ฉบับที่ 130 ขอคืนเครื่องทำน้ำอุ่นกับพาวเวอร์บาย

วันที่ 28 สิงหาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ คุณจำนง สมาชิกฉลาดซื้อ ได้ไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่พาวเวอร์บาย สาขารัตนาธิเบศร์คุณจำนงจ่ายเงินไป 3,790 บาท สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ฮิตาชิ รุ่น HES-35R นำมาให้ช่างติดตั้ง ใช้อาบได้ปกติ แต่พออาบเสร็จ คุณจำนงได้ลองกดปุ่มทดสอบป้องกันไฟรั่วตามวิธีที่คู่มือแนะนำ  ได้ผลเป็นอย่างดีคือ เครื่องตัดการทำงานทันที  แต่พอจะเปิดให้ใช้งานอีกครั้งปรากฏว่า เครื่องดันตัดไฟไม่ทำงานแบบถาวรไปเลย ใช้อาบน้ำอุ่นไม่ได้คุณจำนง นำใบเสร็จรับเงินของพาวเวอร์บายมาดู พลิกไปที่ด้านหลังมีข้อความระบุถึงเงื่อนไขในการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าว่า“รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงินพร้อมกล่องบรรจุ, ใบรับประกัน, คู่มือและอุปกรณ์ต่อพ่วงของสินค้าภายใน 7 วัน นับจากวันซื้อสินค้า (ยกเว้นไม่รับคืนมีดังนี้ : กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, )สินค้าตัวโ ชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว) และยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีกว่า “ยกเว้นสินค้าที่ใช้แล้ว หรือแกะกล่องไม่รับคืนมีดังนี้ : ตู้เย็น, เทปคาสเซท, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวเล็ก , ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด)เห็นข้อยกเว้นในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็เกือบจะครอบคลุมแทบทุกชนิดอยู่แล้วที่ห้างจะไม่รับคืน ยังดีหน่อยที่อ่านอยู่ 2-3 รอบ ไม่พบเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่ในข้อยกเว้นไม่รับคืน“โอ้...โชคดีอะไรเช่นนี้ ที่ยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นเหลือรอดให้คืนให้เปลี่ยนได้” คุณจำนงคิดในใจ รีบถอดเครื่องทำน้ำอุ่นนำกลับไปที่ห้างพาวเวอร์บายเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะกลัวจะหลุดเวลาการเปลี่ยนคืนสินค้าภายใน 7 วัน แต่คำตอบที่ได้รับคือ...“เขาไม่เปลี่ยนให้ครับ บอกว่าต้องให้ช่างฮิตาชิมาดูก่อน” แนวทางแก้ไขปัญหาพอทราบคำตอบว่าพาวเวอร์บายจะไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าให้ง่ายๆ และกลัวจะหลุดกรอบ 7 วันที่ห้างยอมให้เปลี่ยนหรือคืนสินค้า จึงรีบโทรศัพท์และส่งแฟกซ์รายละเอียดมาให้เราในวันที่ 30 สิงหาคม 2554ประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เราได้ติดต่อกลับไปที่คุณจำนงพร้อมข้อแนะนำว่า ให้นำสินค้าและใบเสร็จรับเงินไปขอเปลี่ยนสินค้าใหม่อีกครั้งตามเงื่อนไขที่พาวเวอร์บายแสดงเวลา 13.40 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2554 คุณจำนงโทรติดต่อกลับมาว่า ได้นำสินค้าไปเปลี่ยนตามคำแนะนำ แต่ทางห้างอ้างว่าจะให้ช่างจากฮิตาชิมาตรวจสอบก่อน ว่าเครื่องเสียด้วยตัวของผลิตภัณฑ์เองหรือเปล่า ถ้าช่างยืนยันว่าการเสียเกิดจาตัวผลิตภัณฑ์เอง ทางห้างยินดีเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยช่างจะมาภายใน 3 วันคุณจำนงเห็นว่าเป็นธรรมดี แต่เกรงว่าจะหลุดกรอบเวลาการยื่นเคลมสินค้าภายใน 7 วัน ด้วยความรอบคอบจึงได้ขอให้ห้างออกใบยืนยันเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ติดต่อขอเปลี่ยนสินค้าก่อน 7 วัน ซึ่งทางห้างได้ออกใบยืนยันให้ ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2554 ช่างจากฮิตาชิได้เข้ามาตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่น“ช่างทำการเช็คเครื่องโดยขันน๊อต 2 ตัว ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็สามารถใช้ได้เป็นปกติ ช่างห้ามไม่ให้กด(ปุ่มตรวจสอบสวิทช์ป้องกันไฟรั่ว)หลายครั้ง ประมาณ 1 เดือนถึงจะกดครั้งหนึ่ง”เมื่อเห็นว่า ซ่อมแล้วใช้ได้ คุณจำนงเลยตกลงที่จะรับเอาสินค้าตัวเดิมไว้ และเมื่อไปทำการติดตั้งที่บ้านก็ใช้ได้ดีเหมือนเดิมไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถือเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เรื่องยุติกันไปแบบน้ำใจงามๆ ของคนไทย แต่ในมุมสิทธิของผู้บริโภคแล้ว แม้สินค้านั้นจะซ่อมได้ แต่เหตุที่ผู้บริโภคต้องเทียวไปเทียวมาพาเครื่องทำน้ำอุ่นมาร้องเรียนอยู่ถึงสองสามรอบกับทางห้างก็นับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความรับผิดชอบของห้างในกรณีเช่นนี้จึงถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นและต้องปรับปรุง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 นางงามประเภทสอง หวิดบอดเพราะฉีดฟิลเลอร์

น้องต๊อกแต๊ก เป็นสาวประเภทสอง มีรายได้จากการเดินสายแข่งขันประกวดความงามบนเวทีทั่วราชอาณาจักร ความงามบนใบหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอหรือเขา...คนนี้“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะฉีด” ภาษิตใหม่ของน้องต๊อกแต๊ก เธอบอกว่ามันช้าและอาจไม่สวยเด่นหากจะให้งามเพราะแต่งอย่างเดียว มันต้องมีฉีดด้วย และที่ได้รู้จัก ได้ยินมาคือการฉีดสารฟิลเลอร์ ดูจะสะดวกรวดเร็วในเว็บไซต์หนึ่งให้ข้อมูลว่า  Filler (HA) ถูกนำมาฉีดเพื่อช่วยในการปรับแก้ไขรูปหน้า  เช่น เสริมจมูก เสริมคาง หรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า ลดริ้วรอย ร่องลึก หรือแม้แต่การบำรุงผิวให้กลับกระชับ เปล่งปลั่ง สดใสอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังมือ หรือแม้กระทั่งบริเวณผิวหน้าอก และเมื่อสาร Filler นั้นเป็นสารที่ร่างกายมีอยู่แล้ว ดังนั้นการฉีดสารชนิดนี้เข้าไปในชั้นผิวหนังจึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย และสามารถย่อยสลายไปเองได้ตามกระบวนการทำงานของร่างกายพอเลื่อนหน้าจอคอมพิวเตอร์ดูข้อมูลที่พูดถึง การฉีดปรับแก้ไขรูปหน้าหรือฉีดแบบเฉพาะจุด ยิ่งน่าสนใจ บอกว่า เหมาะสำหรับคนที่ต้องการปรับแก้ไขเฉพาะส่วน เช่น ฉีดเพื่อเสริมจมูก เสริมคาง เติมแก้มที่ตอบ เติมร่องใต้ตา โดยผลลัพธ์การรักษาจะอยู่ได้นานประมาณ 9-12 เดือนต๊อกแต๊ก อยากเสริมหน้าผากให้โหนกนูนเต็มอิ่มขึ้นมาอีกนิด จึงติดต่อเข้าใช้บริการฉีดฟิลเลอร์ที่คลินิกความงามแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกก่อนเกิดเหตุ การฉีดฟิลเลอร์เข้าหน้าผากต๊อกแต๊กทำมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง เว้นระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ฉีด 2 ครั้งแรก ไม่มีอะไรผิดปกติ เสียเงินรวมไป 7,000 บาท ในราคาที่แพทย์แจ้งว่าเป็นราคาทุนเพราะเห็นใจว่าเป็นนักศึกษาต้องทำงานกลางคืนเพื่อหารายได้พิเศษ จนถึงการฉีดครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการฉีดในบริเวณเหนือคิ้วซ้ายใกล้ดวงตา จึงเป็นเรื่อง... แพทย์ผู้ฉีดให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุว่า โดยปกติจะฉีดฟิลเลอร์ให้คนไข้ครั้งละประมาณ 2-3 มิลลิลิตร ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะผิวหนังอักเสบ ติดเชื้ออย่างรุนแรง หากคนไข้ต้องการฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มาก จึงจะนัดให้มาฉีดเพิ่มในภายหลังครั้งละประมาณ 1-2 มิลลิลิตร ในการฉีดครั้งที่ 3 หลังจากฉีดเสร็จ เธอมีอาการปวดหัวอย่างแรงบริเวณเหนือคิ้วซ้ายที่ได้ฉีดสารเข้าไปทันที มีอาการตาพร่ามัวและมีอาเจียนร่วมด้วยแพทย์ที่คลินิกได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการให้น้ำเกลือและฉีดยาแก้ปวดให้ หลังจากนั้นอาการยังไม่ดีขึ้น ตาซ้ายมองไม่เห็นมีอาการบวมแดงแพทย์จึงทำการเจาะเอาสารฟิลเลอร์ออก และนำคนไข้ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมาหลังจากวันนั้นน้องต๊อกแต๊กก็มีอาการปวดหัวเป็นพักๆ ส่วนตานั้นมีอาการพร่ามัวมองเห็นได้ไม่ชัด แต่ที่สำคัญคือ มันทำให้เธอหมดโอกาสเฉิดฉายบนเวทีประกวดความงามและไม่สามารถทำงานหารายได้ได้เหมือนเดิม ต๊อกแต๊กจึงต้องร้องเรียนและขอให้แพทย์รับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหากรณีแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า การรักษาเป็นไปโดยมีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่  มีความระมัดระวังเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อถามฝั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาได้รับคำตอบว่า การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี มีความระมัดระวังทุกขั้นตอน แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็พร้อมจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเราจึงแนะนำให้น้องต๊อกแต๊กใช้วิธีเจรจาเรียกค่าเสียหายกับคลินิกที่ทำการรักษาก่อน และแนะนำให้ประเมินค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่จะตามมาอย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นจริง การเรียกค่าเสียหายในด้านความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย การขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ก็ให้เรียกอย่างเหมาะสม ไม่สูงสุดโต่งจนเลยจุดที่จะทำให้ไม่สามารถเจรจากันได้ท้ายที่สุด แพทย์ผู้ทำการรักษาได้แสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือน้องต๊อกแต๊กเป็นเงินรวม 100,000 บาท ขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ละ 50,000 บาท น้องต๊อกแต๊กพึงพอใจในค่าเสียหายที่ได้รับ ยอมยุติเรื่อง และหันมาตั้งหน้าตั้งตารักษาตัวที่จวนใกล้จะหาย เพื่อก้าวขึ้นสู่เวทีประกวดอีกครั้งเชื่อว่า...ทุกเวทียังมีมงกุฎให้เธอไขว่คว้าอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เซอร์วิส ชาร์จ ในร้านอาหาร ไม่จ่ายได้หรือเปล่า

เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาหาเรา มีเนื้อหาเรื่องราวเพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนคุณรุ่งทิพย์จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า...“ไปกินอาหารร้านดัง แถวสีลมคอมเพล็กซ์ ในบิลบวกค่าบริการประมาณ 10% ของค่าอาหาร จากค่าอาหาร 160 บาท คิดเป็นค่าบริการ 16 บาทบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนแรกว่าจะให้ทิปแล้ว เลยไม่ให้ดีกว่า ปกติไม่ค่อยได้ไปย่านนั้น ถ้ารู้ก็จะไม่กินร้านนี้หรอก ตอนนี้สงสัยว่าร้านอาหารพวกนี้สามารถบวกค่าโน้นนี้ได้ตามอำเภอใจเลยหรือ แล้วใช้หลักอะไรคิดกัน บริการก็ไม่เห็นแปลกพิเศษอะไรเลยคงด้วยความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าทิปอาหาร จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า ค่าทิปหรือเซอร์วิส ชาร์จ แบบนี้จะไม่จ่ายได้ไหม แนวทางแก้ไขปัญหา ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับ ทิป และ เซอร์วิส ชาร์จไว้ว่าทิป คือ เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้รับบริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มให้เป็นพิเศษนอกเหนือการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการที่ได้รับไปแล้ว การทิปของแต่ละประเทศนั้นจะไม่เหมือนกัน บางประเทศจะรวมค่าทิปไปในบิลเรียกเก็บเงินหลังเช็คบิล หรือใช้บริการเสร็จ โดยในบิลจะระบุว่า “Service Charge” หรือ “ค่าบริการ” ไว้แล้ว ซึ่งจะกำหนดเป็นค่าร้อยละของยอดจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้แก่บริการ นั้นๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ ทำให้พนักงานเสิร์ฟที่ประเทศฝรั่งเศสมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป สำหรับเงินเดือนได้น้อยมากดังนั้นเมื่อไปกินอาหารที่ภัตตาคารที่ฝรั่งเศสที่ได้บอกค่าบริการไปแล้วใน บิลจึงไม่ต้องให้ทิปเพิ่มอีก แต่ถ้าหากได้รับบริการที่ดีอาจจะให้เพิ่มตามความสมัครใจก็ได้ โดยปกติจะอยู่ประมาน 1-5 ยูโรต่อจำนวนสมาชิกในโต๊ะสำหรับ ประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นการเฉพาะ มีเพียงแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กรมการค้าภายในดูแลเฉพาะเรื่องการแสดงราคาสินค้าให้ผู้บริโภคทราบก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ คือ หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้อยู่ในการรายการควบคุมราคาสินค้าก็สามารถที่จะจำหน่ายหรือเก็บค่าบริการในราคาเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีการแจ้งราคาให้ผู้บริโภคทราบในป้ายสินค้าหรือบริการก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สมองของตัวเองพินิจพิจารณาว่าจะซื้อหรือจะใช้บริการนั้นหรือไม่ดังนั้น หากในร้านอาหารใหญ่ๆ หรือการสั่งอาหารตามโรงแรมบางแห่งได้มีการเขียนบอกไว้ในเมนูอาหารอยู่แล้วว่ามีค่าบริการ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยกติกาสากลมาเทียบเคียง ก็สามารถที่จะทำได้ และเดี๋ยวนี้ก็ทำกันหลายที่เพราะคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าทิปให้เด็กร้าน  และหากผู้บริโภคมีความพอใจในบริการมากๆ อยากจะจ่ายค่าทิปเพิ่มให้อีกก็ทำได้ส่วนการปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จนั้น ผู้บริโภคควรมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าไม่พึงพอใจบริการเพราะเหตุใด เช่น สั่งอาหารอย่างหนึ่งได้มาอีกอย่างหนึ่ง เสียเวลารอนานเกินเหตุ เข้าร้านไปไม่มีใครสนใจมาถามไถ่ให้บริการเลย ทำเหมือนเราเป็นแมลงวันหลงบินเข้าร้านอะไรทำนองนี้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จที่ถูกเรียกเก็บเห็นว่าไม่คุ้มค่า ตรงนี้ก็พอที่จะเรียกผู้จัดการร้านมาเจรจาชี้แจงที่จะปฏิเสธค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุเลย ไม่อยากจ่ายซะงั้นก็ดูจะใจจืดใจดำกับลูกจ้างชั่วคราวที่เขาได้ค่าแรงต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรากันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ไม่น่ารักอ่ะ

เฮ้ออออ..........ที่ต้องอุทานคำนี้เพราะมันเกิดอารมณ์พูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสอ่าน เนชั่นสุดสัปดาห์  ที่พาดหัวคำว่า  “น่อร๊อร์กอะ!” อ่านแล้วรู้สึกงงๆ อยู่ตั้งนาน มันแปลว่าอะไรว่ะจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรแปลไม่ได้ก็ไม่แปล  จนกระทั่งเปิดไปเจอเนื้อหาด้านใน คอลัมน์  “ที่เห็นและเป็นอยู่” หัวข้อสัมภาษณ์  “มาดามมด” จึงได้รู้ว่าภาษาที่พาดหัวหน้าปกอยู่ที่นี่เอง เมื่ออ่านเนื้อหาจึงรู้ว่าเป็นการเขียนเพื่อชื่นชมว่าเธอผู้นี้..เป็นคนที่มีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรกๆ...  เช่น   จะดรีหร๋า.. แต่เว่.....ชีเริดน้า...ไม่นอยอ้ะ....ชีไม่นู๊บ...ชีเป๊ะ......แล้วยังมีการแปลความหมายภาษาเหล่านี้ไว้อีกด้วย เช่น น่ารักอ่ะ.แปลว่าถูกใจใช่เลย จะดรีหร๋า แปลว่า แสดงอาการลังเลไม่แน่ใจ  คือก็โอ แปลว่า ตกลงยินยอมมันก็ดี  อะจริงดิ  แปลว่าใช้พูดเพื่อตอกย้ำความมั่นใจในเรื่องต่างๆ ได้อีก แปลว่า มากๆ มากที่สุด ตลอด แปลว่า บ่อยๆ เป็นประจำ กาก แปลว่า ไม่เก่งไม่ชำนาญ เป็นต้น(ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับภาษาเหล่านี้)หลังจากนั้นก็มีเนื้อหาว่าคุณมาดามมดนี่ เป็นแม่แบบที่น่าภาคภูมิใจของเหล่าผองเพื่อนที่สามารถบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้เองและติดตลาดในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผู้เขียน ไม่ขอติติงมาดามมด  เพราะเธอมีสิทธิที่จะพูดจะแสดงออก จะใช้ภาษาอย่างที่เธอต้องการใช้   แต่ขอติติงสื่อ  ที่นำศัพท์พวกนี้มาเผยแพร่ ตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ  เพียงเพื่อเป้าหมายการตลาด (หรืออะไร!) ที่น่าสะท้อนใจคือบทสัมภาษณ์นี้เป็นไปในแนวชื่นชมส่งเสริมการใช้ภาษา ที่เป็นภาษาเฉพาะตัวของบางคนหรือบางกลุ่ม ราวกับเธอคือสุดยอดแม่แบบแห่งการบัญญัติศัพท์ ถ้าพูดภาษาวัยรุ่นคือ ยกย่องให้เธอเป็นไอดอล แห่งภาษา  ทั้งๆ ที่ภาษาเหล่านี้  “อาจเป็นต้นฉบับที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ” นี่หรือที่วงการสื่อเรียกร้องความอิสระแห่งการสื่อสาร สิ่งที่สื่อควรคำนึงให้มาก(กว่านี้)  คือการสื่อสารเรื่องนี้สื่อต้องการอะไร? และอาจมีผลกระทบอะไรกับสังคมไทยบ้าง?    ผู้เขียนในฐานะคนไทย และเป็นเจ้าของภาษาไทย  มีความภาคภูมิใจ ในภาษาไทย คนหนึ่งรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง  กับบทความเหล่านี้  ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นคนไทยเป็นเจ้าของภาษาไทย  ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรกำกับดูแลสื่อ  ช่วยปกป้องภาษาไทยที่เป็นภาษาแห่งชาติอย่าปล่อยให้คนบางกลุ่มสื่อบางประเภท มาทำให้ภาษาไทยวิบัติ  และเกิดความไม่มั่นคงทางภาษาไปมากกว่านี้ ได้หรือไม่????

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 แฟนคลับร้อง...อีซี่เอฟเอ็ม 105.5 เหนียวรางวัล

คุณสุเทพเป็นคนแรกที่เปิดแฟ้มร้องเรียนเรื่องนี้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาบอกว่าช่วงเดือนมีนาคม 2554 ทางสถานีวิทยุ EasyFM 105.5 ได้จัดรายการแจกรางวัลสำหรับผู้ส่ง sms เบอร์มือถือตัวเองเข้าลุ้นรางวัล 3,000 บาท ทุกๆ ชั่วโมง โดยจับหมายเลขสุดท้ายของเบอร์โทรมือถือ เป็น Lucky Number ของแต่ละชั่วโมง“หลังจากได้รางวัล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะติดต่อมาเพื่อขอให้แฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนเพื่อเตรียมออก เช็ค/หรือบัตรกำนัลให้ โดยแจ้งว่าจะได้รับประมาณปลายเดือนเมษายน หลังจบรายการโปรโมชั่นดังกล่าวแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับจากทางรายการแต่อย่างใด เมื่อลองเข้าไปในเว็บบอร์ด ของอีซี่เอฟเอ็ม ก็พบกระทู้ทวงถามของผู้ร่วมสนุกโดยไม่มีคำตอบจากผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด”คุณสุเทพได้แนบลิ้งค์กระทู้ ที่มีแฟนคลับคลื่นวิทยุดังกล่าวเขียนเข้าไปติดตามทวงถามของรางวัลกันหลายราย“ตัวผมเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนุก ในการส่ง sms ไปลุ้นรางวัลกับเขาด้วยและได้รางวัลเมื่อ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งเอกสารให้ทางรายการตามเงื่อนไขแล้ว ก็เงียบไปเช่นกัน ดังนั้นเมือต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังอาคารมาลีนนท์ ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเช็คยังไม่ออก ถ้าออกแล้วจะโทรกลับ จนป่านนี้(1 มิ.ย.) ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด ครั้นโทรเข้าไปถาม สายก็ไม่ว่างตลอด อย่างนี้เข้าข่ายหลอกลวงไหมครับ เพราะการส่ง sms ก็ไม่ใช่จะฟรี charge ตั้ง 6 บาทต่อครั้ง จึงอยากให้มูลนิธิช่วยติดต่อสอบถามให้ทีครับ”อีกรายคือคุณภิญรดา เขียนเข้ามาในเว็บบอร์ดร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “เหมือนกันเลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ คนละเกมส์กันค่ะ เล่นเกมเมื่อเดือนที่แล้ว Easy Big Holiday ค่ะ ได้รางวัลเป็นที่พักที่เกาะเสม็ด “ติดต่อมาครั้งเดียวตอนให้ออกอากาศอ่ะค่ะ จากนั้นก็ไม่มีไรตามมา..” แนวทางแก้ไขปัญหา จากข้อร้องเรียนของทั้งสองท่าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรติดต่อตามเรื่องไปที่บริษัท บีอีซีเทโร เรดิโอ จำกัด ในฐานะผู้ดูแลคลื่นวิทยุ Easy FM 105.5 รายแรกคุณสุเทพร้องมาที่มูลนิธิฯเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หลังจากที่ได้ติดต่อไปทางบีอีซีจึงได้จ่ายเช็คมูลค่า 3,000 บาท ให้กับคุณสุเทพภายในเดือนเดียวกันจากที่ได้เล่นเกมและบอกว่าจะได้รับรางวัลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 สำหรับรายคุณภิญรดา ทางบีอีซีมีคำชี้แจงกลับมาว่า คุณภิญรดา ได้ร่วมกิจกรรมในวันที่ 28มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 12.00 น. และได้เป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเป็นที่พักอ่าวพร้าว รีสอร์ท เกาะเสม็ดจริง เป็นรางวัลบัตรกำนัลห้องพักประเภท Deluxe Cottage Seaview 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน มูลค่ากว่า 10,500 บาท ซึ่งเมื่อจบกิจกรรมทางรายการได้โทรแจ้งไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งจากภิญรดาให้มารับของรางวัลถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีผู้รับสาย “ในกรณนี้ทางเรายินดีจะจบปัญหานี้ โดยยินดีให้สิทธิคุณภิญรดาสามารถรับของรางวัลได้ แต่เนื่องจากบัตรกำนัลที่พักอ่าวพร้าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ทางเราเกรงว่าคุณภิญรดาจะเข้าพักไม่ทัน จึงขออนุญาตเปลี่ยนของรางวัลเป็นที่พักที่ปานวิมานเกาะช้าง (2 วัน 1 คืน) มูลค่า 10,500 บาทแทน แต่ว่าทางเราต้องมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ของมูลค่าของรางวัลจำนวนเงิน 525 บาท...” เมื่อได้รับเงื่อนไขจากทางบริษัทบีอีซีแล้ว มูลนิธิจึงได้แจ้งให้คุณภิญรดาตัดสินใจอีกครั้งถือว่าเป็นการจบลงด้วยดี โชคดีได้ลี้ภัยน้ำท่วมกับทะเลสวยๆ แล้วอย่าลืมมาช่วยเหลือคนติดน้ำท่วมด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 เปิ้ลไอริณโดนเต๊นท์หลอกขายรถ

จำได้ว่า เราเคยลงเรื่องการหลอกขายรถและวิธีการแก้ไขในคอลัมน์นี้มาแล้ว น่าเสียดายที่ดาราสาวอย่าง "เปิ้ล ไอริณ" ไม่มีโอกาสได้อ่าน ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอนเรื่องนี้เก็บมาจากข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เองเนื้อข่าวเขาบอกว่า ประมาณบ่าย 2 โมงของวันนั้น  น.ส.ไอริณ ศรีแกล้ว หรือ “เปิ้ล ไอริณ” เข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดีกับ นายลิขิต ชัยนะกุล เจ้าของเต๊นท์รถออโตเทรด เลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากที่ถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองราคาเกือบ 1 ล้านบาทแต่ต้องจอดซ่อมหลายเดือนเปิ้ลไอริณ เธอเล่าว่า นายลิขิต อ้างว่าจะขายรถปี 2008 ให้ แต่ปรากฏว่าทางเต๊นท์ได้นำรถปี 2005 มาขายให้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังนายลิขิต แต่นายลิขิตอ้างว่าซื้อไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ต่อมาเมื่อขับไปได้ประมาณ 7 เดือน รถก็ความร้อนขึ้น จนต้องจอดซ่อมมาแล้วกว่า 3 เดือน"ตอนซื้อมาหนูจ่ายไป 7 แสนบาท บวกค่าโอนอีก 1.5 แสนบาท รวมแล้วก็เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าเอารถรุ่น 2005 นี้ไปขายก็ได้แค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรถที่ต้องการเป็นปี 2008 ก็ไม่ได้ยังต้องมาจอดซ่อมอยู่ในศูนย์ ซ่อมจุดละ 5,000 บาท ตอนนี้หนูกลุ้มใจมาก ไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ทางตำรวจก็บอกว่านายลิขิตให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาปิดคดีแล้ว หนูหมดเงินไปกับรถคันนี้เยอะมาก อยากจะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพึ่งใคร แล้ว" เปิ้ล ไอริณ กล่าวขณะที่ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปดูเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งมี พรบ.ควบคุมการขายรถยนต์ใช้แล้ว และเอาหลักฐานมาดูว่าจะเข้ากฎหมายประเภทใดที่สามารถดำเนินคดีได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ข่าวเขาว่ามาแค่นี้ล่ะครับ สรุปว่าน้องไอริณยังต้องรอตำรวจว่าจะดำเนินการยังไงอยู่ แต่มีประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อรถใช้แล้วที่เราจะเรียนรู้ซ้ำร่วมกันจากข่าวนี้ คือ...สัญญาในการซื้อรถใช้แล้ว เป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีประกาศควบคุมไว้ สัญญาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว สคบ.กำหนดให้เป็นสัญญาที่ต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีการระบุรายละเอียดของรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกัน เกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ระยะทางการใช้รถยนต์ ภาระผูกพันของรถยนต์(ถ้ามี) และชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ทีนี้ก็มาตรวจสอบดูครับว่า ในสัญญาที่น้องไอรินไปทำนั้น รถยนต์คันที่ซื้อขายกันได้ระบุปีของรถไว้เป็นปี 2008 หรือไม่ ถ้าระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วยังนำรถปี 2005 มายัดให้ลูกค้า อย่างนี้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาขอเรียกเงินคืนได้ รวมทั้งความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นค่าซ่อมที่ผ่านมา  เพราะถือว่าจัดรถมาให้ไม่ถูกต้องตามที่ได้ตกลงกัน แต่หากไม่มีการเขียนหรือไม่มีการทำสัญญากัน ผู้ขายรถจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อโทษทางอาญาหนักระดับนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้รวมทั้งคุณเปิ้ลไอริณด้วย ควรใช้แนวทางเรียกค่าเสียหายให้เต็มพิกัด คือทั้งราคารถ ค่าซ่อม ค่าเสียโอกาส จัดมาให้เต็ม หากจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าใช้จ่ายที่จะยอมถอยให้ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสเท่านั้น ส่วนค่าราคารถและค่าซ่อมไม่ควรยอมถอยครับ เพราะหากเจรจากันไม่ได้ผู้บริโภคยังสามารถยกเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และคำพิพากษาหากเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดจริง ยังเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้กับผู้เสียหายอีกต่างหาก ส่วนเรื่องทางอาญานั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจกับ สคบ. ไปครับ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถตู้โฟตอนเอ็นจีวี ถูกร้องคุณภาพห่วย

สมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย แห่ร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถตู้โฟตอนเอ็นจีวีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ที่มาของปัญหาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551เมื่อบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อโฟตอนจากประเทศจีน ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ขายรถตู้โฟตอนเอ็นจีวีผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  ในราคาคันละ 1,365,000 บาทโดยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า จะมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัย ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้นรับประกันความมั่นใจขนาดนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จึงไม่รีรอรีบเข้าทำสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีน(ของแท้) ในคราวเดียวทั้งสิ้นกว่า 70 ราย หลังการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โฟตอนแล้วนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ต้องพบปัญหามากมายหลายหลากกับรถตู้นำเข้าจากจีนรุ่นนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ บางคันขณะขับรับส่งผู้โดยสารอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับกะทันหัน บางทีก็เร่งไม่ขึ้นเครื่องไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องของตัวถังที่มาจากการประกอบที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ขับรถรับส่งผู้โดยสารช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบริการ ซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯ ได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงรถตู้ที่เช่าซื้อมา ต้องขับไปซ่อมไป บางคันก็ซ่อมไม่ไหวเพราะไม่มีอะไหล่ ทำให้ผู้ร้องเรียนแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องเรียนได้พยายามติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้เช่าซื้อกว่า 30 รายเมื่อไม่มีรายได้เลยตัดสินใจหยุดผ่อนค่างวด ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่เช่าซื้อรถมาแล้วรถเกิดปัญหาแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทุกฉบับในเมืองไทยเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายละเอียดมีอยู่ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้สัญญาควบคุมระบุว่า ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อสัญญาที่ควบคุมเป็นดังนี้ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อรถประสบปัญหาคุณภาพรถไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่เช่าซื้อจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเมืองไทยต้องรับผิดชอบแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนรถใหม่ให้ หรือรับซื้อคืนไป แต่ถ้าผู้ขายเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อรถต้องรีบตัดวงจรปัญหาทันทีด้วยการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ผู้เช่าซื้อไป ซึ่งกรณีนี้ได้มีการทำประกันกันไว้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รถคืนไปแล้วจึงจะนำไปรถไปประมูลขายในตลาด ถ้าหากขายได้แต่มีส่วนต่างอยู่บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งจากเงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาฟ้องแทนผู้บริโภคแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ใครกันแน่ที่เป็นคนผิดสัญญา

ปัญหาเรื่องว่าจ้างสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองหรือที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร สิ่งที่ผู้บริโภคมักโดนกันบ่อยๆ คือ การถูกกล่าวหาจากบริษัทรับจ้างสร้างบ้านว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกริบเงินจองเงินมัดจำไป แต่ขอบอก...ปัญหาแบบนี้มีทางแก้ง่ายมาก ไม่อ่านเรื่องนี้เสียใจแน่ คุณอิศราได้ทำสัญญาจองสร้างบ้านกับบริษัทเพอร์เฟค บิลเดอร์ 2001 จำกัด โดยเซลล์ให้ข้อเสนอพิเศษเป็นส่วนลด 3% จากราคาบ้านตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้าน แถมเดินท่อ PE และมีบริการกำจัดปลวกรับประกัน 3 ปี โดยต้องวางเงินจอง 50,000 บาทในวันทำสัญญา พร้อมกับชักชวนเพื่อนไปจองเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจองเซลล์ได้นำแบบบ้านคร่าวๆ มาให้ดู แต่จะต้องมีการเลือกแบบแปลนบ้านโดยละเอียดกันอีกครั้งคุณอิศราก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาที่มีมากมายหลายหน้า แถมตัวหนังสือก็เล็กเสียจนมดตัวน้อยๆ ยังเดินแทรกไม่ได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมีกับดักกินเงินจอง 50,000 บาทวางไว้อยู่ระหว่างที่ดูแบบแปลนบ้านอยู่นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควร จนผ่านไป 2 เดือน คุณอิศราก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯให้เข้าไปพูดคุยกัน โดยแจ้งว่าเซลล์ได้ลาออกแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลด 3% ได้ เนื่องจากคุณอิศราผิดสัญญาการจองสร้างบ้าน งง...บอกได้คำเดียวว่า งง นี่ฉันผิดสัญญาได้ไง บริษัทฯ จึงงัดข้อความในสัญญาขึ้นมาอ่านให้ฟังว่า “ผู้จองต้องทำการสรุปแบบและเข้าทำสัญญาจ้างกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันจอง” กับอีกข้อบอกว่า“หากผู้จองได้วางเงินจองแล้ว แต่ไม่มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาก่อสร้างบ้านกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน ผู้จองทราบดีว่า จะได้รับเพียงเอกสาร(ประกอบการขอจอง)จากทางบริษัทฯ เท่านั้น” สรุปง่ายๆ คือ สัญญาบังคับให้ผู้จองต้องรีบสรุปแบบและเข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไปก็จะได้รับแต่เอกสารกลับบ้าน ส่วนเงินจอง 50,000 บาทโครงการขอริบเข้ากระเป๋า “สัญญาแบบนี้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แบบแปลนบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะให้เข้าไปเซ็นสัญญาได้ไง” คุณอิศราโวย หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง ซึ่งบริษัทฯ ตกลงที่จะคืนเงินจองให้ แต่แจ้งว่าต้องมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเนื่องจากการทำงานและค่าภาษี เหลือเงินที่ต้องคืน 41,728 บาท และได้ออกเช็คให้ คุณอิศราใจเด็ด บอกไม่รับเงื่อนไขการคืนเงินแบบนี้ ต้องการให้บริษัทฯ คืนเต็มจำนวน 50,000 บาทเท่านั้น เพราะเพื่อนทั้งสองคนที่บอกเลิกสัญญาเหมือนกันก็ได้รับคืนเงินเต็มจำนวน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทฯ จึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะตนเท่านั้นเมื่อคุยตกลงกันไม่ได้คุณอิศราจึงนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา หัวใจของการแก้ปัญหาลักษณะนี้อยู่ที่การชิงทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบนิดๆเมื่อผู้บริโภคมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปแล้ว และบริษัทยอมคืนเงินให้แต่ขอกั๊กไว้ส่วนหนึ่งอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าภาษีกับค่าจ้างเหมา มูลนิธิฯ ก็อยากจะรู้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เฟค บิวเดอร์ฯ เชิญร่วมประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทฯ มีค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะได้ช่วยคุยให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ แต่ความปรารถนาดีของมูลนิธิฯ ถูกบริษัทฯ ตอบปฏิเสธ โดยแจ้งถึงเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ และกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่เร่งไม่รีบดูแบบแปลนบ้านให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อผู้บริโภคไปหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ จนเวลาล่วงมาได้ 2-3 เดือนถึงสามารถติดต่อได้ บริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำได้เต็มสิทธิของกฎหมาย คำตอบแข็งทื่อมาแบบนี้ มูลนิธิฯ ก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหนักเพื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคทันที แต่ในระหว่างนั้นก็พยายามเจรจากับบริษัทฯ บอกว่าเหตุที่ล่าช้าไม่ได้เป็นเพราะความบกพร่องของผู้บริโภค แต่เป็นเพราะความล่าช้าของบริษัทเองที่ไม่แก้แบบแปลนบ้านให้สมบูรณ์เรียบร้อยทันเวลาให้บริษัทตรวจสอบและกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง ส่วนคุณอิศรา เธอก็สุดยอดมาก เธอรู้จักกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงขอให้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ นี้มีการเสียภาษีเงินจองบ้านกันหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และกรรมการผู้จัดการได้ถูกสรรพากรเรียกเข้าไปพูดคุยแล้ว เมื่อโดนบีบหลายทางเข้า และคงได้คิดว่าจะหวงทำไมกับเงินแค่ 8,000 กว่าบาท แล้วจะพาให้เสียหายไปมากขึ้น ท้ายสุดจึงยอมคายเงินจองให้ผู้บริโภคครบทั้ง 5 หมื่นบาท “ตลอดเวลาที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างดิฉันกับบริษัทฯ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันจึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูงในความอนุเคราะห์ครั้งนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกท่านประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ และขอให้มูลนิธิเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดไป” เมื่อได้อ่านคำอวยพรนี้กันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ในส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่างพากันก้มกราบรับพรด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่าสักวัน(บางคนขอเน้นวันที่ 1 กับวันที่ 16)  ขอให้สมปรารถนากับเขาบ้างสักครั้ง สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 พลังงานไฟฟ้าผลิตมาเพื่อความสุขของใคร

 พอดีผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเวทีเสวนากับ อ.เดชรัตน์  สุขกำเนิด  อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ในหัวข้อเรื่อง พลังงานในประเทศไทย  มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง แต่มีข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือการเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า  ระหว่างธุรกิจและประชาชนในหลายจังหวัดข้อมูลการใช้ไฟฟ้าปี 2549 ของ 3  ห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ  เช่น ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ใช้ไฟฟ้า 123  ล้านหน่วย  ห้างสรรพสินค้ามาบุญครองใช้ไฟฟ้า 81  ล้านหน่วย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ใช้ไฟฟ้า 75 ล้านหน่วย  รวม 3 ห้างใช้ไฟฟ้าไป 278 ล้านหน่วย(ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงปี 2549) หากเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าของคนต่างจังหวัด เช่น  จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดใน 1 ปี ใช้ไฟฟ้าเพียง 65 ล้านหน่วย จังหวัดมุกดาหาร 128 ล้านหน่วย  จังหวัดหนองบัวลำพูใช้ไฟฟ้า 148 ล้านหน่วย  จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดระนองใช้ไฟฟ้าเท่ากันคือปีละ 278 ล้านหน่วย (ข้อมูลจาก พพ.รายงานการใช้ไฟฟ้าประจำปี 2549)เห็นข้อมูลเหล่านี้แล้วผู้เขียนตกใจมาก  เพราะสามารถชี้ให้เห็นการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม  ภาคธุรกิจใช้ไฟฟ้ามากมาย  โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ไม่ต้องรับผลกระทบอะไรเลย  แต่คนที่รับภาระกลับเป็นพี่น้องเราในหลายจังหวัดที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว 8  โรง มีกำลังการผลิต 5,800  เมกะวัตต์  จังหวัดราชบุรีใช้เพียง 400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภาคครัวเรือน 100  ภาคอุตสาหกรรม 300    ที่หน้าตกใจคือยังมีนโยบายจะก่อสร้างอีกหลายโรงในราชบุรี(น่าจะตั้งชื่อว่าจังหวัดไฟฟ้ามหานครแทนราชบุรีนะเนี่ย...)คนราชบุรีถามผู้เขียนว่า เขาผิดอะไรทำไมเขาต้องมารับกรรม เรื่องมลภาวะด้านสุขภาพและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม   ในขณะที่คนเมืองใช้ไฟฟ้ามาก ทำไมไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ  แต่พอพวกเขารวมตัวกันเรียกร้องสิทธิกับถูกภาครัฐมองว่าเป็นพวกถ่วงความเจริญ  ทั้งที่ความเจริญที่ว่านั้นเป็นพิษภัยต่อพื้นที่ ที่ไม่ว่าโรงไฟฟ้านั้นจะใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินหรือก๊าซ หลายพื้นแค่เขารวมตัวกันคัดค้านด้วยเป้าหมายแค่ขอให้เขาได้อยู่อย่างที่เขาเคยอยู่ ไม่ได้เรียกร้องอะไรจากรัฐเพิ่มเลย  สิ่งที่ตอบแทนบางพื้นที่คือต้องมีคนเสียชีวิต เช่น คุณเจริญ  วัดอักษร  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เสียชีวิตจากการคัดค้านโรงไฟฟ้า  คุณทองนาก จังหวัดสมุทรสาคร คัดค้านการขนถ่ายถ่านหินที่เขียนเรื่องนี้ผู้เขียนแค่อยากจะบอกว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ มีอีกหลายเรื่องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ทั้งเอกชน/รัฐ)เช่น แผน PDP 2011 ของกฟผ. ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ 3 โรง และโรงไฟฟ้า ถ่านหินและก๊าซอีก 9 โรงใน 10 ปี  ซึ่ง อ.เดชรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่าหากมีการบริหารจัดการเรื่องการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดการผลิตไฟฟ้าได้ 10,000  เมกะวัตต์ นั้นก็คือสามารยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ 3 โรง และโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซอีก 9 โรง ภายใน10 ปีสรุปคือหากมีการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ดี อีก 10 ปีประเทศไทยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเลย  นี่เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงระหว่าง กฟผ.กับนักวิชาการ   ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้  เพราะไม่มีหน่วยงานใดมาเป็นเจ้าภาพในการหาข้อสรุปในปัญหาเหล่านี้  ทั้งที่เรามี กกพ.(สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน) ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่ยังแบะๆ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เลย   ผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่รู้จะพึ่งใครดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 อยากเห็นจิตสำนึกดารากับการโฆษณาหลอกลวง

 จากข่าวครึกโครมเรื่องคุณค่าทางอาหารของรังนก ที่เราๆ ท่านๆ เชื่อกันมาตลอดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ให้กลับมามีพลังกระชุ่มกระชวยได้เร็วขึ้น ทำให้รังนกเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและราคาแพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักซื้อให้กับคนที่เรารักหรือเป็นของเยี่ยมผู้ป่วย  แต่ผู้เขียนมารู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปรียบคุณค่าโปรตีนของรังนกกับถั่วลิสง ที่น่าตกใจคือเรากินรังนก 1 ขวด 100 กว่าบาท  เราจะได้รับโปรตีนเท่ากับเรากินถั่ว 2 เมล็ด และที่น่าตกใจไปกว่าคือ ไข่ไก่ 1 ฟอง 4-5 บาท มีคุณค่าอาหารเท่ากับเราต้องกินรังนก 24 ขวด 3 พันกว่าบาท(พุทโธธัมโมสังโฆ)นี่ยังไม่รวมที่มีการโฆษณารังนก 100% แต่จริงๆ 1 ขวดมีรังนกเพียง 1 % เศษเท่านั้น   สังคมไทยของเราเป็นอะไรกันทำไมถึงปล่อยให้มีเรื่องหลอกลวงได้ยาวนานถึงเพียงนี้  ทั้งที่เรื่องนี้มีหน่วยงานเฉพาะดูแลอยู่ และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือพอเปิดทีวีดูก็จะเห็นดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสรรพคุณอันเลอเลิศของรังนกอยู่เลย แค่นั้นยังไม่พอยังเอาความรักระหว่างแม่-ลูกมาโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าอีก  คือหากรักแม่ต้องให้แม่กินรังนก  ตอนยังไม่รู้ข้อมูลก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอรู้ข้อมูลแล้วจึงมีความรู้สึกด้านอื่นเข้ามา  คือ พรีเซ็นเตอร์ที่โฆษณาสินค้านั้นๆส่วนใหญ่เป็นดาราและนักร้อง ซึ่งได้รับความรักและศรัทธาจากประชาชน แต่เพียงเพื่อรายได้ของตนเองที่ได้รับจากรับจ้างโฆษณา มองแค่รายได้สูงสุด ไม่มองถึงคุณภาพของสินค้า  ก็เท่ากับเอาความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้มาใช้เป็นเครื่องมือหากิน  โดยไม่คำนึงถึงว่าการโฆษณานั้นหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้บริโภคควรช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องจิตสำนึกของเหล่าดารานักร้อง   ให้คำนึงว่าคุณกำลังร่วมมือกับผู้ประกอบการหลอกลวงประชาชนที่เขารักและสนับสนุนพวกคุณอยู่หรือไม่  อย่าเห็นแค่เพียงรายได้ของพวกคุณฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 ลูกค้าธนาคารออมสิน โวย มาตรการพักชำระหนี้ช่วยภัยน้ำท่วมไม่เป็นจริง

ในช่วงปลายปี 2553 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในหลายท้องที่ของประเทศไทยรวมทั้งที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์แถลงข่าวและส่งจดหมายมาถึงลูกหนี้แจ้งมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกค้าและประชาชน จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ให้พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลาครึ่งปีคุณบุษกร กู้เงินสินเชื่อเคหะจากธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อมาปลูกสร้างบ้านใหม่หลังโดนภัยน้ำท่วมจนบ้านพังอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์นี้เข้าก็คิดว่าดีได้หยุดพักชำระหนี้จะได้นำเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นบ้างเธอเข้าทำสัญญาพักชำระหนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เงินสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน โดยตกลงกันที่จะผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 6 งวด นับแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยเข้าใจว่า ธนาคารจะระงับการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณบุษกรจึงนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนวน 3,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราชำระขั้นต่ำตามสัญญา ปรากฏว่า ถูกธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่มีเงินต้นเลย เมื่อสอบถามกับพนักงานของธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม ก็อธิบายให้เข้าใจเป็นที่กระจ่างไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังกลายเป็นดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ามา ทำให้ต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเขียนเรื่องร้องเรียนเข้าที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามไปยังธนาคารออมสิน และได้รับหนังสือชี้แจงจากนายมนตรี   นกอินทร์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเจ้าพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การผ่อนผันการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการหยุดเรื่องส่งชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ยในขณะผ่อนผัน ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสะสมไว้ รอลูกหนี้มาชำระหนี้เมื่อครบกำหนดสัญญาผ่อนผันการพักชำระหนี้เมื่อได้คำชี้แจงมาแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การให้ข้อมูลโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสิน เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสน และก่อให้เกิดการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่ผิดพลาดมีความเสียหายขึ้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ  และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกหลายรายที่หลงเชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ของธนาคารออมสิน จึงได้จัดเวทีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ธนาคารออมสินได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และมีมติอนุมัติที่จะให้ปรับปรุงบัญชีดอกเบี้ยของ 6 เดือนที่หยุดชำระจำนวนประมาณ 14,000 บาทนั้นออกไปทั้งหมด ส่งผลให้สถานะบัญชีหนี้ของคุณบุษกรกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง “ขอบคุณคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงผู้สื่อข่าวทุกๆ ท่านที่ให้การช่วยเหลือมากเลยนะคะ” คุณบุษกรกล่าวสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่รวดเร็วของผู้บริหารธนาคารออมสินนั้น มูลนิธิฯ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง และขอให้ดูแลลูกค้ารายอื่นให้มีมาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สมกับเป็นธนาคารของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 การบินไทยช่วยผู้โดยสารหลีกภัยนิวเคลียร์?

ยอมเปลี่ยนวันและเส้นทางบิน ปลอดค่าธรรมเนียมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบทั้งเกาะแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับสองแม่ลูกที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นอีกด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่ดูเล็กๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บการตายและบ้านที่พังถล่มทลายของชาวเมืองซากุระ แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ทุกเรื่องที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกัน คุณไปรยา(นามสมมติ) เป็นสมาชิกสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัส ของสายการบินไทย อุตส่าห์ดีใจได้แลกรางวัลไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพร้อมคุณแม่ โดยมีกำหนดเดินทางไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และกลับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ด้วยอากาศที่หนาว กับภาพหิมะที่ปลิวในสายลม เป็นช่วงการเดินทางที่ทำให้คนในเมืองไทยต้องอิจฉาแต่พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดไปหลายเตา ภาพปุยหิมะขาวๆ ละลายเป็นน้ำไปทันที นั่ง นอน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีแต่ข่าวไม่ดี การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า นึกเห็นแต่ภาพเหยื่อกัมมันตภาพรังสีที่น่าขนพองสยองขวัญ“ไม่เอาแล้วโตเกียวเราเปลี่ยนเป้าหมายไปกรุงโซล เกาหลีใต้ ดีกว่า โซนเดียวกัน หนาวเหมือนกัน” เธอบอกกับแม่ คุณไปรยา จึงแจ้งกับการบินไทยเพื่อจะขอเปลี่ยนการเดินทางไปกรุงโซลแทนในวันที่ 2 ธันวาคม และกลับในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 การบินไทยบอกเปลี่ยนได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตกราว  1,200 บาทคุณไปรยาจึงถามกลับไปว่าทำไมต้องคิดค่าธรรมเนียมด้วย ใจน่ะอยากไปญี่ปุ่นแต่กลัววิกฤตินิวเคลียร์จะมาทำร้ายสุขภาพร่างกายของฉันกับแม่ฉันน่ะ เข้าใจไหม และการเดินทางก็อยู่ในโซนเดียวกันทำไมต้องมาคิดค่าธรรมเนียมกันด้วย และถ้าจะรอให้การบินไทยมีนโยบายอนุญาตให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็มักจะประกาศในช่วงเวลาใกล้ๆ การเดินทาง ถึงตอนนั้นก็อาจหาตั๋วไม่ได้แล้ว และต้องเสียสิทธิสะสมไมล์ในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งขอไม่ให้เก็บเพราะเป็นเหตุการณ์พิเศษ การบินไทยน่าจะเห็นใจลูกค้า แต่การบินไทยแจ้งว่าต้องเก็บเพราะเป็นระเบียบ คุยกันไม่จบ...เรื่องจึงมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีจดหมายแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้โดยสาร ต่อมาวันที่ 23  สิงหาคม 2554 คุณอมรา  ลีสวรรค์ ผู้จัดการกองบริการสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสของสายการบินไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมา แจ้งว่า ทางการบินไทยได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางและเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินเป็นกรุงเทพฯ – โซล – กรุงเทพฯ ตามที่ผู้โดยสารประสงค์ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคืนไมล์ 3,750 บาท ต่อ 1 ฉบับ และทำบัตรโดยสารใหม่ในเส้นทางใหม่ และการเปลี่ยนวันเดินทางต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อการเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนเส้นทางจะต้องทำการออกบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอัตรานี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะขึ้นอยู่กับราคาภาษีน้ำมันและวันที่ออกบัตรโดยสารใหม่ (โดยประมาณ 2,130 บาทต่อฉบับ) ซึ่งในส่วนนี้ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ว่าคลี่คลายไปมากคุณไปรยาจึงเปลี่ยนใจขอไปโตเกียวเหมือนเดิม มูลนิธิฯ ขอขอบคุณการบินไทยที่ใส่ใจสิทธิของลูกค้าเป็นอย่างดี ขอให้คุณไปรยาและคุณแม่เดินทางโดยปลอดภัยและไม่เอานิวเคลียร์มาเป็นของฝากกันนะขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 คนไทยกับหมอดู

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลาง  ก็มีการพูดคุยกันหลายเรื่องมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดใจ คือมีคุณพี่ท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นแม่บ้านอยู่บ้านคนเดียว (สามีและลูกไม่อยู่)ก็มีแขกมาเสนอขายมุ้ง  พี่แกก็บอกไปว่าไม่ซื้อ บ้านแกมีมุ้งอยู่แล้วและไล่ให้ไปที่อื่น    แขกขายมุ้งก็เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยบอกว่าดูหน้าตาของคุณพี่ท่านนี้แล้วรู้สึกว่ามีสง่าราศรี  และขออนุญาตดูลายมือ  เอาล่ะซิคนไทยกับโชคลาภ และหมอดู มันเป็นอะไรที่บอกได้คำเดียวว่า “โดน”จากขับไล่อย่างแข็งขัน ก็กลายเป็นอ่อนลงทันที  และยินยอมให้แขกดูลายมือให้แขกดูแล้วก็บอกว่าเธอมีโชคจริงๆ  โดยมีข้อเสนอว่าให้คุณพี่คนนี้เขียนเลขตามที่ชอบใส่มือตัวเองแล้วกำไว้  หากแขกทายถูกว่าคุณพี่เธอเขียนเลขอะไร แสดงว่าคุณพี่เป็นผู้มีโชคลาภต้องซื้อมุ้งแขกในราคาหลังละ 600 บาท  เมื่อคุณพี่เธอได้ฟังเธอบอกว่าใจหนึ่งก็อยาก ลองของ ใจหนึ่งก็อยากได้เลข(ไปแทงหวย)  แกก็เลยตกลงว่าแล้ว เธอก็แอบไปเขียนโดยไม่ให้แขกเห็นแล้วกำมือไว้ในแน่นเลย  จากนั้นแขกก็บอกว่าหากเรา(แขกกับคุณพี่ท่านนี้)หากมีโชคร่วมกันจริง คงทายถูก  จากนั้นแขกก็แบมือเลขที่แขกเขียนมาเทียบกับที่คุณพี่เธอเขียน   สิ่งที่เกิดขึ้นคือเลขตรงกันพอดิบพอดี  คุณพี่บอกว่าตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าถูกแขกหลอกเพราะกำลังดีใจว่าได้ตัวเลขในการแทงหวยงวดหน้าเลยจ่ายเงิน 600 บาทซื้อมุ้งตามที่ตกลงกันไว้   แขกบอกว่าหากถูกหวยอย่าลืมบอกแขกนะ  คุณพี่เธอก็บอกว่า จะบอกแขกได้อย่างไรแขกไม่ให้เบอร์โทร  แขกตอบกลับมาว่าไม่ต้องใช้เบอร์โทร แขกรู้ทางจิตคุณพี่ท่านนี้บอกว่า เธอไม่ได้เสียดายเงินเลย  รอวันหวยออกอย่างเดียว มารู้ว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อหวยออกแล้วไม่โดนเลยซักตัวเดียว เธอก็เลยรู้ว่าถูกหลอก  ที่เจ็บใจไม่ใช่แค่เสียเงินซื้อมุ้ง  แต่เสียเงินซื้อหวยมากกว่า  แจ้งความก็ไม่ได้เพราะแขกไปนานแล้ว  บอกใครก็ไม่ได้เพราะอายที่ถูกหลอก มันเหมือนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ได้แต่เจ็บใจอยู่คนเดียว ที่เขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพียงเพื่อที่จะบอกว่า เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพ มีวิธีแปลกๆ มาหลอกลวงผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่บ้านตามต่างจังหวัด  ผู้เขียนไม่อาจตอบได้ว่าทำไมแขกทายเลขถูก  รู้แต่ว่าแขกจับจุดคนไทยได้ว่าเชื่อเรื่องดวงและชอบโชคลาภ  ใครได้อ่านบทความนี้ก็ช่วยกันบอกต่อกันหน่อย   เพราะไม่รู้จะพึ่งใคร นอกจากเราต้องพึ่งตนเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ร้องทรูมูฟโกงค่าบริการมือถือ

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ได้รับข้อความเชิญชวนว่าเป็นผู้โชคดีให้เข้ารับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแบล็ค เบอร์รี่ มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า เพียงพิมพ์ตัวอักษร TA แล้วส่ง SMS มาที่หมายเลข 420XXXX X เสียค่าส่งข้อความ 3 บาท เท่านั้นก็มีสิทธิจะเป็นผู้โชคดีแล้วไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน เสียแค่ 3 บาทเพื่อลุ้นมือถือราคาเป็นหมื่น คุณโอภาสกดส่งข้อความ TA ไปยังหมายเลขที่ได้รับแจ้งทันที แต่ส่งไปแล้วเงียบฉี่ ไม่มีการตอบรับข้อความแต่อย่างใด“เออ ก็แค่ถูกหลอกเสียเงิน 3 บาท ไม่ได้อะไร” คุณโอภาสคิดในใจแต่หลังจากนั้นไม่นานสักประมาณสี่โมงเย็นของวันเดียวกัน ปรากฏว่ามีข้อความเกี่ยวกับความรักส่งมาที่โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนจ่ายเงินรายเดือนของค่ายทรูมูฟ นับจากครั้งนั้นคุณโอภาสจะได้รับข้อความ SMS ลักษณะนี้วันละสองข้อความด้วยความงงๆ ว่า “มันส่งมาทำไม”คุณโอภาสไม่เคยส่งข้อความตอบกลับเลยสักครั้งเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มาเป็นเรื่องเอาตอนที่บริษัท ทรูมูฟ ส่งใบแจ้งหนี้รายเดือนมา คุณโอภาสจึงทราบว่าข้อความ ”รัก รัก” ที่ส่งมานั้น เขาจะต้องเป็นผู้ชำระเงิน เมื่อสอบถามไปที่ทรูมูฟก็เจอคำตอบเหมือนผู้บริโภคอีกหลายรายว่า ข้อความที่มีการส่งมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรูมูฟแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมา “ผมมีข้อสงสัยจากพฤติการณ์ของบริษัท ทรูมูฟ ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะมีการหลอกลวงผู้ใช้บริการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้นก็อาจทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง โดยการใช้อุบายในการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการหลงเชื่อทาง SMS แล้วอ้างว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น โดยที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย” คุณโอภาสถามมา แนวทางแก้ไขปัญหา จะเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ก็ต้องมาดูกันที่องค์ประกอบในการกระทำผิด หากเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ในกรณีนี้ ข้อเท็จจริงมีว่า มีการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์แบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น แล้วจึงมีการเรียกเก็บค่าบริการในภายหลัง ถ้ารายไหนไม่ทักท้วงยินยอมจ่ายไปโดยดีแล้วมารู้ตัวภายหลังว่าถูกหลอก ตรงนี้ก็อาจจะไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ประกอบการที่ส่ง SMS มาเชิญชวน และผู้ให้บริการมือถือที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากการรับและส่ง SMS ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาสืบสวนกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ผู้ให้บริการมือถือจะต้องคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วในส่วนของการรับส่ง SMS ที่ไม่พึงประสงค์นี้โดยทันทีแต่หากยังไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายตามบิลที่เรียกเก็บมา ผู้บริโภคสามารถทักท้วงได้ว่า บริการ SMS ดังกล่าว ตนมิได้มีความประสงค์ที่จะสมัครใช้บริการแต่เกิดจากการหลอกลวง ขอให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือระงับการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวโดยทันที แต่หากจะยังบังคับขืนใจให้ต้องจ่าย เช่น ขู่ว่าหากไม่จ่ายจะถูกตัดสัญญาณระงับการให้บริการ แล้วผู้บริโภคต้องจำยอมจ่าย มาถึงตรงนี้ก็จะเข้าองค์ประกอบความผิดของการกรรโชกทรัพย์ได้เพื่อป้องกันปัญหาด้านคดีความที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ให้บริการมือถือควรทราบถึงหน้าที่ของตนเอง เมื่อผู้บริโภคได้แจ้งว่าไม่ได้ประสงค์ที่จะใช้บริการ SMS ดังกล่าว ควรที่จะระงับการบริการนั้นทันทีและห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการกับผู้บริโภค หรือหากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วจะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีโดยช่องทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นส่วนลดในรอบบิลถัดไป เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เจ็บใจอยากฟ้องบริษัทลิสซิ่ง สงสัยแกล้งขายรถทอดตลาดราคาต่ำ

ทั้งที่ตัดสินใจถวายรถคืนบริษัทเช่าซื้อไปแล้ว ก็ยังต้องถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอีก และมาชีช้ำซ้ำอีกครั้ง ที่บังเอิญไปเจอรถยนต์ตัวเองถูกขายต่อให้คนอื่นในราคาที่สูงกว่าราคาขายทอดตลาดเกือบแสนคุณภูวดล เขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยความขมขื่นใจเป็นล้นพ้นว่า เมื่อกลางปี 2551 ตนได้เช่าซื้อรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดมือสองกับบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 475,000 บาทเศษ ผ่อน 48 งวด งวดละ 9,911 บาท(ในจดหมายไม่ได้บอกว่าผ่อนไปได้กี่งวด แต่เมื่อตรวจดูคำฟ้องที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายกับคุณภูวดล ได้ความว่ามีการส่งค่างวดไปเพียงแค่สองงวดเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย)หลังจากถูกติดตามทวงถามยึดรถคืนตั้งแต่ปลายปี 2551 ท้ายสุดคุณภูวดลตัดสินใจบอกบริษัทฯ ไม่ต้องส่งคนมายึดรถแล้ว เดี๋ยวจะเป็นคนส่งมอบรถยนต์คืนให้เอง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 คุณภูวนัยส่งมอบรถยนต์คืนให้บริษัทลิสซิ่ง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ปีเดียวกัน บริษัทฯ มีหนังสือบอกกล่าวการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่ส่งคืนมาถึงคุณภูวดลด้วยจดหมายลงทะเบียนตอบรับ และได้นำรถออกขายทอดตลาดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 หรืออีก 4 วันต่อมา ในราคา 300,000 บาท ให้กับบุคคลภายนอกรายหนึ่งไปจากนั้นบริษัทฯ ได้นำเงินในส่วนที่ขายรถได้มาหักลบกลบหนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ ปรากฏว่าก็ยังขาดอยู่อีก 141,000 บาท บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคุณภูวดลเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ และมีลูกตามน้ำคือ ค่าติดตามทวงถาม 7,200 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ผิดนัดค่างวดจนถึงวันที่ได้รถคืนเป็นเวลา 5 เดือนอีก 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่คุณภูวดลถูกฟ้อง 193,200 บาทเมื่อถูกฟ้องคุณภูวดลก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู้คดียังไง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เขาชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ ในท้ายที่สุด แต่ที่ทำให้คุณภูวดลชีช้ำกะหล่ำปลีเพิ่มขึ้นก็คือ วันหนึ่งคุณภูวดลบังเอิญไปเจอรถยนต์คันที่ตัวเองเคยเช่าซื้ออยู่บนถนน ก็ตามไปจนได้พูดคุยกับผู้ที่ครอบครองรถอยู่ ผู้ครอบครองรถได้ให้สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถมาให้ดูพบว่า มีการขายในราคา 393,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 คุณภูวดลถึงกับอึ้งและคิดว่าการขายทอดตลาดเมื่อ 13 มีนาคม 2552 นั้นมีการฮั้วราคากันระหว่างบริษัทลิสซิ่งกับคนซื้อ จึงเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 สอบถามว่า จะฟ้องบริษัทลีสซิ่งแห่งนี้เป็นคดีผู้บริโภคได้หรือไม่ที่ขายรถทอดตลาดได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้ตนได้รับความเสียหายต้องชดใช้หนี้ส่วนต่างที่สูงเกินสมควร แนวทางแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่าผู้บริโภคท่านนี้ตื่นตัวช้าไปนิดนะขอรับ เหตุเกิดเมื่อปี 52 แต่มาเขียนถามกันในปี 54 เจออย่างนี้ก็ต้องบอก “อย่างนี้ก็มีด้วย” ก็คงให้ได้แต่คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องผิดพลาดให้ทราบไว้เป็นบทเรียนสำหรับท่านอื่นๆ ครับ จุดที่หนึ่ง การที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์จะขอบอกเลิกสัญญา และคืนรถที่เช่าซื้อนั้น ควรมีการตรวจสอบสภาพรถและประเมินราคารถก่อนทำการคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานจุดที่สอง การนำรถที่ยึดมาไปขายให้แก่บุคคลอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ พอที่จะบอกได้ว่าบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาต่อผู้บริโภค คือระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือกับระยะเวลาที่นำรถออกขายทอดตลาดห่างกันแค่ 4 วันเท่านั้น อันนี้เป็นข้อพิรุธ ในขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นสัญญาควบคุมและกำหนดให้ระยะเวลาการบอกกล่าวก่อนนำรถออกขายจะต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ จุดที่สาม เมื่อมีการนำรถออกขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้อควรเข้าไปดูการประมูลด้วยตนเองว่า เป็นการประมูลขายทอดตลาดที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคควบคุมนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น ก็เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากผู้เช่าซื้อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการประมูลหรือขายทอดตลาดรถเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสัญญากับผู้เช่าซื้อตามที่ว่ามา ศาลก็อาจจะพิจารณายกฟ้องก็เป็นได้แต่เมื่อผู้บริโภคไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบการประมูลหรือเข้าต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากฝ่ายบริษัทฯ เท่านั้น และเป็นการยากที่จะดำเนินการฟ้องใหม่และอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องซ้ำไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้เข้าไปค้านในเวลาที่บริษัทฯ ขายทรัพย์ และไม่ได้เข้าต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ที่มาซื้อรถในการขายทอดตลาดโดยซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายเอากำไรในภายหลังก็สามารถทำได้โดยชอบ ดังนั้นผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากพบว่าตนเองจะไม่สามารถผ่อนค่างวดรถต่อไปได้ และยังเหลือค่างวดอีกบานตะไท การขายดาวน์รถอาจเป็นทางเลือกหนึ่งแต่จะต้องไม่ทำการซื้อขายกันเองเด็ดขาด เพราะผู้ซื้อรถต่ออาจไม่ส่งค่างวดกับบริษัทเช่าซื้อตามที่รับปากก็ได้ ทางที่ดี...ควรจะจูงมือกันไปที่ไฟแนนซ์เปลี่ยนชื่อของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่าซื้อให้เป็นชื่อและผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถรายใหม่เสียให้เรียบร้อย อย่างนี้ปลอดภัยไม่โดนฟ้องร้องในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >