ฉบับที่ 260 โฆษณาลวงจนเข้าใจผิด หลงเชื่อซื้อบัตรเข้าชมละครเวที

        การโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ย่อมทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนมากมายตามมาเมื่อผู้บริโภคไม่ยินยอมที่จะโดนหลอกลวง  เหตุล่าสุดที่ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ  การโฆษณาขายบัตรเข้าชมการแสดงอัน“เกินจริง” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดังกล่าว          คุณณัฐ ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้มูลนิธิช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทผู้จัดการแสดง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีนาคม ปี 2565 (บริษัทเริ่มขายบัตรในเดือนมีนาคม) จนกระทั่งจัดการแสดงขึ้นในวันที่ 3-19  มิถุนายน ทั้งสิ้นกว่า 46 รอบ         เหตุของความเข้าใจผิดจากการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้อ้างอิงผลงานของอีกบริษัทหนึ่งที่เคยจัดการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำ ประทับใจจนมีผู้รอชมการแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทผู้จัดอ้างว่า เป็น 1ในผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยจัดการแสดงอันเลื่องชื่อดังกล่าว แต่ได้แยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่สำคัญบริษัทผู้จัดยังสามารถใช้พื้นที่ facebook ของอีกบริษัทในการประชาสัมพันธ์ได้  ประการต่อมา การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายบัตรเข้าชมผู้ซื้อบัตรยังรู้สึกว่า เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินจริง   เพราะใช้คำบรรยายที่สร้างความคาดหวังสูง เช่น ‘จัดโดยทีมงานชั้นนำของประเทศ’  พรรณาเทคนิคการแสดงที่ดีเลิศ เช่น ‘เทคนิค Immersive Musical Theater + Deep Experience & Learning  + Spatial Entertainment Design สุดพิเศษที่แรกของโลก’ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเข้าชมการแสดงแล้วไม่ได้เห็นการแสดงเป็นไปตามคำที่โฆษณา และต่างจากตัวอย่าง Treasure  3D ที่โฆษณาในเฟซบุ๊ก         คุณณัฐจึงชักชวนและรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เข้าข่ายหลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเป็นผู้ร่วมเจรจา ซึ่งจนถึงวันที่เข้ามาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิมีรายชื่อผู้เสียหายมีมากกว่า 41 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนบาท          นอกจากคุณภาพการแสดงจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจนรู้สึกว่าถูกหลอกลวงแล้ว มีรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความหละหลวมในการตรวจ ATK ระหว่างจัดการแสดงทั้งที่ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ  รวมถึงการที่ทางทีมผู้จัดการแสดงไม่สื่อสารและหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัย คำถามต่างๆ ที่ผู้ซื้อบัตรได้ถามเข้ามา ปล่อยปละล่วงเลยจนถึงวันจัดการแสดง และเมื่อมีการรวมตัวของผู้ไม่พอใจจำนวนมากก็ยังไม่สื่อสารโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งผู้แทนมารับฟังและเปลี่ยนตัวแทนหลายครั้งจนเรื่องราวไม่คืบ นำสู่การไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ก่อนการเจรจามูลนิธิฯ แนะนำให้กลุ่มผู้เสียหาย รวมรวมข้อเสนอที่ต้องการให้บริษัทผู้จัดการแสดงดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากวันที่ได้ไกล่เกลี่ยกัน คุณณัฐและกลุ่มผู้เสียหายได้ส่งหนังสือเรียกร้องและรวบรวมข้อเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนหลายประการ มูลนิธิจึงได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดการแสดง ขอให้แก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้เสียหาย 3 ข้อ ดังนี้           1. ให้บริษัททำหนังสือขอโทษและชี้แจงข้อคำถามของกลุ่มผู้เสียหาย          2. ให้คืนเงินค่าบัตรชมการแสดงคืนแก่ผู้ร้องที่มีหลักฐานยืนยันเต็มจำนวน         3. ให้ชดใช้ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดจากการชมการแสดง เช่น ค่าเดินทาง เป็นต้น           โดยระบุให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการให้มูลนิธิได้รับรู้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือ หากบริษัทไม่อาจชี้แจง หลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มผู้เสียหายก็จะยกระดับการดำเนินการในขั้นต่อไป           กรณีนี้ มูลนิธิเห็นว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ ไว้ได้อย่างละเอียด ทำให้คำว่า ‘ไม่พอใจคุณภาพของการแสดง’ ที่เป็นนามธรรม ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบริษัทผู้จัด ขอฝากไว้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ความตั้งใจที่จะสื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายย่อมช่วยลดปัญหาไม่ให้บานปลายได้แน่นอน  จึงนำมาเล่าต่อกันเพราะการร้องเรียนกรณีการจัดแสดงทางศิลปะเกิดขึ้นไม่บ่อยและเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคย่อมสามารถใช้สิทธิเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตนเองได้เช่นกัน   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 การแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์

ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไป "ประจาน" คนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  การติดต่อสื่อสารทางระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นมีเว็บไซต์ในลักษณะที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์(Relationship) ระหว่างผู้ใช้ในกลุ่มต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) บนโลกออนไลน์ที่สามารถเชื่อมโยงกันกลายเป็นสังคมเสมือนจริง( Virtual Communities) โดยมีความสัมพันธ์และทับซ้อนกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกของความเป็นจริง เครือข่ายสังคมออนไลน์ ประเภทเว็บไซต์ถือว่าเป็นการให้บริการโดยผู้ใช้สามารถสร้างแฟ้มข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจมีลักษณะสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ โดยผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้อื่นๆ ในระบบเครือข่ายสังคมนั้น เว็บไซต์เครือข่ายสังคม เช่น Facebook ,  Line เป็นต้น  ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่ของวัตถุประสงค์ การใช้งาน รวมทั้งรูปแบบและลักษณะ บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อทางธุรกิจหรือทางวิชาชีพ ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมและความบันเทิง บางเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์แลกเปลี่ยนข้อมูลในลักษณะสื่อผสม ซึ่งในแต่ละเว็บไซต์จะมีลักษณะเฉพาะสำหรับการใช้งานแตกต่างกันออกไป และในปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความนิยมใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์มิได้จำนวนอยู่เฉพาะการใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทำให้การสื่อสารทางเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสังคมปัจจุบัน รูปแบบการสื่อสารในลักษณะสังคมเครือข่ายนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเปิดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ทั้งที่เป็นตัวอักษร บทความ รูปภาพ รวมทั้งการสนทนาและแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมไปถึงเป็นแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้ใช้สามารถช่วยกันสร้างเนื้อหาขึ้นตามความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการ ในความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้น เราอาจแยกพิจารณาออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล  ประเภทที่สอง คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การเผยแพร่ภาพหรือข้อความในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์     ขณะเดียวกันผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต หากเป็นกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตที่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย  โดยหลักแล้วสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนเราจะไม่แตกต่างกับสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่ออื่นๆ  เมื่อมีเสรีภาพเกิดขึ้น เป็นที่แน่นอนว่าเขตแดนของเสรีภาพแต่ละบุคคลย่อมจะชนและทับซ้อนกัน ในบางกรณีกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าเขตแดนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะมีมากจนบางครั้งอาจมีมากเกินไปด้วยซ้ำ ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไปประจานคนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  เช่นมีการแชร์ภาพโปสเตอร์แคมเปญของ Singapore Kindness Movement(ขบวนการสิงคโปร์เอื้อเฟื้อ) เป็นภาพผู้ชายกำลังงีบบนเก้าอี้สำรองบนรถโดยสารสาธารณะ โดยมีผู้หญิงที่กำลังท้องกำลังยืนประจันหน้าอยู่ พร้อมกับคำโปรยว่า "จะแชะภาพ หรือแตะไหล่ปลุก - อยู่ที่ตัวคุณว่าจะเอื้อเฟื้ออย่างไร" หมายความว่า แทนที่จะรีบถ่ายรูปประจานชายคนนี้ เราควรปลุกเขาจะดีกว่าไหม?  เพราะอาจมีเหตุผลอื่นนอกจากจะแย่งที่นั่งคนท้องก็เป็นได้              ความเป็นจริงแล้วสังคมออนไลน์ เปรียบเสมือนคำว่า ‘ดาบสองคม’ ที่มีความหมายว่า การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆ กัน เช่นเดียวกับ หากผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์ได้เล่นสื่อต่างๆ แบบไม่ระมัดระวังคำพูด พาดพิง หรืออาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาจจะต้องรับผิดทางอาญาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14 บัญญัติว่า      “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน       (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน       (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา       (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้       (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”              ซึ่งผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ควรจะรู้และทราบด้วยว่าหากตนเองได้เผยแพร่ภาพหรือกระทำการด้วยวิธีการอื่นใดในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ แล้วทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ แต่ทั้งนี้การจะเป็นความผิดได้ก็จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบตามกฎหมายอีกหลายประการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สาระสำคัญอยู่ที่ว่าผู้โพสต์ หรือแชร์ภาพนั้นมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลอื่นเสียหายหรือไม่อย่างไรหรือเป็นเพียงแค่การใช้สิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นในการแสดงออก  ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยแท้มากกว่า  เพราะไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับผู้กระทำความผิดได้  เนื่องจากมีองค์ประกอบแตกต่างกัน  แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับพบว่ายังมีบุคคลอีกหลายคนใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการนำมาใช้จัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในสื่ออินเทอร์เน็ตที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า   ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน              ดังนั้น หากผู้ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ประสงค์ที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์คงต้องใช้สติก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ต่อไปยังพื้นที่สาธารณะทางออนไลน์ว่า ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือไม่  เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียหายหรือไม่  เป็นการกระทำโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องแล้วหรือยัง  เป็นต้น  “นิ้วเป็นอวัยวะที่เล็กแต่ก็ทำให้คนติดคุกมาก็หลายคนแล้ว อย่าประมาทนะครับ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เหตุผลที่ “สก๊อต” ไม่แสดงวันหมดอายุ

 คุณพรทิพย์ร้องเรียนมาว่า เครื่องดื่มสกัดเข้มข้น สก๊อต เพียวเร่ แสดงฉลากระบุเฉพาะวันที่ผลิต แต่ไม่มีการระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน และการระบุวันที่ผลิตบนฉลากผลิตภัณฑ์บางส่วนพิมพ์ทับอยู่บนรูปภาพเครื่องหมายทางการค้า ขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยตรวจสอบให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนข้างต้นไปถึงผู้ประกอบการคือ บริษัท สก๊อต อินดัสเตรียล(ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)บริษัท สก๊อตฯ มีหนังสือตอบกลับมาว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ข้อ 11.2 (ตามจริงคือ ข้อ 3(11.2)) กล่าวคือ  แสดง เดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภคสำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เข้าข่ายตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงเลือกระบุเฉพาะเดือนและปีที่ผลิตลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนตัวเลขด้านหลังที่ต่อจากเดือนและปีที่ผลิตตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า เลือนรางนั้น เป็นตัวเลขแสดงรหัสสินค้าการผลิตสำหรับใช้ตรวจสอบภายในบริษัทฯ เท่านั้น ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า สำนักงานฯ(อย.) ขอความร่วมมือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีตรวจสอบสถานที่ผลิตบริษัทสก๊อตฯ พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพรุนสกัดเข้มข้น ตราสก๊อตเพียวเร่ และเครื่องดื่มตราสก๊อตเพียวเร่ เท็นเบอร์รี่ ที่ฉลากไม่มีระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน และวันที่ผลิตมีการระบุไว้แต่ไม่ชัดเจน เนื่องจากพิมพ์ทับบนตราสินค้า แต่อาหารประเภทเครื่องดื่มสกัดเข้มข้น มิได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงวันหมดอายุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือกับทางบริษัทฯ ให้แสดงวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ และแสดงวันที่ผลิตให้ชัดเจน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคสรุปว่า อาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน ตามกฎหมายปัจจุบันไม่จำเป็นต้องแสดงวันหมดอายุก็ได้ จะบังคับเฉพาะอาหารที่เก็บได้ไม่เกิน 90 วันเท่านั้นที่ต้องแสดงวันหมดอายุบนฉลาก คำถามคือว่า แล้วชาวบ้านธรรมดาๆ เขาจะรู้ไหมนะว่า อาหารไหนเก็บได้เกินหรือไม่เกิน 90 วัน อันที่จริงหากจะเก็บได้เกิน 90 วัน ก็ควรจะมีขอบเขตอายุการขายอยู่บ้างน่าจะดีกว่ากระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 แฟนคลับเกาหลีแห่ร้อง กลัวทรูจัดคอนเสิร์ต “ห่วย”

“Super Junior the 2nd Asia Tour - Super Show2การแสดงสุดพิเศษ โดยบอยแบนด์สุดฮอท จากประเทศเกาหลี นำเสนอความันส์แบบเต็มรูปแบบกับทัวร์คอนเสิร์ตครั้งที่สองของวง Super Junior ทรู มิวสิค ได้นำพวกเขากลับมาพบแฟนๆ แบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง แบบเต็มอิ่มถึง 2 รอบ”นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความในการโฆษณาการแสดงคอนเสิร์ต Super Show2 ของ ทรูมิวสิค ทรูไลฟ์ โดยระบุถึงช่องทางการจำหน่ายตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตซึ่งจะเปิดการแสดง 2 รอบในเย็นวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 28-29 พฤศจิกายน 2552 แต่กลับไม่ระบุสถานที่ว่าจะเปิดการแสดงที่ไหน เพียงแค่โฆษณาว่าจะมีการแถลงข่าวในเย็นวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2552 และระบุสถานที่ว่าเป็นที่ห้างชื่อดังย่านสยามอย่างชัดเจน ทำให้สมาชิกและแฟนคลับดาราเกาหลีพยายามสอบถามกันให้วุ่น แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดชี้แจงที่ชัดเจน มีเพียงข้อความที่แจ้งว่า“สำหรับรายละเอียดอื่นๆ จะทยอยแจ้งให้ทราบหลังจากที่ได้สรุปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ”ทำให้เกิดเสียงบ่นกันขรม และมีการร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือด้วย อย่างแฟนคลับท่านหนึ่งได้ร้องเรียนมาว่าจากเวบไซต์ที่โพสให้ด้านบน ข้อความโฆษณาคอนเสิร์ตนี้มีการแก้ไขเป็นระยะๆ เมื่อมีผู้บริโภคคอมเมนต์ตอบ (แต่ตอนนี้ก็ได้ปิดรับคอมเมนต์ไปแล้ว) มันหมายความว่า “ทางบริษัททรูฯ ไม่ต้องการความคิดเห็นของทางแฟนคลับเหรอคะ?” รายละเอียดที่ให้ไว้ก็ไม่ได้ชัดเจน 100% (ผังที่นั่ง สถานที่จัดคอนเสิร์ต ฯลฯ) “บอกตามตรงว่า ไม่อยากให้ทางทรูจัดคอนเสิร์ตเกาหลีเลยเพราะที่ผ่านมา (สองครั้งสองครา) จัดงานได้แย่มาก ครั้งแรกเป็นงานคอนเสิร์ตปิดถนนที่ RCA เมื่อสองสามปีก่อนถนนแคบมาก (เคยไปกันใช่มั้ยคะ) แต่แจกบัตรเด็กเป็นพันคน กับมินิคอนเสิร์ตที่พากันมาโชว์แค่สองสามเพลงวันนั้นเด็กเหยียบกัน เป็นลมกันเป็นร้อยนะคะ ไร้ความรับผิดชอบมากๆ เวทีก็เล็กนิดเดียว (แต่ Super Junior มีกัน 13 คน) แค่คนเบียดกัน เวทีก็แทบพังแล้วค่ะ”ครั้งต่อมาเป็นคอนเสิร์ต Super Junior Super Show เมื่อกลางปีก่อนเรียกได้ว่าทางบริษัทไม่มีความพร้อมในด้านใดเลย“ปกติแล้วจะจัดคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตามควรแจ้งหรือประชาสัมพันธ์รายละเอียดอย่างน้อย 3 เดือน ถูกมั้ยคะ แต่บริษัททรูฯ แจ้งภายใน 1 เดือนครึ่งค่ะ แล้วรายละเอียดทุกอย่างของงานก็ไม่ชัดเจนเลย จนกระทั่ง 2-3 วันก่อนเปิดขายบัตรจึงค่อยออกมาบอกรายละเอียดที่(เกือบจะ)ชัดเจนให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้รับทราบซึ่งถ้าหากว่าไม่มีผู้บริโภค (หรือแฟนคลับ SJ) คอยโพสคอมเมนต์ต่อว่า ทางบริษัททรูฯ ก็คงไม่ออกมาแจ้งรายละเอียดอย่างจริงจังและชัดเจนเท่าที่ควร…”นอกจากข้อร้องเรียนนี้แล้วเมื่อเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของทรูไลฟ์ ทรูมิวสิคเองก็พบว่ามีผู้เขียนความเห็นในทำนองต่อว่าเรื่องการไม่บอกรายละเอียดของทรูหลายกระทู้ความเห็น สำหรับการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น เมื่อได้มีผู้ร้องเรียนเข้ามา มูลนิธิได้ทำหนังสือด่วนแจ้งถึงผู้บริหารของทรูเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะหากทรูจัดการคอนเสิร์ตไม่เป็นไปตามที่โฆษณา หรือเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดขึ้น บรรดาผู้ที่ซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตสามารถใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายได้ทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >