สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสต่างแดน

  เมื่อเรือ “ไม่สำราญ”บรรดาผู้โดยสารเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ล่มอยู่นอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลีกำลังรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้เหมาะสมกับประสบการณ์ “เรือไม่สำราญ” ที่ตนเองได้รับ เบื้องต้นนั้น บริษัทประกาศว่าจะคืนเงินค่าตั๋วให้ พร้อมกับคูปองส่วนลด 30% สำหรับการเดินทางครั้งต่อไป(ถ้ายังจะกล้าไปด้วยกันอีก) แต่นั่นไม่ดีพอ บรรดาองค์กรผู้บริโภคของอิตาลี นำโดยองค์กร “อัลโตรคอนซูโม” ไปต่อรองการชดเชยได้ดีขึ้นอีกระดับ นั่นคือผู้โดยสารทุกคน(รวมถึงเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียค่าตั๋ว) จะต้องได้รับค่าชดเชยคนละ 11,000 ยูโร(ประมาณ 440,000 บาท) และได้รับคืนเงินค่าตั๋ว ค่าภาษีท่าเรือ ค่าเดินทางเพื่อมาขึ้นเรือ(แล้วแต่ว่าใครขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมา) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางกลับบ้าน(ด้วยความผิดหวัง) นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดที่ผู้โดยสารใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่บนเรือ(เช่น การใช้บริการสปา บาร์เครื่องดื่ม หรือเล่นพนันในคาสิโนบนเรือ เป็นต้น)  รวมถึงจัดส่งข้าวของทั้งหมดคืนให้กับผู้โดยสารถึงบ้าน โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย บริษัทคาร์นิวาล คอร์ป เขาบอกว่าตกลงตามนั้น โดยผู้โดยสารจะได้สิทธินั้น 7 วันหลังลงนามในสัญญา แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภค โคดาคอนส์ เขาประกาศชักชวนบรรดาผู้โดยสารที่เซ็งจิตเพราะอดเดินทางตามทริปในฝัน มาร่วมกันฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเขาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 125,000 – 1,000,000 ยูโร(ประมาณ 4 – 40 ล้านบาท) ข่าวบอกว่ามีคนสนใจเยอะทีเดียว รายงานข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย และผู้สูญหายอีก 15 คน นี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจเรือสำราญนี้มีระเบียบด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาก เช่นไม่มีการระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน(เรียกว่า ในบรรดาลูกเรือ 1,023 คน บนเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ทำหน้าที่ดูแลสระว่ายน้ำ บาร์ คาสิโน และโรงภาพยนตร์บนเรือนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ) หรือแม้แต่การแล่นเรือเข้าไปในระยะ 150 เมตรจากฝั่งนั้น เขาบอกว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ และที่เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุเรือสำราญก็เพราะเขาถือเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่างหาก ส่วนที่เปิดแง้มๆ ออกมาผ่านฐานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ International Maritime Database นั้นก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  ออกมาแฉว่าน้อยกว่าตัวเลขจริงหนึ่งเท่าตัว     แอพแยกสี ต้องพึ่งพาตัวเองกันแล้วจริงๆ สำหรับผู้บริโภคในยุคที่การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากผู้ประกอบการเป็นหลัก หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศใช้ฉลาก “สัญญาณไฟจราจร”บนผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาก็หันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นในไอโฟนออกมาช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาเองจนได้ แอพฯ ที่ชื่อว่า “food switch” นี้จะสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องของโทรศัพท์ แล้วบอกคุณได้ว่าบรรดาอาหาร 20,000 รายการที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือในประมาณที่ ปลอดภัย ต้องระวัง หรือ เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือไม่ ด้วยการขึ้นเป็นสัญลักษณ์ไฟเขียว เหลือง แดง นั่นเอง เจ้าโปรแกรมที่ว่า มันไม่หยุดแค่นั้น มันสามารถแนะนำอาหารที่ดีกว่าให้คุณได้ด้วย โดยจะอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัย George Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นั่นเอง บรูซ นีล ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวบอกว่ากำลังเก็บข้อมูลว่าการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกของผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้นำไปยืนยันกับรัฐบาลในทันใด เผื่อว่าคิดผิดจะได้คิดใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าคนเราต้องการเลือกอาหารที่ดี เพียงแต่อาจจะท้อแท้เพลียใจที่จะต้องคอยเพ่งอ่าน หรือคอยคำนวณเปรียบเทียบปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือทุกครั้งที่เลือกซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะเลือกแบบที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค หรือง่ายสำหรับผู้ผลิต    ชอบของเก่า เรื่องกินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ นะคุณผู้ชม บางทีความอร่อยลิ้นก็มาเหนือความสะอาดเสียอย่างนั้น อย่างที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นถิ่นร้านอาหารหม้อไฟอันลือชื่อของจีนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการประกาศห้ามใช้น้ำมันซ้ำจากลูกค้าคนก่อนๆ เรื่องมีอยู่ว่า ที่นี่เขาถือเป็นวิถีปฏิบัติกันมานานแล้ว การเก็บน้ำมันที่เหลือจากภาชนะของลูกค้าที่กินเสร็จแล้ว เพื่อนำมาใช้ต่อกับลูกค้ารายต่อไปนั้น ว่ากันว่ามันช่างได้กลิ่นและรสสะสมจากผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เข้มข้นยิ่งนัก เอาเป็นว่าร้อยละ 80 ของร้านในเมืองนี้เขาก็ใช้วิธีนี้แหละ แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งทางการเขาประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลว่ามันไม่ถูกสุขอนามัย แถมยังมีคนนำคลิปเปิดโปงการ “รีไซเคิล” น้ำมันในร้านพวกนี้ไปโพสต์ลงยูทูบ ทำให้คนบางส่วนตกใจและรับไม่ได้ ที่น่าประหลาดใจกว่าคือ หลังจากประกาศออกไป มีคนในฉงชิ่งกว่า 13,000 คนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บกันอย่างกว้างขวาง มีถึงร้อย 66.5 ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน โดยให้เหตุผลว่ารสชาติจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และ “น้ำมัน” ในที่นี้ก็เป็นคนละอย่างกับ “น้ำมัน” ในคลิปที่เห็นพนักงานร้านเก็บออกจากชามที่กินเหลือด้วย ส่วนทางร้านก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย โดยบอกว่ามันเพิ่มต้นทุนและไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงทำให้คนเข้าร้านน้อยลงขาประจำรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนมีแค่ 60 หยวนก็กินกันได้ 2 คนแล้ว แต่หลังจากประกาศแบนแล้วต้องมีเงินเป็นร้อยถึงจะพอกินกัน เพราะทางร้านอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเก็บเงินเพิ่มจากค่าน้ำซุปด้วยนั่นเอง   ไวไฟ กรุณาเข้าใกล้ รู้ไว้ให้อิจฉาเขาเล่น ในประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย  ฝรั่งเศส สเปน และกรีซนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ ที่การันตีว่าประชาชนของเขาทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างต่ำ 1 Mbps ด้วย มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็กำลังตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลมาเลเซียเขามีวิธีเพิ่มการเข้าถึงสัญญาณไวไฟ WiFi แบบไม่ต้องเสียเงินด้วยการออกกฎให้บรรดา ผับ ร้านอาหารที่มีเนื้อที่เกิน 120 ตารางเมตร ทั้งหมดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จัดบริการไวไฟฟรีแก่ลูกค้า ส่วนศูนย์อาหารในพื้นที่สาธารณะ นั้นรัฐบาลรับเป็นคนจัดหาให้เอง ก่อนหน้านี้เขาก็มี hotspots ไว้ให้ประชาชนได้ใช้ 1,500 จุด แต่กำลังจะหมดสัญญาในไม่ช้า(อันนี้ไม่อยากจะโม้ว่าที่กรุงเทพฯ ของเรานั้นเขามีถึง 20,000 จุดเชียวนะ) ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มผ่านตู้ขายของ เขาออกมาประกาศว่าในปี 2012 นี้ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติของเขา จำนวน 1,000 ตู้ จะปล่อยสัญญาณไวไฟในรัศมี 50 เมตร รอบๆ ตู้ ให้ได้ใช้กันฟรี รอบละ 30 นาที จะเข้านานเท่าไรก็ได้เพียงแต่ต้องกดต่อสัญญาณทุกๆ 30 นาทีนั่นเอง   มีจอดต้องมีดับเมื่อมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในฮ่องกงมาจากรถยนต์ ทางการเขาก็เลยออกกฎหมายห้ามการจอดรถแบบติดเครื่องค้างไว้เสียเลย ต่อไปนี้ถ้าใครจอดรถโดยไม่ยอมดับเครื่อง(เพราะว่ากำลังรอใคร หรือแอบนอนกลางวัน ก็แล้วแต่) จะต้องโดนปรับเป็นเงิน 320 เหรียญฮ่องกง(ประมาณ 1,300 บาท) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เขาให้จอดได้ 3 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง(แต่สงสัยอยู่ว่าใครจะมาคอยจับเวลานะนี่) และเขาอนุโลมให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในคิวพร้อมรับผู้โดยสาร และรถมินิบัสที่อยู่ใน 2 คิวแรก สามารถติดเครื่องรอไว้ได้ เขามีตัวเลขอ้างอิงว่าการจอดรถติดเครื่องวันละ 10 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำมันไปเปล่าๆ ปีละ 100 ลิตร และสำคัญการกระทำดังกล่าวมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควร แถมยังต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วขึ้นอีก ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก ปัจจุบันมีรถวิ่งไปมาอยู่ 567,705 คัน บนถนนระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม >