ฉบับที่ 100 มหัศจรรย์...นมเหนือนม

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม นมเล็ก นมใหญ่ ไม่เกี่ยว นมเบี้ยวก็ถอยไป เพราะนี่คือนมมหัศจรรย์ครับ เรื่องของเรื่องคือหัวหน้าแผนกของผม ท่านไปได้เอกสารชิ้นหนึ่งและนำมามอบให้ผมดำเนินการต่อ สงสัยเห็นว่าเรื่องนมน่าจะถูกกับจริตของผม(ฮา) ผมดูผ่านๆ มันก็คือเอกสารโฆษณานมผงชนิดละลายน้ำดื่มนั่นเอง แต่เมื่อเริ่มอ่านต่อไปเรื่อยๆ ความมหัศจรรย์ของนมชนิดนี้ก็เริ่มปรากฏครับ นมชนิดนี้เขาระบุว่าผลิตจากประเทศนิวซีแลนด์ อ้างว่าคุณค่าจากสมมติฐานน้ำนมมารดานั้น อุดมไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นต่อมตื่นเต้นได้ง่ายๆ เช่น มีภูมิคุ้มกันโรคถึง 26 ชนิด มีสารต่อต้านการอักเสบบวมแดง มีสารต่อต้านการอุดตันของไขมัน และมีสารกระตุ้นเซลล์ Macrophage แต่ที่เด็ดสะระตี่ (อีกแล้ว) คือมีการอ้างว่าได้รับสิทธิบัตรด้านอาหารและยากว่า 250 ฉบับจาก 27 ประเทศทั่วโลก คงเข้าทำนอง นมเหนือนมที่เราๆ ท่านรู้จักกัน (ฮา) ส่วนสิทธิบัตรนั้นก็ระบุว่าเป็นสิทธิบัตรหลักที่ผ่านการรับรอง ซึ่งมีถึง 10 ประการเชียวนะครับ (ขอบอก) และผมขอย้ำว่าก่อนจะอ่านต่อไป โปรดใช้วิจารณญาน พิจารณาตามหลักกาลามสูตรด้วยนะครับ (หากเป็นเด็กเล็กควรได้รับการชี้แนะจากผู้ปกครอง) ทีแรกก็เริ่มแค่การป้องกัน เริ่มตั้งแต่ป้องกันความดันโลหิตสูง , ป้องกันการอักเสบ พอผ่านไปสองข้อ เริ่มมีการรักษาเข้ามาด้วยแล้ว ป้องกัน – รักษาการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด , ป้องกัน – รักษาไขข้ออักเสบปวดตามข้อ , ป้องกัน – รักษากระเพาะอาหารและลำไส้ , ป้องกัน - รักษาปอด หลังจากนั้นก็เริ่มอ้างว่า เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรคให้สูงขึ้น แต่ที่เด็ดสะท้านโลกันต์มันพะย่ะค่ะก็คือ มีการอ้างว่าป้องกันฟันผุ กำจัดกลิ่นตัวและชะลอการเสื่อมสลายก่อนวัย โอ้...แม่เจ้า! มันช่าง มหัศจรรย์ ชนิดนมเหนือนม ซะนี่กระไร (ฮา) งานนี้ผมคงไม่ต้องมาอธิบายซ้ำว่ามันจะเป็นจริงไปได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ฉลาดซื้อทุกคนคงจะมีคำตอบแล้วนะครับว่า เจ้าอาหารประเภทนมน่ะมันจะสามารถรักษาโรคได้ขนาดนี้ทีเดียวหรือ และจำได้ไหมครับ ผมเคยเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า ผลิตภัณฑ์นมนั้นต้องมี อย. และหากจะดูว่า เอกสารโฆษณาชิ้นใดได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มันจะต้องมีตัวอักษร ” ฆอ ” พร้อมตัวเลขแสดงลำดับที่การได้รับอนุญาตแสดงให้เห็นด้วย แต่ผมก็พลิกคว่ำพลิกหงายดูหลายตลบก็ยังไม่เจอ หรือว่าจะเป็นความมหัศจรรย์อย่างสุดท้ายของผลิตภัณฑ์นี้ที่จะสำแดงให้ผมเห็นก็ได้.....เอวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 Code นมสิ่งสำคัญในการปกป้องสุขภาพเด็กไทย

Code นม หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast  Milk Substiututes ) ณ ปัจจุบันหลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีกฎหมายเป็นข้อบังคับ จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลให้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยอยู่ภาวะที่ต่ำมากในเอเชีย นั่นหมายถึงสุขภาพของเด็กไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในอนาคต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  Code นม ที่ประเทศต่างๆ ได้มีมติรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524  เป็นกฎเกณฑ์ปกป้องสุขภาพเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินนมแม่  ซึ่งถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2524  แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีหลักฐานจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กนั้น มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  อย่างเช่นการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในปี 1986 ส่งผลให้มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลลดลง จากร้อยละ 57.5  ในปี ค.ศ. 1986 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี ค.ศ. 1988  ประเทศไทยของเราน่าเป็นห่วงมากว่า ถึงแม้เราจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่เราไม่สามารถป้องกันหรือบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน การมีหลักเกณฑ์จึงไม่สามารถควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่ได้ ในทัศนะของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้ติดตามการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย เห็นว่า มีกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ  มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นของขวัญฟรีแก่แม่  การใช้ข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจว่าสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก และมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ  การอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสถานประกอบการ หรือผ่านกิจกรรมในโรงพยาบาล  การทำตลาดผ่านสื่อ Call Center  จดหมาย หรือ SMS  เพื่อติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง  การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ่านโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแจกของขวัญให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล “เครื่องมือส่งเสริมการตลาดเหล่านี้ ได้สร้างมายาคตินมผงเท่ากับนมแม่ ชวนให้แม่เชื่อผิดๆ ว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมแม่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลที่อุตสาหกรรมนมผงใช้ในการขัดขวางการผลิตน้ำนมของแม่  เมื่อแม่ไม่ได้ให้นมลูก กระบวนการผลิตน้ำนมก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น  ทำให้น้ำนมแม่ก็แห้งไปจากอกแม่  แม่จึงเข้าใจว่าน้ำนมไม่พอ ในที่สุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก็ไม่สำเร็จ” เมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอในช่วง 6 เดือนแรก ทารกก็สูญเสียสิทธิที่จะได้รับสารอาหารที่ดีสุดในชีวิตไป ซึ่งทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงเลี้ยงลูกสูงถึงปีละกว่า 7 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโรคภูมิแพ้อีกปีละเกือบ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ท่ามกลางความเสียหายต่อสุขภาพทารกและระบบสาธารณสุขของประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมทำให้อุตสาหกรรมนมผงได้กำไรต่อปีกว่าพันล้านบาท ทางด้านเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มคุณแม่ ที่มีความตระหนักร่วมกันไม่ต้องการให้การตลาดนมผงมาสร้างมายาคติ หรือความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี เพราะนมมีคุณค่าที่สุดที่จะเลี้ยงลูกของตนเอง  จากคุณแม่ไม่กี่คนที่เชื่อมั่น และต้องการเห็นเด็กๆ คนอื่น มีความเท่าเทียมในการเติบโตอย่างมีสุขภาพ จึงเริ่มต้นแนะนำให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ด้วยสื่อออนไลน์เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย จากเว็บไซต์ และปัจจุบันยังอาสาทำงานให้ความรู้คุณแม่เท่าทันการตลาด ล่าสุดเข้าเพื่อความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและขยายผลได้ดี ปัจจุบันจึงเป็นเฟสบุ๊ค “นมแม่ แบบแฮปปี้” พญ.ศศินุช รุจนเวช  ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ยังเล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่กุมารแพทย์ เหมือนกับคุณแม่ทั่วไป ที่กังวลกับการมีลูก ตอนที่มีลูกก็มีปัญหาน้ำนมไม่มี แต่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่เข้ามาสนับสนุนนมแม่ จึงเริ่มสนใจเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และเริ่มต้นจากแม่ๆ มาเริ่มพูดคุยแชร์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  จึงเกิดความต้องการอยากให้คุณแม่ทุกคนให้นมแม่สำเร็จ เห็นลูกเราแข็งแรง แต่เด็กอื่นๆ ที่กินนมผง กินนมแม่น้อย มีความเจ็บป่วยมากกว่า มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้สนใจเรื่องการตลาด และข้อเท็จจริงก็คือคนส่วนใหญ่สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่พอมีการตลาดเข้ามาก็ไปขัดขวางให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้ผิดๆ  เราเป็นห่วงว่าอัตราการให้นมแม่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างคุณแม่ในทีมที่แข็งขันท่านหนึ่ง ที่มีสามีเป็นแพทย์ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลตรงนี้มาเผยแพร่ พวกเราช่วยกันทำงานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุยกับคนใกล้ตัว แล้วก็เจอปัญหาที่โดนคนรอบข้างกดดันเพราะอิทธิพลของการโฆษณา หลายคนเจอว่าทำไมไม่ให้ลูกกินนมผง มีสารดีๆ อยู่ในนมผงเยอะนะ  เราจึงเห็นว่านี่คือผลของอิทธิพลการโฆษณา ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและส่งผลต่อแม่ที่อยากให้ลูกทานนมแม่ ประเทศไทยจึงควรขจัด “มายาคติ” เหล่านี้ จึงอยากฝากคุณแม่ทุกท่านให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และอยากให้มีเครือข่ายกว้างขวางช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ถ้าเครือข่ายเราเข้มแข็งการป้องกันเด็กทารกจะดีขึ้น และท้ายที่สุดหวังว่าจะมีการสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยจากอิทธิพลของการตลาดนมผง   ข้อมูลจาก เวทีชี้แจงกับสื่อมวลชน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ในประเด็น “ความสำคัญของ Code นม เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กไทย”  ที่ โรงแรมแรมเอเชีย  จัดโดยโครงการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่ฯ  ได้รับการสนับสนุน โดย องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 น้ำนมแห่งความทันสมัย

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมานคุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมเด็กๆ จึงต้องดื่มนม และทำไมเด็กบางคนก็ดื่มนมเรื่อยมาจนแม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม คำถามแบบนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่รู้ว่าผู้เขียนจะนั่งถามไปทำไม เพราะหากเด็กไม่ดื่มนมกันแล้ว จะให้เด็กบริโภคอะไรกัน ที่จะให้คุณค่าสารอาหารที่ครบทั้งสารโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน และที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนยังต้องดื่มนมต่อมา ก็เป็นเพราะว่าธาตุอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ถูกรับรู้ว่าเป็นความจำเป็นต่อร่างกายของเขาและเธอเหล่านั้น คำตอบข้างต้นน่าจะเป็นวิธีคิดที่ได้มาจากปากของบรรดานักโภชนาการส่วนใหญ่ เพราะนักโภชนวิทยาทั้งหลายนั้น มักจะสนใจที่จะเสาะแสวงหาวิถีทางอันใดก็ตาม ที่จะทำให้เยาวชนน้องๆ เจริญด้วยอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่ เพราะฉะนั้น การบริโภคน้ำนมก็เป็นอีกหนึ่งวิถีที่จะทำให้เด็กไทยมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง   แต่สำหรับนักสังคมศาสตร์แล้ว กับคำถามที่ว่าทำไมเด็กๆ ต้องดื่มนม ก็อาจจะไม่ได้นำไปสู่คำตอบแบบเดียวกับที่นักโภชนาการท่านได้วิสัชนาเอาไว้ คำตอบหนึ่งที่นักสังคมศาสตร์ได้ให้ไว้ก็คือ น้ำนมวัวไม่ได้อิ่มเอมแค่ธาตุสารอาหารเท่านั้น หากแต่การดื่มนมเป็นประจำยังเป็นดัชนีชี้วัดว่า สังคมแห่งการบริโภคน้ำนมได้ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งความทันสมัยกันแล้วหรือยัง มีเรื่องราวเรื่องเล่าที่โฆษณานมกล่องยี่ห้อหนึ่งได้ผูกเนื้อหาเอาไว้ เป็นไปตามจิงเกิ้ลหรือเพลงประกอบที่เขียนขึ้นว่า “ดื่มนม ดื่มได้ทุกวัย วัยเด็กดื่มไปจะได้โตกัน วัยรุ่น ดื่มนม ไม่ต้องรอเมื่อไรก็ได้ โตแล้วดื่มนมไม่หยุดวัยนี้ ไม่สะดุด อย่าหยุดดื่มนมวัยนี้ ดื่มเลย ดื่ม(...)ดื่มให้กับชีวิต เริ่ม(...)ได้ตลอดชีวิต” และเพื่อให้สอดรับไปกับเนื้อเพลง โฆษณาก็ได้ผูกเรื่องราวของภาพเอาไว้ โดยเปิดฉากด้วยภาพของเด็กชายตัวเล็กคนหนึ่งกำลังเดินเล่นเตะฟุตบอลอยู่ แล้วก็จับพลัดจับผลูมาเผชิญหน้ากับก๊วนเด็กอ้วนกวนเมือง แต่ก็เข้าใจว่า เด็กน้อยคงจะดื่มนมมา ก็เลยสำแดงพลังไล่ก๊วนเด็กกวนเมืองจนวิ่งหนีกันขวัญกระเจิง จากนั้นก็มาถึงวัยที่เด็กน้อยเข้าโรงเรียน น้ำนมก็ทำให้เขามีกำลังวังชาวิ่งเล่นในสนามได้เร็วยิ่งนัก พอโตขึ้นและมาเป็นนักเรียน รด. น้ำนมก็เสริมพลังให้ปีนรั้วได้อย่างแข็งขัน และพอถึงช่วงวันสอบ เด็กน้อยที่อาจจะถูกคุณครูดุที่เผลอหลับไปบ้าง แต่ก็ยังมีพลังของน้ำนมสร้างเรี่ยวแรงจนทำสอบได้สัมฤทธิ์ผล ภาพตัดจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน เมื่อเด็กน้อยเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับโลกแห่งอาชีพและภาระงานที่วางไว้บนโต๊ะกองโต แต่เมื่อชายหนุ่มดื่มนมไปจนหมดกล่อง เขาก็ฮึดมีแรงปั่นงานทั้งกองจนแล้วเสร็จ นำความประหลาดใจมาให้กับเจ้านายที่ตำหนิติเตียนเขามาก่อนหน้านั้น ในที่สุด น้ำนมกล่องก็ได้บันดาลให้เด็กน้อยโตมาเป็นชายหนุ่มวัยทำงาน และกลายมาเป็นผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ภาพของโฆษณาปิดท้ายด้วยนักบริหารมือทองของเราที่ได้พลังน้ำนมกล่องจนเปี่ยมล้น สามารถตีกอล์ฟลงหลุมแบบโฮลอินวัน และยืนชูมือประกาศชัยชนะอยู่กลางสนามกอล์ฟ เป็นอันปิดบทสรุปเรื่องเล่าเรื่องราวของปาฏิหาริย์ในน้ำนมกล่องได้อย่างน่าประทับใจ ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับมาที่โจทย์คำถามของนักสังคมศาสตร์ที่ว่า ทำไมน้ำนมกล่องจึงเป็นดัชนีชี้วัดการก้าวเข้าสู่สังคมที่ “ทันสมัย” ได้นั้น โฆษณาก็ดูเหมือนจะให้คำอธิบายไว้ว่า สังคมที่ทันสมัยต้องมองทุกอย่างไปข้างหน้า เด็กในวันนี้ก็คือวัยรุ่นในวันหน้า และวัยรุ่นในวันหน้าก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้นในอนาคต และหากเด็กที่ดีจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้นั้น ก็ต้องมาจากการบริโภคโภชนาหารที่ดี ๆ และเพียบพร้อมคุณค่าครบถ้วนนั่นเอง ผมจำได้ว่า ถ้าย้อนกลับไปราวสองหรือสามทศวรรษก่อน จะมีสโลแกนทางโทรทัศน์ข้อความหนึ่ง ที่ฮิตติดปากติดลมบนคนไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมากว่า “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” ผมเดาเอาว่า น้ำนมที่สังคมคาดหวังให้เด็กๆ บริโภคนั่นแหละ ที่คนยุคดังกล่าวเชื่อว่า น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างชาติไทยให้ทันสมัยได้ทันเทียมกับนานาอารยประเทศ อันที่จริงนั้น สูตรการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคนมเพื่อสร้างความทันสมัยในทำนองนี้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เอี่ยมอ่องแต่อย่างใดนัก เพราะแม้แต่ในสังคมอเมริกันที่กล่าวกันว่า เป็นผู้นำแห่งความทันสมัยเหนือกว่าชาติอื่นๆ ทั้งมวล ในยุคสงครามเย็นนั้น อเมริกาก็ยังเคยสร้างตัวการ์ตูนอย่างป๊อปอายที่บริโภคผักขม เพื่อเพิ่มพลังงานเอาไว้ปกป้องผู้ใหญ่ในประเทศโลกที่สามที่ผอมแห้งแรงน้อยอย่างคุณน้องโอลีฟ ออยล์ มาแล้วเลย แต่จุดต่างที่สำคัญก็คือ เด็กๆ ในสังคมอเมริกัน เขามีแนวโน้มที่จะขาดเกลือแร่และวิตามินต่างๆ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ชอบรับประทานมังสาหารมากกว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่นๆ เพราะฉะนั้น ป็อปอายจึงต้องเน้นการบริโภคพืชผักอย่างผักขมเพื่อเพิ่มพลัง แต่สำหรับสังคมไทยที่มักจะเดินตามรอยอเมริกันชนที่ทันสมัยนั้น ผักหญ้าปลาปิ้งอาจไม่ใช่ปัญหาการกินของเด็กไทยเท่าใดนัก เพราะประเทศแถบเมืองร้อนมีให้รับประทานกันหลากหลายชนิดอยู่แล้ว คนไทยในยุคสามสิบปีก่อนเลยต้องเน้นเพิ่มเสริมธาตุโปรตีนให้มากขึ้น โดยมี “เนื้อนมไข่” ที่กลายเป็นอาหารหลัก อันแปลว่า “น้ำนมกล่อง” ก็คือวัตถุดิบชนิดหนึ่งของการสร้างชาติให้ทันสมัยไปโดยปริยาย และมาถึงสามสิบปีให้หลัง ความคิดเรื่อง “เนื้อนมไข่” กับการสร้างความทันสมัยของชาติ ก็มิได้จางหายไปแต่อย่างใด ก็แบบที่โฆษณาบอกไว้นั่นแหละครับ จะเป็นวัยเด็กเตะฟุตบอล จะเข้าโรงเรียนไปวิ่งแข่งแบบฟอร์เรสต์ กัมพ์ จะวิ่งข้ามรั้วเป็นนักเรียน รด. หรือจะเรียนจบทำงานและเป็นถึงผู้บริหารระดับสูง โปรตีนในน้ำนมก็ยังคงเป็น “ความจำเป็น” ที่จะพัฒนาทั้งคนและชาติให้ก้าวหน้าอารยะต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเส้นกราฟที่มองอนาคตไปข้างหน้า จะไร้ซึ่งอุปสรรคอันใด ถ้าคุณผู้อ่านยังพอจำได้นะครับ กับข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อประมาณสามสี่เดือนก่อนที่ประโคมกันว่า การบริโภคน้ำนมของเด็กไทยเราได้เผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่นมโรงเรียนที่มีการส่งเสริมให้เด็กๆ นักเรียนได้ดื่มกันตอนกลางวันเกิดบูดเสียขึ้นมา และมีเด็กจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาล จนกลายเกิดเป็นวิกฤติการณ์ “นมบูด” กระจายตัวไปทั่วทั้งประเทศ วิกฤตินมบูดแบบนี้ ให้ข้อพิสูจน์กับเราว่า เส้นทางการพัฒนาไปสู่สังคมทันสมัยของไทยนั้น ไม่ได้เป็นกราฟเส้นตรงแบบพุ่งทะยานดิ่งขึ้นฟ้าเสมอไป แต่อาจมีบางจังหวะเหมือนกันที่ความทันสมัยก็ต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติ นมกล่องนมถุงที่กลายเป็นนมบูด ก็คืออาการของโรคทันสมัยที่เผชิญกับความบูดอยู่เป็นระยะๆ นั่นเอง หากคิดตามปรากฏการณ์เช่นนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า โฆษณามีหน้าที่สำคัญเหมือนเป็น “ทนายหน้าหอ” คอยแก้ต่างให้กับจังหวะที่ล้มเหลวหรือ “บูดลง” ของวงจรความทันสมัย อันหมายความว่า ภายใต้วิกฤติของระบบการผลิตแบบกรณีของนมแบบนี้ โฆษณาจะถูกผลิตออกมาเพื่อยืนยันว่า วิกฤตินั้นแก้ไขได้ เด็ก ๆ ทั้งหลายจึงอย่าเพิ่งสิ้นหวังในการดื่มนม แม้นมจะบูดไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นวิกฤติเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และที่สำคัญ โฆษณาก็บอกด้วยว่า คุณๆ จะหยุดดื่มนมไม่ได้นะครับ ต้องดื่มทั้งวันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ เป็นเส้นกราฟที่ยังคงดิ่งตรงไปข้างหน้าเช่นเดิม เรียกได้ว่า โฆษณาได้จัดการ “แปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส” ที่เสนอขายนมกล่องให้กับทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยอื่นๆ พ่วงเข้าไปได้อีกเป็นกระบุงโกย ในยุคที่ความทันสมัยกำลังเริ่ม “ตั้งไข่” ในสังคมไทย โฆษณาโทรทัศน์อาจจะถามคุณๆ ว่า “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” แต่มาถึงทุกวันนี้ที่ความทันสมัยได้ฝ่าวิกฤติฝ่าลมฝ่าฝนที่ร้อนและหนาวมาหลายทศวรรษ ดูเหมือนว่า คำถามที่สังคมทันสมัยกำลังถามผ่านโฆษณา คงจะเปลี่ยนไปเป็นว่า “วันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ คุณได้ดื่ม คุณกำลังดื่ม และคุณยังยืนยันที่จะดื่มนมแล้วหรือยัง” ??

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 วาสนา ธนมิตรามณี สมาชิกฉลาดซื้อจากแดนใต้

...ก็เขียนย่อเอาไว้เกือบทุกเล่มเลย เพราะว่าเราอายุมากแล้วบางทีก็จำไม่ได้ ก็จะย่อๆ เอาไว้ จดเนื้อหา ก็จดทุกคอลัมน์นะ ฉลาดช้อป เรื่องอาหาร ข้อคิดในละคร อ่านทุกคอลัมน์ ทำให้เราเขียนหนังสือได้เร็วด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนยาวมากๆ ก็ฉีกเก็บไว้เลย ขี้เกียจจด แต่เนื้อหามันดี ชอบก็ฉีกเก็บไว้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ล่องใต้กันมาที่ เมืองแห่งดินแดนร้อยเกาะ  แค่ประโยคเดียวหลายๆ คนคงจะร้องอ๋อ และพูดประโยคต่อไปกันได้เลย  ถูกแล้วค่ะ  ฉลาดซื้อพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสมาชิกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วาสนา ธนมิตรามณี สมาชิกนัมเบอร์ต้นๆ ของเรา  คุณวาสนาอ่านฉลาดซื้อ ตั้งแต่ทำงานเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่เธอบอกกับเราว่า เวลาทำงานยุ่งมากๆ  จนเมื่อหนังสือมาส่งแล้ววางกองๆ ไว้ก่อน เมื่อพอมีเวลาจึงหยิบมาอ่านทีละเล่มๆ จนปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วจึงย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านใน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ยังคงติดตามฉลาดซื้อไม่ขาด รู้จักฉลาดซื้อได้อย่างไร จำไม่ได้แล้วว่ารับฉลาดซื้อมาตั้งแต่ฉบับไหน ไม่รู้ไปซื้อมาได้อย่างไรด้วย นานมาก ซื้อคู่กับหมอชาวบ้านเลย ชอบอ่าน อ่านทุกหน้า เมื่อก่อนเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ค่อยมีเวลา แต่ตอนนี้เกษียณแล้วพอมีเวลาบ้างก็อ่านเป็นความรู้ ชอบคอลัมน์ไหนบ้างคะ ชอบเสียงผู้บริโภค อ่านเอาไว้เป็นตัวอย่าง แต่ยังไม่เคยเจอเรื่องไหนกับตัวเองนะ เคยเอาเนื้อหาอะไรจากหนังสือไปใช้บ้างไหม มีพวกเรื่องทดสอบต่างๆ บางทีก็บอกพี่สาวว่าอันนี้ๆ ดี แล้วก็เขียนย่อเอาไว้เกือบทุกเล่มเลย เพราะว่าเราอายุมากแล้วบางทีก็จำไม่ได้ ก็จะย่อๆ เอาไว้ จดเนื้อหา ก็จดทุกคอลัมน์นะ ฉลาดช้อป เรื่องอาหาร ข้อคิดในละคร อ่านทุกคอลัมน์ ทำให้เราเขียนหนังสือได้เร็วด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนยาวมากๆ ก็ฉีกเก็บไว้เลย ขี้เกียจจด แต่เนื้อหามันดี ชอบก็ฉีกเก็บไว้ เมื่อก่อนเป็นพยาบาลก็ไม่มีเวลา บางเดือนก็ไม่ได้อ่าน ตอนนี้ได้อ่านทุกเล่ม บางทีลูกเขยก็เอาไปอ่าน อ่านทั้งครอบครัว พอไปกรุงเทพฯ ก็ไปสมัครสมาชิกไว้ทีละ 2 ปีเลย เพราะอยู่แถวนี้จะออกไปไปรษณีย์หรือธนาคารก็ยาก อาศัยตอนเข้ากรุงเทพฯ ก็สมัครไว้ สมัครคู่กับหมอชาวบ้าน แต่ฉลาดซื้อมาช้ากว่านะ บางทีหมอชาวบ้านมาแล้วแต่ฉลาดซื้อกลางเดือนแล้วยังไม่มา ก็ลองโทรไปสอบถาม ตอนนี้รู้แล้วว่าออกช้า คือกลัวว่ามันจะไปตกหล่นอยู่ที่ไปรษณีย์(แต่ก็ได้รับครบทุกเล่ม) สนใจอยากให้ทำเรื่องเป็นพิเศษบ้างไหม ก็ดีอยู่แล้วนะ คอลัมน์มีอะไรในละคร การวิจารณ์ตัวละครคนเขียนเขาช่างเขียนวิจารณ์เก่งจริงๆ เลย ส่วนเรื่องทดสอบก็มีพวกสินค้าบางอย่าง ราคาเดิมแต่ปริมาณมันลดลง แล้วก็มีเรื่องน้ำมันทอดซ้ำ มีร้านแถวๆ นี้ที่เวลาทอดไปแล้วก็เติมๆ น้ำมันลงไป แล้วขายดีมากเลยนะปาท่องโก๋ร้านเขา มันก็อยู่ที่สาธารณสุขจังหวัดด้วย เพราะถ้ามาตรวจมันก็ทำไม่ได้ทั่วทั้งหมด มีเรื่องพวกสารเคมีในผักผลไม้ ปกติซื้อในตลาด แม่ค้าเขาบอกเหมือนกันทั้งนั้น หาที่ไม่ฉีดยาไม่ได้แล้วสมัยนี้ เราก็ต้องซื้อมาล้างหลายน้ำแล้วก็ลวกเอา แต่อาหารทะเลไม่มีปัญหานะเพราะมาตรงเลยไม่ได้แช่แข็ง หนังสือที่อ่านเก็บไว้ทั้งหมดเลยไหม เมื่อก่อนตอนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชพออ่านเสร็จแล้วก็เอาไปวางไว้ตามตึกต่างๆ ในโรงพยาบาล เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่าน แต่หนังสือก็ไม่สมบูรณ์นะเพราะบางเล่มก็โดนเราฉีกบางหน้าไปเก็บ แต่ตอนนี้ก็เก็บไว้ หนังสือที่เก็บก็ตั้งๆ เรียงไว้ตาม พ.ศ. เอาไว้ คู่กับหมอชาวบ้าน  ส่วนเรื่องที่บันทึกเก็บเอาไว้เตือนความจำนั้น  เราเลือกเอาจากความสนใจ  คือ  อันไหนที่เราสนใจ  เราก็จะจดเอาไว้   วันนั้นทีมงานกับสมาชิกพูดคุยกันสนุกสนานมาก พวกเรารู้สึกปลื้มใจที่ฉลาดซื้อมีแฟนพันธุ์แท้ระดับตำนานมากมาย มีโอกาสจะไปเยี่ยมเยียนให้ทั่วถึงทุกภาคนะคะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ตู้เติมน้ำมัน (ไม่) อัตโนมัติ

คงไม่มีใครอยากซื้อของมาเพื่อซ่อม ยิ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่าง ตู้เติมน้ำมันอัตโนมัติด้วยแล้ว มาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งาน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดกรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่อยู่ในสถานะเป็นผู้ให้บริการ เขาซื้อตู้น้ำมันอัตโนมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราคาเกือบ 60,000 บาท พร้อมการรับประกัน 1 ปี มาให้บริการประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดใช้เครื่องก็มีปัญหาจุกจิกมาตลอด แม้จะแก้ไขปัญหาด้วยการให้ช่างของบริษัทมาเปลี่ยนอะไหล่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หายขาดได้ในที่สุดความอดทนของผู้ร้องก็หมดลงเมื่อใช้ไปได้ประมาณครึ่งปี เขาต้องการคืนสินค้าและขอเงินคืนเต็มจำนวน โดยให้เหตุผลว่าเครื่องดังกล่าวน่าจะมีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้สินค้าเสียบ่อยเกินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องระบบเตือนภัย ลูกค้าเติมเงินแล้วไม่ได้น้ำมัน หรือหัวจ่ายน้ำมันออกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจและไม่อยากมาใช้บริการอีก นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือไม่ประทับใจบริการหลังการขายมากที่สุดอย่างไรก็ตามเมื่อเขาเสนอข้อเรียกร้องไปยังบริษัท กลับได้รับคำตอบว่าจะคืนเงินให้จำนวน 30,000 บาทเท่านั้น โดยไม่ชี้แจงเหตุผลที่ไม่คืนเงินเต็มจำนวน ซึ่งทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องทำให้หนังสือไปยังบริษัท โดยให้มีข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรูปถ่ายของตู้นำมันดังกล่าว และนัดเจรจากับทางบริษัท ซึ่งภายหลังการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทชี้แจงว่า ปกติสินค้าซื้อแล้วไม่รับคืน แต่หากสินค้าอุปกรณ์ชำรุด เนื่องจากผิดพลาดจากการผลิต ก็ยินดีเปลี่ยนอุปกณ์หรือซ่อมให้ฟรี อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการคืนเครื่องก็สามารถทำได้ แต่บริษัทจะคืนเงินให้เพียง 30,000 บาท เพราะอ้างว่าเป็นค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ หรือจะรับข้อเสนออื่นๆ จากบริษัทก็ได้ เช่น เปลี่ยนเครื่องใหม่ ด้านผู้ร้องไม่ต้องการใช้บริการกับบริษัทนี้แล้ว จึงต้องยินยอมรับเงินจำนวนนั้นไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อตู้นำมันอัตโนมัติ เมื่อได้เครื่องมาแล้วสามารถติดต่อกรมการค้าภายในที่เบอร์โทรศัพท์ 1569 ฝ่ายชั่งตวงวัด เพื่อให้มาตรวจสอบตู้น้ำมันก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับตู้น้ำมันอัตโนมัติที่ไม่ได้รับมาตรฐานนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 พบปัญหานมเสียก่อนวันหมดอายุ อย่าเพิ่งทิ้ง

เรื่องนมบูดเสียก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างกล่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกล่องที่บรรจุเครื่องดื่มนั้นอาจมีรอยรั่วเล็กๆ ที่สามารถทำให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำนมจนเสียได้ แต่วิธีการจัดการปัญหาใกล้ตัวเพื่อรักษาสิทธิของตนเองที่เป็นผู้บริโภคนั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า ดังเช่นกรณีต่อไปนี้ผู้ร้องพร้อมเพื่อนซื้อน้ำนมข้าวโพดยี่ห้อ เนเจอรี่ มาดื่ม จำนวน 6 แพค บรรจุแพคละ 3 กล่อง รวมเป็นเงิน 174 บาท จากท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต ในห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค เมื่อวันที่ 4 เม.ย.58 และเมื่อดูวันหมดอายุข้างกล่อง ก็ระบุว่าเป็นวันที่ 5 ธ.ค.58  (051215)  หรืออีก 8 เดือนจึงจะหมดอายุ แต่พอนำกลับมาดื่มเช้าวันถัดมากลับพบว่า กล่องหนึ่งมีรสเปรี้ยวต่างไปจากที่เคยซื้อมารับประทาน นอกจากนี้เมื่อให้คนรอบข้างชิมก็รู้สึกเปรี้ยวตรงกัน จึงได้ลงความเห็นว่านมข้าวโพดกล่องนี้ต้องเสียแน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุ อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ไม่ได้ทิ้งน้ำนมข้าวโพดกล่องนั้นไปเฉยๆ เพราะคิดว่าผู้ผลิตควรรับผิดชอบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้มีความปลอดภัย จึงได้มาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องถ่ายภาพผลิตภัณฑ์  วันหมดอายุ เลขครั้งการผลิต ใบเสร็จรับเงินการซื้อสินค้า เพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้มูลนิธิทางอีเมล์ พร้อมแนะนำให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และทำหนังสือหรือไปแจ้งปัญหาที่ห้างสรรพสินค้าด้วยตัวเอง โดยนำหลักฐานต่างๆ พร้อมพยานไปด้วย ซึ่งหากสำนักงานใหญ่ของท็อป ซูเปอร์มาเก็ต ต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ไม่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ก็จะติดตามความรับผิดชอบให้อีกครั้ง ปรากฏว่า เมื่อผู้ร้องได้ดำเนินการตามคำแนะนำ บริษัทผู้ผลิตนมดังกล่าวได้ติดต่อมาเพื่อขอเจรจากับผู้ร้องที่มูลนิธิ โดยทางศูนย์ฯ ได้แจ้งผลการทดสอบเบื้องต้นให้ทราบว่า กล่องบรรจุภัณฑ์มีรอยชำรุดที่ไม่ทราบสาเหตุบริเวณด้านบนของกล่อง จึงคาดว่าอากาศน่าจะเข้าไปและทำให้น้ำข้าวโพดเสียได้ บริษัทจึงขอกล่องนมดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม และจะแจ้งผลการทดสอบให้ทราบภายใน 7 วัน ซึ่งผลการทดสอบก็พบว่ากล่องที่พบปัญหานมข้าวโพดเสียก่อนวันหมดอายุ มีรอยชำรุดจากการถูกของมีคมกรีดจริง จึงยินดีรับผิดชอบโดยการชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวน 10,000 บาท เรื่องราวยุติลงได้แบบนี้ผู้ผลิตก็สามารถรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ รวมทั้งผู้บริโภคเองก็ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาสิทธิของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ถูกอมเงินค่าอบรมทำขนมปัง

ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10“เรียนทำขนมปังเพื่อสุขภาพด้วยแป้งสาลีโฮสวีต ฝึกเทคนิคการนวดแป้งขนมปังด้วยมือและนวดด้วยเครื่อง เช่น ขนมปังโฮลสวีท ขนมปังแครอท ขนมปังดินเนอร์โรล ขนมปังปูอัดน้ำพริกเผา รวมทั้งวิธีดัดแปลงเป็นขนมปังได้อีกสารพัดชนิด”เอกวิทย์ ผู้มีความสนใจที่จะเปิดร้านขนมปังสังขยาและนมสด ได้เห็นโฆษณาคอร์สอบรมทำขนมปังข้างต้น จากหนังสือ Learning For Better Living ที่จัดส่งมาให้ที่บ้าน และยิ่งมีความสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นชื่อของ Amarin Training ร่วมกับ สถาบันบ้านและสวน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปเป็นผู้จัดโปรแกรมการอบรมคอร์สอบรม ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 จะเริ่มเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 เอกวิทย์จึงรีบสมัครเข้ารับการอบรมทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีสองราคา ราคาปกติ 2,900 บาท และสมาชิก 2,600 บาท พี่สาวของเอกวิทย์เป็นสมาชิกอยู่เอกวิทย์จึงได้สมัครในราคาสมาชิก 2,600 บาท และได้โอนเงินค่าอบรมเข้าบัญชีของผู้จัดในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 หลังจากที่มีโทรศัพท์จากสถาบันเร่งให้เอกวิทย์โอนเงินค่าอบรมปรากฏว่าพอถึงวันรุ่งขึ้นสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง เอกวิทย์ได้รับโทรศัพท์จากสถาบันโทรมาแจ้งว่า ขอยกเลิกการจัดอบรมเพราะมีคนมาสมัครน้อย สถาบันไม่สามารถเปิดสอนได้และบอกว่าจะขอโอนเงินค่าอบรม 2,600 บาทคืนให้ภายในอาทิตย์ถัดไปเอกวิทย์รอจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เงินก็ยังไม่ถูกโอนเข้าบัญชี จึงโทรเข้าไปที่สถาบันขอทราบถึงเรื่องการคืนเงินว่าจะกำหนดคืนให้ได้เมื่อไหร่ ได้รับคำตอบว่าอาจจะถึง 2 อาทิตย์ถึงจะได้รับเงินคืน เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต่อมาก็ได้มีการโทรติดตามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เอกวิทย์เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกวิทย์ให้ความเห็นว่า สถาบันเหล่านี้อาจจะมีรายได้จากค่าสมัครในการอบรมเป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีการนำเงินของผู้สมัครอบรมไปหมุนเวียนในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีการกู้ยืมหรือลงทุนแม้แต่บาทเดียว พอเสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกการอบรม กว่าจะคืนเงินก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เมื่อสัญญาว่าจะจัดการอบรมและมีการเรียกเก็บค่าอบรมแล้วไม่จัดการอบรมให้ก็ต้องคืนเงินให้กับลูกค้าสถานเดียว ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ไปที่สถาบันการฝึกอบรมดังกล่าว ได้คำตอบว่าจะคืนเงินให้ผู้บริโภคในอาทิตย์ถัดไป สอบถามคุณเอกวิทย์ว่าจะยอมให้เขาผัดผ่อนอีกครั้งหรือไม่ คุณเอกวิทย์บอกว่าให้โอกาสเขาอีกครั้งถ้ายังประวิงเวลาอยู่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที อาทิตย์ถัดมาเราทราบว่าเอกวิทย์ได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อย และต้องเริ่มต้นหาที่เรียนทำขนมปังใหม่อีกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 นมตรามะลิ ดูแลผู้บริโภคเกินร้อย

คุณนันทวัน เปิดร้านขายโยเกิร์ตสดและเต้าหู้นมสดแบบทำเองขายเอง เน้นสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารกันบูดเคล็ดไม่ลับในการผลิตโยเกิร์ตสดของคุณนันทวัน คือใช้นมข้นกระป๋องผสมกับนมสดเป็นส่วนผสม ตั้งแต่เปิดร้านทำโยเกิร์ตสดขายเธอเลือกใช้ นมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิมาโดยตลอ“ร้านเราไม่ใส่สารกันบูดค่ะ เลยต้องทำให้พอดีขายไม่เก็บไว้นาน นมข้นกระป๋องที่เอามาใช้ผสมกับนมสดก็เลยซื้อมาน้อย ใช้ยี่ห้อนี้มานานแล้วไม่เคยมีปัญหาค่ะจนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 คุณนันทวันพบปัญหาในนมข้นหวานตรามะลิที่ซื้อมาใช้ ครั้งนั้นคุณนันทวันซื้อมา 1 แพ็คจำนวน 6 กระป๋อง ดูวันหมดอายุแล้วระบุไว้ที่กลางเดือนธันวาคม 255“เหมือนที่เคยทำมาทุกครั้งเวลาทำโยเกิร์ตสด เราจะเปิดฝากระป๋องด้านบนด้วยที่เปิดกระป๋อง แล้วเทนมข้นออกมาใส่ถ้วยเพื่อรอผสมกับนมสดที่เตรียมไว้ ไม่มีการเปิดกระป๋องค้างไว้ เมื่อเปิดเทจนเกือบหมดกระป๋องแล้ว จะใช้ช้อนขูดนมข้นส่วนที่เหลือติดอยู่ก้นกระป๋องออกมาใส่ถ้วยจนหมด ทำอย่างนี้ทุกกระป๋อง”ด้วยวิธีเปิดกระป๋องเอานมออกจนหมดกระป๋องนี่แหละ ทำให้คุณนันทวันพบปัญหา ปรากฏว่าในนมข้น 6 กระป๋อง มีอยู่กระป๋องหนึ่งที่ในเนื้อนมข้นมีก้อนสีเขียวคล้ายเชื้อราปนเปื้อนมาด้วย จึงแจ้งไปที่บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตนมตรามะลิเพื่อให้นำสินค้ากลับไปตรวจสอบ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ได้ตรวจสอบสินค้าแล้วแจ้งกลับมายังคุณนันทวันว่า เครื่องจักรขัดข้องระหว่างการบรรจุ ทำให้อากาศเข้าไปในกระป๋องนม จึงทำให้เกิดเชื้อราขึ้น บริษัทฯ ชดเชยความเสียหายของคุณนันทวันด้วยการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ “พอเราได้รับคำชี้แจงและเอาสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่แล้ว ก็ไม่ติดใจอะไรก็ซื้อนมยี่ห้อนี้ใช้ต่อมาอีกค่ะ”ต่อมาในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในเขตภาคกลาง คุณนันทวันได้ซื้อนมข้นมะลิมาใช้เหมือนเคยจำนวน 1 แพ็ค พอต้นเดือนสิงหาคมจึงนำมาเปิดพบกระป๋องหนึ่งเจอก้อนสีเขียว สีส้ม สีเหลือง และสีดำที่ก้นกระป๋อง โดยที่นมข้นยังไม่หมดอายุ จึงโทรแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ“พนักงานบอกว่า นมยังสามารถบริโภคได้”คุณนันทวันเธอก็เชื่อ อีกไม่กี่วันต่อมาเธอเปิดนมข้นกระป๋องใหม่มาใช้อีกครั้ง คราวนี้พบปัญหาในลักษณะเดิมทีเดียว 2 กระป๋อง คือมีก้อนสีดำตามตะเข็บกระป๋องด้านใน และมีสนิมขึ้นด้วย“เคยเอากระป๋องแช่น้ำไล่มดครั้งเดียวกระป๋องเดียวและก็ใช้น้ำแค่ระดับก้นกระป๋องเท่านั้นพอกันมดได้กระป๋องที่แช่น้ำก็มีสนิมเกิดขึ้นด้วย แต่กระป๋องอื่นไม่เคยเอากระป๋องแช่น้ำเลยค่ะก็มีปัญหาเห็นเป็นก้อนสีดำๆ ในนม”คุณนันทวันได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน และทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้นำนมข้นที่เปิดและที่ยังไม่เปิด ไปตรวจสอบพร้อมกับขอให้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2554 บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ปัญหาคราบดำที่ตะเข็บก้นประป๋อง น่าจะเกิดจากคุณภาพกระป๋องบางกระป๋องที่มาจากซัพพลายเออร์ ได้เสนอให้ผู้บริหารพิจารณาปรับปรุงคุณภาพกระป๋องโดยการเคลือบกระป๋องด้านใน ตามมาตรฐานการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันปัญหาคราบดำแบบ 100% ส่วนปัญหาสนิมที่ก้นกระป๋องนั้น น่าจะเกิดจากการนำกระป๋องนมไปแช่น้ำ ตามมาตรฐานการจัดเก็บสินค้าให้จัดเก็บสินค้าไว้ในที่แห้งและสะอาด หากกระป๋องบรรจุผลิตภัณฑ์เปียกน้ำหรืออยู่ในสภาพที่ชื้น อาจทำให้เกิดสนิมได้ง่าย“ควรมีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ในที่แห้งและสะอาด ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ที่ฉลากข้างกระป๋อง หากลูกค้าต้องการแช่น้ำเพื่อกันมด ควรนำผลิตภัณฑ์ใส่กล่องพลาสติกที่แห้งและสะอาดก่อนนำไปแช่น้ำ” บริษัท อุตสาหกรรมนมไทยฯ ให้คำแนะนำพร้อมกับคำชี้แจงครั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย ได้มอบนมข้นให้ใหม่จำนวน 18 กระป๋อง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อเปิดใช้นมข้นกระป๋องตรามะลิอีกครั้งก็พบก้อนสีเหลือง สีส้มและสีของนมไม่ขาวเหมือนทุกครั้งและยังเหนียวข้นผิดปกติอีก เมื่อแจ้งไปที่บริษัทฯ ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้นมกล่องยูเอชทีแทน พร้อมทั้งได้นำนมยูเอชทีมาให้คุณนันทวันจำนวน 3 ลัง“ดิฉันเจอปัญหาต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ไม่ไหวแล้วค่ะ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือที” แนวทางแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย หรือเป็นอาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะหรือ อาหารที่มีภาชนะบรรจุประกอบด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ อาหารที่มีลักษณะข้างต้นให้ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏลักษณะการเสียของนมข้นที่มีการร้องเรียนก็อาจเข้าข่ายของอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาในความเสียหายที่เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงได้เชิญตัวแทนบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ผู้ผลิตสินค้า และตัวแทนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย และท้ายที่สุดบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยได้ยินยอมชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับคุณนันทวันเป็นเงินรวม 30,000 บาท“เราไม่คิดว่าความเสียหายของเราจะเรียกค่าเสียหายได้ หากไม่ทราบเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้ความช่วยเหลือค่ะ”คุณนันทวันขอบคุณเรา ซึ่งเราก็คงต้องส่งคำขอบคุณต่อไปยังบริษัทอุตสาหกรรมนมไทยฯ ด้วยที่แสดงความรับผิดชอบกับผู้บริโภคอย่างเต็มกำลัง และหวังให้คุณภาพการผลิตสินค้าจะดียิ่งขึ้น เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ซื้อนมแถมมอด

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มีคุณพ่อ คุณแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษคู่หนึ่ง ได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสองสามีภรรยาคู่นี้ให้รายละเอียดว่า ในเย็นย่ำวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม 2552 ตนได้ไปซื้อนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปียี่ห้อซิมิแลค เกน แอดวานซ์ ขนาดบรรจุ 900 กรัม จำนวน 2 กระป๋อง ราคากระป๋องละ 341 บาทกับห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาปทุมธานี เหตุที่ซื้อเพราะเคยเห็นโฆษณาจึงตัดสินใจเลือกให้ลูกกินตั้งแต่วัย 6 เดือนเช้าตรู่ของสองวันต่อมา หลังจากนมกระป๋องเดิมที่มีอยู่หมด คุณพ่อคุณแม่จึงได้เปิดหนึ่งในกระป๋องนมที่ซื้อมาใหม่เพื่อเตรียมชงนมให้ลูกกิน แต่ต้องตกใจเป็นอย่างมากเมื่อเปิดกระป๋องนม เพราะพบเนื้อนมในกระป๋องมีสีน้ำตาลเข้มทั้งหมดแทนที่จะเป็นสีขาวเหลืองอย่างที่คุ้นเคย แต่สิ่งที่สร้างความขยะแขยงไปกว่านั้นคือ มีตัวแมลงเล็กๆ คล้ายตัวมอดเดินไต่ยั้วเยี้ยปะปนอยู่ในเนื้อนมเต็มไปหมด เห็นสภาพเนื้อนมอย่างนั้นแล้วจึงรีบนำฝากระป๋องนมปิดนมกระป๋องนั้นทันที แล้วคว้านมผงอีกกระป๋องที่เหลืออยู่มาเปิดตรวจสอบเช่นกัน โชคดีไม่พบความผิดปกติใดๆ แม้จะคลางแคลงใจว่าจะมีอะไรอยู่ในกระป๋องนมที่เหลืออยู่หรือไม่ แต่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากยังเช้าตรู่มากและนมหมดไม่เหลืออยู่ในบ้านเลย จึงจำเป็นต้องใช้นมในกระป๋องที่เหลืออยู่นั้นชงนมให้ลูกกิน วันนั้นพ่อแม่ลูกอ่อนทั้งสองก็อยู่ไม่สุข เห็นแต่ภาพแมลงยั้วเยี้ยในกระป๋องนมเต็มไปหมด จึงได้นำนมกระป๋องที่เกิดปัญหามาตรวจสอบกันอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงพบว่าบริเวณปากกระป๋องนมมีการบุบ ซึ่งในตอนที่ซื้อมานั้นไม่สังเกตเห็นเพราะห้างสรรพสินค้าจะมีการใส่ที่ครอบป้องกันการขโมยไว้บริเวณปากกระป๋อง และในวันที่ซื้อเท่าที่เห็นบนชั้นวางสินค้าก็เหลือนมยี่ห้อนี้เพียง 2 กระป๋องเท่านั้น เมื่อได้รายละเอียดคร่าวๆ แล้ว จึงโทรศัพท์ไปที่คอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้นำเข้านมคือ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เพื่อขอให้นำนมไปตรวจว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ซึ่งต่อมาบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยแจ้งว่าจะเปลี่ยนนมกระป๋องใหม่มาให้ และมอบกระเช้าของขวัญเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมรับตัวอย่างนมไปตรวจ ในวันเดียวกันได้มีการร้องเรียนไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น และยังได้ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อีกด้วย ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัทแอ๊บบอตได้มีจดหมายยืนยันถึงกระบวนการผลิตนมที่มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และได้กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับกระป๋องที่บุบว่า ผลิตภัณฑ์รุ่นนี้พบว่ามีมาตรฐานคุณภาพสูงในขณะที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยสินค้าเพื่อจำหน่ายจากโรงงาน อาจเป็นไปได้ที่กระป๋องถูกทำให้เสียหายระหว่างขนส่ง หรือขณะเก็บรักษาก่อนจำหน่าย หรือหลังจำหน่าย หลังได้รับจดหมายพ่อแม่ลูกอ่อน เห็นว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่ามีแมลงเข้าไปอยู่ในกระป๋องนมได้อย่างไร ก็เฝ้ารอติดตามผลการร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา ส่วนนมที่ชงให้ลูกกินนั้นได้เปลี่ยนยี่ห้อใหม่หลังเกิดปัญหาไม่นาน แนวทางแก้ไขปัญหา หลังจากที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปลายปี 2552 ไม่เห็นความคืบหน้า พ่อแม่ลูกอ่อนสองท่านนี้เห็นข่าวมูลนิธิฯ ตึกถูกไฟไหม้ จึงได้นำปัญหานี้มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ที่สำนักงานชั่วคราว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ในเดือนเดียวกัน มูลนิธิฯ จึงได้นัดผู้แทนของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส คือ บริษัท เอก-ชัย ดริสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัดและบริษัทแอ๊บบอต เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริโภค และได้ส่งตัวอย่างนมผงไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อทำการตรวจสอบผลการเจรจาไกล่เกลี่ยผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริโภคและรับที่จะนำข้อมูลจากปัญหาที่เกิดขึ้นไปพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการประกอบการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้บริโภคร่วมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท โดยแบ่งจ่ายบริษัทละ 25,000 บาทส่วนผลการตรวจสอบศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ได้ความว่า แมลงที่พบในนมผงที่ส่งมาตรวจสอบนั้น เป็นแมลงชนิดเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า มอดแป้ง เป็นแมลงในวงศ์ Tenebrionidae อันดับ Coleoptera ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tribolium spp.มอดแป้งเป็นแมลงขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลแดง มักพบตามบริเวณที่แห้ง นอกจากนี้อาจพบในผลิตภัณฑ์อาหารแห้งที่เก็บรักษาไว้ มอดแป้งเป็นศัตรูในโรงเก็บ และพบทำลายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเมล็ดธัญพืช...ในส่วนนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ตั้งขอสันนิษฐานว่า การที่ปากกระป๋องมีรอยบุบก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของแผ่นวัสดุที่ปิดกั้นบริเวณปากกระป๋องเป็นรูรั่วที่เล็กมาก ทำให้มอดแป้งที่อาจเกาะกินอยู่กับสินค้าผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืชซึ่งเก็บรักษาอยู่ในที่เดียวกันหรือใกล้เคียง น่าจะเล็ดลอดเข้าไปอยู่อาศัยทำมาหากินกับนมผงที่กระป๋องมีรอยบุบนี้ได้ และหากพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจไม่ตรวจสอบให้ดีและคัดแยกออกไป นมกระป๋องนี้จึงถึงมือผู้บริโภคในท้ายที่สุดได้อย่างไรก็ดีขอขอบพระคุณผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้บริโภค นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีและน่ายกย่องที่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ จะได้นำไปปฏิบัติต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ

    ตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติเป็นสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในย่านชุมชน หลายคนต้องพึ่งพาตู้เหล่านี้เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในราคาย่อมเยา ธุรกิจตู้น้ำดื่มก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะใครๆ ก็ทำได้ แค่มีพื้นที่หน้าบ้านบวกกับเงินลงทุนเริ่มต้นอีกไม่เกิน 3 หมื่นบาทเราก็เป็นเจ้าของตู้พวกนี้ได้แล้ว มีทั้งแบบขายขาดให้เจ้าของพื้นที่ดูแลเองและแบบที่มีบริษัทส่งพนักงานมาซ่อมบำรุงให้ แต่น้ำที่ได้จากตู้พวกนี้สะอาดจริงหรือ?   การเก็บตัวอย่างน้ำ 2,025 ตัวอย่างจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึง กันยายน 2555 พบว่าเกือบร้อยละ 40 ไม่ผ่านมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด น้ำดื่มเหล่านี้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าความกระด้างเกินเกณฑ์ และยังพบเชื้อโคลิฟอร์ม และ E.coli  ในน้ำดื่มถึง 319 ตัวอย่างด้วยปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลรักษา แล้วการกำกับดูแลธุรกิจหรือการควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์เหล่านี้ดีพอที่จะรับประกันคุณภาพหรือความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคแล้วหรือยัง?เครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ได้ทำการสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติในกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเกี่ยวกับ สถานที่ตั้ง การติดฉลาก คุณลักษณะ แหล่งน้ำที่ใช้ และการบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 855 ตู้จาก 18 เขตของกรุงเทพมหานคร ทีมสำรวจพบว่า ...•    มีเพียงร้อยละ 8.24 ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในการสำรวจ (855 ตู้)  ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ  … นั่นหมายความว่ายังมีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกมากที่ดำเนินการขายน้ำดื่มโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาต (ใบอนุญาตดังกล่าวมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าแพงเกินไป!!)•    ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ร้อยละ 76.3      ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนน บนทางเท้า ร้อยละ 47.7    ไม่มีการยกระดับตู้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย  10 เซนติเมตรร้อยละ 28.3     ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขัง/แหล่งระบายน้ำเสีย (บางครั้งพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในบริเวณใกล้กัน)ร้อยละ 22    ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู แมลงวัน•    ตู้กดน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน หรือ วัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน•    ทีมสำรวจพบทั้งตู้เก่าและตู้ใหม่ บางตู้ติดตั้งมานานและไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบกิจการ มีสนิม มีรูรั่วซึม มีการผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำ บางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย•    ร้อยละ 93.8 ของน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในตู้เหล่านี้เป็นน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะน้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว•    มีเพียงร้อยละ 58.7 ของตู้เหล่านี้ที่ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง•    มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ผู้สำรวจไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้   -------------------------------------------------------------------------------------------------วิธีการเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ: ข้อเสนอแนะจากทีมสำรวจสภาพภายนอก >> เลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ จุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ ควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดมักทำให้เกิดตะไคร่ภายในหัวบรรจุการควบคุมคุณภาพน้ำ >>  ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มเป็นประจำ เมื่อผู้ดูแลตู้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรองแล้วจะติดสติ๊กเกอร์แจ้งวัน/เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่การสังเกตกลิ่น สี รส  >>  ผู้บริโภคสามารถตรวจดูสภาพของน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นได้ด้วยการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ควรเปลี่ยนตู้ใหม่เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองเสียก่อนภาชนะที่นำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ >> ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม------------------------------------------------------------------------------------------------กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 362 พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 28 ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ------------------------------------------------------------------------------------------------ความนิยมของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ร้อยละ 40.9 ของน้ำดื่มที่คนไทยบริโภค มาจากน้ำบรรจุขวดและตู้น้ำดื่มยอดเหรียญผลสำรวจของกรมอนามัยในปี 2556 ระบุว่า ร้อยละ 14 ของประชาชนจัดหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 17 ดื่มน้ำฝนที่กักเก็บไว้ ร้อยละ 24 ดื่มน้ำประปา และร้อยละ 32 นิยมดื่มน้ำบรรจุขวด ที่เหลือเป็นน้ำดื่มที่ได้จากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้น------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มคุณภาพ: หน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง•    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา >> กำกับดูแลคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522•    สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค >> กำกับดูแลการโฆษณาคุณภาพและควบคุมการติดฉลากของเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522•    สำนักอนามัย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร >> ติดตามการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 •    สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม >> กำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำประเภทต่างๆที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มที่ดีไม่ได้หมายถึงน้ำดื่มบริสุทธิ์ปราศจากแร่ธาตุใดๆ เพียงแต่ปริมาณแร่ธาตุเหล่านั้นจะต้องไม่เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับน้ำบริโภคกำหนดไว้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://plan.dgr.go.th/school/5.pdf------------------------------------------------------------------------------------------------การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดของประชากรอาเซียน    มหาวิทยาลัยเยล ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและ World Economic Forum จัดทำ Environmental Performance Index (EPI) ขึ้นในปี 2014 จากการสำรวจและประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 178 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในหัวข้อสำรวจคือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด ซึ่งหมายถึง ประปา แหล่งน้ำบาดาล น้ำฝน เท่านั้น (ไม่นับน้ำดื่มบรรจุขวดหรือสั่งซื้อ) เรามาดูกันว่ากลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแค่ไหนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน  เรียงจากมากไปน้อยตามนี้100        สิงคโปร์ 100         บรูไน 91.94        มาเลเซีย60.55        ไทย59.47        เวียดนาม48.38        ฟิลิปปินส์32.45        อินโดนีเซีย 32.27        เมียนมา 17.34        ลาว 15.52        กัมพูชา ข้อมูลจาก http://epi.yale.edu/epi/issue-ranking/water-and-sanitation  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมเปรี้ยว(fermented milk) หรือผลิตภัณฑ์นมชนิดที่ได้จากการหมักด้วยแบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria, LAB) แบคทีเรียชนิดที่นิยมใช้หมักโยเกิร์ต คือ สเตรพโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactoobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) โดยผู้ผลิตมักใช้เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อให้สามารถผลิตโยเกิร์ตได้เร็วขึ้น มีกลิ่นและรสชาติดีกว่าใช้เชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดและสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาเป็นหัวเชื้อจะมีผลต่อรสชาติและกลิ่นรวมทั้งเนื้อสัมผัสของโยเกิร์ต ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาขาย และอาจมีการเติมแบคทีเรีย LAB ชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น แบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติก อย่าง บิฟีโดแบคทีเรียม(Bifidobacterium) โยเกิร์ตนั้นโดยทั่วไปจะใช้น้ำนมวัวเป็นวัตถุดิบ แต่ก็สามารถใช้น้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ หรือผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองหรือกะทิแทนน้ำนมวัวได้ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเรียกโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือเติมผลไม้ลงไปว่า โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yogurt) ทั้งโยเกิร์ตและโยเกิร์ตปรุงแต่งจะต้องมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ ในประเทศไทยโยเกิร์ตจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ โยเกิร์ตชนิดแข็งตัว(set yoghurt) ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และโยเกิร์ตชนิดคน(stirred yoghurt) ซึ่งเนื้อโยเกิร์ตค่อนข้างเหลวไม่จับเป็นก้อน   การเลือกซื้อโยเกิร์ต จุดเด่นที่เราต้องการจากโยเกิร์ตคือ จุลินทรีย์กลุ่มแลกทิก(LAB) ซึ่งช่วยเรื่องสมดุลในระบบทางเดินอาหารและยังทำให้คนที่ไม่สามารถดื่มนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่จะย่อยแลกโทสในน้ำนมนั้น สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนได้ หลักการซื้อจึงควรดูเรื่องอุณหภูมิในการเก็บรักษาโยเกิร์ต เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้หมักและรุ่นการผลิต   1.เลือกที่มีวันผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ เพื่อให้ได้โยเกิร์ตที่สดใหม่ ซึ่งจะยังมีเชื้อจุลินทรีย์ LAB ที่มีชีวิตจำนวนมาก(เชื้อจุลินทรีย์จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวัน) 2.ตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์ควรมีอุณหภูมิในการเก็บรักษาระหว่าง 2 – 5 องศาเซลเซียส คือต้องเย็นพอๆ กับตู้เย็นบ้านหรือเย็นกว่า เนื่องจากจุลินทรีย์ LAB ชอบอากาศเย็น และจะคงสภาพมีจำนวนเชื้อที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน 3.พลิกดูฉลากอ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัสและแล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส เพียงสองชนิดจัดว่าเป็นโยเกิร์ตธรรมดา แต่หากต้องการโยเกิร์ตที่เป็นโพรไบโอติก ต้องเลือกที่มีเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โดยโพรไบโอติกที่มีอยู่ในโยเกิร์ตในท้องตลาดบ้านเราคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้น (ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติกเพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติกลงไป 1-3 ชนิด) 4.โยเกิร์ตแบบโพรไบโอติก จะมีคุณสมบัติในเรื่องของการช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ้าคุณเป็นคนท้องผูกควรลองรับประทานโยเกิร์ตประเภทนี้ แต่ถ้ามีระบบขับถ่ายไว ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตแบบธรรมดา โยเกิร์ตพร้อมดื่มเหมือนหรือแตกต่างจากโยเกิร์ตอย่างไร โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นนมวัวและเติมเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแลกทิกลงไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจะมีการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือมีการเติมน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อมเพิ่มลงไป จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหลว นมเปรี้ยวที่วางขายซึ่งผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที โพรไบโอติก(Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก(lactic acid bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้ พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก(fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค(pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร โคเรสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่แบคทีเรีย กลุ่มโพรไบโอติกนำไปใช้ได้ เรียกว่า พรีไบโอติก(prebiotic) เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) ข้อมูล1. ดร.สุนัดดา โยมญาติ นักวิชาการสาขาชีววิทยา http://biology.ipst.ac.th/?p=9872. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 สารกันบูดในขนมจีน

“ขนมจีน” อาหารยอดนิยมของคนเกือบทุกภาค เป็นอาหารที่รับประทานสะดวก มีคุณค่าทางสารอาหารจากผักเคียงและมีหลายเมนูให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยากะทิของคนภาคกลาง ขนมจีนน้ำเงี้ยวของภาคเหนือ ขนมจีนราดแกงไตปลาของคนใต้ หรือขนมจีนในต่ำซั่วของคนอีสาน ซึ่งนอกจากจะอร่อยถูกปากแล้ว บางส่วนยังมีความเชื่อว่าการนำขนมจีนเลี้ยงพระในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน จะทำให้ชีวิตคู่อยู่ยืนนานเหมือนเส้นขนมจีนอีกด้วย อย่างไรก็ตามในทุกครั้งที่เรากำลังเพลิดเพลินกับขนมจีนที่เอร็ดอร่อยนั้น รู้หรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วเราได้รับประทาน “สารกันบูด” เข้าไปด้วย ซึ่งหากเรารับประทานสารดังกล่าวมากเกินไปจนทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นพิการได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศ (ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547) เรื่อง ค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของโคเด็กซ์ (CODEX) สำหรับอาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันว่า ต้องมีปริมาณ ไม่เกิน 1,000 มก./กก. ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันบูด(เบนโซอิก) ตกค้างในขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อจากแหล่งซื้อต่างๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนกัน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรเราไปดูกันเลย   ผลทดสอบผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน                       ไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน    *ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจ เก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2559สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของสารกันบูด - 2 ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างมากที่สุด และเกินกว่าปริมาณสูงสุดที่ อย . กำหนดไว้คือ ขนมจีนตราดาว จากตลาดยิ่งเจริญสะพานใหม่ จำนวน 1,121.37 มก./กก. รองลงมาคือ ไม่มียี่ห้อ จากตลาดสะพานขาวจำนวน 1,115.32 มก./กก.- ยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างน้อยที่สุดคือ ขนมจีนจาก ตลาดพระประแดง จำนวน 147.43 มก./กก. เทคนิคการหลีกเลี่ยงสารกันบูดตกค้างในร่างกาย แม้กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือสารกันบูดที่ใส่ในขนมจีน จะมีประโยชน์ในการช่วยยืดอายุของอาหาร ด้วยการยับยั้งหรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และถูกจัดอยู่ในประเภทพิษปานกลาง ซึ่งร่างกายสามารถขจัดออกมาได้เอง แต่ก็สามารถส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการตกค้างหรือสะสมในร่างกายมากเกินไปดังที่กล่าวไปข้างต้น เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทาน ดังนี้ - บริโภคอาหารให้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยควรทำอาหารรับประทานเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงมีความสดใหม่ หรือปลอดภัยจากสารเคมี- เลือกซื้ออาหารที่ระบุ ว/ด/ป ที่ผลิต-หมดอายุ และมี อย เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารดังกล่าวไม่ได้ใส่สารกันบูดมากเกินกว่าที่กำหนดไว้- หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารพร้อมบริโภคบรรจุกล่อง เพราะอาหารเหล่านี้หากไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิท หรือต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนดไว้ อาจมีสารกันบูดเจือปนในปริมาณมาก- นอกจากขนมจีนแล้วก็ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่นิยมใส่สารกันบูด เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลไม้แช่อิ่ม หรือน้ำผลไม้ ซึ่ง อย . ก็ได้กำหนดค่ามาตรฐานไว้ต่างกัน เราจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากติดต่อเป็นเวลานานข้อมูลอ้างอิง: http://iodinethailand.fda.moph.go.th/food/data/news/2556/560902/Update%20Food%20Additives.pdf กรดเบนโซอิก (Benzoic acid)กรดเบนโซอิก (benzoic acid) เป็นสารเคมีที่นิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ ได้แก่ ลูกพรุน, อบเชย, แอปเปิล, กานพลู และมะกอกสุก เป็นต้น โดยมีจำหน่ายในท้องตลาดในรูปผงผลึกสีขาวหรือเป็นเกล็ด มักใช้ร่วมกับกรดซอร์บิก และพาราเบนส์สำหรับเป็นวัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตจะต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีในสภาวะเป็นกรดที่ต่ำกว่า 4.5 ดังนั้น อาหารที่ใช้กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอตเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บ จึงควรเป็นอาหารที่มีความเป็นกรด สูง เช่น เครื่องดื่มชนิดต่างๆ น้ำผลไม้ แยม เยลลี ผักดอง ผลไม้ดอง น้ำสลัด ฟรุตสลัด และเนยเทียม เป็นต้น ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 167 เช็ค “แคลอรี” ในขนมหวานยอดฮิต

“ฮันนี่ โทสต์”, “เครปเค้ก”, “แพนเค้ก”, “เอแคลร์”, “ชูครีม” “มาการอง” ฯลฯ เหล่านี้คือ เมนูเบเกอรี่สูตรอินเตอร์ที่กำลังฮิตติดเทรนด์สุดๆ ในหมู่บรรดาผู้นิยมขนมหวาน ผู้ซึ่งไม่หวั่นต่อปริมาณน้ำตาลและไขมัน เรียกว่าฮิตขนาดที่ร้านดังๆ มีคนเฝ้ารอต่อแถวซื้อยาวเหยียด บางคนต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ชิม แบบเดียวกับปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อขนมยอดฮิตในอดีตอย่าง “โรตีบอย” และ โดนัท “คริสปี้ครีม” ซึ่งขนมที่เคยฮิตทั้ง 2 ประเภท (ปัจจุบันนี้โรตีบอยไม่มีขายในไทยแล้ว ส่วนโดนัทคริสปี้ครีมหลังขยายสาขาปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว) “ฉลาดซื้อ” ของเราก็เคยนำมาทดสอบดูปริมาณน้ำตาลและไขมันมาแล้ว เมื่อมีของกินมาใหม่และกำลังได้รับความนิยม แบบนี้ “ฉลาดซื้อ” ของเราไม่พลาดที่จะนำมาวิเคราะห์กันดูสิว่า แต่ละร้านแต่ละเมนูให้ พลังงาน น้ำตาล และไขมัน แค่ไหนกันบ้าง   ผลทดสอบค่าพลังงานในตัวอย่างขนมหวานยอดนิยม จากผลวิเคราะห์ที่ได้ จะเห็นว่าบรรดาขนมหวานยอดนิยมทั้งหลาย ล้วนแล้วให้ค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง อย่าง Round & Brown ของร้าน แพนเค้ก คาเฟ่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานถึง 617.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน หรือจะเป็นเมนูยอดนิยมที่สุดในตอนนี้อย่าง ชิบูญ่า ฮันนี่ โทสต์ ของร้าน อาฟเตอร์ยู ที่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานสูงถึง 802.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปกินขนมหวานเหล่านี้ ไม่ได้กินคนเดียวหมด 1 เสิร์ฟ เพราะ 1 จากที่ทางร้านเสิร์ฟมา ก็มักจะช่วยๆ กันกิน ที่เห็นส่วนมาก จาน 1 ก็กินกันที 2 – 3 คน ถ้าเป็นแบบนี้ค่าพลังงานที่ได้ก็จะลดลง ไม่ถึงกับน่ากลัว ถ้าบริหารดีๆ ค่าพลังงานที่ได้จากการกินอาหารใน 1 วัน ก็น่าจะยังไม่เกินกับที่ร่างกายของเราต้องการ(ไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี) แต่เห็นค่าพลังงานแบบนี้แล้ว บางคนที่คิดว่าไหนๆ พลังงานก็สูงแล้วกินมันแทนข้าวไปเลยแล้วกัน ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ดีแน่ๆ เพราะแม้จะให้พลังงานสูงเทียบเท่าอาหารมื้อหลัก แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ขนมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำจากแป้ง น้ำตาล ครีม ยังขาดสารอาหารสำคัญๆ อีกมากที่ร่างกายต้องการ อย่าง โปรตีน วิตามิน ใยอาหาร กินแต่ขนมก็ได้แต่ แป้ง ไขมัน น้ำตาล ถ้าอ้วนขึ้นมาจะหาว่าฉลาดซื้อไม่เตือนไม่ได้นะ ส่วนพวกที่เป็นขนมทานเล่นเป็นชิ้นๆ อย่าง ปารีส เอแคลร์ รส ไอเฟล ที่ 1 ชิ้นให้พลังงาน 306 กิโลแคลอรี ถ้ากิน 2 ชิ้น 612 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง หรืออย่าง ขนมปังหน้าสังขยา จากร้าน มนต์นมสด ที่ปริมาณแคลอรีต่อ 1 แผ่นอยู่ที่ 268.6 กิโลแคลอรี 2 ชิ้นก็จะกลายเป็น 537.2 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าค่อนข้างสูง ประมาณ 1 ใน 4 ของ พลังงานที่ร่างกายเราควรได้รับใน 1 วัน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่กินขนมชิ้น 2 ชิ้น คงไม่อ้วน ถ้าหากมื้อหลักอื่นๆ เรายังกินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน โดยเฉพาะพวกของทอด แล้วยิ่งถ้ากินพวกน้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น ด้วยพลังงานที่เราได้รับมีสิทธิพุ่งทะยาน กินแบบนี้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ไขมันจะมาเพิ่มที่รอบเอว แต่สุขภาพก็จะมีปัญหาตามมาด้วย เทคนิคกินขนมหวานให้มีความสุข สุขใจไม่ทำร้ายสุขภาพ กินขนมให้เป็นขนม อย่ากินโดยคิดว่าจะกินแทนข้าว กินแค่พออร่อย อย่ากินเอาอิ่ม ขนมชิ้นใหญ่ จานใหญ่ อย่ากินคนเดียว แชร์กันกินกับเพื่อนหลายๆ คน ไม่ทำร้ายสุขภาพ แถมประหยัดเงินด้วย เพราะช่วยๆ กันจ่าย กินขนมหวาน อย่ากินคู่กับน้ำหวาน เดี๋ยว น้ำตาล กับ ไขมัน จะทวีคูณ กินของคาวแล้วไม่จำเป็นต้องกินขนมหวานเสมอไป ถ้าอิ่มแล้ว ก็ขอให้พอ เอาไว้กิน มื้อหน้า วันหน้า ก็ได้ กินขนมหวานแล้วอย่าลืมออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะ ลุกไปออกกำลังกายบ้าง เผาผลาญแคลอรี   กินถูกหลัก “พลังงานไม่เกิน” คนที่กลัวอ้วนหรือกำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหลายคนกังวลเรื่องปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอย่างมาก ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดเรื่องการคุมพลังงานจากการกินอาหาร ความจริงแล้วพลังงานถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการทำงานของสมอง ระบบการเต้นของหัวใจ ระบบการหายใจ ล้วนแล้วต้องอาศัยพลังงานที่เราได้จากการกินอาหารและพลังงานบางส่วนที่ร่างกายเราสะสมเอาไว้ ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งหากเราต้องกินอาหาร 3 มื้อต่อ 1 วัน ใน 1 มื้อ ปริมาณแคลอรีที่เราได้จะอยู่ประมาณ 350 – 500 กิโลแคลอรี ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วถือว่าเหมาะสมพอดีกับที่ร่างกายของเราต้องการ แถมยังเหลือพอให้เรากินพวกผลไม้ต่างๆ เป็นว่างของหวานหลังการกินอาหารมื้อหลักได้อีก แต่สาเหตุที่หลายคนน้ำหนักเพิ่มหรือมีรูปร่างอ้วนจากการกิน ส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่เพิ่มมาจาก 3 มื้อหลัก พวกขนมหวาน น้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น พวกนี้แหละคือตัวร้ายที่ทำให้หลายคนอ้วนขึ้น เพราะบรรดาขนมหวาน กับเครื่องดื่มรสหวานทั้งหลายให้พลังงานสูง สูงพอๆ กับอาหารจานหลัก อย่างเมนูเบเกอรี่ยอดฮิตทั้งหลายที่ฉลาดซื้อนำมาทดสอบล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบหลักคือ แป้ง น้ำตาล นม เนย ครีม บางสูตรก็เติมน้ำเชื่อม แยม ช็อกโกแลต เพิ่มความอร่อย เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้ากินขนมพวกนี้บ่อยๆ แล้วพุงน้อยๆ จะเริ่มย้อยออกมา เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ก็กินข้าวแค่ 3 มื้อปกติ แต่ลืมคิดว่าระหว่างมื้อหลักก็กินขนมหวานของว่างจุบจิบอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แบบนี้จะไม่ให้แคลอรีเกินได้ยังไง   ค่าพลังงานในอาหารแต่ละประเภท   ที่มา : การดูแลสุขภาพทางโภชนาการด้วยตนเอง, ดร. บุญศรี   กิตติโชติพาณิชย์ ภาควิชาการพยาบาลสูติ-นารีเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   ปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน   -พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี -โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม) -ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม -กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม -โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม -คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม -ใยอาหาร 25 กรัม -โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม -น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา) ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))   ออกกำลังกายช่วยเผาผลาญแคลอรี ใน 1 ชั่วโมง เราเผาพลังงานด้านได้แค่ไหน วิ่งเร็ว                                       560 กิโลแคลอรี วิ่งช้า (จ๊อกกิ้ง)                           490 กิโลแคลอรี เดิน                                         245 กิโลแคลอรี ปั่นจักรยาน                                420 กิโลแคลอรี ที่มา : http://manycalorie.com/calories-burned-running/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่

เวเฟอร์ เป็นขนมหรือของว่างแสนคลาสสิค ซึ่งคนไทยรู้จักกินเวเฟอร์กันมานานแล้ว สืบไปก็ตั้งแต่เริ่มคบค้ากับชาวตะวันตก ขนมทองม้วน ทองพับ ก็คือเวเฟอร์แบบหนึ่งที่ได้ผสมผสานวิธีการทำอย่างตะวันตกกับวัตถุดิบในประเทศจนลงตัวและกลายเป็นขนมไทยที่เรารู้จักกันดี ส่วนขนมเวเฟอร์เคลือบหรือสอดไส้ต่างๆ อย่างฝรั่งเราก็คุ้นลิ้นกันมาแต่เด็ก ไม่ต่ำกว่า 40 ปี เป็นสแน็กหรือของกินเล่นที่มาก่อนขนมธัญพืชอบกรอบหรือมันฝรั่งแผ่น และยังคงได้รับความนิยมมาตลอด ขนมเวเฟอร์ที่คนไทยคุ้นเคยจะใช้ชื่อเมืองดังในประเทศจีนเป็นแบรนด์การค้า วัยเด็กของใครหลายคนคงพอร้องเพลงโฆษณาขนมเวเฟอร์กันได้ เวเฟอร์แม้จะใช้วิธีการอบเช่นเดียวกับขนมปังแห้งอย่างแครกเกอร์หรือบิสกิต แต่เนื้อสัมผัสของเวเฟอร์จะมีลักษณะเด่นที่ความ “เบา กรอบ” นิยมตกแต่งหรือเป็นโคนของไอศกรีม หรือนำแผ่นเวเฟอร์มาเคลือบระหว่างชั้นด้วยช็อกโกแลตหรือครีมที่ปรุงแต่งรสหวาน บางทีก็ม้วนแผ่นเวเฟอร์เป็นทรงหลอดกลมแล้วสอดไส้ครีมหวานๆ ลงไป ความนิยมเวเฟอร์ในประเทศไทยมีค่อนข้างสูง ในปี พ.ศ. 2555-2556 ประเทศไทยผลิตขนมปังเวเฟอร์ถึงประมาณ 14 ล้านตัน(ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) และมีมูลค่าการตลาดปีละประมาณ 1,600-1,800 ล้านบาท เฉพาะแผ่นเวเฟอร์เปล่าให้พลังงานไม่มาก แต่เมื่อนำมาเคลือบหรือปรุงแต่งร่วมกับส่วนผสมอื่นจะนิยมให้มีรสหวานจัด นับเป็นขนมให้พลังงานสูงเลยทีเดียว  ฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเปรียบเทียบค่าพลังงานขนมเวเฟอร์ โดยเน้นที่รสช็อกโกแลต ซึ่งถือเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมสูงและมีแบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาวางขายกันคับคั่งในทุกมุมสแน็กบนชั้นวางสินค้าของห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อทั่วไป       เวเฟอร์ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 คิดค้นขึ้นโดยชาวยุโรป สูตรดั้งเดิมทำจากไข่ขาว ผสมน้ำ เกลือ น้ำตาล จากนั้นนำส่วนผสมเทลงในพิมพ์เหล็กประกบบนล่างแล้วย่างบนเตาถ่านร้อนๆ เมื่อสุกจะได้แผ่นเวเฟอร์บาง เบาและกรอบ สมัยแรกเวเฟอร์ถูกใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิทางศาสนาอย่างการรับศีลมหาสนิท จนถึงช่วงปลายศตวรรษ เวเฟอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะขนมหวานที่ขาดไม่ได้ ในปี ค.ศ. 1766 พ่อครัวขนมหวานชาวฝรั่งเศสได้พลิกแพลงให้เป็นของหวานขึ้นชื่อยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการม้วนแผ่นเวเฟอร์ขณะร้อนเป็นหลอดกลมแล้วเติมไส้ช็อกโกแลต แยมผลไม้ แล้วผูกด้วยริบบิ้นจนกลายเป็นขนมของฝากยอดฮิตประจำวงสังคมในเวลานั้น ขนมเวเฟอร์ยังถูกนำมาประกอบเป็นขนมได้อีกหลายอย่าง แต่ที่นิยมกันมากคือทำเป็นโคนใส่ไอศกรีม ซึ่งยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  แม้แต่วาฟเฟิลก็คือเวเฟอร์ที่ผสมยีสต์ลงไปเพื่อให้เนื้อแป้งฟูนุ่มแทนความบางกรอบแบบเวเฟอร์นั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 โดนัทกับสารกันบูด

นอกจากฉลาดซื้อจะชอบทดสอบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการในอาหารแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือเรื่อง “สารกันบูด” ซึ่งอาหารเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะพวกอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย มักนิยมเติมสารกันบูดกันเสียลงไป เพื่อหวังยืดอายุอาหารให้นานยิ่งขึ้น วางอยู่บนชั้นวางสินค้าได้นานกว่าเดิม เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น ผู้บริโภคอย่างเราก็เสี่ยงอันตรายจากสารกันบูดมากขึ้นตามไปด้วย ถ้ายังจำกันได้ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบดูสารกันบูดในขนมปังหลากหลายประเภทที่วางขายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ทั้ง ขนมปังแซนวิช เค้ก ครัวซอง พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้สารกันบูด แถมบางตัวอย่างก็พบปริมาณของสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน ฉบับนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลวิเคราะห์สารกันบูดในขนมปังอีกครั้ง แต่เน้นไปที่กลุ่มขนม “โดนัท” ขนมยอดนิยมที่ทำจากแป้ง ซึ่งผู้ผลิตมักอ้างว่ามันมีการผสมสารกันบูดมาตั้งแต่ตอนเป็นวัตถุดิบแล้ว   โดนัทสารกันบูดน้อย ü สารกันบูดที่ใช้ในโดนัทพบในปริมาณที่น้อยมาก ที่พบสูงสุดคือโดนัทน้ำตาลไม่มียี่ห้อ ซึ่งทอดขายอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัย พบว่าปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด คือ เบนโซอิกพบ 18.72 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และซอร์บิกพบ 3.17 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมแล้วเท่ากับ 21.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถ้าคิดเฉลี่ยต่อโดนัท 1 ชิ้นที่น้ำหนัก 30 กรัม เท่ากับพบว่ามีการใช้สารกันบูดเฉลี่ยที่ 6.57 มิลลิกรัมเท่านั้น และการทดสอบครั้งนี้จากตัวอย่างโดนัททั้งหมด 8 พบว่ามี 3 ตัวอย่างที่มีสารกันบูด ส่วนอีก 5 ตัวอย่างไม่พบ ถือว่าเป็นข่าวดี ü มีแนวโน้มที่ดีในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับผลการทดสอบครั้งก่อนที่ฉลาดซื้อเคยทำ ครั้งนั้นพบมีสารกันบูด 5 จาก 9 ตัวอย่าง โดยมิสเตอร์ โดนัทเป็นตัวอย่างที่พบสารกันบูดในการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง คราวก่อนพบกรดเบนโซอิกที่ปริมาณ 36.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(โดนัท 1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 10.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)  แต่ในทดสอบครั้งนี้ ตัวอย่างโดนัทจากร้านมิสเตอร์ โดนัท พบสารกันบูดที่ปริมาณ 20.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 6.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จัดว่ามีแนวโน้มที่ดี  ส่วนยี่ห้อ ดังกิ้น โดนัท และ โดนัท แดดดี้ โด ที่เคยตรวจพบสารกันบูดในการวิเคราะห์ครั้งก่อน ครั้งนี้ไม่พบการใช้สารกันบูด   สารกันบูดกับโดนัท สารกันบูดที่นิยมใช้ในโดนัทมีอยู่ 3 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid) ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่ของวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้พบได้ในอาหารอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ไม่ว่าอาหารชนิดนั้นจะใช้สารกันเสียกี่ชนิดก็ตาม รวมกันแล้วก็ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม กฎหมายมีการบังคับไว้ว่า ถ้าหากอาหารประเภทใดที่มีการใช้วัตถุกันเสีย ต้องมีการแจ้งข้อมูลบนฉลากว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” แต่สำหรับโดนัทที่ขายกันอยู่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นของร้านแฟรนไชส์ต่างๆ จะเป็นแบบผลิตขายกันวันต่อวัน ไม่มีฉลากบอกเรื่องของส่วนประกอบที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ข้อมูลโภชนาการ รวมถึงเรื่องของการใช้สารกันบูด ผู้บริโภคอย่างเราก็เลยต้องอาศัยวิธีการเดากันเอาเองว่าโดนัทยี่ห้อนี่จะมีสารกันบูดหรือเปล่า*   *กินกันแบบไม่รู้อะไรเลย ในต่างประเทศเขากินโดนัทกันมาก่อนเรา กินมากกินกันจริงจัง บางคนถึงขนาดกินเป็นอาหารหลัก กินกันจนสุขภาพเสีย อย่างในอเมริกาที่คนกินโดนัทกันจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน คนอ้วนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คนป่วยก็มากขึ้น เขาเลยมีการรณรงค์เรื่องการกินโดนัทอย่างถูกต้องปลอดภัยกับสุขภาพ ซึ่งบรรดาร้านโดนัทชื่อดังที่นู้นเขาก็ขานรับ ด้วยการช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าโดนัทแต่ละชิ้นที่ขายอยู่ให้ร้าน มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างไรบ้าง กินแล้วได้พลังงานเท่าไร ไขมันเท่าไร น้ำตาลแค่ไหน ที่สำคัญมีการบอกด้วยว่ามีการใช้สารกันบูดด้วยหรือเปล่า ซึ่งอย่างน้อยๆ ผู้บริโภคก็ได้มีข้อมูลไว้ตัดสินใจเองได้ว่า ควรกินไม่ควรกิน คนที่ดูแลสุขภาพแต่อยากกินโดนัท ก็จะได้วางแผนควบคุมปริมาณสารอาหารของตัวเองได้ โดยข้อมูลโภชนาการของโดนัทแต่ละรสชาติ (รวมทั้งอาหารประเภทอื่นๆ ที่ขายอยู่ในร้าน) จะถูกเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของร้าน ผู้บริโภคสามารถคลิกเข้าไปดูได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ส่วนผู้บริโภคไทยก็ยังต้องใช้วิธีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนกันต่อไป เพราะบรรดาร้านโดนัทที่ขายอยู่ในบ้านเรา ยังไม่มีข้อมูลเรื่องโภชนาการอยู่ในเว็บไซต์ คงได้แต่อาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ของร้านในต่างประเทศมาเป็นข้อมูลเทียบเคียงกันไปก่อน (หรือไม่ก็ใช้ข้อมูลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้ก็ได้)   3 เหตุผลที่ควรรู้ก่อนงั่มโดนัท โดนัทมีไขมันทรานส์ โดนัทเป็นของทอด ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์ ที่มักพบในน้ำมัน รวมถึงในเนยเทียม และมาร์การีน ซึ่งถือเป็นไขมันตัวร้ายมีผลต่อการทำงานของหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน จากผลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า ในโดนัท 1 ชิ้น พบปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.045 กรัม ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าในอาหาร 1 หน่วยบริโภค ไม่ควรพบไขมันทรานส์เกิน 0.5 กรัม และเสี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำอีกด้วย โดนัทมีน้ำตาลสูง ความหวานอร่อยของโดนัทเกิดจากการปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล รวมถึงบรรดาหน้าต่างๆ ของโดนัท ส่วนประกอบหลักก็คือน้ำตาล ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า เฉลี่ยในโดนัท 1 ชิ้น จะมีน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 5.5 กรัม สูงสุดที่พบจากตัวอย่างที่ทดสอบคือ 13.9 กรัม ซึ่งใน 1 วันเราควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม อันตรายๆ 3. โดนัทให้พลังงานสูง จากผลทดสอบที่ได้พบว่า โดนัท 1 ชิ้น (น้ำหนักประมาณ 40 กรัม) ให้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 168 กิโลแคลอรี่ ถ้าอิ่มที่ 1 ชิ้นก็ถือว่าโอเค พลังงานยังไม่สูงมาก (ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันคือ  2,000 กิโลแคลอรี่) แต่ถ้าอร่อยต่อเนื่อง มีการเบิ้ลชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 แล้วยังต้องกินข้าวอีก 3 มื้อ อันนี้ก็บอกได้เลยว่ามีความเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายของเราจะได้รับพลังงานเกิน อ้วนๆๆ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 ขนมปังกรอบ โซเดียมที่คาดไม่ถึง

ขนมปังกรอบ หรือเรียกอย่างฝรั่งว่า แครกเกอร์(Cracker) นั้น  เป็นขนมอบกรอบอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากพอสมควร นิยมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะรับประทานกับชีสต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาหรือกาแฟ หรือเวลาจัดงานเลี้ยงปีใหม่ งานเลี้ยงค็อกเทลก็จะเห็นมีการนำมาจัดวางกับพวกผักสลัด ชีส แฮม/ไส้กรอก ทำเป็นของกินเล่นได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มขนมปังกรอบและแครกเกอร์ในประเทศไทยมีการขยายตัวทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ปัจจุบันมูลค่าตลาดขนมปังกรอบในไทยโดยรวมปี 2554 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน แครกเกอร์ 38%, คุกกี้ 32% และเวเฟอร์ 30% โดยมีอัตราการเติบโตที่ 13%  แน่นอนว่าเราจะพบเห็นโฆษณาที่มากขึ้นของขนมชนิดนี้ในสื่อต่างๆ และความหลากหลายของยี่ห้อที่พบวางอยู่บนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบในแครกเกอร์ ซึ่งมีแป้งสาลี ไขมัน น้ำตาลและเกลือ เป็นหลักแล้ว คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหลายๆ คนจึงชอบแครกเกอร์ ทั้งนี้คงเพราะติดใจในรสชาติเค็มๆ มันๆ แบบ ชิ้นเดียวไม่เคยพอ แต่เมื่อลองหยิบฉลากมาดู โอ้ แคลอรีกับโซเดียมไม่เบาเลยแฮะ เห็นแผ่นบางๆ แค่ไม่กี่แผ่น ถ้าเผลอกินเพลินไปล่ะก็ ได้รับโซเดียมกระฉูดแน่   ดังนั้นก่อนหยิบแครกเกอร์กินในครั้งต่อไป โปรดเช็คฉลากสักนิดว่า พลังงานและปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะดูรายละเอียดก่อนไปหยิบฉวยในซูเปอร์มาร์เก็ต ฉลาดซื้อมีมาฝากในฉบับนี้ค่ะ   แครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) บิสกิต           ความต่างของคุกกี้ บิสกิตและแครกเกอร์ ทั้งหมดต่างเป็นขนมอบ ส่วนใหญ่ทำจากแป้งสาลีลักษณะกรอบ แห้ง คุกกี้ ได้จากการแบ่งแป้งขนมเค้กที่ผสมแล้วออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำเข้าเตาอบ (เดิม)เพื่อทดสอบอุณหภูมิที่จะใช้อบขนมเค้ก คำว่า "คุกกี้" (cookie) ใช้กันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ในสหราชอาณาจักรจะเรียกขนมแบบเดียวกันนี้ว่า "บิสกิต" (biscuit) ส่วน แครกเกอร์ (cracker) จะเป็นขนมปังกรอบแผ่นบางๆ แห้งๆ รสเค็มเอาไว้กินกับชีส ครีมชีส หรือทำเป็นขนมชีสเค้กต่างๆ     ความเสี่ยงของขนมปังกรอบ คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ นอกจากเรื่องแคลอรีและโซเดียมที่สูง ก็คือ ไขมันทรานส์ และสารอะคริลาไมด์ (AA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารประเภทแป้งที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 143 ขนมปังและสารกันบูด

  คนไทยมีอาหารการกินหลากหลาย ขนมอบอย่างฝรั่ง เช่น ขนมปัง แซนด์วิช ครัวซอง หรือเค้ก ก็กลายมาเป็นทั้งอาหารมื้อหลัก(โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เร่งรีบ) และอาหารว่างที่หลายคนชื่นชอบ เพราะหาได้ง่ายและราคาไม่แพง อย่างไรก็ตามในกระบวนการผลิตขนมอบเรายังพบความเสี่ยงบางประการที่เกือบจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน นั่นคือการผสมสารกันบูดลงไปด้วย ‘ฉลาดซื้อ’ เลยได้โอกาสตรวจสอบกันอีกสักทีว่าความเสี่ยงของสารกันบูดในขนมอบทั้งหลายมีมากน้อยแค่ไหนกันนะ   ฉลาดซื้อทดสอบ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้ง ขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่างๆ จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” 1 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid)     หมายเหตุ หากมีการใช้สารกันบูดร่วมกันมากกว่า 2 ชนิด ในตัวอย่างเดียวกัน การพิจารณาค่ามาตรฐานให้ใช้ค่ารวมของสารทั้งหมดที่พบเทียบกับค่าสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ของสารกันบูดชนิดที่มีค่าต่ำที่สุด ซึ่ง ณ ที่นี้ คือ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาหาร                *** ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   ผลทดสอบ 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมดที่พบสารกันบูดยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จากการทดสอบพบว่า มีการใช้สารกันบูดในขนมอบสูงถึงร้อยละ 79 (รวม 11 ตัวอย่าง)   แบ่งเป็นพบสารกันบูดชนิดเดียว ร้อยละ 21 (3 ตัวอย่าง : เค้กฟลัฟฟี่ มาม่อน ชีส, ซอฟท์เค้กรสใบเตย เลอแปง, และเค้กโรลวนิลา  sun merry)   พบสารกันบูด 2 ชนิดร้อยละ 36 (5 ตัวอย่าง : ขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery, ขนมปังไส้เผือก ฟาร์มเฮ้าส์, ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์, ขนมปังไส้ลูกเกด นัทเบเกอรี่, และ ขนมปังแซนวิช  Tesco)   และพบสารกันบูดครบทั้ง 3 ชนิดร้อยละ 21 ( 3 ตัวอย่าง : ขนมปังไส้เผือก เลอแปง, ขนมปังไส้เผือก เอพลัส, และ สวีทโรล เลอแปง) และที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วงมีทั้งหมด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ขนมอบที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน 5 ตัวอย่างขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณ 1,583 มก./กก.ขนมปังแซนวิช Tesco ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./กก.  ขนมปังไส้เผือก เอพลัส ที่ปริมาณรวม 1,274 มก./กก.ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./กก.     --------------------------------------------------   การพิจารณาฐานความผิดโดยใช้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   โดยมีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช Tesco ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท เนื่องจาก บนฉลากระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่ กลับพบการใช้วัตถุกันเสียร่วมกันถึงสองชนิดในตัวอย่างเดียว และมีค่าที่พบสูงมากอีกด้วย   ฉลาดซื้อแนะนำ เลือกซื้อขนมอบของร้านที่ทำสดแบบวันต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารกันบูดได้ดีกว่าซื้อขนมอบที่ต้องทำส่งร้านหลายสาขาหรือวางสินค้าทั่วประเทศ การเลือกซื้อให้สังเกตฉลากตรงส่วนประกอบของอาหาร หากมีระบุว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” หมายความว่า คุณกำลังบริโภคสารกันบูด และมีความเสี่ยงของการจะได้รับสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน    สารกันบูดที่นิยมในวงการเบเกอรี่ 1. เบนโซเอท (Benzoic acid และ Benzoates) นิยม ใช้ในรูปของเกลือโซเดียม ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรด เช่น น้ำหวาน, น้ำผลไม้, แยม, น้ำสลัด, ผักดอง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   2. ซอเบท (Sorbic acid และ Sorbates) เป็น สารกันบูดที่นิยมใช้กันมาก ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรดเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มที่ใช้จึงใกล้เคียงกัน รวมทั้งพวกไส้ขนมต่าง ๆ ในการทำขนมขายส่ง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   3. โปรปิโอเนท (Propionic acid และ propionices) มี ความสามารถในการทำลายแบคทีเรียและราได้ดีกว่ายีสต์ นิยมใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ขนมปัง, เค้ก, นิยมใช้แคลเซียมโปรปิโอเนทกับขนมปังมากกว่า เพราะเกลือแคลเซียม จะช่วยเป็นตัวปรับสภาพของก้อนโด ได้ด้วยส่วนเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม นิยมใช้กับเค้ก ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย 0.1- 0.2% ที่มา  http://www.kccbakermart.com/bakery_materials.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point