ฉบับที่่ 135 รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ

คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป“วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้”“ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด”สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอกสถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว“หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ”“เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติกสามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง”คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลังคุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!”“ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้งหลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วยทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาทคุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไปสาธุ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 ลูกค้าโนเกียโวย ศูนย์ซ่อมไม่เก็บข้อมูลในเครื่องให้

คุณเบญญภา สาวใหญ่เมืองลำพูนเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ไปที่ศูนย์โนเกียแคร์ ซื้อโทรศัพท์มือถือโนเกีย C3 ในราคา 3,900 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554ใช้ได้ประมาณ 4 อาทิตย์ อาการออกอ่าว โทรหาเพื่อนหาลูกค้า โทรติดแต่คนที่รับสาย เอาแต่พูดว่า “มีหยัง...บ่ได้ยิน” “อู้หยังบ่ฮู้เรื่องเลย”  “ฮู้...โทรมายะหยัง โทรแล้วบ่ยอมอู้” “ว่างก๊ะ ถึงโทรมาเล่นกัน”คุณเบญญภา พยายามตะโกนใส่โทรศัพท์เท่าไร คู่สายฝั่งตรงข้ามก็ยังไม่ได้ยิน สุดท้ายเหมือนคนที่ถูกสังคมหยามเหยียดโทรหาใครก็ถูกวางสายหมด เสียค่าโทรฟรีๆ ไปหลายบาท จึงตัดสินใจนำโทรศัพท์มือถือออกใหม่ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ เชียงใหม่ ตามสัญญารับประกัน“ดิฉันได้แจ้งอาการเสียของมือถือที่โทรออกแต่คู่สายไม่ได้ยินให้กับพนักงานศูนย์ฯ ทราบ ก่อนส่งซ่อมพนักงานได้สอบถามว่า ในเครื่องมีข้อมูลสำคัญหรือไม่ ดิฉันได้ระบุชัดเจนว่า เป็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าประมาณ 400 เลขหมาย เพราะดิฉันเพิ่งเปลี่ยนเครื่องยังไม่ได้เก็บข้อมูลสำรองไว้ พนักงานจึงระบุในใบส่งซ่อมว่าไม่อนุญาตให้ข้อมูลหาย พนักงานแจ้งว่า โทรศัพท์มือถือมีอาการไมโครโฟนเสียจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 วัน และส่งสำเนาใบส่งซ่อมให้ดิฉันเก็บไว้แสดงในวันที่มารับสินค้าคืน”หลังจากส่งมือถือไปซ่อมที่ศูนย์ฯ ได้ 3 วัน กะว่าศูนย์ฯ น่าจะมือถือเสร็จแล้ว คุณเบญญภา จึงเดินทางไปรับเครื่องคืนที่ศูนย์โนเกีย ถนนมหิดล จ.เชียงใหม่ ได้พบกับพนักงานคนเดิมที่เป็นคนรับเครื่องไปส่งซ่อม“เอ้อ เครื่องยังไม่ได้ซ่อมเลยค่ะ รออะไหล่อยู่ คาดว่าน่าจะซักสามวันอะไหล่ถึงจะมา” พนักงานให้คำตอบที่น่าผิดหวัง “อ้าว แล้วทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกล่ะ เบอร์ที่ติดต่อก็ให้ไว้แล้ว น่าจะโทรไปบอกกันนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเสียค่ารถมา” คุณเบญญภากล่าวด้วยความฉุนเฉียว“คือที่ไม่ได้โทรไปแจ้งให้ทราบ เนื่องจากว่ายังไม่มีอะไหล่เนื่องจากโรงงานน้ำท่วมค่ะ” พนักงานศูนย์ฯ พยายามชี้แจง คุณเบญญภาฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ ที่น้ำท่วมเป็นทางออกของทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรมาก พอได้รับคำยืนยันว่าอีกสามวันน่าจะได้อะไหล่มาแล้วจะโทรไปแจ้งบอกแน่ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว คุณเบญญภาจึงเดินทางกลับหลังจากนั้นอีกสามวัน หรือเป็นวันที่เจ็ดหลังจากส่งเครื่องซ่อม พนักงานของศูนย์ฯ คนเดิมได้โทรแจ้งคุณเบญญภาว่าซ่อมไมโครโฟนของเครื่องมือถือเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มารับเครื่องได้ แต่ข่าวร้ายที่ได้รับคือ ข้อมูลในเครื่องทั้งหมดหายไป“เหมือนกับว่าที่ดิฉันกำชับเรื่องนี้ไปเป็นเรื่องตลก และให้ดิฉันจำยอมไปรับของที่ไม่เหมือนเดิมคืนมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”“ดิฉันผิดหวังในการบริการมาก และพยายามเจรจากับทางพนักงานฝ่ายซ่อมของศูนย์ฯ ว่า ข้อมูลนั้นสำคัญมากพยายามกู้คืนมาให้ได้ และควรที่จะคืนเครื่องให้ดิฉันในสภาพที่สมบูรณ์” คุณเบญญภาเรียกร้อง แนวทางแก้ไขปัญหาคุณเบญญภา ได้ประเมินค่าความเสียหายของตนเองที่ต้องสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการติดต่อไปมาหลังการซ่อมมือถือเป็นเงิน 8,000 บาท และได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่ ส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ จ.เชียงใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 4 มกราคม 2555 อีกสองวันต่อมาเราจึงโทรติดต่อไปที่ศูนย์โนเกียร์แคร์เชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงจากผู้จัดการศูนย์ฯ ว่า ได้ชี้แจงกับลูกค้าแล้วว่า การพยายามกู้ข้อมูลคืนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ คุณเบญญภา จึงเสนอกับศูนย์ฯ ว่า หากกู้ข้อมูลไม่ได้ก็ให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนตัวเครื่องให้ใหม่ เป็นเครื่องรุ่นเดิม และต้องการภายในวันนั้น ซึ่งศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ต้องรอประมาณ 12 วัน อยากให้มูลนิธิฯช่วยเป็นคนกลางเจรจากับผู้ร้องเรียนด้วยหลังได้รับคำชี้แจงเราจึงโทรกลับไปหาคุณเบญญภาในวันเดียวกัน เพื่อขอคำยืนยันว่าต้องการให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ใช่หรือไม่ คุณเบญญภาแจ้งยืนยันว่าเป็นไปตามที่ศูนย์ฯ ได้ชี้แจงมา คือให้เปลี่ยนเครื่องใหม่แต่รุ่นเดิม และต้องเป็นสีดำ สีอื่นไม่เอา เมื่อได้รับคำยืนยันเราจึงติดต่อกลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีรับชดใช้ให้ตามคำขอของผู้ร้อง แต่ขอเวลาในการตั้งเรื่องเบิกงบจัดซื้อเครื่องใหม่ให้กับผู้ร้องประมาณสองอาทิตย์“เมื่อวานนี้ ได้รับ C3 เครื่องใหม่มาแล้วเป็นสีดำ ตอนแรกโทรศัพท์ใหม่นี้โทรออกไม่ได้ และโทรเข้าไม่ได้ เนื่องจากไม่มีสัญญาณ แต่ทางโนเกียได้แก้ไขให้อยู่ค่ะ โดยปรับปรุงซอฟแวร์ให้ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ใช้ได้ตามปกติเป็นเครื่องใหม่จริง ชดเชยให้ที่ซ่อมเครื่องเก่าสีชมพูที่ได้รับความเสียหาย ขอบพระคุณที่ทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีภายในเวลา 20 วัน”เป็นเมล์จากคุณเบญญภาที่เราได้รับด้วยความชื่นใจ และขอขอบคุณบริษัทโนเกียร์แคร์ สาขาเชียงใหม่ ที่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม

บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี“คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทักตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ”เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ“รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก“ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกันระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ“พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ”“คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย”“ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ”“เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู“นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผลคุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดูเซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต“โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน”“ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืนเซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้“หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!”“คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน“ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป“โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่”“ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม“อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร”คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก“ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ“เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ”“เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม“พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง“พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้”“เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาทการแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเราตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกันหลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด“ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ”“ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต”เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกันดาวโหลดจดหมายตัวอย่างยกเลิกสัญญา <<< คลิก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 เรื่องเพี้ยน ๆ ของค่าไฟฟ้า

ผู้บริโภคเป็นงง ระหว่างหม้อมิเตอร์กับการไฟฟ้า...ไม่รู้ใครเพี้ยนแน่ร้องมิเตอร์ไฟฟ้าเพี้ยน คิดค่าไฟสูงผิดปกติ แจ้งให้มาตรวจสอบ การไฟฟ้าบอกเพี้ยนจริงหม้อคิดค่าไฟฟ้าต่ำไป 3% ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่ยอมคิดค่าไฟใหม่เปลี่ยนบิลและลดค่าไฟฟ้าให้ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบ้านของคุณเพียรเงิน อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 500-600 กว่าหน่วย คิดเป็นเงินตกราวสองพันบาทต้นๆ“ที่บ้านก็มีคุณพ่อวัยแปดสิบ ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่หรอกค่ะ กับเด็กอีกหนึ่งคน เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ก็มีแอร์สองตัว ตู้เย็นสองตัว หม้อข้าว พัดลม ทีวี ก็ใช้ไฟตามปกติ ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเย็นๆ ค่าไฟก็อยู่ราวๆ เดือนละสองพันบาทต้นๆ ไม่เคยขึ้นไปถึงสามพัน”“พอมาในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 53 ตกใจมากค่ะ ใบแจ้งค่าไฟปาเข้าไปตั้งแปดพันบาท บอกว่าบ้านเราใช้ไฟไปถึง 1,982 หน่วย ไม่อยากจะเชื่อค่ะ เพราะเคยใช้กันแค่ 500-600 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ก็เลยรีบไปแจ้งเรื่องไปที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน”การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแจ้งผลกลับมาว่า ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานมาติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เครื่องวัดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านคุณเพียรเงินแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงต้องเปลี่ยนเครื่องวัดให้ใหม่ ส่วนค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อน การไฟฟ้านครหลวงจะคิดค่าไฟฟ้าเพิ่มเดือนละ 3.03% ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จนถึงวันเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ เจอคำตอบของการไฟฟ้ากลับมาเช่นนี้ คุณเพียรเงินเลยเซ็งไปใหญ่ ร้องเรียนไปว่าค่าไฟฟ้าสูงผิดปกติ แต่มาตรวจสอบแล้วดันบอกว่าค่าไฟฟ้าต่ำเกินจริง เลยไม่รู้จะทำยังไง ปล่อยให้การไฟฟ้าส่งคนมาเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ให้ใหม่ ส่วนค่าไฟก็ยังค้างจ่ายกันอยู่เพราะเคลียร์กันไม่ได้ เรื่องล่วงเลยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน 2554 มีบิลค่าไฟฟ้าแจ้งมาโดยมีหน่วยการใช้อยู่ที่ 848 หน่วยเท่ากันทั้งสองเดือน ก็เลยสงสัยว่าทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้ายังสูงอยู่และเท่ากันทั้งสองเดือนแบบนี้ สอบถามพนักงานการไฟฟ้า ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การไฟฟ้าใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบประมาณการ เพราะมิเตอร์ที่ติดใหม่อยู่สูงเกินไปไม่สามารถปีนขึ้นไปดูตัวเลขได้คุณเพียรเงินไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่กระจ่างชัดดังกล่าว เลยโทรศัพท์มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องจริงเท็จเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือสอบถามไปที่ผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน              และพ่วงจดหมายเนื้อความเดียวกันส่งไปที่ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2554ปลายเดือนกันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มาทำเรื่องขอตรวจสอบเครื่องวัดฯ ผิดปกติที่การไฟฟ้านครหลวงเขตสามเสน และแผนกตั้งเทียบเครื่องวัดฯ การไฟฟ้านครหลวงเขตวัดเลียบ ได้ตั้งเทียบเครื่องวัดฯ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 ผลจากการตรวจสอบเครื่องวัดฯ ตั้งเทียบ พบว่า เครื่องวัดฯ ชำรุด แสดงค่าคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องวัดฯใหม่และแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าให้ถูกต้อง จาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  โดยใช้หน่วยเฉลี่ยจากเครื่องวัดฯใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2554 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 การไฟฟ้านครหลวง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเลขอ่าน พบว่าสภาพเครื่องวัดฯใช้ไฟได้ปกติ จึงขอยืนยันว่า เลขอ่านและหน่วยการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว(ของเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2554) ถูกต้องแล้วผลของการแก้ไขใบแจ้งค่าไฟฟ้าจาก 1,982 หน่วย เป็น 792 หน่วย  ทำให้เงินค่าไฟที่จะต้องจ่ายในเดือนธันวาคม 2553 จาก 8,080.30 บาท ลดลงเหลือ 3,109.98 บาท หรือลดลงไป 4,970.32 บาทปัญหาการถูกคิดค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนจากการใช้จริง โดยที่การไฟฟ้าใช้วิธีประมาณการเอาจากเดือนอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้ามาเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาพอากาศหรือฤดูกาลที่แตกต่างกันก็ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าแตกต่างไปด้วยแม้จะเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดเดียวตัวเดียวกันก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง สมควรที่หน่วยงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะต้องนำไปพิจารณาสร้างระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่มีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ทำงานเป็นทีม “กินรวบพลังงานไฟฟ้า”

บรรยากาศที่แสนร้อนของปีนี้ ผ่อนคลายลงได้ เมื่อหลายคนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน และได้สัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำที่สาดใส่กัน ณ เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา   ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของความสุขสนุกสนาน ซึ่งหลายคนอยากเก็บช่วงเวลานั้นไว้นานๆ   แต่เมื่อเทศกาลจบลง  ชีวิตก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง   ณ ช่วงเวลาที่แสนร้อนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ไฟฟ้า และการขึ้นราคาค่า Ft นั่นเองหากย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ก็จะได้เห็นข่าว ผู้บริหารกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าว  เรื่องการใช้ไฟฟ้า ว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากทำลายสถิติของปีที่ผ่านถึง 2  ครั้ง ในเดือนมีนาคม  และก็มีข่าวมาจาก กฟผ. ออกมาว่าไฟฟ้าอาจจะไม่พอใช้  เพราะมีโรงไฟฟ้าหลายโรงปิดซ่อมบำรุง ในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน   จากนั้นก็มีการออกมาให้ข่าวเพิ่มเติมว่า  เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอาจขาดแคลนเพราะ พม่าจะปิดหลุมก๊าซ เพื่อซ่อมบำรุงช่วงนี้เช่นกัน  คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.)ก็ออกมารับลูกทันที โดยให้ข่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาจต้องทบทวนการขึ้นราคาค่า Ft  โอ้โห...เห็นไหมว่าสถานการณ์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ มันช่างน่ากลัวจริงๆ   กลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เกือบจะตกเป็นจำเลยสังคมกันไปตามๆ กันนั่นเป็นข้อมูลที่ฝ่ายพลังงานออกมาให้ข่าวฝ่ายเดียวผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำแผน  PDP 2010  ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ จัดขึ้น โดยมีการเชิญ รมต.ว่าการกระทรวงพลังงาน  ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกกพ. มาชี้แจงข้อร้องเรียน ซึ่งทุกองค์กรส่งตัวแทนมา(ตัวจริงไม่มีใครมา) ทำให้ความจริงเปิดเผยในหลายเรื่อง เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน  เป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามากทำไมจึงมาปิดซ่อมบำรุงช่วงนี้  ทำไมไม่ไปซ่อมบำรุงในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าปกติ ไม่มีคำตอบ และที่ว่าพม่าปิดหลุมก๊าซเพื่อซ่อมบำรุง เป็นไปได้อย่างไร  ในเมื่อหลุมก๊าซนั้น ปตท.ได้สัมปทานการขุดเจาะจากพม่า(เหมือนบริษัทเชฟล่อนมาเจาะก๊าซ+น้ำมันในบ้านเรา) ดังนั้นการจะปิดซ่อมหรือไม่ซ่อม สิทธิอยู่ที่ ปตท. ไม่ใช่ประเทศพม่า เหมือนที่มีข่าวออกมา ไม่มีคำตอบเช่นกัน ที่น่าแปลกคือหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รู้ข้อมูลนี้  แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลจริง  แต่กลับปล่อยให้มีการปล่อยข่าว โยนขี้ให้พม่า โดยที่ ปตท.ซึ่งเป็นตัวการปิดซ่อมในช่วงเวลาคับขัน ลอยนวล  เมื่อถามถึงการปรับปรุงแผนพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) ว่า มีการปรับปรุงอย่างไร ขบวนการเอื้อเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนหรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบอะไรที่ชัดเจน (เหมือนเดิม) แต่กระบวนการปั่นข่าวจากฝ่ายบริหารพลังงานก็ยังดำเนินต่อไป  และสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2555 กกพ.ก็มีมติให้ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า(Ft) อีกหน่วยละ 40 สต. โดยที่คนใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ มีหน้าที่ต้องจ่ายอย่างเดียว   โดยที่ไม่รู้ข้อมูลจริงว่าที่ต้องขึ้นราคาไฟฟ้าเพราะเหตุอันใดส่วนฝ่ายการเมืองก็พึ่งไม่ได้  เพราะไม่มีพรรคไหน  หือ....อือ...กับเรื่องนี้   มัวแต่อุตลุดอยู่กับการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ    ผู้เขียนที่พอรู้ข้อมูลบ้างก็รู้สึกอึดอัดคับข้องไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร(คงต้องพึ่งกันเอง)  ก็ได้แต่เขียนระบายเพื่อเล่าสู่กันฟัง  แต่ขอบอกไว้ว่าเราจะไม่นิ่งเฉย  และจะเดินหน้าแฉ...ขบวนการเอาเปรียบผู้บริโภคให้สังคมได้รับรู้ให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะทำได้  ซึ่งเครือข่ายประชาชนกำลังร่วมกันจัดทำแผน PDP2012 ภาคประชาชน   ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับแผนของกฟผ.เพื่อป้องปรามมิให้  กฟผ.กินรวบพลังงานไฟฟ้าอย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กสทช. ออกคำสั่งห้ามตัดสัญญาณบัตรเติมเงิน

หลังจากรอให้เกิด กสทช. มานานเกือบ 15 ปี วันนี้มีแล้ว และได้เริ่มปฏิบัติงานมาแล้วเกือบ 5 เดือน อาจถือได้ว่าเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ กสทช.ยังชุลมุนอยู่กับ การจัดทำแผนแม่บท ทั้งเขียนทั้งรับฟัง เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนแต่ในช่วงชุลมุนนี้ กสทช.ก็ยกมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการบังคับใช้ประกาศของ กทช.เดิมไม่ได้(ยกเว้นกสทช.มีประกาศในเรื่องเดียวกันที่ดีกว่าออกมาบังคับใช้เสียก่อน) โดยเฉพาะประเด็น การกำหนด ระยะเวลาการให้บริการบัตรเติมเงิน ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน จนอาจารย์อนุภาพ ถิรลาภ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายฟ้องคดีนี้ต่อศาล นำไปสู่การมีคำสั่งของศาล ช่วงปลายปี 2554 ให้ กทช.เร่งดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของ กทช.ภายใน 90 วัน(หลังจากศาลตัดสินเป็นที่สุด) และคำสั่งดังกล่าวคาบเกี่ยวตั้งแต่ กทช.ที่กำลังหมดวาระ จนมาถึง กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 5 เดือน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ขยับผู้เขียนในนามประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อกระตุ้นให้ กสทช.บังคับใช้(ประกาศ กทช) ซึ่งส่งผลให้ กสทช. นัดให้ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาหารือกันถึงการแก้ปัญหาการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ในระยะยาว ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีข้อสรุปให้ฝ่ายผู้ให้บริการไปคำนวณต้นทุนและให้หาข้อสรุปร่วมกันภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หารือกัน โดยในวันนั้น “กสทช.สุทธิพล ทวีชัยการณ์ พูดชัดเจนว่า ขณะนี้ กสทช.ได้บังคับใช้ ประกาศมาตรฐานสัญญาข้อ 11 แล้วโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจะไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ใครจะมาตัดวันเราไม่ได้” นั่นหมายถึงโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกเจ้าไม่มีสิทธิตัดการใช้บริการผู้บริโภคได้อีกแล้ว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกันใหม่ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจตัดการให้บริการอยู่ เรื่องนี้ยืนยันเห็นจริงปฏิบัติจริงมากับมือ เหตุมีอยู่ว่ามีคนมาหารือกับผู้เขียนว่า ตนเหลือเงินอยู่ในโทรศัพท์ 400 กว่าบาท แต่โทรออกไม่ได้ โดยมีการแจ้งว่าสาเหตุมาจากผู้ให้บริการว่าวันหมด ผู้เขียนจึงให้น้องโทรประสานไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทนั้น และได้แจ้งว่าบริษัทกำลังละเมิดคำสั่ง กสทช. ที่ห้ามตัดการใช้บริการ ก็ได้คำตอบมาว่า บริษัทได้ทำตามคำสั่ง กสทช.แล้ว โดยไม่ได้ตัดสัญญาณ เพราะเบอร์ดังกล่าว สามารถรับสายเข้าได้ปกติ แต่ไม่ให้โทรออกเท่านั้นเอง(ดูเขาทำ) น้องก็เถียงไปว่า กสทช.ห้ามตัดการใช้บริการทั้งโทรเข้าโทรออก ทำอย่างนี้ก็ขัดคำสั่ง กสทช.อยู่ดี เพราะเงินเรายังมีเราต้องใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาอย่างกำปั้นทุบดินว่า หากต้องการโทรออกได้ให้เอาเงินที่เหลือไปแลกวันมาก็จะสามารถใช้บริการได้ปกติต่อไป เจอเข้าไปแบบนี้ผู้ใช้บริการก็ได้แต่มึนไปไม่เป็นว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แนะนำให้โทรไปร้องทุกข์ที่สายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 เพื่อร้องเรียนผู้ประกอบการรายนี้ จนสามารถโทรออกได้ปกติและได้วันฟรีมา 1 ปี เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังอยู่ในระยะเวลาของการหารือจึงยังมิได้ดำเนินการทางกฎหมายหลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2555 หากใครถูกจำกัดการใช้บริการด้วยเหตุวันหมด สามารถเดินขึ้นไปบนศาลจังหวัด ขอฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันทีทุกศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อ้อ... หากจะฟ้องนอกจากบริษัทผู้ประกอบการแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องฟ้อง กสทช.ด้วย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับ แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความสามารถกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติการคำสั่งได้ เพราะ กสทช.มีอำนาจสั่งปรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.ได้ พวกเราผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้องค์กรกำกับทำหน้าที่ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ร้องข้าวเกรียบโครงการหลวง ฉลากวันหมดอายุซ้อนทับ

คุณพชร ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวง สูตรแครอท ที่ร้านโครงการหลวง สาขาคิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณภูมิ“ราคาห่อละ 25 บาทครับ ก็เปิดถุงมานั่งกิน ระหว่างนั่งกินก็ดูรูปประกอบ ดูข้อมูลต่างๆ ที่แสดงอยู่ตามข้างถุงไปเรื่อย ผมมาสะดุดมือสะดุดตาตรงสติ๊กเกอร์ที่แปะแสดงวันผลิต วันหมดอายุครับ แกะออกมาดูมันมี 2 อันแปะทับกันอยู่”สติ๊กเกอร์อันบนระบุวันผลิตไว้ที่ 05/12/54 วันหมดอายุ 05/01/55 ส่วนอันที่ถูกแปะทับปิดไว้ ระบุวันผลิตเป็นวันที่ 25/11/54 วันหมดอายุ 25/12/54 วันที่คุณพชรซื้อข้าวเกรียบห่อนี้นั้นคือวันที่ 10 ธันวาคม 2554“ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ทั้งสองฉลากก็ตาม แต่ก็ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแล้ววันผลิตวันหมดอายุที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่”นอกจากนี้ คุณพชร ยังสังเกตพบว่า มีการนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่าสูตรแครอท มาแปะทับบนบรรจุภัณฑ์แต่ว่าไม่มีการระบุรายละเอียดในส่วนประกอบหลังบรรจุภัณฑ์ว่ามีแครอทผสมในสัดส่วนเท่าไหร่“ผมว่าการแสดงฉลากแบบนี้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อยากจะให้มูลนิธิฯ ช่วยประสานไปยังผู้ผลิตให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 การที่อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ถือว่าเป็นอาหารปลอม ห้ามผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทด้วยการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง มูลนิธิโครงการหลวงในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย ให้ช่วยกันตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมา โดยมีข้อชี้แจงที่สำคัญดังนี้ประเด็นที่ 1 การนำสติ๊กเกอร์วันผลิตแปะทับกันเนื่องจากพนักงานติดสติ๊กเกอร์วันผลิต (25/11/54) ที่ถุงในจำนวนที่เผื่อไว้ เมื่อถึงรอบการผลิตชุดใหม่ (05/01/55) พนักงานไม่ได้แกะสติ๊กเกอร์อันเดิมออกจากถุงที่เผื่อไว้ แต่แปะสติ๊กเกอร์อันใหม่ทับไป ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้ผลิตนำสินค้าเก่ามาติดวันผลิตใหม่ ซึ่งระบบการผลิตนั้น ผู้ผลิตจะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น โดยไม่มีการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ จึงไม่มีสินค้าที่เป็นชุดการผลิตเก่าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า อนึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการตักเตือนพนักงาน รวมทั้งอบรมกระบวนการทำงานให้พนักงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกประเด็นที่ 2 การนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า สูตร Carrot มาติดที่บรรจุภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวงมีทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรแครอท สูตรฟักทอง และสูตรเห็ดหอม ซึ่งการผลิตถุงอลูมิเนียมฟอยด์นั้นจำเป็นต้องสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบทั้ง 3 สูตร แต่จะมีสติ๊กเกอร์ที่มีการระบุสูตรติดไว้ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์แยกชนิดกันนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในการทำบล๊อกพิมพ์ และต้นทุนในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทั้งนี้ส่วนประกอบที่แจ้งในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนประกอบจริงของผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรแครอท ในส่วนประกอบระบุว่า มีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีแครอทเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% หรือ สูตรฟักทอง ในส่วนประกอบระบุว่ามีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีฟักทองเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตจะให้พนักงานขายชี้แจงให้ลูกค้าทุกรายเข้าใจถึงส่วนประกอบของผลิตผลโครงการหลวง“ฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ขอขอบพระคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณพชร เป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง)ได้รับทราบ ซึ่งทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง) จะนำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับการพิจารณาเยียวยาในความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ทางมูลนิธิโครงการหลวงจะขอมอบกระเช้าเป็นการตอบแทนในคำแนะนำ และขอโทษที่ทำให้คุณพชร เข้าใจผิด...”คุณพชรมีความพึงพอใจในคำชี้แจงและการดำเนินการที่ได้รับ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ขอบพระคุณมูลนิธิโครงการหลวงเป็นอย่างสูงต่อการใส่ใจในปัญหาของผู้บริโภคในครั้งนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ก้นบุหรี่ปริศนา ในขนมข้าวเกรียบกุ้ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2555 คุณชุตินันท์เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านที่ ต.แม่เปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงรายวันที่ 31 ธันวาคม 2554 คุณชุตินันท์ ได้เดินทางเข้าตัวอำเภอพญาเม็งรายเพื่อไปหาซื้อสินค้าเข้าร้าน และได้ซื้อขนมกรุบกรอบจากร้านนรารัฐพาณิชย์หลายรายการ ในจำนวนนั้นมีขนมกรุบกรอบ ชื่อข้าวเกรียบกุ้งจำนวน 12 ถุง ราคารวม 48 บาท“ก้อเอามาแบ่งขายที่ร้านค่ะ ขายถุงละ 5 บาท 12 ถุงก็ได้เงิน 60 บาท ได้กำไรอยู่ 12 บาทแต่ถ้าหักค่ารถค่าแรงไปด้วยก็คงจะไม่ถึง”“ซื้อมาวันที่ 31 ธันวาคม พอวันรุ่งขึ้น 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ก็มีคนในหมู่บ้านมาซื้อเลย เขาซื้อข้าวเกรียบกุ้งไป 1 ถุง แล้วก็ซื้อขนมกรุบกรอบยี่ห้ออื่นๆไปอีกหลายห่อ แต่พอตกตอนเย็นลูกค้าก็เอาขนมข้าวเกรียบกุ้งมาคืน บอกว่ามีเศษก้นบุหรี่ปนใส่มาอยู่ในถุงด้วย ขอเปลี่ยนเป็นขนมอื่นแทน ก็ต้องเปลี่ยนให้เขาไป”“เราเอาขนมมาดูอย่างละเอียด ซองไม่มีร่องรอยฉีกแกะ แต่ถุงขนมเป็นพลาสติกใส ก็เห็นเศษก้นบุหรี่ที่สูบแล้วปนมาในขนมด้วย ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็นเพราะสีและขนาดของก้นบุรี่ใกล้เคียงกับสีและรูปทรงของขนมข้าวเกรียบกุ้งมาก” หลังจากนั้นคุณชุตินันท์จึงได้นำขนมถุงดังกล่าวไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และได้ส่งขนมถุงนี้พร้อมภาพถ่ายและสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์อันอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือถึงห้างส่วนจำกัด วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ในฐานะผู้ผลิต และเจ้าของร้านนราพาณิชย์ในฐานะผู้จำหน่ายเพื่อขอให้ร่วมกันพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควร โดยส่งไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาที่มูลนิธิฯ ว่า ได้ตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นความผิดพลาดและเลินเล่อของพนักงานที่บรรจุข้าวเกรียบบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดูแลการบรรจุข้าวเกรียบลงในซองให้ถูกสุขลักษณะ ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการว่ากล่าว ตักเตือนพนักงานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยินดีเยียวยาค่าเสียหายให้แก่คุณชุตินันท์เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ทางหจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการเรียกเก็บคืนสินค้าชุดนั้นกลับจากร้านค้ามายัง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ แล้ว“ต่อไปนี้ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ จะดูแลการผลิตและการบรรจุให้เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่านี้”นอกจากจะดำเนินการตามที่ว่ามาแล้ว หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยังได้บริจาคเงินให้กับมูลนิเพื่อผู้บริโภคอีก 2,000 บาท จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 นมตรามะลิ ดูแลผู้บริโภคเกินร้อย

คุณนันทวัน เปิดร้านขายโยเกิร์ตสดและเต้าหู้นมสดแบบทำเองขายเอง เน้นสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูดเคล็ดไม่ลับในการผลิตโยเกิร์ตสดของคุณนันทวัน คือใช้นมข้นกระป๋องผสมกับนมสดเป็นส่วนผสม ตั้งแต่เปิดร้านทำโยเกิร์ตสดขายเธอเลือกใช้ นมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิมาโดยตลอ“ร้านเราไม่ใส่สารกันบูดค่ะ เลยต้องทำให้พอดีขายไม่เก็บไว้นาน นมข้นกระป๋องที่เอามาใช้ผสมกับนมสดก็เลยซื้อมาน้อย ใช้ยี่ห้อนี้มานานแล้วไม่เคยมีปัญหาค่ะจนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 คุณนันทวันพบปัญหาในนมข้นหวานตรามะลิที่ซื้อมาใช้ ครั้งนั้นคุณนันทวันซื้อมา 1 แพ็คจำนวน 6 กระป๋อง ดูวันหมดอายุแล้วระบุไว้ที่กลางเดือนธันวาคม 255“เหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาทำโยเกิร์ตสด เราจะเปิดฝากระป๋องด้านบนด้วยที่เปิดกระป๋อง แล้วเทนมข้นออกมาใส่ถ้วยเพื่อรอผสมกับนมสดที่เตรียมไว้ ไม่มีการเปิดกระป๋องค้างไว้ เมื่อเปิดเทจนเกือบหมดกระป๋องแล้ว จะใช้ช้อนขูดนมข้นส่วนที่เหลือติดอยู่ก้นกระป๋องออกมาใส่ถ้วยจนหมด ทำอย่างนี้ทุกกระป๋อง”ด้วยวิธีเปิดกระป๋องเอานมออกจนหมดกระป๋องนี่แหละ ทำให้คุณนันทวันพบปัญหา ปรากฏว่าในนมข้น 6 กระป๋อง มีอยู่กระป๋องหนึ่งที่ในเนื้อนมข้นมีก้อนสีเขียวคล้ายเชื้อราปนเปื้อนมาด้วย จึงแจ้งไปที่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตนมตรามะลิเพื่อให้นำสินค้ากลับไปตรวจสอบ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วแจ้งกลับมายังคุณนันทวันว่า เครื่องจักรขัดข้องระหว่างการบรรจุ ทำให้อากาศเข้าไปในกระป๋องนม จึงทำให้เกิดเชื้อราขึ้น บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายของคุณนันทวันด้วยการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ “พอเราได้รับคำชี้แจงและเอาสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว ก็ไม่ติดใจอะไรก็ซื้อนมยี่ห้อนี้ใช้ต่อมาอีกค่ะ”ต่อมาในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลาง คุณนันทวันได้ซื้อนมข้นมะลิมาใช้เหมือนเคยจำนวน 1 แพ็ค พอต้นเดือนสิงหาคมจึงนำมาเปิดพบกระป๋องหนึ่งเจอก้อนสีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีดำที่ก้นกระป๋อง โดยที่นมข้นยังไม่หมดอายุ จึงโทรแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ“พนักงานบอกว่า นมยังสามารถบริโภคได้”คุณนันทวันเธอก็เชื่อ อีกไม่กี่วันต่อมาเธอเปิดนมข้นกระป๋องใหม่มาใช้อีกครั้ง คราวนี้พบปัญหาในลักษณะเดิมทีเดียว 2 กระป๋อง คือมีก้อนสีดำตามตะเข็บกระป๋องด้านใน และมีสนิมขึ้นด้วย“เคยเอากระป๋องแช่น้ำไล่มดครั้งเดียวกระป๋องเดียวและก็ใช้น้ำแค่ระดับก้นกระป๋องเท่านั้นพอกันมดได้กระป๋องที่แช่น้ำก็มีสนิมเกิดขึ้นด้วย แต่กระป๋องอื่นไม่เคยเอากระป๋องแช่น้ำเลยค่ะก็มีปัญหาเห็นเป็นก้อนสีดำๆ ในนม”คุณนันทวันได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้นำนมข้นที่เปิดและที่ยังไม่เปิด ไปตรวจสอบพร้อมกับขอให้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554 บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ปัญหาคราบดำที่ตะเข็บก้นประป๋อง น่าจะเกิดจากคุณภาพกระป๋องบางกระป๋องที่มาจากซัพพลายเออร์ ได้เสนอให้ผู้บริหารพิจารณาปรับปรุงคุณภาพกระป๋องโดยการเคลือบกระป๋องด้านใน ตามมาตรฐานการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาคราบดำแบบ 100% ส่วนปัญหาสนิมที่ก้นกระป๋องนั้น น่าจะเกิดจากการนำกระป๋องนมไปแช่น้ำ ตามมาตรฐานการจัดเก็บสินค้าให้จัดเก็บสินค้าไว้ในที่แห้งและสะอาด หากกระป๋องบรรจุผลิตภัณฑ์เปียกน้ำหรืออยู่ในสภาพที่ชื้น อาจทำให้เกิดสนิมได้ง่าย“ควรมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในที่แห้งและสะอาด ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ที่ฉลากข้างกระป๋อง หากลูกค้าต้องการแช่น้ำเพื่อกันมด ควรนำผลิตภัณฑ์ใส่กล่องพลาสติกที่แห้งและสะอาดก่อนนำไปแช่น้ำ” บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้คำแนะนำพร้อมกับคำชี้แจงครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ได้มอบนมข้นให้ใหม่จำนวน 18 กระป๋อง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อเปิดใช้นมข้นกระป๋องตรามะลิอีกครั้งก็พบก้อนสีเหลือง สีส้มและสีของนมไม่ขาวเหมือนทุกครั้งและยังเหนียวข้นผิดปกติอีก เมื่อแจ้งไปที่บริษัทฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมกล่องยูเอชทีแทน พร้อมทั้งได้นำนมยูเอชทีมาให้คุณนันทวันจำนวน 3 ลัง“ดิฉันเจอปัญหาต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือที” แนวทางแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย หรือเป็นอาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะหรือ อาหารที่มีภาชนะบรรจุประกอบด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ อาหารที่มีลักษณะข้างต้นให้ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏลักษณะการเสียของนมข้นที่มีการร้องเรียนก็อาจเข้าข่ายของอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงได้เชิญตัวแทนบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ผู้ผลิตสินค้า และตัวแทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และท้ายที่สุดบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยได้ยินยอมชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณนันทวันเป็นเงินรวม 30,000 บาท“เราไม่คิดว่าความเสียหายของเราจะเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่ทราบเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้ความช่วยเหลือค่ะ”คุณนันทวันขอบคุณเรา ซึ่งเราก็คงต้องส่งคำขอบคุณต่อไปยังบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ด้วยที่แสดงความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเต็มกำลัง และหวังให้คุณภาพการผลิตสินค้าจะดียิ่งขึ้น เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เก็บ 30 บาท บริการทางการแพทย์จะดีขึ้นจริงหรือ?

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ข่าวหนังสือพิมพ์และเว็บไซด์กำลังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพกันอย่างร้อนแรง(ในขณะที่ข่าวทีวีค่อนข้างเงียบ)  เกี่ยวกับที่รัฐบาลจะกลับมาเก็บ 30  บาท  เพื่อเอาชื่อ 30  บาทรักษาทุกโรคกลับคืนมาเป็นโลโก้ของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง   ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเห็นว่าถึงไม่เก็บ30 บาท ชาวบ้านร้านตลาดเขาก็จำได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นจากพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันผู้เขียนเป็นกรรมการใน สปสช. คนหนึ่งมีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างหลากหลายมีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนให้เก็บ30 บาท แต่ละเหตุผลฟังแล้วปวดใจจริงๆ เช่น  บอกว่าต้องเก็บ 30 บาท เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักคุณค่าของยาจะได้กินให้หมดไม่ทิ้งขว้าง   ไม่เก็บแล้วคนไข้มาหาหมอมาก เพราะเห็นว่าฟรี  เป็นต้น  และคนที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้น   ล้วนใช้สิทธิอื่นไม่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเลยทั้งสิ้น  พวกเขาจึงไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่าการไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลแต่ละครั้งของคนชนบทห่างไกลมันลำบากแค่ไหนผู้เขียนในฐานะคนใช้สิทธิหลักประกันฯ ตัวจริง(อยู่ต่างจังหวัด)   ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจ นี่หรือคนที่เข้ามารับตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละความคิดเห็นบ่งบอกว่า ดูถูกชาวบ้านอย่างชัดเจนในนัยยะสำคัญคือ ชาวบ้านเห็นของฟรีแล้วจะมาใช้บริการอย่างไม่ยั้งคิด   ผู้เขียนถามหน่อยว่าโรงพยาบาลมันน่าเข้าไปเดินเล่นนักหรือ  ที่โรงพยาบาลมีแต่โรคภัยไข้เจ็บ บรรยากาศก็ชุลมุนวุ่นวาย   แถมจะไปหาหมอแต่ละครั้งต้องไปจองคิวตั้งแต่ตี3 ตี4 กว่าจะได้พบหมอ รอรับยาก็ปาเข้าไปค่อนวันกว่าจะกลับถึงบ้านก็เย็นพอดี วันที่มาหาหมอที่ต้องเสียแน่ๆ คือค่าเดินทาง และค่าแรงวันนั้นสำหรับคนหาชาวกินค่ำ การไปหาหมอแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายแน่นอน ดังนั้นคงไม่มีใครไปเพราะอยากได้แค่ยาฟรี   การเก็บ 30 บาท ยังจะไปเพิ่มความวุ่นวายตามมาอีกมาก เช่น มหาดไทยต้องไปดูว่าใครหนอที่จนจริง จะได้ยกเว้นการจ่ายและออกบัตรยกเว้นให้  คนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบ คือ 1. บัตรทอง  2. บัตรประชาชน  ในอดีตสมัยที่ยังเก็บ 30 บาท ผู้เขียนจำได้แม่นยำว่า ตอนไปหาหมอต้องพกบัตร 2 ใบนี้มาให้ครบ หากขาดใบหนึ่งใบใดไป นั่นหมายความว่าวันนั้นใช้สิทธิไม่ได้ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด    จนมีการพัฒนาให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวยืนยันการใช้สิทธิได้ทันที ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายการทำบัตรทองแล้วชาวบ้านก็ไม่ต้องรุงรังพกบัตรหลายใบอีกด้วยแต่เรื่องเก็บ 30  บาทยังคงไม่จบง่ายๆ เพราะ ฯพณฯ ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. ว่าหากจะเก็บ 30 บาทบริการต้องดีขึ้นกว่าเดิม หากยังไม่ดีขึ้นก็ยังไม่เก็บ   ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมของระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบมากกว่าขอส่งเสียงสรรเสริญ นายกฯ มาล่วงหน้าและขอเอาใจช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเร็ววัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 ร้องการไฟฟ้า กระแสไฟตกทำเครื่องไฟฟ้าเจ๊ง

ชาวบ้านลำลูกกา ปทุมธานี ลงชื่อกว่าครึ่งร้อย เรียกร้องการไฟฟ้าลำลูกกาแก้ไขปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอ ไฟตกบ่อยครั้งทำเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ๊งกันระนาว  ร้องไปร่วม 5 เดือนไม่มีความคืบหน้าเมื่อเดือนมกราคม 2555 คุณอาทิตยาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระแสไฟฟ้าตกในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ถึงขั้นต้องไปขอให้ตำรวจช่วยลงบันทึกประจำวันเนื่องจากกระแสไฟตกทำให้จอคอมพิวเตอร์ขนาด 18 นิ้วได้รับความเสียหาย และได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 50 รายชื่อไปแจ้งให้การไฟฟ้าลำลูกกาให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่าต้องรอหม้อแปลงไฟฟ้า จนถึงเดือนมกราคม 2555 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับการไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การประกอบการของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วแต่กรณีพื้นที่ และทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะมีสำนักงานประจำตามเขตต่างๆ กรณีนี้เกิดขึ้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จึงอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 7 และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา โดยระบุไปในจดหมายว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 4 หมู่จากปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอและมีกระแสไฟฟ้าตกเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-23.00 น. ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลังทำหนังสือร้องเรียนไป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา ได้ส่งพนักงานเข้าไปตรวจสอบและได้วัดโหลดปรับปรุงเพิ่มขนาดหม้อแปลงจาก 100 กิโลโวลท์แอมแปร์ เพิ่มเป็น 160 กิโลโวลท์แอมแปร์ และตัดต่อจุดต่อสายใหม่พร้อมจัดโหลดให้สมดุลได้ 220 โวลท์ทุกเฟส หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ร้องเรียนเพื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพของไฟฟ้าได้รับคำตอบว่าใช้ไฟฟ้าได้ปกติแล้ว ในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา มีแผนงานปรับปรุงเพิ่ม โดยจะติดตั้งหม้อแปลงเสริมฝั่งตะวันออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คนคอนจองรถ โดนเซลล์อมเงิน

คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 จะผ่อนคอนโดที่ยังไม่สร้างต่อดีไหม

คุณจันทนาถามผ่านทาง www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาว่า“ไปซื้อคอนโด Parc Exo ของ บ .อั่งเปา เครือณุศาศิริ เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา โดยโครงการประกาศว่าจะเริ่มก่อสร้าง พ.ย. 53 – มิ.ย. 55 ปัจจุบันโครงการเพียงแค่ลงเสาเข็มยังไม่ดำเนินการต่อ เนื่องจากบอกว่าติด EIA โดยทางผู้ซื้อหลายรายได้สอบถามไปทางโครงการฯ ว่าจะสร้างหรือไม่ เพื่อความมั่นใจ ทางโครงการฯ จะตอบว่าสร้างเสร็จทันแน่นอน โดยทางผู้ซื้อรวมตัวกันเพื่อจะหยุดการผ่อนชำระเนื่องจากความไม่แน่ใจ“ทางโครงการฯ แจ้งว่าถ้าหยุดผ่อนจะไม่คืนเงินให้ ไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้ซื้อจะทำอะไรได้บ้างคะ จะหยุดผ่อนชำระได้หรือไม่คะ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุว่าหยุดผ่อนกี่งวดถึงจะไม่คืนเงิน” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกจะซื้อจะขายบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง  เป็นลักษณะสัญญาต่างตอบแทนกันและกันระหว่างฝ่ายซื้อคือผู้บริโภคกับฝ่ายขายคือผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจสัญญาว่าจะสร้างบ้านหรือห้องชุดบนที่ดินที่จัดสรรให้ ส่วนฝ่ายผู้บริโภคก็ให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินชำระเป็นงวด ๆ แต่เมื่อฝ่ายที่จะสร้างกลับไม่สร้าง ล่าช้าเลยเถิดไปเรื่อยโดยที่ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายผู้ซื้อ ประเมินสถานการณ์แล้วไม่น่าที่จะเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดกันไว้เป็นสัญญา และหากขืนจ่ายชำระค่างวดกันต่อไปจะทำให้ฝั่งผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กฎหมายให้สิทธิแก่ฝั่งผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งค่างวดในส่วนที่เหลือเพื่อรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบบ้านหรือคอนโดนั้น และยังมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปก่อนหน้านั้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 อีกด้วยดังนั้นหากผู้บริโภคจะหยุดชำระและบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ควรทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการว่าจะหยุดชำระค่างวด เพราะบริษัทไม่ดำเนินการก่อสร้างให้ทันได้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งขอเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และหากมีความเสียหายอื่นอีกก็สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมได้เช่นกัน ที่สำคัญ เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริโภคไม่ควรเจรจาทางวาจาอย่างเดียว   เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เคยมีการเจรจากันมาก่อนเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาได้เมื่อไม่ชำระค่างวดและจะถูกริบเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 น้ำท่วมก่อนงานวิวาห์ ขอเรียกค่าจัดงานแต่งคืน

คุณพลวิษฐ์ ได้ฤกษ์หามยามดีกำหนดแต่งงานกับเจ้าสาวในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เลยเถิดถึงขั้น “เอาไม่อยู่” ในช่วงเวลานั้นพอดีตอนนั้นกำหนดสถานที่จัดงานแต่งไว้ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากะว่าได้บรรยากาศสุดๆ  ลงทุนว่าจ้างธุรกิจรับเหมามืออาชีพจัดงานแต่งอย่างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์มาจัดโต๊ะจีนเลี้ยงแขกเหรื่อในวันงาน วางเงินไปถึง 70,000 บาทเป็นค่ามัดจำการจัดงานยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มวลน้ำก้อนใหญ่ก็ถาโถมถล่มเข้ากรุงเทพฯ เสียก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เห็นแววว่าจะ “เอาไม่อยู่” ผู้คนเริ่มทยอยอพยพหนีภัยน้ำท่วมกันจ้าละหวั่น คงไม่มีใครจะมีกะจิตกะใจมางานแต่ง และขืนฝืนจัดงานไปอาจมีเพียงแค่สองบ่าวสาวลอยคอพิสูจน์รักกันอยู่กลางน้ำเป็นแน่ เลยตัดสินใจเลื่อนงานแต่งไปเป็นวันคริสมาสต์วันที่ 25 ธันวาคม 2554 และเปลี่ยนสถานที่หนีน้ำไปที่โรงแรมมณเฑียรแทนเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่แต่งงานในวันและสถานที่เดิมด้วยเหตุมีภัยน้ำท่วม คุณพลวิษฐ์จึงมีอีเมล์แจ้งบอกยกเลิกโต๊ะจีนที่ว่าจ้างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์จัดหาให้ โดยแจ้งบอกเลิกก่อนวันแต่งวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นเวลา 12 วัน และขอเงินค่ามัดจำ 70,000 บาทคืนคำตอบที่ผู้รับเหมาจัดงานแต่งแจ้งกลับมาคือ คุณพลวิษฐ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทมีสิทธิยึดเงินดังกล่าวทั้งหมด คุณพลวิษฐ์จึงตั้งคำถาม ถามมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า  การที่จะยกเลิกโต๊ะจีนเพราะมีเหตุคาดว่าน้ำจะท่วมและขอเงินมัดจำคืนในทางกฎหมายนั้น จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทางบริษัทบอกแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องคืนเงินมัดจำ“ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผมเลยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่ไปว่าจ้างให้ใครมาจัดงานแต่ง เป็นธุระจัดหาโต๊ะจีนมาเลี้ยงแขกแทน ต้องมีซุ้มดอกไม้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนถ่ายรูปกับแขกเป็นที่ระลึก มีน้ำแข็งแกะสลักปล่อยให้ละลายเป็นน้ำอยู่ในงาน หรือต้องมีเค้กให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ตัดแบ่งแจกเป็นทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามแต่ถ้ากิจกรรมที่จ้างไปแล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำไปแล้วเพียงบางส่วน เช่น ผู้รับจ้างเริ่มติดต่อประสานงานหาคนมาออกไอเดียว่าจะแกะน้ำแข็งเป็นรูปหมาหรือรูปควายคู่ตั้งไว้กลางงานดี จะทำซุ้มประตูเข้างานแบบไหน เค้กจะเป็นรูปอะไรจะทำกี่ชั้น ซึ่งเป็นงานทางความคิดที่ต้องดำเนินเตรียมการกันเป็นอาทิตย์ก่อนจะทำกันจริงในก่อนวันงานวันหรือสองวัน แต่เมื่อมาถูกผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียกลางคันไม่ว่าเหตุที่เลิกจ้างจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สมควรใช้วิธีการเจรจากันเพื่อที่จะตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไป ไม่ใช่จะไปเจรจาเพื่อขอเงินค่ามัดจำคืนทั้งหมด ตรงนี้ก็จะไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายผู้รับจ้างได้เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วในบางส่วนก็เป็นได้ผลของการเจรจาปรากฏว่า คุณพลวิษฐ์ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 49,000 บาท ถูกหักเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับการบอกเลิกสัญญาไป 21,000 บาท เงินที่เสียไปจำนวนนี้หากคุณพลวิษฐ์พอมีเวลาอาจจะยื่นเรียกค่าเสียหายฟ้องรัฐบาลในฐานที่ประกาศว่า “เอาอยู่” แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับ “เอาไม่อยู่” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ผู้บริโภคร้องฟอร์ดเฟียสต้าเหม็นไหม้

คุณลลิตา ชาวจังหวัดพิจิตร ได้ซื้อรถเก๋งฟอร์ดเฟียสต้าสีน้ำเงินจากศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในราคา 699,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ผ่อนได้ไม่กี่เดือนรถก็มีปัญหาคุณลลิตาบอกว่า ตั้งแต่ได้รับรถมาก็ใช้รถตามปกติ ไม่เคยทำการดัดแปลงใดๆ กับรถเลย แต่ต่อมาไม่กี่เดือนพบอาการผิดปกติของรถ คือขณะที่ขับรถอยู่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ที่หน้าเครื่องยนต์ จึงรับนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิจิตร ศูนย์น แจ้งว่าไม่พบสาเหตุ อาจจะเป็นที่ผ้าเบรค ช่างก็ได้ถอดผ้าเบรคมาขัดและเช็ด แต่อาการเหม็นไหม้ก็ยังมีอยู่“ช่างบอกว่าให้นำรถกลับไปใช้ก่อน ถ้าอาการยังไม่หายให้นำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกที่ได้ซื้อรถมา”เมื่อนำรถกลับมาใช้อาการก็เป็นเหมือนเดิม คุณลลิตาจึงนำรถไปตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลก ในวันนั้นช่างรับรถและเปิดห้องเครื่องปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมา ช่างบอกว่าต้องทิ้งรถไว้เพราะไดร์ชาร์ตไหม้ ช่างบอกว่าจะเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องรออะไหล่มาจากกรุงเทพฯ“ดิฉันไม่มีรถใช้เพราะต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน และต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานทุกวัน จึงขอรถใช้ระหว่างซ่อมกับทางศูนย์ฯ”ศูนย์ฯ บอกว่าไม่มีรถสำรองให้ใช้ และไม่มีโครงการนี้ ! เมื่อเจอคำตอบแบบไร้เยื่อขาดใย คุณลลิตาก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ทิ้งรถไว้ให้ช่าง ส่วนตัวเองก็กลับมาบ้านและคอยติดตามถามไถ่ความคืบหน้าการซ่อมรถเป็นระยะๆคุณลลิตาส่งรถเข้าศูนย์ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน ช่างของศูนย์ฯ ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดฟันธงได้ว่าปัญหาที่รถมีกลิ่นไหม้เวลาวิ่งนั้นเกิดจากอะไรแน่“ช่างบอกว่าเปลี่ยนไดร์ชาร์ตให้ใหม่แล้ว พอทดลองติดเครื่องและเปิดแอร์อาการก็ยังเหมือนเดิม พอถึงวันที่ 19 กันยายน ช่างประจำศูนย์ฯ จึงโทรมาแจ้งว่าพบสาเหตุแล้ว แต่บอกว่าอาจเป็นที่แผ่นครัช เบรก หรือเกียร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด”ช่างบอกว่าต้องถอดออกมาดูก่อน ทางคุณลลิตาก็มองว่าเป็นการถอดไปเรื่อยๆ  จึงเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของรถคันนี้ และมองว่ารถคันนี้ไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน จึงติดต่อไปที่ศูนย์ฟอร์ดฮอตไลน์เพื่อแจ้งขอให้เปลี่ยนรถคันใหม่ให้“ฟอร์ดฮอตไลน์บอกว่า ทางบริษัททำได้แค่การเปลี่ยนอะไหล่ให้ คงจะไม่เปลี่ยนรถให้ใหม่เพราะรถได้มีการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ถามว่า ซ่อมแล้วจะมีอะไรรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าเสียอีกจะทำอย่างไร”“เสียอีกก็ต้องซ่อมอีก รถเสียก็ต้องซ่อม” ฟอร์ดฮอตไลน์ตอบคำถามของคุณลลิตาอย่างชัดถ้อยชัดคำพอได้รับคำตอบแบบนี้ คุณลลิตาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับทางฟอร์ดขอรับเงินดาวน์พร้อมค่างวดรถจำนวน 272,215 บาทที่ได้จ่ายไปแล้วคืน แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากการร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ ครั้งแรกคุณลลิตาต้องการให้ฟอร์ดเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ และต้องการเรียกร้องค่าขาดโอกาสในการใช้รถในระหว่างซ่อมด้วย แต่เมื่อคุณลลิตาได้มีการเจรจากับศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในเวลาต่อมา ก็ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจคือ ศูนย์ฟอร์ดฯ จะทำการเปลี่ยนไดร์ชาร์ตและยกชุดเกียร์ให้ใหม่ และจะมีการรับประกันอะไหล่ให้ 4 ปี หรือที่ระยะทาง 120,000 กิโลเมตร และฟรีโปรแกรมเช็คระยะ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คุณลลิตาจึงได้รถกลับมาใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และขอยุติเรื่องร้องเรียนในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 หัวดูดไรฝุ่น เครื่องดูดฝุ่น LG ไม่ทำงาน

คุณจีวัฒน์ร้องเรียนผ่านทาง www.consumerthai.orgผมซื้อเครื่องดูดฝุ่นแอลจี เพราะมีหัวดูดพิเศษ sani punch ปรากฏว่าหัวดูดมันไม่ทำงาน ขอเคลมผ่านตัวแทนจำหน่ายหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ตัวแทนจำหน่ายแจ้งว่า ทางแอลจีบอกว่าเคลมไม่ได้ เพราะถือว่าหัวดูดนั้นเป็นของแถมในกล่อง “ตอนที่โฆษณาบอกว่ามันคือคุณสมบัติเด่นของสินค้าเลยนะครับนั่น ที่ผมซื้อก็เพราะมันมีคุณสมบัตินั้นนั่นแหละ ผมควรทำไงดี แนะนำด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้เปิดไปดูข้อมูลโฆษณาของเครื่องดูดฝุ่นของ LG ที่ถูกร้องเรียนเข้ามา มีรายละเอียดทางอินเตอร์เน็ตคร่าวๆ ว่าLG VC4920NHTMY เป็นเครื่องดูดฝุ่นกำลังไฟ 2,000 วัตต์ มีหัวดูด Mop อเนกประสงค์ ซึ่งช่วยให้ดูดฝุ่นและถูพื้นได้พร้อมกันในครั้งเดียว พร้อมหัวดูด Sani Punch ซึ่งมีลูกกลิ้งสัมผัสพื้นผิวถึง 3,000 ครั้งต่อนาที สามารถลดไรฝุ่นตามที่นอนและโซฟาได้มากถึง 80% หลังจากใช้เพียง 5 ครั้ง ทำให้บ้านสะอาดอย่างแท้จริง ประโยชน์ของหัวดูด Sani Punch มีการโฆษณาข้อมูลเพิ่มเติมว่า“กำจัดผิวหนังที่หลุดร่วงบนที่นอนของคุณผิวหนังที่หลุดลอกออกมาบนที่นอนของคุณ เป็นอาหารชั้นเลิศให้กับไรฝุ่นทั้งหลาย ทำให้ไรฝุ่นขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกำจัดไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพหัวดูด Sani Punch จะช่วยลดไรฝุ่นบนที่นอน ที่เป็นสามาเหตุของโรคภูมิแพ้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ครอบครัวของคุณพักผ่อนได้อย่างสบายตัว และสบายใจ”ดูจากเนื้อหาโฆษณาแล้ว ต้องถือว่าเจ้า หัวดูด Sani Punch นั้นเป็นสาระสำคัญในการขายสินค้า จะอ้างว่าเป็นเพียงของแถมเมื่อเสียแล้วเปลี่ยนให้ใหม่ไม่ได้ ดูจะเป็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบไปหน่อยเมื่อลูกค้าเขาเชื่อโฆษณาว่ามันสามารถดูดไรฝุ่นหรือแม้กระทั่งเศษผิวหนังของมนุษย์ได้ เลยซื้อมาใช้ แต่เมื่อซื้อมาแล้วกลับเปิดใช้ไม่ได้ หรือไม่สามารถดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังของมนุษย์ได้อย่างที่กล่าวอ้าง เจ้าของสินค้าและผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเรียกร้องปากเปล่ากันไม่ได้เรื่อง เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องรายนี้ได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท แอลจี เพื่อขอให้เปลี่ยนหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่ให้ ไม่นานหลังได้รับหนังสือทวงสิทธิจากผู้บริโภค บริษัทแอลจีก็ได้ส่งหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่มาให้คุณจิรวัฒน์ใช้งาน ปัญหานี้จึงจบลงได้ด้วยดีส่วนจะดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังได้ดีขนาดไหน ใครที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ช่วยบอกมาด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อพาร์ทเมนต์ ถูกคนเช่าทวงเงินมัดจำ

แจ้งย้ายออกจากห้องเช่า แต่เจ้าของหอไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำ หลายคนคงปล่อยทิ้งไม่อยากวอแว แต่สำหรับคุณเบญจมาภรณ์ยืนยัน ไม่มีวันเสียล่ะที่จะเสียเงินมัดจำไปง่ายๆ เจออย่างนี้ต้องเอาคืนคุณเบญจมาภรณ์ ได้เช่าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อ ชั้นล่างทำเป็นร้านขายก๋วยจั๊บ ต้องจ่ายค่ามัดจำ 6,000 บาท และค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายควักไป 9,000 บาท สำหรับห้องเช่าธรรมดาๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม“สุดๆค่ะ ต้องเอาพัดลมมาเอง แรกเข้ามาอยู่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดไว้ให้ เจ้าของห้องเขาตั้งน้ำยาทำความสะอาด แปรงถูกพื้น และกระป๋องไว้หน้าห้อง ไปกับเพื่อนก็ช่วยกันทำความสะอาดกันเอาเอง”“ห้องแคบมาก...ของที่ขนไปเข้าไม่หมด บานเกร็ดไม่มีเหล็กดัด ถ้าถามว่าทำไมต้องทนอยู่ ก็คงบอกได้ว่า มันใกล้กับที่ทำงาน มีรถไฟฟ้า และคิดว่าคงจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว” คุณเบญจมาภรณ์สาธยายให้เห็นภาพคงเพราะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ คุณเบญจมาภรณ์ก็ไม่แน่ใจ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อแห่งนี้ หาความสงบแทบไม่ได้เลย มีคนเดินขึ้นลงตลอดเวลา เพราะร้านก๋วยจั๊บที่เปิดขายอยู่ชั้นล่าง เปิดยาวถึงตีสาม เวลาเข้าห้องน้ำ น้ำจะรั่วและมีสนิมปนมากับน้ำ แจ้งให้เจ้าของมาแก้ไขก็ไร้วี่แววมีครั้งหนึ่งที่คุณเบญจมาภรณ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พอกลับเข้าห้องสังเกตเห็นว่าหวีไม้ที่วางไว้ในห้องมีราขึ้น ชั้นวางโทรทัศน์ก็มีราขึ้น พอเห็นราขึ้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คิดในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายด้วยหรือเปล่าแจ้งเจ้าของห้องเพื่อขอย้ายออก ได้รับคำตอบว่าให้ย้ายตอนสิ้นเดือน จะคืนเงินมัดจำให้ 3,000 บาท“เราก็ไม่มีปัญหานะ ขอให้ได้ย้ายออกจะได้ค่ามัดจำเท่าไหร่ก็ยอมทั้งนั้น” พอถึงสิ้นเดือนก็ยังไม่ได้ย้าย เจ้าของห้องบอกยังไม่มีเงินให้อยู่ไปก่อน ได้เงินมัดจำคืนแล้วค่อยย้ายออก จนถึงกลางเดือนถัดมาคุณเบญจมาภรณ์บอกไม่ไหวแล้ว ตัดสินใจย้ายออกทันที“โทรติดต่อเจ้าของห้อง แต่ไม่เจอตัวเจอแต่คนดูแล เอาเงินมัดจำคืนไม่ได้  เลยฝากบอกกับคนดูแลให้เจ้าของห้องช่วยโอนเงินค่ามัดจำคืนเข้าบัญชีด้วย”เมื่อออกจากห้องเช่าแล้ว คุณเบญจมาภรณ์ ได้พยายามโทรไปทวงเงินค่ามัดจำคืนอยู่หลายสิบครั้ง มีเสียงเรียกแต่ไม่มีคนรับสาย มีครั้งหนึ่งมาตามด้วยตัวเองก็ได้ผลเหมือนเดิมหันซ้ายหันขวาเห็นป้ายสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ใกล้ๆ จึงเดินเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแนะนำของเรา เมื่อโทรเข้าไปแล้วไม่รับสาย ก็ให้ไปดักรอที่หน้าอพาร์ทเมนต์เลยจะดีที่สุด เพราะเจ้าของห้องต้องออกมาขายก๋วยจั๊บทุกวันอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเมื่อเจอแล้วก็ทวงถามได้เลย ถ้ายังบ่ายเบี่ยงปฏิเสธอีก ทีนี้ก็สามารถไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้ทันที แต่อยากให้พูดคุยกันดีๆ ก่อนเป็นดีที่สุดหลังได้รับคำแนะนำ คุณเบญจมาภรณ์จึงไปดักรอที่ร้านก๋วยจั๊บที่เจ้าของห้องเปิดขายทันที คิดในใจว่า ไม่ออกมาก็ไม่ต้องขายของกันละวันนี้ ปรากฏว่าเจอตัวเจ้าของเป็นๆ ซึ่งยอมคืนเงินค่ามัดจำให้ แต่ก็ยังทิ้งลายด้วยการขอหักค่าทำความสะอาดและค่าดูแลส่วนกลางรวม 300 บาท เหลือคืนให้ 2,700 บาท“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่อยากให้มันยืดเยื้อ เพราะเสียเวลามามากแล้ว” คุณเบญจมาภรณ์บอกพร้อมขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำจนทวงคืนค่ามัดจำได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 แอร์หรือระเบิดเวลา?

ซื้อแอร์ใหม่ราคา 2 หมื่นเศษ แทนที่จะทำงานเย็นเฉียบเงียบสนิท ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ในยามพักผ่อนหลับนอน แอร์เจ้ากรรมกลับมีเสียงดังติ๊กๆ น่ารำคาญหูเล็ดลอดตลอดเวลา พาอารมณ์หงุดหงิด สะกิดหัวใจ ฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งหนัก คิดว่ากำลังนอนหลับกับระเบิดเวลา ลุ้นและเครียดเอาเรื่องเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา คุณสุรพิเชษฐ์ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น รุ่น F13 HV2S ในราคา 21,000 บาท จากบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัดหลังจากให้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ เปิดใช้งานกะว่าเย็นฉ่ำสบายอารมณ์แน่ พอแอร์เริ่มทำงาน ความเย็นค่อยๆไหลไล่ความร้อนให้หลบหนี“อืม เย็นจัง” กำลังเคลิ้มๆ กับความเย็นแต่ก็ต้องร้องเอ๊ะ“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊กๆๆๆๆ” มันดังไม่หยุด ดังอยู่ตลอดเวลาที่แอร์เปิดทำงานคุณสุรพิเชษฐ์เงี่ยหูฟังเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาพร้อมความเย็นฉ่ำจากการทำงานของแอร์ที่เพิ่งซื้อมา“เสียงอะไร เสียงจากไหน” คิดในใจพร้อมกับลองปิดแอร์เงียบ...! “ไหนลองเปิดอีกครั้งสิ”“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก...” เสียงที่น่ารำคาญดังมาทันทีวันนั้นคุณสุรพิเชษฐ์ ลองปิด-เปิดแอร์อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็มีเสียงดังติ๊กๆ ออกมา เหมือนว่าเป็นมาตรฐานติดมากับแอร์เครื่องนี้เมื่อพบความผิดปกติ จึงได้แจ้งบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส ให้ส่งช่างมาตรวจสอบ หลังจากที่ช่างมาตรวจสอบอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้มีคำตอบที่น่าผิดหวังว่า เสียงติ๊กๆ ที่เกิดขึ้นช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องให้ช่างของบริษัทไดกิ้นโดยตรงมาซ่อมให้ ซึ่งบริษัทเจเอสบีฯ จะติดต่อกับไดกิ้นให้ส่งช่างมาซ่อมต่อมาช่างของไดกิ้นเข้ามาซ่อมแก้ไขแอร์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเสียงของแผ่นพลาสติกที่ไปกระทบกันภายในเครื่องแอร์ จึงใช้แผ่นกำมะหยี่เป็นวัสดุแทรกกันการกระแทกสั่นไม่ให้เกิดเสียงดัง ปรากฏว่าเช้าวันต่อมาแอร์ที่เพิ่งซ่อมไปมีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่องคุณสุรพิเชษฐ์รู้สึกว่าเช้านั้นเซ็งอารมณ์สุดๆ“แอร์ซื้อมาใหม่ๆ แท้ๆ ครับ ใช้ไม่กี่วันก็ต้องเรียกให้ช่างมาซ่อมแล้วซ่อมอีก”“ช่างที่มาซ่อมบอกว่าที่บ้านก็ใช้แอร์รุ่นนี้ก็มีเสียงดังเหมือนกัน”เมื่อนำเหตุผลทั้งหมดมารวมกัน ความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจึงเกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่บริษัทไดกิ้นเพื่อจะขอเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ หลังติดต่อไปบริษัทก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธที่ชัดเจน ทำให้คุณสุรพิเชษฐ์มีความกังวลและคิดว่าบริษัทไดกิ้นอาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ให้ จึงโทรปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับฟังปัญหาของผู้บริโภคจนได้รายละเอียดเสร็จสิ้น เราจึงแนะนำให้คุณสุรพิเชษฐ์รีบทำจดหมายไปที่บรัทไดกิ้นโดยทันที โดยให้ระบุเนื้อหาในจดหมายว่า ผู้บริโภคได้ซื้อแอร์เครื่องใหม่และเลือกยี่ห้อไดกิ้นก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปได้ไม่กี่วัน เครื่องมีอาการผิดปกติ มีเสียงดังเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาที่เครื่องเปิดใช้งาน การที่ได้ซื้อแอร์เครื่องนี้ในราคาเป็นหมื่น เพราะประสงค์ที่จะได้แอร์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งมาตรฐานที่ดี เพื่อนำความสุขมาให้ครอบครัว แต่เมื่อแอร์เกิดปัญหาเช่นนี้โดยไม่ใช่ความผิดจากการใช้งานของผู้บริโภค บริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงและยี่ห้อของสินค้าให้คงอยู่ตลอดไป จึงขอให้ทางบริษัทไดกิ้นฯ ช่วยพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้ด้วยหลังจากที่ได้ทำจดหมายออกไป ปรากฏว่าบริษัทไดกิ้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการแจ้งว่า บริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้กับคุณสุรพิเชษฐ์โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดใครที่มีปัญหาซื้อสินค้าใหม่ใช้งานแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดปัญหาจนต้องเรียกช่างมาซ่อมแซมแก้ไข หากต้องการจะให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม >