ฉบับที่ 124 ไอเสียรั่วในรถโตโยต้า อินโนว่า ศาลสั่งเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค

 ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาสั่ง โตโยต้าเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค เหตุเชื่อว่ารถมีความบกพร่องก่อนส่งมอบให้ผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 759,850 บาท หลังฟ้องศาลผู้บริโภค 1 ปีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน คุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล กับบุตร 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท สาเหตุที่ฟ้องร้องกันเนื่องจาก คุณสุภาภรณ์ได้ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า แต่ปรากฏว่ามีไอเสียจากเครื่องยนต์รั่วเข้ามาในห้องโดยสารทำให้คุณสุภาภรณ์และบุตรซึ่งใช้รถคันนี้ไปรับส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำมีสุขภาพย่ำแย่ไปตามๆ กันจุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 คุณสุภาภรณ์ไปเที่ยวงานมหกรรมรถยนต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี และได้ตกลงซื้อรถยนต์โตโยต้า อินโนว่า ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ต่อมาได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ใช้งานตามปกติวิสัยรวมทั้งใช้รับส่งลูกทั้งสามไป-กลับโรงเรียนเช้า-เย็นตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เท่ากับว่าคุณสุภาภรณ์กับลูกๆ ต้องอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าววันละประมาณ 5-6 ชั่วโมงหลังจากนั้นไม่นาน คุณสุภาภรณ์เริ่มรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรีฯ พนักงานก็แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคุณสุภาภรณ์ไม่เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลมาก่อน จึงไม่ทราบว่าว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ คุณสุภาภรณ์ใช้รถยนต์คันนี้ (ร่วมกับกลิ่นท่อไอเสีย) จนครบระยะ 50,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 จึงได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ของโตโยต้า โดยแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร พนักงานแจ้งว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและแนะนำให้คุณสุภาภรณ์ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไปแล้วแต่กลิ่นดังกล่าวก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้นำรถกลับไปให้ศูนย์ดูอีกหลายครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิมว่า “ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”ยิ่งใช้รถไปรอยคราบเขม่าในห้องโดยสารยิ่งชัดยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการนัดตรวจรถยนต์คันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบว่ามีควันพิษของท่อไอเสียรั่วไหลอยู่ในห้องโดยสารของรถจริงหรือไม่ โดยทำการตรวจวัดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้วิธีขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำรถยนต์อีกยี่ห้อหนึ่งมาเปรียบเทียบกับรถของคุณสุภาภรณ์ ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ในห้องโดยสารรถยนต์ของคุณสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อที่นำมาเปรียบเทียบตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าวคุณสุภาภรณ์ มาทราบภายหลังว่า รถยนต์ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 มีก๊าซอันตรายและเขม่าจากไอท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนและลูกทั้งสาม จึงหยุดใช้รถยนต์คันนี้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในเวลาต่อมา ผลของคำพิพากษาวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ศาลแพ่งธนบุรีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดี ซึ่งได้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานการนำสืบของฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เห็นว่า จำเลย(โตโยต้า)ไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาไอเสียเครื่องยนต์ที่รั่วเข้ามาในห้องโดยสารได้ว่า เหตุของไอเสียเกิดจากสภาพการใช้งานของผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากปัญหาการผลิต ทำให้เชื่อได้ว่า รถยนต์คันพิพาทมีความชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่บริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่คุณสุภาภรณ์ และไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณสุภาภรณ์แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำหน่าย และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ผลิต นำเข้า จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานพิพากษาให้บริษัททั้งสอง เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกับที่ขายให้กับคุณสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น และยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภคอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 หรือวันที่คุณสุภาภรณ์รู้ว่าในรถมีควันพิษและหยุดใช้รถ“รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเหมือนดิฉัน” คุณสุภาภรณ์กล่าว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงานด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้นจนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวมคุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว 3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงานอ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นเป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงานดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริงเบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >