ฉบับที่ 277 เขียนคำให้ถูกต้องกับราชบัณฑิตยสถาน

        การทำงานในแต่ละอาชีพ บางครั้งจำเป็นต้องใช้เอกสารในการดำเนินเรื่อง อาจจะอยู่ในรูปแบบบันทึกข้อความ โครงการ ผลการดำเนินการ เอกสารการขออนุมัติ เป็นต้น ดังนั้นการเขียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น นอกจากจะต้องเล่าเรื่องความเป็นมาได้แล้ว การเขียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการเขียนเอกสารสำคัญย่อมจำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้องเสมอ         เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนเอกสารเหล่านั้น หลายคนน่าจะเคยสะดุดกับคำบางคำ ที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องเขียนให้ถูกต้องอย่างไร ยิ่งถ้าอยู่ในแผนกที่ต้องให้ความสำคัญกับการเขียนและการสะกดคำที่ถูกต้องแล้วนั้น ยิ่งจำเป็นต้องค้นหาและตรวจสอบคำต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการมีตัวช่วยที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ น่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้ดี         เมื่อต้องการค้นหาและตรวจสอบคำผิดถูก ทุกคนจะนึกถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบคำถูกผิดฉบับออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ที่ https://dictionary.orst.go.th/          อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยีจะถูกนำมาย่อในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เล็งเห็นความสำคัญและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ที่มีชื่อว่า “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” และ “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว         การใช้งานของทั้ง 2 แอปพลิเคชันไม่มีความซ้ำซ้อน เพียงแค่เข้าไปยังหมวดที่ต้องการและค้นหาคำศัพท์เท่านั้น โดยจะอธิบายความแตกต่างของหมวดภายในแอปพลิเคชัน ดังนี้         “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดค้นหาคำศัพท์ หมวดค้นตามหมวดอักษร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ                 “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดอ่านอย่างไร หมวดเขียนอย่างไร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ         ทั้งนี้ หมวดบุ๊กมาร์ก เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้บันทึกคำศัพท์ที่ค้นหาบ่อยหรือมีความพิเศษที่ต้องการเก็บไว้ และที่น่าสนใจ คือ หมวดข้อมูลอื่นๆ ในแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะมีข้อมูลการสอนอ่านพยัญชนะ ตัวเลขบอกเวลา เลขหนังสือราชการ การอ่านเครื่องหมายต่างๆ ฯลฯ อีกด้วย         เพียงแค่มีแอปพลิเคชันของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาเป็นตัวช่วย การสะกดคำให้ถูกต้องก็จะไม่ยากอีกต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >