ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ผลทดสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และข้อมูลโภชนาการอื่นๆ ในเครื่องดื่ม “ ชานมไข่มุก ”

        ต้นกำเนิดของ  “ชานมไข่มุก” บับเบิลมิลค์ที หรือ ปัวป้ามิลค์ที (Bubble Tea / Boba Tea) มีที่มาจากร้านชา “ชุนฉุ่ยถัง” ในเมืองไทจง ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 1980 ด้วยการนำไข่มุก (Bubble) หรือ เฟิ่นเหยิน (Fen Yuan) ซึ่งเป็นขนมดั้งเดิมของไต้หวัน ดัดแปลงใส่ลงไปในชานม จึงเกิดผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ขึ้นมา จนปัจจุบันกลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของคนไต้หวัน และโด่งดังไปทั่วเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และ แผ่ขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรป อีกด้วย         เม็ดไข่มุก (Tapioca Pearls) ทำจากแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca Flour) ซึ่งอาจมีหลากสี เช่น สีดำ สีทอง สีเขียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่ใส่ลงไป โดยส่วนใหญ่ที่พบทั่วไปจะเป็นไข่มุกสีดำที่มาจากสีผสมอาหารสังเคราะห์ หรือ น้ำตาลทรายแดงและผงโกโก้        ปัจจุบันเราจะเห็นร้านชานมไข่มุกอยู่เกือบทุกที่ เนื่องจากรสชาติหวานหอมของชานม ที่ผสานกับเนื้อสัมผัสที่เหนียว นุ่ม หนึบ ของไข่มุกอย่างลงตัว ทำเอาคนไทยติดใจ จนร้านชานมไข่มุกหน้าใหม่ แข่งขันกันเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งแบบแบรนด์ต่างชาติ แฟรนไชส์ และร้านท้องถิ่น ซึ่งราคาก็มีตั้งแต่ ระดับแมส แก้วละ 20 - 30 บาท ระดับพรีเมียมแมส แก้วละ 35 - 50 บาท ไปจนถึงระดับพรีเมียมแก้วละ 80 – 100 กว่าบาทเลยทีเดียว         จากรายงานการวิจัยตลาดของบริษัท Allied Analytics ในปี 2017 มูลค่าตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกอยู่ที่ 1,954 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 65,000 ล้านบาท) คาดว่าภายในปี 2023 จะมีมูลค่าแตะ 3,214 ล้านเหรียญ (ราว 100,000 ล้านบาท) ส่วนตลาดชานมไข่มุกในไทย จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจกสิกรไทย พบว่ามีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ โอชายะ Ochaya ที่มีสาขามากกว่า 360 สาขา มีรายได้ปี 2560 ที่ 148,202,491 บาท เมื่อเทียบจากปี 2558 แล้วถือว่าเติบโตมากกว่า 1 เท่าตัว (ที่มาข้อมูล: https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)         ด้วยความนิยมดื่มชานมไข่มุกของคนไทย ฉลาดซื้อจึงหยิบเอาข้อมูลปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่ได้จากการบริโภคชานมไข่มุกมาให้ผู้บริโภคได้ทราบกัน ซึ่งชานมไข่มุกหนึ่งแก้ว ประกอบด้วย ชานม (ซึ่งอาจมีส่วนประกอบของนมผง ครีมเทียม หรือนมสด) แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล และวัตถุเจือปนอาหารชนิดต่างๆ         ฉลาดซื้อในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกแบบสูตรปกติ จำนวน 25 ยี่ห้อ ตั้งแต่ระดับแมส พรีเมียมแมส และพรีเมียม ที่มีจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปริมาณพลังงาน และน้ำตาลต่อแก้ว และ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลผลทดสอบข้อมูลโภชนาการ ชานมไข่มุก (สูตรปกติ) 25 ยี่ห้อหมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่างเดือน พฤษภาคม 2562หมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่างเดือน พฤษภาคม 2562 ตารางที่ 2 เปรียบเทียบปริมาณพลังงานกับปริมาณข้าวสวย(ทัพพี) และ ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชาหมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ** ** ข้าวสวย (ข้าวขาว) 1 ทัพพี ให้พลังงานเท่ากับ 80 กิโลแคลอรี (kcal) *** น้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา *** น้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชาสรุปผลการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน และ น้ำตาล) ของชานมไข่มุก     จากผลการทดสอบปริมาณพลังงานทั้งหมด พบว่า        ตัวอย่างชานมไข่มุกที่ให้พลังงานทั้งหมดต่อแก้ว น้อยที่สุด ได้แก่             - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ KOI The’ (น้ำหนัก 173 กรัม / ไม่รวมน้ำแข็ง)             ให้ปริมาณพลังงานทั้งหมด 157 กิโลแคลอรี (kcal)             เทียบได้กับข้าวสวย ปริมาณ 1.96 ทัพพีและ     ตัวอย่างชานมไข่มุกที่ให้พลังงานทั้งหมดต่อแก้ว มากที่สุด ได้แก่            - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice (น้ำหนัก 699 กรัม / ไม่รวมน้ำแข็ง)              ให้ปริมาณพลังงานทั้งหมด 769 กิโลแคลอรี (kcal)             เทียบได้กับข้าวสวย ปริมาณ 9.61 ทัพพี จากผลการทดสอบปริมาณน้ำตาล พบว่า         ตัวอย่างชานมไข่มุกที่มีปริมาณน้ำตาล น้อยที่สุด ได้แก่             - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ KOI The’ มีปริมาณน้ำตาล 16 กรัม            เทียบได้กับน้ำตาล จำนวน 4 ช้อนชาและ     ตัวอย่างชานมไข่มุกที่มีปริมาณน้ำตาล มากที่สุด ได้แก่            - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice มีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม            เทียบได้กับน้ำตาล จำนวน 18.5 ช้อนชาโดยข้อสังเกตอื่นๆ มีดังนี้        - ปริมาณชานมไข่มุกเฉลี่ยต่อแก้ว จากทุกยี่ห้อ เท่ากับ 371 กรัม        - ชานมไข่มุก ที่มีราคาถูกที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Cha…Ma  ราคาแก้วละ 23 บาท        และ ราคาแพงที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Fire Tiger by Seoulcial Club ราคาแก้วละ 140 บาท                  ในแต่ละวัน เราควรได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหาร ตั้งแต่ 1,600 – 2,400 กิโลแคลอรี (kcal) ในกลุ่มคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป สำหรับในกลุ่มข้าวและแป้ง (เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปัง) ควรได้รับวันละ 8 – 12 ทัพพี หญิงวัยทำงาน วัยทอง หรือผู้สูงอายุ กินวันละ 8 ทัพพี ชายวัยทำงาน 10 ทัพพี หรือหากต้องใช้พลังงานมากก็ 12 ทัพพี ซึ่งหากคิดพลังงานที่ควรได้รับ เท่ากับ 2,000 กิโลแคลอรี/วัน แบ่งเป็น 3 มื้ออาหาร เท่ากับมื้อละ 666 กิโลแคลอรี การดื่มชานมไข่มุก 1 แก้ว ก็อาจเท่ากับพลังงานที่ได้รับจากอาหาร 1 มื้อ ผลทดสอบปริมาณสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก         นอกจากการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในชานมไข่มุกแล้ว ฉลาดซื้อยังทดสอบวัตถุกันเสียและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก ทั้ง 25 ตัวอย่างอีกด้วย โดยประเภทของวัตถุกันเสียที่ตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ส่วนโลหะหนักที่ตรวจวิเคราะห์ คือ ตะกั่ว (Lead)         ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่พบโลหะหนักประเภทตะกั่ว (Lead) ในเม็ดไข่มุกทุกตัวอย่างส่วนผลการทดสอบสารกันบูดแสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 3 ผลทดสอบสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก 25 ยี่ห้อ (เรียงลำดับตามปริมาณรวมของสารกันบูดจากน้อยไปมาก) สรุปผลการทดสอบสารกันบูดในเม็ดไข่มุก        จากผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า เม็ดไข่มุกทุกตัวอย่างตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในปริมาณที่แตกต่างกัน ส่วนกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) พบว่า ตรวจพบเกือบทุกตัวอย่าง ยกเว้น 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ยี่ห้อ The ALLEY  2) ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice และ 3) KOI Thé  ที่ตรวจไม่พบกรดเบนโซอิก        ซึ่งหากรวมปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้ว พบว่า         - ตัวอย่างเม็ดไข่มุกที่มีปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิด น้อยที่สุด ได้แก่                 ยี่ห้อ The ALLEY  มีปริมาณสารกันบูดรวม 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        และ ตัวอย่างเม็ดไข่มุกที่มีปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิด มากที่สุด ได้แก่                 ยี่ห้อ BRIX Desert Bar  มีปริมาณสารกันบูดรวม 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม                  ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้พบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก สูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (โดยมีสัดส่วนของผลรวมไม่เกินหนึ่ง)         ซึ่งจากผลตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่มีเม็ดไข่มุกยี่ห้อใดพบสารกันบูดในปริมาณที่เกินมาตรฐาน คำแนะนำในการบริโภค         รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ  อาจารย์และประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำในการบริโภคว่า ไม่ควรบริโภคชานมไข่มุก หรือ เครื่องดื่มประเภทเดียวกัน เช่น กาแฟเย็นมากกว่า 1 แก้วต่อวัน หากบริโภคชานมไข่มุกแล้ว เครื่องดื่มในมื้ออื่นๆ ควรเลือกเป็นน้ำเปล่า ที่สำคัญควรเลือกบริโภคชานมไข่มุกแก้วที่มีขนาดเล็กหน่อย เพราะจะให้ผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่า         การบริโภคชานมไข่มุกอาจทำให้เกิดพลังงานส่วนเกินมากกว่าที่ร่างกายเราใช้ไป หากสะสมจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น กรณีชานมไข่มุก เราจะได้น้ำตาล และแป้งจากเม็ดไข่มุก รวมถึงไขมันจากส่วนผสมที่เป็นนมหรือครีมเทียม ถ้าดูจากสัดส่วนจะเห็นว่าหนักในเรื่องน้ำตาล แป้ง และไขมัน ซึ่งถ้ากินชานมไข่มุกแทนมื้ออาหาร ก็จะทำให้ได้สารอาหารไม่ครบ แม้ว่าน้ำตาลจะให้พลังงาน แต่ไม่ได้ให้สารอาหารอื่นๆ ในขณะที่ถ้าเรากินข้าว ก็จะได้แร่ธาตุและวิตามิน หากเราบริโภคชานมไข่มุก อาจต้องไปลดปริมาณข้าวหรือแป้งในอาหารปกติลง เช่น เคยกินข้าว 3-4 ทัพพี ก็อาจลดเหลือแค่ 2 ทัพพี เพื่อไม่ได้เกิดพลังงานส่วนเกิน” แหล่งข้อมูลอ้างอิง:- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล - wikipedia.org - คลิปวิดีโอ ThaiPBS “พิสูจน์ชานมไข่มุกร้านต้นตำรับที่ไต้หวัน : ดูให้รู้” - คลิปวิดีโอ ThaiPBS “ความยิ่งใหญ่อุตสาหกรรมชานมไข่มุก : ลงทุนทำกิน (3 มิ.ย. 62)” - ชาไข่มุก : ทำไมถึงกลับมาฮิต เกี่ยวโยงเศรษฐกิจ-การเมืองไต้หวันอย่างไร?     (https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)  (https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ผลทดสอบ “สารกันบูด” ในเส้นขนมจีน

ขนมจีน เป็นอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานไม่แพ้ข้าวสวยและข้าวเหนียว เมนูขนมจีนถูกรังสรรค์ขึ้นมากมายในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยา เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ หรือจะเป็นตำซั่วปูปลาร้า ยำขนมจีน เป็นต้น หรือจะนำเส้นขนมจีนมาคลุกเคล้ากับน้ำปลาก็ยังถือว่าอร่อย เมื่อขนมจีนเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีผู้ผลิตจำนวนมากแข่งกันทำขนมจีนออกมาขาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถหาซื้อขนมจีนได้ง่ายในตลาดสดทั่วไป        ขนมจีนเป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน การผลิตและจำหน่ายจึงเป็นแบบวันต่อวัน หากขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง ทำให้แม่ค้าและผู้ผลิตขนมจีนเสี่ยงที่จะขาดทุน  “สารกันบูด” จึงถูกนำมาใช้ในกระบวนการยืดอายุขนมจีนให้สามารถเก็บไว้ขายได้นาน  นอกจากเส้นขนมจีนแล้ว ยังนิยมใส่สารกันบูดในเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทอื่นๆ อีกด้วย สารกันบูดที่นิยมใช้กัน ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ซึ่งหากร่างกายได้รับสารกันบูดเหล่านี้ในปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ตับและไตทำงานแย่ลงได้        ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้โภคด้านสุขภาพ เห็นความสำคัญในการสุ่มตรวจซ้ำในผลิตภัณฑ์เส้นขนมจีน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยและผลักดันให้เกิดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลผลทดสอบให้ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้เลือกซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ โดยก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยทดสอบสารกันบูดในขนมจีนมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 180) และในเดือนมิถุนายน 2560 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 196) การสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนในครั้งแรก พบเส้นขนมจีนที่มีปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน จำนวน 2 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง และในครั้งที่ 2 พบว่ามีสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่างฉลาดซื้อ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนให้มากกว่าเดิมในครั้งนี้ โดยสุ่มเก็บทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) โดยผลการทดสอบปรากฏดังตารางต่อไปนี้ ตารางแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีน 31 ตัวอย่าง (ลำดับจากน้อยไปมาก)ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่าง เดือน พฤษภาคม 2562  ผลการทดสอบ        ตัวอย่างขนมจีนทั้งหมด 31 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) เลย แต่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในทุกตัวอย่าง        โดย เส้นขนมจีนที่ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด ได้แก่ ขนมจีนไม่มียี่ห้อ จากตลาดห้วยขวาง ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 119.81 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        จากตารางผลวิเคราะห์พบว่า มีเส้นขนมจีน จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ได้แก่        1) เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย                   ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 1066.79 มก./กก.และ  2) เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง          ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 1361.12 มก./กก.        ซึ่งตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ในอาหารประเภทพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน ที่ผ่านกระบวนการ ชนิดสด ชนิดแห้ง และชนิดกึ่งสำเร็จรูป        กรณีพบการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น สารกันบูด เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตามมาตรา 60 ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  ข้อสังเกตการแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์ขนมจีน        ขนมจีนจัดเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งต้องแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยผู้ผลิตต้องระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือร่วมกับตัวเลขตาม International Numbering System (INS) ไว้บนฉลาก        ทั้งนี้ ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวได้ยกเว้นอาหารในลักษณะต่อไปนี้ ที่อนุโลมให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ได้แก่ (1) อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่ผลิตแก่ผู้บริโภคได้ในขณะนั้น เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น  (2) อาหารสดทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสดนั้นได้  เช่น ผัก ผลไม้ตัดแต่ง เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นหรือบด เป็นต้น (ไม่รวมถึงอาหารแปรรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปในภาชนะพร้อมจำหน่าย) และ (3) อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อด้วยจากผลทดสอบที่พบว่า เส้นขนมจีนทั้งหมด 31 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกทุกตัวอย่างนั้น  ฉลาดซื้อได้ทำการสังเกตฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม        พบว่า มีเส้นขนมจีน จำนวน 4 ตัวอย่าง เท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ระบุไว้บนฉลาก ได้แก่           1) ยี่ห้อ เจ้ ควิก (ดอนเมือง) จากตลาดสะพานใหม่          2) ยี่ห้อ ขนมจีนแป้งหมัก ดอนเมือง ผลิตโดย โง้วง้วนฮวด จากตลาดคลองเตย          3) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขารัชดาภิเษก และ    4) ยี่ห้อ หนองชะอม จากตลาดห้วยขวาง          พบว่า มีเส้นขนมจีน 1 ตัวอย่าง ที่มีข้อความบนบรรจุภัณฑ์อ้างว่า “ปราศจากสารกันบูด” ได้แก่ ยี่ห้อ เส้นทิพย์ จากตลาดพระประแดง  ซึ่งตรวจพบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก เท่ากับ 819.89 มก./กก.           พบว่า มีเส้นขนมจีน 2 ตัวอย่าง ที่ใช้ข้อความบนบรรจุภัณฑ์อ้างว่า “ปราศจากสิ่งเจือปน” หรือ “ไม่มีสารเจือปน” ได้แก่          1) ยี่ห้อ ดอกคูณ จากตลาดสะพานใหม่ ซึ่งใช้ข้อความอ้างว่า “ปราศจากสิ่งเจือปน”           2) ยี่ห้อ ขนมจีน 5 ดาว แพรกษา จากตลาดบางกะปิ ซึ่งใช้ข้อความอ้างว่า “ไม่มีสารเจือปน”                     พบว่า มีเส้นขนมจีน 3 ตัวอย่าง ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ได้แก่          1) ยี่ห้อ เจ้ ควิก (ดอนเมือง) จากตลาดสะพานใหม่ เลข อย. 10-1-04450-1-0035          2) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดาภิเษก เลข อย. 19-2-00958-2-0001 และ    3) ยี่ห้อ นายไฮ้ ขนมจีนชะอำเพชรบุรี จากตลาดพระประแดง เลข อย. 76-2-00461-6-0001           และ พบว่า มีเส้นขนมจีน 2 ตัวอย่าง ที่แสดงวันผลิต และ วันหมดอายุ/วันที่ควรบริโภคก่อน บนฉลาก ได้แก่          1) ยี่ห้อ ขนมจีนสะพานใหม่ จากกูร์เมต์ มาร์เก็ต สยามพารากอนและ    2) ยี่ห้อ ฉวีวรรณ จากห้างฯ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดาภิเษก         ซึ่งหากสรุปข้อสังเกตการแสดงฉลากของเส้นขนมจีนทั้ง 31 ตัวอย่าง จะแสดงได้ดังตารางต่อไปนี้        นอกจากนี้ จากการสุ่มเก็บตัวอย่าง เส้นขนมจีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายตามข้อยกเว้นที่ไม่ต้องแสดงฉลาก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ จึงต้องมีการแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นอาหารที่ผลิตในรูปแบบของโรงงานและส่งออกวางจำหน่ายตามตลาดต่างๆ โดยเฉพาะพบว่าขนมจีนบางยี่ห้อ มีการใช้ข้อความบนฉลากว่า “จำหน่ายปลีก-ส่ง” ซึ่งอาจหมายความว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ผลิตเพื่อขายเองหน้าร้านเพียงอย่างเดียวแต่หากเป็นกรณีที่ผลิตเส้นขนมจีนและจำหน่ายเองหน้าร้าน ไม่ได้รับซื้อหรือส่งต่อไปขายที่อื่น ก็เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงฉลากทั้งนี้ หากไม่ติดฉลาก หรือ ฉลากไม่ครบถ้วน มีจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตามมาตรา 51  ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ทดสอบสารกันบูดในแป้งทำขนม

ฉลาดซื้อทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบหรือเบเกอรี่ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมาก หลายครั้งที่พบว่า มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มาก ซึ่งผู้ผลิตเองก็ระบุว่า ไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงตรวจพบ ซึ่งจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านอาหาร เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตขนม  ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  จึงสุ่มตัวอย่าง “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด จำนวน 19 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารกันเสียยอดนิยมคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และสารฟอกขาว(ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) จากผลวิเคราะห์พบ กรดเบนโซอิกปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมิใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกโดยตรง แต่เกิดจากการใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีเพื่อฟอกขาว และสารนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกรดเบนโซอิก ดังนั้นเมื่อมีการนำแป้งสาลีมาทำขนมอบ เช่น ขนมเปี๊ยะ ผลวิเคราะห์จึงพบค่าวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียในสูตรขนม ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้ผลิตขนมจึงควรแจ้งบริษัทแป้งสาลีเพื่อขอใช้แป้งสาลีที่ไม่มีสารฟอกขาว สรุปผลการทดสอบจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิกและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ 2.52 – 71.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านอาหาร ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นไว้ในการประชุมร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อว่า การพบวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในอาหาร ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการใส่สารกันเสียเพื่อถนอมอาหาร อีกทั้งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีจะมีการใช้สารเสริมคุณภาพหรือวัตถุเจือปนอาหารเพื่อฟอกสีแป้งให้ขาว ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-  “การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ลงไปในวัตถุดิบเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจกลายเป็นการปนเปื้อนวัตถุกันเสียจากความเข้าใจผิดได้ เช่น การใช้สารฟอกขาวประเภท Benzoyl peroxide เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสีย BENZOATES (กลุ่มเบนโซเอต) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่า BENZOYL PEROXIDE (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) INS: 928 ซึ่งมีหน้าที่เป็น สารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง, สารกันเสีย  ในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตารางผลการทดสอบ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเก็บตัวอย่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561*หมายเหตุ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการฟอกสีประเภท Benzoyl peroxide มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ผลวิเคราะห์ในปริมาณที่ปรากฏ จึงไม่น่าใช่การจงใจเติมวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ฟอกสีแป้งสาลีเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือสีของผลิตภัณฑ์ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-แป้งสาลี    แป้งสาลีเป็นแป้งที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด ไม่มีแป้งชนิดอื่นใช้แทนแป้งสาลีได้ ทั้งนี้เพราะแป้งสาลีมีโปรตีน 2 ชนิด ที่รวมกันอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ กลูเตนินและไกลอะดิน (Glutenin & Gliadin) ซึ่งเมื่อแป้งผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้องจะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งเรียกว่า “กลูเตน” (gluten) มีลักษณะเป็นยาง เหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเตนนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซไว้ทาให้เกิดโครงร่างที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ และจะเป็นโครงร่างแบบฟองน้ำเมื่อได้รับความร้อนจากตู้อบ ประเภทของข้าวสาลี ข้าวสาลีที่นำมาโม่เป็นแป้งสาลีนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความแข็งและสีของเมล็ดจัดเป็นข้าวสาลีชนิดแข็ง (Hard wheat) กับข้าวสาลีชนิดอ่อน (Soft wheat) ชนิดของแป้งสาลี แป้งสาลีที่ผลิตออกมาขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมี 3 ชนิดคือ แป้งขนมปัง แป้งเค้ก และแป้งเอนกประสงค์ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่างกันคือ 1.แป้งขนมปัง มีโปรตีนสูง 12-14 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดแข็ง ใช้ทำผลิตภัณฑ์พวกขนมปังจืด ขนมปังหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมักด้วยยีสต์ทุกชนิด 2.แป้งเอนกประสงค์ มีโปรตีนสูงปานกลาง 10-11 เปอร์เซ็นต์ เป็นแป้งที่ได้จากผสมข้าวสาลีชนิดแข็งกับชนิดอ่อนเข้ากับเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสมการทำผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ขนมปังจืดและหวาน ขนมเค้กบางชนิด ปาท่องโก๋ บะหมี่ เพสตรี 3.แป้งเค้ก มีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดอ่อน ใช้ทำเค้ก คุกกี้ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยนิ้วมือจะรู้สึกอ่อนนุ่มเนียนละเอียด มีสีขาวกว่าแป้ง 2 ชนิดแรก เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะเกาะรวมกันเป็นก้อนและคงรอยนิ้วมือไว้ แป้งชนิดนี้ใช้สารเคมีช่วยทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น ไม่ใช่ยีสต์ ซึ่งสารเคมีก็ได้แก่ ผงฟู โซดา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้สั่งข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำการโม่เป็นแป้ง โดยโรงโม่ที่มีอยู่จะทำแป้งจากทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว และจากแป้งหลักเหล่านี้ โรงโม่แต่ละแห่งจะทำการโม่แป้งสาหรับทำผลิตภัณฑ์เฉพาะยิ่งขึ้น โดยจะบ่งไว้ที่ถุงบรรจุแป้งว่า ใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าแป้งที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนั้นเป็นแป้งชนิดใด มีโปรตีนชนิดใด แล้วจึงเลือกซื้อให้เหมาะสม     เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ได้ผลดี คุณลักษณะที่สำคัญหนึ่งของแป้งสาลี คือ สีของแป้ง(Color) แป้งที่ดีควรมีสีขาว ถ้าหากมีสีอื่นปน เช่น สีเหลืองอ่อนของแซนโทฟิลล์ หรือสีครีม จะทำให้ขนมปังมีเนื้อใน(crumb) ที่มีสีไม่ดี ดังนั้นแป้งที่โม่ออกมาจึงควรผ่านการฟอกสีก่อน               สารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายอาหาร เพื่อยกเลิกการใช้โพแทสเซียมเป็นสารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ทำให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีต้องเลือกใช้สารออกซิไดส์อื่นแทน เช่นใช้กรดแอสคอร์บิกในปริมาณ 15-25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของแป้งสาลี เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อขนมปังดีขึ้นโดยผสมลงในแป้งก่อนขายให้ช่างทำขนมปัง นอกจากนี้ยังอาจใช้คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดส์อย่างอ่อนและเป็นสารฟอกสีแป้งด้วย เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อสัมผัสที่ดี หรือใช้เบนโอซิลเพอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารฟอกสี จะช่วยให้ได้ขนมปังที่มีเนื้อขนมปังขาวขึ้น โดยผสมลงในแป้งในปริมาณที่เหมาะสม สารเสริมคุณภาพแป้งสาลีอีกชนิดหนึ่งที่โรงโม่แป้งสาลีต้องคำนึงถึงคือ แป้งมอลล์ หรือเอนไซม์อะมิเลสจากเชื้อรา โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพแป้งในการทำขนมปังให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีเนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น ถ้าใช้แป้งมอลล์จะใช้ปริมาณ 1800 ส่วนในล้านของแป้ง แต่ใช้เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนได้น้อยกว่า   เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสจากเชื้อรา จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ซึ่งเอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสนี้จะช่วยย่อยสลายสตาร์ชในขณะหมักเพื่อให้ได้น้ำตาลมอลโทสสาหรับการทำงานของยีสต์ให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมขณะหมักเพื่อให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรดี ที่มา : จิตธนา แจ่มเมฆ และอรอนงค์ นัยวิกุล. 2549. เบเกอรี่เทคโนโลยีเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผู้ประกอบการขนมเปี๊ยะ ปั้นด้วยใจ

เริ่มศักราชใหม่ทุกคนมีสิทธิ์นำเรื่องราวดีๆ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารฉลาดซื้อได้จัดเวทีเชิญผู้ประกอบการที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อเคยนำสินค้ามาทดสอบในเรื่อง สารกันบูด จากกลุ่มขนมและอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 9 ราย และตัวแทนจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในเวทีได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องของสารกันเสียและการใช้ที่ถูกวิธี และยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่าจะได้นำข้อมูลจากการทดสอบไปปรับปรุงและควบคุมวัตถุดิบในการผลิตของตน อย่างเช่น ขนมเปี๊ยะครูสมทรง ขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร และขนมเปี๊ยะคุณหมู ถือเป็นความร่วมมือที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ส่วนทางห้างค้าปลีกเอง ก็รับจะนำข้อเสนอและข้อมูลจากเวทีไปพัฒนาในเรื่องการจัดซื้อสินค้าเพื่อผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับบนี้จึงพาไปพบกับมุมมองของผู้ประกอบการรายเล็กๆ  3 เจ้า ที่มีมุมมองในการเลือกสรรสิ่งดีๆ ได้ด้วยมือของเราเองท่านแรกคุณวิมล ศิริวณิชย์วงศ์ จากขนมเปี๊ยะร้านหมู ซอยโปโล เล่าว่า “ พื้นเดิมของครอบครัวพี่จะทำอาหารทานเอง พ่อแม่ก็ทำให้ทานเองตั้งแต่ปู่ย่าเขาก็จะทำอาหารให้ทานเอง แล้วเราก็จะรู้วิธีการว่าจะทำอย่างไรให้อาหารอยู่ได้นานและเราก็จะรู้จักวิธีเลือกวัตถุดิบว่าอย่างไรถึงจะดี เขาจะสอนเราหมดเหมือนมันเป็นอะไรที่มันซึมอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ ทั้งครอบครัวเลยไม่ใช่เฉพาะแต่พี่หรอก คนในครอบครัวจะรู้สึกว่าการที่เราจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการกิน และบวกกับความที่เราชอบทำอาหารก็คิดว่าถ้าเรารู้สึกอย่างไรก็อยากให้คนอื่นเค้ารู้สึกเหมือนเรา การควบคุมคุณภาพเลือกวัตถุดิบอย่างไรบ้างอย่างหนึ่งที่ต้องซื้อก็คือเรียกว่าต้องมาจากแหล่ง อย่างไข่เค็มที่เราใช้ก็ไม่ได้ซื้อทั่วๆ ไปจากท้องตลาด เราต้องมีเจ้าประจำซึ่งเรียกได้ว่าค้าขายกันมานาน ทุกอย่างเลยแม้กระทั่งแป้งสาลี ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่าน อย. ทุกอย่างต้องมีใบกำกับเรียบร้อยซึ่งตรงนั้นก็จะเหมือนกับเรากรองมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องมีการผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมมาทุกอย่าง จากข่าวที่ออกไปมีผลกระทบอย่างไรตอนแรกที่นักข่าวเขียนคือการที่พี่ใช้คำว่าไม่มีวัตถุกันเสียนั้นมันผิดนะ ไม่ถูกต้องเพราะว่าถ้าไม่มีแปลว่าต้องไม่เจอเลย แต่จากที่เคยฟังตัวสารเบนโซอิกไม่ได้เกิดจากวัตถุกันเสียแต่มันเกิดจากถั่วด้วยเพราะฉะนั้นอะไรคือข้อสรุปที่ให้เราเขียน พี่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่แม้กระทั่งผู้ประกอบการแบบพี่เอง หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันผิดอย่างไร และถ้าพี่ไม่ไปฟังพี่ก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ตอนที่ข่าวออกไปส่วนหนึ่งลูกค้าเขาไม่เข้าใจนะ เขาอ่านข่าวปุ๊บหมดเลย 10 กว่าร้านที่เจอวัตถุกันเสีย เมื่อวันก่อนลูกค้ามาเขาบอกเขาไม่ได้ทานมาเกือบปีเลยเพราะแฟนเขาไม่ให้ซื้อแต่เขาก็มั่นใจว่าพี่ไม่ได้ใส่เพราะเขาซื้อไปถ้าวางทิ้งไว้ 10 วันขึ้นราหมดเลย คือพี่ไม่ได้ทำตรงนี้มาแค่ปีสองปี พี่ทำงานตรงนี้มาจะ 40 ปีแล้ว ถ้าเราไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับลูกค้ามันคงยืนมาไม่ถึงตรงนี้ เพราะขายอยู่แต่ในร้านไม่เคยลงเฟสบุคหรืออะไรทั้งนั้น ไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ ตอนที่เป็นข่าวมีนักข่าวบอกว่าทำไมพี่ไม่ตอบโต้ พี่ก็บอกไปว่าไม่จำเป็นหรอกพี่คิดว่าลูกค้าเข้าใจนะ ถูกก็คือถูก วันหนึ่งลูกค้าก็จะกลับมาเหมือนเดิมและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่เป็นลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ตอนที่เป็นข่าวเขาโทรมาหาเลย บอกว่าเขาเสียความรู้สึกมาก วันนั้นพี่ไม่ได้อยู่บ้านเลยไม่ได้ฟังข่าวก็ถามเขาว่าเสียความรู้สึกเรื่องอะไร เขาก็ถามว่าทำไมพี่ใส่วัตถุกันเสีย วันนั้นลูกค้าโทรมากันใหญ่เลย พี่ก็ถามว่าไปเอามาจากไหน เขาถึงบอกว่าข่าวออก พี่ก็งงและก็ไม่รู้เรื่อง ที่บ้านก็ไม่รู้เรื่อง แล้ววันต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กลงแล้วคนก็อ่านแค่ว่าพบสารกันเสียในขนมเปี๊ยะ คนอ่านแค่นี้ไม่ได้อ่านข้างในแต่ว่ามันมีแบรนด์ร้านเราอยู่ก็แสดงว่าอ๋อร้านนี้มีแน่นอน คือคนไทยเป็นแบบนี้เขาไม่อ่านทั้งหมด ถ้าเขาอ่านทั้งหมดเขาก็เข้าใจว่าข่าวมันก็เป็นตามเนื้อข่าว แต่พี่ก็ไม่มีอะไรก็ช่างมัน แต่ถามว่ากระทบไหมก็มีผลกระทบนะ ไม่เฉพาะแต่ร้านพี่นะร้านอื่นๆ ก็คงเหมือนกัน แต่พอเรามาคิดว่าเราทำผิดอย่างไร ซึ่งก็มีลูกค้ามาแนะนำนะว่าพี่ต้องเขียนอย่างนี้ๆ สรุปพี่บอกว่าเอาอย่างนี้พี่ไม่เขียนอะไรเลยพี่เขียนแค่ว่าเก็บในตู้เย็นแล้วกัน (หัวเราะ) คนที่เขาทำอาหารให้คนอื่นกินต้องคงคุณภาพของอาหารถูกที่สุดเลย ถ้าคุณเป็นคนรุ่นพี่คุณจะรู้ว่าเคยทานอะไรแล้วมันอร่อยแล้วเดี๋ยวนี้มันจะไม่เหมือนเดิม แต่คำพูดแบบนี้คูณจะไม่ได้ยินจากปากลูกค้าของพี่นะ แต่ถ้าของร้านพี่ทานเมื่อ 30 ปีที่แล้ววันนี้ก็ยังโอเคเหมือนเดิม คุณต้องคิดว่าพี่ต้องทำมันด้วยใจรักขนาดไหนมันถึงอยู่มาได้ ไม่ว่าข่าวจะว่าอย่างไรแต่พี่ก็ยังผ่านมาได้แต่ก็น้อยใจนะเพราะเราไม่สามารถไปบอกลูกค้าทุกคนที่ได้รับข่าวนี้ได้ บางคนเข้าใจแต่บางคนอาจจะเสียความรู้สึกไปเลยก็ได้ ว่าที่กินมาตั้งนานนี่ใส่วัตถุกันเสียเหรออยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำขนม เช่น บริษัทผลิตแป้ง,ถั่วกวนสำเร็จรูปเขาก็ต้องมีคุณธรรมนะ หมายถึงว่าเขาต้องไม่เติมวัตถุกันเสีย ต้องมีวิธีรักษาให้มันอยู่ได้นาน ต้องมีความซื่อสัตย์กับลูกค้า อย่างของพี่ก็เลือกตั้งแต่ถั่วเลยต้องเป็นถั่วเกรด 1 ที่ไม่มีกรวด หิน ซึ่งราคาจะแพงกว่า แต่พอล้างน้ำให้สะอาดแช่ไว้แล้วใช้ได้เลย แต่มันก็จะมีถั่วผ่านรังสี ถั่วพอผ่านรังสีแล้วมันจะเก็บได้นาน แต่มันก็จะมีอันตรายกับผู้บริโภค อย่างโรงถั่วที่เขาโม่ให้พี่พอเขากะเทาะเมล็ดออกจากฝักแล้วจะอยู่ได้แค่ 1 เดือนเท่านั้นเอง ไม่นานกว่านี้ซึ่งถั่วที่พี่สั่งมานั้นก็จะเก็บนานไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะมีแมลงอะไรต่ออะไร เราก็การันตีจากความรู้สึกได้ว่ามันไม่ใส่ยา เพราะถ้ามียาผ่านรังสีปุ๊บแมลงไม่มีแน่นอนคุณชุติกานจน์ กิตติสาเรศ และคุณนลพรรณ มั่นนุช พี่ดาและพี่อิ๋ว ร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน เล่าประวัติก่อนเริ่มมาทำขนมเปี๊ยะขายว่าแต่เดิมนั้นขายน้ำ และขนมอยู่กับเตี่ย รับขนมของคนอื่นมาขายหลายยี่ห้อ จนวันหนึ่งก็มีความคิดว่าจะทำอะไรขายดี จึงได้ไปเรียนทำขนมปังแต่ก็ทำไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเรียนทำขนมเปี๊ยะ ด้วยความที่ชอบทานมาตั้งแต่เด็ก จึงชอบที่จะทำขนมเปี๊ยะ แล้วนำความรู้ที่เรียนมาลองทำทานเองบ้าง ทิ้งบ้าง ให้เพื่อนช่วยชิมบ้าง และปรับปรุงสูตรให้เป็นสูตรของตนเองจนเพื่อนบอกว่าสูตรนี้อร่อยแล้ว จึงมาทำขาย โดยเริ่มไปตั้งบูธขายที่เดอะมอลล์ท่าพระ และเดอะมอลล์บางแค ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากข่าวเรื่องพบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะออกไปเป็นอย่างไรบ้างแต่ข่าวที่ออกไปก็ส่งผลให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ทราบมาจากข่าวจึงอยากลองชิม เราคิดว่าวัตถุกันเสียน่าจะปนเปื้อนมากับแป้งที่ใช้ทำขนม  แต่แป้งที่เราใช้นั้นมีฉลาก อย. เพราะเราคิดว่าของที่มี อย. กำกับน่าจะสะอาดอยู่แล้ว เราจึงไม่ทราบจริงๆ ว่ามีสารปนเปื้อนอยู่ จากเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายตกลงไปนิดหน่อย เพราะผู้บริโภคอาจจะยังไม่กล้าซื้อไปทานแล้วมีวิธิแก้ไขอย่างไรเมื่อยอดขายตกลงไปแบบนี้ ได้คุยกับลูกค้าหรือไม่ลูกค้ามีทั้งที่หยุดซื้อขนมเราไปบ้าง และที่ยังซื้ออยู่บ้าง แม้จะซื้อน้อยลง แต่ยังมีลูกค้าที่ยังไว้ใจร้านเรา เพราะขนมเราทำครั้งละน้อยๆ พยายามทำใหม่ทุกวัน เราเน้นที่ความสดใหม่ เพราะร้านเราเพิ่มเริ่มต้น ต้องคงคุณภาพให้ได้  คือเมื่อทำเสร็จแล้วก็จัดส่งให้ลูกค้าทันที เพราะส่วนใหญ่เราจะทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า เช่น ลูกค้าโทรมาสั่งจำนวน และนัดเวลาส่งขนมไว้ เราก็จะทำตามนั้น  แต่หากไม่ทันก็ต้องขอเลื่อนเวลาลูกค้าออกไป เพราะขนมของเราจะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนานในการทำขนมให้อร่อย และคงคุณภาพไว้ต้องมีความสด ใหม่ เพราะขนมที่นำออกมาจากเตาใหม่ๆ จะกรอบ รสชาติจะหวาน หอม ละมุนในปาก แต่หากพักไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แป้งขนมจะนิ่มและเย็นลิ้น  นี่เป็นคำบอกเล่าจากลูกค้าที่ติดใจในความอร่อยของขนมร้านเรา และขนมทางร้านเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย นี่จึงเป็นจุดขายของร้าน นอกจากนี้ที่ร้านเราจะซื้อแป้งทำขนมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วทำขนมให้หมดภายในอาทิตย์นั้นๆเพราะหากซื้อมาเก็บไว้นานแป้งจะไม่สด พี่คิดว่าผู้ประกอบการท่านอื่นควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้างอย่างร้านเรา ของใหม่ก็คือของใหม่ที่เพิ่มทำออกมา เพราะเราทำตามออเดอร์ลูกค้า จะไม่ทำขนมเก็บไว้นาน และต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยรักษาเรื่องนี้ไว้ ไม่โกหกลูกค้า ไม่นำของเก่าออกมาขาย แล้วบอกว่าเป็นของใหม่ คือให้เปรียบเหมือนเราทำรับประทานเอง และวัตถุดิบที่ทางร้านใช้ ทั้งแป้งทำขนม เกลือ สีผสมอาหาร จะใช้ยี่ห้อที่มีฉลาก อย. หลังจากที่กลับมาจากการอบรม เราได้กลับมาจัดโต๊ะใหม่ มีการใส่ถุงมือตลอดเวลาที่ทำขนม จากเดิมที่ใส่บ้าง ถอดบ้าง เพราะเราใช้ถุงมือแพทย์จะขาดง่าย  ก็ได้ปรับเปลี่ยนถุงมือใหม่เมื่อลูกค้าเสนอความคิดเห็น หรือมีคำติชมเข้ามา ได้นำมาปรับใช้กับที่ร้านหรือไม่มีค่ะ เช่นเริ่มแรกขนมที่ทำมาเป็นแป้งนิ่ม ซึ่งจะเสียง่าย จึงนำมาปรับสูตรไปเรื่อยๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ขนมก็จะเก็บไว้ได้นานขึ้นจากเดิมเก็บไว้ได้ 2-3 วัน เมื่อปรับปรุงสูตรใหม่จะเก็บไว้ได้ 4 วัน ฉลากที่ร้านจะเขียนแจ้งว่าควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที เพราะขนมเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย ขนมอยู่ในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์  รวมทั้งบอกกล่าวกับลูกค้าโดยตรงมากกว่า เช่น เมื่อลูกค้ามาซื้อขนมก็จะบอกกับลูกค้าทันทีว่าควรทานขนมให้หมดภายใน 3 วัน เหตุที่เราไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพราะเราต้องการให้ลูกค้าได้ดูแลสุขภาพด้วยคุณครูสมทรง นาคศรีสังข์ ขนมเปี๊ยะครูสมทรง  อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมสมัยก่อนตอนเริ่มทำขนมก็ช่วยกันทำกับลูกอีก 3 คน ในห้องแถว 1 ห้อง ลูกเรียนที่สาธิตเกษตร ส่วนครูเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ ร.ร.อนุบาลกำแพงแสน ตอนเช้าก่อนไปส่งลูกเราก็ตั้งเตาถ่านนึ่งถั่วไว้หน้าบ้าน  ไฟก็ดับไปเอง พอกลับมาตอนเย็นก็จะนำถั่วมาบด นวดแป้ง ช่วยกันปั้นขนม ช่วยกันทำจนเสร็จ และนำไปส่งตอนเช้าโดย บรรจุถุงละ   5 ลูก  ขนมลูกจะลูกใหญ่มาก ขายถุงละ 20 บาท ซึ่งถ้าถุงไหนที่ขนมลูกไม่สวยเราก็จะนำไปให้ลูกๆ ทานที่ จะขายเฉพาะลูกสวยๆ จะเห็นว่าเราดูแลเรื่องคุณภาพมาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นจึงทำให้เราเครียดมากจากกิจการเล็กๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตั้งแต่เริ่มทำมาก็เติบโตมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคนเชิญให้ไปออกรายการทางช่อง 5 พอรายการออกอากาศก็มีคนโทรเข้ามาสั่งเป็นจำนวนมากจนเราทำไม่ทัน ตอนนั้นเหมือนเป็นการฆ่าตัวเองเลย เพราะทำไม่ทัน พอเราเร่งรีบขนมก็ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมีผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเจ้าอื่นเกิดขึ้นมาอีกหลายราย จึงค่อยๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ขนมของเราเน้นที่ความสดใหม่ จึงไม่คิดที่จะใส่สารกันบูด ครูจะเล่าถึงกลยุทธ์ที่เหตุใดครูจึงทำขนมที่ไม่ใส่สารกันบูด และก็ไม่มีความคิดที่จะใส่ด้วย เพราะหากเราทำขนมที่ขายหมดภายใน 3 วัน เราจะสามารถทำขนมได้ทุกวัน เพราะลูกค้าที่ซื้อไปจะต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพราะไม่เช่นนั้นขนมจะเสีย แต่หากเราใส่สารกันบูด หรือทำขนมที่อยู่ได้ 7 วัน หรือนานเป็นเดือน เราก็ไม่รู้ว่าขนมเราจะขายได้เมื่อไร แล้วขนมก็จะไม่อร่อยเหมือนขนมที่ทำสดใหม่ด้วย  ตอนที่มีข่าวว่าขนมของคุณครูใส่สารกันบูดมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครูก็รู้สึกเสียใจ และโมโหเหมือนกัน เพราะขนมเราไม่ได้ใส่สารกันบูดจริงๆ คิดว่ามีคนกลั่นแกล้งเราหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นมีทั้งข่าวโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำไมข่าวออกมาแบบไม่นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของเรา เพราะโดยตัวเราเองนั้นไม่ทำอาชีพนี้ก็มีอาชีพอื่น แต่พนักงานของเราจะเดือดร้อน ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีแก้ไข เพราะเห็นในตอนท้ายข่าวว่าอาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ จึงนำเรื่องมาปรึกษากับหลาน โดยให้นำวัตถุดิบทุกชนิด ทั้ง แป้งสาลี   ไข่  เกลือ  ทุกอย่างที่เราใช้ประกอบในการทำขนมไปตรวจหาสารปนเปื้อน ซึ่งผลปรากฏว่าพบอยู่ใน แป้งสาลีที่ใช้ทำขนม จึงติดต่อสอบถามไปที่บริษัทผู้ผลิตแป้ง เขาแจ้งว่าในตัวแป้งสาลีได้ใส่สารฟอกขาว  “ตอนแรกติดต่อขอให้ทางบริษัทผลิตแป้งที่ไม่ใส่สารให้เรา ได้รับคำตอบที่ไม่แน่นอนว่าต้องมีการสั่งซื้อในแต่ละครั้งจำนวนมากน้อยเพียงใด และคิดว่าเราเป็นธุรกิจเล็กๆ เขาจะทำให้เราหรือไม่  จึงติดต่อให้ทางบริษัทออกใบรับรองให้สำหรับวัตถุดิบที่เราใช้ทุกอย่างว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ต่อไปจะพยายามติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตแป้งอีกครั้งว่าต้องสั่งผลิตในจำนวนเท่าไรที่จะไม่ต้องใส่สารฟอกขาวให้เราได้ คิดอย่างไรหากจะต้องมีการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิตขนมเปี๊ยะในการสั่งแป้งเพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับผู้ผลิตรายอื่นเหมือนกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีคนกลางช่วยประสานให้ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะหลายรายมารวมตัวกันเพื่อสั่งแป้งสาลีกับผู้ผลิตรายเดียว น่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าให้ครูเป็นผู้ประสานเอง ดังนั้นจึงขอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลางช่วยประสานกับกลุ่มผู้ผลิตขนมที่เขาต้องการแป้งสาลีที่ไม่ใส่สารให้ด้วยค่ะ อยากให้ไปสอบถามผู้ผลิตขนมเจ้าที่ไม่พบสารกันบูดว่าใช้แป้งชนิดใดเป็นส่วนผสม ให้เขาช่วยแนะนำเรา ซึ่งวิธีนี้ครูคิดว่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ต้องลองดูก่อน  แต่อาจไม่ได้รวมกลุ่มเฉพาะผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ผลิตขนมชนิดอื่นที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนม หรือให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีเสนอมาให้เราว่าบริษัทใดที่สามารถผลิตแป้งแล้วไม่ใส่สารกันเสียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 203 อะฟลาทอกซินเอ็มวัน ในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอะฟลาทอกซินเอ็มวันในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน นมโคเป็นอาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมในนมนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายเสื่อมไป จึงเหมาะเป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย การบริโภคนมของไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี โดยในปี 2559 มีมูลค่าการตลาดประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีจึงมีการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมฟรีหรือที่เรียกว่า นมโรงเรียนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอาสาสอดส่องเรื่องของนม โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการทดสอบหาปริมาณสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (อะฟลาทอกซิน ชนิด บี 1 ถ้าอยู่ในน้ำนมจะเรียกว่า อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1) ซึ่งเป็นสารพิษธรรมชาติชนิดร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งแม้ได้รับในปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ การเก็บตัวอย่างครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 ภูมิภาครวมทั้งอาสาสมัครผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ช่วยเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง และทีมฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติทุกประเภทจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้ออีกจำนวน 13 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 27 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 การทดสอบใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยค่าต่ำสุดที่สามารถระบุได้คือ 0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลทดสอบทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งของไทย และโคเด็กซ์(CODEX) โดยเกณฑ์มาตรฐานของไทยนั้นยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงของค่าปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม จึงใช้อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20  ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ USFDA และ CODEX กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรื่อง ปริมาณอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนม ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่างนั้น ตรวจพบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในช่วง น้อยกว่า 0.03-0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม การตรวจพบในปริมาณที่น้อยนี้นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก

ผลทดสอบ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพสารกันบูดในขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือก“ขนมปัง” นั้น ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เป็นเมนูที่หารับประทานได้ง่าย ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อีกทั้งราคาไม่แพงและแถมสะดวกในการพกพาไว้รับประทานระหว่างเดินทางอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ทดแทนอาหารหนึ่งมื้อได้เลยทีเดียว  ซึ่งชนิดของขนมปังที่พบได้มากที่สุดตามร้านค้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็คือ ขนมปังพร้อมทาน(Snack Bread)  หรือขนมปังที่มีปริมาณบรรจุต่อ 1 ซอง เหมาะสมพอดีต่อการรับประทาน 1 ครั้ง ขนมปังพร้อมทานมีหลายรูปแบบหลายรสชาติ แต่ที่น่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ขนมปังสอดไส้หวาน เช่น ไส้ครีม ครีมสังขยา ช็อกโกแลต  ตลอดจนแยมผลไม้ต่างๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอนำเสนอผลวิเคราะห์ปริมาณ “สารกันบูด” ในขนมปังไส้หวาน โดยเราเลือกวิเคราะห์ขนมปังไส้หวาน 2 รสชาติแบบไทยๆ อย่าง ไส้สังขยาและไส้เผือก ซึ่งหลายๆ คนน่าจะชื่นชอบ จำนวน 19 ตัวอย่าง เราลองไปดูกันสิว่า ขนมปังไส้สังขยาและไส้เผือกที่เราเคยรับประทาน หรือบางคนอาจจะรับประทานเป็นมื้อเช้าแทบจะทุกวันมีปริมาณของสารกันบูดมาก-น้อยแค่ไหนกันบ้าง นอกจากนี้เรายังสุ่มทดสอบไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปที่เป็นวัตถุดิบในการทำขนมปังและเบเกอรี่ต่างๆ อีก 8 ตัวอย่างจากร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำขนมอบ เบเกอรี่ เพื่อให้รู้ชัดกันไปเลยว่าขนมปังหรือไส้ อันไหนที่มีสารกันบูดมากกว่ากันหมายเหตุ สารกันเสียที่ระบุบนฉลากอาหารINS 202 (โพแทสเซียมซอร์เบต) กลุ่มซอร์เบตINS 210 (กรดเบนโซอิก) กลุ่มเบนโซเอตINS 211 (โซเดียมเบนโซเอต) กลุ่มเบนโซเอตINS  282 (แคลเซียมโพรพิโอเนต) กลุ่มโพรพิโอเนตผลทดสอบการวิเคราะห์หาปริมาณสารกันบูดในขนมปังใส่ไส้ครั้งนี้ เราเลือกทดสอบสาร 2 ตัว คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันบูดที่นิยมใช้ในอาหาร และมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ (ส่วนสารแคลเซียมโพรพิโอเนต INS 282 ที่พบในหลายผลิตภัณฑ์ ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ระบุเพียงว่า ปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่ได้ทดสอบ) ส่วนตัวอย่างขนมปังสอดไส้ที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบครั้งนี้ มีทั้งตัวอย่างที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรพพสินค้าทั่วไป รวมทั้งตัวอย่างจากร้านขนมปังสอดไส้เจ้าดัง ที่คนชอบทานขนมปังสอดไส้ต่างๆ น่าจะรู้จักกันดี รวมแล้วทั้งหมด 14 ยี่ห้อ 19 ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ที่ได้พบว่า •ขนมปังไส้สังขยา 11 ตัวอย่าง และขนมปังไส้เผือก 8 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของสารกันเสีย กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง •ข่าวดี ทุกตัวอย่างพบในปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดย 3 ตัวอย่างที่พบปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันน้อยที่สุด คือ1. ยี่ห้อ UFM ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.23 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม (มก./กก.) หรือถ้าคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 100 กรัม จะเท่ากับ 1.53 มิลลิกรัม ส่วนกรดซอร์บิก ไม่พบ2. ยี่ห้อ กาโตว์ เฮาส์ ขนมปังไส้เผือก พบกรดเบนโซอิก 15.87 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 90 ก. จะเท่ากับ 1.42 มก.3.ขนมปังเจ้าดังจากเยาวราช ไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 15.38 มก./กก. และกรดซอร์บิก 5.54 มก./กก. หรือคิดเฉลี่ยต่อ 1 ชิ้น ที่น้ำหนัก 87 ก. จะเท่ากับกรดเบนโซอิก 1.33 มก. และกรดซอร์บิก 0.48 มก./กก. •ตัวอย่างที่พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก ร่วมกันสูงที่สุดคือ ยี่ห้อ Victory ขนมปังไส้สังขยา พบกรดเบนโซอิก 389.01  มก./กก.และกรดซอร์บิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.ข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยา พบปริมาณสารกันเสีย เบนโซอิกและซอร์บิก มากกว่าตัวอย่างขนมปังไส้เผือก•ตัวอย่างขนมปังไส้สังขยาจากร้านวังหลังเบเกอรี่ พบว่ามีทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ถุงใส่ขนมปังของร้าน ซึ่งเป็นแบบทำสดขายวันต่อวัน มีข้อความว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปริมาณสารกันบูดที่อนุญาตให้พบได้ในขนมปังประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้มีการใช้สารกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบในอาหารในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมหากมีการใช้ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ฉลาดซื้อคำนวณแล้ว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ตารางผลการวิเคราะห์กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกใน ไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูปข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง•ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการใช้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ในไส้สังขยาและไส้เผือกสำเร็จรูป ที่ดูแล้วพอจะสามารถอ้างอิงได้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มไส้ขนมที่ทำจากผลไม้ ซึ่งในประกาศฯกำหนดปริมาณของกรดเบนโซอิก ไว้ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับกรดซอร์บิกที่ก็กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมเท่ากัน•ถ้ายึดตามเกณฑ์นี้ ก็เท่ากับว่า ไส้สังขยาสำเร็จรูป 4 ตัวอย่าง และไส้เผือกสำเร็จรูป 4 ตัวอย่างที่ฉลาดซื้อสุ่มทดสอบครั้งนี้ พบปริมาณสารกันเสีย กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ทุกตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างก็พบปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมี 1 ตัวอย่างคือ ยี่ห้อยูยี ไส้เผือกสำเร็จรูป ที่พบการปริมาณ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก น้อยมาก คือพบกรดเบนโซอิกแค่ 1.68 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และไม่พบกรดซอร์บิกเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 198 สารกันบูดใน “เฉาก๊วย”

“เฉาก๊วย” 1 ในขนมหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ด้วยรสสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ นุ่มเหนียวเคี้ยวอร่อย นำมารับประทานพร้อมน้ำแข็ง น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำเชื่อม ได้รสชาติหวานเย็นชื่นใจ เหมาะกับอากาศร้อนๆ ของเมืองไทยเฉาก๊วย หาทานได้ทั่วไป ที่เห็นบ่อยก็น่าจะเป็นตามร้านขายขนมหวานจำพวกหวานเย็น นอกจากนี้ยังที่ปรับปรุงสูตรให้กลายมาเป็นครื่องดื่ม ใช้เฉาก๊วยเส้นเล็กๆ ใส่ในน้ำเชื่อม เพื่อรับประทานง่ายยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้ เฉาก๊วย ถูกทำให้เพิ่มมูลค่า นำมาใส่ในเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ นมสด ก็อร่อยไปอีกแบบ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ขอนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในเฉาก๊วย” ลองไปดูกันสิว่าขนมหวานในดวงใจของใครหลายๆ คน ปลอดภัยจากการใช้สารกันบูดหรือเปล่า?ผลทดสอบ- จำนวนตัวอย่าง เฉาก๊วย ที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 30 ตัวอย่าง มีตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันบูด ทั้ง เบนโซอิก และ ซอร์บิก ถึง 14 ตัวอย่าง หรือเกือบ 50% ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภค- นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 5 ตัวอย่าง ที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก- มีตัวอย่างเฉาก๊วยที่พบปริมาณสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เกินมาตรฐาน เพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น คือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอก ที่พบปริมาณเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัม เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัมข้อสังเกตเรื่องการแสดงฉลาก-ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก จำนวน 16 จาก 30 ตัวอย่าง มีเพียง 4 ตัวอย่างที่แจ้งข้อมูลบนฉลากว่ามีการใช้สารกันบูด ประกอบด้วย1.ยี่ห้อ ปุ้น & เปา แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย INS202, 211 หรือ โปแตสเซียม ซอร์เบต และ โซเดียม เบนโซเบต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสารกันเสีย เบนโซเอต ทั้ง 2 ชนิด โดยผลทดสอบพบ เบนโซอิก 219.56 มก./กก. และพบซอร์บิก 180.17 มก./กก.2.เฉาก๊วย (jelly glass) ของ นิตยาวุ้นมะพร้าว แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 292.03 มก./กก. และพบซอร์บิก 231.05 มก.กก.3.ยี่ห้อ แม่ปิงเฉาก๊วย แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสียโซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 321.05 มก./กก. และพบซอร์บิก 260.19 มก.กก.4.เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางปะกอก แจ้งว่า มีโซเดียมเบนโซเอท 0.02% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 1,387.37 มก./กก. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ฉลากสินค้าที่แจ้งว่าไม่มีวัตถุกันเสียมีกลุ่มตัวอย่างที่แจ้งว่า “ไม่มีวัตถุกันเสีย” บนฉลากแต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ ผลทดสอบพบ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.2.ยี่ห้อ เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ขนมเยลลี่คาราจีแนน ผสมบุกผง ถั่วแดงและน้ำเฉาก๊วย 15% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 6.53 มก./กก. และพบซอร์บิก 3.74 มก./กก.3.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 68.85 มก./กก. 4.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 79.41 มก./กก.มาตรฐานการใช้สารกันบูดใน เฉาก๊วย เฉาก๊วย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ เยลลี่ เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 213) พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นิยามความหมายของ เยลลี่ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ได้จากการคั้นสดหรือสกัดจากผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ผ่านกรรมวิธี หรือทำให้เข้มข้น หรือแช่แข็ง ซึ่งผ่านการกรองและผสมกับ น้ำตาลทำให้มีความข้นเหนียวพอเหมาะ (ส่วนเฉาก๊วยทำจากพืชที่เรียกว่า หญ้าเฉาก๊วยหรือGrass Jelly )สำหรับข้อกำหนดเรื่องการใช้สารกันบูด กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดไว้ อาหารกลุ่ม แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด สามารถใช้ กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นกัน ทั้งนี้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ปริมาณรวมที่ใช้ต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตของสารตัวใดตัวหนึ่ง (อิงตัวที่ปริมาณน้อยที่สุด) ซึ่งในกรณีของ เฉาก๊วย อนุญาตให้ใช้สารกันเสีย กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก รวมกันสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม -------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อแนะนำ1.เฉาก๊วย ชนิดที่จำหน่ายในภาชนะบรรจุ นอกจากจะมีมาตรฐานที่ควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจที่ช่วยทั้งยกระดับคุณภาพของผู้ผลิตสินค้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์2.มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เฉาก๊วย จะดูเรื่องการบรรจุ ภารชนะบรรจุที่สะอาด แห้ง ปิดสนิท สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้ นอกจากนี้ยังดูเรื่องของการแสดงเครื่องหมายและฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ต้องมีข้อมูล คือ -ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ เช่น เฉาก๊วย วุ้นดำ เฉาก๊วยหวาน-ส่วนประกอบที่สำคัญ-น้ำหนักสุทธิ-วัน เดือน ปีที่ผลิต และวัน เดือน ปีที่หมดอายุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี)”-ข้อแนะนำในการบริโภคและการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บไว้ในตู้เย็น-ชื่อสถานที่ผลิต พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น3.คุณลักษณะที่ดีของเฉาก๊วย ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มีดังนี้ สี     ต้องมีสีที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้กลิ่นรส     ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ปราศจากกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึงประสงค์เนื้อสัมผัส    ต้องนุ่ม หยุ่นตัว ไม่แข็งกระด้าง ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้4.ข้อนี้ แค่มองด้วยตาเปล่าอาจดูไม่เห็น แต่ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเฉาก๊วยเอาไว้ด้วย -จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1X104  โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม-เอสเชอริเชีย โคไล โดยวิธีเอ็มพีเอ็ม ต้องน้อยกว่า 3 ตัวอย่าง 1 กรัม-ยีสและรา ต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัมอันตรายของ เบนโซอิก และ ซอร์บิกเป็นกลุ่มสารกันเสียที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหาร ซึ่งนิยมใช้ใน แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่หากได้รับสารทั้ง 2 ชนิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณสูง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กฎหมายคุ้มครองแม่และเด็กแรกเกิดจากอิทธิพลของบริษัทนมผง

การตลาดที่ได้ผลดีที่สุดของบริษัทนมผง คือการเปลี่ยนให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกลายมาเป็นตัวแทนขายของบริษัทนม มีรายงานในประเทศไทยระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ 81.8 จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจก(ตัวอย่าง)และคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ภาพจำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทนมผงมีการบันทึกไว้หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการตลาดแบบจู่โจมเข้าถึงเนื้อตัวคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหญิงที่ตั้งครรภ์โดยตรงของตัวแทนขายสินค้า(ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข) หรือการแจกนมผงฟรีที่โรงพยาบาลให้แม่นำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้คุณแม่เชื่อว่า นมผงเทียบเท่านมแม่ หรือดีกว่าเพราะเพิ่มเติมสารอาหารที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงการที่บริษัทนมบริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับสถานพยาบาล ทั้งในรูปแบบ การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ การให้ค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรที่ช่วยแนะนำสินค้า การนำผลิตภัณฑ์แจกให้กับแม่ถึงเตียงนอนพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เหตุเพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดจริยธรรม อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิของแม่และเด็กทารกในการเข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด ซึ่งก็คือ การได้รับน้ำนมแม่อันทรงคุณค่า เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ ผู้ที่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ทั้งหลายใช้น้ำนมของตัวเองเลี้ยงดูทารกก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดกติกา ที่จะสามารถลดทอนอิทธิพลทางการตลาดของบริษัทนมผงลง โดยเฉพาะการทำตลาดแบบถึงเนื้อตัวและการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบผ่านสื่อทุกชนิด ซึ่งลำพังกติกาเดิมที่เรียกว่า โค้ดนมแม่ หรือ  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2551นั้น ไม่อาจต้านทานพลังจากภาคธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลไกที่เป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมาใช้จัดการปัญหา และในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันแรกที่ พระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  จะมีผลบังคับใช้ ขอเล่าถึงความยากของการผลักดัน พ.ร.บ.นี้สักเล็กน้อย เนื่องเพราะมีผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมหาศาล ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากภาคธุรกิจผู้ผลิตนมผง แต่ที่น่าตั้งคำถามที่สุดว่ามาคัดค้านเพื่ออะไร กลับเป็นบรรดาองค์กรวิชาชีพบางแห่ง ที่ให้ข้อมูลและคัดค้านจน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวนไปหลายรอบ อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในที่สุด พ.ร.บ.นี้ก็ผ่านออกมาจนได้ ทำให้ต่อไปนี้การทำตลาดที่ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงดังที่ผ่านมา จะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ  กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง ผู้บริโภคจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต• ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง• ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆนอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย  ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กฎหมายจะให้ความสำคัญกับการโฆษณาเพื่อคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด(Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย  แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะถูกห้ามโฆษณาผ่านสื่อทุกชนิด  ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน) 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก(อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-3 แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน ส่วนนี้กรมอนามัยจะเป็นผู้จัดทำประกาศดังกล่าว) และ 3. อาหารเสริมสำหรับทารก ดังนั้นจึงขอฝากถึงบรรดาคุณแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด ให้ตระหนักและช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่องกิจกรรมการทำตลาดนมผง ที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารอันแสนวิเศษสุดบนโลกใบนี้สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สารกันบูดในเส้นขนมจีน ภาค 2

ถ้ายังจำกันได้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 180 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เราเคยนำเสนอ “ผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีน” ซึ่งผลทดสอบที่ออกมาชวนให้ตกใจไม่น้อย เพราะเส้นขนมจีนจำนวน 12 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบการปนเปื้อนของสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ทั้ง 12 ตัวอย่าง แถมมีอยู่ 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ ฉลาดซื้อเล่มนี้ เราจะลองสุ่มทดสอบดูปริมาณสารกันบูดในเส้นขนมจีนอีกครั้ง ลองไปดูกันสิว่าสถานการณ์การใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหน จะลดลงหรือเพิ่มขึ้น อย่างไร และที่น่าสนใจคือ เราเก็บตัวอย่างเส้นขนมจีนที่เราเคยทดสอบเมื่อคราวที่แล้วด้วย จำนวน 8 ตัวอย่าง และเพิ่มเติมตัวอย่างในการสุ่มทดสอบอีก 9 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง เพื่อดูว่าจากผลการทดสอบครั้งที่แล้วผู้ผลิตเส้นขนมจีนมีการปรับปรุงสินค้าของตัวเองอย่างไรกันบ้างผลทดสอบสารกันบูดในเส้นขนมจีนครั้งที่แล้ว สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่างขนมจีนที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานมาตรวจวิเคราะห์ พร้อมกับสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานที่ผลิตและจำหน่ายเส้นขนมจีนให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งยืนยันว่า ขนมจีนเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ต้องแสดงฉลากตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีการใช้วัตถุกันเสียก็ต้องแจ้งไว้บนฉลาก หากไม่แสดงมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดจะจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท(ที่มา: ช่าว “สาธารณสุข ส่ง จนท.ตรวจเข้ม “สถานที่ผลิต-ขายขนมจีน”” มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม 2559)ทางด้าน “ตลาดยิ่งเจริญ” ก็ตื่นตัวกับผลทดสอบ หลังพบว่ามีตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานจำหน่ายอยู่ในตลาด ซึ่งทางผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ รีบแสดงความผิดชอบด้วยการตรวจเข้มสินค้าต่างๆ ที่จะเข้ามาจำหน่าย โดยออกเป็นมาตรการที่ชื่อว่า “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” ซึ่งมีทั้งการเชิญเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจประเมินมาตรฐานสินค้าในตลาด สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในตลาดไปทดสอบ รวมทั้งเชิญพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดมาทำความเข้าใจเรื่องการเลือกสินค้ามาจำหน่ายต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และพร้อมจัดการขั้นเด็ดขาดกับสินค้าที่หน่วยงานรัฐออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย(ที่มา: ข่าว ““ตลาดยิ่งเจริญ” ออกมาตรการ “สินค้าปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” เชิญ อย.ลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าทั้งหมด” กรุงเทพธุรกิจ 16 มิถุนายน 2560)ข้อกำหนดการใช้สารกันบูดในเส้นขนมจีนตามข้อกำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 4) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ซึ่งเป็นกลุ่มสารกันเสีย ในเส้นขนมจีน ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกณฑ์มาตรฐานยังคงเท่ากับการทดสอบเมื่อครั้งที่แล้วผลการทดสอบ-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบในครั้งนี้มีจำนวน 17 ตัวอย่าง จากผลการทดสอบพบว่ามีการปนเปื้อนของสารกันบูด กรดเบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ - มี 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อเส้นขนมจีน 1 กิโลกรัม ซึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ ชลนิศา เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,114.24 มิลลิกรัมต่อกิโกลกรัม และ 2.ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1,274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด 3 ตัวอย่างแรก ได้แก่ 1.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดพระประแดง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, 2.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 63.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 3.ยี่ห้อ นิดา เก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 91.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่มีการใช้สารกันบูดน้อยที่สุด 2 อันดับแรก เป็นเส้นขนมจีนที่ไม่มีการแสดงฉลากใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงว่า เส้นขนมจีนทั้ง 2 ตัวอย่าง ผลิตและจำหน่ายทันทีไม่ได้ผลิตเพื่อส่งไปขายต่อที่อื่น ซึ่งตามกฎหมายอนุโลมให้อาหารในลักษณะดังกล่าวไม่ต้องแสดงฉลาก เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตตั้งใจที่จะผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ทำให้มีการใช้สารกันบูดในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการทดสอบครั้งที่แล้ว ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบสารกันบูดน้อยที่สุด ก็เป็นตัวอย่างเส้นขนมจีนไม่มียี่ห้อและไม่มีฉลากที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพระประแดงข้อสังเกตจากผลทดสอบ-การทดสอบครั้งที่ 2 พบว่า ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่พบการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิกน้อยที่สุดนั้น  พบเพียงแค่ 45.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าตัวอย่างเส้นขนมจีนที่ทดสอบครั้งที่แล้วที่พบน้อยสุดที่ปริมาณ 147.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม -โดยภาพรวมของผลการทดสอบสารกันบูดชนิดกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีนครั้งนี้ ช่วยตอบคำถามได้ว่า เส้นขนมจีนยังเป็นอาหารที่ตรวจพบว่า มีการปนเปื้อนของสารกันบูด โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณสารกันบูดที่พบในการทดสอบครั้งที่ 2 นี้ อยู่ 450.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในการทดสอบครั้งที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 439.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม-พบว่า ตัวอย่าง ยี่ห้อ ดาว ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ ที่ผลการทดสอบครั้งที่แล้ว พบกรดเบนโซอิกสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 1121.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ในการทดสอบครั้งนี้พบปริมาณกรดเบนโซอิกอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ 768.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องขอชื่นชมที่มีการปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า-ในขณะที่พบการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในบางยี่ห้อ แต่บางยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ สธจ โรงงานโสธรเจริญ ซึ่งเก็บตัวอย่างที่ตลาดคลองเตย การทดสอบครั้งที่แล้วพบปริมาณกรดเบนโซอิกแค่ 462.36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ในการทดสอบครั้งนี้พบการปนเปื้อนสูงถึง 1274.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ต้องฝากหน่วยงานควบคุมกำกับช่วยติดตามมาตรฐานของสินค้าด้วย)การแสดงฉลากยังมีปัญหาจากผลทดสอบที่ได้พบว่าเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีการปนเปื้อนของสารกันบูด เบนโซอิก ทั้ง 17 ตัวอย่าง ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 167) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ มีการกำหนดเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหารลงในฉลาก แต่จากตัวอย่างเส้นขนมจีนทั้ง 17 ตัวอย่าง มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดระบุไว้บนฉลากหรือภาชนะบรรจุ ได้แก่ เส้นขนมจีนยี่ห้อ ฉวีวรรณ เก็บตัวอย่างที่ห้างแมคโคร สาขาลาดพร้าว ที่แจ้งไว้ว่าใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอต (INS NO.211)  (INS = international numbering system for food additives หรือ หมายเลขรหัสวัตถุเจือปนอาหารสากล)ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้อาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก ยกเว้นอาหารในลักษณะต่อไปนี้ 1.อาหารที่ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารแก่ผู้บริโภคได้ในขณะจำหน่าย เช่น หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น, 2.อาหารสดทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นก็ได้ และบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารนั้น เช่น ผัก ผลไม้ตัดแต่ง เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นหรือบด เป็นต้น และ 3.อาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อบริการเฉพาะภายในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงเรียน โรงพยาบาล สายการบิน สถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน และรวมถึงการบริการจัดส่งอาหารโดยตรงให้กับผู้ซื้อจากการสุ่มเก็บตัวอย่าง เส้นขนมจีนที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ไม่เข้าข่ายตามข้อยกเว้นของกฎหมาย ต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นอาหารที่ผลิตในรูปแบบของโรงงานและส่งออกวางจำหน่ายตามตลาดต่างๆ อาจมีบ้างบางตัวอย่างที่ผลิตและขายเองหน้าร้าน ไม่ได้รับซื้อหรือส่งต่อไปขายที่อื่น ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะดังกล่าวก็เข้าข่ายที่ได้รับการยกเว้นดังนั้นอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกวดขันดูแลให้ผู้ผลิตเส้นขนมจีนปรับปรุงสินค้าของตนเองให้ถูกต้องตามมาตรฐาน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 สารอาหารในนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม

เชื่อว่าหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนชื่นชอบการบริโภคนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ มาจากคุณค่าหรือสารอาหารที่มีประโยชน์ในเครื่องดื่มดังกล่าว เพราะถั่วเหลืองมีไขมันอิ่มตัวน้อยและมีโปรตีนสูงใกล้เคียงกับนมวัว ทำให้ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือรับประทานมังสวิรัติสามารถดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมวัวได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมดลูกได้อีกด้วย โดยปัจจุบันเราสามารถเลือกซื้อนมถั่วเหลืองมาบริโภคกันได้ง่ายขึ้น ผ่านร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพราะมีการจำหน่ายนมถั่วเหลืองในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่มได้ทันทีนั่นเองอย่างไรก็ตามนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการปรับรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่เราควรได้รับต่อวัน หรือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัม/วัน (6 ช้อนชา) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงสุ่มทดสอบปริมาณสารอาหารในนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มจำนวน 34 ตัวอย่าง จาก 9 ยี่ห้อ ซึ่งตรวจสอบด้วยการดูฉลากว่ายี่ห้อไหนจะใส่น้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งตรวจสอบปริมาณโปรตีนและแคลเซียมในแต่ละยี่ห้ออีกด้วย โดยผลทดสอบจะเป็นอย่างไรลองไปดูกันเลยเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับนมถั่วเหลือง- นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ คือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่นำมาแปรรูป- ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารจากพืชที่ออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) แต่มีฤทธิ์ในปริมาณค่อนข้างต่ำ จึงไม่ใช่ตัวการหลักที่กระตุ้นให้เด็กผู้หญิงมีรอบเดือนเร็วกว่าปกติ-  ผู้หญิงที่มักปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน อาจมีสาเหตุจากร่างกายสร้างเอสโตรเจนออกมาในปริมาณมาก ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นประจำ เพราะในถั่วเหลืองมีสารเจ็นนิสตีน (genistine) ที่ช่วยทำให้เอสโตรเจนออกฤทธิ์น้อยลง ด้วยการแย่งพื้นที่จับบริเวณผนังเซลล์ของต่อมน้ำนมและมดลูก แต่หากบริโภคสารดังกล่าวในรูปแบบอาหารเสริมเป็นประจำ อาจส่งผลให้มีบุตรยากได้สรุปผลทดสอบจากนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม 34 ตัวอย่าง 9 ยี่ห้อ พบว่า1. น้ำตาล- ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic มีปริมาณน้ำตาล 28 กรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า น้ำตาลน้อย (เจ) มีปริมาณน้ำตาล 4 กรัม/หน่วยบริโภค- ส่วนนมถั่วเหลืองชนิดแห้งที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่สุดคือ โอวันติน เนเจอร์ซีเล็คท์ ซอยย์ นมถั่วเหลืองปรุงสำเร็จชนิดผง สูตรผสมงาดำ (เจ) มีปริมาณน้ำตาล 18 กรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ ดอยคำ นมถั่วเหลือง100% ไม่มีปริมาณน้ำตาลผสมอยู่เลย2. โปรตีน- ยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนสูงที่สุดมี 5 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมถั่วเหลืองสีดำ (แบล็ค ซิงค์) 2.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรข้าวบาร์เลย์และมอลต์ ทูโก (ขวดแก้ว) 3.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรทูโก ออริจินัล (ขวดแก้ว) 4.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรดับเบิ้ลช็อกโก ทูโก (ขวดแก้ว) 5.แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic มีปริมาณโปรตีน 9 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน- ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุดคือ โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิค รสออริจินัล (เจ) และดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า (เจ) มีปริมาณโปรตีน 4 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน3. แคลเซียม- ยี่ห้อที่มีปริมาณแคลเซียมสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที ไฮแคลเซียม สูตรเจ มีปริมาณแคลเซียม 60%/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่มีปริมาณแคลเซียมน้อยที่สุดคือ ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น น้ำตาลน้อย (เจ) และดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมน้ำนมข้าวโพด (เจ) มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่า 2%/หน่วยบริโภค4. พลังงาน- ยี่ห้อที่ให้พลังงานสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic ให้พลังงานทั้งหมด 260 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภค - ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดมี 3 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.ดอยคำ นมถั่วเหลือง100% ให้พลังงานทั้งหมด 70 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภค และ 2.ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า (เจ) 3. โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิค รสออริจินัล (เจ) ให้พลังงานทั้งหมด 90 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภคเท่ากัน 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2560ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมภายใน 3 วันไม่เป็นจริงนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้องเรียนปัญหาทางด้านการให้บริการในประเทศไทยปี 2559 ระบุปัญหา เรื่องการย้ายค่ายเบอร์เดิม ถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จำนวนเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมปี 2559 ทำลายสถิติเดิม ด้วยจำนวนกว่า 4,200 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 2,913 เรื่อง เกือบ 50% โดยประเด็นเรื่องร้องเรียนที่เพิ่มกว่าพันเรื่องนั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาบริการคงสิทธิเลขหมาย (ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิม) ซึ่งแม้ว่า กสทช. จะกำหนดให้การย้ายค่ายต้องแล้วเสร็จใน 3 วันทำการก็ตาม แต่ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งก็ไม่สามารถย้ายค่ายได้ใน 3 วัน หรือถูกปฏิเสธการย้ายค่าย ในประเด็นเรื่องการย้ายค่าย สาเหตุมาจากปัญหาการช่วงชิงผู้บริโภคที่ซิมจะดับเมื่อต้นปี 2559 ด้วยช่องทางบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ถือเป็นกลไกการแข่งขันที่สร้างตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ซิมจะดับว่า จะเลือกใช้บริการค่ายไหนดี แต่ปัญหาก็เกิดเพราะมีการเปิดช่องทางย้ายค่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เพียงรูด หรือเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร ซึ่งโดยปกติธุรกรรมต่างๆ มักจะต้องมีการเซ็นชื่อพิสูจน์ตัวบุคคลร่วมกับการแสดงบัตรประชาชน จึงเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของช่องทางดังกล่าวตามมา ทำให้เกิดการปฏิเสธการโอนย้ายจำนวนมหาศาล และเกิดกรณีการใช้บัตรประชาชนโอนย้ายโดยเจ้าของไม่ได้ยินยอม ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้ดำเนินการออกแนวปฏิบัติในการย้ายค่ายใหม่ให้สะดวกและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้กรมแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลคนแก่” เช้าไปเย็นกลับ พร้อมจัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุกรมการแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลผู้สูงอายุ” แบบเช้าไปเย็นกลับ ภายในปี 2560 รับดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ชนชั้นกลาง ก่อนถอดบทเรียนจัดทำเป็นแนวทางมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุระดับประเทศ ให้เอกชนนำไปเป็นแบบ หากทำได้ออกใบรับรองการันตีทันที              นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านราว 2% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านจะมีอาการป่วยบ้าง แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และในช่วงกลางวันมักต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารของกรมภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านดังกล่าว โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก บริการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานประเทศในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ “นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรมที่จะมีใบการันตีจากกรมการแพทย์ด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวกรมอนามัยเตรียมปฏิบัติการเพื่อให้เด็กไทยสูง ด้วยนมวันละ 2 แก้วกรมอนามัย ตั้งเป้าเพิ่มความสูง รูปร่างสมส่วน “เด็กวัยเรียน” ชี้ ปี 2579 เพศชายสูงเฉลี่ย 163 ซม. เพศหญิง 164 ซม. เผยดื่มนมคู่อาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก นอนหลับสนิท 8 - 10 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสูงได้ เล็งเพิ่มการดื่มนมเด็กเป็นวันละ 2 แก้ว “การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่ง พบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุด ในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ”คอบช.  เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่มีพลัง ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ เผยหนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนจำนวน 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร และบริการสาธารณะมากที่สุดจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธาน คอบช. ระบุปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก จากผลงานเรื่อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง (Lemon Law) และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และอื่นๆ ในส่วนของสถิติการร้องเรียนในปี 2559 ที่ผ่านเข้ามาทาง คอบช. นั้น มีกรณีร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง แยกเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 54 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องจะมีทั้งการแก้ไขปัญหาทั้งแบบปัจเจกและถูกยกระดับขึ้นเป็นงานรณรงค์ด้านนโยบายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ยกตัวอย่างเรื่อง สภาผู้บริโภคจังหวัด เช่น จังหวัดพะเยา สามารถจัดตั้งสภาผู้บริโภคโดยมีรูปแบบคณะทำงานที่เป็นทางการ สามารถขับเคลื่อนงานผู้บริโภคในจังหวัดพะเยา ได้อย่างเป็นระบบ หรือที่จังหวัดเพชรบุรีมีการร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัดในประเด็นการรู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง จนเกิดเป็นคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับจังหวัดขึ้นมา  เช่นเดียวกับที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภค ในประเด็นอาหารปลอดภัย และมีนโยบายผลักดันการใช้ฉลากโภชนาการอาหารแบบสัญญาณไฟจราจรการมีสภาหรือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระ จึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันด้วยการทำงานของ คอบช. สามารถสร้างองค์กรผุ้บริโภคที่เข้มแข็งได้ถึง 44 จังหวัดแล้ว  คอบช. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้ง องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายให้ได้ในเร็ววัน เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตรวจสอบโปรโมชั่นมือถือก่อนใช้งาน

ทุกเครือค่ายโทรศัพท์มือถือ มักจัดโปรโมชั่นมาจูงใจผู้บริโภค ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบรายละเอียดของโปรโมชั่นเหล่านั้นก่อนใช้งานให้ถี่ถ้วน อาจทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปราณีซื้อโทรศัพท์มือถือพร้อมโปรโมชั่นให้คุณแม่ โดยเลือกเป็นโปรไอทอล์ค (i-talk) จากค่าย True Move ในราคา 199 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถโทรได้ 250 นาทีและเล่น เฟสบุ๊ก (Facebook) ได้นาน 12 เดือน อย่างไรก็ตามภายหลังได้รับใบแจ้งหนี้ เธอพบว่าต้องชำระค่าบริการทั้งหมดเป็นจำนวน 342.93 บาท ผิดจากที่คิดไว้คือ 212.93 บาท ทำให้เธอรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับทางเครือค่าย ซึ่งได้ชี้แจงกลับมาว่าค่าบริการส่วนเกินดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้ใช้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเล่นวีดีโอคอล (VDO Call) ซึ่งตามโปรโมชั่นสามารถใช้บริการได้แค่เล่นเฟสบุ๊ก อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งว่า ไม่ทราบมาก่อนว่า โปรโมชั่นสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เพียงบริการเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเบอร์และโทรศัพท์ของค่ายที่เปิดให้มารดาใช้งาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการกดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาทางเครือค่ายยินดีคืนค่าบริการส่วนเกินดังกล่าวให้ และผู้ร้องได้ยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนธันวาคม 2559“ขนมควันทะลัก” กินได้แต่ต้องระวัง!!!“ขนมควันทะลัก” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนมชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมแล้วมีการนำ “ไนโตรเจนเหลว” มาเทใส่ทำให้เกิดควันลอยกระจายขึ้นมา เมื่อตักขนมเข้าไปในปากก็จะเกิดควันลอยออกมา มีกระแสข่าวลือตามว่า ไนโตรเจนเหลวที่นำมาผสมในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย รุนแรงถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า ก๊าซไนโตรเจน เป็นก๊าซที่มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาบีบอัดด้วยแรงดันสูงทำให้ก๊าซชนิดนี้อยู่ในรูปของเหลวและมีอุณหภูมิติดลบถึง 196 องศาเซลเซียส เมื่อนำมาเทใส่ในอาหาร เช่น ไอศกรีม เจลลี่ หรือ ค็อกเทล จะทำให้เกิดเป็นควันลอยขึ้นมา ซึ่งการรับประทานไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อร่างกายถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุตามที่มีการแชร์กัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานขณะที่ควันยังอยู่ในอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก ไม่ควรสูดดม และสัมผัสกับไนโตรเจนเหลวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสเกิดรอยแผลหรือรอยไหม้ได้ใช้แอพฯในมือถือเช็คมาตรฐานรถฉุกเฉินรถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ถือเป็นหน่วยแรกที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนถึงมาตรฐานของรถพยาบาลเข้ามายังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งรถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. ก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้เพื่อวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยล่าสุด สพฉ.ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อว่า “EMS Certified” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันไหนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วบ้าง โดยสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. ถ่ายรูป คิวอาร์โค้ด ของรถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน เพื่อนำมาสแกนในแอพพลิเคชั่น ว่าได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. หรือไม่ และ 2. ตรวจสอบได้โดยการพิมพ์เลขทะเบียนรถ แล้วเลือกชื่อจังหวัดของรถคันนั้น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ารถปฏิบัติการฉุกเฉินหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินคันดังกล่าวผ่านมาตรฐานหรือไม่ที่ผ่านมา สพฉ. ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุก ที่มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ภายนอกต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 แสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. และจะต้องติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ส่วนภายในรถก็ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง เฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิงสพฉ.ให้ข้อมูลเสริมว่า มีรถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว 8,704 คัน จากทั้งหมด 12,242 คัน ใน 77 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ยังมีบ้างในบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการรับรอง แต่กำลังเร่งดำเนินการรับรองให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดโดยผู้ที่ลักลอบติดสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีโทษปรับ 500 บาท และหากตรวจพบจะต้องทำการยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับกรมอนามัยชู “พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง” ส่งเสริมการบริโภคนมแม่กรมอนามัย ยืนยัน “พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” เป็นประโยชน์ต่อแม่และทารก ช่วยส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการให้เด็กรับประทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ขวบเป็นอย่างน้อย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก นมผงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับแม่ที่มีปัญหาเรื่องผลิตน้ำนมนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม เหตุที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว แม้จะมีความพยายามจากสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กหรือเพียงสูตรสำหรับเด็กอายุ 1 ปีเท่านั้นนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นโฆษณาที่พยายามส่งเสริมให้เด็กเล็กหันมากินนมผงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตลาดแบบลดแลกแจกแถม การเพิ่มสารอาหารต่างๆ ลงไป รวมทั้งการสื่อเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกว่าเด็กที่กินนมผงจะมีความรู้ความฉลาดและร่าเริงกว่าเด็กทั่วไปข้าราชการค้านย้ายสิทธิรักษาพยาบาลให้บริษัทประกันจากการที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะโอนย้ายระบบสิทธิดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่รัฐเป็นผู้ดูแล ไปให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารงานทั้งหมดแทน โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการรั่วไหลของงบประมาณ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากข้าราชการที่เกรงว่าการให้บริษัทประกันดูแลจะมองแต่เรื่องของผลกำไร ขาดทุน เป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ข้าราชการไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิที่ตัวเองควรได้รับอย่างเต็มที่โดย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้แถลงคัดค้านกรณีดังกล่าว นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การโอนสิทธิไปให้บริษัทประกันเอกชนบริหารอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งให้บริษัทเอกชนมาบริหารกว่าร้อยละ 40 ซึ่งบ่อยครั้งที่เมื่อมีผู้ประสบภัยมาขอรับการเยียวยา มักจะพบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่ทำได้ยาก มีความล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน ผู้ประสบภัยจากรถหลายคนต้องเลี่ยงไปใช้สิทธิด้านอื่นทั้งจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ที่มีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่สะดวกกว่าปัจจุบันเงินที่ดูแลระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท/ปี แน่นอนว่าเมื่อโอนย้ายไปให้บริษัทเอกชนดูแล งบประมาณจะต้องลดลงทันทีเพราะบริษัทจะกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหารจัดการ 10-25% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะกระทบต้องการดูแลเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่มากก็น้อย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >