ฉบับที่ 167 ตะหลิวไนลอน

ตะหลิว เป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้กับงานผัด งานทอด ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำตะหลิว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าไร้สนิม อะลูมิเนียม ซึ่งทนความร้อน แต่ตะหลิวพวกนี้มีความคม เนื่องจากการขึ้นรูปที่ต้องการความบาง แบน  เหตุนี้ตะหลิวเหล็กจึงไม่เหมาะกับกระทะสมัยใหม่ ที่เรียกว่า กระทะเทฟลอน หรือกระทะเคลือบเทฟลอน เพราะหากความคมของตะหลิวไปขูดเอาตัวเคลือบออก อันตรายจากการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษก็ตามมา กระทะเคลือบเทฟลอนจึงระบุห้ามใช้กับตะหลิวที่มีความคม ทำให้เกิดตะหลิวที่ทำจากพลาสติกทนความร้อน บางทีก็เรียกตะหลิวไฟเบอร์ ตะหลิวไนลอน หรือตะหลิวที่ทำจากไม้ขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้กระทะเคลือบเทฟลอน ปัญหาก็ตามมาอีกว่า ตะหลิวพวกนี้ ใช้งานได้จริงหรือไม่ ไม่เป็นอันตรายจริงหรือในเมื่อทำมาจากพลาสติก ซึ่งรู้กันอยู่ไม่ควรใช้กับความร้อนสูงๆ  ความจริงก็คือ ตะหลิวพวกนี้ใช้งานได้จริง แต่ต้องเลือกวัสดุที่ถูกต้องและใช้ให้เหมาะสม เพราะถึงเป็นพลาสติกทนความร้อน(ไนลอน) แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่เผลอติดนิสัยเดิมๆ วางตะหลิวไว้ในกระทะร้อนๆ ซึ่งห้ามเด็ดขาดหากเลือกใช้ตะหลิวไนลอน อีกอย่างหนึ่งควรพิจารณาเรื่องสำคัญคือ ตะหลิวนั้นทำมาจากไนลอน จริงหรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อของแพงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตะหลิวราคาถูกๆ อาจไม่ใช่พลาสติกชนิดทนความร้อนจริง ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องพิสูจน์ การพิสูจน์ครั้งนี้ ฉลาดซื้อได้เลือกซื้อตะหลิวพลาสติกที่วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ทั้งหมด 11 ยี่ห้อ แล้วนำส่งให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคทำการทดสอบ ใน 4 ประเด็นคือ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบเป็นพลาสติก ประเภทไนลอน หรือไม่ และเป็น ไนลอนประเภทใด 2. ความแข็งของวัสดุที่ใช้ทำตะหลิวมีค่าเป็นอย่างไร 3. จุดหลอมเหลวของตะหลิวแต่ละยี่ห้อเป็นเท่าใด และ 4. ชิ้นงานทนความร้อนที่อุณหภูมิ 200 °C ในเตาอบ และในน้ำมันได้หรือไม่ ข้อแนะนำ 1.ผู้บริโภคควรตรวจสอบตะหลิวว่าใช้วัสดุพลาสติกประเภทใดในการผลิต โดยดูจากฉลากสินค้า 2.ห้ามทิ้งหรือวางตะหลิวแช่ไว้บนภาชนะที่มีความร้อนสูงๆ เช่น ในน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร เป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ในการทำอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง 3.ไม่ควรนำตะหลิวแช่หรือสัมผัสกรดหรือเกลือหรือด่างเข้มข้น เช่น น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู 4.ห้ามใช้กับเตาไมโครเวฟ 5.หลังการใช้งานควรทำความสะอาดทันที  ไม่ควรใช้ฝอยเหล็กขัดทำความสะอาด ควรใช้ฟองน้ำและผึ่งให้แห้งทุกครั้ง ข้อแตกต่างระหว่างไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6 ไนลอนจัดเป็นพลาสติกในกลุ่ม semi crystalline เริ่มมีการสังเคราะห์ตั้งแต่ปี 1930 ไนลอนเป็นชื่อทางการค้า ชื่อดั้งเดิมทางวิทยาศาสตร์ คือ โพลีอาไมด์ (Polyamide: PA) ไนลอนมีหลายประเภท แต่ที่นิยมในการสังเคราะห์วัสดุ คือ ไนลอน 6,6 และ ไนลอน 6  ไนลอน 6,6 มีลักษณะความเป็นผลึกมากกว่า ส่งผลให้จุดหลอมเหลวสูงกว่า และมีความแข็ง และความต้านทานการสึกหรอดีกว่า ไนลอน 6 ผลการทดสอบ 1. การทดสอบเพื่อตรวจดูว่าเป็นพลาสติก ประเภทไนลอนประเภทไหน ในการทดสอบจะใช้เทคนิค FTIR และ DSC โดยการทดสอบได้รับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อบอกประเภทวัสดุพลาสติก เชิงคุณภาพว่าเป็นพลาสติกชนิดใด ขั้นตอนการทดสอบ การทดสอบหาโครงสร้างทางเคมีด้วยวิธีการ FTIR การทดสอบหาอุณหภูมิหลอมเหลวด้วย DSC การทดสอบการละลาย กราฟของ FTIR ของทุกตัวอย่างจะมีลักษณะดังภาพที่ 1  ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทางเคมีของ Nylon แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็น Nylon ชนิดใด ภาพที่ 1 FTIR spectrum ของตัวอย่าง เมื่อนำวัสดุของตะหลิวแต่ละยี่ห้อ มาหาช่วงอุณหภูมิหลอมเหลว (melting temperature) จะได้ผลดังตารางที่ 1 ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงจากตารางที่ 2 จะพบว่า ตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ไนลอน 6 ในการผลิต ตะหลิวยี่ห้ออื่น ใช้วัสดุพลาสติก ประเภท Nylon 6,6 แม้ว่าลักษณะทางกายภาพจะดูคล้ายกันแต่ถ้าผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก Nylon 6 ก็จะทำให้ใช้งานได้ในช่วงความร้อนที่ต่ำกว่าและเสียรูปได้ง่ายกว่า ตารางสรุปผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและวัสดุที่ใช้ทำตะหลิว   2 ผลทดสอบการวัดความแข็ง โดยทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D2240 ใช้หัวกดชนิดกรวยมุมแหลม และใช้แรงกดขนาด 5 kgf การทดสอบค่าความแข็งได้นับการอนุเคราะห์จาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยวัดค่าความแข็งของ พลาสติกจำนวน 3 จุดแล้วหาค่าความแข็งเฉลี่ย โดยผลทดสอบของตะหลิวยี่ห้อ Tesco, FACKELMANN (แฟคเคลมาน) และ Galaxy (นกเพนกวิน) มีความแข็งต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการทดสอบที่ 1 เนื่องจากสมบัติความแข็งของไนลอนประเภท 6 จะมีค่าความแข็งโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ไนลอน ประเภท 6,6 3 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ที่อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ นำตะหลิว ไปวางในเตาอบอุณหภูมิ 200 °C ผลการทดสอบ พบว่า ชิ้นงานทุกชิ้นมีการเสียรูป และเริ่มมีการหลอมละลายของพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในเตาอบ อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 นาที   4 ผลการทดสอบการทนทานความร้อน ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C การทดสอบนี้ ตะหลิวทุกยี่ห้อ มีการเสียรูป และหลอมละลายในน้ำมัน เมื่อเวลา ผ่านไป 5 ชั่วโมง ดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 การเสียรูป ที่ตะหลิว หลังจาก ทิ้งไว้ในน้ำมันพืช อุณหภูมิ 200 °C นาน 5 ชั่วโมง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point