ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 16 ปี ฉลาดซื้อ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับหนังสือ “ฉลาดซื้อ” หนังสือที่ดีมีประโยชน์ เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มทุน เหมือนหนังสือทั่วๆ ไป ที่มีอยู่เกลื่อนประเทศไทย ฉลาดซื้อจึงเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือทั่วไป แต่เป็นหนังสือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้อ่านอย่างแท้จริงตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จึงขอปรบมือดังๆ ให้และขออวยพรให้หนังสือเล่มนี้ยืนหยัดอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยยังมีอยู่อีกมากมาย หนังสือฉลาดซื้อจึงยังคงต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูล หยิบยื่นอาวุธ(ข้อมูล)ที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้ (รู้เท่าไว้ป้องกัน/รู้ทันไว้แก้ไข) และไม่สยบยอมต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง เอ้าๆ ฉบับนี้ครบรอบ16 ปี “ฉลาดซื้อ” ก็อดพูดถึง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ไม่ได้ เพราะพี่ๆน้องๆ ในมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งงานข้อมูล งานด้านกฎหมาย งานรณรงค์ การผลักดันให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้กระแสสิทธิผู้บริโภคกระจายไปสู่สังคมไทยอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคทองของการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคก็ว่าได้ และจากการทำงานอย่างแข็งขันของมูลนิธิฯ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัว ที่เห็นชัดเจนก็ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่ออกประกาศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกประกาศเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ยกตัวอย่างการเช่าซื้อรถ(รถทุกชนิด)ซึ่งเมื่อก่อนเราเช่าซื้อมาในสัญญาจะระบุไว้ชัดเจนว่า หากรถสูญหายผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือเช่าซื้อรถมาแล้วรถหายไป ผู้เช่าซื้อก็ต้องรับภาระผ่อนต่อ(ผ่อนกุญแจ) จนครบตามราคาในสัญญาเช่าซื้อนั้นๆ แต่ปัจจุบันประกาศของ(สคบ.)เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเขียนสัญญาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จนทำให้ผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น ตอนนี้หากเราเช่าซื้อรถยนต์(ผ่อนรายเดือน) และรถเกิดสูญหายโดยที่พิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นไม่ได้เกิดจากการประมาทเลินเล่อของเรา เราก็ไม่ต้องผ่อนกุญแจอีกต่อไป เพราะทรัพย์ตามสัญญาไม่มีแล้ว ถือได้ว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ ไม่ต้องผ่อนกุญแจเหมือนเดิมอีกแล้วล่ะ ถึงคราวไชโยกันแล้วใช่ไหมล่ะพี่น้อง ผู้บริโภคเป็นอิสระจากสัญญาไม่เป็นธรรมแล้วจริงๆๆ ขอปรบมือดังๆ ให้ สคบ. และขอตะโกนดังๆ แทนผู้บริโภคว่า.... ไชโยๆๆๆๆๆๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขออภัย ที่เราติดตามทวงหนี้ด้วยความไม่เคารพ

ขออภัย ที่เราติดตามทวงหนี้ด้วยความไม่เคารพขอแสดงความเสียใจ และขออภัยอย่างสูงตามที่ท่านได้กรุณาให้เกียรติเป็นลูกค้าของบริษัท อีซี่บายจำกัด(มหาชน) เลขที่ 3969-000-000000000 ต่อมาได้มีเหตุการณ์ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ทำให้ท่านรู้สึกไม่พอใจอย่างมากนั้น บริษัท สยามวรินทร์นิติการ จำกัด รับทราบปัญหาดังกล่าวด้วยความไม่สบายใจ และตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ รู้สึกเสียใจต่อท่านอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเรียนมาเพื่อขออภัยอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถืออย่างสูงบริษัท สยามวรินทร์นิติการ จำกัด เป็นหนึ่งในจดหมายขออภัยของสำนักงานติดตามทวงหนี้หลาย ๆ ฉบับที่ทางมูลนิธิฯ เริ่มได้รับทั้งจากลูกหนี้และจากบริษัทสำนักงานทวงหนี้โดยตรงในปริมาณที่มากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ได้ให้คำแนะนำกับลูกหนี้ในการจัดการปัญหาอันเกิดจากพนักงานทวงหนี้ของสำนักงานทวงหนี้ต่างๆ ซึ่งใช้วิธีการทวงหนี้ที่ไร้มารยาทและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประจาน การใช้วาจาจาบจ้วง การข่มขู่กดดันทางด้านจิตใจหรือสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะมาจากการถูกสั่งสอนหรืออบรม หรือเป็นเองโดยธรรมชาติก็ตาม เราได้ให้ข้อแนะนำว่าการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ลูกหนี้ที่ถูกละเมิดสามารถที่จะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้ทั้งกับพนักงานทวงหนี้ สำนักงานทวงหนี้และบริษัทเจ้าหนี้ แต่การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจถูกพิจารณาได้ว่าองค์ประกอบในการกระทำผิดทางอาญายังไม่ครบถ้วนอาจทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิผลจึงให้ข้อแนะนำว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นลูกหนี้สามารถใช้เหตุผลในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายอาญาที่ได้กล่าวไปแล้วแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานทวงหนี้และบริษัทเจ้าหนี้ได้โดยตรงเพื่อให้ยุติการกระทำดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทเจ้าหนี้หลายๆ บริษัทไม่อยากให้ตัวเองต้องมาเสียภาพพจน์ในเรื่องนี้ จึงมักจะยุติการติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวโดยทันทีปรากฏว่าในขณะนี้ลูกหนี้ที่ถูกละเมิดจากการติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและใช้วิธีนี้ปกป้องตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการติดตามทวงหนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีและควรส่งเสริมให้ปฏิบัติโดยทั่วถึงกันทุกบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีทัศนคติที่ดีและตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเก็บเงินมาชำระหนี้ได้ในเร็ววัน ขอแสดงความนับถืออย่างสูงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ลูกค้าฮะจิบังท้องร่วงอย่างแรงเหตุอาหารทำพิษ

เวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2552 คุณแพรวพรรณ พร้อมสามีและลูกสาว ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3ครอบครัวของคุณแพรวพรรณได้สั่งอาหารมารับประทานทั้งหมด 6 รายการ คือ ซารุเซ็ท ที่ประกอบด้วยซารุราเมนและเกี๊ยวซ่า 2 ชุด , ฮะจังเมน , เนงิเรเมน และทาโกะยากิ อย่างละ 1 ชุด นอกจากนี้ยังมีน้ำดื่มยี่ห้อน้ำทิพย์ 2 ขวดและน้ำแข็งเปล่า 3 แก้ว โดยคุณแพรวพรรณรับประทานเกี๊ยวซ่าและทาโกะยากิ สามีรับประทานซารุเซ็ท ฮะจังเมนและเนงิเรเมน ส่วนลูกสาวรับประทานซารุ ราเมนปรากฏว่า เวลาประมาณตี 1 เศษย่างเข้าวันที่ 10 มีนาคม 2552 คุณแพรวพรรณและสามีเริ่มมีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งจนถึงเวลาตีห้า พร้อมอาเจียนมีเลือดปน ในขณะที่ลูกสาวอาเจียนถึง 3 ครั้ง (และมาถ่ายท้องที่โรงพยาบาลอีก 3 ครั้ง) ทั้งหมดถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในเช้าตรู่ของวันนั้นนั่นเอง ผลการวินิจฉัยของแพทย์พบว่ามีเชื้อบิดชนิดเฉียบพลันและรุนแรงที่ลำไส้ใหญ่ โดยตัวคุณแพรวพรรณมีอาการรุนแรงที่สุดกว่าทุกคน คือมีอาการท้องร่วงถึงเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 12 มีนาคม 2552 รวม 3 วันนับตั้งแต่วันที่รับประทานอาหารชุดพิเศษจากฮะจิบัง สาขาดังกล่าวต่อมาคุณแพรวพรรณได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตั้งของห้างฯ ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตยานนาวา ได้ทำการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านและทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็งและน้ำดื่มจากร้านอาหารดังกล่าว เพื่อไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจำนวน 10 รายการ ผลปรากฏว่ามีอาหารถึง 7 ตัวอย่างที่ไม่อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งแสดงว่าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในลำไส้หรือจุลินทรีย์อื่นๆ ที่เป็นพิษจนทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยในผู้บริโภคได้ อาหารที่ตกมาตรฐาน 7 รายการคือ บะหมี่(ซารุเซ็ท) , บะหมี่และน้ำซุป (ฮะจังเมน), เนงิเรเมน , ทาโกะยากิ , ซาฮั่ง(ข้าวผัดหมูอบซีอิ๊วญี่ปุ่นไข่) ,ทาราเมน(บะหมี่แห้งราดซอสหมูทันตัม) และ ดาโมะนิราเมน (บะหมี่น้ำหน้าเป็ดพะโล้และเห็ดหอม) นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำแข็งหลอดที่จำหน่ายในร้านไม่อยู่ในมาตรฐานอีกด้วย คุณแพรวพรรณได้พยายามเรียกร้องให้ทางร้านฮะจิบังแสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งส่วนใหญ่คือค่ารักษาพยาบาลของสามคนพ่อแม่ลูกจำนวนห้าหมื่นกว่าบาท แต่ไม่มีคำตอบใด ๆ จากทางร้านฮะจิบัง จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงในทางกฎหมาย การผลิตและจำหน่ายอาหารของร้านฮะจิบังราเมน สาขาดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไป ส่วนความรับผิดในทางแพ่งนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อประสานงานไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ร้องตามสมควรล่าสุดไทยฮะจิบังได้ติดต่อผ่านเทสโก โลตัสสำนักงานใหญ่ ขอนัดเจรจากับผู้ร้องรายนี้แล้ว ผลความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะนำมารายงานในฉลาดซื้อฉบับต่อไป แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาลงโดยเร่งด่วนเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อไป เพราะเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 เที่ยวเกาะหลีเป๊ะแบบเปลือยๆ กับบริการพิเศษไทยแอร์เอเชีย

“กระเป๋าของฉันอยู่ไหน”คุณอิสริยาเดินจูงมือน้องชายที่บินมาด้วยกันจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสอบถามกับพนักงานของบริษัทไทยแอร์เอเชียที่ประจำอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ว่า ทำไมไม่เห็นกระเป๋าเสื้อผ้าของตนและน้องชายที่เตรียมไว้สำหรับไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะที่จังหวัดสตูลจำนวน 5 วันเสียที ทั้งๆ ที่ลงเครื่องมานานแล้วพนักงานให้คำตอบอันสุดแสนประทับใจว่า ทางสายการบินไม่ได้โหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องมาด้วย และวันนี้ก็คงจะส่งตามมาไม่ทัน“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย”“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย”“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย” คุณอิสริยารำพึงกับตัวเอง รู้สึกว่าทำไมเช้านี้ชีวิตถึงได้อับโชคขนาดนี้ กะว่าจะเที่ยวเกาะหลีเป๊ะกับน้องชายให้ครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคักตามคำคุยของ ททท. เสียหน่อย แต่ต้องมาเจอบริการพิเศษที่ไม่ได้สั่งจองจากไทยแอร์เอเซียที่ให้บินมาได้แต่ตัว แต่กระเป๋าเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นอื่นๆ ไม่บินมาด้วยพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอถึงวันรุ่งขึ้นแทนที่จะได้ออกไปเที่ยวทะเลดำน้ำเหมือนนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ คุณอิสริยาต้องมานั่งรอกกระเป๋าอยู่ในที่พัก รอจนถึงบ่ายสองโมงก็ยังไม่เห็นกระเป๋าสุดที่รัก จึงโทรไปถามกับพนักงานไทยแอร์เอเชีย ได้รับแจ้งว่า ได้ทิ้งกระเป๋าไว้ให้กับบริษัทเรือที่จะมาเกาะหลีเป๊ะแล้วแต่บริษัทเรือไม่ได้นำลงเรือไปเกาะด้วย ทำให้คืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องซื้อเสื้อผ้าใส่กันอีกหนึ่งชุดคุณอิสริยามาได้กระเป๋าในวันที่สามของการท่องเที่ยวครั้งนี้ในเวลาประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ สรุปว่ามาเที่ยว 5 วัน ใช้เวลา 3 วันเพื่อรอกระเป๋าและได้เที่ยวจริงๆ เพียงแค่ 2 วัน ด้วยอารมณ์บูดสุดๆ พอถึงวันเดินทางกลับคุณอิสริยาได้ร้องเรียนเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเชียที่ทำกระเป๋าตกทั้งเครื่องบิน ตกทั้งเรือจนไม่มีเสื้อผ้าใส่ ซึ่งไทยแอร์เอเชียแสดงความรับผิดชอบชดใช้เงินให้กับคุณอิสริยาและน้องชายคนละ 300 บาท บวกค่าเรือไปรับกระเป๋าอีก 100 บาทรวมเป็นเงิน 700 บาท พร้อมสำทับว่านี่คือมาตรฐานความรับผิดชอบค่าเสียหายของบริษัท คุณอิสริยาเห็นหลักในการชดใช้ดังกล่าวของไทยแอร์เอเชียแล้วต้องบอกว่า รับไม่ได้“ถ้าดิฉันเป็นคนหาดใหญ่แล้วไม่ได้รับกระเป๋าจะต้องรอกี่วันก็ไม่เดือดร้อน เพราะรออยู่ที่บ้านตัวเอง แต่นี่ดิฉันและน้องชายเดินทางไปพักผ่อนในเวลาจำกัดและไปพักบนเกาะ ความเดือดร้อนและความเสียหายมันต่างกัน แล้วไม่ใช่แค่วันเดียว แต่เป็น 2 คืน 3วันที่กว่าจะได้รับกระเป๋า...”เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ท้ายสุดคุณอิสริยาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้แนวทางแก้ไขปัญหา“ถ้าดิฉันเป็นคนหาดใหญ่แล้วไม่ได้รับกระเป๋าจะต้องรอกี่วันก็ไม่เดือดร้อน เพราะรออยู่ที่บ้านตัวเอง แต่นี่ดิฉันและน้องชายเดินทางไปพักผ่อนในเวลาจำกัดและไปพักบนเกาะ ความเดือดร้อนและความเสียหายมันต่างกัน แล้วไม่ใช่แค่วันเดียว แต่เป็น 2 คืน 3วันที่กว่าจะได้รับกระเป๋า...”เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ท้ายสุดคุณอิสริยาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายประสานไปยังไทยแอร์เอเชีย ซึ่งในเวลาต่อมาสายการบินราคาประหยัดแห่งนี้ได้มีจดหมายชี้แจงถึงสาเหตุที่กระเป๋าผู้โดยสารมีอันต้องตกเครื่องบินและตกเรือว่า ปัญหาเริ่มต้นมาจากระบบการลำเลียงสัมภาระได้ส่งสัมภาระมาล่าช้า จึงเป็นสาเหตุให้สัมภาระที่ลงทะเบียนไม่ได้ถูกส่งไปพร้อมกับเที่ยวบินที่ผู้เสียหายเดินทาง บริษัทฯ ได้รีบดำเนินการจัดส่งไปในเที่ยวบินถัดไปของวันเดียวกันซึ่งออกจากกรุงเทพฯเวลา 10.40 ถึงหาดใหญ่เวลา 12.05 น. และนำไปส่งบริษัทเรือที่ท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล เพื่อส่งขึ้นเรือและนำไปส่งที่หลีเป๊ะ แต่มาไม่ทันเวลาเรือที่ออกไปหลีเป๊ะ จึงแจ้งให้บริษัทเรือจัดส่งให้ในวันถัดไป จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้ร้องว่ายังไม่ได้รับกระเป๋า ไทยแอร์เอเชียจึงติดต่อไปยังบริษัทเรือ ถึงทราบว่าบริษัทเรือลืมนำสัมภาระลงเรือ จึงต้องจัดส่งให้ในวันต่อไปอย่างไรก็ดี ไทยแอร์เอเชียได้พิจารณาให้ผู้ร้องเป็นกรณีพิเศษ โดยชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 1,100 บาท เป็นทั้งค่าเสื้อผ้าและค่าเรือที่ผู้ร้องจ่ายเพื่อไปรับกระเป๋า ซึ่งเป็นจุดที่คุณอิสริยาพอที่จะรับได้จึงยินยอมรับเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวในท้ายที่สุด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 อย่างนี้มันต้อง…ถอน

ต้องถามว่าเรายังจำลุงช่วย ณ ธนาคารออมสินได้ไหมล่ะจ๊ะ หากจำไม่ได้จะบอกให้ ก็ลุงช่วยคนที่เอาขี้ราดตัวประท้วงออมสินไง แนะๆๆ จำได้แล้วใช่ไหม ในสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนั้นกำลังจะกลับมาอีก ผู้เขียนไม่อยากเห็นลุงช่วย 2…3 จึงนำเรื่องที่ประสบด้วยตัวเอง 2 เรื่อง 2 ธนาคาร จะมาเล่าสู่กันฟัง ธนาคารแรก ธกส. (ไม่ใช่ธรณีกรรแสงนะ เอ๊ะหรือว่าใช่) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธนาคารคนจนไง...) เพราะคนที่ใช้ธนาคารนี้โดยเฉพาะในชนบทส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกษตรกรและส่วนใหญ่มาใช้บริการกู้เงินและใช้หนี้ หมุนกันอยู่อย่างนี้ คือต้องส่งตามงวดของสัญญา ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นหนี้ ธกส. และก็เป็นลูกค้าชั้นดี ส่งตรงทุกงวดไม่เคยบิดพลิ้ว ที่ส่งมาก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2552 ครบสัญญา ผู้เขียนก็นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปใช้หนี้ แล้วก็กู้กลับเท่ากับเงินต้นที่ส่งไป ตอนแรกก็ไม่มีอะไร จนเมื่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์เรียกหมายเลขให้เราไปรับเงิน ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมายืนรออยู่ พร้อมบอกว่า “เอาเงินต้นที่กู้ไว้ออกมาทั้งหมดไม่ได้ ต้องแบ่งส่วนหนึ่งออมไว้กับธนาคาร” (อ้าว..เรากู้เงินเราเสียดอกเบี้ยนะจะมาบอกว่าเราต้องออมได้ไง..) ผู้เขียนก็บอกว่ายังไม่พร้อมที่จะออม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของธนาคารลูกค้าทุกคนต้องทำตาม (เฮ้ย..เงินฉันนะ......จะออมไม่ออมฉันต้องตัดสินใจเองไม่ใช่ถูกบังคับ) จึงตอบกลับไปว่า ถึงจะเป็นนโยบายของธนาคาร แต่ก็นำมาบังคับลูกค้าไม่ได้ การจะออมหรือไม่ออมต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้า เพราะเงินที่กู้ออกมาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินหลายเท่า และที่สำคัญคนที่ตัดสินใจกู้เงินก็เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เมื่อเขากู้เสียดอกธนาคารมาบังคับให้ออมไม่ได้ เพราะเงินนี้เป็นสิทธิของเรา จะฝากหรือไม่ฝากเรามีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใครจะมาบังคับได้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นอาการแข็งขืนของเรา ก็เดินกลับไปนั่งที่เดิมไม่พูดอะไรต่ออีก นี่เป็นบุญยืนนะ... คิดดูหากเป็นชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง คงหนีไม่พ้น ต้องเอาเงินที่กู้มาดอกแพงๆ มาฝากได้ดอกถูกๆ เป็นแน่แท้.... ธนาคารที่ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันนี้เรามีเงินฝากอยู่ และก็มีเงินบางส่วนไปฝากเพิ่ม(บัญชีออมทรัพย์) เจ้าหน้าที่ธนาคารก็แนะนำว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมากแค่ 50 สตางค์เท่านั้น จึงแนะนำให้เรานำเงินส่วนหนึ่งไปฝากอีกรูปแบบหนึ่งที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าหลายเท่า เช่น ฝาก 40,000 บาท ปีที่ 2 จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนถึง 6,000 บาท ฝากแล้วถอนคืนได้ปกติ ให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว เรียกได้ว่าหว่านล้อมพูดแต่ความดีงามของเงินฝากประเภทนั้น จนเราแทบละลาย พร้อมบอกย้ำว่าไม่ต้องกลัวนี่ธนาคารทำเองไว้ใจได้ ไป 10 ครั้งก็ชวน 10 ครั้ง (ชวนทุกครั้งที่เห็นหน้า) ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร พอบ่อยครั้งเข้าก็เริ่มสงสัย มันอะไรกันแน่ชวนจัง? จึงทำทีเป็นสนใจและขอข้อมูลเพิ่มซึ่งขอไม่ง่าย (แต่ก็ได้มาจนได้ล่ะ)ปรากฏเงินฝากที่ถูกชักชวนมันไม่ใช่บัญชีเงินฝากธรรมดา แต่มันเป็นการชวนลงประกัน (ตอนมันชวนมันไม่บอกสักคำ) หากเราไม่รอบคอบ เห็นแก่ดอกเบี้ยยอมฝากอย่างที่เขาแนะนำ หากฝาก 40,000 บาท และถอนในหนึ่งปีต่อมาเราจะได้เงินเพียง 9,750 บาท เท่านั้นนะพี่น้อง ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าคุ้มครองในหลายส่วน คิดดูว่าอย่างนี้ ลุงช่วย 2…3 ก็น่าจะเกิดขึ้นไม่ยากใช่ไหม เจ้าหน้าที่พวกนี้แปลกตอบสนองแต่นโยบายธนาคาร ไม่สนใจสิทธิของลูกค้าผู้มีพระคุณอย่างเราเลย น่าจะคิดนะว่าหากเราไม่เข้าไปใช้บริการ ธนาคารจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนให้ เอ้า.. ใครมีหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ดูแลหน่อย รัฐมนตรีการคลังก็เป็นหนุ่มไฟแรงปล่อยให้ธนาคาร มาให้ข้อมูลหลอกลวงและใช้นโยบายมาบังคับผู้บริโภคอย่างนี้ได้ไง อย่างนี้มันต้องถอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงานด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้นจนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวมคุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว 3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงานอ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นเป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงานดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริงเบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 การบินไทยทำที่นั่งผู้โดยสารหาย

ไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องขึ้นมาเพื่อความเท่นะครับแต่เกิดขึ้นจริงๆ ผู้โดยสารจ่ายเงินซื้อตั๋วชั้นธุรกิจล่วงหน้าแล้ว มีตั๋วอยู่ในมือแล้ว พอมาเช็คอินเจ้าหน้าที่บอกไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำได้แค่จัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน บริการประทับใจจริงๆคุณปัทมา เขียนเล่าความทุกข์ของตัวเองผ่านทางช่องทางร้องทุกข์ออนไลน์ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า อยากทราบว่ากรณีซื้อตั๋วเครื่องบินของการบินไทย ชั้นธุรกิจ มีตั๋วอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดินทางเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บอกว่า ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการจองเพราะโดนตัดที่นั่งออกไปแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้ร้องเรียนได้หรือไม่คุณปัทมาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่การบินไทยบอกว่าเป็นเพราะระบบ เห็นว่ามีการจองซ้ำซ้อนกับเอเยนต์ขายตั๋ว แต่ทางเราไม่ได้ซื้อกับทางเอเยนต์ แต่จ่ายเงินกับการบินไทยและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้อย่างนี้จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะในที่สุดเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์หาที่นั่งชั้นประหยัดให้แทนแต่จ่ายเงินในชั้นธุรกิจ “เราซื้อตั๋วแล้ว จ่ายเงินแล้ว ทำไมการบินไทยมีสิทธิตัดที่งนั่งได้ด้วยหรือ เอาที่นั่งของเราไปขายให้คนอื่นอย่างนี้ก็เท่ากับได้เงินสองต่อน่ะสิ” แนวทางแก้ไขปัญหาน่าสงสารจริง ๆ ครับ ไม่รู้มีตัวดีหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหนไปเบียดเบียนที่นั่งประชาชนคนธรรมดาที่ใช้สิทธิในความเป็นราษฎรเต็มขั้นซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ จ่ายเงินแล้ว ได้ตั๋วอยู่ในมือแล้ว แต่ที่นั่งกลับหายไปเสียนี่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนจากการบินไทย ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน คุณปัทมาถามว่าจะเรียกร้องอะไรได้มั้ย ได้สิครับอย่างแรกก็คือ ขอคำชี้แจงจากการบินไทยว่าทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์การบริการที่ประทับใจแบบนี้ขึ้นได้ อย่างที่สองคือ ค่าโดยสารส่วนเกินที่ได้จ่ายไปสำหรับที่นั่งชั้นธุรกิจแต่กลับได้บินไปกับที่นั่งชั้นประหยัด ซึ่งการบินไทยจะต้องคืนให้กับผู้โดยสารในช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียหายเขาประสงค์ และอย่างที่สามก็คือ เรื่องความเสียหายทางด้านจิตใจที่การบินไทยจะต้องพิจารณารับผิดชอบด้วย ก็แหมผู้โดยสารเขาอุตส่าห์ซื้อตั๋วและจ่ายเงินกับการบินไทยแท้ๆ กลับทำที่นั่งเขาหายไปเฉยๆ จะไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างไรข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงการบินไทยให้เรียบร้อยแล้วนะครับ โปรดรอผลตอบรับจากการบินไทยโดยพร้อมเพรียงกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์

เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้” “เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน” คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอทีแนวทางแก้ไขปัญหาข่าวที่คุณจิรอรได้อ่านคงเป็นข่าวนี้ครับ ...เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือนมตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นอย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อนข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 ทางด่วน ที่ไม่ด่วน แล้วจะให้ทำยังไง

ถึงเทศกาล การเดินทางกันอีกแล้วละพี่น้อง และเมื่อต้องเดินทางคงหนีไม่พ้นถนนใช่ไหม วันนี้เลยมีเรื่องถนนมาเล่าสู่กันฟัง พอดีเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปบางแสน จังหวัดชลบุรี แนะๆ คิดว่าไปเที่ยวล่ะซิ เปล่า…เลย ไปประชุมต่างหาก พอดีที่นั่นมีชาวบ้านเขาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม จึงไปจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเชิงระบบในภาพรวม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป แต่คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จากการที่ถูกเชิญจึงทำให้ต้องเดินทางไปจากสมุทรสงคราม ซึ่งหนีไม่พ้นคือต้องขึ้นทางด่วนที่ดาวคะนองเพื่อมุ่งหน้าไปบางนาแล้วผ่านไปยังบางแสน ขาไปก็ไม่รู้สึกอะไร เสียค่าทางด่วนที่ดาวคะนอง 45 บาท เจออีกด่านก็รับบัตร ไปเสียเงินด่านหน้า อีก 65 บาท รวมเป็น 110 บาท มามีเรื่องเอาขากลับ วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552 (กลับทางเดิม) เริ่มต้นเข้าทางด่วนก็รับบัตร เพื่อไปเสียเงินด่านหน้า พอถึงด่านเวลาบ่าย 3 โมงกว่าๆ พอส่งบัตรให้ เจ้าหน้าที่บอกเราว่า เสียค่าผ่านทาง 105 บาท เราก็นึกในใจว่า “โอ้โฮ...ขากลับเสียเงินมากกว่าตอนขาไปอีก ทางก็เท่ากันทำไมเก็บไม่เท่ากัน” แต่ก็ต้องจ่ายไปนั่นแหละใช้ทางเขาแล้วนี่… แล้วก็ขับรถต่อไประยะทางไม่ไกลนัก ก็เริ่มเห็นความหนาแน่นของรถข้างหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าติดขัด ขยับไม่ได้ เราก็คิดว่าข้างหน้าต้องมีอุบัติเหตุแน่ๆ เลย ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นเกือบ 20 นาที (หงุดหงิดบอกตรงๆ ก็อากาศมันร้อนจัดนี่) รถขยับไปทีละนิดถึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้รถติดเพราะข้างหน้ามีด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร เสียก็เสียซิจะเป็นไรไป แต่พอจ่ายเงินลมออกหูเลยท่านผู้อ่าน ก็จะไม่ให้โมโหได้ไงมันมีด่านไว้เก็บเงินแค่ 5 บาท ดู่ดู๊....ดูเขาทำ... 5 บาทเนี่ยนะ...ที่มันทำให้เราต้องเสียเวลาตั้งมากตั้งมายเสียน้ำมันอย่างน้อยก็ 2 ลิตร เกือบ 50 บาท เพื่อให้เขาเก็บเงินเราเพียง 5 บาท ท่าจะบ้าไปแล้ว…อันนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า “ธุรกิจทางด่วนไม่ได้สนอกสนใจความรู้สึกของผู้ใช้บริการเล้ย...จริงๆ” เห็นแต่ผลประโยชน์ของตนเองชัดๆ เราเคยหงุดหงิดว่าก่อนลงงามวงค์วาน มีด่านเก็บเงิน 10 บาท แต่นี่ 5 บาทก็เอา ทำไมไม่เก็บรวมไปเลยเรายอมเสียอยู่แล้ว ดูซิอ้างเรื่องสัญญาว่ากี่ปีมีสิทธิขึ้นค่าผ่านทาง ถึงเวลาก็ขึ้นเลย อ้างสัญญาตลอด แต่ในสัญญา(ที่แอบรู้มา) ระบุว่าในแต่ละ1 เดือนจะมีรถขึ้นทางด่วน 200,000 คัน เอาเข้าจริงเป็นล้านคัน จำนวนรถที่เกินก็เก็บเงินเพิ่มมหาศาลแล้ว แถมยังขึ้นค่าผ่านทางได้อีก ท่านผู้อ่านคิดดูนะว่าทำไมเราต้องยอม เขาจะขึ้นค่าผ่านทางเราก็ยอมเขาพอใจจะตั้งด่านเก็บเงินตรงไหนเราก็ยอม คนจ่ายตังค์อย่างเราไม่เคยมีส่วนร่วมด้วยเลย มีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เขาไม่มีเราเขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ทางด่วนมีอิสระมากในการบริหารจัดการเหมือนไม่มีหน่วยงานใดดูแลอยู่เลย คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งรัฐมนตรีรัฐมนโท รวมถึงข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราทั้งหลายไปไหนกันหมด ยังมีความสุขดีกันอยู่ไหม ตื่นๆๆๆๆ มาทำงานกันบ้าง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคต้องออกมาโวยหรือรออยู่จะได้จัดให้.... ที่ฮึ่มกันอยู่นี่ยังไม่พอใช่ไหมจ๊ะ ราด-ทะ-บาน-ปะ-ชา-ทิ-ปาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่า

การลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภค

จากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้

เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่

“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส  ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถ

คุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ” เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น “จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ “ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที” “เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก  แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กล้องอัจฉริยะใช้ 6 เดือน ซ่อม 6 เดือน

กล้องถ่ายรูปที่ดีไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้เท่านั้น แต่คุณภาพบริการหลังการขายของผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตสินค้าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 คุณจุฑามาศสาวน้อยผู้รักการถ่ายภาพ ได้ไปเดินหาซื้อกล้องถ่ายรูปที่แผนกขายกล้องของห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี แล้วมาปิ๊งกับกล้อง แกรนด์วิชชั่น รุ่น s.50z ที่คุณจุฑามาศเข้าใจว่าเป็นของบริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ(ไทยแลนด์) จำกัด ผ่านมาได้ 6 เดือน อยู่ดี ๆ ขาขั้วแบตเตอรี่ของกล้องเกิดหักขึ้นมาทำให้เปิดใช้เครื่องไม่ได้ จึงนำกล้องถ่ายรูปกลับไปที่แผนกขายกล้องที่ห้างบิ๊กซี ราชบุรี ด้วยความชีช้ำหวังจะให้เวิลด์ไวด์อิมเมจรับซ่อมกล้องให้ คุณจุฑามาศกลับมาบ้านพร้อมกับใบรับซ่อมที่ระบุข้อความที่ดูเหมือนจะเป็นข้อสัญญาว่า กรณีที่มีอะไหล่จะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 เดือน ส่วนในกรณีที่ไม่มีอะไหล่ ต้องรออะไหล่อาจใช้เวลานาน 3-4 เดือน คุณจุฑามาศเฝ้ารอสัญญาณผลการซ่อมตั้งแต่ต้นฝนจนเข้าต้นหนาวเดือนพฤศจิกายนกล้องสุดที่รักก็ยังไม่กลับมาเสียที จึงได้โทรติดต่อกลับไปที่บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจฯ จึงได้รับแจ้งข่าวดีว่าจะจัดส่งสินค้ามาทางไปรษณีย์ประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะได้รับ แต่ข่าวร้ายที่พ่วงตามมาคือ บริษัทแจ้งว่าความเสียหายของกล้องที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของเจ้าของกล้องเอง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ต้องเสียค่าซ่อมที่ประมาณ 1,000 บาท “นี่ถ้าดิฉันไม่โทรไปถามก็ไม่รู้ว่าจะได้กล้องคืนมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้กล้องตามที่บอกเลย สอบถามศูนย์ซ่อมกล้องหลายแห่ง บอกว่าราคาซ่อมน่าจะอยู่ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น ถ้ามีอะไหล่ก็เปลี่ยนได้เลย หรือดัดแปลงได้ไม่น่าใช้เวลานานขนาดนี้.... เบื่อทวงเสียความรู้สึก รอจนหง่อมแล้วค่ะ....แล้วยังจะต้องมาเสียค่าซ่อมขนาดนี้ด้วยเหรอคะ” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายสอบถามไปที่บริษัทเวิลด์ไวด์อิมเมจ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อติดตามกล้องให้กับคุณจุฑามาศ ซึ่งได้รับคำตอบจากทั้งสองบริษัทในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่การซ่อมกล้องล่าช้าใช้เวลานานมากเนื่องจาก บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ นั้นความจริงแล้วไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง เป็นแต่เพียงบริษัทที่ไปรับซื้อกล้องดิจิตอลจากผู้แทนจำหน่ายกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องหมายการค้าต่างๆ อีกทีหนึ่ง แล้วนำมาฝากขายให้กับห้างบิ๊กซีทุกสาขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งกล้อง แกรนด์วิชชั่น ที่คุณจุฑามาศซื้อไปนั้นแกรนด์วิชชั่นซื้อมาจากบริษัท อัลฟ่าบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อสินค้าชำรุดก็เลยต้องส่งต่อกันเป็นทอดๆ ระยะเวลาการซ่อมจึงขึ้นกับตัวแทนจำหน่ายว่าจะสามารถซ่อมได้เอง มีฝ่ายซ่อม หรือมีอะไหล่ของสินค้ารุ่นนั้น ๆ อยู่หรือไม่ กล้องยี่ห้อที่มีลูกค้าซื้อเป็นจำนวนมากมักจะซ่อมได้เลย แต่บางยี่ห้อต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องส่งสินค้ากลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นจึงทำให้ใช้ระยะเวลาในการส่งสินค้าซ่อมค่อนข้างนาน กรณีของคุณจุฑามาศเวิลด์ไวด์อิมเมจได้ส่งสินค้าให้ผู้แทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และได้รับสินค้าที่ซ่อมเสร็จคืนมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และส่งต่อไปให้ห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี เมื่อ 13 ธันวาคม 2551 ท้ายสุดทั้งสองบริษัทได้กล่าวขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนคุณจุฑามาศได้รับกล้องคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องเสียค่าซ่อมตามที่เคยถูกเรียกมา เฮ้อ รวมระยะเวลาที่กล้องเครื่องนี้ต้องบินไปเข้าอู่ร่วม 6 เดือนครับ สงสัยเขาจะส่งไปทางเรือ...ยังไงๆ ก็ช่วยปรับปรุงกันหน่อยครับเพื่อภาพพจน์ที่ดีของบริษัทจะได้ยั่งยืนตลอดไปนิรันดร์กาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภท 8 ปี

ป้าจินตนา เป็นผู้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ถนนปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเปิดบ้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 หรือร่วม 8 ปีเศษเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาก็แปลกใจตลอดว่าทำไมค่าน้ำถึงแพงจัง ใช้แค่ล้างจานชามอาจจะมากกว่าการใช้น้ำตามบ้านเรือนทั่วไปแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เมื่อเอาค่าน้ำของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ได้แต่สงสัยมาตลอดว่าทำไมค่าน้ำของตัวเองถึงสูงมาก แต่ก็ทนจ่ายมาตลอด จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำที่คาดว่าน่าจะถูกลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลต้นไม้หน้าบ้านแต่ค่าน้ำกลับแพงกว่าเดิม ก้มดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้มันก็ไม่ได้บอกอะไรนอกจากจำนวนเงินค่าน้ำและ 373 ที่ระบุว่าเป็นประเภทการใช้น้ำ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะคำแนะนำที่อยู่ด้านหลังใบแจ้งหนี้ให้ความหมายสำหรับตัวเลขของประเภทผู้ใช้น้ำไว้ว่า 1= ที่อยู่อาศัย 2 = ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก 3 = รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ 4 = ประเภทพิเศษ ป้าจินตนาจึงถือใบแจ้งหนี้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์รับเงินว่าเลข 373 นี่มันคืออะไร ได้รับคำตอบว่า เป็นการเรียกเก็บค่าน้ำประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ ป้าจินตนาก็ตกใจเพราะที่ทำอยู่มันก็แค่ร้านอาหารตามสั่งอย่างเก่งก็แค่ธุรกิจขนาดย่อมเท่านั้นแหละ “ฉันก็ถามเขาไปว่า ใครเป็นคนตัดสินใจแทนเจ้าของบ้านว่าจะให้บ้านนั้นบ้านนี้ไปใช้น้ำประเภทไหน เพราะฉันไม่เคยมาแจ้งเปลี่ยนมาก่อน เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองใช้น้ำประเภทบ้านอยู่ แต่เชื่อมั้ยคะ คำตอบที่ได้รับยิ่งทำฉันฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะเขาบอกว่า คนจดมาตรน้ำเป็นคนจัดการ”  ป้าจินตนาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง จึงขอเปลี่ยนประเภทน้ำใช้ไปเป็นธุรกิจขนาดเล็กตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และขอเรียกร้องเงินค่าน้ำที่ได้จ่ายเกินไปกว่า 8 ปีคืน “ฉันเคยเข้าพบผู้จัดการแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเพราะบ่ายเบี่ยงไปมาบอกว่าไม่รู้จะทำยังไงได้ ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังรับเรื่องร้องเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายส่งถึงผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการสำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน โดยมีข้อร้องเรียนอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้ชดใช้ค่าเสียหายหากตรวจสอบพบแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของการประปาแม่ฮ่องสอน 2. ห้แก้ไขหรือชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขผู้ใช้น้ำแต่ละประเภทที่ทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความสับสน ปรากฏว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกป้าจินตนาไปเจรจาโดยบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้โดยพลการนั้นรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ 3,000 บาทและขอให้ยุติเรื่อง ป้าจินตนาไม่ยินยอมเพราะเข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมาตั้ง 8 ปีแล้วค่าเสียหายน่าจะมากกว่านี้ เมื่อไม่เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ จึงต้องทำจดหมายถามย้ำไปอีกรอบ ทีนี้ได้เรื่องครับ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ได้มีหนังสือชี้แจงถึงผลการดำเนินการตรวจสอบว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน จัดประเภทผู้ใช้น้ำให้แก่ป้าจินตนาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 (เดือนที่ป้าจินตนาทราบเรื่องและขอเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำเป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องเรียกเก็บในประเภทที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 243 ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกเก็บเป็นประเภท 3 ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัส 373 เนื่องจากเข้าใจว่า เป็นสถานบริการเพราะมีเครื่องเสียงไว้บริการให้ลูกค้าได้ร้องเพลง สรุปว่าป้าจินตนาถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภทไป 5 ปี ซึ่งในขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคกำลังพิจารณาคำนวณค่าน้ำประปาที่เก็บเกินเพื่อคืนให้กับป้าจินตนาอยู่ ส่วนเรื่องตัวเลขรหัสแสดงประเภทผู้ใช้น้ำที่ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้แจงว่า ในด้านหน้าใบเสร็จจะเป็นเลขรหัสประเภทผู้ใช้น้ำแสดงไว้ 3 หลัก คือ หลักร้อย มีเลขรหัส 1 ถึง 4 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำว่าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัสนี้ใช้สำหรับการคิดค่าน้ำประปาในอัตราที่ต่างกัน หลักสิบ มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำหลักเป็นการแสดงลักษณะการประกอบการของสถานที่ใช้น้ำ หลักหน่วย มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ลำดับที่ในประเภทผู้ใช้น้ำย่อย ซึ่งแสดงรายละเอียดของลักษณะการใช้น้ำของสถานที่ประกอบการ ส่วนในด้านหลังใบเสร็จรับเงินนั้นจะบอกเฉพาะความหมายของเลขรหัสหลักร้อยว่าหมายถึงผู้ใช้น้ำประเภทใดเท่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงมาถึงบางอ้อ นี่ถ้าการประปาภูมิภาคไม่ชี้แจง ไม่ยอมบอกความหมายของเลขรหัสให้ได้ทราบกันนี่ ผู้บริโภคก็คงงมจ่ายค่าน้ำไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางแบบป้าจินตนากันเป็นแถวล่ะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >