ฉบับที่ 176 รู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสอบถามกันจากเพื่อนๆ ทางไลน์และเฟสจำนวนมากว่า มีการชักชวนทางเว็บไซต์ให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เข็มละ 2,000 บาท ฉีดครั้งเดียวสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิต และมีการกล่าวอ้างให้ไปฉีดที่สภากาชาดไทย (ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีบริการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ จำนวนมาก)”  สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  ถ้าจริงก็ยินดีที่จะเสียเงินเพราะคุ้มเนื่องจากไม่ต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดให้ฟรีตามโรงพยาบาลต่างๆ       การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้จริงหรือไม่  ฉีดครั้งเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิตจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันดีกว่า     จาการสืบค้นการทบทวนงานวิจัยใน PubMed และ Cochrane Library พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบ ดังนี้     ใน PubMed มีการตีพิมพ์บทความการทบทวนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาณ(meta-analysis) โดยคัดกรองบทความ 5,707 บทความ พบบทความที่เกี่ยวข้อง 31 บทความ  พบว่า  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (trivalent inactivated vaccine) แสดงผลใน 8 (67%) จาก 12 ฤดู (ผลรวมของประสิทธิผล 59% ในผู้ใหญ่อายุ 18-65 ปี และผลการป้องกันดังกล่าวจะลดลงอย่างมากหรือไม่มีผลเลยในบางฤดู  และยังไม่มีหลักฐานที่ดีพอในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป  ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (live attenuated influenza vaccine) แสดงผลใน 9 (75%) จาก 12 ฤดู  (ผลรวมของประสิทธิผล 83% ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 7 ขวบ  ในเด็กที่อายุมากกว่านี้จะได้ผลน้อยลง  จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนแบบใหม่ที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่รับรองแล้วในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากไช้หวัดใหญ่     ใน Cochrane Library ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในงานวิจัยต่างๆ จำนวนมาก ทั้งในห้องสมุดคอเครน, MEDLINE (1966-2009) EMBASE (1974-2009)  และ Web of Science (1974-2009)  พบว่า  จากหลักฐานงานวิจัยต่างๆ ที่คัดกรองเข้ามาศึกษา 75 บทความ  บทความเหล่านี้มีคุณภาพการศึกษาที่ไม่ดีพอและไม่ยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัย ประสิทธิผล หรือประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนแบบเชื้อตายที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่  ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป   จึงควรที่จะมีการศึกษาแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยทำการศึกษาในระยะเวลาหลายฤดู เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้     สรุปว่า ในขณะนี้ยังไม่หลักฐานทางการแพทย์หรือการวิจัยที่ดีพอ ที่จะยืนยัน นั่งยันได้ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้อย่างจริงจัง ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  และในบางฤดูกาลกลับได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย  ยกเว้นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะได้ผลในเด็กเล็กก่อน 7 ขวบเท่านั้น  จึงควรที่ผู้สูงอายุจะกลับมาที่การดูแลสุขภาพตนเอง  ออกกำลังกายให้แข็งแรง  ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ได้ผลมากกว่าการฉีดวัคซีน    คงต้องเพิ่มอีกข้อในกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อเพราะไลน์หรือเฟสส่งต่อกันมา (มา อนุสฺสเวน)  

อ่านเพิ่มเติม >