ฉบับที่ 159 ผลของการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาทเลินเล่อ

อุทาหรณ์จากการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาท จากเรื่องที่ นาย ก. ในที่นี้คือ จำเลยที่ 2  ลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์ นาย ก.  ถูก นาง ศ. หลอกว่า เป็นการค้ำประกันให้ นาง ศ.  และต่อมา นาง ศ. กับพวกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 (คนที่นาย ก. ไม่รู้จัก) ต่อโจทก์ ในการเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์  ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้แล้วนำออกขายได้ราคาไม่คุ้มกับความเสียหายของโจทก์  จึงได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 (ซึ่งเข้าสำนวนไทยว่า เนื้อไม่กิน แต่ได้กระดูกแขวนคอ) ให้การต่อสู้คดีว่า เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ศาลยกฟ้อง(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ) มาดูกันว่าศาลฎีกาจะตัดสินว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่  357/2548 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ... ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์  โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น   คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2  ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาค้ำประกันนาง ศ.    มิใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะไม่สามารถบังคับจำเลยที่ 2 ได้ และการลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่ได้กรอกข้อความเนื่องจากถูกนาง ศ. หลอกลวง จึงไม่ใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมกับมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์นั้น  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้นาง ศ. กับพวกจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยกรอกข้อความในหนังสือค้ำประกันให้ผิดไปจากเจตนาของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158**   จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ท่านผู้อ่านอย่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเปล่าใดๆ ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความดังกรณีนี้เป็นอันขาด และการทำนิติกรรมใดๆ ควรไปทำด้วยตนเอง  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/ทะเบียนบ้านจะมอบให้ใครนำไปใช้เรื่องอะไรให้เขียนให้ชัดเจนว่ามอบให้ไปทำอะไร ช่องว่างที่เหลือแบบฟอร์มของสัญญาให้ใช้ไม้บรรทัดขีดออก เพื่อป้องการการเติมข้อความอื่น **ปพพ. มาตรา 158 ความสำคัญผิด ตาม มาตรา 156 หรือ มาตรา 157 ซึ่ง เกิดขึ้น โดย ความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ของบุคคล ผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้น จะถือเอา ความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์ แก่ตน ไม่ได้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน... การที่ประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานในการรักษาของแพทย์โดยไม่ถือเอามาตรฐานการรักษาดีที่สุด  แต่ใช้มาตรฐานการรักษาตามสภาพและสภาวะในขณะทำการรักษาเป็นตัวกำหนด  รวมทั้งการที่แพทยสภาใหม่ตามแนวคิดดังกล่าวน่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดมาตรฐานของศาลให้เปลี่ยนแปลงไปจากการอาศัยมาตรฐานการรักษาดีที่สุดไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่  แต่การที่คดีนี้ศาลฎีกายังคงถือหลักมาตรฐานการรักษาในระดับดีที่สุดอยู่เนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ในขณะที่ยังใช้ข้อบังคับเดิมของแพทยสภาที่ถือเอาการรักษาในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐาน  และไม่มีข้อเท็จจริงหรือได้ว่ากล่าวกันมาคือ  เงื่อนไขตามมาตรฐานที่ข้อบังคับใหม่ของแพทยสภากำหนดจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ศาลฎีกายังคงใช้มาตรฐานดีที่สุด  ซึ่งเป็นข้อที่ปรากฏอยู่ในสำนวนเป็นมาตรฐานการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย  สำหรับคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งเป็นเวลาที่ข้อบังคับแพทยสภาฉบับปี  2549 ได้บังคับแล้ว  น่าเชื่อว่าการถือมาตรฐานในการรักษาคงจะเปลี่ยนไปตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนดใช้ในข้อ 15 แห่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549   6. มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า  คณะกรรมการแพทยสภาได้ลงมติแล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิด  เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยไปตามมติของแพทยสภา หลักในการวินิจฉัยความรับผิดของแพทย์  โดยเฉพาะการวินิจฉัยว่าการรักษาของแพทย์เป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่  เป็นเรื่องยากที่ศาลหรือบุคคลทั่วไปจะเข้าใจและรับรู้ได้  ศาลในประเทศต่างๆ จึงถือแนวปฏิบัติว่าจะต้องอาศัยความเห็นของแพทย์ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ( expert witness ) เป็นสำคัญ ในคดี Bolam v. Friem Hospital Management Committee ( 1957 WER 882 )  ศาลได้วางหลักให้ถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์ที่ดูแลแขนงสาขาวิชาทางการแพทย์สาขานั้น  และโดยแพทย์ผู้กอปรทักษะความรู้ในสาขานั้นเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสิน ( The accepted practice must be regarded as proper by  “  a responsible body of medical men “ skilled in that art ) ทำให้เกิดหลักเรียกว่า Bolam test ขึ้น กล่าวคือ หากผู้แทนองค์กรแพทย์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เบิกความมาเป็นผู้ให้ความเห็นก็จะผูกพันมีน้ำหนักสำคัญให้ศาลเชื่อถือรับฟัง  ส่วนความเห็นของแพทย์ที่มิอยู่ในสาขาวิชาดังกล่าว หรือโดยองค์กรของแขนงวิชาดังกล่าวมาเบิกความก็จะไม่ถือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น หลัก Bolam test ได้เป็นที่ยอมรับในศาลของหลายๆ ประเทศ  แต่ในรอบ 20  ปีที่ผ่านมา  ศาลและประชาชนผู้เกี่ยวข้องเริ่มมีความรู้สึกว่าองค์กรแพทย์มักให้ความเห็นในการปกป้องแพทย์ด้วยกันเองมากกว่าการให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม  ทำให้ศาลของประเทศต่างๆ ในระยะหลังเริ่มไม่รับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  โดยวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองแยกแตกต่างไปจากความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เช่น คดี Hucks v. Cole (( 1993 ) , 4 Med LR 393 ) คดี Gascoine v. Ian Shridan & Co. (( 1994 ) , 5 med LR 437 และคดี Joyce v.  Wandsworth Health Authority (( 1995 ) , 6 Med LR 60 เป็นต้น อย่างไรก็ดีศาลอีกบางส่วนก็ยังถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์เป็นสำคัญในการวินิจฉัยคดีอยู่เช่นเดิม  จนกระทั่ง House of Lords ของอังกฤษได้ตัดสินคดีสำคัญที่วางหลักการรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์  และถือว่าเป็นการวางแนวทางที่ได้รับการยอมรับที่ศาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว้างขวางที่สุด นั่นคือ คดี Bolitho v. City & Hackney Authonrity  (( 1997 ),  All ER 771 ) คดีดังกล่าวศาลวางหลักว่า  หากองค์กรแพทย์ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เปี่ยมด้วยเหตุผล  ศาลพึงต้องรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์ดังกล่าวในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีน้ำหนักยิ่ง  แต่ถ้าความเห็นมิได้มาจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาวิชาดังกล่าว  ศาลจะไม่รับฟังก็ได้ ผลของคดี Bolitho ทำให้นำไปสู่แนวความคิดในการรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะความเห็นขององค์กรแพทย์ว่าศาลยังรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  เว้นจะปรากฏว่ามีเหตุที่ไม่ควรรับฟัง เช่น  (ก) ขาดเหตุผล หรือมิได้มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เบิกความ หรือความเห็นขององค์กรแพทย์ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าจะเป็นเช่นใด เช่น คดี Penney , PaImer and Conon v. East Kent HeaIth Authority (( 2000 ) , Lloyd ‘s Law Rep ( MedicaL , 41 ))  ที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างมีพยานองค์กรแพทย์มาให้ความเห็นสนับสนุน  เช่นนี้ศาลวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองได้     (ข) แพทย์รักษาผิดไปจากฎหมายที่บัญญัติไว้  หรือเงื่อนไขการรักษาหรือมิได้เป็นไปตามมาตรฐาน CGP (  Clinical Practice Guideline ) (ค)  เมื่อแพทย์รักษาผิดอย่างชัดเจน เช่น แพทย์ผ่าซี่โครงผิดข้าง  หรือเด็กประสงค์ให้แพทย์ผ่าตัดตุ่มเม็ดในปาก  แต่แพทย์ไปขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะแทน  หรือในคดี McGrew v. St. Joseph ‘ s Hospital ( 200 W.Va 114 , 488 SE 2d 389 (1997 ) ) พนักงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยกตัวคนไข้ไม่ดี  ทำหลุดมือปล่อยคนไข้ตกเตียง  ศาลสูงสุดแห่งเวสต์เวอร์จิเนียวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลกระทำการโดยประมาทหรือไม่  ศาลวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรแพทย์ 7.  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยด้วยความระมัดระวังไม่ว่าการวางหลักตามแนววินิจฉัยในคดี Bolitho ว่าหากมติของแพทย์สภาถูกต้องและเป็นธรรมก็นำมารับฟังได้  แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการได้มาซึ่งมติความเห็นของแพทยสภามีข้อกังขาและสงสัยว่าจะชอบหรือเหมาะสมหรือไม่  การที่ศาลฎีกาไม่รับฟังมติความเห็นของแพทยสภา  แต่วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเสียเองจึงชอบแล้ว หมายเหตุผู้เขียน  ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงในความเห็นของท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ซึ่งเป็นความเห็นที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอน 5

ความเห็นต่อเนื่องจากคดีคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ โดยอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ...   4.เมื่อแพทย์ต้องได้รับความยินยอมในการรักษาจากคนไข้  ความคิดเดิมที่ Hippcrates เชื่อว่าแพทย์รักษาดีที่สุดตามหลัก Patermityship โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้จึงได้รับการพิจารณาใหม่ว่า  เมื่อเป็นดังนี้แพทย์ยังจะต้องรักษาคนไข้ในระดับมาตรฐานดีที่สุดหรือไม่  จนต่อมาได้มีคำประกาศ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1948 ( the Declaration of Geneva in 1948 amended in Sydney in 1968) ว่าแพทย์ยังจะต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด โดยถือเป็นจริยธรรมในการรักษาคนไข้เรียกว่าหลัก best practice  อย่างไรก็ดี  แม้องค์กรแพทย์จะถือว่าโดยจริยธรรมแพทย์ต้องรักษาดีที่สุดก็ตาม  แต่ความเห็นในวงการกฎหมายกลับมีความเห็นแตกต่างไปจากเดิม  โดยเห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี และมีไม่ได้ เหตุที่มีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี เป็นการพิจารณาตามสภาวะความเป็นจริง เช่น แพทย์ไปพบคนเจ็บนอนข้างทาง  แพทย์ทำการรักษาเบื้องต้น โดยไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันเป็นการรักษาดีที่สุดหรือไม่ หากไม่ใช่การรักษาดีที่สุดก็ต้องถือว่าแพทย์ประมาท เพราะทำการรักษาต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดว่า ต้องดีที่สุด แพทย์ประจำอนามัยมีเครื่องมือน้อยกว่าแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนหากรักษาคนไข้ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  หากเป็นเช่นนี้จะมีแพทย์ประจำอนามัยที่กล้ารักษาประชาชนได้อย่างไร   แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน มีเครื่องมือไม่เท่ากับโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม้จะสามารถผ่าตัดเล็กน้อยได้  แต่ไม่มีวิสัญญีประจำโรงพยาบาลชุมชน  หากมีการผ่าตัดก็ต้องถือว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  เช่นนี้แล้วแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะกล้าผ่าตัดช่วยคนไข้หรือไม่ แพทย์ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเครื่องมือและประสบการณ์น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นดีในกรุงเทพมหานคร  การรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ต้องถือว่าไม่ดีที่สุดเช่นกัน แพทย์ประจำโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพมหานคร  ก็หาใช่จะรักษาดีเท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำของโลกที่มีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่สุด  หากเป็นเช่นนี้เท่ากับไม่มีการรักษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย แล้วจะมีแพทย์รักษาคนไข้ในประเทศนี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี  และมีไม่ได้ เนื่องจากหากมีการรักษาดีที่สุดแล้วก็คงไม่ต้องมีการวิจัยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นการรักษาดีที่สุดอยู่แล้ว  เช่นนี้เท่ากับเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการในวงการแพทย์  ซึ่งหาเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรไม่  ดังนั้น วงการกฎหมายในประเทศต่างๆ จึงมิได้ถือเอาจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐานว่าแพทย์กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ( Puteri N. J. Kassim , op.cit . , p.41 ) ด้วยเหตุนี้จึงมีคำวินิจฉัยของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษวินิจฉัยปฏิเสธมาตรฐานในการรักษาในระดับดีที่สุด เช่น คดี Osbom v. Irwin Memorial BloodBank ( 7 CalRptr. 2d , 101 ( Ct.App.Cai.1991 ) ที่เด็กอายุ 3 อาทิตย์ต้องรับการผ่าตัดหัวใจและได้รับการให้เลือด แต่เลือดมีเชื่อ HIV เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลือดที่ได้รับบริจาคมีเชื้อ HIV หรือไม่  ซึ่งมิใช่การรักษาที่ดีที่สุด  แต่ศาลเห็นว่าทางปฏิบัติของโรงพยาบาลแม้มิใช่วิธีการดีที่สุดแต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทั่วไป ( Standard Practice ) ของวิธีปฏิบัติในการรักษาในเวลานั้น(custom at the time ) จึงไม่ถือว่าเป็นความประมาท หลังจากนั้นได้มีคดี Nowatske v. Osterioh ( 198 Wis 2d 419 , 543 NW 2d. 265 (1996 )  และคดี Vergara v. Doan ( 593 NF 2d 185 ( ind. 1992 ) วางหลักวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า  มาตรฐานในการรักษาไม่จำต้องถือมาตรฐานการรักษาดีที่สุด  และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ( national  standard ) แต่จะเป็นมาตรฐานใดย่อมแล้วแต่สภาพ  สภาวะแห่งท้องถิ่นแต่ละที่เป็นหลัก ( Locality rule ) ซึ่งในคดี Vergara v.Doan ได้วางหลักว่าแพทย์ในเมืองเล็กย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ในเมืองใหญ่  แพทย์ทั่วไปย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ผู่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกค่ารักษาสูงกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ  ทำให้เกิดหลักในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาของแพทย์ขึ้นใหม่แทนการใช้หลักการรักษาดีที่สุด ( best practice ) มาเป็นการพิจารณามาตรฐานในการรักษาตามสภาพและสถานที่ที่มีการรักษานั้น  (Current Accepted Medical Practice) แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาตามหลัก Current Accepted   Practice ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ทำให้ศาลในประเทศต่างๆ  ถือเป็นแนวในการกำหนดมาตรฐานการรักษาของแพทย์ สำหรับประเทศไทยนั้น  คณะกรรมการแพทย์สภาได้มีการนำแนวความคิดังกล่าวไปทำการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับแพทย์สภาเสียใหม่ ดังนี้ “  ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๔๙ หมวด ๔ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ด้วยความสามารถและข้อจำกัดของภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ “  ( ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๑๕ ง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๔ )   ไว้มาต่อตอนจบ(จริงๆ) กันในฉบับหน้านะครับ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 4

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน...   เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “ 3. การรักษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับความยินยอมของคนไข้  เนื่องจากการที่แพทย์ใช้เข็มแทงก็ดี  ใช้มีดผ่าก็ดี วางยาสลบก็ดี ผ่าตัดก็ดี หากไม่มีความยินยอมของคนไข้ย่อมเป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายทั้งสิ้น ( Assualt and Battery ) เมื่อคนไข้ยินยอมให้แพทย์รักษา  แพทย์จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามหลักความยินยอม ไม่เป็นละเมิด (Volunti non fit injuria) (Puteri N.J.Kassim,Medical Negligence Law in Malaysia, (Interntional Law Book Service, 2003), pp.3-5) ด้วยเหตุนี้การรักษาคนไข้ของแพทย์จึงเกิดหลักคนไข้ยินยอมหรือ Informed Consent ขึ้น   ปัญหาว่าแพทย์จะรักษาคนไข้ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ดังกล่าวสร้างปัญหาแก่แพทย์ตลอดมา  โดยเฉพาะในอดีตที่แพทย์เชื่อว่าแพทย์มีเจตนาดีประสงค์จะช่วยคนไข้ เหตุใดจึงต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ด้วย  ทำให้แพทย์ในอดีตรักษาคนไข้โดยไม่ใส่ใจว่าคนไข้ต้องให้ความยินยอมหรือไม่ เช่น ในสมัยพุทธกาลหมอชีวกทำการรักษาอาการประชวรของพระเจ้าปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี พระเจ้าปัชโชต ขอไม่ให้หมอให้ยาที่มีส่วนผสมของเนยใส  และไม่ยินยอมให้หมอรักษาหากผสมยาด้วยเนยใส หมอชีวกได้หุงเนยให้มีสี กลิ่น และรสเหมือนน้ำฝาด   เป็นยารักษาพระเจ้าปัชโชต  โดยขอรางวัลในการรักษาเป็นช้างภัททวดีซึ่งเป็นช้างที่เดินเร็วที่สุด แล้วขึ้นช้างหนีไปจากกรุงอุชเชนีทันที (พระไตรปิฎก , พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรต ภาค 2 เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง หน้า 144-145) ปัญหาแพทย์รักษาโดยไม่ใสใจความยินยอมของคนไข้ดังกล่าว ก่อปัญหาว่าเมื่อคนไข้ไม่ยินยอมหรือไม่ได้ให้ความยินยอมแล้วแพทย์ทำการรักษาจะไม่ผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือ  ปัญหานี้ได้ถูกวางแนวทางแก้ไขโดย Hippocrates ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ Hippocrates เห็นว่า แพทย์ต้องปฏิญาณว่าจะทำการต่อคนไข้ดีที่สุดดังเช่นบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร  ทำให้เกิดคำปฏิญาณของ Hippocrates เรียกว่า Hippocratic oath และเกิดแนวคิดว่าบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่บุตรโดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของบุตรที่ตนเลี้ยงดู ทำให้เกิดหลัก Paternityship ( ความเป็นบิดามารดา ) ขึ้น อันนำมาซึ่งการรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ หรือที่เรียกว่าเอกสิทธิ์ในการรักษา ( Therapeutic Privilege ) ( Puteri N.J.Kassim, op. Cit.p.13 ) ต่อมาใน พ.ศ.2457 วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับวิธีปฏิบัติในการรักษาว่า คนไข้ต้องให้ความยินยอม เว้นแต่เป็นเหตุฉุกเฉินคนไข้ไม่อยู่ในฐานะให้ความยินยอมได้เท่านั้นแพทย์จึงจะทำการรักษาได้ หาไม่แล้วการรักษาของแพทย์ที่คนไข้ไม่ยินยอม  แพทย์ผู้รักษาต้องมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาคดี Schloendorff v.Society of New York Hospital ( 105 N.E 92 ( N.Y.1914 ) นอกจากนี้ในคดี Largey v. Rothman (110 N.J.204,540 A 2d. 504 (1998) ยังวางหลักต่อไปว่าความยินยอมของคนไข้จะสมบูรณ์เมื่อแพทย์ได้แจ้งวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาให้คนไข้ประกอบการตัดสินใจให้ความยินยอมเรียกว่าหลัก Prudent Patient(Kenneth A. Bamberger , Medical Maipractice & Professionna Liability , handout for Thai Judiciary Course , June 2009 , P .2 ) หรือที่เรียกว่า Informed Consent  ทำให้การรักษาของแพทย์ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้เสมอ และความยินยอมต้องมาจากการที่แพทย์ให้ข้อมูล ( inform ) ในวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาแก่คนไข้ (ยังมีต่อนะครับ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 3

ความเดิม เป็นเรื่องที่ สามี ฟ้องคดีแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน จากเหตุผู้ตายคือ ภริยาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรตาย ศาลพิพากษาลงโทษทั้งจำเลยที่ 3 และ 4 แม้แพทยสภาระบุไม่ผิด หมายเหตุผู้เขียน  คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้(อ่านได้จากสองตอนแรก) ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไว้อย่างน่ารับฟัง เป็นบทความที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่ง  ผู้เขียนจึงขอนำมาเพื่อผู้บริโภคได้อ่านกัน หมายเหตุ ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร   1.คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ต้องรักษาคนไข้ในระดับดีที่สุดตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ซึ่งกำหนดโดยข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526  หมวดที่ 3 ข้อ 1 บัญญัติว่า “ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด...” ( ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 10 ตอนที่ 115 วันที่ 14 กรกฎาคม  2526 หน้า 28 ) ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 ฉีดยาชาเข้าสันหลังผู้ตายเพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดบุตรแล้วผู้ตายไปวางยาสลบคนไข้รายอื่นที่ห้องอื่น  ส่วนจำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตาย  แล้วละทิ้งผู้ตายไปตรวจคนไข้รายอื่น ทำให้เมื่อผู้ตายเกิดภาวะวิกฤติเพราะน้ำคร่ำมีภาวะแทรกซ้อนไปอุดกั้นหลอดเลือดในปอด  จึงกลับมาแก้ไขเยียวยาชีวิตผู้ตายไม่ทัน  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาฉบับดังกล่าว จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นละเมิดต่อโจทก์ 2. ความรับผิดในทางแพ่งมีได้ 2 ทาง คือ ความรับผิดเพราะผิดสัญญา(Contractual liability) และความรับผิดในฐานละเมิด (Tortious  liability ) ความรับผิดฐานละเมิดเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย... ความหมายของประมาทเลินเล่อได้เทียบอาศัยตามความหมายใน ป.อ.มาตรา 59 วรรคสี่ว่า “ กระทำโดยประมาท ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ " ตามบทบัญญัติดังกล่าว  การกระทำโดยประมาทเลินเล่อต้องเป็นกรณีมิได้ใช้ความระมัดระวังตามที่ควร แต่แค่ไหนจะควรเป็นการกระทำที่สมควร  ซึ่งเรียกว่ามาตรฐานในการใช้ความระมัดระวัง(Standard of care) ในบางกรณีเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโดยเฉพาะในการประกอบวิชาชีพบางอาชีพ เช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ ด้วยเหตุนี้ความรับผิดและการกำหนดมาตรฐาน จึงต้องอาศัยมาตรฐานโดยบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว  และเป็นบุคคลที่ผู้ร่วมวิชาชีพยอมรับ  ทำให้เกิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพดังกล่าว  ในทางกฎหมายต่างประเทศจะเรียกความรับผิดของทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ว่า Professional liability หรือความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ  แต่สิ่งที่ปรากฏต่อมาก็คือ ทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีให้แก่ลูกความแล้วแพ้คดีก็ดี  ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบบัญชีงบดุลให้ลูกค้าแต่ลูกค้าประสบภาวะขาดทุนก็ดี  จะมีคดีถูกฟ้องร้องน้อยมาก  แต่แพทย์ที่รักษาคนไข้กลับมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องคดีมากกว่าผู้ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ทนายความหรือผู้ตรวจสอบบัญชี เหตุผลที่เป็นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพของแพทย์ที่กำหนดว่า ต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด เนื้อที่อันจำกัดขอจบในตอนหน้าครับ ด้วยคำอธิบายว่า เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ความต่อจากคราวที่แล้ว... ข้อบกพร่องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงนำไปสู่การเยียวยาเพื่อช่วยชีวิตผู้ตายและบุตรไม่ได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุดตามที่ควรเป็น จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3  และที่ 4  เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ หมวดที่ 3 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อที่ 1 ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4ประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย   มติของแพทยสภาที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4 ไม่ได้กระทำผิดหรือไม่ได้รักษาผิดมาตรฐานนั้น มติแพทยสภามิใช่กฎหมายและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาล  ถ้าศาลเห็นว่ามติของแพทยสภาถูกต้องและเป็นธรรมก็จะนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 3  และที่ 4  ได้ แต่มติเรื่องนี้มีข้อสงสัยว่าจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการแพทยสภา มีกรรมการมาประชุม 30 คน ลงมติโดยเปิดเผยโดยการยกมือฝ่ายที่เห็นว่าจำเลยที่ 4  ผิดมี 12  เสียง ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ผิดมี 13  เสียง ส่วนมติเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ลงมติว่าไม่ผิด 12  เสียง ต่อ 10  เสียง แต่มีกรรมการที่ลงมติว่าไม่ผิด 1 คนเป็นญาติและนามสกุลเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา หลังลงมติมีกรรมการแพทยสภาลาออกเพื่อประท้วงคณะกรรมการแพทยสภา กรรมการแพทยสภาลงมติโดยไม่ได้ศึกษาสำนวนโดยละเอียด กรรมการบางคนไม่เคยประชุมแพทยสภามาก่อนแต่ลงมติว่าไม่ผิด มติแพทยสภาดังกล่าวที่ยังมีข้อโต้แย้งว่าถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ศาลจึงเพียงแต่นำมารับฟังประกอบการพิจารณาเท่านั้น โดยไม่จำต้องถือตามมติแพทยสภา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งหก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนแรก

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) ก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ทั้งที่ผู้ตายมีภูมิลำนาอยู่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง  การที่ผู้ตายมาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1  ครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความเชื่อถือในชื่อเสียงและความสามารถจากแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในความรู้และความคาดหวังที่จะได้รับการดูและรักษาในมาตรฐานและความพึงพอใจในระดับที่สูงกว่าที่จะจากโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนอื่น แม้จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและบริการที่สูงกว่าก็ตาม ต่อมาแพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษามีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการรวมทั้งอ้างว่าแพทยสภาได้วินิจฉัยไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีผู้ใดกระทำผิดหรือให้การรักษาผู้ตายไม่ได้มาตรฐานแต่อย่างใด มาดูกันว่าถึงที่สุดศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  จำเลยที่ 1 เป็นโรงพยาบาลเอกชนเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษา มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมฯ หมวดที่ 3 ข้อที่ 1 การทำคลอดด้วยการให้ยาชาเข้าไขสันหลังโดยตรง ที่เรียกว่า Spinal Anaesthesia หรือ Epidural Block อาจมีอาการแทรกซ้อนได้หลายประการ  แม้กระทั่งถึงชีวิตในทันทีก็ได้ วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการของคนไข้โดยใกล้ชิด การที่จำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้ว จะต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หากจำเลยที่ 4 ไม่อยู่จะต้องมีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์อยู่ดูแลแทน ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อให้ยาชาทางสันหลังจะต้องดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิด  แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4  ทอดทิ้งผู้ตายไว้ในห้องโดยไม่มีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์คนอื่นดูแลแทน คงมีแต่พยาบาลซึ่งมิใช่วิสัญญีพยาบาลดูแลร่วมกับผู้ช่วยคนไข้ ทั้งไม่ได้ความว่าก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะออกจากห้องคลอดมีการสั่งให้พยาบาลดูแลผู้ป่วยเช่นใด  โดยเฉพาะการวัดความดันโลหิตและชีพจร ผู้ตายถึงแก่ความตายในวันดังกล่าว เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากเศษน้ำคร่ำเข้าไปในระบบเส้นเลือดของปอด จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับว่าไม่เคยประสบภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นเส้นเลือดในปอดเหมือนเช่นคดีนี้มาก่อนจึงน่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยถึงภาวะดังกล่าวจนไม่ปฏิบัติหรือสั่งการให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหลักวิชาการแพทย์เพื่อดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดจนการคลอดเสร็จสิ้น... หน้ากระดาษหมดพอดี ถ้าว่ากันต่อตัวหนังสือจะเล็กมากไป ดังนั้นขอต่อเป็นตอนสองในฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลของการต่อเติมห้องชุดโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ฉบับนี้เป็นเรื่องจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดอยากจะต่อเติมห้องชุดให้เป็นวิมาน จึงได้ตกแต่งห้องชุดดังกล่าวโดยขยายผนังห้องชุด ซึ่งเป็นขอบเฟรมอะลูมิเนียมพร้อมกระจกไปติดตั้งไว้บนขอบระเบียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์(นิติบุคคลอาคารชุด) และต่อเติมส่วนของอาคารให้มีลักษณะแตกต่างจากระเบียงห้องชุดอื่น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และโครงสร้างของทรัพย์ส่วนกลาง ต่อเติมเสร็จไม่นานมารความสุขก็มาเยือน นิติบุคคลอาคารชุด เห็นว่าเป็นการขัดต่อข้อบังคับของนิติบุคคลฯ จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อผนังที่ติดตั้งไว้บนขอบระเบียงให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม แต่จำเลยก็ดื้อตาใสแบบว่า วิมานข้าฯ ใครอย่าแตะ นิติบุคคลฯ ก็ของขึ้น  จึงไปฟ้องศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอน  จำเลยให้การต่อสู้คดีแบบสู้ตายจัดหนัก ที่เด็ดที่สุดสู้ว่าทำเพื่อความปลอดภัยเพราะเมียจำเลยกลัวความสูง( แบบว่าทำไปเพราะรักเมีย กลัวเมียตกคอนโดฯ ตาย) ผลคดีศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนอีก จำเลยก็ยิ่งเฮใหญ่  นิติบุคคลฯ ก็กัดฟันยื่นฎีกาอีก แบบว่ากะวัดดวงกันโค้งสุดท้าย มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2554  วินิจฉัยว่า “ ห้องชุดของจำเลยอยู่ในอาคารชุดที่จัดสร้างขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ดังนั้น การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในอาคารชุด หรือการดำเนินการของทั้งโจทก์และจำเลยอันเกี่ยวกับอาคารชุดจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งอาคารชุดดังกล่าวยังมีข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อใช้บังคับแก่เจ้าของร่วมทุกคนอีกด้วย สำหรับการต่อเติมห้องชุดของจำเลยนั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด มาตรา 48 (เดิม) บัญญัติว่า การอนุญาตให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งทำการก่อสร้างต่อเติมที่มีผลต่อทรัพย์ส่วนกลางหรือลักษณะภายนอกอาคารชุดต้องได้รับมติจากคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด  ส่วนในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 7 เรื่องการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลในข้อ 26.12 ว่าการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือต่อเติมตกแต่ง  จะต้องขออนุญาต และผู้จัดการจะอนุญาตได้ต่อเมื่อเห็นว่า ไม่กระทบโครงสร้างระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ หรือไม่ยื่นล้ำพื้นที่ห้องชุดหรือแนวอาคารชุด   การที่ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ได้บัญญัติให้การใช้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้แดนกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของร่วมในอาคารชุดให้น้อยลงซึ่งแตกต่างจากหลักกรรมสิทธิ์โดยทั่วไปเช่นนี้ ก็เป็นเพราะการเป็นเจ้าของและพักอาศัยในอาคารชุดนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันของผู้เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดซึ่งมีจำนวนมาก เจ้าของร่วมจึงจำต้องระมัดระวังการใช้สิทธิของตนซึ่งอาจจะมีผลกระต่อสิทธิเจ้าของร่วมคนอื่นหรือผลประโยชน์ของส่วนราม และการอยู่ร่วมกันในอาคารชุดเจ้าของร่วมจะต้องสละประโยชน์ส่วนตัวหรือความเห็นส่วนตนซึ่งเคยมีอยู่ตามปกติในบางประการ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งออกมาเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย การต่อเติมของจำเลยเป็นการเปลี่ยนลักษณะการใช้สอยระเบียงของอาคารชุดตามที่ออกแบบมา และได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างแล้วการจัดให้มีระเบียงเป็นการออกแบบเพื่อความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับอาคารชุดนั้น และผู้ออกแบบประสงค์จะให้ใช้ประโยชน์แบบพื้นที่นอกอาคาร จึงไม่ใช่ส่วนของห้องชุดที่จะมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับส่วนของห้องชุดที่อยู่ภายใน  การต่อเติมของจำเลยจึงเป็นการขยายพื้นที่ใช้สอยของตนเองมากกว่าเพื่อความปลอดภัยหรือเป็นเพราะภริยาจำเลยกลัวความสูงดังที่จำเลยอ้าง ทั้งเห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบและเปลี่ยนรูปลักษณะอาคารชุดภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ  จำเลยจะต้องขอมติต่อเจ้าของร่วมและได้รับอนุญาตเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแล้วจึงจะกระทำได้    ที่จำเลยอ้างว่ามีเจ้าของห้องชุดอื่นหลายห้องที่ดัดแปลงต่อเติมห้องชุดลักษณะเดียวกับจำเลยแต่โจทก์ไม่ฟ้องร้องเหมือนเช่นจำเลย เป็นการเลือกปฏิบัตินั้น เห็นว่า จำเลยจะอ้างการกระทำของจำเลยที่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับให้เป็นการกระทำที่ชอบเพราะมีผู้อื่นกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยด้วยย่อมไม่ได้ และการที่โจทก์ไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิดรายอื่นก็ไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต  แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบในการกระทำของโจทก์เอง และที่จำเลยอ้างว่าการต่อเติมของจำเลยไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างอาคารเพราะจำเลยเพียงแต่ขยายแนวกระจกเดิมออกไปเท่านั้น  ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนที่จำเลยต่อเติมไม่มีการระบุจำนวนพื้นที่ไว้ว่าเป็นเท่าใด แต่จำเลยขยายออกไปจนชิดขอบระเบียงเท่ากับนำพื้นที่ระเบียงมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ใช้สอยภายในทั้งหมดอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งของห้องชุด ย่อมทำให้โครงสร้างอาคารชุดรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นแบบอย่างให้เจ้าของร่วมรายอื่นนำมาอ้างและทำการต่อเติมได้ทุกห้องชุด อันจะมีผลเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอาคารชุด การต่อเติมห้องชุดของจำเลยมีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกและโครงสร้างของอาคาร  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนและปรับปรุงผนังที่ติดตั้งตามฟ้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่งและสภาพเดิม “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถุงกอล์ฟหายในสนามกอล์ฟ

ผู้บริโภคไปเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยนำถุงกอล์ฟซึ่งบรรจุไม้กอล์ฟยี่ห้อคอลลาเวย์ไปยังซุ้มหน้าบริเวณคลับเฮ้าส์  ที่เป็นจุดรับส่งถุงกอล์ฟ  เพื่อให้พนักงานยกถุงกอล์ฟลงจากรถเพื่อส่งมอบต่อให้แคดดี้ที่รออยู่  หลังจากเล่นกอล์ฟเสร็จแล้ว  ผู้บริโภคและแคดดี้เดินไปที่บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  แคดดี้ได้นำถุงกอล์ฟไปวางไว้ที่ข้างซุ้มบริเวณบันไดหน้าทางขึ้นคลับเฮ้าส์  แล้วแคดดี้กลับออกไป  ระหว่างผู้บริโภคเดินไปเข้าห้องน้ำในคลับเฮ้าส์คนร้ายได้ลักถุงกอล์ฟไป  โดยคนร้ายขับรถยนต์เก๋งมาจอดที่หน้าคลับเฮ้าส์อ้างกับพนักงานของสนามว่า เป็นคนขับรถของผู้บริโภค  แล้วยกถุงกอล์ฟใส่กระโปรงท้ายรถของคนร้ายไป         ผู้บริโภคเรียกร้องให้เจ้าของสนามชดใช้ค่าเสียหาย  เจ้าของไม่ยอม โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องศาล  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาท่านจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ แม้บริเวณหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  จะไม่มีข้อความระบุเป็นจุดรับฝากถุงกอล์ฟและไม่มีการออกหลักฐานการรับฝาก  แต่ในทางปฏิบัติของสนามกอล์ฟและลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟโดยทั่วไปต่างเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์  จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟเป็นจุดที่พักถุงกอล์ฟ  เมื่อเล่นกอล์ฟเสร็จแล้วแคดดี้จำต้องนำถุงกอล์ฟมาส่ง ณ จุดดังกล่าว  ดังนั้นการปฏิบัติระหว่างสนามกอล์ฟกับลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟจึงเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ ตาม  ป.พ.พ. มาตรา 657  กรณีต้องถือว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้แล้ว  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้  จำเลยจะต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 657 วรรคสามบัญญัติว่า  "ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขาย หรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น"ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ  จำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการสนามกอล์ฟ  แต่ตามการปฏิบัติของจำเลยปรากฏว่าจำเลยไม่มีมาตรการใดๆ ในการดูแลรักษาถุงกอล์ฟของลูกค้าที่มาใช้บริการของจำเลยแต่อย่างใด อาทิ เช่น  ออกหลักฐานการรับถุงกอล์ฟไว้ หรือจดหมายเลขทะเบียนรถที่จะมารับถุงกอล์ฟไว้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีคนร้ายอ้างต่อนายไพฑูรย์ว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟของโจทก์ให้ยกใส่รถและนายไพฑูรย์ยอมให้ถุงกอล์ฟของโจทก์ไปทั้งๆ ที่ในเรื่องนี้นายไพฑูรย์เบิกความรับว่าแคดดี้ของโจทก์แจ้งให้ทราบว่า โจทก์นั่งรถแท็กซี่มาเล่นกอล์ฟ นายไพฑูรย์ย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ไม่ได้มีรถส่วนตัวมาเล่นกอล์ฟ  เมื่อมีผู้มาอ้างว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟเหตุใดจึงไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าเป็นคนขับรถของโจทก์จริงหรือไม่  หรือรอสอบถามโจทก์เสียก่อนกลับยอมให้ถุงกอล์ฟไปโดยไม่มีหลักฐานอย่างใดเลย กรณีเช่นนี้ถือว่านายไพฑูรย์พนักงานของจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายของอุปกรณ์กอล์ฟต่อโจทก์ " หมายเหตุผู้เขียน หลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว  ผู้เขียนสงสัยว่านายไพฑูรย์ยังคงจะได้ทำงานอยู่กับจำเลยหรือไม่  น่าเป็นห่วงจริงๆ และฉบับหน้าอย่าพลาดมี “ คดีเด็ด “ ที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ “ฉลาดซื้อ “ ฉบับเดียวในประเทศไทย เท่านั้น ขอบอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กรณีพิพาท ลักไก่...แอบต่อท่อระบายน้ำ

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือ  นายเขมไชยและบริษัทเค. อาร์. แอสเซ็ทส์ จำกัด เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 93428 และ 93933  ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแปลงนี้ เป็นทางภาระจำยอม แก่ที่ดินของคนในหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ โดยบริษัท สาดีเวล๊อปเมนต์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด  เป็นผู้จัดสรรที่ดินและจัดให้มีทางพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อเป็นทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้านกับถนนพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ  จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดข้างต้นซึ่งอยู่ติดกับทางพิพาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารบนที่ดินทั้งสองแปลงนี้โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการก่อสร้างอาคารได้มีการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำเดิมของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิติ้ซึ่งฝังอยู่ใต้ทางพิพาท  และมีการรื้อรั้วลวดหนาม ต้นไม้ และทางเท้าบนทางพิพาทเพื่อเปิดเป็นช่องทางเข้าออกระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับทางพิพาท   โจทก์ทั้งเจ็ดสิบ(ลูกบ้านในหมู่บ้านการ์เด้นซิตี้)ไม่ยินยอม   จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากบริเวณถนนทางเท้าและท่อระบายน้ำอันเป็นภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบให้จำเลยทั้งสี่ทำถนนทางเท้า ท่อระบายน้ำ ต้นไม้ และลวดหนามกลับสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งเจ็ดสิบฎีกา  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร  ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2942/2555 วินิจฉัยว่า ภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีเหนือที่ดินพิพาทเป็นประเภทเดียวกับภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ที่มีเหนือที่ดินพิพาท กล่าวคือ ประโยชน์ที่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ  แต่ผู้ใช้ทางพิพาทแต่ละคนก็ไม่อาจใช้สิทธิให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ทางพิพาทร่วมกันนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบไม่อาจใช้ทางเท้าบริเวณที่มีการทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น  ก็เป็นการสูญเสียทางเท้าเพียงบางส่วนเป็นระยะทาง 7 เมตร เท่านั้นยังสามารถใช้ทางเท้าส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นได้  จึงไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทลดไปหรือเสื่อมความสะดวก  การรื้อทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น จึงไม่เป็นการกระทำโดยละเมิด  แต่การสร้างท่อระบายน้ำใต้ทางพิพาท  โดยการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านก่อน แม้ทางพิพาทดังกล่าวจะตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ทำให้ท่อระบายน้ำที่อยู่ในทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปด้วย เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านไม่ยินยอม  การต่อท่อระบายน้ำดังกล่าวเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านจึงเป็นการกระทำโดยละเมิด พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยุ่งเกี่ยวกับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ที่อยู่ในทางพิพาท  ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรื้อท่อระบายน้ำที่จำเลยที่ 1 ทำเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ และทำให้ท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้กลับคืนสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบ ---------- ภาระจำยอมคืออะไร  ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น  อันทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนอำนาจกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 สระว่ายน้ำข้าฯ ใครอย่าแตะ

ฉบับนี้เป็นเรื่องของหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าชื่อโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ ถนนพัทยาสาย 3 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ที่สร้างขายก่อนที่จะมี พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543  ใช้บังคับ โดยขณะนั้นมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่286  ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน  2515  โดยจอมพลถนอม  กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ประกาศ  หมู่บ้านดังกล่าวบริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โฆษณาและจัดไว้เป็นสาธารณูปโภคที่ผู้อาศัยในหมู่บ้านเดอะวิลเลจใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยสร้างเป็นสระน้ำ  คลับเฮ้าส์  สวนหย่อมและสนามเด็กเล่น   สร้างเสร็จและให้ผู้อาศัยในหมู่บ้านเข้าใช้ตั้งแต่ปี 2531 ต่อมาปี 2532  บริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง(ส่วนที่เป็นสาธารณูปโภค)เป็นชื่อบริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด จนกระทั่งปี 2538   บริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด ได้โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลย ( บริษัทพาเลซอินเตอร์เทรด จำกัด ) หลังจากนั้นในปี 2539  ทางราชการได้เวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วนเพื่อสร้างถนนพัทยาสาย 3 โดยเวนคืนที่ดินส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมด คงเหลือคลับเฮ้าส์และเวนคืนส่วนที่เป็นสวนหย่อมและสนามเด็กเล่นไปบางส่วน ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 28666  เหลือเนื้อที่ 2 งาน 93.5  ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ เหลือเนื้อที่ 1 งาน 89.2  ตารางวา ทั้งนี้ โดยจำเลยได้รับเงินค่าเวนคืนสำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไปเป็นเงิน  7,000,000  บาท แล้วจำเลยอ้างว่า  จำเลยเป็นบุคคลภายนอก  และที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกราชการเวนคืนแล้วไม่ยอมสร้างใหม่เพื่อทดแทน   พวกลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงมาฟ้องศาล มาดูกันว่าข้อแก้ตัวของจำเลยศาลจะรับฟังหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2555 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286  ข้อ 30  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น  ให้ถือว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมแห่งที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไปและจะกระทำการใดๆ  อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากบริษัท ก. ซึ่งรับโอนมาจากบริษัท ว. จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  จำเลยจะอ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ว. หาได้ไม่  ทั้งการตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็มีการจดทะเบียนบันทึกในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทว่า  ที่ดินอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากบริษัท ก. ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบทราบได้ก่อนการซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หลังจากทางราชการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปบางส่วนก็ยังมีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่ไม่ถูกทางราชการเวนคืนอยู่อีก 1 ไร่ 82.7 ตารางวา ที่ดินที่เป็นภาระทรัพย์ส่วนนี้จึงหาได้สลายไปไม่  ภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในส่วนนี้จึงยังมีอยู่และจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกทางราชการเวนคืนไปก็ตาม  แต่จำเลยก็ได้รับค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นเงินถึง 7,000,000 บาท  ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวรวมถึงในสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นที่ถูกเวนคืนอยู่ด้วย  จำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ว. ทั้ง 180 หลังได้รับประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเช่นที่เคยได้รับ  จำเลยจึงต้องสร้างสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เหลือให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ซ.ได้ใช้ประโยชน์ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย...ฯลฯ พิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 28663  และ 28666   ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสระว่ายน้ำ สวนหย่อม สนามเด็กเล่นและคลับเฮ้าส์บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมบ้านและที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อาศัยในโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา?

คดีนี้ผู้บริโภคได้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านในโครงการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทฯ ชื่อดังระดับบริษัทมหาชน ปรากฏว่าถนนหน้าที่ดินที่ผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทฯ  ยังมิใช่ถนนที่ บริษัทฯ ยกให้เป็นถนนสาธารณะ และติดจำนองไว้แก่ธนาคาร เมื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้บริษัทฯ จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงพิพาทตามเงื่อนไขที่ธนาคารผู้ให้เงินกู้แก่ผู้บริโภคกำหนดไว้ แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอมกระทำ แล้วอ้างว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ไปรับโอนที่ดินตามที่บริษัทฯ นัดหมาย แล้วบริษัทฯ บอกเลิกสัญญาแก่ผู้บริโภคและริบเงินที่ผู้บริโภคชำระให้แก่บริษัทฯ ทั้งหมด  ผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลขอให้ศาลบังคับให้บริษัทฯ คืนเงิน  มาดูผลคดีกันว่าในที่สุดศาลจะตัดสินอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2554 คดีระหว่าง นายบุญชัย  พัฒนปิยะทรัพย์ โจทก์ กับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ วันที่ 19 พฤศจิกายน  2542 โจทก์พร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทจากจำเลย  โดยเตรียมแคชเชียร์เช็คจำนวนเงินเท่ากับที่ต้องชำระแก่จำเลย  หากแต่จำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์  และแม้จำเลยจะนำสืบว่าได้ขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 เพราะเตรียมเอกสารในการโอนไม่ทัน และในวันที่ 26 พฤศจิกายน  2542 ฝ่ายจำเลยก็ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ก็เห็นได้จากหนังสือบอกเลิกสัญญาซึ่งจำเลยส่งไปถึงโจทก์มีข้อความในตอนท้ายสรุปความได้ว่า  จำเลยจะไม่จดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์เพราะไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระจำยอมในสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์  จึงเป็นที่เห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าแม้จำเลยจะไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดของโจทก์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 หรือโจทก์จะไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดของจำเลยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 โจทก์จำเลยก็ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทกันได้   เพราะจำเลยไม่ยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร อ. ที่ให้เงินกู้แก่โจทก์เพื่อชำระราคาบ้านและที่ดินพิพาท  ซึ่งตามแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการของจำเลยมีรูปแผนที่เป็นผังโครงการแสดงให้เห็นว่า  หน้าที่ดินแต่ละแปลงจะมีถนนออกสู่ถนนใหญ่ ที่เป็นถนนสาธารณะเช่นนี้  สิ่งที่ปรากฏในแผ่นพับโฆษณาเชิญชวนก็ล้วนเป็นปัจจัยที่จะจูงใจให้ประชาชนทั่วไปตลอดจนโจทก์ตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยทั้งสิ้น จำเลยจึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่พรรณนาประชาสัมพันธ์ไว้ อันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่จำเลยได้ให้สัญญาแก่บุคคลที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลยไว้   เมื่อปรากฏว่าถนนหน้าที่ดินแปลงที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายจากจำเลยยังมิใช่ถนนที่จำเลยยกให้เป็นถนนสาธารณะ  อีกทั้งถนนดังกล่าวจำเลยยังนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารด้วย จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงพิพาทที่โจทก์จะซื้อและเจ้าของที่ดินส่วนที่เป็นถนนหน้าที่ดินแปลงพิพาทจะต้องจดทะเบียนภาระจำยอมให้ที่ดินแปลงพิพาทที่โจทก์จะซื้อได้ใช้ประโยชน์ผ่านเข้าออกที่ดินส่วนที่เป็นถนนหน้าที่ดินแปลงพิพาทสู่ถนนสาธารณะได้เพราะมิฉะนั้นแล้วหากภายหน้าส่วนที่ดินที่เป็นถนนหน้าที่ดินแปลงพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นไม่ว่าจำเลยจะถูกบังคับจำนองหรือโอนให้บุคคลอื่น  โจทก์ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในถนนหน้าที่ดินแปลงพิพาทดังเช่นที่จำเลยพรรณนาไว้ในแผ่นพับเชิญชวนให้เข้าทำสัญญาซื้อขายได้   ดังนั้น  เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจดภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงพิพาทที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่ธนาคารผู้ให้เงินกู้แก่โจทก์กำหนดไว้  ซึ่งโดยภาระหน้าที่จำเลยต้องกระทำการดังกล่าวให้แก่โจทก์  แต่จำเลยไม่ยินยอมกระทำ  ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยโดยชอบแล้ว  โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา  391 วรรคหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 ที่ดินข้างเคียงตอกเข็มจนบ้านทรุด ใครต้องรับผิดชอบ

การตอกเสาเข็มส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินที่จะก่อสร้างจะไปจ้างให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการให้  ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างทำของมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587  ผู้รับจ้างมีหนี้ที่จะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ และส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติทั่วไปในลักษณะจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิที่จะออกคำสั่งบังคับบัญชาผู้รับจ้างดังนายจ้างกับลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน  ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิควบคุมวิธีการทำงาน  จึงถือว่าเป็นการงานของนายจ้างเอง ฉะนั้นโดยหลัก ผู้ว่าจ้างทำของจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ผู้รับจ้างก่อขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่จ้าง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ซึ่งบัญญัติว่า  “ ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง “ มาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2554  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...แม้งานตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว แต่การก่อสร้างบ้านยังคงดำเนินต่อมา ตราบใดที่การก่อสร้างโดยรวมยังไม่เสร็จสิ้นก็ถือว่าโจทก์ยังถูกทำละเมิดอยู่อายุความละเมิดเริ่มนับเมื่อการก่อสร้างโดยรวมเสร็จสิ้นแล้ว  โจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้นปีหนึ่ง นับแต่วันก่อสร้างโดยรวมเสร็จสิ้น  สิทธิของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ   การตอกเสาเข็มในการสร้างบ้านของจำเลยที่ 1 นั้นมิได้ใช้แผ่นเหล็กชีทไพล์ (Steel Sheet Pile) ย่อมส่งผลให้มีแรงสั่นสะเทือนไปยังพื้นที่ข้างเคียง จึงเป็นเหตุให้พื้นที่โรงจอดรถและถนนรอบบ้านของโจทก์ทรุดตัวและแตกร้าว และถึงแม้จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 ว่าจ้างบริษัท ป.จำกัด ทำการงานในส่วนการตอกเสาเข็มซึ่งล้วนเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดให้ใช้วิธีตอกเสาเข็มเพื่อจะได้เสียค่าสินจ้างน้อยกว่าวิธีใช้เสาเข็มเจาะ  จำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้กำหนดให้บริษัท ป. จำกัด ใช้วิธีตอกเสาเข็มตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงล้วนเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันบริษัท ป.จำกัด ได้ก่อให้เกิดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้กระทำการดังกล่าวในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน  จำเลยที่  2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167  ประกอบมาตรา 425 และมาตรา 427 ที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ผลของการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน (2)

เมื่อนิติกรรมการซื้อขาย(ที่ดิน) เป็นโมฆะ ผู้ซื้อจะเรียกเงินมัดจำหรือเงินค่าที่ดินคืนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่ารู้หรือไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน ศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้   กรณีรู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2551 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทราบดีมาแต่แรกว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยอมตนเข้าผูกพันทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฏหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่  โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ โจทก์และจำเลยทราบดีว่าที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน  แต่ก็ซื้อขายกันโดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดดังกล่าวโดยวิธีทำสัญญาจะซื้อจะขาย อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งยังจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้จะซื้อเป็นการอำพราง และทำพินัยกรรมไว้ว่าเมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นของจำเลย ซึ่งนิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น มิใช่กรณีที่เป็นโมฆียะแล้วมาถูกบอกล้างในภายหลัง อันที่จะทำให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เงินค่าที่ดินบางส่วนที่จำเลยชำระไปจึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ “ กรณีไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2553 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 อีก  การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะต้องการที่ดินพิพาทโดยไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินพิพาท อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามโอนไว้  กรณีดังกล่าวไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหรือกระทำการชำระหนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฏหมายหรือศีลธรรมอันดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยที่  1 จึงต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้ชำระมาแล้วให้แก่โจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ผลของการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน (1)

  ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีราคา สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพ และทรัพยากรที่ดินดังกล่าวมีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกันกับจำนวนประชากรที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น  คนจนก็อยากจะมีที่ดินเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็เกิดปัญหาประชาชนที่อ้างปัญหาความยากจนไม่มีที่ดินทำกินบุกรุกป่าสงวนหรือป่าเสื่อมโทรมเกิดเป็นปัญหามวลชน   ดังนั้นบางครั้งรัฐก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกเอกสารสิทธิต่างๆ ให้หลายประเภทเพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินของราษฎร  ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โฉนดครุฑดำ ครุฑแดง ครุฑเขียว(ซึ่งความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่โฉนดก็ได้) แต่ด้านหลังของเอกสารดังกล่าวมักจะมีตัวพิมพ์สีแดงเป็นข้อกำหนดห้ามโอนในชั่วระยะเวลาหนึ่งเช่น สิบปี ฯลฯ ทั้งนี้รัฐมีความประสงค์ที่จะให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของนายทุน แต่ก็มีผู้ที่อยากจะได้ที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวทำนิติกรรมต่างๆ นานาหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าว ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร ศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาตามข้อกำหนดห้ามโอน เป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอน ย่อมตกเป็นโมฆะ “   แม้จะตกลงให้มีการจดทะเบียนโอนกันเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตกเป็นโมฆะเช่นกัน ( ฎ.5083/2537 , 36/2549) กรณีเป็นที่ดินมือเปล่า ก็จะถือว่าสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบไม่ได้ ( ฎ.9087/2539 , ฎ.3133/2538) ถ้าได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว ก็ถือว่าผู้ซื้อครอบครองที่ดินนั้นไว้แทนผู้ขาย (ฎ.3372/2538 , ฎ.1765/2548) แม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตามผู้ซื้อก็ไม่มีสิทธิในที่ดิน (ฎ.3372/2538) บางรายทำสัญญาไว้หลายชั้น เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โอนหลังพ้นกำหนดห้าม และผู้ขายยังจดทะเบียนการเช่าให้ผู้ซื้อ และทำพินัยกรรมไว้ว่าหากผู้ขายตายให้ที่ดินตกเป็นของผู้ซื้อ นิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น (ฎ.1365/2554)   เมื่อนิติกรรมการซื้อขายเป็นโมฆะ ผู้ซื้อจะเรียกเงินมัดจำหรือเงินค่าที่ดินคืนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่ารู้หรือไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน ซึ่งจะขอต่อเรื่องราวในฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2

  ต่อกันจากคราวก่อน เรื่อง ฝากครรภ์ไว้กับโรงพยาบาลแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น มีทางสำหรับการชดเชยเยียวยาครับ มาดูตัวอย่างกรณีศึกษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2554 คดีระหว่าง นางสุภีย์  ศรีบุญเพ็ง โจทก์ กับ กระทรวงสาธารณสุข จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ การประเมินสถานการณ์ที่จะทำคลอดให้โจทก์ของ ส. แพทย์เวรผิดพลาด เมื่อโจทก์ไม่สามารถคลอดเองโดยธรรมชาติ ส. ได้ทำคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถคลอดทารกออกมาได้  เป็นเหตุให้ทารกตกอยู่ในภาวะเครียดและถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำจนมาสู่การสำลักน้ำคร่ำ ปอดแตก และสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ประกอบกับโจทก์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะคลอดทารก แต่ต้องรอทำการคลอดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  เมื่อแพทย์และพยาบาลเริ่มทำการคลอดให้โจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการให้คลอดเองตามธรรมชาติและต่อมาโดยใช้เครื่องสุญญากาศดูดทารก ก็ไม่อาจนำทารกออกมาได้  ทั้งๆที่ก่อนคลอดสุขภาพโจทก์และทารกอยู่ในสภาพปกติ  ต้องถือว่าการตายของทารกมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทำคลอดที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปและการเลือกใช้วิธีการทำคลอดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของโจทก์อย่างทันท่วงที จึงเป็นการไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนและความระมัดระวังตามแกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่จำเลยต้องรับผิดชอบ"   หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,800,000  บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยใช้เงิน 360,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องทำนองเดียวกันนี้( ข้อเท็จจริงเหมือนกันเลย)  และผู้เสียหายไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ในชั้นไกล่เกลี่ย กระทรวงสาธารณสุขยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย 200,000 บาท  โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  สาวท้องแก่ใกล้คลอดขอให้เลือกโรงพยาบาลดีๆ หน่อยก็แล้วกัน   พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538 “ หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย “ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1

โรงพยาบาล ของรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีสังกัดดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัยของรัฐ 3.หน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา 4.หน่วยงานทหาร ตำรวจ 5.รัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลยาสูบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538  มาตรา 4 บัญญัติว่า “ ในพระราชบัญญัตินี้ “ เจ้าหน้าที่ “ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด “   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย“ และตาม มาตรา 5 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง“ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ “ มีปัญหาต่อไปว่าผู้เสียหายจะต้องฟ้องยังศาลไหน ศาลปกครอง หรือ ศาลยุติธรรม ? มีหลักดังนี้ กรณีต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม คือ 1.เป็นการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ( เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ) 2.เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิใช่เกิดจาก  การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง , การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น  ,  จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร  กรณีต้องฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. การกระทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 2.การกระทำละเมิดตาม (1) เกิดจาก การใช้อำนาจตามกฏหมายปกครอง , การออกกฏ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำสั่งอื่น , จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การที่แพทย์โรงพยาบาลของรัฐผ่าตัด/รักษาโรคแก่คนไข้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล  ถือว่าเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ เป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่   68/2544 , 70/2544, 213/2545, 250/2545,566/2545,546/2547   คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (2/2545, 14/2548) ครั้งหน้า เราจะมีกรณีศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 สัญญาไม่เป็นธรรมกรณีบัตรเครดิตหาย

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่อง ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องรับผิดต่อธนาคารฯ ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในการยื่นคำขอมีบัตรเครดิตนั้นผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาตามที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตได้กำหนดไว้  ซึ่งในสัญญาดังกล่าวจะมีข้อตกลงต่างๆ ที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตกำหนดไว้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็น “สัญญาสำเร็จรูป” “สัญญาสำเร็จรูป” หมายความว่า สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีการกำหนดชื่อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน” สัญญาสำเร็จรูปมีผลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมความไม่เสมอภาคในการทำสัญญา เพราะจะมีการกำหนดความละเอียดหลักเกณฑ์ทางสัญญาไว้เป็นแบบสำเร็จรูป คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบหรือหากสามารถตรวจสอบได้ก็ไม่อาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต่อรองเงื่อนไขให้เป็นประการอื่นใด ทำให้เกิดปัญหาการทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ หรืออยู่ในภาวะที่ต้องยอมรับข้อเสียเปรียบที่อาจเห็นอยู่แล้วตั้งแต่ตอนทำสัญญา  ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า  สัญญาสำเร็จรูปมีลักษณะของความไม่เป็นธรรมตั้งแต่รูปแบบของสัญญา กล่าวคือ ใช้ตัวเล็ก มีข้อความละเอียดมากมาย ใช้ศัพท์เทคนิคเข้าใจได้ยาก และมีการพัฒนามาจากกรณีความผิดพลาดที่คู่สัญญาฝ่ายที่นำมาใช้เคยประสบมาก่อน จึงมีการเขียนในลักษณะปิดช่องทางที่เคยผิดพลาดและพยายามเอาเปรียบอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น เพราะเคยผ่านบทเรียนมามากในขณะที่อีกฝ่ายเพิ่งจะเข้าทำสัญญาเป็นครั้งแรกหรือเพิ่งเคยทำไม่กี่ครั้ง ทำให้ขาดประสบการณ์ ไม่สามารถรู้เท่าทันอีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงเป็นลักษณะของมืออาชีพกับมือสมัครเล่น   ซึ่งมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  ได้บัญญัติไว้ว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการชำระหนี้ “ ลองมาดูตัวอย่างที่ศาลฎีกานำบทบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาปรับบทบังคับสักเรื่องหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร(จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร(โจทก์)ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย  ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร  โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป  ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >