ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 ‘โซลาร์ รูฟท็อป’ พูดได้ แต่ทำไมยังทำไม่ได้

โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรีหรือโซลาร์ รูฟท็อปเสรี น่าจะเป็นโครงการที่ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หลายครอบครัวอาจคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้เสริมและช่วยประหยัดไฟฟ้าในคราวเดียวกันแต่มันเป็นฝันที่ค้างคาอยู่เช่นนั้น เพราะแม้ทางกระทรวงพลังงานจะประกาศนโยบายนี้มาพักใหญ่ แต่แนวทางในการรับซื้อก็ยังไม่ชัดเจนเสียที มีรายละเอียดจุกจิกที่เพิ่มความยุ่งยากมากกว่าจะอำนวยความสะดวก การปฏิบัติที่ไม่ค่อยตรงหลักการของชื่อโครงการที่บอกว่า ‘เสรี’ ทว่า จำกัดจำนวนรับซื้อไว้ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อปี หรือการกำหนดราคาที่ผู้ขายไฟฟ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ รูฟท็อปอิงกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยทั่วไปจะรับซื้อในราคา 2.30-2.50 บาทต่อหน่วย แต่ขายในราคา 4.30 บาทต่อหน่วย เรียกว่าได้กำไรเกือบเท่าตัวทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยังอ้างเรื่องความพร้อมของระบบสายส่งและถ้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมากเกินไปจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปดูตัวอย่างคนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปและประสบความสำเร็จ พร้อมกับสำรวจแบบคร่าวๆ ว่าสิ่งที่ภาครัฐอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วข้ออ้างดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดในไทยหรือไม่? อย่างไร?วัดป่าศรีแสงธรรมคนที่สนใจประเด็นพลังงานน่าจะเคยได้ยินชื่อวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม เจ้าอาวาส และผู้รับใบอนุญาตและก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สู่การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ทำให้ชื่อของวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นที่รู้จักการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เองทำให้โรงเรียนสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท ทว่า กว่าจะได้ผลลัพธ์นี้ก็ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้และฝ่าฟันกับระบบระเบียบของทางราชการที่ไม่เอื้อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องเลือกตัดปัญหาเพื่อไม่ต้องวุ่นวายกับระบบที่ไม่เอื้อนี้“ระบบออนกริด(On-grid) ข้อดีคือถูกมาก ตอนแรกๆ โรงเรียนผลิตไฟได้ 40 หน่วยต่อวัน กลางวันใช้ไป 30 หน่วย เหลือ 10 หน่วย มันก็ไปหมุนมิเตอร์กลับ กลางคืนใช้อีก 10 หน่วย เช้ามาก็เท่ากับ 0 หน่วยทุกวัน การไฟฟ้าไม่ยอม บอกว่าไม่มีระเบียบแบบนี้ ไฟที่ออกจากมิเตอร์แล้ว ต้องจ่ายเงิน ไม่ใช่เอาไฟฟ้าเข้าไปหมุนคืน ประเทศไทยยังไม่มีระบบแลกไฟไปกลับแบบนี้“ถามว่าจะเอาไฟฟ้าเข้าระบบยุ่งยากหรือไม่ หนึ่ง-ต้องไปแจ้งที่ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เอาแบบไปยื่น ไปขอยกเว้นไม่รับใบประกอบกิจการพลังงาน เมื่อได้ใบนี้แล้วจึงนำไปยื่นขอขนานไฟกับการไฟฟ้า ตรงนี้จะยุ่งยากขึ้นไปอีก การไฟฟ้าจะตรวจอุปกรณ์ว่าตามมาตรฐานหรือไม่ ทดสอบผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ให้ผ่าน ก็ไม่ให้เชื่อม ไม่ให้ขนาน สำหรับบางคนระเบียบแบบนี้มันยุ่งยากจนเขาไม่ไปขอขนานไฟ เกิดเป็นโซลาร์กองโจรขึ้นมา อยากจะติดก็ติดเลย เพราะทั่วโลกเขาก็ให้ส่งขายอยู่แล้ว ทำไมมาติดที่ประเทศไทย” พระครูวิมล เล่าประสบการณ์พระครูวิมลเล่าอีกว่า ไม่ได้คิดจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย หากมีไฟฟ้าเหลือใช้เข้าระบบก็ยินดียกให้ เพียงแต่กำลังผลิตที่มีอยู่สร้างขึ้นพอดีกับปริมาณการใช้ พอมีประเด็นมิเตอร์หมุนกลับ ทางพระครูวิมลจึงสร้างระบบจัดเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืน ทำให้ปัจจุบันทางโรงเรียนศรีแสงธรรมไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย ฟังแบบนี้อาจคิดว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองต้องเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก แน่นอนว่าการติดตั้งต้องอาศัยช่างเทคนิค แต่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ มีการรับประกันนานถึง 20 ปีเช่นที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ถือว่าคุ้มต่อการลงทุน อีกทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายดายขนาดว่าเด็กนักเรียนก็ทำเองได้“เรื่องการดูแลรักษา เราก็ให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน เต็มที่ก็ดูว่าแผ่นโซล่าร์สกปรกมั้ย มีนกไปขี้ใส่มั้ย ล้างแผ่นมั้ย แค่นี้เอง ทางบริษัทมอนิเตอร์หรือเรามอนิเตอร์เองก็ได้”ประโยชน์และความคุ้มค่าจากตัวอย่างของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรมแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของประชาชนไม่ใช่เรื่องยากเย็น แม้เริ่มต้นจะลงทุนสูง แต่ในระยาวถือว่าคุ้มค่า อีกทั้งหากมีการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้นและราคาถูกลงดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริม มิใช่การสร้างอุปสรรคและความไม่ชัดเจนเราพูดคุยกับนักวิชาการที่ติดตามประเด็นพลังงาน 2 คนคือประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซลาร์ รูฟท็อปทีละประเด็นตามข้อจำกัดของพื้นที่ เดชรัต กล่าวถึงการทำโซลาร์ รูฟท็อปว่า เหมือนการมีโรงไฟฟ้าขนาดย่อยกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 จุด คือ การมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่ติดกับบ้านของผู้ใช้ทำให้ความสูญเสียในสายส่งน้อยลง ทำให้ปัญหาไฟตกหรือไฟดับลดลง และการทำให้ระบบกลับคืนมาใหม่ดีขึ้น เพราะมีแหล่งกำเนิดพลังงานรออยู่หลายจุดประเด็นที่ 2 คือผลพลอยได้ เช่น กรณีภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ระบบสายส่งไม่สามารถทำงานหรือไม่สามารถส่งไฟได้ ความพร้อมในการดูแลผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติจะสามารถทำได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยในระยะสั้นก็ยังสามารถมีไฟฟ้าใช้ประเด็นสุดท้ายคือการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์ เซลล์ ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าถ่านหิน เพราะโซล่าร์ เซลล์ไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยสังคมโดยภาพรวมเมื่อถามถึงความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เดชรัต อธิบายดังนี้“เทคโนโลยีในระยะแรกจะแพงมาก แต่เมื่อมีการใช้มากขึ้นก็จะเกิดเส้นโค้งการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลง ตัวเลขล่าสุดที่มีการประมูลขายไฟเข้าระบบ โซล่าร์ เซลล์ ไม่ถึง 4 บาทแล้ว ขณะที่ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ก็ประมาณ 4 บาทนิดๆ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะแข่งขันได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะแพงกว่าไฟฟ้าจากถ่านหินเล็กน้อย แต่การที่มันแพงกว่าเป็นเพราะเราไม่ได้คิดต้นทุนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน”ระบบที่สร้างอุปสรรค ถ้าติดโซลาร์ รูฟท็อปแล้วต้องการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าจะใช้ระบบใด ประสาทกล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 ระบบหลักที่ใช้ในประเทศต่างๆ คือ Net Mitering ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไหลเข้าสายส่ง มิเตอร์เดินถอยหลัง เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมิเตอร์ก็เดินหน้า เมื่อครบรอบเดือนก็มาหักลบเป็นตัวเลขสุทธิว่าต้องชำระเพิ่มหรือไม่ แบบที่ 2 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาสูงและขายในราคาต่ำกว่า แบบที่ 3 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาต่ำและขายกลับในราคาสูง ซึ่งแบบนี้ประสาทบอกว่ากำลังเป็นคดีความอยู่ในสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม ระบบการรับซื้อเป็นเรื่องหลังจากที่มีกติกาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งในประเทศไทยความชัดเจนที่ว่ายังไม่เกิดขึ้น ประสาทอธิบายปัญหาเชิงระบบของไทยโดยตั้งต้นจากตัวอย่างของประเทศเยอรมนีว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์ รูฟท็อป ไม่จำเป็นต้องจำกัดโควตาเช่นที่ประเทศไทยทำ ในเยอรมนีมีระเบียบว่าใครที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ก่อนสามารถขายได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะไม่มีอุปสรรคต่อระบบการผลิตไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นนั้นพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีแพงกว่าพลังงานอื่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงต้องมาเฉลี่ยกันทั้งประเทศ“ในส่วนของประเทศไทยไม่เมคเซ๊นส์เพราะ หนึ่ง-จำกัดจำนวน สอง-มีระเบียบหยุมหยิม สาม-มีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์แต่ละการไฟฟ้าก็ไม่เหมือนกัน สี่-มาตรฐานอุปกรณ์ที่ว่าก็สูงเกินจริงมากๆ ทำให้ต้นทุนแพง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ไปขอ โควตาที่ให้ก็ไม่เต็ม ขณะที่โซล่าร์ ฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่กลับเติบโตเร็วมาก สัดส่วนระหว่างโซล่าร์ ฟาร์ม กับโซล่า รูฟท็อป พบว่าร้อยละ 99 เป็นโซล่าร์ ฟาร์ม คือเน้นทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ในเยอรมนี โซล่าร์จะเน้นชาวบ้านธรรมดา ประเทศไทยมันสลับหัวสลับหาง”ประเด็นที่ว่าจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นหรือไม่ ประสาท อธิบายคล้ายกับเดชรัตว่า เวลานี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมากและลดลงมาเรื่อยๆ ปีละประมาณร้อยละ 14-15 เขายังยกตัวอย่างการประมูลในประเทศซาอุดิอาระเบียที่เวลาค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกที่สุดไม่ถึง 3 เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้าหรือประมาณ 1.50 บาท ขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย และต้องไม่ลืมประเด็นที่เดชรัตกล่าวในตอนต้นด้วยว่า ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าตัวหนึ่ง“สถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราจะติดบนหลังคา” ประสาทกล่าวถึงกรณีประเทศไทย “ภาครัฐบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน และยังมีข้อแม้ว่าห้ามไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในสายส่ง ปัญหาคือพระอาทิตย์มาตอนกลางวัน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต้องเข้าสายส่ง แต่เมื่อห้ามไหลย้อน ก็ทำให้คนที่ติดโซล่าร์ รูฟท็อปแล้วไม่คุ้มทุนเพราะไฟฟ้าที่เข้าไปในสายส่งเขาไม่จ่ายเงิน“ยกกรณีโรงเรียนศรีแสงธรรม ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในมิเตอร์ ทำให้มิเตอร์ติดลบ ทางการไฟฟ้าตรวจพบก็โวยวาย ถอนมิเตอร์ออกไป นำมิเตอร์ใหม่มาติดให้ คิดค่ามิเตอร์ในราคาแพง คำถามคือหลังจากนั้นมันก็ไม่คุ้มที่จะผลิต ทีนี้ ที่โรงเรียนศรีแสงธรรมก็ผลิต แต่ติดตัวกันไฟไหลย้อน อุปกรณ์ชิ้นนี้ราคาเป็นแสน เมื่อไฟไม่ไหลย้อน ไฟฟ้าก็จะไม่ผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่มีคนใช้ก็จะไม่ผลิต ที่ลงทุนไปสองสามแสนก็ไม่คุ้ม มันจึงไม่เกิดขึ้น นี่คือปัญหาบ้านเราที่ดำรงอยู่ตอนนี้”สายส่งไม่พอ?เป็นเหตุผลคลาสสิกของภาครัฐที่ทำให้ยังไม่เกิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อปเสรีเดชรัตอธิบายว่า ถ้าพูดในกรณีสุดขั้วคือทุกบ้านติดโซลาร์ รูฟท็อป ทุกบ้านจะกลายเป็นโรงไฟฟ้า จึงต้องลงทุนเพิ่มเพื่อต่อไฟฟ้าจากทุกบ้านไปยังที่ใดที่หนึ่ง แต่...“แต่ประเด็นคือมันยังไกลจากสถานการณ์นี้มาก มันจะเป็นจริงกรณีโซล่าร์ ฟาร์ม เพราะไปตั้งอยู่ไกลก็ต้องมีสายส่ง แต่เขาไม่พูดเรื่องนี้เพราะต้องการผลักภาระสายส่งให้กับคนที่ทำโซล่าร์ ฟาร์ม จึงไม่ได้ยกข้อนี้ขึ้นมา หรือถ้ามีโซล่าร์ ฟาร์มอยู่ใกล้ๆ กัน สายส่งก็ต้องใหญ่ขึ้นอีก แบบนี้ต้องลงทุนเพิ่ม กรณีโซลาร์ รูฟท็อปยังไม่มีมากถึงขนาดนั้น ถ้าพูดในเชิงทฤษฎี ใช่ครับ เมื่อคุณติดโซล่าร์ เซลล์มากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องปรับสายส่ง ทำนองกลับกัน เราก็ไม่ต้องไปเดินสายไฟแรงสูงมาจากเขื่อนเข้ามาในเมือง โดยสรุปคือมันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วพอมันจะเกิดขึ้นจริงๆ มันจะมีทั้งได้ทั้งเสีย”อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ระบว่า กรมพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับ กกพ. และภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ให้มีความเสรีมากขึ้น คาดว่าจะสรุปผลได้ภายใน 1 เดือนสรุปคือต้องรอต่อไปว่าการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ ......ก่อนจบมีข้อสังเกตที่ชวนให้ขบคิดต่อจากเดชรัตว่า เมื่อการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีมากกว่าไม่ดี เหตุใดถึงล่าช้าและมีขั้นตอนวุ่นวายเพียงนี้“เมื่อพูดในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า เวลาเราผลิตไฟฟ้า มูลค่าจะเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือส่วนที่ขายเชื้อเพลิง ส่วนที่ 2 คือส่วนผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ 3 คือส่วนที่ส่งไฟฟ้า ถ้าเราทำโซล่าร์ เซลล์ ห่วงโซ่มูลค่า 3 ส่วนนี้จะหายไปเลย เชื้อเพลิงไม่ต้องซื้อ ซื้อแต่โซล่าร์ เซลล์ ผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้เงินจากการขายไฟฟ้า ส่วนการจัดส่งก็จะน้อยลงไปอีก เพราะไม่ต้องผ่านสายส่งเส้นใหญ่ ผ่านแต่เส้นย่อยๆ จึงไม่แปลกที่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมไม่อยากให้เปลี่ยน”คำถาม-ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือใคร?

อ่านเพิ่มเติม >