ฉบับที่ 257 ทำอย่างไรไม่ให้เสื้อผ้าเหม็นอับ ช่วงหน้าฝน

        ฤดูฝน คือฤดูแห่งความชื้นและเฉอะแฉะ หลายคนที่ต้องเดินทางบ่อยอาจจะไม่ชอบกันสักเท่าไรกับฤดูกาลนี้ เพราะเสี่ยงเจอน้ำท่วมจากฝนตกหนัก น้ำรอการระบายและเสี่ยงเปียกฝนไปทั้งตัวจนเป็นหวัดอีกต่างหาก สำคัญ...หลายคนคงจะมีปัญหากับเรื่องเสื้อผ้าเหม็นอับกันอีกด้วย เนื่องจากการตากผ้าที่บางครั้งเสื้อผ้ายังไม่ทันแห้งดีฝนก็กระหน่ำตกลงมาจนทำให้เสื้อผ้าแห้งไม่สนิท ตามมาด้วยกลิ่นเหม็นอับชื้น ซึ่งหากสวมใส่แค่เสียบุคลิกไม่พอยังอาจเสี่ยงจะเป็นโรคผิวหนังอีกด้วย สวยอย่างฉลาดคราวนี้จึงมีวิธีแก้ปัญหาเสื้อผ้าเหม็นอับมาแนะนำ เพื่อให้การสวมใส่เสื้อผ้าในช่วงหน้าฝนนี้ ปราศจากกลิ่นเหม็นอับกวนใจ         พฤติกรรมที่ส่งผลให้เสื้อผ้ามีกลิ่นเหม็นอับ         นอกจากอากาศชื้นของฤดูฝนที่ทำให้เสื้อผ้าเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ยังมีเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของเราด้วย ได้แก่        1. เสื้อผ้ายังไม่แห้งดีหรือยังคงชื้นอยู่ แต่เก็บพับเข้าตู้ทันที        2. ตากเสื้อผ้าในที่ร่มอากาศไม่ถ่ายเท (ก็กลัวเปียกฝนนั่นแหละ)        3. เสื้อผ้าเปียกชื้นกลับไม่นำมาตากหรือผึ่งให้แห้งก่อน แต่ใส่รวมไว้ในตะกร้าผ้าจนเหม็นอับ ซึ่งเสี่ยงมีเชื้อรา        4. ซักผ้าที่มีลักษณะเนื้อผ้าหนาแล้วนำขึ้นตากทันทีโดยไม่บิดน้ำออกก่อน        5. ไม่เคยทำความสะอาดเครื่องซักผ้าเลยหรือทำก็น้อยมาก         วิธีป้องกันและแก้กลิ่นเหม็นอับจากเสื้อผ้า         ·     ไม่ควรพับเก็บเสื้อผ้าที่มีความชื้นเข้าตู้ทันที ควรเก็บเข้าตู้เฉพาะเสื้อผ้าที่แห้งสนิทเท่านั้น แน่นอนว่าปกติคงไม่มีใครที่พับผ้าเปียกชื้นเข้าตู้ แต่บางทีรีบร้อนไม่รู้ว่ามีเสื้อผ้าตัวไหนบางที่อาจมีส่วนที่ไม่แห้งสนิท ดังนั้นควรเช็กแต่ละตัวให้ดีก่อนเก็บเข้าตู้เสื้อผ้า        ·     ควรตากผ้าในที่มีแดดและรับลม มีอากาศถ่ายเทมากๆ  และตากผ้าให้มีระยะห่างกันไม่ใกล้หรือติดกันมากเกินไป        ·     หากตากฝนมาจนเสื้อผ้าเปียกชื้น ควรที่ถอดออกและนำไปตากให้แห้งก่อน หรือควรนำไปซักทันที เพื่อป้องกันเชื้อราและป้องกันผ้าไม่ให้เหม็นอับ ห้ามนำไปใส่ตะกร้าและปล่อยทิ้งเอาไว้หลายวัน        ·     การซักผ้าที่มีลักษณะหนาๆ ควรที่จะมีการอบผ้าก่อนตาก        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่มีตัวช่วยลดกลิ่นอับของเสื้อผ้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ        ·     เครื่องซักผ้ามักเป็นสิ่งสุดท้ายที่หลายๆ คนมองข้าม เพราะถ้าหากไม่ทำความสะอาดเลยก็เป็นสาเหตุก่อให้เสื้อผ้าของเราเหม็นอับได้เช่นกัน ดังนั้น ควรทำความสะอาดเครื่องซักผ้าสม่ำเสมอ โดยใช้ผงทำความสะอาดเครื่องซักผ้าที่มีขายในร้านค้าทั่วไปโดยเฉพาะ หรือถ้าหากไม่มีสามารถใช้  เบกกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู แอมโมเนียแทนได้          ถ้าพบว่าเสื้อผ้าของเรานั้นได้เหม็นอับแล้ว วิธีแก้มีดังนี้ ใช้น้ำส้มสายชูลดกลิ่นอับโดยใช้สัก 2-3 ถ้วยผสมกับน้ำและแช่ผ้าไว้ก่อนซัก 1 ชั่วโมง และซักด้วยผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มตามปกติ  หรืออาจจะซักผ้าตามปกติหลังจากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดสัก 15 นาทีหรือมากกว่านั้น   ทั้งนี้สามารถใช้น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรด์ได้ในกรณีเป็นผ้าขาว ส่วนข้อควรระวังในการใช้น้ำยาซักผ้าขาวคือ ไม่ควรแช่ผ้าลินิน ฝ้าย เรยอน นานจนเกินไป นอกจากนี้เบกกิ้งโซดาก็ช่วยได้เช่นกัน             หากพบว่าเสื้อผ้าตัวเองนั้นมีกลิ่นเหม็นอับ ก็ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าตัวนั้นเพราะอาจทำร้ายคนข้างๆ จากกลิ่นไม่พึงประสงค์และยังอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคผิวหนัง เช่น เชื้อรา กลากเกลื้อน หรืออาการคันต่างๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 “เราทำกันเอง” ทศวรรษที่สูญหาย

        เพจ Club VI เอาโควทของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Money Chat Thailand มาเผยแพร่         “ดัชนีตรงนี้เกิดมาเมื่อเก้าปีกว่าแล้ว ถ้ายังอยู่แถวๆ นี้ก็คือ 10 ปีที่หายไป ซึ่งมันก็หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะที่ไม่ค่อยดีของประเทศไทย ต้องยอมรับอย่างนี้ว่าประเทศไทยแย่มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เราทำกันเอง”                  มีคนเข้าไปเม้นท์กันหลากหลายเกี่ยวกับคำพูดนี้ จำนวนมากเลยพูดประมาณว่า อย่าใช้คำว่า ‘เรา’ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย มีแค่คนจำนวนหนึ่งที่ออกมาทำให้ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้         ว่าแต่ ดร.นิเวศน์ พูดถึงอะไร         แกพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่วนเวียนย่ำยืนอยู่กับที่มาเกือบ 10 ปี ถ้าดูของวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 SET INDEX อยู่ที่ 1,552.73 จุด ส่วนดัชนี SET 50 อยู่ที่ 950.20 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าทำนิวไฮกันตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา         แปลว่าคนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีมา 10 ปีนี่แทบไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นเลย ส่วนใครที่ลงทุนได้ไม่นาน ถ้าใจไม่นิ่งก็อาจถอดใจไปก่อนเพราะดัชนี SET 50 เต้นสามช่ากันทุกวัน ขึ้นหนึ่งลงสองอยู่แบบนี้จนน่าเหนื่อยใจ         อ้างอิงจากบีบีซีไทย ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) เดินทางมาไทยครั้งแรกปี 2557 หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ตอนนั้น "เกิดความรู้สึกเชิงบวกอยู่มากในสังคม" และ "ผู้นำภาคธุรกิจหลายคนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล" เพราะมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไทย         แล้ววันนี้ล่ะ นักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่า "ความรู้สึกด้านบวกเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว เหล่าผู้บริหารต่างบอกในผลสำรวจว่าพวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ"         รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันฉบับล่าสุด กลางเดือนมิถุนายน พบว่าประเทศไทยตกลงไป 2 อันดับ ผู้อำนวยการบริสบอกว่าที่น่ากังวลมากกว่าอันดับที่ลดลงของไทยคือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดีมาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา         เห็นไหมว่าการเก็บออม การลงทุน ความมั่นคงในชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี เกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ‘เรา’ กำลังจมหายไปในทศวรรษที่สาบสูญและยังไม่รู้ว่าจะลอยพ้นน้ำได้เมื่อไหร่หากประชาธิปไตยยังง่อนแง่นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 โฆษณาสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลอกลวง สัญญามีผลใช้บังคับได้ไหม

ในยุคที่สินค้าราคาแพง แถมยังมีการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายคนประสบปัญหาทางการเงินต้องวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาหมุนใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งธุรกิจให้กู้ยืมเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็มีเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจปล่อยสินเชื่อโดยเรียกเก็บโฉนดที่ดินหรือทะเบียนรถยนต์ก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และแน่นอนว่าเราก็พบเห็นข้อความโฆษณาของธุรกิจแบบนี้บนสื่อต่างๆ ในทำนองว่า “รับจัดสินเชื่อบ้าน ที่ดิน และรถทุกประเภท ไม่ต้องมีสลิป ไม่เช็คประวัติ อยู่ที่ไหนก็จัดได้ ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน” ซึ่งการโฆษณาเช่นนี้ ก็ทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจว่ากู้ง่ายได้ไวและตัดสินใจเข้ามาทำสัญญากู้เงิน          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าในความเป็นจริงธุรกิจให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นอย่างที่โฆษณา  เมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาปรากฎว่ามีการให้โอนเล่มทะเบียนซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณา เช่นนี้จึงได้มีการนำเรื่องไปฟ้องร้องกันในศาลและเรื่องไปสู่ศาลฏีกา ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อโฆษณาเกินจริง หลอกลวง โดยอ้างว่าไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน แต่เมื่อผู้บริโภคมาเข้าทำสัญญากลับมีการให้โอนเล่มทะเบียน เช่นนี้จึงทำให้การโอนเป็นโมฆะ เพราะขัดเเย้งกับสิ่งที่ได้โฆษณาไว้   ผลคือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ให้กู้จะต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่ผู้กู้   และผู้กู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นที่รับมาจากผู้ให้กู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้   โดยต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่ผู้กู้ต้องรับผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า “ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง” และ “ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด”         แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย   เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าวจึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วมาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิดและเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้         จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้การโฆษณาเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญา ผลคือสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับได้เลย  ดังนั้นการที่ไปโอนเล่มทะเบียนกันไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ก็ถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวไปด้วย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคก็ต้องคืนเงินที่กู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้กู้และเงินที่คืนกันนี้เป็นการคืนแบบลาภมิควรได้ ไม่ใช่การใช้เงินคืนตามสัญญากู้ ดังนั้นจึงมาคิดดอกเบี้ยไม่ได้  และเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ทั้งเรื่องกำหนดให้ข้อความโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา (มาตรา 11 )  การประกอบธุรกิจต้องกระทำโดยสุจริต ( มาตรา 12 ).................................        พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551         มาตรา 11 ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม         มาตรา 12 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         นอกจากนี้ การใช้โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญาก็เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มาตรา 47 อีกด้วย         มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 Cookpad ศูนย์รวมสูตรอาหารของผู้ชื่นชอบการทำอาหาร

        แม่บ้านแทบจะทุกคนต้องเคยเจอกับปัญหาเรื่องการคิดเมนูกับข้าวแน่นอน เพราะในแต่ละวันเรื่องสำคัญที่สุดนั่นก็คือการเตรียมอาหาร 3 มื้อให้กับครอบครัว ถ้าเทียบเมนูกับข้าวมื้อละ 3 อย่าง วันละ 3 มื้อ ภายใน 1 วัน แม่บ้านแต่ละครอบครัวก็ต้องคิดหาเมนูมากถึง 9 เมนู ซึ่งไม่แปลกเลยที่เมนูจะวนไปวนมาจนไม่รู้จะทำกับข้าวอะไรให้กับคนที่บ้านแล้ว อาจจะส่งผลให้ครอบครัวรู้สึกเบื่ออาหารเดิมๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น แม่บ้านทุกคนต้องพยายามคิดค้นหาเมนูใหม่ๆ มาตลอดเวลา         ถ้าหากกำลังมองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อปรับสูตรเมนูของครอบครัว หรือเพิ่มเติมเมนูแปลกใหม่ มาลองรู้จักกับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Cookpad กันดู เพราะแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้นมาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเข้าค้นหาเมนูเพื่อนำมาทำอาหารและเป็นพื้นที่สำหรับแชร์สูตรอาหารด้วย นอกจากมีแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกบนสมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีเว็บไซต์ https://cookpad.com อีกด้วย         การทำอาหารเป็นงานสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ด้านอาหาร แอปพลิเคชั่นนี้จึงเหมาะกับทั้งคนที่รักการทำอาหาร และผู้ที่เพิ่งเริ่มทำอาหาร เพราะภายในแอปพลิเคชั่นจะมีบอกถึงรายละเอียดส่วนผสม พร้อมวิธีทำเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด หรือแม้กระทั่งเคล็ดลับต่างๆ ที่ควรรู้ โดยมีผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารได้แบ่งปันไว้ ดังนั้นถือได้ว่าแอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวกลางในการรวบรวมเมนูอาหาร สูตรอาหาร และวิธีการทำอาหารของแต่ละคนมาไว้ด้วยกัน         วิธีการใช้งานเพียงแค่ค้นหาชนิดอาหารที่ต้องการภายในแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว ทั้งอาหารไทย อาหารฮาลาล อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น ฯลฯ อาหารหวาน เช่น ขนมเค้กเนยสดแตงไทย ขนมบ้าบิ่น ขนมเปียกปูน ขนมแตงไทย ขนมกล้วย เค้กไข่ คุกกี้ เป็นต้น อาหารทานเล่น อย่างเกี๊ยวกรอบไส้หมูสับ ปอเปี๊ยะ ขนมปังหน้ากุ้ง ฯลฯ หรือต้องการหาเมนูอาหารใหม่ๆ เมนูที่ยังไม่เคยกินยังไม่เคยลองทำ หรือแม้แต่อาหารคลีน อาหารคีโต ก็มีเช่นกัน         นอกจากค้นหาเมนูต่างๆ ได้แล้ว แอปพลิเคชั่นได้แบ่งหมวดการเรียนรู้เพื่อให้ง่ายต่อความต้องการ ได้แก่ หมวดเมนูต้มจืด หมวดวัตถุดิบตามฤดูกาล เพื่อให้สามารถหาวิธีจัดการกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านหรือมีอยู่ในท้องถิ่น หมวดท้าทายให้ลองทำ หมวดเคล็ดลับใหม่ หมวดล่าสุด สำหรับเมนูอาหารที่ได้แบ่งปันล่าสุด ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแบ่งปันสูตรอาหารได้ด้วย         ไอเดียเมนูอาหารภายในแอปพลิเคชั่น Cookpad ผู้ใช้สามารถทำตามได้ง่าย สามารถทำกินได้เองทุกบ้านแน่นอน งั้นขอตัวไปหาสูตรอาหารเพื่อทำซุปเต้าหู้กิมจิก่อนนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับ 256 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2565

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)        1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 (PDPA) มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรฐานการใช้ เก็บ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้อยู่ในระดับสากล ในส่วนของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง         ตัวอย่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1.การนำประวัติทำความผิดคนอื่นโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม 2. นำเรื่องราวเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3.นำรูปคนอื่นในกูเกิ้ลมาตกแต่งรูปภาพ ใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ หากคนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4.หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วนำใบเตือนมาติดบอร์ด ส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5.การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สธ.ประกาศให้ “กลิ่น-ควัน” กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ         หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น ควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในประกาศได้ระบุว่า         “เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่เข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”             นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้า ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยงในการใช้และสัมผัสควันกัญชา และสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ ควรหลีกเลี่ยงการจัดรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการอีกด้วย แท็กซี่วิ่งนอกเขต 6 จังหวัด ไม่ต้องกดมิเตอร์ได้         ประกาศกรมการขนส่งทางบก 10 มิถุนายน 65 เป็นต้นไป รถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้วิธีตกลงราคานอกจากการใช้มาตรค่าโดยสาร พ.ศ. 2565 ได้ โดยหากทำการรับจ้างนอกเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 จังหวัด โดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครปฐม หรือรับจ้างจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ โดยสามารถตกลงราคาในรูปแบบเหมาจ่ายได้ นอกเหนือจากการกดมิเตอร์        โดยสาเหตุที่มีการปรับใช้ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรูปแบบนี้ เป็นการปรับตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารส่วนมาก มักนิยมวิธีการตกลงราคาโดยเหมาจ่ายแทนการกดมิเตอร์ เมื่อได้ทำการจ้างไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่สอดคล้องกับระเบียบในปัจจุบัน จึงสมควรที่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและหมาะสมมากขึ้น ให้เกิดความคล่องตัวในการรับจ้างที่มีระยะทางไกล และเป็นไปตามความตกลงของผู้ใช้บริการและผู้ขับรถยนต์รับจ้าง น้ำปลาร้ากินมากเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย                    จากกรณีดราม่าที่มีเน็ตไอดอลที่ขายสินค้าน้ำปลาร้า ได้ทำการพรีเซนต์โดยเทน้ำปลาร้าใส่แก้วน้ำแข็งและยกดื่ม นั้น หลายคนยังห่วงว่าหากเป็นน้ำปลาร้าจริง กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หากรับประทานปริมาณที่มากอาจอันตรายต่อไตได้ นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่านำมาเป็นเครื่องดื่มได้ เนื่องจากน้ำปลาร้าคือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ไม่ควรนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่ม  อาจจะก่อให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ยกตัวอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง ข้อมูลโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิด รวมทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ ตลาด พบว่ามีโซเดียมในระดับที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินคำแนะนำขององค์กรอนามัยโรค 10 ปี ยังไม่จบ คดี “แคลิฟอร์เนีย ว้าว”          จากกรณี “คดีแคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการหนี ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวน 5 รายการ ราคาประเมิน 293 ล้านบาท ให้นำไปชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ที่ได้ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 849 ราย เป็นเงิน 46 ล้านบาท และให้ดอกผลแก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และนับต่อเนื่องให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด         อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่ายผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ อาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึงวันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี        ย้อนไปในปี 2543-2556  “คดีแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” ที่มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปี-ตลอดชีพ กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้ทำการดำเนินการเป็นตัวแทนเพื่อฟ้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหานายแอริค มาร์ค เลอวีน ยังคงล่องหน  จนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มาศาล จึง “เลื่อนคดีไม่มีกำหนด” พร้อมออกหมายจับอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากเหตุเกิดปี 2555 จนถึง 2565 หมายจับถือว่าหมดอายุความแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ จับมือนักวิชาการร่วมยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี

        วันนี้ ( วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลผลักดันการออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับในปี พ.ศ. 2565 ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจึงมีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้สะดวกทุกที่ซึ่งสำหรับหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และด้วยสภาพร่างกายของเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ เพื่อให้ระบบการหายใจของเด็กยังคล่องตัว นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น คณะทำงานได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง เมื่อประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2565 โดยทดสอบคุณสมบัติ 2 รายการที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก 2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (ค่าการหายใจได้สะดวก) โดยมีผลการทดสอบ ดังนี้        1. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 3 ยี่ห้อ พบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ        2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบในกลุ่มนี้จำนวน 11 ยี่ห้อ พบว่า ยี่ห้อ Unicharm มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในส่วนยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare        3. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 6 ยี่ห้อ พบว่าทุกยี่ห้อมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค เป็นไปตามเกณฑ์ สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางตามเอกสารแนบ ตารางที่ 3 ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไป )        4. การตรวจสอบ เครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare         ดร.ไพบูลย์ ยังได้เสนอว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสำหรับหน้ากากอนามัยเด็กโดยเฉพาะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการอ่านค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้หน้ากากอนามัยได้อย่างเหมาะสม         อ.ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง มาตรฐานที่มีอาจดูแลเด็กได้ไม่เพียงพอ และปัจจุบันยังปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เด็กมีภาวะภูมิแพ้มากขึ้น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กจะช่วยป้องกันได้หากมาร่วมมือกันจัดทำแนวทางเพื่อยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กให้ชัดเจน         “หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ปัจจุบันคนที่ขาดแคลนอาจจะไม่ได้ใช้ครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้ง จึงยิ่งมีความเสี่ยง และเราจะให้ทางเลือกแก่สังคมอย่างไร เราปลูกฝังเด็ก สร้างพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม แต่ถ้าใส่แล้วหายใจลำบาก เราใส่แล้วเราก็จะถอดๆ แล้วมันจะไม่เกิดประโยชน์”         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ประสานความร่วมมือกันเพียงพอ การทำงานหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม( สมอ.) ยังเป็นการกำกับติดตามผู้ผลิตแค่บางส่วนแต่เมื่อสินค้าวางสู่ตลาด และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังกำกับติดตามไม่ทั่วถึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสินค้าที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน การยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยให้มีมาตรฐานจึงต้องเป็นความร่วมมือกัน         “เรื่องหน้ากากอนามัยเด็ก ค่าความต่างแรงดัน (ระดับการหายใจใด้ง่าย) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะสรีระของเด็กมีความแตกต่าง และมาตรฐานเฉพาะสำหรับเด็กยังไม่มีความชัดเจน ระหว่างที่ยังไม่มีการออกมาตรฐานโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรจะต้องเข้ามากำกับดูแลฉลากให้มีความชัดเจนที่ควรระบุทั้งค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และค่าความต่างแรงดัน เพราะปัจจุบัน หน้ากากอนามัยเด็กยังมีการใช้ข้อความที่ส่อให้เข้าใจผิด”         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การควบคุมมาตรฐานสินค้าชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดัน เพราะนอกจากภัยจากโรคระบาดแล้วยังมีปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการปกป้อง การทำให้เด็กทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เป็นทั้งเรื่องความเป็นธรรมและความมั่นคงของชาติที่จะมีคนในอนาคตที่มีสุขภาพดี”        1. สนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมถึงหน้ากากสำหรับเด็กเล็กด้วยและควรมีบทกำหนดโทษ ในกรณีที่ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิผู้บริโภค        2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 5-12 ปี        3. สภาองค์กรของผู้บริโภคควรเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยให้ตรวจสอบและรายงานประจำปีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวสำหรับเด็ก        4. เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ควรมีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก        5. เสนอให้มีความร่วมมือในการทำงานระหว่าง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างในการทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยให้เรื่องการเฝ้าระวังมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กเป็น โมเดลการทำงานร่วมกัน เรื่อง post marketing ที่ทั้ง อย. สมอ. สคบ. และ สภาองค์กรของผู้บริโภค มาเป็นคณะทำงานร่วมกัน        6. เสนอ อย.กำกับดูแลเรื่องฉลากให้ระบุไม่เกินความเป็นจริง หากระบุตัวผลิตภัณฑ์ว่าเป็นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ต้องมีการระบุคุณสมบัติเฉพาะสำหรับเด็ก (การระบุค่าทดสอบ : ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน Delta P)         สำหรับรายละเอียดผลการทดสอบหน้ากากอนามัยเด็ก อ่านต่อได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4023

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สารอะคริลาไมด์ในกาแฟ

        เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย         สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ         ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป        -       ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        -       ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ         การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป  กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ)  ข้อมูล- Pay Heed to the Amount and Frequency in Enjoying Coffee Be Mindful of Caffeine Addiction and the Risks of Genotoxic Carcinogenic Acrylamide Intake | Consumer Council- www.cancer.org/healthy/cancer-causes/chemicals/acrylamide.html- ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)-“สารอะคริลาไมด์ที่แฝงมากับอาหารไทย” จิตติมา เจริญพานิช. ว.วิทย. มข.40(4) 1059-1072 (2555) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผู้บริโภครวมพลังขอยกเลิกสัญญา ทวงเงินคืน

        ...ผ่อนดาวน์จนครบแล้ว แต่คอนโดฯ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ พอติดต่อไปขอให้คืนเงิน ก็ติดต่อไม่ได้เลย อยากได้เงินคืนมาก ทำยังไงดี...         ...ไปฟ้องศาลคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอเงินดาวน์ทั้งหมดคืน จนบริษัทส่งตัวแทนขอไกล่เกลี่ยผ่อนชำระ 4 งวด แต่หลังจากนั้นกลับไม่เคยได้รับเงิน แถมติดต่อใครไม่ได้เลยในทุกช่องทาง...         นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้เสียหาย ในกรณีคอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนดที่ปรากฎเป็นข่าวฮือฮาบนหน้าสื่อเมื่อไม่นานมานี้ จนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้บริษัทเจ้าของโครงการจะออกมาชี้แจงแสดงความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา กลุ่มผู้เสียหายส่วนหนึ่งจึงหมดความอดทนที่จะรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป         จนกระทั่งเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายนับร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 4 ปีแต่สร้างไม่เสร็จตามสัญญานี้ ได้รวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดฯ 5 แห่งในย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนดดังที่เป็นข่าว โดยผู้เสียหายทุกคนเห็นตรงกันว่า “ต้องการยกเลิกสัญญา” และ “เรียกเงินคืนทั้งหมด”         ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการในขั้นตอนเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ แต่หากไม่มาตามนัดจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายต่อไป         ในวันนั้น  “ฉลาดซื้อ” ได้คุยกับ คุณมนตรี เหมวิจิตร ซึ่งเป็นผู้เสียหายหนึ่งในกลุ่มนี้ เขาได้เล่าถึงมูลค่าความเสียหายของตนและครอบครัวว่า         “ผมและครอบครัวได้ซื้อคอนโดฯ โครงการของบริษัทนี้ที่พหลโยธิน ทั้งผม ภรรยาและครอบครัว ซื้อรวมกัน 5 ห้อง เราก็ทำสัญญาจ่ายเงินจองแล้วก็ผ่อนงวดดาวน์ตามปกติ ส่วนของผมและภรรยา จ่ายครบ 36 งวดแล้ว ส่วนของลูกชายยังไม่ครบจ่ายไปได้เพียง 26 งวดเท่านั้น โดยรวมแล้วผมกับครอบครัวจ่ายเงินไปแล้วคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2,299,000 บาท” ซื้อคอนโดฯ โครงการนี้ถึง 5 ห้อง         ตอนนั้นเหตุผลที่ซื้อก็เพราะเราเชื่อมั่นในโครงการฯ เนื่องจากบริษัทก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เราเชื่อว่าบริษัทสามารถที่จะดำเนินการจนลุล่วงได้ เมื่อเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ได้ไปร้องเรียนเรื่องที่ใดมาบ้าง         ผมเองยังไม่ได้ไปสักที่เลย เนื่องจากว่าในสัญญานั้นครบกำหนดคือสิ้นธันวาคม 2564 แล้วในสัญญาก็เขียนว่าสามารถจะต่อสัญญาได้อีก 1-2 เดือน ก็ประมาณมกราคม กุมภาพันธ์ (2565) ประกอบกับเรื่องของโควิด-19 เข้ามา ผมเลยยังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ผมเองก็ได้โทร.เข้าไปที่บริษัท 3 - 4 ครั้งได้รับคำตอบทุกครั้งว่า “เดี๋ยวจะติดต่อกลับ” พอผ่านมาถึงเดือนมีนาคม เมษายนแล้วเลยโทร.ไปอีกที มีคนรับสายนะแต่บอกว่าจะนัดคุยเจรจาแล้วก็เงียบหายไปอีก เรามองว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะไม่เหมาะสมเลย เนื่องจากบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเคยเชื่อมั่นว่าบริษัทต้องสามารถที่จะทำตามกฎของตลาดด้วยคือเรื่องของจรรยาบรรณตามมาตรฐานตลาดหลักทรัพย์ คือสิ่งที่เรามองว่าเขาควรจะต้องทำให้ถูกต้อง ทำไมจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผมรู้สึกว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว เพราะบริษัทนี้คงไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ แล้วเราเชื่อมั่นในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเรา เงินทุกบาททุกสตางค์ของพวกเราทุกคนที่มาร้องเรียนนี้ เราก็อยากจะได้คืนเนื่องจากว่าเราก็ผิดหวังที่ไม่ได้ห้องในโครงการแล้วแต่ทำไมไม่คืนเงินเราล่ะ นั่นคือสิ่งที่อยากให้มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา หวังว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้องเหมาะสมและยุติธรรม เราเห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เราจะอาศัยหน่วยงานสาธารณกุศลนี้ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเรียกร้องสิทธิ คิดว่าการที่เรามีปัญหาแล้วรวบรวมกันมา จะดีกว่าที่เราใช้สิทธิตรงนี้คนเดียวไหม         โดยส่วนตัวเท่าที่ผมดู หลายคนใช้สิทธิคนเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนักเบา และความรุนแรง ในกรณีนี้ผมเห็นหลายๆ คนก็ไปสคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) กว่าจะเจรจากว่าจะไกล่เกลี่ยก็ใช้เวลา 3 - 4 เดือนกันเป็นแถว ถ้าคนที่ไปยื่นสคบ. เมื่อเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม พอถึงมิถุนายนที่พวกผมมาวันนี้ก็ไม่ต่างกัน ผมว่าถ้าไป 1 คนที่ สคบ. กว่าจะเจรจาส่งตัวแทนมาขอเลื่อนนัดก็หมดเวลาแล้วครับ ผมเชื่อว่าพลังของมดตัวน้อยๆ จากหลายๆ คนที่มารวมกันวันนี้จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจในสิทธิของผู้บริโภคด้วย สำหรับคนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเหมือนกับเราจะแนะนำเขาอย่างไร         ผมอยากให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็ตาม ขอให้ออกมาเรียกร้องสิทธิและมารวมตัวกันไปหน่วยงานที่เขาช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างที่นี่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายรวมตัวกัน แล้วมูลนิธิฯ จะเป็นแกนนำของผู้บริโภคได้ นี่คือความตั้งใจและความศรัทธาในมูลนิธิฯ ครับ        “ผมและทุกคนที่มาในวันนี้ อยากให้กรณีนี้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่ควรจะได้รับ การมารวมพลังกันนี่แหละครับคือความสำคัญ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กินรังนกเจอเศษแก้วบาดคอ บาปหนานักโยมเอ๊ย

        รังนกบรรจุขวดแก้วเป็นสินค้าที่มีคนนิยมมากในการนำไปฝากบุคคลที่เคารพรัก หรือเชื่อว่ากินแล้วจะดีจะบำรุงร่างกาย เช่นเดียวกันการซื้อไปถวายพระก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน         วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2565 ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณป้าแหวว (นามสมมติ) ว่า พระลูกชายฉันรังนกในขวดแก้วที่ตนเองซื้อไปถวาย แล้วเกิดอาการเหมือนมีอะไรบาดในคอ “ท่านเล่าว่า อาตมาดื่มแล้วก็รู้สึกเหมือนมีแก้วบาดคอขณะกลืนรังนกลงไป พอเอาส่วนที่เหลือในขวดมาเทดู พบว่า มีเศษแก้วใสๆ ปนอยู่กับเนื้อรังนกที่เหลืออยู่” พระลูกชายเชื่อว่าตนเองดื่มแก้วลงไปแน่ และส่วนหนึ่งคงบาดในคอ จึงรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว         ป้าแหวว ไม่อยากให้เรื่องนี้หยุดแค่พระลูกชายไปรักษาตัว แต่อยากให้ทางผู้ผลิตรับผิดชอบสินค้าของตนด้วย จึงถามว่าพระจะทำอะไรไหม เอาจริงป้าแหววก็รู้สึกว่าตนนี้ทำบาปกับพระไปเสียแล้ว พระท่านก็ว่าแล้วแต่โยมแม่ เมื่อปรึกษากันแล้วว่าควรมีการดำเนินการจึงติดต่อมาที่ ศูนย์ฯ ฉะเชิงเทราเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นหน่วยงานผู้บริโภคที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก เมื่อทางศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงติดต่อประสานงานขอให้ทางโยมแม่และพระขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกิดอาการบาดเจ็บจากการดื่มรังนก แล้วเศษแก้วเข้าไปบาดลำคอด้านในจริง จากนั้นได้ติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิต  ซึ่งผู้ผลิตรายนี้เป็น ผู้ผลิตหน้าใหม่กำลังโปรโมตสินค้ารังนกนี้อยู่ แม้ไม่ได้ผลิตในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ทำตลาดมาจนครอบคลุมถึงร้านค้าในฉะเชิงเทรา ซึ่งป้าแหววได้ซื้อสินค้ามาถวายพระ         จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางผู้ผลิตยินดีชดใช้ความเสียหายให้แก่พระ เป็นจำนวนเงิน 28,000 บาท อย่างไรก็ตามทางศูนย์ฯ จะนำเรื่องแจ้งต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และหากโรงงานไม่ได้มาตรฐานก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ฉันก็สั่งตามหน้าเพจทำไมได้ราคาไม่ตรงตามแจ้ง

        เวลาเห็นโปรโมชันไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรือข้าวของใดก็ตาม แม้บางทีไม่ได้อยากได้ อยากซื้อแต่ก็พบว่า อืม...ราคาดีแฮะ ลองสั่งมาดีไหม เราเชื่อว่าหลายๆ คนเป็นแบบนี้         คุณภูผา ก็เป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ปกติไม่ได้ชอบกินขนมหวานอะไรมากนัก แต่ก็ติดตามเพจร้านขนมชื่อดังร้านหนึ่งอยู่ แล้ววันหนึ่งก็พบว่า มีขนมตัวดังตัวหนึ่งของร้าน ลดราคา โอ้วมันช่างน่าสนใจ ปกติขนมชิ้นนี้จะขายในราคาแพ็กละ 65 บาท แต่โปรที่ขึ้นบนหน้าเพจคือ 50 บาท เมื่อราคาดีขนาดนี้ คุณภูผาจึงสั่งทันทีโดยใช้บริการผ่าน ดิลิเวอรี่ที่ระบุในข้อความที่โฆษณา ตอนที่ถามกับทางดิลิเวอรี่ก็ถามแล้วว่า โปรฯ นี้ใช้ได้ใช่ไหม  ทางดิลิเวอรี่ก็ตอบว่า “ได้ค่ะ” แต่พอได้รับสินค้า ตอนจะจ่ายเงิน สองร้อยบาท (ภูผาสั่งมาสี่กล่อง) กลับเป็นราคาปกติคือ 260 บาท (65x4) ไหงเป็นงั้น         คุณภูผาคาใจจึงอินบอกซ์ไปถามทางเพจร้านขนม แอดมิน บอกว่า โปรโมชันนี้หมดไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน คุณลูกค้าสั่งสินค้าวันนี้เป็นราคาปกติค่ะ แต่คุณภูผายืนยันว่า นี่ไงผมสั่งตามที่หน้าเพจลงไว้เมื่อตอนเช้าวันนี้นะ ไม่มีบอกว่าเป็นโปรฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างนี้ทางเพจจะไม่รับผิดชอบหรือ คุยกันไปมาเมื่อไม่ได้รับคำตอบที่แสดงความรับผิดชอบ คุณภูผาจึงโทรมาปรึกษากับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มพบ. ว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ตรวจหน้าเพจร้านขนมแล้วพบว่า โฆษณาที่บอกเรื่องโปรโมชันได้ถูกลบไปแล้ว แต่ทางคุณภูผายังบันทึกภาพเก็บไว้ จึงได้นำภาพแสดงหลักฐานกับทางเพจเพื่อขอให้รับผิดชอบตามที่โฆษณาคือ ขายสินค้าในราคาโปรโมชันกับคุณภูผา เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงได้และแม้จะเป็นความผิดพลาดของทางเพจที่ไม่ตั้งใจนำภาพโฆษณาดังกล่าวโพสต์ทางหน้าเพจ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทางเพจได้แจ้งแก่ผู้บริโภค ต่อมาคุณภูผาก็แจ้งมาว่า ทางร้านค้าจะคืนเงิน 60 บาทให้กับทางคุณภูผา ก็จบกันไปด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 เอาแล้วโดนหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก

        ยุคข้าวของแพง ใจใครจะไม่หวั่นไหวเมื่อมีการเสนอขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด         คุณดาวเรือง เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ทุกวันนี้ต้องปรับราคาขายขึ้นไปเพราะไม่อาจทนต้านราคาสินค้าซึ่งถีบตัวสูงได้ โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ต้องใช้จำนวนมาก และราคาก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ปรับมากไปลูกค้าก็จะหนีหายกันไปหมด วันหนึ่งมีคนรู้จักมาบอกว่า “ฉันรู้แหล่งซื้อน้ำมันพืชยี่ห้อดังนะ น้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าตลาด ขายแค่ 3 ขวด 100 บาท เพราะเขาได้รับปันส่วนมาจากบริษัท สนใจไหม”         แน่นอนดีลนี้คุณดาวเรืองหูผึ่งทันที ด้วยว่ารู้จักกันกับคนที่นำข่าวมาบอกพอสมควรและเขาก็เอาหลักฐานที่อยู่ของคนที่เสนอขายมานำเสนอ คุณดาวเรืองจึงสั่งซื้อไปหลายลัง แต่หลังโอนเงินไปรอแล้วรออีกสินค้าก็ไม่มาตามสั่ง วันหนึ่งก็เห็นข่าว ตำรวจรวบแก๊งหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก “ตายๆ ฉันจะทำอย่างไรดี” แน่นอนคุณดาวเรืองมั่นใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ และคนรู้จักคนนั้นก็พลอยหายหน้าไปด้วย จึงโทรมาปรึกษากับทาง มพบ. ว่าตนเองควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณดาวเรืองนำหลักฐานที่มีทั้งหมด ทั้งใบสั่งซื้อ ชื่อ เลขที่บัญชีที่โอนเงินเข้า รีบนำไปแจ้งความทันที         กรณีนี้นำมาฝากเป็นข้อเตือนใจ หากพบว่ามีใครนำเสนอขายสินค้าใดก็ตามที่ราคาถูกผิดปกติ คือถูกกว่าราคาตลาดไปมาก ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า เป็นเรื่องหลอกลวงไม่ควรหลงเชื่อเพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินทอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สั่งผ้าโรงงานแล้วได้ผ้าผิดสเปก

        หลายคนคงมีร้านค้าที่สั่งซื้อของกันอยู่เป็นประจำ จนเกิดความไว้เนื้อเชื้อใจ พาให้ชะล่าใจและวางใจว่าของที่ส่งมาให้คงจะตรงปก ไม่จกตา สมราคา อย่างที่เคยเป็นมา แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ อาจจะด้วยเจตนาหรือความพลั้งเผลอก็ตาม ผู้บริโภคควรตรวจสอบสินค้าทุกครั้งที่มาส่งว่าตรงตามที่สั่งไปหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นอาจต้องมาเสียรู้เพราะความไว้ใจอย่างคุณป้างก็เป็นได้            เรื่องของเรื่องคือ คุณป้างเพิ่ง​เริ่ม​ทําธุรกิจ​เกี่ยว​กับ​เสื้อผ้า​ แล้ว​สั่งผลิต​ผ้า​จาก​โรงงาน​สกรีน​เสื้อ​ที่​เคยสั่งประจำ ครั้งนี้เขาสั่งผ้า Cotton Comb เบอร์ 32 ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายคุณภาพดีที่สุดที่นิยมใช้สำหรับคนเริ่มต้นสร้างแบรนด์เสื้อผ้า เมื่อผ้ามาส่ง เขาก็ใช้ผ้า​บาง​ส่วน​ใน​การ​ขึ้น​ตัวอย่าง​เสื้อตามปกติ จนผ่านไป 5 เดือน วันหนึ่งขณะที่เขานําผ้า​ออก​มา​จากถุงเพื่อจะแบ่ง​ผ้า​ให้​เพื่อน เขาก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองได้ผ้าผิดสเปกมา เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น​​ข้อมูล​หน้า​ถุงที่เก็บ​​ผ้า​นั้น​ไว้ระบุว่าเป็น ​ Cotton Semi เบอร์ 40 ที่เป็นผ้าฝ้ายเกรดปานกลาง         คุณป้างจึงโทร.ไปคุยกับทางโรงงาน แต่ทางนั้นกลับ​บอก​ว่า​ผ้า​ตามสเปกที่เขาสั่งนั้น​ไม่​สามารถ​ผลิต​ได้​และอาจ​จะแจ้ง​ราย​ละเอียด​ผิดไป ซึ่ง​จริงๆ ก่อนหน้านี้​​ทางโรงงาน​สกรีน​ไม่​เคย​แจ้ง​ราย​ละเอียด​อะไร​​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​สเปกผ้าลอตนี้เลย แล้วเขายังจ่ายเงินที่ได้​สรุป​ราคากันตาม​สเปกผ้า​ที่​เขา​ต้องการ​ไปครบแล้วด้วย เขาจึง​ได้​ขอ​เคลม แต่ทาง​โรงงานปฏิเสธ​​​ว่าทำไม่ได้​เพราะ​ผ่าน​มา​นาน​แล้ว​ เขา​รู้สึก​ว่า​​ไม่​ได้รับ​ความยุติธรรม ​เพราะ​จ่ายเงินไปแล้ว แต่กลับได้ผ้าผิดสเปกมา แถมโรงงานยังปัดความรับผิดชอบอีก ​คุณป้างจึงส่งอีเมลมาถึง มพบ.เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         มพบ​.​แนะนําให้คุณป้าง​ทําหนังสือ​ถึง​ผู้รับ​จ้าง​ผลิต​ เสนอข้อเรียกร้องของตนว่าต้องการให้อีกฝ่ายแก้ไขอย่างไร และสำเนาถึง มพบ. แต่ทางคุณป้างเห็นแก่ความสัมพันธ์ที่ยังต้องสั่งผลิตผ้าจากโรงงานนี้อยู่เป็นประจำ จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ         ในกรณีนี้เข้าข่ายเป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญารวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465(3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กระแสต่างแดน

ใส่วนไป        ที่ผ่านมาการรีไซเคิลเสื้อผ้าด้วยกระบวนการทางเคมีทำได้กับเส้นใยโพลีเอสเตอร์เท่านั้น ฟินแลนด์กำลังจะเปิดโรงงานแห่งแรกในโลกที่สามารถผลิตเส้นใยฝ้ายจากเสื้อผ้าทิ้งแล้ว ภายในปี 2025         โรงงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษเก่าในเมืองเคมิทางเหนือของทะเลบอลติก ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาทมีกำลังผลิต “เส้นใยรีไซเคิล” ปีละ 30,000 เมตริกตัน (เท่ากับเสื้อยืดประมาณ 100 ล้านตัว) และในอนาคตยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแบบนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ         โดยทั่วไปเสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว จะใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 2,700 ลิตร แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ลงได้ถึงร้อยละ 99         ฟินแลนด์ซึ่งมีสถิติการทิ้งเสื้อผ้าต่อคนอยู่ที่ปีละ 13 กิโลกรัม กำหนดเป้าหมายว่าจะจัดการเก็บแยกขยะเสื้อผ้าให้ได้ภายในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมายร่วมของสหภาพยุโรปถึงสองปี   ตั๋วไม่ถูก        องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Konsumentverket เผยผลวิเคราะห์เหตุผลที่มีจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์มถูกปรับมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือส่วนใหญ่มีตั๋วโดยสารแต่จ่ายเงินไม่ครบ บ้างไม่มีใบเสร็จ บ้างก็ซื้อตั๋วผิดประเภทจากแอปฯ           สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องคือ การลดหย่อนหรือยกเลิกค่าปรับในกรณีที่ผู้โดยสาร “ใช้ตั๋วไม่ถูกต้อง” แต่ไม่ได้ตั้งใจแอบขึ้นฟรี (ซึ่งมีค่าปรับ 1,500 โครนา หรือ ประมาณ 5,200 บาท)         การตรวจตั๋ว (เมื่อผู้โดยสารลงจากรถ) งดเว้นไปในช่วงการระบาดของโควิด และเมื่อเริ่มมีการตรวจอีกครั้งกลางเดือนมิถุนายน ก็พบว่ามีคน “แอบขึ้นฟรี” ถึง 80,000 คนในเดือนนั้น            อัตราค่าโดยสารในบัตร SL Access ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ มีให้เลือกตั้งแต่ ตั๋วเที่ยวเดียว/ 24 ชั่วโมง/ 72 ชั่วโมง/ 7 วัน/ 30 วัน (ประมาณ 3,300 บาท) / 90 วัน และตั๋ว 1 ปี (ประมาณ 34,800 บาท) โดยมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรครั้งแรก 20 โครนา (ประมาณ 70 บาท)  ก่อนเช่าต้องชัด        “ผู้เช่าบ้าน” ในฝรั่งเศสได้รับการคุ้มครองค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องข้อมูลที่ผู้ให้เช่าจะต้องบอกไว้ใน “โฆษณา”           อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ฝรั่งเศสกำหนดให้ใครก็ตามที่ต้องการปล่อยบ้านหรือห้องให้ผู้อื่นเช่า ต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้         ค่ามัดจำ ค่าเช่ารายเดือน ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าระบบทำความร้อน ที่จอดรถ โดยระบุวิธีการชำระเงินให้ชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าของบ้านต้องบอกให้ชัดเจนหากต้องการให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายรับภาระและแจ้งจำนวนเงิน         กรณีที่บ้านหรือห้องเช่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมค่าเช่า” โฆษณาจะต้องระบุอัตราค่าเช่าสูงสุดและต่ำสุดในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าของบ้านตรวจสอบได้จากเว็บของรัฐบาลและต้องระบุว่าเป็นบ้าน/ห้องเปล่า หรือตกแต่งพร้อมให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตรและอยู่ในเขตเลือกตั้งใดรู้ไว้ก่อนขายของสด        การ “ไลฟ์ขายของ” ที่แฟนๆ ชาวจีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันติดหนึบด้วยคอนเทนต์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศข้อห้ามถึง 31 ข้อ                ตัวอย่างเช่น ห้ามส่งเสริมการกินทิ้งกินขว้าง ห้ามโอ้อวดความร่ำรวย (เช่น นำเพชรพลอย เงินกองโต หรือสินค้าแบรนด์เนมมาวางประกอบฉาก) ห้ามแต่งตัวยั่วยวน ห้ามพูดจาลามก ห้ามทรมานสัตว์ เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามเลี่ยงภาษี         หน่วยงานฯ เขายังกำหนดให้คนที่จะไลฟ์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย การศึกษาหรือการให้คำแนะนำทางการเงิน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว         ร้อยละ 63 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้ชมการไลฟ์สด ทางการจีนระบุว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิด “คอนเทนต์คุณภาพ” ที่นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นสิทธิในการทำแท้ง        ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก การทำแท้งที่นั่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 6 ปี           อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้หญิงใช้แสวงหาความช่วยเหลือเมื่อต้องการหยุดการตั้งครรภ์ พวกเธอใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลเรื่องการทำแท้ง รวมถึงใช้นามแฝงเข้าไปพูดคุยสอบถามปัญหาในเฟซบุ๊ก หรือในแอปฯ อย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อขอคำปรึกษาจากคนแปลกหน้า           แน่นอนว่าทางออกนี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และพวกเธอยังอาจถูกจับดำเนินคดีด้วยหลักฐานการสนทนาในแอปฯ ดังกล่าวด้วย         แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครต้องขึ้นศาลเพราะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่คำตัดสินของศาลอเมริกันที่มีผลให้การทำแท้งไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหลายประเทศ และทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลการค้นหาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา (ครั้งที่สอง)

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 253 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานำเสนอผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยาไป ซึ่งในครั้งนั้นเราพบทั้งตัวอย่างไส้กรอกที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ และที่ใช้สารกันเสียในปริมาณที่เกินมาตรฐานรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางและฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไส้กรอกในพื้นที่กรุงเก่าในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง  มาดูกันว่าไส้กรอกที่มีขายในจังหวัดอยุธยา จะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 14 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำหนดขอบเขตจากร้านอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่สรุปผลทดสอบ        1. สารเบนโซอิก : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก             - พบสารเบนโซอิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM         (48.71 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสนมวนิลา ตรา TFG ไทยฟู้ดส์ (484.31 มก./กก.) และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม (23.72 มก./กก.)           ส่วนในลูกชิ้นพบทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง"นมสด" SNOWBOY (1153.10 มก./กก.) และลูกชิ้นเอ็นไก่ ลูกชิ้นสุภาพ อยุธยา (1071.90 มก./กก.)          2. สารไนเตรท : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)            - พบสารไนเตรทในทั้ง 16 ตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 10.71- 42.04 มก./กก.           3. สารไนไตรท์ : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก.            - พบสารไนไตรท์ในไส้กรอก  8  ตัวอย่าง มีปริมาณตั้งแต่ < 10.00 – 48.29 มก./กก. ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด          4. สารซอร์บิก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์            - พบสารซอร์บิกในไส้กรอก  3  ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่เวียนนาสอดไส้ชีส ตรา AFM (ตัวอย่างที่พบว่ามีสารที่ใช้ร่วมกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม พบเบนโซอิก+ไนเตรท+ไนไตรท์ ส่วนไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF พบไนเตรท+ไนไตรท์+ ซอร์บิก        3. ยี่ห้อ AFM มี 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบไนเตรททั้งหมด ไนไตรท์ 4 ตัวอย่าง เบนโซอิก 1 ตัวอย่าง และซอร์บิก 2 ตัวอย่าง        4. ในลูกชิ้นทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณเบนโซอิกมากกว่าที่พบสูงสุดในไส้กรอกประมาณ 2.4 เท่า และไม่ได้แสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย ฉลาดซื้อแนะ        1. เลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ        2. ไม่เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีสดจัดจนเกินไป         3. ถ้าซื้อไส้กรอกแบบพร้อมทานหรือปรุงสำเร็จที่ไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่        4. โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรกินบ่อยเกินไปและไม่กินปริมาณมากในครั้งเดียว            ร่างกายรับสารไนไตรท์ได้ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ายิ่งได้รับมากเกินไปจะเกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อไม่มีแรง และร่างกายขาดออกซิเจนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สมาร์ตวอทช์ 2022

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ของเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบนาฬิกาอัจฉริยะหรือสมาร์ตวอทช์ ที่สมาชิกองค์ทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ร่วมกันทำไว้ ในครึ่งแรกของปี 2022 มาฝากผู้ที่สนใจอยากมีไว้เป็นตัวช่วยในการดูแลสุขภาพ คราวนี้เรามีให้เลือกกันถึง 32 รุ่น ในราคาระหว่าง 1,499 ถึง 21,990 บาท         การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 7 ด้าน        - ร้อยละ 25 ประสิทธิภาพ/ความแม่นยำในการนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวทั่วไป รวมถึงความแม่นยำในการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น        - ร้อยละ 25 ฟังก์ชันสมาร์ต เช่น การโทร/รับสาย รับ/ส่งข้อความ ใช้โซเชียลมีเดีย ฟังเพลง        - ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่น ตั้งค่า เลือกเมนู ดูหน้าจอ และความคล่องตัวยามสวมใส่            - ร้อยละ 15 แบตเตอรี           - ร้อยละ 5 การทำงานของแอปฯ        - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุตัวเรือน สายรัด ความทนทานของหน้าจอต่อรอยขูดขีด        - ร้อยละ 5 ฟีเจอร์ต่างๆ          เราพบว่าโดยรวมแล้วรุ่นที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ เป็นกลุ่มที่มีราคาปานกลางถึงค่อนข้างสูง โดยรุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุดสองรุ่น (80 คะแนน) ได้แก่ Samsung Galaxy Watch4 44mm ราคา 8,990 และ Garmin Venu 2 Plus 15,390 บาท*  ในขณะเดียวกันรุ่นที่ราคาถูกที่สุด (1,499 บาท) ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเพราะได้ไปเพียง 57 คะแนนเท่านั้น        อีกข้อสังเกตคือ คะแนนสูงสุดของสมาร์ตวอทช์รุ่นในปีนี้ต่ำกว่าของปีก่อนที่สูงถึง 83 คะแนน (หากสนใจสามารถอ่านย้อนหลังได้ในฉบับ 242)         อย่ารอช้า พลิกหน้าถัดไปเพื่อเลือกนาฬิกาอัจฉริยะที่คุณภาพ ราคา สเปค และรูปลักษณ์ถูกใจคุณได้เลย หมายเหตุ:        ·ค่าใช้จ่ายในการทดสอบต่อหนึ่งตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 1,800 ยูโร (ประมาณ 66,000 บาท) ฉลาดซื้อ สามารถนำผลทดสอบมาใช้ได้ เพราะเราเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกที่ร่วมลงขันทดสอบ (เริ่มต้นที่ปีละประมาณ 6,000 ยูโร หรือประมาณ 223,000 บาท++)         ·ราคาที่แสดง เป็นราคาในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ         ·ผลทดสอบสมาร์ตวอทช์ที่ ฉลาดซื้อ เคยทำไว้ก่อนหน้านี้อยู่ในฉบับที่ 242, 215, และ 177

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 256 รวมพลังสู้ ‘เงินเฟ้อ’

        ศัตรูสำคัญของเงินออมคือเงินเฟ้อ มันเหมือนมอดปลวกที่คอยกัดกิน ‘มูลค่าเงิน’ ของเราให้ถอยถดลดลง         ทำไมต้องใช้คำว่า ‘มูลค่าเงิน’ เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยสับสนระหว่างจำนวนเงินกับมูลค่าเงินน่ะสิ เหมือนจะเคยเล่าไปแล้วว่าถ้าคุณฝากเงินไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย สมมติว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หมายความว่าต่อให้เงิน 100 บาทในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1 บาท ความจริงคือเงินของคุณมีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาทไปแล้วจากเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว         เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของในท้องตลาดราคาขยับสูงขึ้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ได้ในปริมาณลดลง         สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยรอบนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันนั่นแหละ) ไหนจะภาครัฐยังลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ ส่วนภาคธุรกิจก็ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อมายังผู้บริโภค (ขึ้นราคาสินค้า) แต่รอบนี้หนักกว่าเคยเพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกสืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตั้งท่าจะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเหมือนกัน         เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ         แต่การลงทุนอะไรที่จะชนะเงินเฟ้อได้? คำตอบคือหุ้น และถ้าไม่มีเวลาไล่ดูหรือศึกษาหุ้นที่ละตัว กองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะในระยะยาวแล้ว ย้ำว่าในระยะยาวหุ้นรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้         สินทรัพย์อีกประเภทคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะมันไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น แล้วค่าเช่าก็มักเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อนั่นแหละ แต่จะควักเงินก้อนซื้อที่ดิน ซื้อตึกแถวเองคงยาก ก็มีรีทหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE INVESTMENT TRUST: REIT) ให้เลือกลงทุน         บ้างก็ว่าทองคำหรือกองทุนรวมทองคำเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษามูลค่าเงิน เพราะโลหะสีเหลืองนี่ขยับมูลค่าตามเงินเฟ้อเหมือนกัน         ถ้าใครตามส่องบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงนี้ จะเห็นว่าแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมในหุ้นต่างประเทศกันยกใหญ่ ยังไงก็ควรศึกษาก่อนตัดสินใจให้ดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณาอย่างเดียวเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >