ฉบับที่ 233 รู้เท่าทันการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด

        ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน การรักษามาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกทางหน้าท้องหรือด้วยการส่องกล้องเป็นการรักษาหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีใช้ยาปฏิชีวนะฉีดทางหลอดเลือดดำแทนการผ่าตัด ซึ่งให้ผลดีได้เช่นเดียวกับการผ่าตัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องกับการส่องกล้อง         ไส้ติ่งอักเสบเป็นความเจ็บป่วยที่พบบ่อยในอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ต้องทำการผ่าตัด มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ประมาณว่า เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4 รายจาก 1,000 ราย ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งออก           การตัดไส้ติ่งออกเป็นการรักษาหลัก อย่างไรก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็เกิดขึ้นได้ จึงเกิดนวัตกรรมในการผ่าตัดทางหน้าท้องเป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งพบว่า การตัดไส้ติ่งด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีแบบเดิม การต้องนอนพักในโรงพยาบาลสั้นกว่า การดมยาสลบน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่าและสามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้เร็วกว่า การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยกว่า แต่ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันอาจสูงกว่า         การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องกับการส่องกล้องจึงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั้งสองวิธีที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะต้องใช้อุปกรณ์เลนส์ที่ใช้ส่อง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีมาตรฐานหลักของการรักษา การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการไม่ต้องผ่าตัด         ห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกับการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะหายภายใน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญ (กลับมาเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้ง) ภายในหนึ่งปี ไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญและเล็กน้อยในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่าหรือด้อยกว่าการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากคุณภาพของการวิจัยยังมีข้อจำกัด          การทบทวนงานวิจัยของ Pubmed ก็พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาไส้ติ่งอักเสบก็เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และไม่ทำให้เกิดการแตกของไส้ติ่งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเพิ่มมากขึ้น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยในจะไม่ได้ผลร้อยละ 8 ของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ และอาจกลับโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยการเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้งร้อยละ 20         ดังนั้น การผ่าตัดไส้ติ่งจึงยังเป็นวิธีการมาตรฐานหลักในการรักษาไส้ติ่งอักเสบ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นอาจใช้ได้ดีในไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และในผู้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ควรตัดไส้ติ่งออกก่อนที่จะมีอาการหรือไม่         ยังไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ที่ให้มีการตัดไส้ติ่งออกเพื่อป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบ เพราะการผ่าตัดแม้ว่าจะปลอดภัย แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงได้

อ่านเพิ่มเติม >