ฉบับที่ 139 กระแสต่างแดน

ความสะดวกต้องมาก่อน? พาคุณผู้อ่านไปดูสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะในจีนกันบ้าง ข่าวว่ามีอุบัติเหตุบ่อยไม่แพ้ที่เมืองไทย แต่มันประหลาดกว่าตรงที่เราเลือกเดินทางกับรถทัวร์เพราะมันถูก แต่คนจีนเขานิยมเดินทางด้วยรถทัวร์กันมากที่สุดทั้งๆที่ตั๋วรถทัวร์แพงกว่าตั๋วรถไฟด้วยซ้ำ เหตุเพราะเวลาของรถทัวร์มันช่างเหมาะกับการใช้ชีวิตเสียจริงๆนะพี่น้อง ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาซื้อของไปขาย ตัวอย่างเช่น รถทัวร์ระหว่างลินเฮกับปักกิ่ง มีให้ขึ้นกันทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยค่าโดยสาร 250 หยวน ( ตั๋วรถไฟ ราคาเพียง 150 หยวน เท่านั้น) บรรดาพ่อค้าแม่ขายมาจะถึงปักกิ่งประมาณเที่ยง แล้วเดินจากสถานีขนส่งเข้าตลาดไปหาซื้อของได้เลย ได้ของครบก็กลับมาขึ้นรถที่ออกตอน 16.30 น. กลับบ้านสบายใจเฉิบ แถมบนรถยังมีพื้นให้วางของอีกด้วย ลืมบอกไปว่ารถโดยสารส่วนหนึ่งของที่นี่เขาเป็นรถนอน สองชั้น ขนาด 30 เตียง ส่วนใหญ่พาผู้โดยสารข้ามเมืองผ่านเส้นทางคดเคี้ยว มือใหม่หัดนั่งก็อาจจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่หลายคนที่ใช้บริการอยู่บอกเดี๋ยวก็ชิน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น 13 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 252 คน สาเหตุหลักมากจากโครงสร้างตัวรถและอาการหลับในของพนักงานขับรถนั่นเอง ทางการเขามีกฎให้เปลี่ยนคนขับทุก 4 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงก็อย่างที่เรารู้ๆกัน ยิ่งช่วงเทศกาลด้วยแล้วยิ่งเป็นโอกาสทองที่คนขับเขาจะทำเงิน มีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้าสภาพร่างกายเขาอึดพอ เขาจะสามารถหาเงินได้ ถึง 20,000 หยวน ซึ่งเท่ากับเงินที่หาได้จากการทำงาน 11 เดือนเลยทีเดียว รัฐบาลเขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะลดอุบัติเหตุ ตั้งแต่การบังคับติดกล้องวงจรปิดบนรถ และห้ามรถวิ่งในระหว่างเวลาตี 2 ถึง ตี 5 (ซึ่งจากสถิติแล้วเป็นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด) ไปจนถึงการสั่งเลิกผลิตรถสองชั้นพวกนี้ และไม่รับต่อทะเบียน ขอแสดงความเสียใจกับคนที่อยากไปทดลองขึ้น ลองแสวงหาความตื่นเต้นกันด้วยวิธีอื่นไปก่อนแล้วกัน     เวียดนามอัพเกรดกฎหมายโฆษณา กลับมาที่เพื่อนบ้านใกล้ตัว กฎหมายโฆษณาของเวียดนามฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เขาอนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มหน้าโฆษณาได้ และให้วิทยุ/โทรทัศน์มีโฆษณาได้ร้อยละ 10 ของเวลาออกอากาศ (มากกว่ากฎหมายเดิมซึ่งอนุญาตเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น) ประมาณการณ์ได้ว่าผู้ผลิตจะต้องมีเฮ ... แต่เดี๋ยวก่อน เขาระบุไว้ด้วยว่า ทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริษัทโฆษณาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบถ้าโฆษณาดังกล่าวมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ค่าปรับตามกฎหมายใหม่นั้น มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ใครลงโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ท่านก็มีสิทธิถูกปรับถึง 200 ล้านดอง (เกือบสามแสนบาท) ผู้ชมโทรทัศน์บอกว่าโฆษณาทุกวันนี้ ไม่ไหวจะดู แถมยังโผล่มาไม่เป็นเวล่ำเวลาอีกด้วย เห็นบอกว่าดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องเจอกับโฆษณาแทรกถึง 4 ครั้ง (นี่แสดงว่ายังไม่เคยดูละครไทยกันล่ะสิ) สื่อเวียดนามเขายังมีข้อสงสัย ว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามรู้สึกมั่นใจขึ้นว่าตัวเองจะปลอดภัยจากโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้จริงหรือไม่? ใครจะเป็นผู้รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์? ใครจะเป็นผู้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเวลาที่ผู้ประกอบการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆในโฆษณา? ข่าวเขายกตัวอย่าง การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจากการเข้าไปรับบริการที่มาเรีย คลินิก ซึ่ง โฆษณาว่าเป็นหนึ่งในคลินิกที่ดีที่สุดของเวียดนาม หรือโฆษณาหมวกกันน็อค ที่อ้างว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย ที่มาถูกจับได้ในภายหลังว่าเป็นหมวกกันน็อคชนิดที่ใช้สำหรับการขับขี่จักรยานเท่านั้น ผู้ผลิตถูกปรับไปเพียง 27.5 ล้านดอง (ประมาณ 45,000 บาท) ซึ่งเท่ากับเงินเดือนเพียงสองเดือนของคนชั้นกลางในเวียดนามเท่านั้น     ห้าม “อินเตอร์” แค่ชื่อ ขณะที่เรากำลังจะปั้นตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มาเลเซียเขาก็ตั้งธงจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน เริ่มจากกระทรวงอุดมศึกษาของเขาประกาศเข้มงวดกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน ที่ตั้งชื่อด้วยการใส่คำว่า “นานาชาติ” ว่าต้องมีคุณภาพและมาตรฐานสมระดับ international จริงๆ เขาบอกว่าต่อไปนี้ใครใช้คำที่ว่า ก็แปลว่าต้องมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นต้องมีสนามกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่มด้วย จะมามีเฉพาะห้องเรียน ห้องประชุมไม่ได้แล้ว แถมยังบอกว่ากำลังพิจารณาให้มหาวิทยาลัยตามตึกแถว ที่มีคำว่า “นานาชาติ” อยู่ในชื่อ ถอนคำดังกล่าวออกไปด้วย เพราะสถาบันพวกนี้ ตอนที่มาขอจดทะเบียนก็อ้างว่าขอใช้ห้องแถวเพียงชั่วคราว แต่ 15 ปีผ่านไปก็ยังไม่ขยับขยายไปที่อื่น ปัจจุบันมาเลเซียมีมหาวิทยาลัย “นานาชาติ” อยู่ทั้งหมด 109 แห่ง ในกลุ่มนี้เป็น “ห้องแถว” นานาชาติเสีย 48 แห่ง     ขาดแคลนจิตวิญญาณ การสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ของกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมของเวียดนามพบว่า ร้อยละ 20 ของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยที่นั่นยังไม่มีห้องสมุด อันนั้นไม่เท่าไร แต่เขาบอกว่าอีกร้อยละ 80 นั้นมีห้องสมุดก็จริง แต่มันเป็นห้องสมุดที่ช่าง “ขาดจิตวิญญาณ” เสียนี่กระไร จากการสำรวจ 196 คณะในมหาวิทยาลัยของกระทรวงฯ (จากทั้งหมด 392 แห่ง) พบว่ามีเพียง ร้อยละ 80.4 เท่านั้นมีห้องสมุด ในขณะที่มหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดกระทรวงอื่น หรือภายใต้สังกัดการปกครองท้องถิ่นนั้น มีสถิติการมีห้องสมุดสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 40 ในกลุ่มนี้ ที่มี “ห้องสมุดอิเล็กทรอนิ กส์” ให้นักศึกษาได้ใช้กัน ผู้บริหารคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาแห่งฮานอย บอกว่านี่แหละคือสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ณ ปัจจุบัน แม้แต่ข่าวห้องเรียนหรืออุปกรณ์การศึกษาไม่เพียงพอ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เขายกตัวอย่างว่า นักศึกษาจำนวน 10,000 คน ของมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาและการทำเหมืองก็ต้องใช้ห้องที่เป็นของโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นห้องเรียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการกีฬาแห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ก็บอกว่าปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งคือการมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการซื้อที่ดินมาทำสถานศึกษาด้วย     โชว์ห่วยแดนภารตะ  ผู้อ่านฉลาดซื้อคงจะได้ยินข่าวเรื่องรัฐบาลอินเดียยินยอมให้ห้างค้าปลีกข้ามชาติ อย่างวอลมาร์ท ของสหรัฐฯ หรือเทสโกของอังกฤษเข้าไปตั้งสาขาในแดนภารตะที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคนได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะโชติช่วงเท่าที่ควร แน่นอนอยู่แล้วว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจ เพราะตามถนนหนทาง ตรอกซอยต่างๆ ที่อินเดียนั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยร้านโชว์ห่วย ที่ถือเป็นกิจการของครอบครัว สืบทอดกันมากจากรุ่นสู่รุ่น ข้อมูลของสหพันธ์ผู้ค้าแห่งอินเดีย ระบุว่ามีร้านค้าประเภทนี้กว่า 50 ล้านแห่ง และมีผู้คนกว่า 220 ล้านคนที่การทำมาหากินของพวกเขาต้องพึ่งพาร้านเหล่านี้ คนกลุ่มนี้จึงเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ทีเดียว ต้องจับตาดูกันว่ารัฐบาลเขาจะเลือกอย่างไร แม้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจะมองว่า สังคมอินเดียน่าจะไม่ถูกผลกระทบจากการมีห้างเหล่านี้ซึ่งคาดว่าต้องออกไปตั้งอยู่ตามชานเมือง ในขณะที่ร้านโชว์ห่วยดั้งเดิมมีทำเลที่ดีกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับลูกค้า ข่าวบอกว่ารัฐบาลจำกัดให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดได้เฉพาะในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน (ซึ่งไม่น่าจะหายากนักในอินเดีย) ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายสินค้าที่จากท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 30 มาลุ้นกันดูว่าเหตุการณ์จะจบลงคล้ายที่บ้านเราหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >