ฉบับที่ 269 มัน..ไซยาไนด์

        สารประกอบไซยาไนด์เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีอนุมูลไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ บางชนิดออกฤทธิ์ทำอันตรายผู้เคราะห์ร้ายได้รวดเร็วเช่น ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่อนุมูลไซยาไนด์รวมตัวกับโลหะอัลคาไลน์ (เช่น โซเดียมหรือโปแตสเซียม) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งสีขาว นอกจากนั้นพบได้เป็นสารประกอบที่รวมตัวกับโลหะอื่นอีกหลายชนิด ประเด็นที่น่าสนใจคือ สารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดถูกพบในรูปของไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งสารประกอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไฮโดรไซยานิคในบริบทที่เหมาะสม           มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเม็ดสาคู เป็นที่รู้กันดีในทางวิชาการว่า โอกาสที่มันสำปะหลังจะปล่อยก๊าซไซยาไนด์ออกมาระหว่างการเก็บและผลิตเป็นแป้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ประเด็นคือ เรื่องราวเหล่านี้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนมากพอหรือยัง อีกทั้งการเลี่ยงจะไม่กินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นไปได้ยากในบางกลุ่มชนในบางภูมิภาคของโลก         บทความเรื่อง High cassava production and low dietary cyanide exposure in mid-west Nigeria ในวารสาร Public Health Nutrition ของปี 2000 ให้ข้อมูลว่า หัวและใบมันสำปะหลังดิบนั้นบริโภคไม่ได้ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์หลัก 2 ชนิด คือ ลินามาริน (linamarin) และโลทอสตราลิน (lotaustralin) แต่สารพิษเหล่านี้ยังไม่ออกฤทธิ์จนกว่าถูกย่อยสลายโดยเอ็นซัมลินามาเรส (linamarase ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเซลล์ของมันสำปะหลังแต่แยกกันออกจากไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์โดย โดยอยู่ในส่วนเฉพาะเหมือนถุงหุ้มภายในเซลล์ของมันสำปะหลัง) ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ระเหยสู่อากาศรอบบริเวณสถานที่เก็บหัวมันหรือผลิตแป้งมัน ในกรณีที่ก๊าซระเหยหายไปหมดย่อมทำให้ได้แป้งที่ได้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค         นอกจากนี้บทความเรื่อง Occupational exposure to hydrogen cyanide during large-scale cassava processing, in Alagoas State, Brazil ในวารสาร Cadernos de Saúde Pública (คาแดร์โนส เด เซาเด ปุบลิกา หรือ สมุดบันทึกสาธารณสุข) ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การแปรรูปมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่จนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านของบราซิลนำไปสู่การปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์สู่อากาศ ซึ่งพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับไฮโดรเจนไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง และอาจได้รับทางปากด้วยในบางกรณี         โดยหลักการทางพิษวิทยาแล้วเมื่อใดที่สารประกอบไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในระดับที่ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน สารประกอบไซยาไนด์ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการที่ใช้เอ็นซัมโรดาเนส (ซึ่งพบในไมโตคอนเดรียของเซลล์) ได้เป็นสารประกอบไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและถูกขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และไซยาไนด์จำนวนเล็กน้อยที่เหลือในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจ โดยรวมแล้วสารประกอบไซยาไนด์ปริมาณต่ำและผลิตภัณฑ์จากไซยาไนด์ที่เกิดจากการกำจัดพิษส่วนใหญ่ถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส         สำหรับในประเด็นที่ว่าการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ธรรมชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดลูกวิรูปต่อเด็กในท้องผู้บริโภคสตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้สำคัญมากต่อการพัฒนาประชากรโลกซึ่งผู้เขียนพบว่า มีเอกสารเรื่อง Cyanogenic glycosides (WHO Food Additives Series 30) ในเว็บของ www.inchem.org มีข้อมูลในหัวข้อ Special studies on embryotoxicity and teratogenicity ซึ่งอ้างบทความเรื่อง Congenital malformations induced by infusion of sodium cyanide in the Golden hamster ในวารสาร Toxicology and Applied Pharmacology ของปี 1982 ซึ่งเป็นการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์สีทองที่ตั้งท้องแล้วได้รับเกลือโซเดียมไซยาไนด์ในวันที่ 6-9 ของการตั้งท้อง สารพิษนั้นถูกให้แก่แม่หนูผ่านเครื่องปั๊มออสโมติกขนาดเล็กที่ฝังใต้ผิวหนังด้วยอัตรา 0.126-0.1295 มิลลิโมล/กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการชักนำให้เกิดการหายไปของตัวอ่อน (resorptions) ในมดลูกของแม่หนู และพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีรูปร่างผิดปกติ (malformations) ซึ่งความผิดปกติที่พบมากสุดคือ ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้กล่าวว่า การเกิดคอพอกในพลเมืองของสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งประชาชนกินอาหารทำจากมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอนั้นได้รับผลกระทบจากสารประกอบไธโอไซยาเนต (ซึ่งเกิดในร่างกายหลังจากการพยายามกำจัดไซยาไนด์ทิ้ง) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น         มีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวว่า สารประกอบไธโอไซยาเนตนั้นมีขนาดโมเลกุลใกล้เคียงกับโมเลกุลของไอโอดีน ดังนั้นสารประกอบไธโอไซยาเนตจึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ดีระดับไทโอไซยาเนตที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสารประกอบไซยาไนด์จะส่งผลต่อต่อมไทรอยด์เฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 100 ไมโครกรัม/วัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณไอโอดีนน้อยที่สุดที่ร่างกายต้องได้รับ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรที่ได้รับสารไซยาไนด์จากมันสำปะหลัง (ที่แปรรูปไม่ดีพอ) จะไม่เป็นโรคคอพอกตราบเท่าที่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย นี่แสดงว่าประเทศไทยมาได้ถูกทางแล้วที่กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีการเติมไอโอดีน          สำหรับเด็กในท้องแม่ที่พัฒนาอวัยวะครบถ้วนหรือคลอดออกมาแล้วถ้าได้รับสารประกอบไซยาไนด์และ/หรือไธโอซัลเฟตในขนาดต่ำนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น มีบทความเรื่อง Public Health Statement for Cyanide จากหน่วยงาน ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเว็บของ US.CDC (www.cdc.gov) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์และได้รับก๊าซไซยาไนด์ เช่น จากควันบุหรี่หรือจากการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ทารกในครรภ์จะได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตผ่านรก นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตสามารถขับออกมาในน้ำนมไปยังลูก         ในกรณีที่แม่กินอาหารที่มีแป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแล้วตั้งท้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับลูกที่เกิดมาย่อมเป็นไปได้แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า สารประกอบไซยาไนด์ทำให้เกิดความพิการในคนโดยตรงแต่สามารถพบได้ว่า ผู้คนในเขตร้อนบางประเทศที่กินมันสำปะหลังเป็นแหล่งของอาหารแป้งนั้น เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมด้วยปัญหาของไทรอยด์ ซึ่งอาจเกี่ยวกับการได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตจากแม่ในระหว่างตั้งท้องในลักษณะเดียวกับที่พบความผิดปรกติแต่กำเนิดในหนูทดลองที่แม่หนูถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง ดังแสดงในบทความเรื่อง Effect of Cyanogenic Glycosides and Protein Content in Cassava Diets on Hamster Prenatal Development ในวารสาร Fundamental and Applied Toxicology ของปี 1986 ซึ่งรายงานผลการศึกษาที่ให้หนูแฮมสเตอร์ในช่วงวันที่ 3-14 ของการตั้งท้องได้รับอาหารทดลองซึ่งประกอบด้วยมันสำปะหลังป่น (ชนิด sweet cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์ต่ำหรือ bitter cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์สูง) 80 ส่วนและอาหารหนูปรกติ 20 ส่วน พร้อมมีกลุ่มควบคุมได้รับอาหารปรกติซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับอาหารทดลองแล้วผลการศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไทโอไซยาเนตเพิ่มขึ้นสูงในปัสสาวะ เลือด และในเนื้อเยื่อทั้งตัวของลูกหนูที่แม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารทดลองมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลักฐานของความเป็นพิษที่เกิดต่อลูกในท้องนั้นพบว่า การสร้างกระดูกหลายส่วนในลูกหนูลดลง อีกทั้งอาหารมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์สูงยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนลูกสัตว์แคระแกรนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของแม่หนูที่กินอาหารปรกติ         ประเด็นว่าโดยทั่วไปผู้บริโภคควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากไซยาไนด์ที่ได้รับจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันนั้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผลกระทบของสารประกอบไซยาไนด์ระดับต่ำมักส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์เฉพาะเมื่อมีภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ) ในปริมาณที่เพียงพอมักช่วยแก้ปัญหาจากการที่ผู้บริโภคได้รับสารประกอบไซยาไนด์จากอาหาร         มีรายงานถึงประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกที่คาดว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมเกี่ยวกับการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำคือ บทความเรื่อง Association between maternal hypothyroidism and autism spectrum disorders in children ในวารสาร Pediatric RESEARCH ของปี 2018 ได้รายงานผลการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน 397,201 คน ที่คลอดตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 2011 และยังคงเป็นสมาชิกแผนสุขภาพตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2014 ซึ่งพบว่า บุตรของสตรีที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำมีอัตราความผิดปกติในลักษณะของออทิสติกสูงเป็น 1.31 เท่าของบุตรของสตรีปรกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยการมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำของแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของออทิสติกทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 10 พฤษภาคม 2553สปสช.เตรียมยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ คนเจ็บต้องได้ใช้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมปฏิรูปการประกันสุขภาพภาคบังคับ หลังจากพบว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เกิดปัญหาการเบิกจ่ายกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ที่มีการเบิกจ่ายจากกองทุนไม่ถึงครึ่ง เพราะมีขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ถูกผิดในส่วนของค่าชดเชย ทำให้ผู้ประสบภัยหันมาใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพที่ตนเองมีอยู่แทน ทำให้กลายไปเป็นภาระด้านงบประมาณกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน  สำหรับหลักสำคัญที่จะใช้ในการยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่จะใช้แนวคิดจากงานวิจัย คือ บริหารระบบโดยใช้หน่วยงานของรัฐทั้งหมด ใช้หลักการชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดในการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับประโยชน์ในสิทธิของตัวเองได้อย่างเต็มที่ที่สุด -------------------------------------------------------------------------------------- 15 มิถุนายน 2553กินยาโบราณปลอม โรคไม่หาย เสี่ยงป่วยเพิ่มสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยสำนักงานพระราชวัง บุกตรวจจับแหล่งจำหน่ายและกระจายยาแผนโบราณและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ในร้านค้าและแผงลอยย่านท่าเตียน ได้ทั้งหมด 12 ร้าน รวมผลิตภัณฑ์ กว่า 200 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท โดยพบของกลางเป็นยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และไม่มีใบอนุญาตขายยาและโฆษณาโอ้อ้วดเกินจริง เช่น ยาหยอดตาสูตรเย็น อ้างรักษาแก้ตาฝ้า ตาฟาง เป็นต้อลม ตาอักเสบ, ยาเหลืองปลาหมอชะลอความชรา สมุนไพรวัดโพธิ์ (เบอร์ 40), ยาหอมบำรุงหัวใจห้าร้อยจำพวก ยาแก้เบาหวาน แก้เจ็บแน่นหน้าอก แก้เสียวในหัวใจ บำรุงสมอง, น้ำมันมะรุมแก้ข้อเสื่อมคลายเส้นวัดโพธิ์ (เบอร์ 41), ยาสาวเสมอพันปี (บำรุงสตรีบำรุงเลือดแก้ตกขาว), ยาแผนโบราณอายุวัฒนะวัดโพธิ์ (เบอร์ 49) บำรุงประสาท บำรุงสมอง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไตพิการบวมเหลือง แก้มะเร็ง ในมดลูก มะเร็งเต้านม, ยาแก้ปวดนิ่วในไต ในถุงน้ำดี (สมุนไพรวัดโพธิ์) (เบอร์ 63), ยาหม่องฟ้าทะลายโจร (หมอสิงห์) นวดแก้อัมพฤกษ์, น้ำมันเขียวแป๊ะยิ้มแก้อัมพาต เหน็บชา, น้ำมันพระโมคคัลลาน แก้ลมอัมพาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางพบในส่วนของฉลากไม่ถูกต้อง อย. ฝากเตือนประชาชนที่ชอบซื้อยาแผนโบราณตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ร้านขายยา ต้องตรวจดูเรื่องส่วนประกอบและบริษัทผู้ผลิตให้ชัดเจน และอย่าหลงเชื่อกับคำโฆษณาที่เกินจริง --------------------------------------------------------------------------------------   16 มิถุนายน 2553พบ “สารไซยาไนด์” ในเกลือแหลมฉบัง สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เตือนชาวบ้านบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อย่านำเกลือที่พบในบริเวณท่าเรือมารับประทาน หลังมีการตรวจพบสารไซยาไนด์ปนเปื้อน นางอารีย์ ตรีรัตนเวช ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เกลือที่พบจำนวนมากบริเวณพื้นที่ที่การท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจมอยู่ในโคลนลึกประมาณ 5-10 ซม. กินพื้นที่ประมาณ 20-30 ไร่ นั้น ขณะนี้มีประชาชนในบริเวณดังกล่าวแห่กันไปขุดเกลือเพื่อนำไปรับบริโภคหรือจำหน่ายต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลตำบลแหลมฉบัง ได้ประกาศห้ามประชาชนนำเกลือในบริเวณดังกล่าวมาบริโภคโดยเด็ดขาด หลังพบว่ามีการปนเปื้อนสารหนูหรือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำอันตรายต่อร่างกายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ --------------------------------------------------------------------------------------   21 มิถุนายน 2553เข้าสปาคราวหน้าอย่าลืมเรื่องความสะอาดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ในสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท พอกผิว ขัดผิว สำหรับนวด และอื่นๆ จำนวน 49 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพด้านจุลชีววิทยา พบว่ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขัดผิว 5 ตัวอย่างจาก 28 ตัวอย่าง ประเภทพอกผิว 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง เนื่องจากมีปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์ และราเกินกำหนด  ดังนั้นผู้บริโภคควรใส่ใจในการเลือกใช้บริการร้านสปาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทางร้านใช้ ถ้าเป็นไปได้ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย พยายามเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นกรดหรือด่าง หรือมีกลิ่นหอมเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------   เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้อง กทช. ประมูล 3.9Gต้องโปร่งใสและให้ประโยชน์ของชาติมาก่อนองค์กรผู้บริโภคร่วมกันแถลงจุดยืน “การประมูลใบอนุญาต 3.9G ใครได้ประโยชน์” ณ สำนักงานชั่วคราวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เซ็นจูรี่ พลาซ่า ชั้น 6 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. โดยมีนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายนิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ(คปส.) และนายกำชัยน้อย  บรรจงค์ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ร่วมแถลงข่าว ตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พยายามเร่งผลักดันให้เกิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3G ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น 3.9G โดย กทช.ระบุจำนวนใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตพร้อมกันในราคาประมูลเริ่มต้นที่ 10,000 ล้านบาท ใบอนุญาตมีระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคเห็นค้านว่าควรจะกำหนดราคาประมูลตั้งต้นที่ 20,000 ล้าน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการสื่อสารยักษ์ใหญ่มีกำไรไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าตั้งต้นราคาประมูลต่ำเกินไป รัฐอาจเสียผลประโยชน์ ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมองว่า เรื่องของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระยะเวลา 15 ปีในการถือครองใบอนุญาตอาจดูนานไป น่าจะลดลงมาที่ 10 ปี  ถึงแม้ กทช.จะชี้แจงว่าระยะเวลา 10 ปีนั้น จะขัดต่อประกาศแต่ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องกฎหมาย เครือข่ายผู้บริโภคยังได้เสนอเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคในการประมูล 3.9G ครั้งนี้ โดยให้ทาง กทช.เขียนเป็นกติกาให้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต 3.9G จัดทำเลขหมายรับเรื่องร้องเรียน 4 หลัก ที่ผู้บริโภคโทรติดต่อแล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเลขหมาย 7 หลัก ที่ผู้บริโภคโทรติดต่อแล้วต้องเสียค่าใช้จ่าย การจัดการปัญหา SMS กวนใจ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการไม่สามารถส่งเอสเอ็มเอสโฆษณาไปยังเลยหมายของผู้บริโภคได้หากผู้บริโภคไม่เต็มใจหรือยินยอม การไม่คิดค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนโปรโมชั่น ที่ปัจจุบันต้องเสีย 30 บาท และการไม่ต้องกำหนดวันหมดอายุของการใช้งานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน --------------------------------------------------------------------------------------   รัฐบาลต้องเร่งออกกม.คุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหายทางการแพทย์เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เรียกร้องรัฐบาลเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากรักษาพยาบาลเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์ และ ย้ำแพทยสภาต้องจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ "ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..." เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยไม่ให้คนไข้ฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น” เครือข่ายผู้บริโภค ระบุ แม้กฎหมายฉบับนี้ มีไม่น้อยกว่า 5 ประเด็นที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับให้รัฐบาลนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และยืนยันหลักการกฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดการฟ้องร้องของคนไข้ เพราะคนไข้หากมีความเสียหายก็จะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระในการฟ้องคดี ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... โดยการเข้าชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอยืนยันถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 3 ประการ คือ 1) การชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข 2) ลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ 3) พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย “ถึงแม้ประเทศไทยจะมี พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 41  โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด แต่ก็ครอบคลุมเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้สิทธิหลักประกันแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมผู้เสียหายในระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น(ไม่เกินสองแสนบาท) ที่มีความจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาให้ผู้เสียหายสามารถมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยเร็ว และให้มีสาระสำคัญเป็นไปตามกรอบของร่างที่เสนอโดยเครือข่ายผู้บริโภคและประชาชน อาทิ • สำนักงานเลขานุการตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องแยกออกจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นกลาง เข้าถึงได้ง่าย และไม่เป็นการขัดแย้งในเชิงบทบาทหน้าที่ แต่หากจำเป็นต้องยึดแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ไม่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่” ก็ควรกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสำนักงานไปพลางก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว และมีฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ มิใช่ผู้ให้บริการอย่างกระทรวงสาธารณสุข • องค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนสถานพยาบาล และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านบริการสุขภาพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ เพราะบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการ คือ การพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุขจริงหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาว่ามีผู้ใดต้องรับผิดหรือไม่ และไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวนหรือลงโทษโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้การชดเชยเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมและต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์ 2. ขอให้เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคสามารถทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ สุดท้าย เครือข่ายผู้บริโภค ใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทยสภา และติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการแพทยสภาบางคน รวมทั้งแพทย์บางกลุ่ม ว่าได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับความเป็นวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชนหรือไม่ หรือทำเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางอำนาจและธุรกิจ  

อ่านเพิ่มเติม >