือไม่ เพราะเมื่อไม่ได้มาขออนุญาต จึงไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2560“เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” รักษาโรคไม่ได้ใครที่กำลังคิดจะซื้อ “เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” เพราะเชื่อตามโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้ เพราะล่าสุด อย. ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า อุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ไม่ได้มีไว้เพื่อผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์บำบัดด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าสถิตอุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ซึ่ง อย.กำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ว่าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตเฉพาะที่ชั่วคราว หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้ และต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เรื่องการรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยต้องสูญเสียโอกาสและเวลาในการรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวโดยเปล่าประโยชน์อย.ได้กำหนดโทษการโฆษณาที่เป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคเข้าใจของสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ คือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ อะลูมิเนียมใส่อาหารได้ไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่มีความร้อน ว่าจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอ้างว่าอะลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายปนลงในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อระบบสมอง ทำให้ความจำลดลงและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งจะทำลายแคลเซียมในร่างกายมีผลต่อกระดูก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค จนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมด้วยผลการทดสอบ ยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ใช้ในการห่อหุ้มอาหารปลอดภัย และไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม แบ่งเป็นภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่าง และแผ่นเปลวอะลูมิเนียม(ฟอยล์) 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบในภาวะที่สุดโต่ง ด้วยสารละลายกรดอะซิติก ที่อุณหภูมิน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่า มีอะลูมิเนียมละลายจากภาชนะหุงต้ม ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้งหมด ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1,032 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรนอกจากนี้ยังมีการทดสอบเรื่องการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาที เพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่า การละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากๆ อยู่ในช่วง 0.047 - 0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะหรือห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ครีมกันแดดในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยเอสแอลอีเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี(SLE) มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี ล่าสุดในงาน “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” จึงได้มีข้อเสนอที่อยากให้มีการเพิ่มครีมกันแดดเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบประกันสุขภาพของรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอสแอลอี สามารถเข้าถึงครีมกันแดด ซึ่งถือเป็นเวชภัณฑ์สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า แดดในเมืองไทยแรงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยอาการของโรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากครีมกันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ทั้ง ปวดบวมตามข้อ อาการต่อระบบไต ระบบเลือด และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงอัลตราไวโอเลต คัดค้านขยายสิทธิผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปีจากการที่สำนักงานประกันสังคมมีนโยบายที่จะขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานที่อยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสิทธิต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปีแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านจากองค์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) โดยทั้ง 2 องค์กรเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลดทอนสิทธิมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน การขยายระยะเวลาในการอยู่ภายใต้สิทธินั้น หากมีการนำมาใช้จริงก็ควรเป็นไปแบบสมัครใจ สำหรับประเด็นที่ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้นานขึ้น องค์กรที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นเตรียมทำมาตรฐานน้ำดื่มแห่งชาติกรมอนามัยเตรียมทำร่างมาตรฐานน้ำบริโภค ที่จะเป็น “มาตรฐานกลาง” ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมี ร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70โดยกรมอนามัยจะเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ทั้ง น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กระแสต่างแดน

ยาลดภาษีค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น  ถึงขั้นมีสำนวน “หาหมอเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ” แม้แต่คลินิกชุมชนกลายเป็นแหล่งแฮงเอาท์ของผู้สูงอายุที่มาพบทั้งแพทย์และเพื่อนไปในคราวเดียว รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิกด้วยนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ที่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาชนิดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแก้หวัด แก้ปวด ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ครีมทาสิว(รวมทั้งหมด 1,600 ผลิตภัณฑ์ 83 ตัวยา)แต่หลักฐานการขอคืนภาษีไม่ใช่แค่ใบเสร็จค่ายาที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 12,000 เยน(ประมาณ 3,800 บาท) คุณต้องมีหลักฐานว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วยด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพ รับวัคซีน  คัดกรองภาวะอ้วน หรือตรวจหามะเร็ง  อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลขอคืนภาษีได้อยู่แล้วหากมีค่าใช้จ่ายเกิน 100, 000 เยน เพียงแต่ปีนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่ไม่ต้องการพบแพทย์ คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังประมาณการว่าจะขาดรายได้ 3,000 ล้านเยนต่อปี แต่ก็น่าจะคุ้มเพราะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และยังลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศที่นับวันมีแต่จะเพิ่มเพราะประชากรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ขาดแคลนก๊าซ  ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและอุตสาหกรรมในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกสามปีข้างหน้าเขาจะแซงกาตาร์ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลกแต่ขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลน LNG และต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำนายกฯ จึงเรียกบริษัทด้านพลังงานอย่าง เชลล์ เอ็กซอนโมบิล และซานโตส มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ในขณะที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็เตรียมจะตรวจสอบโครงสร้างราคาก๊าซทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก เพื่อให้ตลาด LNG มีความโปร่งใสขึ้น … เรื่องนี้ต้องติดตาม ราคาไม่บันเทิง เว็บไซต์ Viagogo และ Ticketmaster Resale เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนที่มีตั๋วคอนเสิร์ตแต่ไม่ว่างไปดู กับคนที่มีเวลาไปดูแต่ไม่มีตั๋ว... ฟังดูน่าจะดี แต่กลับมีปัญหาร้องเรียนมากขึ้นทุกวันCHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียประณามการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของสองเว็บนี้ ทั้งเรื่องของราคาตั๋วที่แพงลิบลิ่วและการปล่อยให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค  ทางเว็บบอกว่าผู้ขายเป็นฝ่ายกำหนดราคา แต่ที่ไม่ได้บอกคือ Ticketmaster Resale คิดค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 21 ในขณะที่ Viagogo หักร้อยละ 28 แถมยังไม่มีบริการดูแลลูกค้า ส่งอีเมลไปก็ไม่มีใครตอบ แฟนเพลงของจัสติน บีเบอร์ ต้องจ่ายถึง 2,587 เหรียญ (67,000 บาท) สำหรับตั๋วราคา 525 เหรียญ ในขณะที่มีคนยอมจ่าย 5,000 เหรียญ (130,000 บาท) สำหรับที่นั่งในโซนที่ดีที่สุดในการชมคอนเสิร์ตของอเดล (ราคาจริง 750 เหรียญ)  อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ที่นั่งที่ต้องการ บางคนจ่ายราคาที่นั่งในโซนสำหรับรถเข็นแต่กลับได้นั่งในโซนธรรมดา บางคนเข้างานไม่ได้เพราะตั๋วซื้อมาในราคา 850 เหรียญเป็นตั๋วปลอม ของนอกดีกว่าเกษตรกรชาวเวียดนามไม่ค่อยปลื้มกับเขตการค้าเสรีอาเซียนเท่าไรนัก เพราะผักผลไม้ที่นำเข้าจากไทยกำลังทำให้พวกเขาเดือดร้อนปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 (จีนครองร้อยละ 19)เกษตรกรกลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับไทยแบบตัวต่อตัว นำเข้าเฉพาะผัก ผลไม้ที่เวียดนามปลูกไม่ได้ และห้ามนำเข้าผลไม้อย่างลำไย มะม่วง ทุเรียนและแก้วมังกรที่เกษตรกรของเขาปลูกอยู่แล้วอีกกลุ่มบอกว่าการกีดกันทางการค้าคงช่วยไม่ได้มาก เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าผลไม้ที่ปลูกในประเทศนั้นไม่ปลอดภัย และของจากไทย “ดีกว่า” ทั้งคุณภาพและราคา เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (VietGap) ให้ได้ก่อนนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จำกัดส่วนแบ่งตลาดสำหรับชาวต่างชาติไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 เพราะธุรกิจค้าส่งและกระจายสินค้าเริ่มตกมาอยู่ในมือนักธุรกิจไทยมากขึ้น …  ต้องเร็วกว่าเดิมเวียดนามก็ติดอันดับเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ต่อประชากร 100,000 คน/ปี อยู่ที่ 24.5 คน (ของไทย 36.2) ในช่วงสามวันอันตรายเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาเวียดนามมีผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย (ของไทยก็ 55 รายเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขต่อวันในช่วงสงกรานต์)  ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทางหลวงในรัศมี 50 กม. จัดบริการฉุกเฉินไว้รองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บไม่รุนแรง เพราะไม่มีการดูแลเบื้องต้นและผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป  นโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงยังขลุกขลักอยู่บ้างทั้งเรื่องการประสานงานและจำนวนรถพยาบาลที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วมันจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10 แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ได้สัมปทานทำถนนควรให้ความสนใจกับที่พักริมทางหรือศูนย์แพทย์ฉุกเฉินบ้างและหวังว่าทางหลวงใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก 21 สายจะมาพร้อมศูนย์ฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 รู้เท่าทันปลิงบำบัด

กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ถ้าเราเข้าไปดูในยูทูปจะเห็นการใช้ปลิงบำบัดเต็มไปหมด ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน  ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง  ดาราดังในฮอลีวูดเช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008  ปัจจุบันดาราฮอลลีวูดมีการใช้ปลิงบำบัดในการทำให้ใบหน้ากลับมาเต่งตึงโดยไม่ต้องผ่าตัด  เรามารู้เท่าทันปลิงบำบัดกันเถอะความเป็นมาของปลิงบำบัด การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง  เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรคโดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน การบันทึกเกี่ยวกับปลิงบำบัดที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคำภีร์ศูสรุตสัมหิตตา เขียนขึ้นโดย ศูสรุตในปี ค.ศ. 800 ก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าเป็นวิธีการเอาเลือดออก ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง อาการปวดร้าวไปที่ขา และอาการปวดกล้ามเนื้อ   เขาอธิบายว่า ปลิงมี 12 ชนิด เป็นพิษ 6 ชนิด และไม่เป็นพิษ 4 ชนิด การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดียปลิงรักษาโรคได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ การศึกษาจำนวนมากพบว่า ในน้ำลายของปลิงประกอบด้วยสารโปรตีนจำนวนมาก ได้แก่ แอนติทรอมบิน (สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารสำคัญมีชื่อว่า ฮิรูดิน ทำให้ปลิงบำบัดมีชื่ออีกชื่อว่า Hirudin Therapy)  แอนติเพลตเลต สารต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมาก  การพบว่ามีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้ปลิงบำบัดหวนกลับมาเป็นวิธีการรักษาที่นิยมอีกครั้งเพื่อใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคติดเชื้อ  ในคริสตศตวรรษที่ 20 วงการศัลยกรรมตกแต่งและจุลศัลยกรรมเริ่มใช้ปลิงบำบัดในการป้องกันการบวมจากหลอดเลือดดำ และการต่อนิ้วและเนื้อเยื่อต่างๆ  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เพื่อความงาม  ในปีค.ศ. 2004  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองการใช้ปลิงเป็นอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และการทบทวนของห้องสมุด Cochrane ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ  การทบทวนพบว่า มีการใช้ในการบำบัด ฝีหนอง ต้อหิน เส้นเลือดดำอุดตัน  และมีการใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิง แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 2: วิธีการ

ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการจาก World Cancer Research Fund (WCRF) เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ซึ่งได้แก่ อาหารการกินซึ่งนัยหนึ่งคือพฤติกรรมการบริโภค น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอต่อถึง ข้อแนะนำจาก WCRF ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้เขียนได้แทรกหลักการทางวิทยาศาสตร์บ้างพอสังเขป ดังนี้ผักมีแป้งต่ำ(Non-starchy vegetables) เช่น ผักตระกูลกระหล่ำ(กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) นั้นเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปาก คอ และทางเดินอาหาร ด้วยเหตุผลที่ทราบกันดีในวงการวิชาการว่า ผักในตระกูลกระหล่ำปลีนั้น มีพฤษเคมีกลุ่มกลูโคซิโนเลท ซึ่งเมื่อถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส(myrosinase) ของผักที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขณะการหั่น ซอย ตำ เปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่กระตุ้นระบบทำลายสารพิษของตับให้ทำงานดีขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การบริโภคอาหารของชาวจีน ซึ่งมีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมถึงสองเท่าผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เช่น กล้วยให้ใยอาหารซึ่งเป็นโปรไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ดังนั้นมังคุดจึงน่าจะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ส่วนองุ่นสีเข้มนั้น ถูกทดสอบพบว่าต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ และส้มนั้นเป็นผลไม้ที่พบว่ามีสารขมชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเอง การขยับเขยื้อนร่างกาย(Physical activity) เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูก(ของสตรีหมดประจำเดือน) ทั้งนี้เพราะในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อนโดยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นและได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งใยอาหาร(Dietary fiber) อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชพวกหัวต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระ จึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะถ่ายอุจจาระแบบสบายๆ อย่างน้อยวันละครั้ง การถ่ายอุจจาระนั้นเป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายซึ่งขึ้นกับปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งใยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติในการจับสารพิษ(ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดีจึงลดโอกาสการดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายที่ผนังลำไส้ใหญ่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้คือ บางชนิดเป็นแหล่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี(soluble fiber) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสในลำไส้ใหญ่ที่กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งการให้นมลูก(Breast feeding) เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม ข้อมูลลักษณะนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 ซึ่งพบว่า สตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือต่อเนื่องหลายคน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่ไม่ให้นมลูก ต่อมาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine โดยศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่าสตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอัฟริกันนั้นปรกติมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง แต่การให้นมลูกได้ลดปัญหาดังกล่าวให้น้อยลงกาแฟ อาหารนี้มีข้อมูลทางการวิจัยว่า การดื่มกาแฟซึ่งไม่เข้ม ไม่มันและไม่หวานจัดเป็นประจำนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก ทั้งนี้เพราะกาแฟมีสารก่อมะเร็งในปริมาณน้อยที่สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมกำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการระบุระดับการดื่มที่แท้จริงเพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในแต่ละบุคคลนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ในการแนะนำให้ดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนนั้นเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาได้กัดผนังกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง(Diets high in calcium) โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีผลทางอ้อมต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่า แคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้ ในตำราบางเล่มกล่าวว่า การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันในคนปรกติหรือ 3 กรัมต่อวันในคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่องอาจก่ออันตรายได้ จึงยังไม่ควรแนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย และนม เป็นต้น การได้แคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายของคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีแดดอ่อนนั้น อาจต้องเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะวิตามินดีนี้ช่วยให้แคลเซียมถูกดูดซึมและใช้งานได้ ส่วนคนไทยทั่วไปนั้นอาจไม่จำเป็น ถ้าได้ถูกแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ ยกเว้นคนไทยที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ เพื่อเข้าทำงานในตึกซึ่งปิดสนิทเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา โดยทำงานจนถึงเวลาไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน คนไทยกลุ่มนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีและมักมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงแม้ได้แคลเซียมเพียงพอกระเทียม เป็นเครื่องเทศชนิดที่เชื่อกันว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างได้ โดยกระเทียม(อาจรวมถึงหัวหอม) เป็นพืชที่ให้กลิ่นและรส ซึ่งช่วยให้อาหารไม่จืดชืด มีการศึกษาพบว่า หลังการทุบสับซอยกระเทียมและหัวหอมนั้นมีสารประกอบกัมมะถัน (Organosulfur) ถูกเปลี่ยนแปลงให้สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมทำลายสารพิษทำงานได้ดีขึ้น จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการนำเสนอประเด็นที่นักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขภาพของร่างกายและการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง ได้ให้คำแนะนำพร้อมประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนโดยหวังว่า ถ้าใครปฏิบัติตามแล้วควรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลงกว่าผู้ไม่ปฏิบัตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนธันวาคม 2559“ขนมควันทะลัก” กินได้แต่ต้องระวัง!!!“ขนมควันทะลัก” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนมชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมแล้วมีการนำ “ไนโตรเจนเหลว” มาเทใส่ทำให้เกิดควันลอยกระจายขึ้นมา เมื่อตักขนมเข้าไปในปากก็จะเกิดควันลอยออกมา มีกระแสข่าวลือตามว่า ไนโตรเจนเหลวที่นำมาผสมในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย รุนแรงถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า ก๊าซไนโตรเจน เป็นก๊าซที่มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาบีบอัดด้วยแรงดันสูงทำให้ก๊าซชนิดนี้อยู่ในรูปของเหลวและมีอุณหภูมิติดลบถึง 196 องศาเซลเซียส เมื่อนำมาเทใส่ในอาหาร เช่น ไอศกรีม เจลลี่ หรือ ค็อกเทล จะทำให้เกิดเป็นควันลอยขึ้นมา ซึ่งการรับประทานไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุตามที่มีการแชร์กัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานขณะที่ควันยังอยู่ในอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก ไม่ควรสูดดม และสัมผัสกับไนโตรเจนเหลวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสเกิดรอยแผลหรือรอยไหม้ได้ใช้แอพฯในมือถือเช็คมาตรฐานรถฉุกเฉินรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ถือเป็นหน่วยแรกที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนถึงมาตรฐานของรถพยาบาลเข้ามายังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. ก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้เพื่อวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อว่า “EMS Certified” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันไหนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วบ้าง โดยสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. หรือไม่ และ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่ที่ผ่านมา สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุก ที่มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ภายนอกต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 แสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ส่วนภายในรถก็ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง เฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิงสพฉ.ให้ข้อมูลเสริมว่า มีรถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ยังมีบ้างในบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการรับรอง แต่กำลังเร่งดำเนินการรับรองให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดโดยผู้ที่ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับกรมอนามัยชู “พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง” ส่งเสริมการบริโภคนมแม่กรมอนามัย ยืนยัน “พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” เป็นประโยชน์ต่อแม่และทารก ช่วยส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการให้เด็กรับประทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ขวบเป็นอย่างน้อย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก นมผงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับแม่ที่มีปัญหาเรื่องผลิตน้ำนมนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม เหตุที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว แม้จะมีความพยายามจากสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กหรือเพียงสูตรสำหรับเด็กอายุ 1 ปีเท่านั้นนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นโฆษณาที่พยายามส่งเสริมให้เด็กเล็กหันมากินนมผงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบลดแลกแจกแถม การเพิ่มสารอาหารต่างๆ ลงไป รวมทั้งการสื่อเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกว่าเด็กที่กินนมผงจะมีความรู้ความฉลาดและร่าเริงกว่าเด็กทั่วไปข้าราชการค้านย้ายสิทธิรักษาพยาบาลให้บริษัทประกันจากการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะโอนย้ายระบบสิทธิดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่รัฐเป็นผู้ดูแล ไปให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารงานทั้งหมดแทน โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการรั่วไหลของงบประมาณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากข้าราชการที่เกรงว่าการให้บริษัทประกันดูแลจะมองแต่เรื่องของผลกำไร ขาดทุน เป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ข้าราชการไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิที่ตัวเองควรได้รับอย่างเต็มที่โดย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้แถลงคัดค้านกรณีดังกล่าว นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การโอนสิทธิไปให้บริษัทประกันเอกชนบริหารอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งให้บริษัทเอกชนมาบริหารกว่าร้อยละ 40 ซึ่งบ่อยครั้งที่เมื่อมีผู้ประสบภัยมาขอรับการเยียวยา มักจะพบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่ทำได้ยาก มีความล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน ผู้ประสบภัยจากรถหลายคนต้องเลี่ยงไปใช้สิทธิด้านอื่นทั้งจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ที่มีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่สะดวกกว่าปัจจุบันเงินที่ดูแลระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท/ปี แน่นอนว่าเมื่อโอนย้ายไปให้บริษัทเอกชนดูแล งบประมาณจะต้องลดลงทันทีเพราะบริษัทจะกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหารจัดการ 10-25% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระทบต้องการดูแลเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่มากก็น้อย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >