ฉบับที่ 201 เรื่องราวของน้ำไม่ธรรมดา

ผู้เขียนเคยอ่านบทนำของอาจารย์ประเวศ วะสี ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับหนึ่งซึ่งแนะนำว่า หลังออกกำลังกายเสียเหงื่อนั้นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกับความรู้ที่เรียนมาในวิชาสรีรวิทยาที่กล่าวประมาณว่า ถ้าไตเราอยู่ในสภาพปรกติ ไตนั้นจะเป็นตัวปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายเอง การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นเป็นแค่ช่วยเร่งการปรับระบบให้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจมีประโยชน์บ้างในแง่การป้องกันตะคริวของผู้ออกกำลังกายหนัก อย่างไรก็ดีการดื่มเครื่องเกลือแร่นั้น ต้องระวังไม่ให้ได้รับเกลือแร่มากเกิน เพราะอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักในการที่ต้องขับเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและ/หรือความดันโลหิตสูง เพราะในการออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อออกนั้น จะเกิดการขับเกลือต่างๆ ออกจากร่างกายโดยผ่านทางต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานของไตอีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวจึงควรดื่มแต่น้ำเปล่าหลังออกกำลังกายน่าจะดีที่สุด พอมาถึงปัจจุบันในปีที่เราหวังเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ผู้เขียนได้อ่านข้อความในจดหมายอีเล็คทรอนิคของ Time Health เรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? เขียนโดย Alice Park เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017 ซึ่งได้เอ่ยถึงประโยชน์ของน้ำเปล่าดังเช่นที่อาจารย์ประเวศกล่าวว่า เป็นของเหลวที่เหมาะสุดหลังการออกกำลังกาย และให้ประเด็นเพิ่มว่า การดื่มน้ำเปล่านั้นเป็นการเลี่ยงการได้รับน้ำตาลและสารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งเครื่องดื่มอื่น(ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า) เพื่อให้มีรสชาติต่าง ๆ บทความของ Alice Park ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อน้ำเปล่านั้นดีต่อสุขภาพแล้ว การเพิ่มก๊าซไฮโดรเจนลงไปในน้ำดื่มนั้นจะช่วยให้มีผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันได้มีคนสมองใสนำเอาน้ำเปล่ามาเติมก๊าซไฮโดรเจนบรรจุกระป๋องขาย โดยอวดอ้างว่า มีคุณความดีต่าง ๆ นานา อีกทั้งผู้ที่เคยไปทัศนาจรในประเทศญี่ปุ่นอาจได้พบโฆษณาว่า มีการผสมก๊าซไฮโดรเจนในบ่ออาบน้ำของร้านทำสปาในหลายพื้นที่ก๊าซไฮโดรเจนผสมน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ถ้าท่านผู้อ่านลองใช้วลีต่อไปนี้คือ hydrogen fortified drinking water ใน google ก็จะพบบทความจากเว็บต่างๆ ซึ่งเบื่อจะฟันธงว่า จริงหรือไม่ เพราะมันต้องไตร่ตรองกันมากๆ หน่อยเช่น ผู้เขียนขอยกบทความเรื่อง Effects of drinking hydrogen-rich water on the quality of life of patients treated with radiotherapy for liver tumors ซึ่งเป็นบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Ki-Mun Kang และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Medical Gas Research เมื่อปี 2011 (ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาว์นโหลดมาอ่านได้ฟรี) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเครือของ Springer ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นชินว่า บทความวิจัยที่มาจากเครือสำนักพิมพ์นี้(ควรจะ) ผ่านการคัดกรองแล้วระดับหนึ่ง จากการเข้าไปหาดูข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร Medical Gas Research นั้นพบว่า เพิ่งเปลี่ยนสำนักพิมพ์ในเดือน พฤศจิกายน 2015 จาก BioMed Central ไปเป็น Medknow Publications ผู้เขียนเข้าใจว่า สำนักพิมพ์หลังนี้คงยังอยู่ในเครือข่ายของ Springer  ซึ่งปัจจุบันได้หันมาทำธุรกิจด้านวารสาร Online เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง โดยสรุปของบทความนี้กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ตับ ดื่มน้ำที่มีการเติมก๊าซไฮโดรเจนเข้มข้นนั้นพบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดตัวบ่งชี้การออกซิเดชั่นหลังการรับการฉายรังสี แต่อย่างไรก็ตามต้องฟังหูไว้หูแม้จะมีการประกาศที่ท้ายบทความของเหล่าผู้นิพนธ์ (ทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่น) ในทำนองว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตามคราวนี้ย้อนกลับมาพิจารณางานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะนั้น เราสามารถพบว่า มีความน่าสงสัยในงานวิจัยนี้หลายประการ โดยเฉพาะวิธีการทำน้ำที่มีก๊าซไฮโดรเจนผสมนั้น เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องชาวญี่ปุ่นหลายคนใช้ในการทำน้ำชนิดนี้ขาย เชื่อได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญานคิดดู ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีวิจารณญานไม่พอ เพราะลืมแล้วว่าครูสอนเคมีกล่าวว่าอย่างไร ก็ขอให้ไปถามนักเคมีดูว่า น่าหัวเราะหรือไม่ เนื่องจากผู้วิจัยได้ใช้วิธีแยกน้ำด้วยไฟฟ้าให้ได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนออกมาผสมกับน้ำ โดยใช้แท่งโลหะแมกนีเซียมเป็นขั้วอิเล็คโทรด ใครก็ตามที่เรียนระดับมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์คงเคยทำการทดลองดังกล่าวมาแล้ว ผลที่ได้จากการให้กระแสไฟฟ้าชนิดตรงผ่านอิเล็คโทรดลงน้ำนั้น ทำให้โมเลกุลน้ำแตกตัวเป็นก๊าซไฮโดรเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วลบ ส่วนก๊าซออกซิเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วบวก ก๊าซทั้งสองจะถูกเก็บในภาชนะด้วยวิธีการแทนที่น้ำ เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนนั้นละลายน้ำน้อยมากค่าการละลายน้ำของไฮโดรเจนคือ 0.00016 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม ส่วนของออกซิเจนคือ 0.0043 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม (ข้อมูลจาก www.wiredchemist.com/chemistry/data/solubilities-gases) ดังนั้นในบทความงานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะจึงทำเป็นลืมบอกว่า น้ำที่ให้คนไข้ดื่มนั้นมีไฮโดรเจนเท่าไร(เพราะตัวเลขมันคงน้อยมาก) และทำนองเดียวกันใครก็ตามที่ไปซื้อน้ำกระป๋องที่ผสมก๊าซไฮโดรเจนมาดื่มคงต้องยอมรับในการไม่รู้ว่า ในน้ำนั้นมีก๊าซไฮโดรเจนเท่าไร ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นว่า มีงานวิจัยในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้กล่าวถึงก๊าซไฮโดรเจนว่าบำบัดโรคใดได้บ้างหรือไม่ ก็ไม่พบสักบทความวิจัย ยกเว้นผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Pharmacology เมื่อปี 2015 ที่กล่าวเป็นเชิงว่า เมื่อให้คนไข้กิน Acarbose ซึ่งเป็นสารต้านการย่อยแป้ง(ทำหน้าที่เป็นยาต้านเบาหวานชนิดที่ 2) แล้วทำให้เกิดการสร้างก๊าซไฮโดรเจนในร่างกาย ซึ่งมีผลบางประการเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าใครกินอาหารแล้วเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อนั้นจะพบว่า เป็นเพราะมีระดับก๊าซไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นในทางเดินอาหารแล้วรั่วออกมาทางลมหายใจ ซึ่งรวมถึงลมที่ผายออกมาด้วยประเด็นหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของเหล่านักเขียนบนอินเทอร์เน็ตคือ การพยายามอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความสามารถในการรีดิวส์สารที่มีสถานะออกซิไดซ์ เช่น อนุมูลอิสระ ได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไฮโดรเจนที่จะทำงานลักษณะนี้ได้นั้นต้องเป็นไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์บางชนิดในผักและผลไม้ ซึ่งระหว่างออกฤทธิ์นั้นต้องอาศัยเอ็นซัมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเป็นตัวช่วย เพราะอยู่ๆ สารเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เอง สำหรับไฮโดรเจนซึ่งอยู่ในรูปของก๊าซนั้น ถ้าจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวส์ในหลอดทดลองได้ ก็ต้องมีแร่ธาตุบางชนิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วกระบวนนี้ไม่น่าเกิดได้ในเซลล์Alice Park ผู้เขียนบทความเรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? ได้เอ่ยชื่อของชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Dr. Nicholas Perricone ซึ่งมีอาชีพขายน้ำยี่ห้อ Dr. Perricone Hydrogen Water ในราคากระป๋องละ 3 เหรียญดอลล่าร์อเมริกัน มีข่าวกล่าวว่า Dr. Perricone เคยใช้สินค้าของตนเองในการ (อ้างว่า) ช่วยให้พลังงานของเซลล์ผิวหนังของอาสาสมัครดีขึ้น แต่ตัว Dr. Perricone เองก็ตอบไม่ได้ว่า ไฮโดรเจนในน้ำนั้นไปออกฤทธิ์อีท่าไหนในร่างกายมนุษย์ ได้แต่อ้อมแอ้มว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับเอ็นซัมต้านออกซิเดชั่น อย่างไรก็ตามที่แน่ ๆ คือ คนประเภท Dr. Perricone นั้นรวยแบบไม่รู้เรื่องไปหลายคน ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยบางคนในอนาคตไม่ไกลนี้

อ่านเพิ่มเติม >