ฉบับที่ 144 ไฟฟ้าตก แต่ต้องจ่ายค่าไฟแพง

พอดีผู้เขียนได้ทำหน้าเป็นประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงาน(คพข) เขต 10 ราชบุรี  (ตาม พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550)  มีจังหวัดในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ระนอง,ชุมพร,ประจวบ,เพชรบุรี,สมุทรสงครามและราชบุรี  ภารกิจที่สำคัญคือการรับและแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน   มีเรื่องร้องเรียนมามากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องถูกเก็บค่าต่อเชื่อมมิเตอร์ 107 บาท ทั้งที่ไม่ได้ถูกตัดไฟ(ไฟไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) การถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าราคาไม่เป็นธรรม ถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าแต่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจคือเรื่องร้องเรียนกรณีไฟฟ้าตก(ตกติดต่อกันเกิน 6 เดือนแล้ว)  เปิดไฟฟ้าไม่ค่อยติดแต่บิลค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติ เกือบ 2 เท่า(หลักฐานจากประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน)ผู้ร้องแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านตกมาก  ตกขนาดไฟฟ้าทุกดวงที่บ้านดับหมด ดูทีวีได้อย่างเดียว  เข้าห้องน้ำก็ต้องใช้เทียน จนอ่างน้ำจะเป็นกระถางน้ำมนต์อยู่แล้วเพราะมีน้ำตาเทียนลอยอยู่เต็ม   หรือไม่ก็ต้องกระเสือกกระสนไปซื้อไฟฟ้าฉุกเฉินมาใช้ในเวลากลางคืน  เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งตู้เย็น  พัดลม หม้อหุงข้าว  เสียหมดต้องซื้อใหม่ยกชุด  แต่พอบิลค่าไฟฟ้ามาเก็บถึงกับเข่าอ่อน จากเดิมที่เคยเสียอยู่  1,300 บาท  กลับมีตัวเลขถึง 2,700  บาทเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา  คพข. ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าจังหวัด  ไฟฟ้าได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตัวเลขที่จดว่าตรงกันไหม  ผลัดกันไปหลายชุด  ปรากฏว่าตัวเลขในบิลเรียกเก็บกับมิเตอร์ตรงกัน  ผู้ใช้ไฟฟ้าก็ไม่ยอมและได้นำคลิปวิดีโอมาให้ดูว่า  เขาเปิดไฟฟ้าทั้งบ้าน  ทุกดวงมีการสตาร์ทไฟแดงๆ แต่ไม่ติด พร้อมคำถาม ไฟฟ้าไม่ได้ใช้ทำไมต้องจ่ายค่าไฟแพงด้วย และยืนยันว่าจะยอมจ่ายค่าไฟฟ้า ตามตัวเลขที่เคยใช้เท่านั้น  ส่วนที่เกินไปไม่ใช่ความผิดของผู้ใช้ไฟ ดังนั้นไม่ควรโยนภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ไฟฟ้าได้นำไปหารือในคณะกรรมการเพราะไม่เคยมีใครมาร้องเรียนในประเด็นอย่างนี้  สรุปมาคร่าวๆ คือกำลังไฟฟ้า โวลต์กับแอมแปร์มาไม่เท่ากันทำให้ไฟฟ้าสตาร์ทตลอดเวลา  แต่ไฟฟ้าไม่ติด  และการที่ไฟฟ้าสตาร์ทตลอด มิเตอร์จะเดินเร็วทำให้ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปกติ   แต่การไฟฟ้าบอกว่าต้องพิจารณาก่อนเพราะไฟฟ้าจังหวัดไม่มีอำนาจตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าให้ใคร   ต้องเก็บตามตัวเลขที่ขึ้นตามมิเตอร์  ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใช้ไฟยืนยันว่าไม่ยอมจ่าย  ที่สำคัญในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนกันอยู่  ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเตือนให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้า  ไม่อย่างนั้นอาจถูกตัดไฟฟ้า  หรือเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าก็โทรมาให้ไปจ่ายค่าไฟก่อนได้ไหมไม่อย่างนั้นฝ่ายบัญชีไม่ผ่านตัวชี้วัดบ้าง  หรือไม่ก็บอกว่าหากผู้ร้องไม่ยอมจ่ายส่วนต่างที่เกินขึ้นมา เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าต้องช่วยกันออกเงินแทน(ฟังดูเหมือนผู้ร้องเรียนเป็นมารร้ายยังไงก็ไม่รู้)ขณะเขียนเรื่องนี้ เหตุการณ์ยังไม่จบ แต่ก็นำมาเป็นกรณีศึกษา หากท่านผู้อ่านท่านใดเจอเรื่องแบบนี้สามารถร้องเรียนไปได้ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ชั้น 15 ตึกจามจุรีสแควร์ หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต(สกพ.) ซึ่งมีอยู่ 13 เขตทั่วประเทศ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 ร้องการไฟฟ้า กระแสไฟตกทำเครื่องไฟฟ้าเจ๊ง

ชาวบ้านลำลูกกา ปทุมธานี ลงชื่อกว่าครึ่งร้อย เรียกร้องการไฟฟ้าลำลูกกาแก้ไขปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอ ไฟตกบ่อยครั้งทำเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ๊งกันระนาว  ร้องไปร่วม 5 เดือนไม่มีความคืบหน้าเมื่อเดือนมกราคม 2555 คุณอาทิตยาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระแสไฟฟ้าตกในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ถึงขั้นต้องไปขอให้ตำรวจช่วยลงบันทึกประจำวันเนื่องจากกระแสไฟตกทำให้จอคอมพิวเตอร์ขนาด 18 นิ้วได้รับความเสียหาย และได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 50 รายชื่อไปแจ้งให้การไฟฟ้าลำลูกกาให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่าต้องรอหม้อแปลงไฟฟ้า จนถึงเดือนมกราคม 2555 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาเกี่ยวกับการไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การประกอบการของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วแต่กรณีพื้นที่ และทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะมีสำนักงานประจำตามเขตต่างๆ กรณีนี้เกิดขึ้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จึงอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 7 และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา โดยระบุไปในจดหมายว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 4 หมู่จากปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอและมีกระแสไฟฟ้าตกเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00-23.00 น. ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลังทำหนังสือร้องเรียนไป การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา ได้ส่งพนักงานเข้าไปตรวจสอบและได้วัดโหลดปรับปรุงเพิ่มขนาดหม้อแปลงจาก 100 กิโลโวลท์แอมแปร์ เพิ่มเป็น 160 กิโลโวลท์แอมแปร์ และตัดต่อจุดต่อสายใหม่พร้อมจัดโหลดให้สมดุลได้ 220 โวลท์ทุกเฟส หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ร้องเรียนเพื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพของไฟฟ้าได้รับคำตอบว่าใช้ไฟฟ้าได้ปกติแล้ว ในอนาคตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลำลูกกา มีแผนงานปรับปรุงเพิ่ม โดยจะติดตั้งหม้อแปลงเสริมฝั่งตะวันออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >