ฉบับที่ 203 หม้อทอดไร้น้ำมัน

ฉบับนี้เรามีผลทดสอบหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือ Air Fryer ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศโดยเพื่อนสมาชิกจาก สเปน โปรตุเกส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ส่งตัวอย่าง ได้ทำการทดสอบไว้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่กำลังมองหาเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้ไว้ประกอบอาหารทอดให้สมาชิกในครอบครัว ผลการทดสอบพอจะบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังต้องการการพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะรุ่นที่ดีที่สุดได้คะแนนไปเพียง 71 จากคะแนนเต็ม 100 ในขณะที่รุ่นที่ขี้เหร่ที่สุดได้ต่ำกว่า 30 คะแนน (แต่เนื่องจากเนื้อที่เรามีจำกัด จึงขอนำเสนอในกลุ่มที่คะแนนดีและพอใช้ได้เท่านั้น) ทีมทดสอบแบ่งการให้คะแนนออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่    ประสิทธิภาพ                 ร้อยละ 55ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20การประหยัดพลังงาน         ร้อยละ 15ความปลอดภัย         ร้อยละ 5 คุณภาพการประกอบ         ร้อยละ 5 ถ้าอยากรู้ว่าหม้อทอดรุ่นไหนสามารถใช้ทอดอาหารแช่แข็งอย่างมันฝรั่งทอด ปอเปี๊ยะ โครเกต์เนื้อ และน่องไก่ ออกมาได้เนื้อสัมผัสกรุบกรอบ สีสันสวยงาม ด้วยการใช้งานที่ไม่ยากเกินไป เชิญพลิกอ่านหน้าถัดไปได้เลย(หมายเหตุ ราคาที่เราอ้างอิงเป็นราคาที่เช็คจากอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2554 19 มกราคม 2554ฉลากอาหารปรับลุคใหม่ หวาน – เค็มเท่าไหร่รู้ได้เลยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกประกาศ ปรับปรุงการแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปทุกประเภท รวมทั้งน้ำดื่มทุกชนิด ที่เป็นการให้ข้อมูลโภชนาการแก่ผู้บริโภคให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น จากเดิมที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณสารอาหารที่ได้หรือเปรียบปริมาณที่ควรกินต่อวันเอง แต่ข้อมูลในฉลากใหม่นี้จะเน้นที่การให้ข้อมูลสารอาหารที่บรรจุภายในผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบเป็นร้อยละความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละวัน รวมทั้งปรับปรุงจากเดิมที่เป็นการกำหนดสารอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค เป็นสารอาหารตามจำนวนที่บรรจุแทน เพราะปัจจุบันอาหารมีการบรรจุหลายขนาด บางครั้ง 1 หน่วยบริโภคอาจเป็นน้ำหนักเพียง 1 ใน 4 ของน้ำหนักอาหารจริงใน 1 ซองก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิด  การปรับปรุงฉลากอาหารของ อย. จะทำให้ผู้บริโภคคำนวณสารอาหารที่กินได้ง่ายขึ้น และจะแสดงค่าสารอาหารสำคัญๆ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือ ซึ่งการกำหนดฉลากในรูปแบบใหม่นี้ จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมเรื่องการกิน หวาน มัน เค็ม ไม่ให้มากเกินไป ทำให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่ายขึ้น โดย อย. ตั้งเป้าว่าผู้บริโภคจะได้เห็นฉลากรูปแบบใหม่นี้ในปี 2554++++++++++++++++++++++++++++   23 มกราคม 2554ถึงเวลาคุมเข้ม สัญญา “ฟิตเนส”สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกกฎหมายคุมเข้มบริการ “ฟิตเนส” หลังยอดร้องเรียนปี 53 พุ่ง 200 ราย โดยประเด็นที่ร้องเรียนส่วนใหญ่คือเรื่อง การไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาในเรื่องการบริการ ที่ก่อนจะมีการทำสัญญา พนักงานขายจะบอกว่าสามารถใช้บริการด้านใดได้บ้าง แต่เมื่อทำสัญญาแล้วไม่เป็นตามข้อตกลงที่วางไว้ กับอีกเรื่องคือ เรื่องการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถเรียกร้องเอาเงินคืนจากผู้ประกอบการได้ และจะมีการหักเงินจากบัตรเครดิตเป็นรายเดือน ในการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้าจะเป็นการทำสัญญากันเองของสองฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบ และไม่สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการได้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายบังคับ  โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ จะเจาะจงแต่สถานที่ให้บริการแบบที่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายเท่านั้น ไม่รวมสถานที่ที่มีหลักสูตรเฉพาะอย่าง โยคะ ศิลปะป้องกันตัว หรือกีฬา โดยการทำสัญญาต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน พร้อมระบุรายละเอียดขนาดพื้นที่ จำนวนประเภท จำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวก  อัตราค่าสมาชิก ค่าใช้บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ลักษณะการเรียกเก็บเงิน ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ  สิทธิในการบอกเลิกสัญญา เงื่อนไขการขอเรียกคืนเงิน ซึ่งต่อไปหากพบสัญญาไม่เป็นธรรม ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้++++++++++++++   26 มกราคม 2554ผู้บริโภคเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำเพราะน้ำมันปาล์มขึ้นราคาผลพวงจากวิกฤติราคาน้ำมันปาล์มที่แพงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่า บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าอาจใช้วิธีประหยัดต้นทุนด้วยการใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้บริโภค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการนำน้ำมันมาทอดซ้ำ จะเป็นการก่อให้เกิดสารโพลาร์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  กระทรวงสาธารณสุขเคยสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร ในร้านขายอาหารในปี 2553 จำนวนทั้งหมด 4,397 ตัวอย่าง พบมีสารโพลาร์เกิน 294 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 1-14 มกราคม 2554 ได้ตรวจน้ำมันทอดซ้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 494 ตัวอย่าง พบน้ำมันทอดซ้ำไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 5.06  กระทรวงสาธารณสุขฝากถึงพ่อค้า-แม้ค้าว่า ไม่ควรน้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง โดยหลังจากใช้ทอดครั้งแรกแล้ว จะต้องกรองกากทิ้งก่อน จึงจะสามารถนำน้ำมันมาใช้ทอดครั้งที่ 2 ได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบมีสารโพลาร์เกินมาตรฐาน คือไม่เกินร้อยละ 25 ต่อน้ำหนักน้ำมันที่ใช้ ถือว่ามีความผิดฐานจำหน่ายอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีสิทธิโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   บรอดแบรนด์ 199 บาท เพื่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทีโอที ได้เปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตราคาถูกใน 6 จังหวัด ด้วยระบบบรอดแบนด์ 2 เมกะบิต เพียง 199 บาทต่อเดือน ภายใต้โครงการ “ถนนไร้สาย” ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือ ไว-ไฟ (Wi-Fi) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยเริ่มต้นไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ตรัง, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, เชียงราย และ พิษณุโลก  โดย ทีโอที หวังว่าการให้บริการอินเตอร์เน็ตในราคานี้ จะช่วยให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในประเทศมีความแพร่หลายมากขึ้น เพราะปัจจุบันอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ขั้นต่ำ 6 เมกะบิต อยู่ที่ 599 บาทต่อเดือน ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างสูงเกินไปสำหรับลูกค้าที่มีรายได้น้อย การปรับลดราคาโดยใช้เงื่อนไขลดความเร็วของอินเตอร์เน็ตลง จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน – นักศึกษา  แต่บริการนี้ก็ยังติดปัญหาเรื่องการให้บริการยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถ้าจะทำให้เข้าถึงได้ทั่วประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูง  แบบนี้คงต้องฝากความหวังเอาไว้กับ 3 จี ซึ่งหวังว่าบ้านเราจะมีโอกาสได้ใช้เร็วๆ นี้++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   คัดค้านเครดิตบูโร เก็บประวัติการจ่ายค่าน้ำ – ค่าไฟมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค ต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เรื่องการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่น่าจะมีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องขอสินเชื่อ พร้อมเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่าการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทบทวนการนำประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภคมาเป็นเงื่อนไขในการของสินเชื่อ เพราะเรื่องการชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ของผู้บริโภคไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน แถมยังเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะปัญหาเรื่องการขาดชำระค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเรื่องที่อาจเกิดได้จากหลายเหตุผล ทั้งจากความผิดพลาดด้านเอกสาร ที่อาจตกหล่นไม่ถึงมือผู้ใช้บริการ หรือการที่ชื่อของผู้ขอใช้กับผู้ใช้จริงไม่ได้เป็นคนเดียวกัน อย่างในกรณีของผู้ให้บริการหอพัก บ้านเช่า หรือการที่อาจถูกแอบอ้างชื่อโดยมิจฉาชีพไปจดทะเบียนของใช้บริการโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หากมีการนำไปบันทึกประวัติเสียในเครดิตบูโร ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ถึง 3 ปี แม้เงินที่ค้างชำระจะเป็นเงินจำนวนไม่มากและผู้บริโภคจะได้ชำระเงินเรียบร้อยในภายหลังแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผลหากกลายมาเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน++++++++++++++++++++++  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 กระแสในประเทศ

5 ตุลาคม 2553อย่าใช้เครื่องสำอาง “สเต็มเซลล์ พืช” ไม่สวยแถมเสี่ยง!!! อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเครื่องสำอางอวดอ้างสรรพคุณใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) จากพืชเป็นส่วนผสม เพราะไม่ให้ผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้อีกต่างหาก  ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า มีเครื่องสำอางอวดอ้างให้เข้าใจผิดว่า มีการผสมเซลล์ต้นกำเนิดจากพืชในเครื่องสำอาง และนำเสนอสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถทำให้เซลล์มนุษย์มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตได้ 80%, ทำให้เซลล์ทนทานต่อรังสี UV อายุของเซลล์ยาวขึ้น, มีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพืชยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการสกัดสารสำคัญจากพืชมากกว่าการนำเซลล์พืชมาใช้เป็นส่วนผสม เพราะเซลล์จากพืชยังมีข้อจำกัดที่จะนำมาใช้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างดังกล่าว เพราะนอกจากไม่เกิดผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างและเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายอีกด้วย..................................................................... 15 ตุลาคม 2553“เต้าหู้ยี้” ดูให้ดีก่อนทาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้สำรวจคุณภาพของ “เต้าหู้ยี้” ในภาชนะปิดสนิทตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2552 โดยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเต้าหู้ยี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง พบเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) จำนวน 6 ตัวอย่าง บาซิลัสซีเรียส (Bacillus cereus) เกินเกณฑ์ จำนวน 31 ตัวอย่าง โคลิฟอร์ม (Coliforms) เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และบาซิลัสซีเรียส หากมีการปนเปื้อนในอาหารและเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมากที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย  ใครที่จะซื้อเต้าหู้ยี้มารับประทาน ควรเลือกที่ภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีคราบเปียกชื้น ฉลากมีเลขทะเบียน อย. แจ้งชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ หากเปิดภาชนะแล้วแต่ทานไม่หมด ควรปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น และหากพบว่าเต้าหู้ยี้มีลักษณะเนื้อ สีกลิ่นผิดปกติ แปลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสื่อมสภาพไม่ควรนำมารับประทานเด็ดขาด........................................................................   18 ตุลาคม 2553“น้ำมันรำข้าว” ไม่ช่วยรักษาโรค ปัญหาอาหารเสริมโฆษณาเกินจริงมีมาให้ผู้บริโภคได้ปวดหัวกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว” ที่อวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด ทั้ง โรคมะเร็ง หัวใจ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดัน อย.จึงต้องออกโรงเตือนผู้บริโภคอย่างหลงเชื่อโฆษณา พร้อมย้ำชัดเป็นแค่ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยารักษาโรค  อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อนำมาทานรักษาโรค เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานเสริมนอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติเท่านั้น ที่สำคัญอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้อง ยิ่งผู้ป่วยที่ต้องเข้มงวดเรื่องการรับประทาน อย่าง เบาหวาน และมะเร็ง อาจส่งผลข้างเคียงหากทานอาหารเสริมโดยไม่ได้รับคำแนะนำหรือการดูแลจากแพทย์....................................................................   ไม่พอใจบริการโทรศัพท์ ผู้บริโภคบอกยกเลิกสัญญาได้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ได้ฝากเตือนมายังผู้ใช้และผู้ที่กำลังให้ความสนใจจะใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ควรศึกษาดูรายละเอียดข้อมูลสัญญาการให้บริการก่อนตัดสินใจซื้อ และหากใช้แล้วไม่พอใจในบริการสามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ โดยการยกเลิกสัญญากับเครือข่ายผู้ให้บริการต่างๆ สามารถทำได้ โดยสามารถแยกวิธีการและเงื่อนไขหลักๆ ได้ 3 กรณี กรณีแรก หากผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแล้วโทร. ไม่ติดหรือถูกโอเปอเรเตอร์เปลี่ยนโปรโมชั่นโดยผู้ใช้บริการไม่ยินยอม กรณีที่สอง หากผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาเพราะไม่อยากใช้งานต่อ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัททราบล่วงหน้า อย่างน้อย 5 วัน โดยยกเลิกได้ทั้งแบบคืนเครื่องโทรศัพท์และไม่คืนเครื่อง หากต้องการคืนเครื่องโทรศัพท์ ผู้ใช้บริการจ่ายเฉพาะค่าบุบสลายของเครื่อง แต่ไม่เกินราคาเครื่อง แต่ถ้าผู้ใช้บริการต้องการ เก็บเครื่องโทรศัพท์ไว้ก็ต้องซื้อเครื่องจากผู้ใช้บริการตามราคาตลาด  แต่ในกรณีที่ 3 หากบริษัทใช้วิธีให้ผู้ใช้บริการทำสัญญาโดยการหักบัญชีผ่านบัตรเครดิตนั้น ถือเป็นการทำสัญญาด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ผู้บริโภคมีเวลา 30 วันในการยกเลิกสัญญา ซึ่งหากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะถือว่าสัญญานั้นผูกมัดผู้บริโภค และเป็นไปตามสัญญาบัตรเครดิต ไม่ใช่สัญญาโทรคมนาคม .......................................................................   เมื่อคนไทยถูกคุกคาม ด้วยโรค “ข้อเข่าเสื่อม”จากการสัมนาวิชาการเรื่อง “ทศวรรษใหม่ในการรักษาโรคกระดูกและข้อ” เนื่องในวันโรคข้อสากลประจำปี 2553 มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้คาดว่ามีคนไทยมีปัญหาโรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนประมาณ 7 ล้านคน กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุมีประมาณ 6 ล้านคน และยังมีผู้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์อีกประมาณ 1 ล้านคน แม้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด ยิ่งอาการข้อเข่าเสื่อมหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงถึงขั้นลุกขึ้นยืนหรือเดินเองไม่ได้ ซึ่งนิสัยของคนไทยเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งการนั่งพับเพียง นั่งขัดสามาธิ นั่งยองๆ โดยข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าการนั่งในลักษณะดังกล่าวทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการทำให้ข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน นอกจากนี้โรคข้อเสื่อมยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักตัว การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งอาชีพที่มีการใช้งานของข้อมากเช่น ช่างเสริมสวย ครู และเกษตรกรเพราะต้องยืนทำงาน เข่าจะต้องรับน้ำหนักประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว วิธีการป้องกันโรคเข้าเสื่อมด้วยตัวเอง คือต้องพยามยามหลีกเลี่ยงการใช้เข่ามากๆ เช่นการยืนหรือการนั่งงอเข่านานๆ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนั่งเหยียดขาตึงแนบพื้น พร้อมกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว สลับกับการจิกเท้าไปข้างหน้า ทำเป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น หรือหากเริ่มรู้สึกตัวว่ามีปัญหาเรื่องเข่าให้รีบไปพบแพทย์แต่เนินๆ เพื่อจะได้รักษาได้ง่ายและลดอาการป่วยที่อาจเรื้อรัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ข้อมูลไม่มั่ว เรื่องน้ำมันหมู

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายให้สมาชิกของชมรมหนึ่งซึ่งทำกิจกรรมด้านโภชนาการ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายน ในหัวข้อเกี่ยวกับ ผลของน้ำมันปรุงอาหารต่อการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งทางผู้จัดประชุมได้กำหนดให้มีผู้บรรยาย 3 คน รับผิดชอบคนละหัวข้อ โดยบรรยายคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งว่าไปแล้วช่วงเวลาน่าจะพอในการให้ความรู้แก่ผู้เข้าฟัง แต่หลังจากผู้เขียนเตรียมการบรรยายเสร็จปรากฏว่า มีข้อมูลหลายประการซึ่งไม่สามารถนำเสนอได้ ทั้งที่เป็นเรื่องน่าจะสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนพบจากอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร ซึ่งดูเพี้ยนไปจากความจริง ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่า คิดอย่างไรกับข้อมูลดังกล่าว เหมือนที่ผู้เขียนคิดหรือไม่ ผู้เขียนขอไม่ระบุถึงแหล่งที่มาของประเด็นปัญหาเพื่อตัดความรำคาญใจที่อาจเกิดแก่บรรณาธิการของฉลาดซื้อประเด็นหนึ่ง ซึ่งได้มีการเผยแพร่ในเว็บออนไลน์ของหนังสือพิมพ์บางฉบับประมาณว่า “น้ำมันหมูนั้นกินดีกว่าน้ำมันพืชจริงหรือ?” จากนั้นก็มีเนื้อความที่อ่านแล้วผู้เขียนกังวลใจว่า ถ้าผู้อ่านไม่ได้เรียนด้านวิทยาศาสตร์อาจติดใจสงสัยคือ ข้อความที่ว่า “....น้ำมันพืชที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่น้ำมันพืชที่ได้จากการสกัดแบบธรรมชาติ….” คำพูดนี้ถูกต้องไม่ผิด เพราะการสกัดน้ำมันพืชมักใช้ตัวทำละลายไขมันคือ เฮ็กเซน ซึ่งสามารถระเหยออกได้หมด กรรมวิธีการสกัดน้ำมันพืชทางเคมีนี้ นักเคมีทุกคนต้องเคยเรียนผ่านมาและรู้ว่าวิธีนี้ดีกว่าการบีบอัดธรรมดา ส่วนการที่ต้องระเหยเฮ็กเซนออกให้หมดเพราะตัวทำละลายนี้ ถ้าเป็นระดับที่มีคุณภาพใช้กับอาหารได้เป็นสารอันตรายถ้าตกค้าง อีกทั้งราคาค่อนข้างแพง ทางโรงงานจึงต้องทำการเก็บคืนมาเพื่อใช้ใหม่จากนั้นก็ตามด้วย “…..แต่เป็นน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไป ฟอกสีให้ดูสะอาด สดใส แวววาว....” ประเด็นนี้เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งถ้าไม่ใช่ความเข้าใจผิดของคนให้ข้อมูลก็คงเป็นของนักข่าว เพราะการฟอกสีน้ำมันพืชให้ใสนั้นไม่มีการใช้ไฮโดรเจน(แต่ใช้วิธีการอื่น) การเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) นั้นมีจริง แต่เป็นการทำให้น้ำมันพืชที่มีความไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลืองกลายเป็นไขมันอิ่มตัวที่เรียกว่า Shortening ซึ่งคนไทยมักเรียกว่า เนยขาว เพื่อใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ขนมอบ เนยขาวนั้นเป็นไขมันชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของหัวใจผู้บริโภค เพราะในกระบวนการเติมไฮโดรเจนนั้นมักเกิดข้อเสียที่ทำให้ได้ไขมันทรานส์ และข้อความ“.....พร้อมกับแต่งกลิ่นจึงเป็นโทษ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกลายเป็นกาวเหนียวๆ เข้าไปเกาะเคลือบผนังลำคอ ลำไส้ กระเพาะ ทำให้ผนังลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้....” ข้อมูลส่วนนี้เจ้าของข้อความมโนเอาเอง เพราะไม่ถูกต้องทางวิชาการ เนื่องจากไขมันนั้นไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไรก็เท่าเทียมกันในการที่จะถูกน้ำดีจากตับ ซึ่งหลั่งออกมาในลำไส้เล็ก ทำให้ไขมันที่เรากินเข้าไปเกิดการแตกออกเป็นกลุ่มของโมเลกุลเล็กๆ ที่เรียกว่า ไมเซลล์(micelles) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ให้น้ำย่อยชนิดไลเปส(lipase) ได้เข้าไปย่อยก่อนการดูดซึม ดังนั้นโอกาสที่ไขมันจะไปเกาะหรือเคลือบผนังลำไส้น่าจะไม่เกิด ยกเว้นกับผู้บริโภคที่มีผนังลำไส้ผิดปรกติ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยพบข้อมูลลักษณะนี้ในตำราสรีรวิทยาเล่มใดแล้ว“.....อีกทั้งไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืช หากใช้ทอดหรือผัดในอุณหภูมิที่สูงมากเกินไป เป็นระยะเวลานานหรือใช้ซ้ำก็เป็นอันตราย เพราะไปเพิ่มสารอนุมูลอิสระทำร้ายเซลล์ในร่างกาย นำไปสู่โรคร้ายสารพัดในปัจจุบัน ตรงข้ามกับน้ำมันหมูที่เป็นไขมันอิ่มตัว แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่เป็นไข และละลายกับน้ำได้…….” ข้อมูลส่วนนี้มีส่วนถูกผสมผิด ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในบทความที่เกี่ยวกับไขมันที่ตีพิมพ์ในฉลาดซื้อก่อนหน้าแล้วว่า การเกิดอนุมูลอิสระนั้น เกิดได้กับกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น แต่อนุมูลอิสระที่เกิดตามธรรมชาติในกระทะนั้นมักมีอายุสั้นมากแล้วเปลี่ยนไปเป็นสารอื่น ซึ่งมักเป็นสาเหตุของกลิ่นหืน กรณีอนุมูลอิสระที่เกิดจากกรดไขมันในน้ำมันพืชแล้วทำอันตรายต่อหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ได้นั้น ต้องเกิดเมื่อกรดไขมันนั้นอยู่ในเซลล์ เพราะเมื่อเกิดแล้วจะอยู่ใกล้กับเป้าหมายการทำลายคือ ดีเอ็นเอ นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำมันหมูนั้น จริงอยู่ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นไข(น้ำมันพืชก็ไม่เป็นไขในร่างกาย) แต่ก็ไม่มีน้ำมันชนิดใดละลายน้ำได้เพราะมันเป็นคุณสมบัติทั่วไปของน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำและประโยคที่ส่อถึงความไม่รู้ของผู้เขียนข้อความนี้คือ “....เดือดร้อนถึงคนหัวใสที่ไม่ประสงค์ดี จัดการแปลงน้ำมันถั่วเหลืองเพื่อไม่ให้เหม็นหืนด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลหรือที่เรียกว่า “โฮโมจีไนซ์” คือ การใส่ไฮโดรเจน ลงไปทำปฏิกิริยากับน้ำมันพืช เพราะเมื่อน้ำมันถั่วเหลือง ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเรียบร้อยแล้ว ก็จะไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนอีกต่อไป ….” ข้อความดังกล่าวอาจดูไม่ผิดในภาพรวม แต่ศัพท์วิชาการนั้นผิดแน่ๆ เพราะการทำให้น้ำมัน(ซึ่งมีสถานะของเหลว) กลายเป็นไขมัน(ซึ่งมีสถานะของแข็ง) นั้นเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ไฮโดรจีเนชั่น (hydrogenation) ซึ่งเป็นการเติมอะตอมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนพันธะคู่ของกรดไขมันให้เป็นพันธะเดี่ยว โดยมีสารที่เรียกว่า catalyst ช่วยให้ปฏิกิริยาเกิดได้ ดังนั้นประเด็นที่ผู้อ่านควรสนใจคือ ผู้ให้ข่าวหรือสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวนี้ไม่ใส่ใจในความถูกต้องทางวิชาการนัก (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในอินเตอร์เน็ท)ผู้(ไม่)รู้ที่ชอบเขียนเรื่องไขมันนั้น บางครั้งก็ไม่ใส่ใจในการอ่านตำราชีวเคมีหรือสรีรวิทยา ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีบางคนเขียนข้อความในเน็ทว่า “....นอกจากน้ำมันหมูจะอร่อยกว่าโดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็มีวิธีการกำจัดออกได้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าเป็นน้ำมันหมูจากธรรมชาติซึ่งร่างกายรู้จักดี เนื่องจากได้พัฒนาระบบย่อยมานานกว่าล้านปี แต่กับน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีนั้น ร่างกายมนุษย์ไม่เคยรู้จัก จึงไม่มีวิธีการนำไปใช้หรือแม้แต่กระทั่งวิธีการขจัดน้ำมันพืชเหล่านั้น ให้ออกจากร่างกายไปได้....” ข้อความนี้ดูไม่เกรงใจอิสลามิกชนเลยประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ไม่ว่าน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์นั้น ตำราชีวเคมีทุกเล่มที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานทางวิชาการนั้นต่างก็บรรยายว่า เซลล์ของร่างกายสามารถใช้กระบวนการที่เรียกว่า เบต้าออกซิเดชั่น (beta-oxidation) เดียวกันในการย่อยทั้งน้ำมันจากพืชหรือสัตว์อีกประเด็น ซึ่งดูจะมั่วไปหน่อยคือ การบอกว่าเมื่อกินน้ำมันพืชแล้ว “…..ร่างกายจึงรักษาตัวเองด้วยวิธีรักษาตามอาการไปก่อน โดยการนำไปทิ้งไว้ในหลอดเลือด เพราะพื้นที่ทั้งหมดของเส้นเลือดในร่างกายมนุษย์ที่โตเต็มวัย สามารถนำมาแผ่เพื่อคลุมสนามบาสได้ทั้งสนาม ถือว่าเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ เมื่อกำจัดไม่ได้ ร่างกายก็เลยเอาไปใว้ในเส้นเลือด เพราะไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน พอกินเติมเข้าไปอยู่เรื่อยๆ สักวัน เส้นเลือดซึ่งมีพื้นที่ขนาดนั้นก็เอาไม่อยู่ ในที่สุดเกิดเป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือดจากน้ำมันพืช เป็นโรคอันเกิดจากสิ่งที่ร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้….” ข้อความดังกล่าวคงพยายามสื่อว่า การกินน้ำมันพืชแล้วทำให้มีไขมันเกาะผนังหลอดเลือด ซึ่งอ่านดูแล้วเป็น ตลกทางวิชาการ ทั้งนี้เพราะสาเหตุการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดในปัจจุบันนั้นสรุปว่า การที่ไขมันจะพอกส่วนใดของผนังหลอดเลือดนั้นมักต้องมีปรากฏการณ์ที่เกิดความเสียหายของบริเวณเซลล์เยื่อบุ(epithelial cell) ในลักษณะของการอักเสบ (inflammation) จนเกิดรอยขรุขระที่เรียกว่า plaque ก่อน ดังนั้นเราจึงสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการกินสารต้านออกซิเดชั่นที่อยู่ในผักและผลไม้สีเข้มในแต่ละมื้ออาหารให้มากพอ ไม่ใช่ว่ากินน้ำมันพืชแล้วจะเกิดการเกาะผนังเส้นเลือดได้โดยอัตโนมัติ สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวว่า “น้ำมันหมูสามารถเก็บได้นานเพราะไม่เหม็นหืน เนื่องจากเป็นไขมันที่อิ่มตัวอยู่แต่แรกแล้ว จึงไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนให้เกิดกลิ่นหืนได้อีก” ดูเหมือนไม่มีอะไรผิด ถ้าคำกล่าวนี้เป็นเมื่อ 40-50 ปีก่อน ซึ่งเป็นสมัยที่หมูไทยยังกินหยวกกล้วยหรือผักตบชวาสับผสมรำข้าว อาหารสัตว์ลักษณะนี้ทำให้มันหมูมีไขมันอิ่มตัวสูง แต่ปัจจุบันหมูฟาร์มนั้นกินอาหารที่มีกากถั่วเหลืองหรือข้าวโพดผสมในอาหารสัตว์ ดังนั้นโอกาสที่ไขมันไม่อิ่มตัวจากอาหารจะไปสะสมในมันหมูจึงสูงขึ้น ซึ่งกล่าวโดยทั่วไปแล้วไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันหมูหรือ Lard นั้นมักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่ถ้ามีการจัดการอาหารสัตว์ให้มีถั่วหรือข้าวโพดสูงขึ้น ไขมันไม่อิ่มตัวก็จะเพิ่มได้อย่างไม่น่าเชื่อกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นน้ำมันหมูที่สกัดใช้เอง ถ้ามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีโอกาสเหม็นหืนได้เร็วกว่าสมัยโบราณจึงเรียนมาถึงผู้อ่านเพื่อโปรดพิจารณาทราบข้อมูลที่ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มั่ว มา ณ ที่นี้ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 น้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น (อีกสักที)

นานมาแล้วเมื่อผู้เขียนยังไม่ทราบว่าในอนาคตคนไทยจะชอบใส่เสื้อสีซ้ำซาก ผู้เขียนเคยสังเกตว่า เมื่อสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านไปกัดกับสุนัขบ้านอื่น หรือเวลาเป็นขี้เรื้อนเนื่องจากไปสำส่อนนอกบ้านมา คุณตาของผู้เขียนใช้กำมะถันผสมกับน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในตะเกียงที่จุดเวลาไฟฟ้าดับ (เป็นประจำในยุคกึ่งพุทธกาล) ทาที่แผลหรือตรงที่เป็นขี้เรื้อน ของสุนัข แผลเหล่านั้นก็หายดีภายในเวลาไม่นานนัก  น้ำมันมะพร้าวที่ผู้เขียนกล่าวถึง คือ น้ำมันมะพร้าวปรกติที่มีการนำมาใช้ในการทอดกล้วยแขก ซึ่งจะให้กลิ่นรสเฉพาะตัวที่ผู้เขียนคิดว่า กล้วยแขกสมัยก่อนหอมดีกว่าปัจจุบัน โดยที่ในสมัยนั้นผู้เขียนยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ทำไมน้ำมันมะพร้าวถึงมีสรรพคุณในการรักษาแผลได้  เพิ่งมาเริ่มเข้าใจเอาเมื่อเวลาผ่านไปถึง 50 กว่าปี จากการโฆษณาขายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีการกล่าวถึง ไขมันชื่อ กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในไขมันอิ่มตัวขนาดกลาง (medium chain triglyceride หรือ MCT) ที่มีการอ้างถึงในเอกสารทั้งที่เป็นสิ่งตีพิมพ์และในเน็ตว่า ฆ่าเชื้อได้ดี  จากการที่ผู้เขียนเข้าไปหาความรู้ใน wikipedia.org ทำให้พบคำตอบว่า เป็นความจริง แต่ความเป็นจริงนั้นไม่น่าประหลาดใจสักเท่าไร เพราะกรดไขมันอีกหลายชนิดก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของจุลชีพได้ ตัวอย่างเช่น กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวขนาดเล็กได้จากผลดิบของพืชชื่อ rowans ซึ่งขึ้นในที่หนาวเช่น แถบเทือกเขาหิมาลัย ญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ กรดซอร์บิกนี้ใช้ป้องกันเชื้อราและยีสต์ในอาหาร ปัจจุบันมีการสังเคราะห์ในรูปเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม ส่วนกรดลอริกนั้นกำลังมีการพิจารณาจะใช้ในอาหารเช่นกัน  ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการฆ่าเชื้อได้ของกรดลอริกนั้น มีผู้แปลความว่ามันมีความสามารถเทียบได้กับภูมิต้านทานในนมเหลือง (Colostrum) ของแม่ลูกอ่อน เพราะในนมเหลืองของคนนั้นมีกรดชนิดนี้เป็นองค์ประกอบด้วย จึงทำให้มีคนเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นสารเพิ่มภูมิต้านทานในเด็กด้วย ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าแม่กินกรดลอริกไม่ว่าจากแหล่งอาหารใดก็ตาม เมื่อเข้าไปอยู่ในเลือดแล้ว โอกาสอยู่ในนมก็มีสูง นมคนนั้นใช้สารอาหารในเลือดเป็นวัตถุดิบในการสร้าง อะไรที่แม่กินลูกย่อมได้กินด้วย จนมีคนกล่าวว่า แม่ที่กินเผ็ดก็ทำให้ลูกที่กินนมแม่ได้สารเผ็ดด้วย (และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีผมบางเมื่อโต ประเด็นนี้ยังไม่มีการพิสูจน์นะครับ) หรือแม้แต่การวิเคราะห์นมแม่ในเมืองไทยก็มีการพบว่า สมัยที่เรามีการใช้ดีดีทีฆ่ายุงก้นปล่อง ก็สามารถพบสารนี้ได้ในนมแม่ สรุปแล้วการพบกรดลอริกในนมแม่ก็ไม่น่าประหลาดอะไร ถ้าแม่กินแกงกะทิต่างๆ ก่อนให้นมลูก ดังนั้นการโฆษณาคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเรื่องการฆ่าเชื้อโรคนั้น ต้องทำเข้าใจกันให้ดีหน่อย เพราะมีการแนะนำให้นำมาใช้ในการกลั้วปาก ซึ่งก็คงเป็นจริงอย่างมีโฆษณา ถ้าผู้ใช้คิดว่ามัน เท่ห์ กว่าใช้น้ำละลายเกลือแกงกลั้วปากก่อนนอน เรื่องนี้ตังค์ใครตังค์มันครับ   กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วน? เรื่องที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยมากเวลาไปบรรยายนอกสถานที่คือ “กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วนชิมิ เพราะไขมันขนาดกลางหรือ MCT นั้นเมื่อดูดซึมแล้วจะเข้าระบบเส้นเลือดไปตับทันที ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นองค์ประกอบเฉพาะที่ต้องไปทางระบบน้ำเหลืองก่อนไปตับ....”   การที่ MCT ไปตับโดยตรงนั้นเป็นสาเหตุทำให้มันถูกใช้เผาผลาญเป็นพลังงานได้เร็วกว่าไขมันในน้ำมันพืชอื่น คำโฆษณานี้ก็......ถูกต้องแล้วคร้าบ.......... แต่มันผิดอย่างมหาศาลเลยที่บอกว่า “….เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไม่อ้วน…………”  ประเด็นกินไขมันแล้วจะไม่อ้วนนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยข้อแม้ต่อไปนี้คือ กินน้อย ๆ หรือ กินแล้วมีการใช้แรงงานในการทำงานสูงจนไขมันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานหมด ไม่เหลือให้นำไปใช้สร้างเป็นไขมันต่าง ๆ สะสมในร่างกายซึ่งรวมถึงโคเลสเตอรอล ในเน็ตที่มีการโฆษณาถึงคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนั้นใช้คำพูดดังนี้ “....แม้การลดความอ้วนด้วยวิธีควบคุมอาหารจะมีมากมาย แต่การกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อลดน้ำหนัก คือกินไขมันเพื่อลดไขมัน ซึ่งเป็นวิธีการแบบหนามยอกต้องเอาหนามบ่งนี้ พบว่าจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ 4-5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน………..” รายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านคงหาอ่านได้ไม่ยากนัก  สำหรับผู้เขียนยังคงเป็นกบในกะลาที่อยู่ในวังวนของความรู้ที่เรียนมา และปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณาสุขก็ยังแนะนำประชาชนว่า กินไขมันให้น้อย เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือถ้าต้องการความรู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาก็สามารถพบว่า กระทรวงด้านสุขภาพของอเมริกันมหามิตรยังคงแนะนำประชาชน ให้กินไขมันให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้นะครับ โดยไม่เคยมีข้อมูลแนะนำให้กินน้ำมันเป็นช้อน ๆ เพื่อลดความอ้วนเลย  ในความรู้สึกของผู้เขียนแล้วตราบใดที่เรายังกินอาหารเหมือนคนธรรมดา โอกาสขาดไขมันนั้นไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติแบบเคร่ง ก็ยังกินถั่ว ซึ่งมีไขมันพอควร ดังนั้นการส่งเสริมการขายน้ำมันอะไรก็ตามที่อวดว่า กินแล้วไม่อ้วนหรือรักษาโรคนั้น มีผู้เจอดีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องขยายความ ในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น   เรื่องโกหกของน้ำมันมะพร้าว  ก่อนอื่นต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นหรือ virgin coconut oil ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ใต้รัฐบัญญัติชื่อ Dietary Supplement Health and Education Act of 1994 (DSHEA)  น่าประหลาดที่รัฐบัญญัตินี้ไม่ได้ขึ้นกับ US.FDA แต่กลับอยู่ภายใต้ FTC หรือ Federal Trade Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เหมือนมีหน้าที่คล้ายบางส่วนของกระทรวงพาณิชย์ผสมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเรา ดังนั้น US.FDA จึงมีบทบาทแค่คอยจับตาดูเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นและหาทางฟ้องลงโทษสินค้าที่โฆษณาอวดอ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน  สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ อย. อเมริกานั้น Wikipedia.org กล่าวว่า “The DSHEA, passed in 1994, was the subject of lobbying efforts by the manufacturers of dietary supplements and restricted the ability of the FDA to exert authority over supplements so long as manufacturers made no claims about their products treating, preventing or curing diseases....” ที่เหลือนั้นท่านผู้อ่านไปอ่านได้เอง ถ้าท่านผู้อ่านเข้าใจในเรื่องของ lobbyist กับนักการเมืองในสหรัฐอเมริกาแล้ว ท่านอาจขนลุกในอิทธิพลของบริษัทขนาดยักษ์ของอเมริกัน ที่มีอิทธิพลทั่วดาวเคราะห์ที่เรียกว่า โลก ใบนี้ทีเดียว  จากเว็บไซต์ quackwatch.com ที่ควบคุมโดย นายแพทย์ Stephen Barrett มีข้อมูลน่าสนใจว่า FDA Orders Dr. Joseph Mercola to Stop Illegal Claims โดยมีข้อมูลเป็นจดหมายของ US.FDA ที่เตือนในปี 2005 ให้ดอกเตอร์เมอร์โคลาและสถานบริการชื่อ Optimal Wellness Center หยุดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ FDA ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และบนอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับสินค้าสามชนิดซึ่งหนึ่งในนั้นคือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ข้อความโฆษณาดังกล่าวอ้างว่า สินค้าชนิดนี้ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มีความสามารถในการต้านโรค Crohn's disease แก้อาการผิดปรกติของทางเดินอาหารและฆ่าเชื้อโรคติดต่อหลายชนิด การเตือนของ US.FDA ได้ทำซ้ำอีกครั้งในปี 2006 โดยใช้จดหมายออกจาก US.FDA โดยดูได้จากหัวกระดาษทั้งสองฉบับ ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นเพื่อดูตัวจดหมายที่เป็นภาพถ่ายได้ และจะเห็นได้ว่าในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น ซึ่งต่างจากในประเทศไทยที่การโฆษณาสินค้าประเภทนี้ดูไร้ขอบเขตจำกัด ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลและเปรียบเทียบได้จากอินเตอร์เน็ต และขอให้ใช้ กาลามสูตร ให้จงหนักในการเชื่อหรือไม่เชื่อในข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ทหรือหนังสือบางเล่มที่บูชาน้ำมันมะพร้าวว่า นำไปสู่ความมีสุขภาพดีถาวร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 101 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 3)

รศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับนี้เป็นตอนจบที่เราจะยังวนเวียนอยู่ในหลุมน้ำมันมะพร้าวต่อไป เพื่อตรวจสอบว่าเกิดประกายไฟในสมองท่านผู้อ่านหรือยัง ในการตัดสินใจว่าควรกินน้ำมันนี้แบบผิดมนุษย์มนาต่อไปหรือไม่ จริงอยู่ที่ว่าคนบนเกาะนี้อ้วนเพราะเลิกกินน้ำมันมะพร้าวหันไปกินน้ำมันอื่นกันแต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าถ้าหากหันกลับมากินน้ำมันมะพร้าวและจะผอมได้ เพราะพฤติกรรมความเป็นอยู่แบบชาวเกาะได้เปลี่ยนไปเป็นแบบชาวผิวขาวเสียแล้ว ในเว็บ http://gotoknow.org/ มีบล็อกของ นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลห้างฉัตร จังหวัดลำปางได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวอย่างตรงไปตรงมาว่า โคเลสเตอรอลในร่างกายส่วนใหญ่ (70-80 %) สร้างขึ้นเองภายในร่างกาย ส่วนน้อยมาจากอาหาร โคเลสเตอรอลมีเฉพาะในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลก็จริง ทว่า... ถ้าเรากินไขมันอิ่มตัวเข้าไปมากเกินจะทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มขึ้น และอาจทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงได้ การควบคุมโคเลสเตอรอลด้วยอาหารจึงควรเน้นการลดไขมันอิ่มตัวเป็นอันดับแรก อันดับต่อไปให้ลดโคเลสเตอรอลจากสัตว์ เช่น อาหารทะเล(ยกเว้นปลาทะเล ปลิงทะเล) เครื่องในสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์มากเกิน เว็บ http://gotoknow.org/home นี้เป็นเว็บสุขภาพที่น่าสนใจเข้าไปชมครับ ผู้เขียนขอขยายความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานหลัก คือ แป้งและไขมันต่อการสร้างโคเลสเตอรอลดังต่อไปนี้ เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า สารตั้งต้นของการสร้างโคเลสเตอรอลนั้นคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งเป็นตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญแป้งและการเผาผลาญกรดไขมัน ดังนั้นเมื่อใดที่เรากินแป้งมากไป หรือไขมันมากไป อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานไม่หมด ก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังแผนภาพง่าย ๆ ดังนี้ รายละเอียดนั้นหาดูได้ในหนังสือชีวเคมีทั้งภาษาไทยและเทศ หรือจะเข้าไปดูที่ http://www.cholesterol-and-health.com/Synthesis-Of-Cholesterol.html ก็ย่อมได้ ความรู้ตรงนี้อธิบายความว่า การกล่าวว่าในน้ำมันมะพร้าวไม่มีโคเลสเตอรอลนั้น กินเข้าไปแล้วไม่อันตรายนั้น ไม่ถูกต้องแน่ เพราะพูดไม่จบ ดังที่ผู้ขายน้ำมันกล่าวว่า น้ำมันมะพร้าวกินเข้าไป กรดไขมันถูกใช้ง่ายมากนั้นถูกต้อง แต่ถ้ากินมากไป ต้องไม่ลืมว่า เมื่อร่างกายได้พลังงานพอแล้ว ตัวกลางระหว่างการใช้น้ำมันมะพร้าวในร่างกายคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ นั้นจะเหลือค้างจนถูกเอาไปสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นถ้าเราไม่ระวังให้ดี โอกาสที่ระดับโคเลสเตอรอลจะขึ้นสูงก็มีได้ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือ ไม่ว่าจะกินน้ำมันหรือไขมันอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เกินความ ต้องการของร่างกาย อันตรายย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะร่างกายสามารถใช้เป็นพลังงานได้ แต่เมื่อใดที่เหลือ ร่างกายจะนำไปสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ที่ร่างกายต้องการเช่น โคเลสเตอรอล ฮอร์โมนเพศ ฯลฯข้อควรสังเกตคือ จากฉลาดซื้อฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่า กรดไขมันที่ได้จากไขมันนั้น ไม่ว่าจะอิ่มหรือไม่อิ่มตัว สามารถถูกนำไปใช้สร้างเป็นผนังเซลล์ได้ ดังนั้นถ้ากินไขมันไม่อิ่มตัวมากไป ผนังเซลล์จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดออกซิเดชั่นได้อนุมูลอิสระ ดังนั้นผู้ที่กินน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงเช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด จำเป็นตัองกินสารต้านอนุมูลอิสระให้มากพอ ซึ่งไม่ยากที่จะหา เพราะมีในผักผลไม้สีเข้มต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปซื้ออาหารเสริมกินให้แพงและไม่อร่อย   ในเรื่องคุณสมบัติการป้องกันโรคหัวใจนั้น ผู้ขายน้ำมันมักบอกว่า “คนส่วนมากเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีอันตรายต่อหัวใจ ทั้งที่ความจริงเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะน้ำมันชนิดนี้มี lauric acid ซึ่งป้องกันปัญหาของหัวใจรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับปริมาณโคเลสเตอรอลและปัญหา ความดันโลหิตสูง ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวนั้นไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงและไม่เป็นปัจจัยการเพิ่มไขมันไม่ดีคือ LDL นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังลดอาการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ” คำกล่าวของคนขายน้ำมันนั้นบอกเป็นนัยๆ ว่า ตำราและอายุรแพทย์รวมทั้งนักโภชนาการดัง ๆ ของโลกนั้นเข้าใจผิด เพราะไม่ว่าเว็บไหน ตำราเล่มไหน ก็บอกว่า ให้เลี่ยงไขมันอิ่มตัว ใครที่เชื่อคนขายน้ำมัน ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะครับคนขายน้ำมันมักกล่าวต่ออีกว่า “ในการลดน้ำหนักนั้น น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์อย่างมากเพราะมีทั้งกรดไขมันสายสั้นและสายปานกลางที่ช่วยลดน้ำหนักตัว เนื่องจากย่อยง่ายและช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ และระบบเอนไซม์ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังเพิ่มการทำงานของร่างกายโดยลดความเครียดของตับอ่อนทำให้การเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น ซึ่งช่วยคนอ้วนให้ลดน้ำหนักได้ ดังที่ได้เห็นจากประชาชนในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวเป็นหลักไม่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน” ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อความดังนี้แล้วต้องเป็นคนหูหนัก พยายามพิจารณาหรือหาข้อมูลอื่นมาประกอบ ทั้งนี้เพราะคนที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวนั้นมักเป็นประเทศยากจน ต้องใช้แรงงานในการดำเนินชีวิต ดังนั้นโอกาสอ้วนจึงน้อยกว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งใช้แรงงานประจำวันน้อยจะไปไหนที่ก็ใช้รถ ขอเสนอว่า ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่ใช้แรงน้อยในแต่ละวัน ลองกินน้ำมันมะพร้าวแบบไม่บันยะบันยังแล้วไม่อ้วนให้เห็นภายใน 1 ปี ท่านอาจถูกนำไปออกงานวัดภูเขาทองได้เลย เพราะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับชาวเกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในเว็บของ BBC ว่า ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม ที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ และบางเกาะยังมีทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมันดิบ จึงทำให้วัฒนธรรมการกินและความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้บางประเทศจึงเป็น the fattest nation on earth. เช่น ประเทศ Nauru ซึ่งประชากรที่เป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 94

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 2)

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลถ้าท่านผู้อ่านเข้าไปในเว็บขายน้ำมันมะพร้าวของคนไทย จะพบว่ามีนักวิชาการหลายคน ออกมากล่าวถึงข้อดีของน้ำมันมะพร้าวหลายประการ ซึ่งถ้ามองด้วยความเป็นธรรมแล้ว หลายๆ ประเด็นน่าจะมีความเป็นจริงอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า หาคำยืนยันในข้อมูลดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการได้ยาก ตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวว่า “จากการศึกษาเรื่องนี้มา 30 ปี พบว่า แม้น้ำมันมะพร้าวจะประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว แต่มีกรดลอริกสูง และวิตามินอีที่มีอานุภาพสูง จึงมีบทบาทอย่างมากต่อสุขภาพ และความงามของมนุษย์ ไม่ว่าจะใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือเป็นอาหารที่เป็นยา และการใช้ภายนอกโดยการถูตัวหรือ ชโลมผม เนื่องจากมีแคลอรีต่ำจึงให้พลังงานน้อยกว่าน้ำมันพืชอื่น ๆ มีโคเลสเตอรอลน้อยที่สุด กระตุ้นขบวนการเผาผลาญในร่างกาย ป้องกันการสะสมไขมันทำให้ไม่อ้วน มีสารปฏิชีวนะช่วยต่อต้านเชื้อโรค มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ไม่หืนเมื่อเก็บไว้นานๆ เพิ่มคุณค่าอาหารโดยเพิ่มการดูดซึมวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย แม้น้ำมันมะพร้าวจะมีฤทธิ์เป็นยา แต่ไม่ใช่ยา ดังนั้นไม่ควรบริโภคเกินความจำเป็น อัตราที่แนะนำคือไม่เกินวันละ 3.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรส่งเสริม และทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นสินค้าโอทอปเพราะมีประโยชน์” ประเด็นที่ได้ขีดเส้นใต้นั้น อ่านดูแล้ว น่าจะผิดแน่ ๆ เพราะในตำราชีวเคมีไม่ว่าเล่มไหนก็บอกว่า น้ำมันนั้น 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี ไม่เห็นมีเล่มไหน (ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับว่ามีระดับ) กล่าวยกเว้นน้ำมันมะพร้าวในเรื่องการให้พลังงานเลย อีกทั้งการปรากฏตัวของโคเลสเตอรอลนั้นก็มีเฉพาะในไขมันที่มาจากสัตว์ เพียงแต่ว่าการกินไขมันมากเกินความต้องการของร่างกายนั้น ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันที่เกินไปสร้างเป็นไขมันอื่นๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นไม่ว่ากินไขมันจากอะไรก็ตาม อ้วนได้ทั้งนั้น แล้วเพราะเหตุใดนักวิชาเกินเหล่านี้จึงยอมทำเรื่องผิดให้เหมือนถูกนี้ คำตอบน่าจะเป็นเพราะ เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับชีวเคมีดีหรือเพราะว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นของถูก สามารถขายแพงได้กำไรดี อาจกล่าวได้ว่านักวิชาเกินพวกนี้ชอบเขียนความรู้ทางวิชาการไม่ครบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการโฆษณาขายสินค้าที่มักบอกแต่สิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภคสบายใจ สิ่งไหนไม่ดีเก็บไว้ให้คนขายเป็นทุกข์ฝ่ายเดียว ช่างใจบุญกระไรเช่นนี้ ผู้ขายน้ำมันมะพร้าวมักกล่าวว่า “ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันมะพร้าวได้แก่ บำรุงผม รักษาผิวกาย ลดความเครียด รักษาระดับของโคเลสเตอรอลในร่างกาย ลดน้ำหนัก เพิ่มระดับภูมิต้านทาน ช่วยในการย่อยอาหารและการใช้สารอาหารให้เป็นประโยชน์ ลดปัญหาที่เกิดกับไต โรคหัวใจ ความดับโลหิตสูง เบาหวาน รักษาโรคเอดส์และมะเร็ง รักษาฟัน และบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เหตุที่น้ำมันมะพร้าวดีได้ถึงเพียงนี้เป็นเพราะมันมี lauric acid, capric acid และ caprylic acid พร้อมทั้งมีสารต้านจุลชีพ สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านเชื้อรา สารต้านแบคทีเรีย เป็นต้น”ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยน lauric acid ไปเป็น monolaurin จึงมีผู้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้สามารถต่อสู้กับไวรัสหลายชนิดเช่น herpes, influenza, cytomegalo virus, ตลอดจนสู้ HIV และสามารถสู้แบคทีเรียตัวร้ายหลายชนิดเช่น listeria monocytogenes และ heliobacter pylori แพทย์ ด้านอายุรเวชของอินเดีย (Ayuraveda) จึงเลือกน้ำมันมะพร้าวเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรค อย่างไรก็ดี กลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบดีนัก ความจริงที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ กรดไขมันทุกชนิดก็ว่าได้ มีความสามารถในการป้องกันการเจริญของจุลชีพ ตัวอย่างเช่น กรดไขมันที่ชื่อ ซอร์บิก ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารต้านเชื้อราในอาหาร อีกทั้งอาหารที่ผ่านการทอดและอมไขมันไว้ เช่น ไก่ทอด ทอดมันปลากราย หรือแม้แต่โรตี ก็สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าอาหารต้ม เพราะมันมีความชื้นต่ำและมีไขมันเป็นตัวป้องกันการเจริญของแบคทีเรีย คนขายน้ำมันมักกล่าวว่า “นักกรีฑาและนักเพาะกายนิยมบริโภคน้ำมันมะพร้าวเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ระหว่างการจำกัดอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า น้ำมันมะพร้าวมีพลังงานต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น องค์ประกอบนั้นง่ายต่อการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานทำให้ไม่เกิดการสะสมเป็นไขมันในหัวใจและเส้นเลือด น้ำมันมะพร้าวช่วยในการเร่งพลังงานออกมาใช้ในนักกีฬา และช่วยให้นักกีฬามีความอึดในเกมส์” จึงต้องขอย้ำว่า คนขายน้ำมันนั้นพยายามไม่บอกว่า ถ้ากินน้ำมันมากเกินพอ ส่วนเกินก็จะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันใหม่ในร่างกายทำให้อ้วนได้ องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวนั้นกว่าร้อยละ 90 เป็นไขมันอิ่มตัว มีไขมันไม่อิ่มตัวเล็กน้อย กรดไขมันอิ่มตัวนั้นส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เรียกว่า medium chain triglycerides ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 6-12 ตัว โดยราวร้อยละ 40 เป็น lauric acid ตามด้วย capric acid, caprylic acid, myristic acid and palmitic ส่วนที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวคือ linoleic acid และมี กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวคือ oleic acid การมี medium chain triglycerides นั้นทำให้วงการอาหารการแพทย์เห็นประโยชน์ สกัดกรดไขมันกลุ่มนี้ไปเป็นแหล่งพลังงานของอาหารการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ซึ่งต้องการแหล่งพลังงานที่สลายให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยเท่านั้น ส่วนผู้ (ปรกติ) ดีทั้งหลายกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ น้ำมันมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระคือ polyphenol เช่น gallic acid ซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นกลิ่นและรสของน้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีอนุพันธุ์ของกรดไขมันอีกหลายชนิด รวมทั้งมีวิตามินอีด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้ คนขายน้ำมันมักอ้างว่า น้ำมันมะพร้าวป้องกันการแก่ก่อนวัย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งความจริงแล้ว ปริมาณมันไม่ได้มากเหมือนกับการไปรับ ประทานอาหารอื่น ที่เป็นแหล่งที่แท้จริงของวิตามินอี ขอให้ท่านผู้อ่านดูจากตารางต่อไปนี้แล้วกันแหล่งที่มา http://whqlibdoc.who.int/publications/2004/9241546123_chap5.pdf จากตารางดังกล่าวเห็นได้ว่า ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวเทียบกับพืชที่เป็นอาหารอื่นๆ แล้ว ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวนั้น จิ๊บ ๆ เมื่อเทียบกับพืชอื่น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ความหวังว่าจะได้อะไรจากน้ำมันมะพร้าวนั้น ก็คงเป็นแค่ “ชีวิตที่มีหวัง” เท่านั้น ฉบับหน้าผู้เขียนจะยังขอนำความหวัง (ลมๆ แล้งๆ ) เกี่ยวกับน้ำจุดตะเกียงนี้มาให้ท่านผู้อ่านฟังต่อ เป็นฉบับที่สาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล   ช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวด้านสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องโภชนาการหลายท่านคงเคยมีคำถามในใจอยู่คำถามหนึ่งที่ไม่เคยมีนักวิชาการออกมาตอบฟันธงเสียทีว่า virgin coconut oil หรือ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์นั้นมีประโยชน์จริงอย่างที่ผู้ขายโฆษณาหรือไม่   สำหรับผู้เขียนแล้ว ได้พยายามใช้หลักการเกี่ยวกับ กาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าสอนมาพิจารณาข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ ปัญญา ค่อนข้างมากในการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่ และที่สำคัญคือ จะควักกระเป๋าสตางค์ซื้อหรือไม่ (หลักการเกี่ยวกับกาลามสูตรหาได้ไม่ยากจาก google)   ปัญญาที่ท่านผู้อ่านต้องมีก่อนอื่นคือ รู้จักว่าไขมันหรือน้ำมัน คืออะไร จากนั้นต้องคำนึงเสมอว่า ผลของไขมันในร่างกายมนุษย์คือ อะไร ในบทความฉบับนี้จะให้ข้อมูลซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเป็นปัญญาใช้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวว่า ท่านควรตัดสินใจอย่างไรกับไขมันนี้ก่อนอื่นผู้เขียนขอยกข้อความในเว็บโฆษณา ขายน้ำมันมะพร้าวเว็บหนึ่งคือ http://www.aja.org.br/oleos/coconut_oil_good_saturated_fat.pdf ว่า “We believe the real culprits in heart disease are more likely to be obscenely elevated intakes of human-made trans fatty acids from hydrogenated oils, polyunsaturated fats high in omega-6 fatty acids (such as those in corn oil and prepared foods), and overconsumption of carbohydrates, especially refined carbohydrates found in pastries, candy and other processed foods.” กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ประสงค์จะออกความเห็นแต่ไม่ปรากฏนามนี้ พยายามบอกว่า ตัวการทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นคือ การกินอาหารมีกรดไขมันทรานซ์ (ในไขมันเช่น เนยเทียม) จากกรดไขมันพวกโอเมกา 6 เช่นน้ำมันข้าวโพด และจากอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ตลอดจนการกินอาหารแป้งมากไป แต่ไม่ได้แตะว่าไขมันอิ่มตัวซึ่งมีในไขมันทุกแหล่งก็เป็นปัญหา เพราะถ้าแตะเมื่อไร น้ำมันมะพร้าวก็คงเข้าไปอยู่ในตะเกียงหมดแน่ ประเด็นที่สำคัญคือ ข้อมูลนี้ครบหรือไม่ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า ข้อมูลในเว็บนั้น ส่วนใหญ่คือ การโฆษณา และท่านต้องมีปัญญาที่จะทราบว่า การโฆษณานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลข้างเดียวคือ ประโยชน์ ดังนั้นผู้เขียนจะขอคุยเรื่องที่คนทำโฆษณาไม่คุย เพื่อให้ข้อมูลแก่ท่านผู้อ่านที่อาจกำลังจะกรอกน้ำมันมะพร้าวเข้าปาก ตามคำเชิญชวนของผู้ค้าทั้งหลาย ได้ลองคิดดูก่อนตัดสินใจ ข้อมูลแรกที่ต้องทราบคือ ไขมันจากอาหารนั้นร่างกายมนุษย์ต้องการนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อเป็นพลังงาน เพื่อนำไปสร้างสารชีวเคมีที่ร่างกายจำเป็นต้องมี เช่น ฮอร์โมนต่าง ๆ และเพื่อเอาไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่ร่างกายสร้างขึ้นใหม่ ไขมันหรือน้ำมันนั้น กินน้อยไม่ดี กินมากไม่ดี กินพอดีๆ ถึงจะดี เพราะมนุษย์ต้องการไขมันเป็นตัวพาเอาวิตามิน เอ อี อี เค ตลอดจนวิตามินดีในอาหารเข้าสู่ระบบของร่างกาย การขาดไขมันหรือได้รับน้อยไป ส่งให้ผลให้ร่างกายของเราขาดวิตามินเหล่านี้ ปัจจุบันนี้ ในทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเราทราบแล้วว่า การขาดวิตามินเอและอีนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพราะวิตามินทั้งสองเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามวิตามินทั้งสองถ้าได้มากไปก็ก่อปัญหากับตับได้เช่นกัน เพราะจะไปสะสมที่ตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากตับนั้นปรกติแล้วเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมาก จึงพยายามไม่สะสมอะไร เมื่อใดที่ตับเริ่มมีการสะสมสารอาหาร เมื่อนั้นจะหมายความว่า ตับเริ่มมีปัญหา นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารพิษหลายชนิดที่ให้แก่สัตว์ทดลองก่อให้ตับเกิดอาการที่เรียกว่า fatty liver คือ อาการที่มีไขมันอยู่มากในเซลล์ตับจนมองเห็นเป็นไขสีเหลืองที่ตับเมื่อเปิดหน้าท้องสัตว์ทดลอง ความหมายของ fatty liver คือ ตับทำงานต่ำลง ทั้งนี้เพราะตับเป็นอวัยวะหลักในการเผาผลาญไขมันไปเป็นพลังงาน หรือไปเป็นสารตั้งต้นของสารชีวเคมีอื่นในร่างกาย ดังนั้นการคั่งของไขมัน จึงเป็นหลักฐานทางวิชาการที่บอกว่า การทำงานของตับต่ำลง ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในสุขภาพคงมีความรู้แล้วว่า ไขมันนั้นแบ่งง่าย ๆ ได้หลายวิธี เช่น การแบ่งเป็นไขมันจำเป็น ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องกินอย่างเดียว และไขมันไม่จำเป็น ซึ่งสร้างได้เองในร่างกาย นักเคมียังแบ่งไขมันออกเป็น ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว นอกจากถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและสร้างสารชีวเคมีที่มีหน้าที่ในร่างกายแล้ว ร่างกายมนุษย์และสัตว์ยังเอาไขมันไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่สร้างใหม่ด้วย ดังนั้นถ้าท่านกินไขมันไม่อิ่มตัว เซลล์ใหม่ของร่างกายก็จะนำเอาไขมันไม่อิ่มตัวไปสร้างเป็นผนังเซลล์ด้วย แต่ถ้ากินไขมันอิ่มตัว ร่างกายท่านก็จะมีไขมันอิ่มตัวเป็นผนังเซลล์ ซึ่งทั้งสองกรณีมีข้อดีและเสียต่างกัน เมื่อผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ ๆ คือในปี พ.ศ. 2525 ได้พบข่าวว่าประเทศทางยุโรปได้รณรงค์ให้กินไขมันไม่อิ่มตัวสูงชนิดที่เรียกว่า polyunsaturated fatty acid ซึ่งเรียกย่อ ๆ ให้จำง่ายว่า PUFA เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันเนื่องจากไขมันไปสะสม เพราะ PUFA จะไปเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในระบบเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบได้ แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นได้มองข้ามประเด็นที่ว่า ไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นมีความเสถียรหรือความอยู่ตัวต่ำ ถูกออกซิไดซ์ได้อนุมูลอิสระง่าย โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์  ท่านผู้อ่านที่ไม่ชินกับวิชา cell biology คงไม่ทราบว่า ได้มีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเซลล์ว่า ผนังเซลล์ในร่างกายนั้นมีความต่อเนื่องกัน กล่าวคือ มีเพียงผนังเดียวที่เป็นทั้งผนังเซลล์และเป็นผนังของออร์กาเนลอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมถึงผนังนิวเคลียสด้วย (แต่ไม่รวมถึงไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ที่มีความพิเศษหลายอย่างในตัวเอง) ทั้งนี้เพราะขณะที่เซลล์อยู่ในสถานภาพปรกติ องค์ประกอบในเซลล์คือ นิวเคลียสและเอ็นโดพลาสมิกเร็ทติคิวรัม ต่างก็มีผนังสองชั้นเหมือนผนังเซลล์ ซึ่งเข้าใจกันว่าอยู่ในสภาพของหนังยางที่วางขดอยู่ ไม่ได้คลายตัวเต็มที่ แต่ระหว่างช่วงการแบ่งเซลล์จากหนึ่งเป็นสองนั้น ผนังขององค์ประกอบดังกล่าวได้หายไป ซึ่งเชื่อกันว่าผนังนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ได้ยืดตัวออกในลักษณะหนังยางที่คลายตัวแล้ว ความเชื่อดังกล่าวนี้ ช่วยอธิบายปัญหาที่เกิดจากการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเกินไป ว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในชาวยุโรปที่เพิ่มการบริโภค PUFA เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นเป็นแหล่งก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ดังนั้นการบริโภคไขมันประเภทนี้ต้องประกอบไปกับการบริโภควิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นด้วย ความจริงอีกประการที่ท่านผู้อ่านควรทราบคือ ไขมันนั้นแบ่งได้อีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นไขมันที่ลักษณะโมเลกุลเป็นเส้นซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ด้วยระบบเผาผลาญทางชีวเคมีของร่างกาย และไขมันอีกประเภทหนึ่งมีองค์ประกอบเป็นวง (ring) หลายวงซึ่งตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่ท่านผู้อ่านเข้าใจได้คือ โคเลสเตอรอล ไขมันประเภทที่เป็นวงเหล่านี้ ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่พลังงาน แต่ร่างกายเรามีความมหัศจรรย์ประการหนึ่งคือ เมื่อเราได้ไขมันที่เป็นเส้น เช่น กรดไขมันในไขมันพืช ไขมันหมู ไขมันวัว เข้าสู่ร่างกายมากๆ ร่างกายใช้เป็นพลังงานไม่หมด ตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญจะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันที่มีองค์ประกอบเป็นวงได้ เช่น ฮอร์โมนเพศต่าง ๆ โคเลสเตอรอล เป็นต้น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงไม่ประหลาดใจว่า ทำไมเวลาผู้กำกับภาพยนตร์จึงมักเลือก ชายสูงอายุ ร่างอ้วน ผมบาง เล่นเป็นตัวเจ้าสัวมักมากในกามคุณ เพราะความรู้ทางชีวเคมีทำให้สามารถอธิบายได้ว่า คนที่อ้วนมักกินอาหารมีไขมันสูง จนเหลือไปสร้างฮอร์โมนเพศให้สูงด้วย ดังนั้นในกรณีที่คนอ้วนเป็นคนดี ไม่มักมากในกามคุณ ก็น่าจะสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ว่ามีความข่มใจในเรื่องเพศสูงมาก เพราะกำหนัดนั้นคุมยาก (หลักการนี้อธิบายได้ทั้งสามเพศเลยทีเดียว ไม่เฉพาะในผู้ชาย) ต้องใช้วัคซีนที่เป็นพระธรรมเท่านั้น เรื่องนี้ยาว ในฉบับนี้จึงอธิบายได้แค่พื้นฐานเกี่ยวกับไขมัน ด้วยประสงค์จะนำทางไปสู่การใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า ควรเอาน้ำมันมะพร้าวเข้าสู่ร่างกาย หรือไปจุดตะเกียงดี ที่สำคัญก่อนที่ท่านจะไปอ่านเรื่องนี้ต่อในฉบับหน้า ต้องขอฟันทั้งเสาธง (แค่ธงอย่างเดียวไม่พอ) เลยว่า อะไรก็ตาม กินมากไปอันตรายทั้งนั้น ไม่ว่าของที่กินนั้นจะเป็นอาหารกาย หรืออาหารสมอง โดยเฉพาะประเภทหลังนั้นได้กำลังทำให้ชาติเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ชาติวิบัติแล้ว เพราะกินอาหารสมองผิดสำแดงจนกัดกันเองเกือบทั้งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 เมนูฤดูอาหารแพง

  ว่ากันว่า ราคาอาหารแพงมักจะมาเป็นช่วงๆ (ไม่เกี่ยวกับหลินฮุ่ย)   เทศกาล ตรุษ – สารท หมู เนื้อ ไก่ เป็ด และผลไม้ไหว้เจ้า น้ำท่วม ฝนแล้ง ผักผลไม้แพงก็ว่ากันไป  ปีที่ผ่านมามะพร้าวที่โดนแมลงโจมตีมีผลกระทบต่อราคามะพร้าวและกะทิทั้งแบบสดและแบบกล่อง จนแม่ค้าข้าวแกงและขนมหวานหลายร้านต้องขอปรับราคาแกงกะทิและขนมหวานใหม่  หลังข่าวมะพร้าวมาเจอน้ำมันปาล์ม   ราคาน้ำมันปาล์มขวดค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นถึง 70 บาทเมื่อช่วงกลางเดือนแห่งความรักปีนี้ จากราคาขวดละ 38 บาทเมื่อราวปลายตุลาคม 53  ช่างดูเหมือนว่าระยะเวลาเพียง 3 – 4 เดือนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากๆ สำหรับบรรดาแม่บ้านและแม่ค้าที่จำเป็นต้องขวนขวายหาน้ำมันปาล์มมาเพื่อประกอบอาหาร   แม้ไม่ถึงกับขนาดที่จะอาจเรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็น แต่ความจำเป็นที่สะท้อนให้เห็นยามที่เหล่าเธอทั้งผองต้องขึ้นเข้าคิวรอซื้อน้ำมันในห้างค้าปลีกทันสมัยที่เพิ่งมาเปิดใหม่ในหมู่บ้านได้ราวปีกว่า แล้วพบว่า การรอคอยที่ยาวนานนั้นไม่ได้น้ำมันราคาขวดละ 47 บาทกลับไป  และต้องจำเป็นไปเลือกใช้อีกบริการหนึ่งจากแม่ค้ารถเร่สินค้าจิปาถะเจ้าใหญ่ในตลาดนัด ซึ่งแน่นอนว่า พลาดช้าอาจหมดแม้ราคาขายต่อขวดที่กำหนดไว้จะ 70 บาทก็ตาม  เหล่าแม่ครัวและแม่ค้าก็จำต้องซื้อ จะเรียกได้ว่าซื้อไป บ่น (ด่า) ไป   ส่วนคนที่กลายเป็นเป้าให้ ถูก บ่น(ด่า) ก็คงพอจะเดากันได้ไม่ยาก   เอาล่ะ  ฉันขอเสนอเมนูเลี่ยงน้ำมัน ปลาตะเพียนส้ม ที่อยากกินคงจะต้องใช้วิธีทอดใบตองแทนทอดน้ำมันซะแล้ว    แต่ขออธิบายเสียก่อนนิดหนึ่ง เพราะใช่ว่าจะเอาใบตองมารองของทอดแทนน้ำมันได้ซะทุกอย่างไป  อย่างใบตองรองปลาส้มนี่พอได้ เพราะเป็นอาหารที่เมื่อทอดในน้ำมันก็ต้องใช้ไฟอ่อนๆ อยู่แล้วเพราะถ้าไฟแรงจะกระเด็น คนทอดต้องใจเย็นมากๆ ทีเดียว ก็ขนาดใจเย็นให้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศจนราคาน้ำมันแพงได้ จะใจเย็นรอปลาส้มทอดอีกสักหน่อยจะเป็นไร   วิธีการ – ใช้กระทะเหล็ก กระทะอะลูมิเนียม หรือกระทะเคลือบก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง  หาใบตองมาวางเรียงในกระทะ แล้ววางตัวปลาส้มลง เปิดไฟอ่อนๆ รอจนเหลืองแล้วค่อยกลับทอดอีกข้างให้สุก  ไม่กรอบอร่อยเหมือนทอดน้ำมันก็ทนๆ กันไป   อยากจะปรับตัวปรับใจปรับรสนิยมปากให้หันไปสนใจอาหารต้มๆ นึ่งๆ บ้างอย่างที่ท่านอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ เลยริจะทำพะโล้ เมนูต้มตุ๋นที่คุ้นและชื่นชอบกันมานานก็คงต้องไปตลาด จะซื้อน้ำตาลทรายซะด้วย   แม่เพิ่งได้มะตูมสุกมาลูกหนึ่ง กะว่าจะต้มกรองเอาน้ำดื่มบำรุงธาตุให้ชื่นใจ ดับกระหายคลายโกรธ  แม่เองก็ชอบกินเนื้อมะตูมสุกที่ต้มแล้ว  แต่ต้มมะตูมนี่ต้องใส่รสหวานให้ปะแล่มนิดหนึ่งจึงจะชื่น เพื่อหน้าตูมๆ จะยิ้มแย้มเบิกบานขึ้นมาบ้าง   ความน้ำมัน(สวา)ปาล์มยังไม่ทันหายความน้ำตาลทรายจะขึ้นราคาก็มาแทรกแซงกันอีก ชาวบ้านร้านตลาดพากันบ่นว่าขณะที่ฉันเดินวนหาซื้อข้าวของในตลาด   เครื่องต้มพะโล้ เครื่องปรุง ขาหมู 0.5   กก. ,  ไข่เป็ดต้ม   5  ฟอง  ,  น้ำตาลปี๊บ 1 ขีด , กระเทียม 1 – 2 หัว ,  รากผักชี 2 – 3 ราก ,  ข่าว 2 – 3 แว่น ,  ผงพะโล้ – อบเชย – โป้ยกั๊ก – ดอกจันทร์ 1 ซอง , ซีอิ๊วขาว , เต้าทู้ขาว 1 ชิ้นหั่น 6 ชิ้น  (ไม่ต้องทอด)   วิธีทำ 1.ใส่น้ำลงกระทะครึ่งถ้วย  ละลายน้ำตาลปี๊บแล้วตั้งไฟบุบกระเทียม ตำรากผักชี และหั่นข่า ใส่ลงไป   เคี่ยวน้ำตาลให้เหนียว ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยน้ำซีอิ้วขาวให้มีรสเข้มข้นตามที่ชอบ 2.เมื่อน้ำตาลที่เคี่ยวเหนียวดีแล้ว นำขาหมูที่หั่นเป็นชิ้น  เต้าหู้ทอด และไข่ต้มมาผัดในกระทะ ตอนนี้ต้องหรี่ไฟ ค่อยๆ ผัดจนแห้ง แต่ไม่ไหม้ จึงเติมน้ำใส่ลงไปเพื่อเคี่ยวพอท่วมแล้วเคี่ยวไฟอ่อนๆ ต่อสักอีก 1 ชั่วโมง เคล็ดลับการทำหมูพะโล้ ไข่พะโล้นี่อยู่ที่ความสามารถในการตุ๋นไฟอ่อนนี่เอง  โปรดอดใจรอ  นานหน่อย แต่อร่อยแน่ๆ ค่ะ คุณๆ ขา   หม่ำข้าว ปลาส้มทอด กับพะโล้มื้อนี้แถมมีน้ำมะตูมตบท้าย อิ่มอร่อยสบายท้องไปเรียบร้อยแล้ว มองเนื้อมะตูมเนื้อเหลืองชวนกินแล้วต้องเบนหน้าหนีแบบอดใจอิ่มใจ  ข่าวประโคมเรื่องข้าวยากหมากแพงใดๆ ที่เจอะเจอช่วงนี้ ขอให้มันแค่เป็นตื่นตูมไปชั่วครั้งชั่วครู่ เทอญ   ขอให้เป็นแค่ชั่วฤดูนี้ ก็คงจะดี... เจ้าประคู้ณ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 รู้เท่าทันน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์

เรื่องน้ำมันมะพร้าวดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบัน  โดยที่การส่งเสริมประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือบีบเย็น (virgin coconut oil) เริ่มต้นมาจากต่างประเทศ  จากกลุ่มที่นิยมการแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัด  และเกิดกระแสความนิยมอย่างกว้างขวาง  จนกระทั่งกระแสนี้ได้ขยายตัวเข้ามาเมืองไทย  ทำให้ผู้รักสุขภาพเกิดความตื่นตัวตามไปด้วย ในเมืองไทยนั้นสนใจทั้งในเรื่องความงามและสุขภาพ  และขยายตัวเข้าสู่การรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคไขมันในเลือดสูง  โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  อย่างไรก็ตามก็มีแพทย์แผนปัจจุบันบางคนออกมาคัดค้านและต่อต้านว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว  เมื่อบริโภคต่อเนื่องจะทำให้ไขมันในเลือดสูงและเป็นอันตราย    เราจะรู้เท่าทันเรื่องนี้ได้อย่างไร  ลองมาศึกษากันเถอะ1.    ถ้าค้นคำว่า “น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์” จะพบว่าในเว็บไซต์ภาษาไทยและต่างประเทศ จะเต็มไปด้วยประโยชน์และข้อดีของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เต็มไปหมด  มีการกล่าวถึงข้อเสียหรือโทษเพียงเล็กน้อยถ้าผลิตไม่สะอาดหรือถูกวิธี  และกรณีที่เก็บรักษาไม่ดีจนมีกลิ่นหืน2.    ในประเทศไทยมีเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อเท็จจริงของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับการลดน้ำหนักว่า    น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ หมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี เช่น วิธีบีบเย็น เป็นต้น     องค์ประกอบหลัก VCO เป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่เป็นกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น  กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น     จากคุณสมบัติดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับประทานเพื่อช่วยลดความอ้วน จากรายงานการศึกษาทางคลินิกในประเทศบราซิล ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) พบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) แต่มีระดับไขมันตัวดี (HDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลือง มีระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45 และ 23.48 ตามลำดับ และมีระดับไขมันตัวดี (HDL) ลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง อย่างไรก็ตามระดับไตรกลีเซอไรด์ของทั้งสองกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง  3.    ค้นในเว็บไซต์ทางการแพทย์ ในห้องสมุดคอเครน (Cochrane library)  ไม่พบการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับสุขภาพ  ส่วนใน PubMed มีการรายงานงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อยู่มากพอควรกว่า 58 บทความ  จึงขอสรุปผลการวิจัยของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ดังนี้1)    มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง  สามารถป้องกันโรคหัวใจได้โดยป้องกันไม่ให้ความดันเลือดสูงในหนูทดลอง2)    สามารถลดโคเลสเตอรอล, LDL ไตรกลีเซอไรด์  ได้ดีกว่า น้ำมันมะพร้าวแบบเดิม น้ำมันมะกอก และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน3)    มีผลในการต้านความเครียดและการต้านอนุมูลอิสระในหนูทดลอง4)    การใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  ลดผลข้างเคียงของการใช้เคมีบำบัด5)    พอลิฟีนอลในน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สามารถลดการอักเสบของข้อในหนูทดลองได้6)    ป้องกันโรคกระดูกผุ (osteoporosis) ในหนูทดลอง    ดังนั้น ความเชื่อเรื่องน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จึงมีหลักฐานการวิจัยรองรับมากพอควร  สมควรที่ประเทศไทยต้องทำการศึกษาในคนอย่างเป็นระบบ  เพราะจะมีประโยชน์ทั้งสุขภาพและทั้งเศรษฐกิจของชุมชน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 “ย่านแห่งนี้” ที่ชื่อว่า “ปั๊มน้ำมัน”

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมาน ...ที่แห่งนี้ ที่ทำให้สองเราเจอกัน ได้ผูกพันพึ่งพา ที่แห่งนี้ ที่เติมเต็มความประทับใจ ทุกเวลา ที่แห่งนี้สำหรับพรุ่งนี้ จะดูดียิ่งกว่า ที่แห่งนี้ก็จะคงอยู่ในใจ ตลอดไป... ถ้าใครสักคนเปิดดูโทรทัศน์ในช่วงเวลานี้ ก็คงจะได้ยินเสียงเพลงโฆษณาที่ให้อารมณ์ความรู้สึกอบอุ่น ขับกล่อมขับขานเข้ามากระทบโสตประสาทของเรา แต่ถ้าใครที่ไม่ได้ดูโฆษณาโทรทัศน์ช่วงนี้ ก็อาจจะสงสัยขึ้นได้ว่า “ที่แห่งนี้” ที่เราสองคนมาเจอกัน มาผูกพันกัน มาเติมเต็มความประทับใจระหว่างกัน และมาสร้างความอบอุ่นในใจตลอดกาล “ที่แห่งนี้” จะเป็นที่แห่งไหนกันเล่า คำตอบที่โฆษณาให้กับเราก็ชวนประหลาดใจยิ่งนัก เพราะสถานที่อันอบอุ่นใจแห่งนี้ก็คือ ปั๊มน้ำมัน นั่นเอง แล้วปั๊มน้ำมันมาเกี่ยวข้องกับความรู้สึกอบอุ่นติดตรึงใจนี้ได้อย่างไร คำตอบก็อยู่เรื่องราวที่โฆษณาชิ้นนี้ได้ผูกขึ้นมา และเป็นเรื่องราวของพัฒนาการชีวิตตัวละครชายคนหนึ่งที่ผูกพันกับปั๊มน้ำมันตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ โฆษณาเริ่มต้นด้วยเสียงเพลงที่ขึ้นคำร้องว่า “เรื่องแห่งความผูกพันของเรา จากรอยยิ้มเล็กๆ ที่เราให้กัน คอยดูแลหัวใจ และนับตั้งแต่นั้น ผ่านไปทุกวัน ผ่านเดือนและปี...” และตัดต่อมาด้วยภาพรถเก๋งสีขาวรุ่นโบราณคันหนึ่ง แล่นลัดเลาะผ่านถนนคดโค้งมากลางภูเขาและป่าดิบเขียว รถเก๋งแวะมาจอดที่ปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังถามทางกับเจ้าของปั๊มอยู่นั้น เด็กน้อย (หรือพระเอกของเรื่อง) ก็เอารถเก๋งเด็กเล่นสีขาวคันจิ๋วมาเล่นแล่นไปแล่นมา พนักงานหนุ่มผู้มีสำนึกแห่งการให้บริการ ส่งรอยยิ้มให้กับเด็กชาย แล้วก็ขยับตัวจากหัวปั๊มฉีด เอาผ้ามาเช็ดรถเก๋งเด็กเล่นคันน้อย อันเป็นจุดเริ่มต้นความประทับใจที่เด็กน้อยมีต่อปั๊มน้ำมัน “แห่งนี้” ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต กาลเวลาผ่านไป เด็กน้อยเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เสียงเพลงก็ยังคงคลอต่อมาว่า “...เรายังเจอกัน เจอกันที่เดิม ได้เติมทุกอย่างจากใจที่ดี ได้มีพลังแข็งแรง เข้มแข็งได้กว่านี้ เพิ่มพูนด้วยวันเวลา...” ปั๊มน้ำมันก็เริ่มเปลี่ยนผ่านจากยุคเบนซินธรรมดามาสู่ยุคเบนซินไร้สารตะกั่ว ขณะเดียวกัน ผู้ชมก็จะได้เห็นภาพของมนุษย์ตะกั่วที่โด่งดังในอดีต และหวนรำลึกถึงของพรีเมี่ยมอย่างหุ่นยนต์ก็อตซิลล่าที่เดินท่อง ๆ กระดุ๊ก ๆ อยู่ และที่สำคัญ ความเป็นไปของปั๊มน้ำมันได้พัฒนาควบคู่มากับชีวิตตัวละครเอก ที่ตกหลุมรักครั้งแรกกับสาวน้อยเจ้าของรอยยิ้มพริ้มเพราที่เดินออกมาจากปั๊มน้ำมัน “แห่งนี้” นี่เอง เมื่อมาถึงปัจจุบัน ในขณะที่เพลงยังคงดำเนินต่อไป จากน้ำมันซูเปอร์ 97 กลายมาเป็นเบนซินไร้สารตะกั่ว จนมาถึงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 พร้อมๆ กับชีวิตของเด็กหนุ่มก็เติบโตมาเป็นชีวิตครอบครัว ตัวละครเอกกลายเป็นพ่อที่มีภรรยาและลูกน้อย ขับรถยนต์รุ่นใหม่แวะมาที่ปั๊มน้ำมัน เป็นชีวิตครอบครัวที่มาจับจ่ายซื้อของกันที่ปั๊ม มากินอาหารกลางวัน กดเงินเอทีเอ็ม เดินเลือกซื้อหนังสือ แวะเข้าห้องน้ำ แวะจิบกาแฟ เจอะเจอกับผองเพื่อนที่มานั่งใช้โน้ตบุ๊คทำงาน กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตปัจจุบันเกิดขึ้นและกำลังเป็นไปภายในปั๊ม “แห่งนี้” จนมาถึงฉากจบ จากกลางวันเป็นกลางคืน ก็ยังมีรถเก๋งคันผ่านคัน แวะเวียนเข้ามาใช้บริการภายในปั๊มน้ำมัน พร้อมๆ กับเสียงเพลงที่จบลงอย่างมีความสุขว่า “…ที่แห่งนี้ เราได้เติมความผูกพัน ตลอดไป” สำหรับคนในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น หากเราจะบอกพวกเขาว่า “ที่แห่งนี้” ที่ประทับใจที่สุด อบอุ่นที่สุด และสร้างความผูกพันในชีวิตได้ดีที่สุด ก็คือที่ที่เรียกว่า “ปั๊มน้ำมัน” นั้น คนในยุคอดีตก็คงหัวร่องอหายเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นไปได้อย่างไรกัน เพราะสถาปัตยกรรมที่ชื่อว่าปั๊มน้ำมันนั้นช่างอยู่ห่างไกลจากชีวิตของบรรพชนในอดีตเสียเหลือเกิน แต่ก็อย่างที่โฆษณาสร้างภาพเอาไว้นั่นแหละครับ เมื่อรถยนต์กลายมาเป็น “ปัจจัยที่ห้า” แห่งการดำรงชีวิต ควบคู่กับบ้านที่อยู่อาศัย อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว พื้นที่อย่างถนนที่มีปั๊มน้ำมันให้แวะจอดเป็นระยะๆ รายทาง ก็ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็น “ความจำเป็นพื้นฐานใหม่” ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคนี้ไป หากเราลองมองย้อนกลับไปในอดีต ย้อนกันไปถึงยุคสังคมเกษตรกรรมโน่นเลย เราก็จะพบว่า ก่อนหน้าที่ถนนจะตัดผ่านเข้าสู่ชุมชนเกษตรนั้น ชาวบ้านชาวนายุคก่อนเขาจะใช้ทางเกวียนและคันนาเล็กๆ เพื่อสัญจรไปมาหาสู่กัน เพราะฉะนั้น พื้นที่สาธารณะที่รวมทุกอย่างในชีวิตของผู้คนเอาไว้ ก็มักจะเกี่ยวพันกับวิถีการผลิตแบบปลูกข้าวทำนา และการเคลื่อนย้ายไปมาหากันภายในชุมชนชาวนาเอง และเนื่องจากในวิถีแบบนี้ ข้าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ ดังนั้น ลานพิธีกรรมข้าวจึงถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะในการก่อกำเนิดความผูกพันและความอบอุ่นของชุมชนชาวนาสมัยก่อนไปโดยปริยาย พ่อแม่ลูกจะผูกพันกันในวิถีเกษตรกรรม ชาวนาและเพื่อนบ้านจะช่วยแรงเอาแรงกันในการลงแขกเกี่ยวข้าวดำนา หนุ่มสาวพบรักกันก็ในพื้นที่ลานนวดข้าว คติความเชื่อต่าง ๆ เองก็เกิดขึ้นผ่านลานประเพณีข้าวนั่นเอง และเมื่อสายสัมพันธ์ระหว่างกันกระชับแนบแน่นขึ้น ชุมชนชาวนาโบราณก็จะค่อย ๆ เติบขยายกลายเป็น “ย่าน” หรือเป็น “บาง” ไปในที่สุด แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ตอนต้น เมื่อวัฒนธรรมข้าวเริ่มลดบทบาทลง และเมื่อปัจจัยที่ห้าอย่างรถยนต์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตยุคใหม่ ผู้คนก็จะค่อยๆ ผันตัวเองออกจากลานนวดข้าวและพิธีกรรมการทำนาดั้งเดิม และพวกเขาก็ได้สร้างปั๊มน้ำมันขึ้นมาเป็นพื้นที่พิธีกรรมในชีวิตของคนสมัยใหม่ แทนที่ความเป็น “ย่าน” เป็น “บาง” แบบที่เคยสัมผัสเป็นมาในอดีต “ย่านแห่งนี้” ก็เลยกลายเป็นย่านที่ชื่อว่า “ปั๊มน้ำมัน” ในท้ายที่สุด ในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนที่อยู่และเติบโตมาในสังคมเมืองสมัยใหม่เหมือนกัน เมื่อได้ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า รู้สึกชื่นชมและชื่นชอบกับหนึ่งนาทีที่ได้สัมผัสจากโฆษณาชิ้นดังกล่าวไม่มากก็น้อย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้ย้อนกลับมาคิดและเกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อปั๊มน้ำมันเข้ามาเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งใหม่แทนที่ลานประเพณีข้าวนั้น ปั๊มน้ำมันได้ทำหน้าที่อันใดให้แก่คนยุคนี้บ้าง ซึ่งถ้ามองจากโฆษณาโทรทัศน์ เราก็จะได้รับคำตอบอย่างน้อยสามประการด้วยกัน ดังนี้ ประการแรก โฆษณาฉายภาพให้เห็นว่า ปั๊มน้ำมันดูจะกลายเป็น “ย่าน” เป็น “บาง” หรือเป็น “ชุมชน” แห่งใหม่ ที่ทำหน้าที่ผลิตสายใยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เพื่อนของมนุษย์ในสังคมท้องถนนก็ไม่ใช่แบบ “เพื่อนบ้าน” เช่นเดิม หากแต่เป็นเพื่อนที่พบพากันได้ตามรายทาง ตั้งแต่เจ้าของปั๊ม พนักงานบริการของปั๊ม พนักงานขายของ พนักงานร้านอาหาร ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่มาเจอกันที่ปั๊มน้ำมันโดยบังเอิญ ประการถัดมา โฆษณาก็บอกเราต่อไปด้วยว่า เมื่อปั๊มน้ำมันได้กลายมาเป็นย่านที่ผู้คนสัญจรไปมากันบนถนนแล้ว ปั๊มน้ำมันก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำแบบใหม่ขึ้นมา เป็นความทรงจำจากการเคยใช้บริการในปั๊มตั้งแต่ยุคอดีต มีรถเก๋งเด็กเล่น ตุ๊กตาก็อตซิลล่า ไปจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ต่าง ๆ เอาไว้ให้ผู้คนได้ถวิลหา และประการสุดท้าย ภายใต้ชุมชนใหม่แบบปั๊มน้ำมัน ชีวิตครอบครัวของคนยุคนี้ก็ได้ก่อร่างสร้างรูปกันขึ้นมาท่ามกลางการให้และรับบริการด้านพลังงาน จนดูเหมือนว่า ไม่มียุคสมัยใดอีกแล้ว ที่ชีวิตครอบครัวจะถูกแยกออกมาจากพื้นที่ของบ้าน และทดแทนด้วยกิจกรรมใหม่ๆ นอกครัวเรือนได้ เท่ากับยุคที่เรากินดื่มและเสพปัจจัยทั้งห้ากันตามท้องถนนแบบนี้อีกแล้ว อย่างไรก็ดี แม้ว่าปั๊มน้ำมันจะกลายเป็นสถาบันใหม่แห่งการดำเนินชีวิต แต่ผมก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า สถาบันแห่งนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนกับรถเก๋งที่แล่นเข้ามาสักพัก แล้วก็ขับจากไป แม้ไออุ่นที่ได้จากปั๊มน้ำมันจะดูน่าประทับใจ แต่คำถามก็คือ ปั๊มน้ำมันจะเป็นสถาบันที่หยั่งรากฝังลึกได้แบบเดียวกับที่สถาบันครัวเรือนและบรรดาย่านบางหรือชุมชนต่างๆ เคยเป็นมาได้จริงหรือ ???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 ตู้เติมน้ำมัน (ไม่) อัตโนมัติ

คงไม่มีใครอยากซื้อของมาเพื่อซ่อม ยิ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่าง ตู้เติมน้ำมันอัตโนมัติด้วยแล้ว มาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งาน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่อยู่ในสถานะเป็นผู้ให้บริการ เขาซื้อตู้น้ำมันอัตโนมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราคาเกือบ 60,000 บาท พร้อมการรับประกัน 1 ปี มาให้บริการประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดใช้เครื่องก็มีปัญหาจุกจิกมาตลอด แม้จะแก้ไขปัญหาด้วยการให้ช่างของบริษัทมาเปลี่ยนอะไหล่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หายขาดได้ในที่สุดความอดทนของผู้ร้องก็หมดลงเมื่อใช้ไปได้ประมาณครึ่งปี เขาต้องการคืนสินค้าและขอเงินคืนเต็มจำนวน โดยให้เหตุผลว่าเครื่องดังกล่าวน่าจะมีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้สินค้าเสียบ่อยเกินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบเตือนภัย ลูกค้าเติมเงินแล้วไม่ได้น้ำมัน หรือหัวจ่ายน้ำมันออกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจและไม่อยากมาใช้บริการอีก นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือไม่ประทับใจบริการหลังการขายมากที่สุดอย่างไรก็ตามเมื่อเขาเสนอข้อเรียกร้องไปยังบริษัท กลับได้รับคำตอบว่าจะคืนเงินให้จำนวน 30,000 บาทเท่านั้น โดยไม่ชี้แจงเหตุผลที่ไม่คืนเงินเต็มจำนวน ซึ่งทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องทำให้หนังสือไปยังบริษัท โดยให้มีข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรูปถ่ายของตู้นำมันดังกล่าว และนัดเจรจากับทางบริษัท ซึ่งภายหลังการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทชี้แจงว่า ปกติสินค้าซื้อแล้วไม่รับคืน แต่หากสินค้าอุปกรณ์ชำรุด เนื่องจากผิดพลาดจากการผลิต ก็ยินดีเปลี่ยนอุปกณ์หรือซ่อมให้ฟรี อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการคืนเครื่องก็สามารถทำได้ แต่บริษัทจะคืนเงินให้เพียง 30,000 บาท เพราะอ้างว่าเป็นค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ หรือจะรับข้อเสนออื่นๆ จากบริษัทก็ได้ เช่น เปลี่ยนเครื่องใหม่ ด้านผู้ร้องไม่ต้องการใช้บริการกับบริษัทนี้แล้ว จึงต้องยินยอมรับเงินจำนวนนั้นไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อตู้นำมันอัตโนมัติ เมื่อได้เครื่องมาแล้วสามารถติดต่อกรมการค้าภายในที่เบอร์โทรศัพท์ 1569 ฝ่ายชั่งตวงวัด เพื่อให้มาตรวจสอบตู้น้ำมันก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับตู้น้ำมันอัตโนมัติที่ไม่ได้รับมาตรฐานนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รำคาญเชฟโรเลตป้ายแดงกินน้ำมันเครื่อง

คุณไพฑูรย์ได้เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาปัญหารถยนต์กินน้ำมันเครื่องแต่ศูนย์บริการไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ จะใช้วิธีซ่อมอย่างเดียวคุณไพฑูรย์เล่าว่า ได้ซื้อรถยนต์เชฟโรเลต โคโลราโด รุ่น 2,500 ซีซี  เพื่อใช้รับจ้างบรรทุกของทั่วไป ตั้งแต่ปี 2548 มีระยะประกันเครื่องยนต์ 100,000 กิโลเมตรหรือ 3 ปี  วิ่งวันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ปัญหาที่ทำให้คุณไพฑูรย์หัวเสียกับรถคันนี้มากคือ น้ำมันเครื่องจะหาย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กิโลเมตรแทนที่จะเป็น 10,000 กิโลเมตรเหมือนรถป้ายแดงคันอื่นคุณไพฑูรย์ได้นำรถเข้าศูนย์บริการแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ฝ่ายช่างของศูนย์บริการแจ้งว่าเป็นอาการปกติของรถรุ่นนี้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยมากทุกๆ 5,000 กิโลเมตร สุดท้ายทนต่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวจึงเปลี่ยนมาใช้ศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งช่างเครื่องของศูนย์บริการแห่งนี้ได้ให้ข้อมูลว่ารถยนต์รุ่นนี้มีอายุการถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 10,000 กิโลเมตรช่างเครื่องจึงได้แนะนำให้เข้าไปตรวจสอบกับศูนย์บริการใหญ่ คุณไพฑูรย์จึงได้ทำตามคำแนะนำโดยได้มีการทดสอบตามขั้นตอน เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ดักไอน้ำมันเครื่อง แล้วให้ขับไปใช้งานเพื่อดูผลทีละหมื่นกิโลเมตรแต่อาการน้ำมันเครื่องหายก็ไม่หายเสียที ทดสอบตามขั้นตอนจนถึงเลขไมล์วิ่งมาที่ 95,947 กิโลเมตร จึงได้มีการนัดให้มาแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ ก็พอดีกับที่คุณไพฑูรย์ต้องใช้รถกว่าจะเข้าศูนย์บริการได้ เลขไมล์ก็เกิน 100,000 กิโลเมตรแล้ว คุณไพฑูรย์เห็นว่า ทางศูนย์บริการนั้นทราบดีว่าเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน 100,000 กิโลเมตร แทนที่จะนัดเพื่อให้มาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่แทนเครื่องยนต์เดิมกลับใช้วิธีแก้ไขเครื่องยนต์แทน จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯว่า จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะเป็นรถซื้อมาป้ายแดงแล้วเกิดปัญหาเช่นนี้แนวทางแก้ไขปัญหากรณีของความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น ก็ต่อเมื่อศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้าและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของผู้บริโภคได้  หรือพูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล หากศาลเห็นว่าความชำรุดบกพร่องนั้นไม่เกิดผลอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้บริโภค ศาลก็จะสั่งให้มีการซ่อมสินค้าก่อน คงจะไม่สั่งให้เปลี่ยนสินค้าโดยทันที ซึ่งในกรณีรถของคุณไพฑูรย์นั้นทราบว่าศูนย์บริการได้ดำเนินการซ่อมแก้ไขเครื่องยนต์ให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ และปัญหาน้ำมันเครื่องหายได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะทางศูนย์บริการถือว่ายังอยู่ในระยะรับประกันอยู่  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่ที่เสียความรู้สึกคือปัญหาถูกปล่อยให้เยิ่นเย้อยาวนานตรงนี้ต้องถือเป็นบทเรียนของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์บริการมักใช้วิธีประวิงเวลาจนอายุประกันใกล้หมดหรือหมดไปและหาเหตุที่จะไม่รับผิดชอบต่อลูกค้า ทางแก้ไขคือ การทักท้วงไม่ควรทักท้วงด้วยวาจาอย่างเดียว ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่แรกเมื่อทราบถึงปัญหา และหากทักท้วงล่าช้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ดี หากคุณไพฑูรย์มีหลักฐานพบว่าปัญหาน้ำมันเครื่องหายยังปรากฏขึ้นอยู่หลังการซ่อมแซมแล้วก็ยังสามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ได้เช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง” ตอน 2

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ     โดยฉลาดซื้อได้ลงรายชื่อผลิตภัณฑ์สีน้ำมันที่ตรวจพบ ปริมาณตะกั่วเกิน 100 ppm ในฉบับที่ 172 สำหรับฉบับนี้ จะนำเสนอรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm โปรดตรวจดูรายชื่อได้ในหน้าถัดไป     ในส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน แนวโน้มที่ดีขึ้นของฉลากและปริมาณสารตะกั่วเมื่อฉบับที่ 151 กันยายน 2556 ฉลาดซื้อเคยลงข้อมูลเกี่ยวกับฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วไม่ตรงตามจริงว่า มีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่างที่ติดฉลากปลอดสารตะกั่ว แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน ดังนั้นสำหรับฉบับนี้ฉลาดซื้อจะมาอัพเดตข้อมูลล่าสุดที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการสำรวจอีกครั้งใน 2558 ผลการทดสอบฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วจากทั้งหมด 100 ตัวอย่าง พบว่ามี 26 ตัวอย่างที่แสดงฉลากโฆษณาว่า สีปลอดสารตะกั่ว ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบแล้วปรากฏว่าพบปริมาณสารตะกั่วอยู่ระหว่าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 144 ไก่ทอดกับปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

ไก่ทอด เป็นหนึ่งในรายการอาหารสุดคลาสสิกที่แข่งกับหมูปิ้งแบบหายใจรดต้นคอมาอย่างยาวนานในวิถีชีวิตสังคมเมืองที่เร่งรีบ อันตรายจากการกินไก่ทอดที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีคือ ไขมัน เพราะมันเป็นของทอด! กินมากไปไขมันพอกพูนแน่นอน   แต่คราวนี้เราขอชักชวนไปอีกเรื่องหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นอันตรายแบบเงียบๆ ก็ได้ นั่นคือ “น้ำมันทอดซ้ำ” ฉลาดซื้อขอนำท่านผู้อ่านมาดูผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอดแบบวัดกันไปเลยว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่ละเลยปัญหาเรื่องนี้   ชาวฉลาดซื้อเดินดุ่ยๆ ไปสุ่มซื้อไก่ทอดทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแฟรนไชส์ ที่เรียกว่า มีชื่อเสียงพอตัว ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21 – 23 มกราคม 2556 จำนวน 11 ตัวอย่าง แล้วนำส่งทดสอบ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี การทดสอบทำโดยนำตัวอย่างไก่ทอดมาบีบเอาน้ำมันออกแล้วใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำตรวจหาค่า “โพลาร์” เพื่อวัดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของน้ำมันที่ใช้ทอด   ผลทดสอบ ข่าวดีคือ “ฉลาดซื้อ” พบว่าเกือบทุกตัวอย่างมีค่าโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกินค่ามาตรฐานได้แก่ ไก่ทอด แมคโดนัล (McDonald) สาขาห้าง เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ข้างสำนักงานของ “ฉลาดซื้อ” นี่เอง) โดยพบโพลาร์เกินกว่าร้อยละ 25 อันเป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันเสื่อมสภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 และวินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   ข้อสังเกต มี 3 ตัวอย่างที่พบสารโพลาร์เกือบเกินค่ามาตรฐาน(น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ) ได้แก่ ไก่ทอดหาดใหญ่จากตลาดปทุมธานี ไก่ทอดเจ๊กีจากซอยโปโล ถนนพระราม 4 และไก่ทอดจีระพ้นธ์ จากตลาดหลังการบินไทย วิภาวดี   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ น้ำมันที่ใช้ซ้ำจนเสื่อมคุณภาพเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทานทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาตและภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมสภาพจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็งทำให้ผู้ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมคุณภาพเกิดจากโครงสร้างของน้ำมันถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารโพลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ฉลาดซื้อแนะนำ จากตารางข้อมูลจะเห็นว่าของแพงและเป็นแฟรนส์ไชส์ใช่ว่าจะมีมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยเสมอไป ดังนั้น “อย่าติดแบรนด์” ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะอยู่ครับ ควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวสีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ (ถ้าได้เห็นน้ำมันนะครับ) ทอดไก่รับประทานเองครับ รู้แน่นอนว่าปลอดภัยหรือไม่ (เพราะเราทำเอง ฮา…) หาคนช่วยรับประทาน(อร่อยกว่ากินคนเดียว) และกินแต่พออิ่ม อย่ากินไก่ทอดอย่างเดียวให้มีผักเคียงด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับไขมันและน้ำมันทอดซ้ำในของทอดได้ เพราะใยอาหารและสารอาหารในผักช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วยครับ   ตารางแสดงผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด ชื่อตัวอย่าง สถานที่เก็บตัวอย่าง ราคา ผลทดสอบ สรุปผล ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดปทุมธานี 40 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดนายเอส (S) โรงอาหาร ม.เกษตรฯ 22 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดอนงค์ ตลาด อตก. 25 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด McDonald ห้าง Center One 124 บาท/ 2 ชิ้น ไม่มีสี น้ำมันเสื่อมสภาพเกิน 25% ไก่ทอดเจ๊กี ซ.โปโล ถ.พระราม 4 200 บาท/ตัว สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดสมุนไพร หน้าอาคารพหลโยธินเพลส 35 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดเดชา ปากซอยไมยราพ ถ.เกษตร-นวมินทร์ 45 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด Chester Grill ห้าง Center One 140 บาท/ 4 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดจีระพันธ์ ตลาดหลังการบินไทย 30 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดบางจาก 40 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด KFC ห้าง Center One 108 บาท/ 3 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 %    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >