ฉบับที่ 178 สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้าง

หลายครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ติดป้ายว่า “ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน” ซึ่งบางคนอาจจะโชคดีที่ได้ของมีคุณภาพไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมสินค้าชิ้นนั้นหรือแก้ปัญหาด้วยการซื้อของใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างไรก็ตามไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่มีสิทธิจะติดป้ายเอาเปรียบดังกล่าว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณภา ต้องการซื้อกล้องวงจรปิด ที่มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ไปเดินดูที่ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ก็พบร้านที่ถูกใจ พนักงานขายแจ้งว่ามีกล้องวงจรปิดอย่างที่ต้องการ จึงตกลงซื้อมา ในราคา 1,450 บาท อย่างไรก็ตามในวันนั้น คุณภาต้องรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อ พร้อมกับที่ทางร้านแจ้งว่าคอมพิวเตอร์สำหรับไว้ใช้ทดสอบการทำงานของกล้องเสีย จึงทำให้เธอไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกล้องให้ครบถ้วนเมื่อกลับมาทดสอบด้วยตนเองที่บ้านจึงพบว่า กล้องดังกล่าวมีความละเอียดเพียง 3 แสนพิกเซลเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพลิกดูใบเสร็จรับเงินก็พบข้อความว่า สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน แต่มีการรับประกัน 1 ปี เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำก่อนเบื้องต้น   แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจากับทางร้านก่อน พร้อมส่งหลักฐานการชำระเงินและรูปสินค้ามาให้ ซึ่งผู้ร้องก็ได้ติดต่อกลับไปที่ร้าน ตามนามบัตรที่ร้านเคยให้ไว้ โดยทางร้านแจ้งว่า ไม่มีกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดเกิน 3 แสนพิกเซล อาจมีการเข้าผิดระหว่างผู้ร้องกับพนักงานขายหน้าร้าน อย่างไรก็ตามให้ผู้ร้องกลับไปที่ร้านเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งภายหลังการเจรจาทางร้านก็ยินดีรับคืนสินค้า พร้อมคืนเงินให้เต็มจำนวน เพราะผู้ร้องมีหลักฐานการชำระเงินจากทางร้านนับว่าผู้ร้องโชคดีที่ยังเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ เพราะหากเราไม่มีเอกสารอะไรไปยืนยัน ก็อาจต้องเสียเงินฟรีให้กับสินค้าที่ไม่ต้องการ และยังเปลี่ยนคืนไม่ได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อสินค้าที่ติดป้ายเช่นนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมา โดยสังเกตรายละเอียดเบื้องต้นต่างๆ คือ1. ป้ายราคาที่ชัดเจน 2. สินค้านั้นต้องสามารถจับต้อง พิสูจน์คุณภาพด้วยมือและตาของผู้ซื้อก่อนได้ หรือให้ลองได้ 3. เป็นสินค้าที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าอะไหล่ข้างใน มีประสิทธิภาพหรือเสื่อมภาพมากน้อยแค่ไหนแล้ว เช่น กรณีสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากผู้ขายติดป้ายห้ามเปลี่ยนคืน อย่างน้อยก็ต้องมีป้ายการรับประกันไว้ ทั้งนี้ หากเราโดนหลอกขายของคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับป้ายประกาศโฆษณา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะแสดงถึงเจตนาของร้านค้าที่จงใจไม่แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน อาจมีเจตนาที่จะหลอกลวงเรา หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาหลอกให้ซื้อด้วยวิธีการต่างๆ นั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >