ฉบับที่ 162 เมทิลโบร์ไมด์ในข้าวสารบรรจุถุง ภาค 2

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน……. นายมดงานขอยืมวลีเพลงฮิตมาเปิดตัวเสียหน่อย ผมเคยเขียนบันทึกเล่าเรื่องการทดสอบข้าวสารบรรจุถึงไว้เมื่อช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว หนึ่งปีผ่านไปด้วยความรวดเร็ว จากกระแสข้าวเน่า-ข้าวบูดเมื่อปีที่แล้ว จนนำมาสู่การทดสอบสิ่งปนเปื้อนในข้าวสารบรรจุถุง โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ. – ฉลาดซื้อ) และมูลนิธิชีวิถี (biothai – Thai-PAN) ผลทดสอบครั้งนั้นพบว่า มีการพบ โบรไมด์อิออน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารรมควันข้าวที่เรียกว่า เมทิลโบรไมด์ ในตัวอย่างที่ตรวจสอบเกินกว่าร้อยละ 70 และมีหนึ่งตัวอย่างที่พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล (MRL CODEX) จนนำไปสู่การประกาศค่ามาตรฐานเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนของประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังการใช้สารรมควันข้าวและสารเคมีทางการเกษตรอื่น ๆ ในข้าวโดยเข้มงวดของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และเพื่ออัพเดทสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารในข้าวสารบรรจุถุง “ฉลาดซื้อ” ทุ่มไม่อั้นอีกครั้ง โดยท่าน บก.จอมเฮี้ยบ (แต่หน้ายิ้มตลอด) ได้บัญชาการให้มดงานตัวจ้อยทำตามสัญญาที่แจ้งท่านผู้อ่านไว้ว่าเราจะกลับมารายงานผลการทดสอบเรื่องนี้ให้กับท่านอีกครั้ง แน่นอนว่าหนังภาคต่อมันต้องมีอะไรที่มากกว่าภาคแรก ครั้งนี้เราเก็บตัวอย่างเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว ท่านบรรณาธิการบริหารมีดำริว่าครานี้ไม่ตรวจแบบเหวี่ยงแหทุกอย่างเหมือนครั้งที่แล้วแต่เรามุ่งหมายแค่ตัวเดียวไปเลย คือ เมทิลโบรไมด์ มดงานตัวจ้อยและสมัครพรรคพวกวิ่งโร่ไปตามล่าหาซื้อตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในสี่กลุ่มคือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และข้าวผสม จำนวน 86 ตัวอย่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่งจำนวน 6 แบรนด์ ได้แก่ บิ๊กซี สาขาสะพานควาย, เทสโก้โลตัส สาขาบางปะกอกและสาขาดินแดง, ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่พลาซ่าและสาขาพระราม 9, แมคโคร สาขาแจ้งวัฒนะ, เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน,  และฟู้ดส์แลนด์สาขาหัวหมาก และท่านบรรณาธิการบริหารยังได้อนุเคราะห์เก็บตัวอย่างข้าวสารกระสอบด้วยตนเองจากร้านค้าแถวบ้านอีกจำนวน 5 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 91 ตัวอย่าง มาทดสอบหาโบรไมด์อิออน โดยส่งห้องปฏิบัติการ SGS ในวันที่ 29 ก.ค. 57 และใช้วิธีการในการทดสอบ (Method) ที่เรียกว่า GC/MS (Headspace) หรือก็คือการตรวจหาโบรไมด์อิออนของเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างในตัวอย่างโดยตรง ผลการทดสอบ สถานการณ์ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน ร้อยละ 1 คือ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ตราสุรินทร์ทิพย์ จากฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาหัวหมาก โดยพบการตกค้างที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม(เปิดถุงทิ้งไว้หน่อยก็ระเหยหมด) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกิด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการทดสอบข้าวสารทั้งแบบบรรจุถุงและบรรจุกระสอบครั้งนี้ ไม่พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน หมายเหตุ...ครั้งนี้เราตรวจเฉพาะ เมทิลโบร์ไมด์ แต่ปัจจุบันยังมีสารรมควันข้าวอีกหลายตัว ซึ่งถ้ามีโอกาสจะนำเสนอให้กับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อแน่นอน รู้จักเมทิลโบรไมด์ เมทิลโบรไมด์ มีชื่อเรียกอื่นว่าโบรโมมีเทน หรือดาวฟูม หรือเฮลอน 1001 เป็นสารควบคุมที่อยู่ใน Annex E (ยกเลิกการใช้ทั่วโลก) ของพิธีสารมอนทรีออล เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างกว้างขวาง  สำหรับประเทศไทยถูกกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558 สารนี้ มีสูตรทางเคมีว่า CH3Br เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีอะตอมโบรมีนที่มีผลทำลายโอโซนได้มากกว่าคลอรีนถึง 30-60 เท่า และพบว่ามีปริมาณการปล่อยมากกว่า 40,000 ตัน หรือสองเท่าในทศวรรษที่ 80 และยังพบว่าปลดปล่อยจากแหล่งธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้มวลชีวภาพถึง 30,000 – 50,000 ตัน/ปี และมากกว่าครึ่งของเมทิลโบรไมด์ที่ผลิตขึ้นจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ โดยใช้รมควันในดิน ธัญพืช โกดัง และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ สารตัวนี้ระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้รวดเร็ว และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ในที่สุดก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง ส่วนใหญ่อันตรายต่อคนจะเกิดจากการหายใจเข้าไป ทำความระคายเคืองต่อปอด และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ด้วย ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ 9 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ที่มา: ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ผู้เขียน รศ.สุชาตา ชินะจิตร 19 ก.ค. 2549                                                        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point