ฉบับที่ 106 ค่าปรับ ดอกเบี้ย กรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า

เกิดมาเป็นผู้บริโภคจนๆ จนขนาดจะซื้อรถยนต์ก็ไม่มีเงินสดเพียงพอ ต้องใช้บริการบริษัทไฟแนนซ์ ครั้นถึงเวลาชำระค่าเช่าซื้อเกิดมีปัญหาค่าเทอมลูกบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟบ้าง ทำให้ส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงวันตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดในสัญญาเช่าซื้อของบริษัทไฟแนนซ์ทุกบริษัท มักจะระบุค่าปรับกรณีชำระหนี้ค่าเช่าซื้อล่าช้าไว้ด้วย ผู้เช่าซื้อบางคนส่งไม่ตรงตามงวดเลยตั้งแต่เริ่มเช่าซื้อจนกระทั่งส่งค่างวดหมด พอไปปิดบัญชีเพื่อโอนทะเบียนรถยนต์เจอค่าปรับดอกเบี้ยล่าช้าเป็นหมื่นก็มี เรามาดูผลทางกฎหมายของการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงงวดกันนะครับ ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เช่น เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามงวด ผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้บอกเลิกสัญญาคงยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระเกินกำหนดเวลาเรื่อยมา ดังนี้ผู้ให้เช่าซื้อจะมาบอกเลิกสัญญาในภายหลังโดยอ้างว่า ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดกันไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 โดยต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2547 , 2677/2547 , 4772/2540 , 5794/2539 , 4211/2539 , 1030/2536 เป็นต้น  ส่วนเรื่องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547 โจทก์(ผู้เช่าซื้อ) ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนดแต่จำเลย(ผู้ให้เช่าซื้อ) ก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้ “ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2529 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยรวม 20 งวด เป็นรายเดือนทุกเดือน ถ้าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวด แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ฝ่ายจำเลยมิได้เจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัว ดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยจะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยต่อไป “ เขียนบทความจบแล้ว ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตคำพังเพยโบราณที่ว่า ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ขึ้นมาทันทีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 เซ็นยอมความไป ก็ใช่ว่าต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบไปด้วย

มาตรา 887 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย" คดีตัวอย่าง รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับไปในทางการที่จ้างชนท้ายได้รับความเสียหาย รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัท ท. ว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น ต่อมาโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) เอารถยนต์เข้าซ่อม อู่ใช้เวลาซ่อม 32 วัน โจทก์ขาดรายได้จากการเอารถยนต์ออกขับรับจ้าง จึงมาฟ้องศาลเรียกค่าขาดรายได้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จำเลยทั้งสอง(ผู้เอาประกันภัย) ก็ยกเรื่องโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับบริษัท ท.ไปแล้วขึ้นต่อสู้  ปัญหาจึงมีว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับไปแค่ไหน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างน่ารับฟังไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551 ว่า  “ เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท.ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้นหากมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่ “ พิพากษายืน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 สร้างบ้านบกพร่อง แล้วไม่แก้ไข บอกเลิกสัญญาได้

ในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยนั้นเราต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการโครงการบ้านนั้นเป็นบริษัทที่ดีมีชื่อเสียงในด้านซื่อตรงในการดำเนินกิจการหรือไม่ อีกทั้งในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อความเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมในตอนใดก็ควรขอแก้ไขเสีย หากเขาไม่ยอมแก้ไขให้ก็ควรจะหาซื้อที่โครงการอื่นๆ ดีกว่า  สัญญาที่เป็นธรรมอย่างน้อยควรมีระยะเวลาก่อสร้างและระยะเวลาสร้างเสร็จ วัสดุก่อสร้างควรจะชัดเจนว่าจะใช้อะไรก่อสร้างและหากวัสดุดังกล่าวไม่มีจะใช้อะไรทดแทนในคุณภาพที่เท่ากัน มีข้อกำหนดให้ผู้จะซื้อตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านก่อนรับโอนได้ และหากมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน สำหรับกรณีศึกษาในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จะขายสร้างบ้านโดยใช้วัสดุไม่เหมือนกับบ้านตัวอย่าง และมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายรายการ ผู้จะซื้อแจ้งให้แก้ไขหลายรายการ แต่ผู้จะขายแก้ไขเพียงบางรายการ เท่านั้น ผู้จะซื้อจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายหาว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาแล้วริบเงินที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาฟ้องเรียกเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนไปแล้วบางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย มาดูกันสิว่าผู้บริโภคจะเรียกคืนได้หรือไม่ คำ พิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่น การเปลี่ยนวิธีการสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ “ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เดือนนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาฝากแฟนๆ ฉลาดซื้อ คดีนี้โจทก์คือบริษัทกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ยื่นฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ( ภาษาชาวบ้านก็คือไม่ได้ไปศาล ขี้เกียจไปซะอย่างงั้นละ ) โจทก์มัดมือชกจำเลยอยู่ข้างเดียว ดูมวยคู่นี้ซิผลจะออกมาอย่างไร ออกหัวหรือก้อย ดูตัวเลขจำนวนเงินให้ดีๆ นะครับ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551 โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,342.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,923.09 บาท และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 14,923.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58( เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้ง ผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาทนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายืน “ อ้าว!!! โจทก์เตะผิดลื่นหงายหลังหัวฟาดพื้นสลบไปซะแล้วครับ ท่านผู้ชม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 หน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุด

หากเกิดกรณีนิติบุคคลอาคารชุดปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้ทรัพย์ส่วนกลางชำรุดบกพร่องและก่อความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของห้องชุดนั้น หรือไม่ ลองมาดูกรณีศึกษาเรื่องจริงซักเรื่องหนึ่ง  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุดเลขที่ 1349/136 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดรวมถึงการจัดการดูแลท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำของอาคารเพื่อมิให้ชำรุดเสียหายหรืออุดตัน อันจะทำให้ทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมอาคารชุดได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการจากโจทก์และเจ้าของห้องชุดรายอื่นเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 มิได้จัดการดูแลรักษาท่อน้ำประปาและท่อระบายน้ำของอาคารชุดดังกล่าว เป็นเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตันไม่สามารถระบายน้ำซึ่งใช้แล้วภายในอาคารสู่ท่อระบายน้ำและถังรองรับน้ำที่ติดตั้งไว้ชั้นใต้ดินของอาคารได้ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องชุดของโจทก์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องชุดของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 560,382 บาท และโจทก์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยภายในห้องชุดได้คิดค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,110,382 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชัดของโจทก์ได้ในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ค่าเสียหายในทรัพย์สินที่เสียหายนั้นโจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไปและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 559,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดของโจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตนแต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุดเนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้นหรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้วเพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ขายคอนโดฯ แบบยัดเยียด บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

หน้าที่และความรับผิดของผู้จะขายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคแรกนั้นระบุว่า “ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก“ และวรรคสองระบุว่า “ อนึ่ง ถ้าขาดบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาไว้แล้วใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากัน“ มาลองดูกรณีศึกษากันเป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจขายคอนโดฯ ระดับยักษ์ใหญ่ แถวเมืองทองธานี เอาเปรียบผู้บริโภคโดยจะยัดเยียดซอกมุมห้องที่ไร้ประโยชน์ให้ในราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย มาดูกันซิว่าจะเรียกเงินคืนได้ไหม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543 ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดที่พักอาศัยในราคา 2,865,000 บาท สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า “ห้องชุดผู้ซื้อจะมีพื้นที่ประมาณ 94.5 ตารางเมตร ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับการปรับขนาดพื้นที่ตามการก่อสร้างที่เป็นจริงและการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ถ้าพื้นที่จริงห้องชุดผู้ซื้อมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นคู่สัญญายังคงต้องผูกพันตนตามสัญญานี้ แต่ถ้าแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้าหรือมากกว่านั้น ราคาที่ต้องชำระตามสัญญานี้จะต้องปรับเพิ่มหรือลดลงตามส่วนโดยการปรับราคาจะกระทำในการชำระเงินงวดสุดท้ายของราคา “แม้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีกล่าวคือ เจตนาของคู่สัญญาที่กระทำโดยสุจริตซึ่งพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีประกอบแล้ว คงมิได้หมายความขนาดที่ว่าไม่ว่าเนื้อที่ของอาคารชุดจะแตกต่างมากกว่าร้อยละห้าสักเพียงใดก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารชุดพิพาทมีเนื้อที่ล้ำจำนวนถึง 29.98 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มอีกประมาณ 900,000 บาท รวมทั้งจำเลยได้บังคับให้โจทก์รับมอบซอกมุมห้องที่ติดกันซึ่งมีเนื้อที่อีก 30 ตารางเมตร โดยมีฝากั้นห้อง ระหว่างเนื้อที่ 96.5 ตารางเมตร กับ 30 ตารางเมตร เป็นฝากั้นซึ่งเป็นคานรับน้ำหนักของตัวอาคาร โดยจำเลยได้ทำช่องให้เข้าไปได้ทางด้านหลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ล้ำจำนวนเป็นส่วนของเนื้อที่ซอกมุมห้องที่ติดกัน ซึ่งหากพิจารณาถึงความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแล้ว ก็หาควรบังคับให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากเพื่อรับเอาเนื้อที่ล้ำจำนวนที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นหรือไม่ เพราะหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้เข้าทำสัญญานั้นอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเมื่อคำนึงถึงมาตรา 11 แห่ง ป.พ.พ. ด้วยแล้วในกรณีเช่นว่านี้เมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวนี้หรือไม่ ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาด ซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตามมาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 พิพากษายืนให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขายเงินดาวน์รถยนต์ไปแล้วยังโดนฟ้อง

รถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วๆ ไป อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐีอยากจะมีรถยนต์ใช้กับเขาสักคันแม้จะเป็นรถยนต์ปิคอัพ ก็รถยนต์กระบะนั้นแหละแต่เรียกให้มันเท่ๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อไม่มีเงินสดทีละหลายๆ แสนจะซื้อ ก็คงต้องพึ่งบริการบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทลิสซิ่งอันว่าบริษัทลิสซิ่งสมัยนี้ก็แสนโหด นอกจากจะตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดราวกับว่าจะไปสมัครเป็นลูกเขยแล้ว ยังต้องหาคนค้ำประกันแน่นๆ (ศัพท์ของเซลส์ขายรถ) อีกด้วย แถมบางบริษัทยังให้ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอาเช็คมาออกชำระค่างวดอีกด้วย “ประมาณว่าไม่ผ่อนตูเมื่อไรจะได้ดำเนินคดีอาญาเรื่องเช็คอีกดอกหนึ่งด้วย”ครั้นซื้อรถมาได้ใช้ไประยะหนึ่งอยากเปลี่ยนรถใหม่จะทำยังไง ก็ต้องขายดาวน์รถยนต์คันเก่าซิครับท่าน ขายดาวน์ไปแล้ว บริษัทลิสซิ่งก็รับทราบแล้ว จนผู้เช่าซื้อคนใหม่ผ่อนไปได้ 4 งวด แล้วไม่ผ่อนต่อ บริษัทลิสซิ่งก็มาฟ้องผู้เช่าซื้อกับผู้ค้ำประกันคนเดิม เพราะไม่ได้คืนสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเดิมให้ผู้บริโภค(โหดจริงๆ) มาดูกันซิว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร หมายเลขทะเบียน 3ธ-230 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 538,770 บาท ตกลงผ่อนชำระ 30 งวดๆ ละ 17,959 บาทตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2538 และทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายศุภชัย …เป็นการขายเงินดาวน์ และเมื่อเดือนกันยายน 2538 นายขนิษฐ์ มาขอซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากนายศุภชัย โดยนายขนิษฐ์จะต้องไปผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับโจทก์ นายศุภชัยได้ติดต่อขอวงเงินกู้จากโจทก์และนัดให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ ต่อมามีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ แม้ตามคำขอโอนสิทธิการจะเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และนายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และยอมให้นายศุภชัยมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายขนิษฐ์ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์“ ศาลฎีกายกฟ้อง ผู้บริโภครอดตัวไป บริษัทนี้มันโหดจริงๆ ขายดาวน์ไปแล้วยังมีหน้ามาฟ้องอีก ใครอยากรู้ว่าบริษัทอะไรต้องมาถามเป็นการส่วนตัวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ (2)

คำว่า “พราก“ ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองหรือดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน (ฎีกาที่ 3152/2543) กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง  แม้ผู้กระทำผิดจะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงเด็กและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎีกาที่ 2858/2540 , ฎีกาที่ 3718/2547) เด็กยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดา จะกระทำโดยวิธีการใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบายใด ( ฎีกาที่ 2673/2546) ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารเช่นกัน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเวลานานเท่าใดด้วย แม้จะพรากไปเพียงชั่วคราวก็ตามหากไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ( ฎีกาที่ 2858/2540) ก็ถือว่ากระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ ฎีกาที่ 1605/2523 ผู้กระทำผิดพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีในกระท่อมใกล้บ้าน แม้อยู่ด้วยกันเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่ารบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลไปจากผู้ปกครองแล้ว อนึ่งการพรากจะสำเร็จต่อเมื่อพ้นไปจากการปกครอง หากยังไม่พ้นไปจากความปกครองก็เป็นเพียงพยายาม เช่น ดึงเด็กอายุ 8 ปี ไปจากผู้ดูแลพยายามจับอุ้มตัวไปแต่ผู้ดูแลดึงตัวเด็กไว้และร้องขอให้ช่วย จึงปล่อยตัวเด็กไป (ฎีกาที่ 2191/2522) บิดามารดา ผู้ปกครอง น่าจะหมายถึงผู้ปกครองตามกฎหมาย ส่วนผู้ดูแลถือตามความจริง (ฎีกาที่ 5669/2537 , ฎีกาที่ 6203/2541) ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะพรากไปจากคนใดคนหนึ่งดังกล่าวก็มีความผิดทั้งสิ้น (ฎีกาที่ 1400/2538) อย่างเช่น กรณีเป็นการพรากเพื่อหากำไร อย่างการพรากเด็กให้ไปเป็นขอทาน (ฎีกาที่ 5409/2530) เป็นต้น มาดูกรณีศึกษากันสักเรื่อง ในกรณีพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยเป็นเรื่องที่ จำเลยอุ้มผู้เสียหาย ซึ่งนั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลยขึ้นไปบนบ้านของจำเลย จะถือว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วยหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2548 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลโดย ไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 (ผู้เยาว์) นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 (ผู้ปกครอง) การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิจะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังที่ใดโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้านตนแล้วพาไปห้องนานและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าจำเลยแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม มาตรา 317 วรรคสอง จำเลยนำอวัยวะเพศของจำเลยใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อวัยวะเพศจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองด้วย ส่วนจำเลยจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ย่อมมิใช่สาระสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ อุทาหรณ์สอนใจคนรักเด็ก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น บุคคลทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจกันว่าต้องเป็นเรื่องการหลอกลวงผู้เยาว์หรือนำผู้เยาว์ไปจากความดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้เยาว์ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้ไปพบผู้เยาว์ที่อื่น เช่น ศูนย์การค้า ผับ เธคหรืองานวัด ฯลฯ แล้วพาผู้เยาว์ไปกระทำชำเรา ก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี  ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีหรือสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันถึงสองหมื่นบาท “ และวรรคสามบัญญัติว่า “ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท“ และมาตรา 319 วรรคแรกบัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “มาดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2530 ( ประชุมใหญ่)โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พราก น.ส. ก. อายุ 16 ปีเศษไปเสียจากนาย จ. บิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้ น.ส. ก. ไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรา น.ส. ก. 2 ครั้ง โดย น.ส. ก.ไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 อายุความสินเชื่อบัตรเรดดี้เครดิต

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที  ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865  การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ  สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 บัตรเครดิตปลอมและถูกลัก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com กรณีที่มีบุคคลอื่นทำปลอมบัตรเครดิตหรือลักบัตรเครดิต เช่น เป็นการลักหรือโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเครดิตในขณะมีการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขโมยข้อมูลเป็นพนักงานของร้านค้าหรือสถานบริการ หรือข้อมูลถูกขโมยจากเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ที่คนร้ายลักลอบติดตั้งไว้บริเวณด้านบนของเครื่อง เอ ที เอ็ม (มีการถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูล ขณะมีการใช้บัตรเครดิตนั้นกดรหัสประกอบบัตรเครดิตเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม) ซึ่งเจ้าของบัตรเครดิตไม่ทราบเรื่อง หรือขโมยจากข้อมูลที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเก็บรักษาไว้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาทำบัตรเครดิตปลอม แล้วมีการนำบัตรปลอมนั้นออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ซึ่งกรณีที่สองนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกหรือเจ้าของบัตรเครดิตที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้มีการทำบัตรเครดิตปลอม ไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ออกทดรองไปก่อน จากการใช้บัตรเครดิตปลอมของบุคคลอื่น เพราะธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะต้องจัดทำบัตรเครดิตและจัดเก็บข้อมูลเป็นความลับ ให้ยากต่อการถูกลักหรือโจรกรรมข้อมูลไปได้ เว้นแต่เจ้าของบัตรเครดิตมีส่วนรู้เห็นให้บุคคลอื่นทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม เจ้าของบัตรเครดิตนั้นต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากสมาชิกบัตรเครดิตได้รับใบแจ้งยอดหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นรายเดือนจากธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ถ้าตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้แล้วเห็นว่าตนมิได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรายใด รวมทั้งการเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ก็ต้องรีบแจ้งและทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไปทันที เพื่อธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว แล้วออกบัตรเครดิตใหม่ให้แทนต่อไป  สำหรับกรณีบัตรเครดิตถูกคนร้ายลักไปแล้วนำไปใช้นั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยล่าสุด ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้นในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ ถ้าบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 เมื่อโฟล์คสวาเก้น อาจต้องรับผิดตามกฎหมายสินค้าชำรุดบกพร่อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา ( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์กสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวผู้บริโภคตามกฎหมายเยอรมันสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่องโฟล์คสวาเก้นมีหน้าที่ ที่จะต้องเรียกคืนรถที่มีปัญหาจากการวัดค่าไอเสียรถยนต์คืนหรือไม่ ?ไม่จำเป็น ตามหลักกฎหมายเยอรมัน บริษัทจะเรียกรถคืนก็ต่อเมื่อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้า ในกรณีความผิดพลาดจากเครื่องมือวัดไอเสียที่ติดตั้งในตัวรถนั้นยังไม่ถึงกับ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต แต่โฟล์คสวาเก้นสามารถเรียกคืนรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวตามความสมัครใจ หรือ ในกรณีที่โฟล์คสวาเก้นไม่อยากสร้างความยุ่งยากใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้โฟล์คสวาเก้นชดเชยค่าเสียหายและความบกพร่อง (Mängelrechte) ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของและความน่าเชื่อถือของบริษัท สิ่งที่น่าติดตามสำหรับผู้บริโภคขณะนี้คือ รอดูว่าโฟล์คสวาเก้นมีข้อเสนอให้กับลูกค้าอย่างไร ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้างในกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแพ่งของเยอรมนี ในกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อภายหลังปรากฏว่า เป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง ค่าไอเสียที่ปล่อยออกมามีค่าสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือทำให้ ใช้น้ำมันมากกว่าที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) หลักการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวคือ •    เรียกร้องให้ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ซ่อมแซมสินค้าให้เป็นไปตามสัญญาหรือที่โฆษณาไว้ (Nacherfüllung) โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขของเวลาในการซ่อมแซมให้รถมีสภาพเหมือนเดิมอย่างสมเหตุสมผล ในกรณีการขอเปลี่ยนรถให้ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ผลิตหรือผู้ขายมากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตมักจะเลือกการซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนของใหม่ให้ก่อน •    นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถบอกยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ (Rücktritt) โดยสามารถคืนรถที่มีปัญหา และขอเงินคืน โดยคิดราคาค่าเสื่อมจากการใช้รถไปแล้วบางส่วน ซึ่งสามารถคิดจากระยะทางที่รถวิ่งมาแล้ว กรณีการคืนรถสามารถทำได้ ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขให้รถมีสภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรือ ผู้ผลิต ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญ (unzumutbar) •    การขอลดหย่อนราคา (Minderung) ในกรณีที่รถมีความเสียหาย หรือบกพร่องเล็กน้อย ผู้บริโภคสามารถขอลดหย่อนราคาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายการประกันสินค้ากับใครเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทตัวแทน ตามกฎหมายการประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิผ่านบริษัทตัวแทนขายรถยนต์ที่มีสัญญาต่อกัน บริษัทตัวแทนขายรถยนต์ (Dealer) สามารถเรียกค่าเสียหายกับโฟล์คสวาเก้นในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ต่อ ได้หรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากมี นิติสัญญาต่อกัน อายุความตามกฎหมายการประกันสินค้ามีระยะเวลานานเท่าใดปกติอายุความจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ทำสัญญาซื้อรถ แต่ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่กระบวนการผลิตจากโรงงาน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นความผิดพลาดของรถยนต์ เนื่องจากทางบริษัทย่อมปกปิดข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย อายุความในกรณีนี้ก็จะยาวนานขึ้น ในกรณีนี้ อายุความขยายเป็นสามปี นับจากวันที่ผู้บริโภคทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น กรณีที่ ผู้บริโภคมีประกัน (Guarantee) จากผู้ผลิต สามารถทำอะไรได้บ้างผู้ผลิตรถยนต์มักจะเสนอบริการ ให้การรับประกันจากผู้ผลิต (manufacturer guarantee) เพิ่มเติมกับผู้บริโภค แต่การประกันแบบนี้จะต่างจาก การประกันตามกฎหมายประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ซึ่งมีสภาพบังคับ ในกรณีนี้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอการรับประกันรถยนต์ซึ่งมีเวลานานกว่า 2 ปีตามความสมัครใจ หากผู้บริโภคมีประกันประเภทนี้ ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการให้ผู้ผลิตนำรถยนต์ที่มีปัญหาไปปรับปรุง ซ่อมแซมแก้ไขได้ สัญญาประกันแบบนี้ เป็นนิติกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์มีผลผูกพันกับผู้บริโภคโดยตรง สำหรับผู้บริโภคในไทยตอนนี้ คงต้องรอ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law) ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ อีกหนึ่งความหวังของกฎหมายดีๆ ที่มักจะถูกละเลย และขัดขวางจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย ที่ยังเข้าใจว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ทว่าจริงๆแล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นการส่งเสริมธุรกิจ การแข่งขันทางการค้า และเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลอีกทางหนึ่งที่สำคัญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 เตรียมพร้อมก่อนใช้ “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”

ประเทศไทยเรากำลังจะมีกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เชื่อว่ามีประโยชน์และช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคได้มีเครื่องมือสำหรับการฟ้องร้องปกป้องสิทธิของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากปัญหาในลักษณะเดียวกันจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคนเดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีที่ว่านี้ก็คือ “กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” ซึ่งจุดเด่นของกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหายแล้วนั้น ยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะสามารถใช้ได้จริงในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เราลองมาทำความรู้จักกฏหมายการฟ้องคดีแบบใหม่นี้กันดูดีกว่าว่ามีวิธีการใช้อย่างไร และเมื่อมีแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างไรบ้างแบบไหนถึงเรียกว่าเป็น “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”?การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีจุดสำคัญคือเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก (ตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุจำนวนเอาไว้ หมายความว่า แค่มีผู้เสียหายหลัก 10 คน หรือมากเป็นหลัก 1,000 คน ก็สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ถ้าศาลเห็นสมควร) โดยผู้เสียหายทั้งหมดจะต้องมีข้อเท็จจริงของความเสียหายที่ได้รับร่วมกัน และใช้ข้อกฎหมายในการพิจารณคดีแบบเดียวกัน เช่น ในคดีผู้บริโภค ที่มีกลุ่มคนที่ได้ความเสียหายจากการซื้อสินค้ายี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อฟ้องร้องต่อบริษัทผู้ผลิตด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยหลักสำคัญๆ ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าคดีที่ต้องการฟ้อง เข้าข่ายที่จะใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ มีดังนี้1.ความเหมือนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการฟ้องร้อง ข้อกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มคนทั้งหมดที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มฟ้อง และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนถึงขั้นมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมฟ้องทั้งหมดจะได้รับการชดเชยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม2.เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนรวมกลุ่มกันแสดงตัวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้การดำเนินคดีแบบคดีสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินคดี สร้างภาระต่อศาลและทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของคดี3.ถ้าหากใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ4. “โจทก์” หรือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่างๆ ในศาล ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการฟ้องคดีที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอในการทำหน้าที่แทนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม 5.โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องพิจารณาผู้ที่เป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์โดยละเอียดและรอบคอบข้อดีของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม1.ช่วยลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาและบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วขึ้น และเกิดแนวทางตัดสินที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะหากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบทั่วไป คดีในลักษณะเดียวกันแต่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หากผู้เสียหายแต่ละคนต่างคนก็ต่างไปฟ้องคดี จะทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า 2.ลดภาระของผู้เสียหายบางกลุ่ม บางคน ที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินคดีในศาล การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงเหมือนเป็นการลดภาระให้กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายด้วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ในการฟ้องคดีแทนให้3.ช่วยสร้างบรรทัดฐานของการพิจารณาคดี เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก เพราะหากผู้เสียหายจำนวนมากใช้วิธีฟ้องแบบทั่วไป ต่างคนต่างฟ้อง ผลของคดีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน การชดเชยเยียวยาที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้อาจไม่มีความเท่าเทียมกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผลของคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เสียหายทุกคนที่มีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มจะได้รับการชดเชยเยียวเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสมเท่าเทียม4.เป็นเครื่องเตือนใจให้หน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ไม่กล้าทำละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เพราะหากมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็อาจถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความได้ด้วยการรวมกลุ่มฟ้อง ทำให้ความเสียหายที่เคยมองว่าเล็กน้อย กลายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น การชดเชยก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเมื่อได้รับความเสียหายที่เล็กน้อยมักจะเพิกเฉย ไม่ได้เรียกร้องสิทธิหรือฟ้องร้องเป็นคดีความเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่ต้องใช้ในการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการฟ้องร้องต่อศาลก็จะง่ายขึ้น คนไม่รู้กฎหมายหรือไม่เข้าใจเรื่องการฟ้องคดีก็สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีได้คดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด 2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า“โจทก์” = คนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตัวแทนกลุ่ม” เป็นธรรมดาที่การฟ้องร้องคดีความต่อศาลจะต้องมีฝ่ายผู้ร้องหรือก็คือฝ่าย “โจทก์” เป็นผู้ตั้งต้นเรื่องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับฝ่ายที่สร้างความเสียหายหรือก็คือฝ่าย “จำเลย” นั่นเอง ถ้าเป็นในคดีทั่วไปย่อมไม่มีปัญหาในการกำหนดคนที่เป็นฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คือผู้ที่ร้องต่อศาลในการดำเนินคดี แต่สำหรับในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ที่จะทำหน้าที่โจทก์ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญไม่น้อยในดำเนินรูปแบบของคดีให้ไปถึงยังจุดที่ตั้งไว้ บทบาทไม่แพ้ทนายที่รับดูแลคดีเลยทีเดียว    คุณสมบัติที่ดีของผู้ที่จะมาเป็นโจทก์ในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มทั้งหมดในการดำเนินคดีในศาล ดูแลการดำเนินการทุกๆ อย่าง เรื่องค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานต่างๆ ข้อมูลสำคัญ การหาพยาน ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหา ความเป็นมาของคดีอย่างถ่องแท้ สามารถสื่อสารข้อมูลทั้งหมดให้กับทั้งทนายและสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ร่วมกันฟ้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ประสบปัญหาและริเริ่มที่จะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วเกิดเล็งเห็นว่าคดีนั้นสร้างความเสียหายในวงกว้างน่าจะเป็นคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มได้แน่นนอนว่าผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์หรือผู้แทนกลุ่มอาจไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แต่ผู้ที่รับหน้าที่โจทก์ก็ต้องแสดงตัวให้เห็นตนเองเป็นผู้แทนของกลุ่มจริงๆ โดยมีข้อร้องเรียนในคดีที่ให้ผลในส่วนรวม และพร้อมที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม เพราะต้องไม่ลืมว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้นมุ่งหวังผลที่จะปกป้องสิทธิของคนทั้งกลุ่ม ไม่ใช่แต่ของโจทก์เพียงคนเดียว ซึ่งศาลก็จะมองในจุดนี้เป็นเหตุผลประกอบในการจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฟ้องเป็นคดีกลุ่มหรือไม่“โจทก์” แบบไหน? ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่ม1.โจทย์ขาดคุณสมบัติในความเชื่อมโยงต่อคดีและกลุ่มสมาชิก2.โจทก์เสียชีวิตหรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ3.เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์4.โจทก์ทิ้งฟ้อง5.เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา6.โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ7.เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนกลุ่มต่อไป***เมื่อเปลี่ยนตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม โจทก์เดิมยังสามารถเป็นสมาชิกกลุ่มต่อไปได้***ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วมีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์ต่อไปด้วย***เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต***ในกรณีที่โจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุผล ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันสมาชิกกลุ่มที่ร่วมฟ้องคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้1.เข้าฟังการพิจารณาคดี หรือจะแต่งตั้งทนายของตัวเองมารับฟังในศาลก็ได้2.ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงความเหมาะสมและคุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์ 3.ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสำนวนความหรือขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านั้นได้4.จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความกลุ่ม 5.ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ หากศาลพิจารณาแล้วว่าโจทก์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม6.คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ 7.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้สมาชิกที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีสิทธิในการขอถอนตัวออกจากกลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้***สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล***เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนดในการแจ้งขอออกจากลุ่ม สมาชิกจะออกจากลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด***บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้***สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีแบบกลุ่มไม่ได้ ***ห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคุณอาจมีส่วนร่วมในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม “โดยไม่รู้ตัว”ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีจะมีผลในการสร้างกลุ่มแบบอัตโนมัติ คือ แค่เพียงโจทก์สามารถแสดงในศาลให้เห็นว่าเรื่องที่ร้องต่อศาลนั้นเป็นเหตุที่สร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมากจริงๆ ที่เห็นชัดคือ คดีสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยสารเคมีออกมาทำให้ประชาชนให้ชุมชนใกล้เคียงชุมชนหนึ่ง ได้รับผลกระทบเรื่องมลพิษ มีโจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับโรงงานต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หากศาลรับเป็นคดี นั่นเท่ากับว่าประชาชนที่อาศัยมีชื่อตามทะเบียนบ้านในชุมชนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มการฟ้องคดีดังกล่าวด้วย มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดีที่จะออกมาหากคำพิพากษาเสร็จสิ้นเพราะฉะนั้นศาลจึงได้ออกข้อบังคับเพื่อให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เป็นเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างโดยทั่วถึง เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีโดยไม่รู้ตัว ได้รับรู้ว่าขณะนี้ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีดังกล่าว โดยมีสิทธิที่จะขอถอนตัวจากกลุ่มในการฟ้องคดีได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดศาลจะต้องส่งคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มรับทราบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่นหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรคำบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้1.ชื่อศาลและเลขคดี2.ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์3.ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน4.ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคำสั่ง5.สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามกฎหมาย6.กำหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน7.ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม8.ผลของคำพิพากษาเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ที่จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่ม9.ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำสั่งฉบับนี้ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาต1.โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย 4.ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดการพิจารณาคดี1.เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขั้นต่อไปก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาในชั้นศาล โดยจะต้องมีการแจ้งคำสั่งเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมในกลุ่มฟ้องทราบผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 3 วัน และเพื่อให้สิทธิในการออกจากกลุ่ม2.ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้พิจารณาไปแล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย3.หากในระหว่างการพิจารณาคดี แล้วพบว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ คำพากษาและการบังคับคดี1.คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันกับโจทก์และสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มตามที่ได้แจ้งไว้ต่อศาลในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายฝ่ายโจทก์มีอำนาจในการบังคับคดี2.หากทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีแทนได้3.ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม4.จำเลย หรือ คู่ความ มิสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องแบบกลุ่มได้ตัวอย่างการฟ้องคดีกลุ่มในต่างประเทศเฟซบุ๊คละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ใช้งานผ่านโปรแกรมเสริม Beaconในปี 2007 ฌอน เลน หนุ่มชาวอเมริกันตั้งใจจะซื้อแหวนเพชรสักวง เพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญเซอร์ไพรซ์แฟนสาว โดยเขาได้สังซื้อแหวนทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อ Overstock.com แต่แล้วกลับเกิดเรื่องที่ทำให้เขาถึงกับอึ้ง เมื่อการกดคลิ้กสั่งซื้อแหวนเพชรผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว กับถูกเผยแพร่แบบอัตโนมัติทางเฟซบุ๊ค ซึ่งทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊คของเขานับร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่า 1 ในนั้นมีแฟนสาวของเขารวมอยู่ด้วย รู้ในทันทีว่า เลน ได้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ไอ้ที่ตั้งใจว่าจะเซอร์ไพรซ์ก็เลยกลายเป็นทุกคนรู้เรื่องที่เขาซื้อแหวนเพชรกันหมดฌอน เลน จึงเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาล ด้วยวิธีการฟ้องเป็นคดีกลุ่ม โดย เลน อ้างว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟซบุ๊คอีกกว่า 3.6 ล้านคน ในเรื่องที่เฟซบุ๊คกระทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊คในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากการที่ทำในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ซึ่งผลจากการพิจารณาคดี ศาลตัดสินว่าเฟซบุ๊คได้กระทำการละเมิดผู้ใช้เฟซบุ๊คจริง เฟซบุ๊คจึงต้องทำการยกเลิกโปรแกรม Beacon พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนด้วยเงินจำนวน 9.5 ล้านดอลล่าร์ ในการดูแลและพัฒนาเรื่องโปรแกรมความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านสังคมออนไลน์(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Lane_v._Facebook,_Inc.)เมื่อผู้พิการทางสายตาเรียกร้องให้เว็บไซต์ขายสินค้าทำระบบเพื่อให้พวกเขาใช้งานได้เหมือนคนปกติในปี 2006 สภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาฟ้องเว็บไซต์ของร้านค้าเฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Target ที่ไม่ยอมจัดทำระบบที่เอื้อต่อผู้พิการให้สามารถใช้บริการและสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อได้มีการนำเรื่องฟ้องต่อศาล ศาลก็ตีความให้คดีนี้เป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะโจทก์ฟ้องคดีเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ต่อส่วนรวมคือผู้พิการทางสายตาทั่วไปไม่ใช่เพื่อองค์กร ซึ่งผลของคดีนี้ทำให้เว็บไซต์ Target ก็ได้สร้างระบบในส่วนที่เอื้อให้ผู้พิการสายตาสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้และยังทำความร่วมมือกับสภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(ที่มา :https://en.wikipedia.org/wiki/National_Federation_of_the_Blind_v._Target_Corp.)เติมน้ำมันแล้วเครื่องยนต์พัง เจ้าของรถรวมตัวฟ้องเรียกค่าชดเชยผู้ใช้รถยนต์ในอเมริการวมตัวกันฟ้องบริษัทน้ำมัน “เชลล์” ในแคนาดา เนื่องจากขายน้ำมันเบนซินที่มีการเติมสารบางตัวซึ่งทำให้เครื่องยนต์ของรถที่เติมน้ำมันชนิดดังกล่าวเข้าไปเกิดปัญหา ซึ่งเชลล์ยอมรับว่าน้ำมันที่เป็นปัญหาถูกผลิตออกมาขายในช่วงปี 2001 ถึง 2002 คาดว่าน่าจะมีผู้ที่เติมน้ำมันชนิดนี้ไปอยู่ที่ 1 แสนถึง 2 แสนคน ซึ่งเชลล์ก็ยอมรับที่จะชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าที่เติมน้ำมันไปตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Shell_Canada_lawsuit)โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำทำประชาชนป่วยโรคมะเร็งตัวอย่างคดีฟ้องกลุ่มที่โด่งดังมากๆ คดีหนึ่ง โด่งดังถึงขั้นถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว นั้นคือคดีของ “อิริน บร็อคโควิช” สาวลูก 3 ที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฏหมาย ได้ฟ้องบริษัท PG&E ที่ปล่อยสารพิษลงในแหล่งธรรมชาติในเมืองฮินกี้ รัฐแคริฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก อิริน เป็นต้นเรื่องในการส่งเรื่องนี้ให้ศาล พร้อมไปกับการล่ารายชื่อเชิญชวนผู้ที่ได้รับเสียหายรวมกันฟ้องคดี สุดท้ายศาลสั่งให้ PG&E ต้องชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเงินสูงถึง 333 ล้านดอลล่าร์ ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การพิจารณาคดีในอเมริกา (ฉบับภาพยนตร์ใช้ชื่อว่า Erin Brockovich (ปี 2000))( ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Erin_BrockovichXคดีฟ้องกลุ่มที่ปลุกจิตสำนึกเรื่องการคุกคามทางเพศในอเมริกาปี 1988 หลุยส์ เจนสัน กับเพื่อนร่วมงานหญิงอีก 14 คน ฟ้องร้องให้ศาลเอาผิดกับ Eveleth Taconite Co บริษัทที่พวกเธอทำงาน ฐานที่ปล่อยให้บรรดาเพื่อนร่วมงานผู้ชายแสดงกิริยา ท่าทาง วาจา คุกคามทางเพศพนักงานผู้หญิงที่อยู่ร่วมบริษัทเดียวกัน แม้จะต้องต่อสู้นานร่วม 10 ปี แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งให้บริษัท Eveleth จ่ายเงินชดเชยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้ง 15 คนเป็นเงิน 3.5 ล้านดอลล่าร์ ที่สำคัญที่สุดคดีนี้ให้ทำผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญและเคารพเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้น (คดีนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง North Country (ปี 2005))(ที่มา : http://www.iveyengineering.com/blog/class-action-lawsuits-2/)การฟ้องคดีแบบกลุ่มกับปัญหาด้านคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อพิพาทของผู้บริโภคที่ลักษณะความเสียหายหรือถูกละเมิดในลักษณะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณี ลูกค้าสถานออกกำลังกาย “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ถูกยกเลิกการให้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบและไม่มีการคืนเงินค่าบริการที่ผู้ใช้บริการได้จ่ายไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 2,000 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 50 ล้านบาท หรือจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวากว่า 20 ราย พบว่ารถที่ใช้งานอยู่มีปัญหาที่ระบบเกียร์ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย แม้จะแจ้งกับทางบริษัทผู้ผลิตแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม จนเกิดการรวมกลุ่มกันแล้วเข้าฟ้องร้องต่อ สคบ. แต่เหมือนปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ลองคิดกันดูว่าถ้ามีกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ตัวอย่างปัญหาที่ยกขึ้นมาน่าจะได้ช่องทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ช่วยผู้บริโภคในการฟ้องคดี อย่าง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มจะช่วยในกรณีที่ความเสียหายเกิดกับผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้ศาลเห็นถึงภาพความเสียหายที่ชัดเจนกว่าการแยกกันฟ้องเป็นรายบุคคล เป็นการลดขั้นตอน ลดภาระในการฟ้องคดีของทั้งผู้บริโภคและศาล แม้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีข้อดีตรงที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางศาลในการดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่ความเสียหายไม่มากผู้บริโภคก็อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินเรื่องฟ้องเป็นคดีต่อศาล แต่หากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน มีคู่ความเป็นคนเดียวกัน ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์ เพียงแค่อาจต้องให้ข้อมูลในส่วนของการพิจารณาคดีเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 มาทำเครื่องสำอางผิดกฎหมายกันเถอะ

มาทำเครื่องสำอางผิดกฎหมายกันเถอะโดย แนวร่วมส่งเสริมประชาธิปไตยในการผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมายแห่งชาติ “กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติด้วยกัน จงขยันผลิตจำหน่าย”สวัสดี ครับ พ่อแม่พี่น้องทุกท่าน กระผมในนามของประธานแนวร่วมส่งเสริมประชาธิปไตยในการผลิตเครื่องสำอางผิด กฎหมายแห่งชาติ ขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ โดยการผลิตเครื่องสำอางกันเถอะครับ เพราะในยุคนี้ สมัยนี้ ใครๆ ต่างก็รักสวยรักงามกันทั้งนั้น ไม่เชื่อก็ดูเอาซิครับ เครื่องสำอางน่ะโฆษณากันโครมๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ใครๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือแก่ ก็แย่งกันซื้อมาใช้ แต่ท่านสมาชิกครับ ขืนเราลงไปแข่งกับเขา ก็ตายซิครับ เราต้องหาช่องว่างทางการตลาดที่จะแย่งส่วนแบ่งส่วนนี้ให้ได้ กระผมพบแล้วครับ ช่องทางการตลาดที่เหมาะกับเรามากที่สุดคือ ช่องทางของเครื่องสำอางผิดกฎหมายไงครับ   ท่าน สมาชิกอย่าเพิ่งเบ้หน้าซิครับ อย่ากลัวครับ อย่ากลัว รักจะทำผิดแล้วจะกลัวได้อย่างไร ท่านไม่เห็นหรือครับว่าทุกวันนี้หน่วยราชการเขาก็เที่ยวไล่ตามจับเครื่อง สำอางผิดกฎหมายกันอยู่ทุกวัน แล้วเป็นไงครับ มันหมดหรือเปล่า ไม่หมดใช่มั้ยครับ นั่นย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนได้เลยว่าตลาดของเครื่องสำอางผิดกฎหมายของเรายัง สามารถเติบโตได้อีกเยอะครับ   แม้ จะเป็นการเสี่ยงกฎหมาย แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกทุกท่านมีโอกาสร่ำรวยแบบกระผม ในโอกาสนี้ กระผมขอแนะนำเคล็ดลับในการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางผิดกฎหมาย เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้นำกลับไปทำมาหากินเพื่อตัวท่านเอง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ อันเป็นการช่วยประเทศได้อีกทางเลยนะครับ และไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ออกนะครับ เพราะวันนี้กระผมจะแนะนำให้ครบวงจร หมดไส้หมดพุงเลยครับ เรียกว่ามางานนี้ครั้งเดียวกลับไปรวยและเลยครับ หมายถึงรวยเห็นๆ นะครับไม่ใช่รวยจนเละตุ้มเป๊ะนะครับ ขั้นตอนที่หนึ่ง หาวัตถุดิบสรรพคุณวิเศษประการ แรกเลย ท่านสมาชิกต้องตั้งสติให้ดีก่อนนะครับว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์อะไร งานนี้คนธรรมดาทำไม่ได้นะครับ ต้องมีสมองและยิ่งขี้โกงนิดๆ จะยิ่งแจ๋วไปเลยครับ เคยมีสมาชิกบางท่านไปทำดินสอพองผสมสีย้อมผ้า แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมผิดกฎหมายที่เยี่ยมยอด แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดครับ นึกดูซิครับใครจะไปใช้ดินสอพองได้ทุกวัน กลายเป็นขายได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ต้องนี่ครับ กระผมขอแนะนำ เครื่องสำอางสำหรับใบหน้าและผิวขาว ครับ เพราะยุคนี้ใครๆ ก็อยากหน้าขาวผิวขาวกันทั้งนั้น ถึงจะบางคนพ่อดำ แม่ดำ ก็ยังอยากจะขาวตะเกียกตะกายขวนขวายซื้อมาใช้จนได้ วัตถุ ดิบก็ไม่ยากครับ มีสารตั้งหลายตัวที่เราซื้อมาใช้ได้ พวกนี้แม้ราชการเขาจะห้ามใช้ในเครื่องสำอาง แต่เขาไม่ห้ามที่ผลิตเป็นยา ก็เลยมีสารเคมีเหล่านี้วางจำหน่ายได้ เวลาไปซื้อเราก็บอกว่า จะซื้อไปให้คุณหมอที่คลินิกซิ ไอ้ครีมที่หน้าขาวๆ ที่จ่ายตามคลินิกน่ะบางตัวเขาก็ผสมสารพวกนี้นะ แล้วก็อ้างว่าใช้รักษาคนไข้เฉพาะราย ทั้งๆ ที่ เห็นๆ ใครๆ ก็เข้ามาขอซื้อได้ ความจริงการผลิตยาขายเขาต้องมาขออนุญาตผลิตก่อนนะ แต่ใครจะไปตามจับตามตรวจได้หมดล่ะ พูด ไปเรื่อย แนะนำสารเคมีดีกว่า สมาชิกรู้จักมั้ย สารไฮโดรควิโนน น่ะ ตัวนี้เจ๋งมากนะครับ ทาไม่เท่าไหร่หน้าจะขาววอกเลย แต่อย่าเผลอไปบอกคนใช้ล่ะ ว่าถ้าใช้ไปนานๆ หน้าจะด่างแบบถาวรรักษาไม่หาย อีก ตัวก็ ปรอทแอมโมเนีย ไอ้ตัวนี้ใช้เยอะมันจะซึมเข้าไปถึงไต ไตพังนะ แต่อย่ากังวลครับ คนยุคนี้เขากินโน่นใช้นี่มากมาย เวลาเจ็บป่วยชอบมาโบ้ยโทษว่าเกิดจากสารปรอทแอมโมเนียของเรา จริงๆ มันก็มีส่วนนะแหละ แต่ทำไมไม่คิดล่ะว่าชาติที่แล้วไปทำกรรมอะไรไว้ก่อน ตัว สุดท้ายก็ กรดวิตามินเอ ตัวนี้สุดยอด สิวหายหน้าใสเลยล่ะ แต่อาการข้างเคียงคือ ปวดแสบปวดร้อนตรงผิวที่ทาเจ้าตัวนี้ลงไปครับ และปกติเขาห้ามใช้ในคนท้องนะ เพราะมันจะซึมไปถึงลูกในท้องจนพิการ แต่อย่าคิดมากครับ คนท้องคนไส้ที่ไหนจะมาทาครีมผิวขาว ขืนคิดมากจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนะอย่าลืม ขั้นตอนที่สอง ผลิตง่ายๆ ไม่ต้องจ่ายภาษีพอ ได้สารสำคัญๆ ครบแล้ว ก็เข้าสู่การผลิตเลย ทำไม่ยากหรอกครับ เดี๋ยวผมจะให้สูตรนะครับ สถานที่ก็ไม่ต้องใหญ่โตหรอก ขืนใหญ่โตเกินไปสรรพากรจะตามมาเก็บภาษี เจ้าหน้าที่จะตามกลิ่นได้ เอาแบบนี้เลยครับ ที่นิยมมากๆ คือไปเช่าทาวน์เฮ้าส์ว่างๆ แล้วผลิตที่นั่นเลย แต่แนะนำให้ทำหลังบ้านนะครับ ล็อคประตูบ้านให้ดีล่ะ เผื่อเจ้าหน้าที่ดมกลิ่นตามมาถูก แต่กว่าจะพังเข้ามาได้ เราจะได้หนีทัน แต่ที่ประหยัดที่สุด แนะนำให้ผลิตในรถตู้เลยครับ มีเตาแก๊ส กาละมัง กระบวย ไม้พาย แค่นี้ก็ต้มๆ กวนๆใส่กระปุกขายได้แล้ว สุดยอดไหมล่ะครับ เจ้าหน้าที่ก็ตามจับไม่ได้หรอกเพราะรถมันไม่ได้อยู่กับที่น่ะ แถมทำปุ๊บส่งของได้ปั๊บเลยเด็ดมั้ยครับ ผลิต เสร็จแล้วต้องหาภาชนะบรรจุสวยๆใส่นะ ขืนใส่ถุงพลาสติกรัดยางขาย ดูมันจะกระจอกเหมือนน้ำมันทอดซ้ำที่ขายแบกะดินชอบกล พยายามหน่อยนะท่านสมาชิก หากระปุก หาขวดที่รูปร่างสวยงามกันหน่อย กระปุกแบบใส่ดินสอพอง ใส่เต้าหู้ยี้ไม่เอานะครับ เอากระปุกแบบยี่ห้อดังๆ เลย อย่าลืมว่าคนสมัยนี้บางคนเขาเลือกซื้อเครื่องสำอางตามหน้าตาของภาชนะบรรจุ ด้วย เสร็จแล้วก็ออกแบบฉลากให้มันสวยงามทันสมัยหน่อย แม้กฎหมายจะบังคับให้เครื่องสำอางต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และต้องมีรายละเอียดให้ครบถ้วน เช่น ชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ ปริมาตรปริมาณที่บรรจุ วันผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งสถานที่ผลิต แต่เพื่อความปลอดภัยจากเงื้อมมือของกฎหมาย กระผมแนะนำให้แสดงฉลากเป็นภาษาประกิตเลย ผู้ซื้อจะได้ดูว่าเป็นของนอก ถ้าคิดไม่ออกก็ทำฉลากปลอมยี่ห้อดังๆ เลยง่ายดี ส่วนที่อยู่ผู้ผลิตท่านสมาชิกก็อย่าซื่อเกินเหตุไปบอกที่อยู่จริงล่ะ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะตามมาเยี่ยมถึงบ้าน ใส่ให้มันคลุมเครือหาไม่เจอเอาไว้ก่อนดีกว่า ไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าจะหาซื้อไม่ได้ เรามีวิธีขายครับ ขั้นตอนที่สาม ขายง่าย ขายดี เขาทำกันแบบนี้การ ขายเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น จะให้วางขายแบบปกติคงไม่ได้ เราต้องมีวิธีการขายที่แยบยล ยิ่งฉลาดกว่าเจ้าหน้าที่ เราจะยิ่งประสบความสำเร็จครับ กระผมขอแนะนำวิธีขาย 2-3 แบบครับ แบบ แรก เราก็วางขายหน้าร้านไปเลย วางในจุดที่เด่น ไม่ต้องหลบซ่อน เพราะเดี๋ยวจะมีพิรุธ ถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจ เราก็อ้างว่า มีคนมาฝากวางขาย เราไม่รู้หรอกว่ามันถูกหรือผิดกฎหมาย ใครจะไปรู้ ถ้าเจ้าหน้าที่ถามว่า ทำไมไม่ใช้ชุดทดสอบเครื่องสำอางที่ราชการแจกไปทดสอบก่อนขายล่ะ เถียงไปเลยครับว่า ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีเวลาทำมาหากินแล้วยังจะให้มาทดสอบอีก แล้วใครจะไปจำวิธีทดสอบได้ล่ะ ดูสีอะไรกันแยกไม่ถูกหรอก มันไม่ได้จำง่ายๆ แบบแทงหวยนี่นา และ หากจะเพิ่มยอดการจำหน่ายให้มากขึ้น แนะนำให้วางในที่ที่เจ้าหน้าที่นึกไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะมาตรวจตามร้านเสริมสวย ร้านขายของชำหรือตามตลาดนัด สมาชิกของเราบางท่านเคยนำไปวางขายในร้านเบเกอรี่ ร้านขายเครื่องเขียน กระบะขายผักก็มีมาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยมาตรวจพบ ไหมล่ะ เจ๋งไหมครับวิธีนี้ ท่านสมาชิกครับ อย่าเพิ่งหยุดแค่นี้นะ กระผมแนะนำให้ท่านสมาชิกนำผลิตภัณฑ์ไปขายตรง แบบปากต่อปากเพื่อส่งเสริมธุรกิจไปด้วย เพราะการขายแบบนี้ มันโฆษณาตัวต่อตัวได้เวอร์มากกว่าวิธีอื่นๆ แถมไม่ต้องเสียค่าแผง ไม่ต้องเสียภาษี ไปไหนก็เอาไปด้วยได้ง่ายๆ เวลาขายก็อ้างพวกดาราหน้าสวยๆ งามๆ ได้เลย ลูกค้าที่ไหนเขาจะโทรไปเช็คกับดาราล่ะ หรือไม่ก็อ้างว่าได้มาจากคลินิกก็ได้ ดูมันขลังดีเหมือนกันเพราะเหมือนผ่านมือหมอมาแล้ว แถมก็ไม่ต้องกังวลเรื่องฉลากที่ไม่ครบถ้วนอีกด้วย ไม่เชื่อไปดูซิ พวกที่หลุดมาจากคลินิกน่ะ ฉลากถูกกฎหมายมีมั้ย น้อยมากใช่มั้ยครับ หรือจะอ้างว่าผลิตโดยทีมอาจารย์จากหมา เอ๊ย มหาวิทยาลัยดังๆ แค่นี้คนก็อยากได้กันจะแย่แล้ว ขั้นตอนที่สี่ การขยายธุรกิจที นี้ถ้าธุรกิจเราเริ่มเติบโตขึ้นไปอีก เราก็ต้องเริ่มมีโฆษณาแล้ว ตอนนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะถือว่าเราอยู่ในที่โล่ง เจ้าหน้าที่อาจจะมาตรวจสอบได้ ไม่เป็นไรครับ อย่ากลัว จำคำขวัญของเราให้ดี “กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติด้วยกัน จงขยันผลิตจำหน่าย”   ก็ เราก็มีสถานที่และเครื่องสำอางให้เขาตรวจตอนขออนุญาตแล้วนี่ ส่วนที่จะทำขายจริงๆ น่ะ เราก็แอบไปหาที่อื่นทำก็ได้ ให้มันรู้กันไปเลยว่า ใครจะฉลาดกว่ากัน เราหรือเจ้าหน้าที่ ส่วน การโฆษณาน่ะไม่ยากถ้าทำเป็นเอกสาร ใบปลิวหรือสิ่งตีพิมพ์ก็ทำให้มันสวยงามน่าเชื่อถือ ใส่ภาษาอังกฤษไปเยอะๆ แล้วก็ใส่ข้อความตามใจชอบที่จะสามารถดึงดูดใจลูกค้าให้ได้ อ้างผลการทดลองต่างๆ จริงบ้างเท็จบ้างไม่เป็นไร คนซื้อเขาชอบ ยิ่งโฆษณาโอ้อวดว่า ผลิตภัณฑ์ของเรามันรักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ยิ่งดี แม้ว่ามันจะผิดกฎหมายก็อย่าไปกลัวครับ เพราะมันจะดูน่าเชื่อถือ คุ้มครับคุ้มมากๆ แต่ที่สำคัญ เราอย่าเผลอไปลงชื่อของเรา หรือสถานที่ผลิตของเราล่ะ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะตามมาถึงเรา สมาชิก บางท่านถามกระผมถึงการทำสปอตโฆษณาทางวิทยุ ก็เหมือนกันครับ ทำไปเถอะ กว่าเจ้าหน้าที่จะรู้ กว่าจะตามอัดเทปโฆษณา กว่าจะเชิญเราไปพบ เราก็หนีหายได้ทัน ส่วน การโฆษณาทางโทรทัศน์อันนี้ต้องลงทุนหน่อย อย่าหาพรีเซนเตอร์เพียงคนเดียว มายืนพูดปาวๆ อันนั้นมันเก่าไปแล้ว เดี๋ยวใครเขาจะคิดว่าเราขายเครื่องสำอางแผนโบราณ ต้องแบบนี้เลยครับ ไปจ้างดาราและนักวิชาการที่น่าเชื่อถือมาพร้อมๆ กันเลย อ้อ! ลืมบอกไปว่าต้องเอาดาราที่หน้าสวยๆ งามๆ หล่อๆหน่อยนะ หน้าตาเห่ยๆ อย่าเผลอไปจ้างมาล่ะ แต่นักวิชาการหากเห่ยไปบ้างพอรับได้ครับเพราะมันดูน่าเชื่อถือว่าเป็นตัว จริง แล้วก็ไปแทรกในรายการสุขภาพต่างๆ เวลาจัดรายการก็ให้โฆษกมันต่อยหอยพูดเจื้อยๆไปเถอะ เพ้อเจ้ออะไรก็ได้ ขอให้สนุกและน่าสนใจ แต่อย่าลืม ให้โฆษกพูดชื่อสารที่มีในเครื่องสำอางของเรากรอกหูคนดูไปบ่อยๆ และพอได้จังหวะคนดูเริ่มเคลิ้ม ก็ให้หันมาถามนักวิชาการว่าไอ้สารตัวนี้มันคืออะไร มันดีอย่างไร ตรง นี้ต้องเตี๊ยมกับนักวิชาการทั้งหลายก่อนว่า ไม่ได้จ้างมาโฆษณานะ จ้างมาให้พูดแนะนำความรู้เกี่ยวกับสารต่างๆ ให้ประชาชนรู้จัก เพราะนักวิชาการพวกนี้ บางคนเขามีสภาของเขาดูแลอยู่ ขืนไปโฆษณาการันตีสินค้าสุ่มสี่สุ่มห้าจะถูกลงโทษได้ พวกนี้เขาจะกลัว อันนี้ต้องชี้แจงเขาให้ดี พอนักวิชาการพูดเสร็จ ก็ถึงท่อนฮุคแล้วครับ ให้โฆษก ถามดาราเลยว่าไอ้ที่หน้าตาสวยๆ งามๆ หล่อๆ แบบนี้เขาใช้อะไร ที นี้ก็ให้ดาราที่จ้างมา กระหน่ำพรั่งพรูถึงสารเคมี ยี่ห้อ สินค้า สรรพคุณ เรียกว่าพูดน้ำไหลไฟดับให้คุ้มค่าจ้างไปเลยยิ่งดี พวกนี้เขาเก่งครับ เล่นได้สมบทบาท ส่วนของจริงเขาจะใช้หรือใม่ใช้ ไม่ต้องไปกังวลครับ ไม่มีใครตามมาเช็คหรอก และขอให้จบตรงที่โฆษกมอบของที่ระลึกให้ทั้งนักวิชาการและดารา ไม่ต้องไปหาถ้วยชามสังคโลกหรือพระเครื่องอะไรมามอบนะ เอาไอ้เครื่องสำอางของเรานั่นแหละมอบให้ ไปเลย เหมือนบอกคนดูแบบอ้อมๆ ว่าสุดท้ายก็ไปไหนหรอก ใช้ของเราหมดเลย ทั้งดาราและนักวิชาการ ลืม บอกไปอีกอย่าง พวกอุปกรณ์ประกอบฉาก ต้องหาให้เกี่ยวหรือเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ของเราให้ได้ เช่น รูป สี ข้อความ หรือแม้กระทั่ง ฉากหลัง ภาษาวงการเขาเรียกว่า โฆษณาแฝง อย่าคิดมาก ขนาดละครโทรทัศน์ทุกวันนี้มันยังโฆษณาแฝงมากกว่าเราอีก เป็น ไงครับ สมาชิกเรา เริ่มมีความหวังที่จะร่ำที่จะรวยกันแล้วใช่มั้ยครับ แต่ยังครับ เราต้องป้องกันความเสี่ยงด้วย เพราะเราทำผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ขืนไม่บอกเคล็ดลับสุดท้าย ก็แย่ซิ เราต้องหาทางป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจไว้ด้วย   ขั้นที่ห้า ปฏิบัติการแก้ต่างเพื่อพ้นผิดถ้า ลูกค้ามาโวยวายว่าใช้เครื่องสำอางของเราแล้วแพ้ อย่าตกใจครับ ตั้งสติให้ดี ค่อยๆ บอกเขาว่า ตัวยากำลังออกฤทธิ์ ผิวหน้าผิวหนังกำลังลอกคราบ พยายามอ้างโน้นอ้างนี้ บอกให้ใจเย็นๆ แต่ถ้าลูกค้าดันไป โวยวายร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ อ้างไปเลยว่า รู้ได้อย่างไรว่าเกิดจากเครื่องสำอางของเรา มีพยานพิสูจน์หรือเปล่า หรือเอาสูตรสำเร็จไปอ้างเลยว่า เอาของคนอื่นมาปลอมเพื่อมาเรียกร้องรีดเงินจากบริษัทรึไง แต่ต้องระวังหน่อยนะตอนนี้เขามีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่ทางศาลเขา จะรับเรื่องได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะมีกฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ ปลอดภัย ซึ่งถ้าผู้บริโภคเขาเสียหายก็จะมาร้องให้เราต้องรับภาระพิสูจน์ ดังนั้นเตรียมอะไรในเบื้องต้นให้มันคลุมเครือสับสนไว้ก่อนจะยิ่งปลอดภัยแก่ ตัวเราเอง แต่ ถ้าเจอของแข็ง โดนเจ้าหน้าที่ตรวจจับ ตั้งสติให้ดีนะครับ ถ้าเขาจับผลิตภัณฑ์ของเราได้จากที่อื่น ให้อ้างไปเลยครับว่า ของปลอม เราทำของถูกกฎหมายนะ ไอ้ที่เจ้าหน้าที่จับมาได้เป็นของคนอื่นมาปลอมของเราต่างหาก เขาก็อ้างอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ เห็นมั้ย ไอ้ที่เจ้าหน้าที่เขาประกาศกันโครมๆ ไม่เห็นมีเจ้าของรายไหนยอมรับว่าเป็นของตนเองสักราย อ้างแต่ว่าคนอื่นมาปลอม ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง แต่ไม่เห็นเดือดร้อน ถ้าเป็นสินค้าอื่นๆ เจ้าของเขาให้สินบนนำจับไปแล้ว อ้างไปเถอะอย่าอาย ต้องด้านๆ เข้าไว้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ดันมาจับได้ในสถานที่ของเราเอง ให้เตรียมจ้างคนไว้เลยให้มันรับเป็นเจ้าของสถานที่ไปเลย แล้วเราก็รีบแว่บหนีไป พวกรับจ้างติดคุกแทนน่าจะหาไม่ยากนะ เป็น ไงครับ วันนี้กระผมแนะนำกลเม็ดเด็ดพราย ทลายทะลุทะลวงยอดขายให้แล้วนะครับ ก่อนปิดการประชุมในวันนี้ กระผมก็ขออวยพรให้สมาชิกของเราทุกท่าน ประสบความสำเร็จในธุรกิจอันนี้ อย่าลืมนะครับ “กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติด้วยกัน จงขยันผลิตจำหน่าย” ถึงจะเสี่ยงแต่ก็คุ้มใช่มั้ยครับ สวัสดี หมายเหตุบท ความนี้ไม่ได้มีเจตนาอยากให้ใครไปทำเครื่องสำอางผิดกฎหมายจริงๆ หรอกนะครับ เพียงแต่ต้องการจะบอกความจริงว่า การทำเครื่องสำอางผิดกฎหมายออกมาหลอกลวงขายให้กับผู้บริโภคนั้น มันง่ายมากๆ เจ้าหน้าที่ตรวจจับปราบปรามกันเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่มียุบ มีหยุด กี่ปีๆ เราก็ได้ยินแต่ข่าวเจ้าหน้าที่ตรวจจับเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่มีมูลค่าร่วมๆ สิบล้านบาท เพราะฉะนั้นคงต้องหวังพึ่งพลังของประชาชนนั่นแหละครับ อย่าได้ไปซื้อใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า ไอ้ที่บอกเห็นผลในสามวัน เจ็ดวัน มันผสมสารต้องห้ามทั้งนั้นแหละ หน้าคนนะครับไม่ใช่กระดาษจะได้ขาวได้เหมือนฟอกสี ดังนั้นอย่าหลงไปเป็นเหยื่อของพวกทำเครื่องสำอางผิดกฎหมายเข้าล่ะ แล้วถ้าเจอเบาะแสที่ไหน ก็อย่าลืมช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่นะครับ สงสัยว่าเครื่องสำอางใดอาจมีสารห้ามใช้ โทร.ที่กลุ่มงานเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 02-590-7277 หรือ ตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th/ ข้อหาฐานผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point