ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสต่างแดน

เมาได้... แต่จ่ายด้วยทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เมืองออลีนส์ ประเทศฝรั่งเศส จะมีคนถูกตำรวจจับ 250 ถึง 300 คนเพราะเมาแล้วสร้างความไม่สงบหรือสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อจับตาดูพฤติกรรมของพวกที่เมาข้ามปี เทศบาลเขาต้องจ้างตำรวจพร้อมรถลาดตระเวนเพิ่มเป็นพิเศษ ปัญหาคือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าจ้างหน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาลด้วยคิดสะระตะแล้ว เทศบาลเมืองนี้จึงออกประกาศให้นักดื่มได้ทราบโดยทั่วกันว่า พวกเขาอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับ 120 ยูโร(เกือบ 5,000 บาท) ถ้าถูกพบเห็นว่าออกมาเดินเปะปะตามถนนค่าปรับนี้รวมเฉพาะค่ารถพยาบาลและรถตำรวจ ถ้าต้องเรียกหมอมาดูอาการด้วย เขาก็จะคิดเพิ่มเป็น 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) แต่ไม่ใช่แค่เสียค่าปรับแล้วจบนะ บางรายยังได้แถมโทษจำคุกอีกสาธารณสุขของฝรั่งเศสยอมรับว่าปัจจุบันเยาวชนหันมาเป็นนักดื่มมากขึ้น และไม่ใช่ดื่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พวกนี้รีบดื่มรีบเมาตามกระแสยอดฮิตจากเกมออนไลน์ เน็คนอมิเนชั่น (Neknomination)ร่างกฎหมายใหม่จึงเสนอให้ผู้ที่ชักชวนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี และโทษ 15,000 ยูโร(ประมาณ 609,000 บาท)  เขียวได้อีก การมีโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กรุงเวียนนานี่เขาล้ำไปอีกขั้นด้วยการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแหล่งอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตหายาก เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หอยทาก จิ้งเหลน แมงมุม แมงเม่า แมลงเต่าทอง (ยุโรปเขาหายากจริงนะ)นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับบ้าน 400 หลังคาเรือนแล้ว พื้นที่ประมาณ 2 สนามฟุตบอลของโซล่าฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วยการทำให้ฟาร์มนี้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะร่มเงาและช่องว่างระหว่างแผงมีเหลือเฟือ ที่ต้องเพิ่มคือเทคนิคการตัดหญ้าแบบไม่ธรรมดาที่คงความน่าอยู่สำหรับสัตว์หรือแมลงเล็กๆ เหล่านั้นเวียนนามุ่งมั่นจะเป็นมหานครสีเขียว ซีอีโอของโซล่าฟาร์มแห่งนี้บอกว่า 5 ปีจากนี้ไป บริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านยูโร (ประมาณ 32,600 ล้านบาท) และเกินครึ่งของเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สมาคมสิ่งแวดล้อมออสเตรียกล่าวว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่หลังคาในเวียนนาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ชาวเวียนนาสามารถซื้อแผงโซล่าเซลล์จากบริษัทได้คนละ 10 แผง ในราคาแผงละ 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) จากนั้นให้บริษัทเช่าแผงดังกล่าวในราคา 29.45 ยูโร (1,200 บาท) ต่อแผงต่อปี เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี และเมื่อครบ 25 ปี บริษัทจะซื้อแผงคืนทั้งหมด ถอนทุนลดโลกร้อน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแอบบ็อต พอยนท์ ในรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อรองรับการขนส่งถ่านหิน เป็นที่ถกเถียงกันมากเพราะมันอาจเป็นผลเสียต่อแนวปะการัง “เกรท แบเรีย รีฟ” ที่คนทั้งโลกรู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการ “ร้อน” บรรดาธนาคารข้ามชาติ (เช่น ซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกนเชส ดอยท์ชแบงค์ โกลด์แมนแซคส์ และเอชเอสบีซี) ต่างก็พากันถอนตัวจากการให้กู้ แต่ธนาคารสัญชาติออสเตรเลีย 4 แห่ง ได้แก่ เนชั่นแนลออสเตรเลีย คอมมอนเวลท์ เอเอ็นเซด และเวสแพค กลับตัดสินใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ รวมๆ แล้ว ธนาคารเหล่านี้ให้เงินกู้กับธุรกิจพลังงานฟอสซิลไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท) แล้ว ลูกค้าที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลงทุนของธนาคารจึงพากันไปปิดบัญชี แล้วย้ายไปอยู่กับธนาคารที่มีพฤติกรรมการให้กู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถึงวันนี้มีคนมาปิดบัญชีไปแล้วเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญ (12,000 ล้านบาท) นักวิเคราะห์บอกว่า คนกลุ่มนี้น่าจะคิดถูกแล้ว เพราะแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลกและกำลังเปิดเหมืองเพิ่มอีก 120 แห่ง แต่ทั้งราคาถ่านหินกำลังและความต้องการใช้ถ่านหินกลับน้อยลง จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียก็มีแผนจะปิดโรงงานถลุงเหล็กเพื่อลดมลภาวะในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญ (405,000 ล้านบาท) ของออสเตรเลีย และยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ก็อยู่ในกลุ่มธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากจากผลตอบแทนที่สูง เงินอย่างเดียวไม่พอ เวเนซูเอล่ามีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 114,000 ล้านเหรียญ (3,700,000 ล้านบาท) ต่อปี แต่ประชากรในประเทศกลับขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องจำกัดการซื้อเหมือนที่คิวบาและเกาหลีเหนือ ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าจะต้องถูกสแกนนิ้วมือ (บางร้านใช้บัตรประจำตัวประชาชน) เพราะรัฐต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเกินหนึ่งรอบต่อวัน ใครต้องการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ต้องนำสูติบัตรของลูกมาแสดงด้วย หรือสินค้าที่มีค่าดั่งทอง อย่างนมผง รัฐก็กำหนดให้ซื้อได้สัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมเท่านั้น รัฐบาลบอกว่ามาตรการสแกนนิ้วมือนี้ออกมาเพื่อดัดหลังพวกที่ซื้อสินค้าควบคุมราคาเหล่านี้แล้วนำข้ามชายแดนไปขายทำกำไรที่ประเทศโคลัมเบีย ประธานาธิบดีของเขาให้ข้อมูลว่าร้อยละ 40 ของสินค้าจากเวเนซูเอลาไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดโคลัมเบีย (... แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าร้อยละ 10 นะ) เรื่องของเรื่อง เวเนซูเอลาประกาศให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคา เช่น นม น้ำมัน ข้าว เนื้อไก่ กาแฟ ยาสีฟัน และผงซักฟอก แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ กลับมีของเหล่านี้เพียงร้อยละ 30 ของสต็อคปกติเท่านั้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควบคุมผ่านบาร์โค้ดที่กระจกหน้ารถ เพราะกลัวน้ำมันจะไหลไปที่โคลัมเบียหมด น้ำมันที่เวเนซูเอล่าราคาไม่ถึง 1 เซนต์ต่อแกลลอน แต่ถ้าในโคลัมเบียที่ชายแดนติดกันนั้น น้ำมันราคาเกือบ 4.5 เหรียญต่อแกลลอน) ยังไม่หมดนะ รัฐบาลเขาควบคุมการ “ใช้” น้ำด้วยการหยุดปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 108 ชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่า การควบคุมพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนได้ตรงไหน จริงๆ แล้วควรยกเครื่องเศรษฐกิจทั้งประเทศต่างหาก ลดเปลือก ปีหนึ่งๆ สินค้าต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 207 ล้านตัน และถ้ายังไม่มีความพยายามใดๆ เพิ่มเติม บวกกับกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมใช้ของอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าของผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 2025 ตัวเลขนั้นอาจคิดตามยาก เอาเป็นว่า 1 ใน 3 ของขยะในเมืองหลวงก็คือบรรจุภัณฑ์นั่นเอง บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็กำลังหาทางลดเจ้าหีบห่อพวกนี้ด้วยการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบน้อยลงและเสียค่าขนส่งน้อยลง เช่น ซิสโก้สามารถลดบรรจุภัณฑ์ลงได้ 855,000 กิโลกรัม เดลล์ก็หันมาใช้ฟางและวัสดุที่ทำจากเห็ดเป็นตัวกันกระแทกในกล่องชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แม้แต่ยูนิลิเวอร์ก็ให้คำมั่นว่าจะลดบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือแม้แต่ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะได้เห็นขวดรูปร่างผอมสูงกันมากขึ้น เพราะมันใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าขวดเตี้ยสั้น แถมมีน้ำหนักเบากว่าด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะเน้นการมีมากกว่าหนึ่ง “ชีวิต” เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือการไม่ต้องผลิตมันออกมาแต่แรกนั่นเอง เพราะมันดีกว่าการตามไปเก็บตอนหลังเห็นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสต่างแดน

บริการไม่เข้าป้ายฟังแล้วเฉยไว้ อย่าไปอิจฉาเขา … รถไฟที่อิตาลีเขามีการตรวจสอบคุณภาพกันอย่างสม่ำเสมอโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รถไฟวิ่งผ่านล่าสุดแคว้นทัสคานีเขาตรวจสอบแล้วได้ความว่าต้องสั่งปรับบริษัทเทรนอิตาเลียหรือการรถไฟอิตาลี เป็นเงิน 644,000 ยูโร (25 ล้านบาท) โทษฐานที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การไม่จัดจำนวนตู้โดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคน ไม่แจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเมื่อขบวนรถเกิดการล่าช้า ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่เพียงพอในตัวสถานี ไปจนถึงเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด หรือระบบปรับอากาศไม่ทำงาน เป็นต้นนี่คือผลจากการตรวจทั้งหมด 14,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ รฟต. ยังถูกปรับเพิ่มอีก 4,000 ยูโร (150,000 บาท) เพราะไม่ยอมรับโทรศัพท์สายด่วนสำหรับร้องเรียนบริการ ปิดท้ายขบวนด้วยเรื่องความล่าช้าหรือยกเลิกการเดินทาง ที่ทำให้เทรนอิตาเลียโดนปรับเพิ่มอีก 4.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท (นี่ขนาดสถิติการตรงเวลาเขาอยู่ที่ร้อยละ 90 นะ)สาเหตุของความล่าช้านั้น ข่าวบอกว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่สถานีฟลอเรนซ์ ตั้งแต่เริ่มมีระบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2008 มาจนบัดนี้ การประสานงานเชื่อมต่อของรถไฟทั้งสองประเภทก็ยังไม่ลงตัวอ้าว ... ตกลงว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว รถไฟธรรมดาๆ จะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือนี่ ?!! เสื้อผ้าดีๆมีที่ไหน? ถ้าผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานที่มีสภาพการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อลูกจ้าง เขาหรือเธอจะไปช้อปที่ไหน? อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน “จริยธรรม” จริงๆ ยกตัวอย่างที่บังคลาเทศเอง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีทางหนีไฟ และมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา ตัวอย่างเช่น ตึกรานา พลาซ่า ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด 5 โรง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ จากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เสปน เยอรมนี และเดนมาร์ค ความจริงแล้วแบรนด์เหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานโรงงานไว้แล้ว ขาดแต่การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือยังไม่ได้รับแรงกดดันมากพอจากผู้บริโภค แต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกเสื้อผ้าอยู่บ้าง เช่น วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่าจะยกเลิกสัญญากับโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทันทีที่พบว่าฝ่าฝืนข้อตกลง (เปลี่ยนจากของเดิมคือแค่ตักเตือน) หรือกรณีของบริษัท The Gap ก็บอกว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องของความเสี่ยงไฟไหม้ให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของบริษัททั้งหมดในบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเจ้าไหนยินดีลงนามรับข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานบังคลาเทศที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยของโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เพราะเท่ากับเป็นการผูกมัดให้บริษัทต้องรับผิดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อการซ่อมแซมโรงงานด้วย เรื่องนี้ยังต้องติดตามตอนต่อไป .. แต่การระบุสถานที่ผลิตไว้ในฉลากสินค้าก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้บ้าง หรือว่านี่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก?   อวสานธุรกิจกระดาษ? การรณรงค์ลดการใช้กระดาษในประเทศฟินแลนด์เขาได้ผลจริงๆ หลักฐานคือการปรับตัวขนานใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานถึง  40,000 คน และนี่คือตัวเลขที่ลดลงไป 3 เท่าแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้มีกันทั่วยุโรป เมื่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน พากันทำทุกอย่างโดยไม่ง้อกระดาษ UPM-Kymmene Corp ผู้ผลิตกระดาษสำหรับแม็กกาซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ลดการผลิตลงไป 850,000 ตันในปีนี้ ซึ่งการลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7 นี้ส่งผลกระทบต่อ โรงงานทั้งในฟินแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วน Stora Enso เจ้าใหญ่อีกรายหนึ่งก็ประกาศลดกำลังผลิตลงมาเหลือ 475,000 ตัน ทำให้ต้องปิดโรงงานในสวีเดนไป 2 โรง แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป บริษัท UPM หันมาเอาดีทางด้านพลังงานทางเลือก ด้วยการลงทุน 150 ล้านยูโรสร้างโรงกลั่นแห่งแรกของโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการนำต้นสนมาผลิตกระดาษ และเพราะความต้องการใช้กระดาษที่อื่นๆในโลกไม่ได้ลดลงเหมือนที่ฟินแลนด์ UPM จึงไปลงทุนสร้างโรงงานกระดาษในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Stora Enso ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระดาษกล่อง ในมณฑลกวางสี และร่วมทุนกับบริษัทจากชิลีเปิดโรงงานกระดาษในอุรุกวัย เป็นต้น   ประหยัดได้อีก จุดขายของรถนาทีนี้ ไม่มีอะไรแรงไปกว่าเรื่องของการประหยัดน้ำมันอีกแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? บังเอิญว่านิตยสารผู้บริโภคของอังกฤษ Which? เขามีทุนมากพอจะทดสอบได้ เลยพบข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว Which? ทดสอบรถเล็ก 2 รุ่น ที่อ้างว่าประหยัดน้ำมัน ได้แก่ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ และ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 และพบว่า ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ วิ่งได้น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ถึง 9.2 ไมล์ต่อแกลลอน (โฆษณาบอกว่า วิ่งได้ 76.4 mpg สำหรับนอกเมือง แต่การทดสอบของ Which? พบว่าวิ่งได้ 65.7 mpg เท่านั้น) และค่าเฉลี่ยสำหรับการวิ่งในเส้นทางทุกประเภทอยู่ที่ 56.5 ไมล์ต่อแกลลอน ไม่ใช่ 65.7 เหมือนที่อ้างด้วย เมื่อลองคำนวณดู โดยใช้ราคาน้ำมันในปัจจุบัน และสมมุติระยะทางใช้รถไว้ที่ 12,000 ไมล์ต่อปี ก็หมายความว่า รถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 185 ปอนด์ (ประมาณ 8,400 บาท) ต่อปี เช่นเดียวกับ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 ที่วิ่งได้น้อยกว่าโฆษณา 8.5 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึงปีละ 186 ปอนด์ (ประมาณ 8,450 บาท) Which? ยืนยันว่าวิธีการทดสอบของเขาใกล้เคียงกับการใช้รถจริงมากกว่าการทดสอบของ EU ด้วย   ทำงานที่นี่มีความสุข ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไต้หวันเขามีมุมมองใหม่ เขาจะใช้มันเพื่อเพิ่มระดับความสุขให้คนในประเทศ รัฐบาลไต้หวันให้ความเชื่อมั่นว่าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็จะมีความสุข อย่างน้อยก็ใน 1,600 บริษัทที่ร่วมลงนามใน “คำประกาศว่าด้วยความสุขในที่ทำงาน” ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 6 กระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลต้องการลดความเครียดของผู้คนในช่วงเศรษฐกิจขาลง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ “ดัชนีความสุขในที่ทำงาน” ด้วย เขาเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การคืนกำไรให้กับสังคมและร่วมดูแลผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน การมีพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับความก้าวหน้าเท่าเทียมกัน มีเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ ฯลฯ และต้องให้พนักงานได้มีสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว มีวันหยุดเพียงพอ เลือกชั่วโมงทำงานได้ ฯลฯ  ที่สำคัญที่สุดคือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะความสุขจะกระจายออกไปถึงผู้บริโภคหรือพลเมืองทุกคนนั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสต่างแดน

  โชคดีที่ไม่ร้อนเงินเขาว่ากันว่าหน้าร้อนที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ (ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 40 ถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่แปลกสำหรับประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง  แต่ที่เป็นประเด็นก็เพราะผู้คนที่นี่เขาออกจะมีฐานะล่ำซำกันอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในศูนย์กลางการค้าอย่างเมืองดูไบ ซึ่งประชากรประมาณ 2 ล้านคนของเขาไม่ยี่หระกับบิลค่าไฟฟ้าที่แพงลิบลิ่ว  คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้นิยมเปิดเครื่องปรับอากาศที่บ้านไว้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตัวเองจะออกไปทำงานหรือไปทำธุระที่อื่น รวมๆ แล้วค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานต่อหัวของคนที่ประเทศนี้เลยสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก สูงกว่าการบริโภคไฟฟ้าต่อหัวของสเปนซึ่งมีประชากรถึง 47 ล้านคน ถึง 3 เท่า และสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวก็สูงกว่าคนอเมริกัน 2 เท่า เรียกว่า ร้อยละ 70 ของจากพลังงานที่ผลิตได้ถูกใช้ไปกับการทำความเย็นนี่เอง และเมื่อมีการบริโภคไฟฟ้าในเมืองดูไบสูงขนาดนั้น ไฟฟ้าในเขตอื่นๆ ของประเทศจึงอยู่ในภาวะติดๆ ดับๆ รัฐบาลเขาจึงออกมารณรงค์ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ข่าวบอกว่ายังไม่ประสบผล คงจำกันได้ว่าตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างตึกเบิร์จ คาลิฟะห์ หรือที่เราเรียกกันว่าตึกดูไบเบิร์จ ก็อยู่ที่เมืองดูไบด้วย ตึกนี้ตึกเดียวก็ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 10 ของกำลังผลิตของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว นอกจากร้านรวงหรือสำนักงานต่างๆ แล้ว ในตัวตึกยังมีเนินสำหรับเล่นสกี ที่มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 3 สนามฟุตบอล และต้องทำอุณหภูมิที่ – 8 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อทำให้เกิดหิมะ นอกจากนี้ยังมีลานสเก็ตขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่ต้องทำความเย็นไว้รองรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนวันละกว่า 150,000 คนด้วย ปัจจุบัน ร้อยละ 85 ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศนี้มาจากก๊าซธรรมชาติ (ที่เหลือมาจากน้ำมัน) แต่เขากำลังมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทั้งหมด 4 เตา บนชายฝั่งของเมืองอาบูดาบีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ และคาดว่าเตาแรกจะเริ่มใช้งานได้ในอีก 6 ปีข้างหน้า   ลุ้นโชครับลุคใหม่เกิดกระแสฮือฮากันไปทั่วในหมู่นักท่องราตรีเมืองผู้ดี เมื่อคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งประกาศจัดงานลุ้นรับบริการศัลยกรรมความงามมูลค่า 4,000 ปอนด์ (ประมาณ 200,000 บาท) ฟรี   งานที่ว่า ใช้ชื่องานว่า “My Big Fat Plastic Surgery” นี้เขาวางแผนจะจัดเดือนละครั้ง หมุนเวียนไปตามไนต์คลับในเมืองต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร โดยเริ่มจากลอนดอนเป็นเมืองแรกแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้น  แต่เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูของสมาคมศัลยกรรมเพื่อความงามของอังกฤษเข้า ทางสมาคมฯ ก็รีบออกมาสกัดดาวรุ่งว่าการจัดงานอย่างนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการพึ่งมีดหมอเพื่อความงามนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะผ่านการวางแผนไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน ไม่สมควรนำมาเป็นของรางวัลจากการจับฉลากลุ้นผู้โชคดี เพราะคนที่ได้รางวัลอาจจะไม่ได้มี “จุดบกพร่อง” อย่างแท้จริง อาจเพียงแค่ต้องการจะรักษาสิทธิก็ได้ ไหนๆ ก็ฟรีแล้ว   เพราะเพียงแค่เสียค่าบัตรผ่านประตูเข้าไนต์คลับ (ราคา 25 ปอนด์หรือประมาณ 1,200 บาท) คุณจะได้รับสิทธิร่วมลุ้นรับศัลยกรรมความงามฟรีโดยอัตโนมัติ และผู้โชคดีจะต้องปรากฏตัวขึ้นรับรางวัลทันที แต่ผู้จัดเขาบอกว่าไม่ได้เร่งรัดนะ แค่ให้ขึ้นไปรับรางวัลและถ่ายรูปเป็นหลักฐานเอาไว้ก่อน จากนั้นผู้โชคดีคนดังกล่าวก็จะมีเวลาไปขบคิดอีก 2 อาทิตย์ว่าจะให้หมอลงมีดอัพลุคตนเองที่ส่วนไหนดี ลาภจะได้ไม่กลายเป็นทุกขลาภไป  เรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อีกพักใหญ่ เพราะข่าวบอกมาว่าการลุ้นรับโชคทำศัลยกรรมความงามฟรีนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นในนิตยสาร ในอินเตอร์เน็ตก็นิยมให้คนมาร่วมสนุกด้วยวิธีนี้ หรือแม้แต่ “ล็อตเตอรี่ความงาม” ก็มีให้ซื้อกันแล้ว   โซฟา โซเฟคถ้าเราจะลงทุนซื้อของแบรนด์เนมทั้งที เราคงเลือกซื้อจากร้านที่ดูหรูหราน่าเชื่อถือกันหน่อย เพราะทางร้านเขาคงจะกลัวเสียชื่อจึงต้องคัดมาเฉพาะของแท้เท่านั้น …แต่มันจริงหรือ? ถ้าไปถามโทรทัศน์ CCTV ของประเทศจีนตอนนี้เขาคงจะตอบว่าไม่ เพราะเขาเพิ่งจะออกมาเปิดโปงร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไฮโซแห่งหนึ่งว่า ในร้านนั้นมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าจากอิตาลี และเฟอร์นิเจอร์ประทับตรา “นำเข้าจากอิตาลี” ที่ผลิตมาจากโรงงานแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของจีนนี่เอง  ร้านที่ว่านั้นมีชื่อว่า ดาวินชี่ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นร้านที่เศรษฐีชาวจีนแผ่นดินใหญ่นิยมไปหาซื้อเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หรู อย่างเวอซาเช่ หรือเฟนดิ ไปประดับบ้าน สนนราคาของสินค้าที่นี่เขาก็ไม่ธรรมดา ถ้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์ชุดห้องนอนก็ต้องพกเงินไปประมาณ 100,000 เหรียญ (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) ทีเดียว  มาดามดอริส พัว ซีอีโอของบริษัท ดาวินชี่ รีบออกมาแถลงข่าวทันที ว่าบริษัทถูกใส่ร้ายชัดๆ พูดไปก็ร้องไห้ไปน่าเห็นใจอย่างยิ่ง แต่วันเดียวกันนั้นเอง สถานีโทรทัศน์ CCTV ก็ออกข่าวการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ที่มีหลักฐานยืนยันว่าดาวินชี่ ไปเช่าโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์ไว้ในเขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียว ในเซี่ยงไฮ้เอาไว้  ถ้าเก็บของที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่ที่เก็บอยู่นั้นมันเป็นเฟอร์นิเจอร์ “เมดอินไชน่า” ที่ถูกส่งมาพักเพื่อเปลี่ยนสถานภาพนั่นเอง  ในทางเทคนิคแล้ว สินค้าที่ถูกส่งไปเก็บในคลังที่เขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียวนั้น ถ้ามันถูกเก็บไว้เกินหนึ่งวัน มันจะสามารถกลับออกมาพร้อมกับตราประทับว่าเป็นสินค้า “นำเข้า” ได้   กรุณางดกินตับอาหารเหลาเลื่องชื่อที่หลายคนใฝ่ฝันอยากลิ้มรสอย่าง ฟัวกราส์ ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าแล้ว เมื่อผู้จัดงานเทศกาลอาหารอานูกา ที่จะจัดขึ้นที่เมืองโคโลจน์ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ประกาศว่าปีนี้จะไม่มีการเสิร์ฟฟัวกราส์ (ที่เราเรียกกันว่า “ตับห่าน”) ในงานเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สัตว์ที่ไม่เห็นด้วยกับการได้มาซึ่ง “ตับ” ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 10 เท่า ด้วยกรรมวิธีที่ออกจะโหดร้ายไปหน่อย บรรดาเป็ดหรือห่านอับโชคพวกนี้จะถูกขังในกรงแคบๆ จนไม่สามารถขยับปีกได้ แล้วก็จะถูกบังคับ  ป้อนอาหารตลอดเวลา ผ่านทางหลอดให้อาหารที่สอดผ่านจงอยปากของพวกมันเข้าไปโดยตรงเพื่อให้ ตับของพวกมันโตไวๆ  แต่กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสเขารับไม่ได้ งานใหญ่ขนาดนี้จะไม่ให้นำเสนอตำรับอาหารเลื่องชื่อของตนเองได้อย่างไร ว่าแล้วรัฐมนตรีเกษตรของเขาจึงทำจดหมายไปขอร้องให้เยอรมนีทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง มิเช่นนั้นจะเขาจะบอยคอตด้วยการไม่เข้าร่วมพิธีเปิด แต่ทางรัฐบาลเยอรมนีตอบกลับไปว่าเรื่องนี้มันต้องแล้วแต่ผู้จัดงานเขา รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้  ความจริงแล้วปีนี้สหภาพยุโรปเริ่มใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องการเลี้ยงเป็ดหรือห่านเพื่อเป็นวัตถุดิบของฟัวกราส์แล้ว แต่องค์กรพิทักษ์สัตว์เขาบอกว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของฟาร์มในฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 75 ของฟัวกราส์ทั้งหมดในโลก) เท่านั้นที่เลี้ยงตามเกณฑ์ดังกล่าว หมายเหตุ ที่เรียกกันว่า “ตับห่าน” นั้นคงจะไม่ตรงความจริงเท่าไรนัก เพราะสถิตระบุว่าในการผลิตฟัวกราส์ ของฝรั่งเศสในแต่ละปีเขาจะใช้เป็ดประมาณ 37 ล้านตัว ในขณะที่ใช้ห่านเพียง 7 แสนตัวเท่านั้น  น้ำมันปาล์มต้อง (โปร่ง) ใสปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่กลุ่มนักอนุรักษ์กำลังจับตาดูเป็นพิเศษ   คนออสเตรเลียกำลังลุ้นว่าร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการระบุลงว่าส่วนผสมในอาหารที่เรียกว่า “น้ำมันพืช” นั้นจริงๆ แล้วเป็นน้ำมันจากพืชชนิดใด จะผ่านการยอมรับโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  ผู้ที่รณรงค์ให้เกิดกฎหมายนี้บอกว่า คนออสซี่นั้นบริโภคน้ำมันปาล์มเฉลี่ยคนละ 10 กิโลกรัมในแต่ละปี โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย เพราะในฉลากอาหารของออสเตรเลียขณะนี้ มีเพียงคำว่า “น้ำมันพืช” ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูลในการเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ออสเตรเลียนำเข้าน้ำมันปาล์มปีละ 130,000 ตันจากมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 85 ของน้ำมันปาล์มที่ใช้กันทั่วโลก (อันดับสามคือประเทศไทยเรานี่เอง) สองประเทศนี้จึงเป็นที่จับตามองของบรรดานักเคลื่อนไหวจากกรีนพีซ WWF (World Wildlife Fund) และแม้แต่องค์การสวนสัตว์วิคตอเรีย ในออสเตรเลีย เป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพราะการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำสวนปาล์มในอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าไม่น้อย  รายงานของสหประชาชาติเมื่อสี่ปีที่แล้วระบุว่า ร้อยละ 98 ของป่าฝนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะหายไปภายในปี ค.ศ. 2022 โดยปัจจัยสำคัญได้แก่การผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ทำให้พื้นที่ป่าขนาดประมาณ 300 สนามฟุตบอลหายไปทุกๆ หนึ่งชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >