ฉบับที่ 250 เฝ้าระวังน้ำขึ้นน้ำลงผ่าน ‎Tide Charts Near Me

        ผู้อ่านหลายท่านที่มีที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ลำคลอง เส้นทางน้ำธรรมชาติ ริมอ่าวไทย ริมฝั่งอันดามัน ฯลฯ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดน้ำขึ้นสูงเกินริมตลิ่งก็จะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนไปตามๆ กัน และไม่เพียงแต่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังอาจสร้างปัญหากับการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้เลย จึงทำได้แต่เพียงเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการรับมืออยู่เสมอ 
        การเกิดน้ำขึ้นน้ำลงนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและลดลงเป็นช่วงๆ ในแต่ละวัน กระแสน้ำมีการเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากผลรวมของแรงโน้มถ่วงที่เกิดจากดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และการหมุนของโลก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น 
        ผลกระทบจากที่กล่าวมาทั้งหมดจะหมดไปถ้าได้รู้ข้อมูลน้ำขึ้นน้ำลงก่อนล่วงหน้าและทันท่วงที ที่จะช่วยทำให้สามารถวางแผนบริหารจัดการชีวิตและทรัพย์สินให้เหมาะสมได้ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินได้ นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเดินทางให้กับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวการผจญภัยกลางแจ้งได้ดีทีเดียว 




        ฉบับนี้จึงพามาแนะนำแอปพลิเคชั่นที่เป็นตัวช่วยเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละวันกัน แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่าTide Charts Near Me เพื่อดูปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลง โดยสามารถเห็นข้อมูลดวงจันทร์ พยากรณ์อากาศ และเรดาร์จับกระแส ซึ่งช่วยให้วางแผนจากเหตุการณ์น้ำขึ้นน้ำลง น้ำทะเลหนุน แถมยังสามารถดูได้ทั้งค่าเป็นรายวันและรายชั่วโมงได้อีกด้วย 
        เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นแล้วให้เปิดการอนุญาตเข้าถึง location หลังจากนั้นแอปพลิเคชั่นจะขึ้นสถานีที่ใกล้ที่สุด และมีให้เลือกสถานีเพิ่มเติมที่ถัดออกไป โดยสามารถเลือกกดไปที่ภาพสัญลักษณ์ 3 ขีดมุมบนซ้ายเพื่อเลือก เมื่อได้สถานีที่ต้องการแล้วจะปรากฎข้อมูลในวันปัจจุบันว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร มีบอกวันข้างขึ้นข้างแรมในสัญลักษณ์เป็นรูปพระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์เสี้ยว 
        การดูน้ำขึ้นน้ำลงจะนำเสนอในรูปแบบของกราฟเส้นตามช่วงเวลาและมีสรุปถึงเวลาที่น้ำจะขึ้นมากที่สุดและเวลาที่น้ำลงมากที่สุด รวมทั้งแจ้งตัวเลขความสูงของระดับน้ำทะเล และเมื่อต้องการดูข้อมูลย้อนหลังหรือล่วงหน้าก็ให้สไลด์หน้าจอไปด้านซ้ายและด้านขวาตามลำดับ แต่ถ้าสไลด์หน้าจอลง แอปพลิเคชั่นจะปรากฎข้อมูลเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก และเวลาพระจันทร์ขึ้นและตกด้วย 
        สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการดูภาพในลักษณะกราฟเส้นสามารถเปลี่ยนไปดูแบบสรุปรวมให้ได้ ซึ่งจะสรุปความสูงของระดับน้ำทะเลที่สูงและต่ำที่สุดของแต่ละวันไว้ โดยกดเลือกเมนูที่สองด้านล่าง ทั้งนี้การใช้งานแอปพลิเคชั่น Tide Charts Near Me สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเข้าอินเทอร์เน็ต 
        หวังว่าแอปพลิเคชั่นนี้จะมีประโยชน์และถูกใจสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและผู้ที่ชอบท่องเที่ยวได้นะคะ

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค แอปพลิเคชั่น Tide Charts Near Me

ฉบับที่ 279 Green2Get ผู้ช่วยจัดการขยะ

        เมื่อสภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศในระยะยาว โดยปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้ประชาชนบนโลกได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งผ่านสภาพอากาศที่แปรปรวน อย่างประเทศไทยที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด อากาศร้อนขึ้น หากเมื่อภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงต่อไปอย่างนี้ ทุกประเทศจะพบความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีก         สถานการณ์เหล่านี้เกิดจากการกระทำของประชาชนบนโลกที่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ การเปิดเครื่องปรับอากาศ การเปิดไฟ การใช้น้ำมันจากการขับรถ การใช้กระดาษ การใช้พลาสติกจากการบริโภค เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรเทาหรือคงที่ปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนได้ สิ่งที่สำคัญนั่นคือ การที่ทุกคนร่วมมือกันเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น         ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยทำให้บรรเทาปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนได้ โดยการเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากการลด ละ เลิก และใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าสูงสุดแล้ว การตระหนักและใส่ใจในการแยกขยะก็เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประโยชน์และได้ผลดีต่อสภาพแวดล้อมได้เช่นกัน         มารู้จักผู้ช่วยจัดการขยะในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด https://green2get.com หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อว่า “กรีนทูเก็ท”(Green2Get) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้นำกลับมาใช้ใหม่ หรือผู้รีไซเคิลได้ โดยภายในแอปพลิเคชันจะประกอบไปด้วย หมวดค้นหาวัสดุรีไซเคิล สินค้า และบาร์โค้ด ให้ผู้ใช้งานสามารถสแกนขยะของตนเองเพื่อคัดแยกได้ หมวดฐานข้อมูลวัสดุรีไซเคิล มีขยะหลากหลายประเภทที่ผู้รับรีไซเคิลรับซื้อ และหมวดแนะนำจุดรับและผู้รับวัสดุรีไซเคิล จะมีให้สแกนบาร์โค้ดเพื่อรับคำแนะนำการคัดแยกขยะ รวมถึงการคัดแยกที่ผู้บริโภคสามารถเพิ่มข้อมูลเองได้         วิธีการใช้งานแอปพลิเคชัน เริ่มจากการสแกนบาร์โค้ดบนสินค้า แล้วกดบันทึกข้อมูลการแยกขยะแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีคู่มือการแยกขยะชนิดต่างๆ จากฐานข้อมูลที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา เมื่อรวบรวมขยะได้ถึงปริมาณที่เพียงพอหรือที่เห็นว่าควรส่งต่อแล้ว ในแอปพลิเคชันจะให้เลือกส่งต่อในรูปแบบขายหรือรูปแบบให้ เพื่อส่งต่อให้กับผู้รับใกล้เคียงได้  โดยรองรับผู้รับวัสดุรีไซเคิลทุกประเภท ตั้งแต่บุคคล ร้านค้า ไปจนถึงโรงงาน อีกทั้งสามารถส่งต่อได้แม้มีปริมาณน้อย เมื่อได้ผู้รับวัสดุรีไซเคิลที่ต้องการแล้ว ระบบของแอปพลิเคชันจะแจ้งช่องทางการติดต่อหรือสถานที่รับส่งวัสดุรีไซเคิล ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย         มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะผ่านแอปพลิเคชัน “กรีนทูเก็ท”(Green2Get) เพื่อช่วยกันรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ลดปรากฎการณ์สภาวะโลกร้อน จากสองมือของพวกเรากัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ฮีลใจเพิ่มพลังผ่านแอปพลิเคชัน

        ฉบับนี้ขอแนะนำคำว่า “ภาวะหมดไฟ” เป็นความรู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังจิตใจ ไม่มีกำลังใจ ไม่อยากทำอะไร ฯลฯ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน จากครอบครัว จากสังคมได้ทั้งสิ้น ภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน หลายคนที่เกิดภาวะหมดไฟจะพยายามหาทางออกในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ทานอาหารอร่อยๆ นั่งเล่นตามร้านเบเกอรี่ เดินเล่นตามสถานที่ต่างๆ ไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ช้อปปิ้ง ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นต้น         เมื่อจิตใจหมดพลัง การทำความเข้าใจและให้กำลังใจกับตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น ครั้งนี้จึงมาแนะนำการฮีลใจผ่านแอปพลิเคชัน 2 แอปพลิเคชัน ดังนี้ อันแรกคือ แอปพลิเคชัน WithU ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งต่อความรู้สึกดีๆ ผ่านตัวอักษร ทำให้เกิดพลังบวกให้กับผู้อ่าน ลดความเครียดความวิตกกังวล พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมและให้กำลังใจในเวลาท้อแท้ได้เป็นอย่างดี ขอยกตัวอย่างข้อความฮีลใจในแอปพลิเคชันนี้กันสักหน่อย             “วันนี้มันก็แค่วันแย่ๆ วันนึง เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เช้าแล้วนะ”             “วันนี้เธอเจออะไรมาบ้าง เหนื่อยมั๊ย สู้ๆน้าา กอดๆคนเก่ง”             “ขอให้ฝนหยุดตกในใจเธอ แล้วมีสายรุ้งเข้ามาแทนนะ”         ประโยคอาจจะดูเลี่ยนๆ หน่อย แต่เชื่อเถอะว่าสำหรับผู้ที่กำลังต้องการกำลังใจและเหนื่อยล้ากับชีวิต อ่านแล้วจะรู้สึกดีและมีพลังเดินต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อการฮีลใจได้อย่างมาก         อันที่สอง แอปพลิเคชัน MOODA เป็นแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งรูปแบบในการบันทึกจะผ่านไอคอนสีหน้าตามอารมณ์หรือความรู้สึกแบบต่างๆ เพื่อแทนอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละวัน มาพร้อมกับสีของไอคอนที่แตกต่างกันออกไปตามความรู้สึกนั้นๆ        การใช้งานภายในแอปพลิเคชัน MOODA จะเริ่มจากการกดมีสัญลักษณ์เครื่องหมายบวกด้านล่าง จากนั้นให้เลือกไอคอนสีหน้าตามอารมณ์ความรู้สึกในวันนั้น และเลือกวันเดือนปีที่ต้องการบันทึก ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการใส่ข้อความตามความรู้สึกที่จะบอกให้ตัวเองได้รับรู้และเก็บบันทึกไว้อ่านในอนาคต และกดบันทึก หลังจากนั้นไอคอนจะปรากฎบนปฏิทิน         เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันบันทึกอารมณ์ความรู้สึกทุกวัน จะช่วยทำให้เข้าใจตนเองว่าอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะช่วยในการปรับอารมณ์ได้ดีมากขึ้น         การได้อ่านข้อความฮีลใจและการได้ระบายบอกตนเองให้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะลดความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่มากก็น้อย ลองมารักษาใจผ่านแอปพลิเคชันWithU และแอปพลิเคชัน MOODA กัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เขียนคำให้ถูกต้องกับราชบัณฑิตยสถาน

        การทำงานในแต่ละอาชีพ บางครั้งจำเป็นต้องใช้เอกสารในการดำเนินเรื่อง อาจจะอยู่ในรูปแบบบันทึกข้อความ โครงการ ผลการดำเนินการ เอกสารการขออนุมัติ เป็นต้น ดังนั้นการเขียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น นอกจากจะต้องเล่าเรื่องความเป็นมาได้แล้ว การเขียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการเขียนเอกสารสำคัญย่อมจำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้องเสมอ         เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนเอกสารเหล่านั้น หลายคนน่าจะเคยสะดุดกับคำบางคำ ที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องเขียนให้ถูกต้องอย่างไร ยิ่งถ้าอยู่ในแผนกที่ต้องให้ความสำคัญกับการเขียนและการสะกดคำที่ถูกต้องแล้วนั้น ยิ่งจำเป็นต้องค้นหาและตรวจสอบคำต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการมีตัวช่วยที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ น่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้ดี         เมื่อต้องการค้นหาและตรวจสอบคำผิดถูก ทุกคนจะนึกถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบคำถูกผิดฉบับออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ที่ https://dictionary.orst.go.th/          อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยีจะถูกนำมาย่อในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เล็งเห็นความสำคัญและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ที่มีชื่อว่า “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” และ “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว         การใช้งานของทั้ง 2 แอปพลิเคชันไม่มีความซ้ำซ้อน เพียงแค่เข้าไปยังหมวดที่ต้องการและค้นหาคำศัพท์เท่านั้น โดยจะอธิบายความแตกต่างของหมวดภายในแอปพลิเคชัน ดังนี้         “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดค้นหาคำศัพท์ หมวดค้นตามหมวดอักษร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ                 “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดอ่านอย่างไร หมวดเขียนอย่างไร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ         ทั้งนี้ หมวดบุ๊กมาร์ก เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้บันทึกคำศัพท์ที่ค้นหาบ่อยหรือมีความพิเศษที่ต้องการเก็บไว้ และที่น่าสนใจ คือ หมวดข้อมูลอื่นๆ ในแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะมีข้อมูลการสอนอ่านพยัญชนะ ตัวเลขบอกเวลา เลขหนังสือราชการ การอ่านเครื่องหมายต่างๆ ฯลฯ อีกด้วย         เพียงแค่มีแอปพลิเคชันของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาเป็นตัวช่วย การสะกดคำให้ถูกต้องก็จะไม่ยากอีกต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 SAANSOOK สานสุขกายสุขใจ

        ยุคสมัยเปลี่ยนไปขนาดไหน โลกจะหมุนวันเวลาไปนานมากเท่าไร ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น นั่นคือ การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือประโยคที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธประโยคนี้ได้จริงๆ      การจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ ต้องดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ไปจนถึงการรักษาสุขภาพใจให้มีความสุข โดยฉบับนี้มาแนะนำตัวช่วยในการควบคุมดูแลเพื่อวางแผนสุขภาพอย่างใกล้ชิดบนสมาร์ทโฟนที่สามารถพกพาติดตัวได้ตลอดเวลา อย่างแอปพลิเคชัน SAANSOOK ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         มารู้จักแอปพลิเคชัน “SAANSOOK” หรือ “สานสุข” กัน โดยพัฒนาขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และภาคีเครือข่าย แค่ชื่อก็รู้ได้เลยว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มาช่วยให้การดำเนินชีวิตที่เคร่งเครียด ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งแอปฯ นี้จะมาเป็นผู้ช่วยที่จะทำให้มองเห็นสถานการณ์สุขภาพปัจจุบันของผู้ใช้แอปฯ ชัดเจนขึ้น และคอยวางแผน บริหารจัดการ และแนะนำด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพใจให้มีความผ่อนคลาย ออกมาในรูปแบบของข้อมูลตัวเลขและเชื่อถือได้         เบื้องต้นแอปพลิเคชันจะให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเพื่อเก็บเป็นประวัติ ได้แก่ วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วนรอบเอว และสอบถามเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมการออกกำลังกาย โรคประจำตัว เป้าหมายสุขภาพที่ให้เลือก ได้แก่ เป้าหมายการลดน้ำหนัก เป้าหมายในการรักษาน้ำหนัก หรือเป้าหมายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ โดยแอปพลิเคชันจะให้กรอกตัวเลขเพื่อกำหนดเป้าหมายต่างๆ เมื่อกรอกเสร็จสิ้นจะเข้าสู่หน้าหลักที่มีหมวดสำคัญดังนี้ หมวดภาพรวมสุขภาพ เป็นหมวดรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของพลังงาน ปริมาณการกินอาหารและน้ำ ชั่วโมงการนอนพักผ่อน และหมวดแนะนำเพื่อคุณ เป็นหมวดที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อแนะนำการกิน การนอน การออกกำลังกาย ซึ่งในหมวดนี้เหมาะสำหรับสายควบคุมน้ำหนักอย่างมาก         ในส่วนของการบันทึกการกินจะอยู่ในหมวดภาพรวมสุขภาพ โดยจะให้บันทึกมื้ออาหารในแต่ละมื้อ จากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารแต่ละประเภทนั้นให้เห็นชัดเจนว่ามีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไฟเบอร์ น้ำตาล และโซเดียม ในปริมาณเท่าใด การคำนวณแคลอรี่และคำนวณข้อมูลเมนูอาหารเหล่านี้ จะช่วยทำให้ผู้ใช้รู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้มีคุณภาพได้         นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกการดื่มน้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนการดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอ และบันทึกความผ่อนคลาย เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการรักษาดูแลและเยียวยาจิตใจให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีอย่างสม่ำเสมอ         ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAANSOOK เพื่อสานสุขทั้งกายและใจ กันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)