ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2562

แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป         ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น         สำหรับตัวเลขสารเคมีค้างสต็อก 29,869.58 ตัน หลังมติถูกแบนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ นั้น พบมากสุดคือ พาราควอต 13,063.69 ตัน รองลงมา ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน Media Disruption ทำคนไทยอ่านมากขึ้น แต่เป็น 'เนื้อหาออนไลน์' มากสุด         สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับรับมือปัญหา Romance Scam         ข้อมูลจาก 'คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย' ภายใต้โครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ระบุขั้นตอนการแจ้งความเกี่ยวกับคดี Romance Scam ไว้ดังนี้        1. ให้ผู้เสียหาย เตรียมเอกสารส่วนตัวเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง        2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง โดยเตรียมหลักฐาน เช่น ปริ๊นต์เอกสารหน้าจอหน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจ ที่พบการกระทำความผิด        3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หน้าจอหรือรูปของบัญชีธนาคารของผู้รับโอน โดยปริ๊นต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย         Romance scam คือ การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านการแชท การส่งข้อความเป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก ยอมเชื่อใจไว้ใจตายใจ จนในที่สุดก็จะโดนขอยืมเงิน หลอกให้ส่งยาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าไอเดียเก็บภาษีความเค็ม        กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้         นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังระบุว่า “ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่  หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”         สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน "กองทุนแสงอาทิตย์" เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ. แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน         19 ตุลาคม โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นและนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าวและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์         “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม เมตตาเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ         กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีชื่อ กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลภูสิงห์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่งดังกล่าว         โรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย - กัมพูชา และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 36,000 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย  ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน โดยในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1,800,000 บาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1,900,000 บาทต่อปี        คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลได้คัดเลือกให้ บริษัท เดชาวุฒิ อินเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ และขณะนี้บริษัท ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว มีขนาดการผลิตไฟฟ้า  35.10 กิโลวัตต์  ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน  90 แผง  ภายใต้งบดำเนินการ 795,000 บาท ซึ่งจากการคำนวณคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่  3.72  ปีเท่านั้น        ขอขอบพระคุณประชาชนทั่วประเทศที่ได้ร่วมบริจาคผ่านบัญชี  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า เลขที่บัญชี 429-017697-4 ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โรงพยาบาลพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพลังจากผู้บริโภค

“กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) หรือ กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลในโครงการฯ โดยการ ขอรับบริจาคจากประชาชน (ใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาล จะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันที ในเฟสที่ 1         ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1 ล้านบาทแรกแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากองทุนได้ไปส่งมอบและทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โดยท่านพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานีผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และประธานกองทุนแสงอาทิตย์  มีเมตตาเล่าถึงที่มาของกองทุนว่ามีความสำคัญ และมีแนวความคิด นี้ได้อย่างไร        กองทุนนี้เริ่มมาจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     แล้วก็เครือข่ายที่ร่วมกันประมาณสิบเครือข่าย 10องค์กร เห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีแนวคิดมีอะไรผลักดันกันไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นเม็ดเป็นผล ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่พูดมันก็ไม่ดี เราก็น่าจะทำด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันทำขึ้นมา เป็นองค์กรขึ้นมา เป็นหน่วยงาน เรียกว่ากองทุนใช่ไหม เป็นกองทุนขึ้นมา และก็ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วม ซึ่งกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้ 7 โรงพยาบาลเป็นหลัก คือโครงการแรกเราจะใช้ 7 โรงพยาบาล แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ 30 กิโลวัตต์ เพื่อจะให้ลดค่าไฟลง เดือนละประมาณ18,000 บาท หรือว่าปีละสองแสนกว่าบาท อันนี้ก็เป็นแนวคิดขึ้นมา แล้วก็มีคณะกรรมการก็ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็มาวางแผนคัดเลือกว่าลงโรงพยาบาลไหน ก็ได้มาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก ที่นี้ก็มีผู้มีจิตศรัทธาขอบริจาค แล้วก็ระบุว่ามาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นหลัก อันนี้ก็เลยได้เริ่มอันดับที่หนึ่ง ส่วนอันดับถัดไปก็จะเรียงลำดับเรื่อยๆ ถ้าครบ ถ้างบประมาณเราครบที่สองเราก็จะลงแห่งที่สองแห่งที่สามไปเรื่อยๆ คือก็จะรอเงินบริจาคเป็นหลัก ทำไมถึงต้องเลือกเป็นโรงพยาบาล ทำไมไม่เลือกเป็นสถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน         ด้วยข้อจำกัดของเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเราต้องพึ่งเงินของบริจาคอย่างเดียว จริงๆ มันทุกที่ๆ ใช้ไฟเป็นหลัก  ก็คือหน่วยงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือว่าที่ไหนที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก อันนี้จุดคุ้มค่าหรือความคุ้มค่าของระบบโซลาร์เซลล์  ระบบผลิตไฟฟ้าใช้เองจะคุ้มมาก แต่ว่าโรงพยาบาล รู้สึกว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าอย่างการที่ระดมทุนวิ่งสนับสนุนหาทุนช่วยโรงพยาบาล ต่างคนก็ต่างช่วยกันถ้าเราทำแสงอาทิตย์เข้าไปอีกก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลงบางส่วน และก็จะสามารถนำไปพัฒนาหรือว่าไปปรับปรุงบริการหรือว่าไปลดไปเติมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็มาเน้นทีโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานอื่นอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าระดับความสำคัญแล้วโรงพยาบาลจะหนักสุด ก็เลยคัดเลือกโรงพยาบาลก่อน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอื่นไม่ทำนะ อันอื่นก็จะทำแต่ว่าขอดูโรงพยาบาลก่อนเพราะว่าด้วยโครงการที่เปิดตัวใหม่ แล้วก็ยังไม่เคยมีมาก่อนก็ทำให้การระดมทุนการบริจาค ก็อาจจะช้านิดหน่อยแล้วการลงทุนหนึ่งครั้ง ในหนึ่งโรงพยาบาลใช้ได้ประมาณนานไหมครับ         ถ้าอายุของอุปกรณ์ แผ่นโซลาร์เซลล์เป็นหลัก  แล้วก็มีตัวอินเวอร์เตอร์  แผ่นโซล่าเซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี อายุการ ใช้งาน แล้วจะค่อยลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประมาณ 25 ปี ยังมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้ ส่วนอุปกรณ์สำคัญอันดับที่สองก็คือตัวแปลงไฟ หรือว่าอินเวอร์เตอร์เขาจะรับประกัน 12 ปี หมายความว่า 12 ปี เราก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ส่วนการซ่อมบำรุง ก็มีครั้งเดียวก็คือเปลี่ยน นอกจากนั้นก็คือการบำรุงรักษา คือรักษาความสะอาดไม่ให้แผ่นมีฝุ่น มีอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างอื่น  เหตุที่เลือกโรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก        แก่งคอยก็อยู่ในเป้าหมาย แล้วก็มีผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในพื้นที่ คือมีคนในพื้นที่ขอบริจาค และก็ระบุว่าให้ติดตั้งที่โรงพยาบาลแก่งคอย เราก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ถ้ามีโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอเข้ามาลักษณะเดียวกันนี้ เราก็จะทำให้เขาก่อน จะมีโครงการต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นอะไรบ้างครับ     สถานที่เป้าหมายต่อไป โรงพยาบาลต่อไปก็จะเป็นที่โรงพยาบาลหลังสวน  ส่วนอันดับที่สามก็จะไป  สังขละบุรี อันนี้ก็จะไล่ๆ กันไปตามลำดับ คือมีเงินบริจาคครบทำได้ตามเป้าหมายคือ 30 กิโลวัตต์   33 กิโลวัตต์ เราก็ทำให้ ทำให้ตามลำดับไป เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณล้านเอ็ด (1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล) แต่จริงๆ แล้วทางผู้ติดตั้งผู้รับเหมาเขาก็ลดราคาให้นะ มีส่วนบริจาคก็คือทำช่วยกัน ไม่คิดกำไร ประมาณนี้ งบจริงๆ ต่ำกว่าล้าน ได้การตอบรับดีไหมในการรับบริจาค การลงทุนเพื่อโรงพยาบาล     ประชาชนให้การเป็นสมาชิกในแฟนเพจ หรือว่าเฟซบุ๊คมันก็ยังไม่เปิดกว้าง เพราะสื่อหลักๆ ก็ยังไม่ค่อยกระจายไปมาก คนยังไม่รู้จักหน้าเฟซของโครงการฯ  ถ้าโครงการนี้คนรู้จักมาก อาจจะมีการช่วยเหลือ มีการระดมทุนเข้ามาช่วย แต่ก็ขยับไปก่อน เหมือนว่าเรามีกำลังแค่นี้เราก็ทำไปก่อน ถ้าครบโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งแล้วมีเป้าหมายที่จะทำโรงเรียนต่อไปนพ.ประสิทธิ์ชัย มังจิตร์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาลร่วมโครงการ        ก็เอาโรงพยาบาลที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กับโรงพยาบาลก็เชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ ตรงนี้อาจจะเป็นธีมที่ว่า  หนึ่งก็คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล  ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรู้จักคุณค่าของพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานที่สะอาด ที่จะมาใช้ตรงนี้นะครับ คือถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ โดยการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนก็จะมีความตระหนักเรื่องนี้ด้วย เข้าใจถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น และประชาชนก็จะได้บุญจากการมาบริจาคให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟเยอะ ก็จะสามารถที่จะมีงบประมาณใช้จ่ายในการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้อีกมากขึ้น โซลาร์เซลล์จะช่วยประชาชนและผู้ป่วยในด้านใดบ้าง         ตรงๆ เลยว่าบริจาคมา อย่างเช่นที่นี่บริจาคมา 33 กิโลวัตต์   ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละประมาณสองหมื่น ปีละประมาณสองแสน แล้วสองแสนนี่เราก็ย้อนกลับไปในการซื้อยา ซื้อเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้ อันนี้ตรงๆ เลยที่ได้จากตรงนี้ที่แก่งคอย 33.75 กิโลวัตต์ คือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ทุกอย่าง เปิดใช้งานวันนี้นะครับ (3 เมษายน 2562) สมมติว่าเราจะต่อขยายเพิ่มไปในอนาคตอีกได้ไหมครับ         เอาจริงๆ ที่นี่ก็ 33 กิโลวัตต์คงจะไม่เพียงพอสำหรับในส่วนโรงพยาบาลแก่งคอย จริงๆ ต้องใช้อีก อีกสักประมาณ 15 เท่า เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายไฟเดือนละประมาณสี่แสน ถ้าใช้ตรงนี้ก็ต้องใช้อีกประมาณสิบกว่าชุด เราก็ค่อยๆ พยายามขยายจุดต่ออื่นๆ อีกต่อๆ ไป ยิ่งขยายได้เยอะเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แล้วสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น สำหรับคนที่อยากบริจาคเพิ่มเติม คุณหมอจะฝากข้อความอะไรบ้างไหมครับ        การบริจาคอันนี้เป็นการทำบุญที่เป็นการทำบุญต่อยอด คือ        บริจาคเสร็จเรียบร้อยไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บริจาคครั้งเดียวมีการใช้งานได้ถึง 25 ปี  ตรงนี้ก็จะเป็นการสะสมบุญ บริจาคทีเดียวก็คือมีบุญไปถึง 25 ปี อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลแล้วเราก็คิดว่ากระตุ้นที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้นด้วยครับ        หนึ่งก็คือ โรงพยาบาลก็เป็นส่วนที่ให้บริการประชาชน ถ้าเกิดสามารถมาบริจาคให้โรงพยาบาลแก่งคอยหรือโรงพยาบาลอื่นได้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชน คนเจ็บป่วยได้ดีขึ้น อย่างที่สองเราคงต้องมาช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ทำให้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากส่วนที่ไม่ได้อยากตัดออกจากธรรมชาติ จากถ่านหิน หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นผลระยะยาว PM 2.5 ก็ลดลง  โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง หมายเหตุ        “กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วนประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด , Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต้องการบริจาคสนับสนุนกองทุนร่วมบริจาคกับกองทุนแสงอาทิตย์ได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 การบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 พระอาทิตย์เป็นของเรา “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อคุณภาพชีวิตทุกคน

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปีกับเรื่องราวดีๆ ของโครงการกองทุนแสงอาทิตย์ และอัพเดทสถานการณ์พลังงานของบ้านเรา กับผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระที่ติดตามและเสนอความเห็นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทางเลือก ปัจจุบันเป็นอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาพลังงานของประเทศไทยทั้งระบบประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ประมาณ15-16 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ปีไหนน้ำมันถูกหรือน้ำมันแพง ซึ่งบางปีขึ้นไปถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันสูงมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าใน 2 ล้านล้านนั้นมันนำเข้า เราพึ่งตัวเองได้ประมาณไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามา ในจำนวน 2 ล้านล้านนี้ ก็จะเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ทีนี้โดยรูปการแล้วพลังงานนี้ก็ถูกผูกขาด พลังงานฟอสซิลมันถูกผูกขาดและรวมศูนย์ และมีผู้ลงทุนอยู่ไม่กี่ราย ในขณะที่บริการให้กับคนทั้งประเทศ ผู้ซื้อมีจำนวนมาก แต่ผู้ผลิตมีน้อยนิดเดียว ผูกขาดก็ส่งผลกระทบหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือเรื่องโลกร้อน ซึ่งเราไปตกลงที่ปารีสเอาไว้จนต้องลด 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ว่าไป หนึ่งโลกร้อน สองสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่าคนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว ผลิตไม่ได้ ผู้ผลิตก็ผูกขาด ผู้ซื้อกระจายทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแดด ลม และชีวมวล ทีนี้แดดกับลมเมื่อก่อนมันแพง โดยเฉพาะแสงแดด พลังงานโซลาร์นี้มันแพงมาก หน่วยหนึ่งเราเรียกว่าสู้ไม่ไหว ส่วนชีวมวลก็เรามีเองของเหลือจากการเกษตร เช่น ปาล์ม ซึ่งมีทะลายปาล์มหรือน้ำเสียจากจำนวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งตัวนี้เราเอาทำเป็นก๊าซชีวภาพได้ มีคุณสมบัติเหมือนแก๊สที่เขาขุดจากใต้ดิน เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่ามันกระจายอยู่ตามท้องถิ่น จังหวัด ใกล้ๆ โรงผลิตน้ำมัน เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ถูก ใช้คำว่าถูกกีดกันจากรัฐ เช่น อ้างว่าไม่เสถียรบ้าง ไม่มั่นคงบ้าง ซึ่งมันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง สายส่งเต็ม ที่เราได้ยินกันอยู่นะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางทีผมใช้คำว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง เช่นคำว่า “ไม่เสถียร” น้ำมันปาล์มซึ่งตอนนี้ออกมาล่าสุด คลิปไม่บอกชื่อผู้ผลิตด้วย ที่บอกมานี้ บอกว่าน้ำมันปาล์มนี้ ของเสียจากน้ำมันปาล์มมันเป็นฤดูกาล แล้วบางฤดูกาลก็ขาด แปลว่าอย่างไง ซึ่งถ้าคุณอนุญาตให้เขาทำ เขาก็สามารถเก็บเชื้อเพลิงไว้ใช้ทั้งปีได้ ปาล์มนี้มันมีฤดูเหมือนกัน แต่ว่านิดเดียวเอง ต่ำสุดกับสูงสุดกระจายกันอยู่ทั้งปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถสต็อกเชื้อเพลิงเอาไว้ได้ พื้นที่เยอะแยะไป แล้วที่ผมไปดูในโรงน้ำมันปาล์มที่กระบี่ พวกทหารพาไปดู ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องกรรมการสามฝ่าย ก็มีฝ่ายทหาร ฝ่ายชาวบ้าน และฝ่ายทุน ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและชาวบ้านค้าน พึ่งไปดูข้อมูลเขาบอกว่าเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชม. 300 วันติดต่อกันไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเอาทั้งปีเหรอ เขาก็จัดการได้ ใช่ไหม จัดการได้ มีหลายโรงที่ขออนุญาตอยู่ ถ้าเขายังไม่ได้รับอนุญาต แล้วเขาอ้างว่าสายส่งเต็ม ที่จริงคำว่าสายส่งเต็มนี้มันเป็นการบิดเบือน ในต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีกฎหมายเป็นระเบียบเลย เขาบอกว่ามันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้ใครใช้ก่อน สายส่งก็เหมือนกับถนนจะให้ใครวิ่งก่อน อย่างในกรุงเทพฯ ห้ามรถสิบล้อวิ่งเวลานั้นเวลานี้ มันห้ามได้ สายส่งก็เหมือนกัน เขาจะให้ผู้ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่เป็นมิตร พลังงานหมุนเวียนนี้ส่งได้ก่อน ข้อที่หนึ่งให้พวกนี้ส่งได้ก่อนโดยที่ไม่จำกัดจำนวน สองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นภาระของคนทั้งประเทศ ข้อหนึ่งส่งได้ก่อน ข้อสองไม่จำกัดจำนวน และข้อสามก็คือว่าถ้าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นก็เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ทีนี้เราก็มาบอกว่ามันเต็ม ที่มันเต็มเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไปให้พลังงานฟอสซิลส่งก่อน ขายได้ก่อน เพราะการบิดเบือนความจริง ที่จริงจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ ทำไมต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ เพราะว่าเชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงแดด พลังงานลม หรือชีวมวลนี้มันกระจายอยู่กับคนทั่วไปๆ ก็ให้เขาผลิตไปก่อน และมันไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วมันก็กระจายรายได้ แล้วมันก็ไปเพิ่มผลิตจากปาล์ม ใช่ไหม มันไปทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นได้ เพราะว่าเขาขายไฟฟ้าได้ เอากำไรจากไฟฟ้าไปหมุนปาล์มได้ ราคาอาจจะสูงขึ้น มีตัวเลขอยู่ แต่ผมจำตัวเลขไม่ได้ เรื่องพลังงานต้องคิดให้เป็นระบบเรื่องของพลังงานมันต้องคิดทั้งระบบ จะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เรื่องกำไรขาดทุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม น้ำเสียคุณปล่อยไป คุณไปทำลายลูกหอยลูกปู ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านอีก อาหารของคนทั้งประเทศอีก ต้องคิดเป็นทั้งระบบเลย  พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนสถานะตอนนี้อยู่ตรงไหน พลังงานทดแทน คำว่าทดแทนนี้ผมค้าน คือคำว่า “ทดแทน” มันไม่มีศัพท์นี้ ที่ถูกต้องใช้ “พลังงานหมุนเวียน” เพราะคำว่า “ทดแทน” ไม่มีนิยาม เอาอะไรไปทดแทนอะไร เอาถ่านหินไปทดแทนนิวเคลียร์ หรือ เอานิวเคลียร์มาแทนก๊าซธรรมชาติ มันก็ทดแทนกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันทำให้เบลอหมด ความหมายมันก็เบลอหมด แท้ที่จริงแล้วก็คือ พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล พลังงานจะมีสองตัวเท่านั้น คือ หมุนเวียน กับ ฟอสซิล ส่วนนิวเคลียร์นี้มันตีความยากนิดหนึ่ง มันจะเป็นนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่ มันจะเป็นหมุนเวียนก็ไม่ใช่ แต่รวมแล้วมันรวมศูนย์มันผูกขาด แล้วมันก็มีน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็พูดสองอย่างคือ ฟอสซิล กับ หมุนเวียน renewable  แปลว่าเอามาใช้ใหม่ได้ มันไม่หมด renew แปลว่า มันเหมือนหางจิ้งจก พอขาดไปมันก็สร้างใหม่ มันไม่หมด        พลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ คือโซลาร์หรือแสงแดด ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะว่าแดดอยู่ที่หัวเรา เราเข้าถึงได้ง่ายมากเลย มีเยอะมาก แต่ฟอสซิลอยู่ใต้ดิน 4-5 พันเมตร มีคนไม่กี่คนในโลกนี้ที่จะใช้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาส่งเสริมตรงนี้ว่า ผู้บริโภคที่เคยถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว เราก็เลยสามารถที่จะผลิตเองได้ด้วย ขายได้ด้วย ผู้บริโภคก็จะกลายมาเป็นเรียกว่าเป็น Pro-Sumer ก็คือ Production บวกกับ Consumer เป็นศัพท์เกิดมา 30-40 ปีแล้ว ของ ท็อปปา ถ้าผมจำไม่ผิดนะ เดวิล ทอปปา เพราะฉะนั้นไฟฟ้านี้ในความเป็นจริงมันสามารถเดินได้สองทาง ภายในสายส่งไฟฟ้าเดินได้สองทาง ไปก็ได้กลับก็ได้ แต่พอเรามาใช้ในบ้านเรา มันแค่ไหลเข้าบ้านเราอย่างเดียว มันไม่ได้ไหลออกจากบ้านเรา แล้วขณะเดียวกันเงินของเราก็ไหลสวนกับไฟฟ้า เงินไหลออกจากกระเป๋าเราไปที่ต้นทาง แต่ไฟฟ้ามาจากต้นทางเป็นพันพันกิโลเมตร จากแม่เมาะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วเงินเราก็ไหลจากกรุงเทพฯ ไปสู่บริษัทไฟฟ้า ซึ่งมันผิดหลัง ทั้งๆ ที่เขาให้เดินสองทางได้ เราเดินสองทางก็คือว่า ทันทีที่เราผลิตเองได้ก็ส่งออก ส่งออกจากหลังคาบ้านเรา พอกลางวันเราผลิตจากโซลาร์เซลล์ ปกติคนส่วนใหญ่เขาไม่อยู่บ้านกัน เราก็ไม่ได้ใช้ไฟในบ้าน เพราะฉะนั้นพอเราผลิตได้มันก็นี้มันก็ต้องส่งไปสาย ตอนกลับบ้าน พระอาทิตย์ก็กลับบ้านเหมือนกัน พอพระอาทิตย์กลับบ้านเราไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อเราไม่มีไฟฟ้าใช้เราก็เอาไฟฟ้าจากสายส่งเข้ามาใช้ แล้วพอสิ้นเดือนก็หักลบกลบหนี้กัน ที่เราส่งออกไปกับที่เรานำเข้ามาใช้มากกว่ากัน คิดบัญชีกัน เรียกว่าเป็น net metering ซึ่งตรงนี้เขาใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าประเทศเคนยา ปากีสถาน อินเดีย อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน ฯลฯ เขาก็ใช้ตัวนี้กันทั้งนั้น ทั่วโลกเขาก็ใช้ตัวนี้กัน แต่บ้านเรานี้ไม่ยอมให้ใช้ เนื่องจากอ้างเหตุผลสารพัด เช่น ไม่เสถียร สายส่งเต็ม ต้องเสียค่าแบ็คอัพไฟฟ้าไว้ให้กับกลางคืน เขาเรียกแบ็คอัพ เพราะว่า พอเราจะใช้ พระอาทิตย์ก็กลับบ้านแล้ว ใช่ไหม ก็ดึงเข้ามาตอนค่ำ ไฟฟ้าเก็บไว้ได้ดึงเข้ามาใช้ ตรงนี้เขาไปอ้างว่าเป็นค่าแบ็คอัพ ซึ่งผมเรียกว่าเป็น ภาษีแดด ตอนนี้รัฐไทยเก็บจากบริษัทใหญ่ๆ อยู่ แต่ในหลังคาบ้านเขาไม่ยอมให้ติด ถ้าติดแล้วไฟย้อนกลับเขาก็จะมาเปลี่ยนมิเตอร์เป็นดิจิทัล ซึ่งทำให้แรงดึงดูดในการที่เราจะติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้มันไม่มี มันก็เลยไม่เกิด ที่เรากำลังทำเรื่องโครงการโซลาร์ กองทุนแสงอาทิตย์นี้ ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ ซึ่งเขาทำกันทั่วโลกแล้ว แต่บ้านเราไม่ทำกองทุนโซลาร์แท้จริงคืออะไรกองทุนโซลาร์นี้เราเริ่มต้นด้วยการหาทุนเพื่อที่จะไปติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล เริ่มต้นโรงพยาบาลก่อน ต่อไปจะเป็นโรงเรียนและเป็นชุมชนต่างๆ ก็ว่าไป ทำไมเราถึงเลือกโรงพยาบาล เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลขาดทุนอยู่ ต้องจ่ายเงินโรงพยาบาลเดือนละเป็นหลายแสน บางทีก็หลายล้าน เพื่อที่จะเสียค่าไฟฟ้า ทั้งๆ ที่หลังคาก็ว่างอยู่ โรงพยาบาลนี่กลางวันก็ใช้ไฟ เสาร์อาทิตย์ก็ใช้ไฟ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรเราจะปล่อยให้พลังงานมันหายไป เราก็มาผลิต ทีนี้เหมือนที่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา พูด เราผลิตไฟฟ้าจากหลังคานี้มันไม่ใช่ได้แค่ไฟฟ้าอย่างเดียว มันได้จิตสำนึกมาด้วย จิตสำนึกของคน ของพยาบาล ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้จิตสำนึกมันสร้างได้ แต่ว่ามันค่อยๆ เกิดจากโครงการเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราหวังว่า “โครงการพลังงานกองทุนแสงอาทิตย์” เริ่มจากจุดเล็กๆ เอาเงินที่คนบริจาค ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็บริจาคให้วัด ส่วนใหญ่นะ ต่อไปนี้ถ้าคิดถึงเรื่องคนยากคนจนทางโรงพยาบาล เราก็มาที่ชุมชนในโรงพยาบาลเขา ให้เขาลดค่าไฟแล้วเอาเงินที่ลดได้ไปซื้อยาซื้อแพมเพิสให้คนไข้ ซึ่งยากไร้อยู่ ก็เป็นการทำบุญที่อยู่ได้นาน โซลาร์เซลลล์นี้จะอยู่ได้ประมาณ 25 ปี เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้เราคิดว่า 1 กิโลวัตต์นี้ประมาณ 35,000 บาท แต่มันอยู่ได้ 25 ปี มันจะได้ 5 เท่า สมมติเราทำบุญไป 100 บาท มันจะทวีคูณไปเป็น 500 บาท เพราะว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมันสูงกว่าการลงทุน การลงทุนนี้คุ้มทุนนี้เขาเรียกว่าประมาณ 5-6 ปีเท่านั้น นี่เป็นการทำบุญในมิติใหม่ เงินเราจะหมุนไปๆ อย่างรวดเร็ว 5 เท่า ซึ่งตอนนี้เราก็มีโครงการที่จะติดอยู่ 7 โรงพยาบาล 30 กิโลวัตต์ ก็คิดๆ ประมาณ 1.1 ล้านต่อโรง 7 โรงก็ประมาณ 7.7 ล้าน ซึ่งตอนนี้เมื่อกี้ดูตัวเลขล่าสุด เปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 29 วันนี้ก็ประมาณ 4-5 วัน ตอนนี้เราได้ 6 หมื่นแล้ว ก็ทยอยเข้ามา ที่สำคัญเงินบริจาคหักภาษีได้ เงินบริจาคหากบริจาคตอนนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาฯ หักของปีนี้ได้ บริจาคปีหน้าก็หักภาษีของปีหน้า ดังนั้นก็ขอเชิญชวนช่วยกันบริจาค เพราะว่าบางโรงพยาบาล เมื่อก่อนที่เชิญหมอมา ผอ.โรงพยาบาลชุมพร บอกว่าโรงพยาบาลเขาถูกจัดระดับเป็นระดับ 7 ถ้าเป็นเอกชนก็ล้มละลายแล้ว เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้อยู่ 85 ล้านจากเงินได้ต่อหัวที่ สปสช.เขาให้มา แล้วหมอเขาก็จะทำให้ลดลงมาแล้วเหลือ 65 เป็นหนี้อยู่ 65 ล้าน แต่บางโรงก็ไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นการช่วยโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการช่วยเชิงโครงสร้างเชิงระยะยาวให้เขาพึ่งตัวเองได้ระดับหนึ่ง แล้วก็ไปสร้างจิตสำนึกให้กับคนของโรงพยาบาลเองด้วยพลังงานโซลาร์จะช่วยโรงพยาบาลประหยัดเดือนหนึ่งกี่เปอร์เซ็นต์30 กิโลวัตต์นี้ก็ประมาณ เอา 30 กิโลวัตต์คูณด้วย 135 ก็จะได้เป็นหน่วยต่อปี แล้วคูณด้วย 4.5 บาท เท่ากับ 18,000 ต่อเดือน แล้วคูณด้วย 12 เท่ากับ 210,000 นี่คือประหยัด 2 แสนต่อปี เอาตัวเลขกลมๆ แล้วมันอยู่ได้ถึง 25 ปี ก็เอา 25 คูณ เท่ากับ 5 ล้าน(จากที่เขาขาดทุนก็จะช่วยตรงนี้) เราลงทุน 1.1 ล้าน ใน 25 ปี เราจะได้ 5.5 ล้าน นี่คือพลังบุญที่มันทวีคูณขึ้นไป(คิดที่ค่าไฟฟ้าราคาอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย)        สถานการณ์ต่างๆ เราจะอัพเดทตลอด สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ได้ thailandsolarfund.org บริจาคที่นั่นแล้วก็มีใบเสร็จออกมาให้ได้เลย ซึ่งออนไลน์ ไม่ต้องมาบริจาคที่มูลนิธิก็ได้ ทั้งโครงการทั้งหมดนี้อยู่ในนามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทันทีที่เราได้ 1.1 ล้าน เราก็จะทำที่โรงพยาบาลแรก ซึ่งยังไม่รู้ว่าโรงพยาบาลไหน  ก็คัดเลือกกันไว้แล้ว ดูความเหมาะสม ดูความกระตือรือร้นของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เขาก็เงินเข้ามาสมทบ คนของเขาตื่นตัวไหม เสร็จโรงที่หนึ่งก็ดำเนินการโรงที่สอง ระหว่างนั้นเราก็รับบริจาคไปเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนด แต่ว่าเดือนมกราฯ นี้เราคาดหวังว่าควรจะได้โรงแรก พี่ตูนวิ่งได้เยอะแยะ แล้วเราเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 15 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีเครือข่ายของตัวเองอยู่ ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณเป็นประธาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าเราจะได้จิตสำนึกของคนเพื่อมาลดโลกร้อน ขณะเดียวกันเราจะส่งแรงให้รัฐขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพราะรัฐกีดกัน net metering อยู่ แต่ถ้ามีกระแสแบบนี้ สร้างกระแสแบบนี้ มีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับการเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์คือตัวบ้านผมนี้ยังไม่ติดเลย เพราะว่าคนที่เขาติดแล้ว คนที่ค้านโรงไฟฟ้า สมมติค้านรัฐหน่อยก็จะถูกกลั่นแกล้ง เป็นที่หมายปอง ถ้าไปติดปุ๊บเขาจะมาถอดมิเตอร์ออกไป ทำให้ไฟฟ้าออกไปไม่ได้ หรือตอนนี้ก็ต้องติดอุปกรณ์ตัวหนึ่งเพื่อไม่ให้ไฟออก มันก็เลยลงทุนไปเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นไม่คุ้มทุน คือคนติดแล้วนี่ลงทุน 1 กิโลวัตต์ ประมาณ 35,000 บาทใช่ไหม ถ้า 600 มันก็ประมาณ 2-25,000 บาท ประมาณนั้น พอติดแล้วมันจะจัดการกันเอง ไฟฟ้าไม่ต้องไปยุ่งมัน จะกระติกน้ำร้อนหรือว่าดูทีวีมันจัดการกันเอง (ลงทุนเล็กๆ อย่างนี้ก่อน) ใช่ แล้วมันจะคุ้มทุนประมาณ 4-5 ปีคือรอเวลาที่จะมีโครงการรับซื้อไฟใช่ ที่ออสเตรเลียเขาประกาศเป็นนโยบายแล้ว ติดแบตเตอรี่ 1 แสนหลัง ภายในกี่ปีผมจำตัวเลขไม่ได้ บ้านละ 2,000 เหรียญที่รัฐจะอุดหนุน  แต่สำหรับประเทศไทยเราไม่รอแล้ว เรารณรงค์แล้ว รณรงค์เรื่องติดโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็สร้างจิตสำนึกสร้างการเรียนรู้ของสังคมไทยว่า เราสามารถพึ่งตัวเองได้ว่าแสงอาทิตย์มีประโยชน์แล้วคนเหล่านี้ คนเล็กๆ เหล่านี้มารวมตัวกันบริจาคคนละร้อยสองร้อยเพื่อไปให้กับโรงพยาบาล ให้เขาเห็นสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันเขาก็เรียนรู้ เมื่อเขาเรียนรู้เขาก็ไปคิดเองได้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เขาควรจะไปผลักนโยบายในระดับรัฐยังไง เขาควรจะปรับปรุงตัวเองยังไง         ผมเคยพูดไว้วันที่แถลงข่าวว่าคนเล็กๆ เหมือนกับผีเสื้อขยับปีก บางจังหวัดสามารถทำให้เกิดพายุทอนาโดได้ แต่มันไม่ได้เกิดทันทีหรอกนะ ขยับปีก ทฤษฎีเขาว่า ใช้หลักผีเสื้อขยับปีกที่ฮองกงวันนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดพายุทอนาโดในสหรัฐอเมริกาในอีก 3 เดือนต่อไป เพราะฉะนั้นของเราไม่ใช่ขยับปุ๊บได้ปั๊บ แต่ตรงนี้มันเป็นการสะสมพลังไปในสังคมว่าคนเล็กๆ อย่างเราก็มีอำนาจ ก็มีพลังที่จะสามารถแสดงพลังออกมาให้สังคมได้เห็น และร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่เราอยากจะเห็น ที่ไม่ร้อน ที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน โลกร้อนเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสต่างแดน

เมาได้... แต่จ่ายด้วยทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เมืองออลีนส์ ประเทศฝรั่งเศส จะมีคนถูกตำรวจจับ 250 ถึง 300 คนเพราะเมาแล้วสร้างความไม่สงบหรือสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อจับตาดูพฤติกรรมของพวกที่เมาข้ามปี เทศบาลเขาต้องจ้างตำรวจพร้อมรถลาดตระเวนเพิ่มเป็นพิเศษ ปัญหาคือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าจ้างหน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาลด้วยคิดสะระตะแล้ว เทศบาลเมืองนี้จึงออกประกาศให้นักดื่มได้ทราบโดยทั่วกันว่า พวกเขาอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับ 120 ยูโร(เกือบ 5,000 บาท) ถ้าถูกพบเห็นว่าออกมาเดินเปะปะตามถนนค่าปรับนี้รวมเฉพาะค่ารถพยาบาลและรถตำรวจ ถ้าต้องเรียกหมอมาดูอาการด้วย เขาก็จะคิดเพิ่มเป็น 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) แต่ไม่ใช่แค่เสียค่าปรับแล้วจบนะ บางรายยังได้แถมโทษจำคุกอีกสาธารณสุขของฝรั่งเศสยอมรับว่าปัจจุบันเยาวชนหันมาเป็นนักดื่มมากขึ้น และไม่ใช่ดื่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พวกนี้รีบดื่มรีบเมาตามกระแสยอดฮิตจากเกมออนไลน์ เน็คนอมิเนชั่น (Neknomination)ร่างกฎหมายใหม่จึงเสนอให้ผู้ที่ชักชวนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี และโทษ 15,000 ยูโร(ประมาณ 609,000 บาท)  เขียวได้อีก การมีโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กรุงเวียนนานี่เขาล้ำไปอีกขั้นด้วยการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแหล่งอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตหายาก เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หอยทาก จิ้งเหลน แมงมุม แมงเม่า แมลงเต่าทอง (ยุโรปเขาหายากจริงนะ)นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับบ้าน 400 หลังคาเรือนแล้ว พื้นที่ประมาณ 2 สนามฟุตบอลของโซล่าฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วยการทำให้ฟาร์มนี้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะร่มเงาและช่องว่างระหว่างแผงมีเหลือเฟือ ที่ต้องเพิ่มคือเทคนิคการตัดหญ้าแบบไม่ธรรมดาที่คงความน่าอยู่สำหรับสัตว์หรือแมลงเล็กๆ เหล่านั้นเวียนนามุ่งมั่นจะเป็นมหานครสีเขียว ซีอีโอของโซล่าฟาร์มแห่งนี้บอกว่า 5 ปีจากนี้ไป บริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านยูโร (ประมาณ 32,600 ล้านบาท) และเกินครึ่งของเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สมาคมสิ่งแวดล้อมออสเตรียกล่าวว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่หลังคาในเวียนนาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ชาวเวียนนาสามารถซื้อแผงโซล่าเซลล์จากบริษัทได้คนละ 10 แผง ในราคาแผงละ 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) จากนั้นให้บริษัทเช่าแผงดังกล่าวในราคา 29.45 ยูโร (1,200 บาท) ต่อแผงต่อปี เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี และเมื่อครบ 25 ปี บริษัทจะซื้อแผงคืนทั้งหมด ถอนทุนลดโลกร้อน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแอบบ็อต พอยนท์ ในรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อรองรับการขนส่งถ่านหิน เป็นที่ถกเถียงกันมากเพราะมันอาจเป็นผลเสียต่อแนวปะการัง “เกรท แบเรีย รีฟ” ที่คนทั้งโลกรู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการ “ร้อน” บรรดาธนาคารข้ามชาติ (เช่น ซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกนเชส ดอยท์ชแบงค์ โกลด์แมนแซคส์ และเอชเอสบีซี) ต่างก็พากันถอนตัวจากการให้กู้ แต่ธนาคารสัญชาติออสเตรเลีย 4 แห่ง ได้แก่ เนชั่นแนลออสเตรเลีย คอมมอนเวลท์ เอเอ็นเซด และเวสแพค กลับตัดสินใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ รวมๆ แล้ว ธนาคารเหล่านี้ให้เงินกู้กับธุรกิจพลังงานฟอสซิลไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท) แล้ว ลูกค้าที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลงทุนของธนาคารจึงพากันไปปิดบัญชี แล้วย้ายไปอยู่กับธนาคารที่มีพฤติกรรมการให้กู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถึงวันนี้มีคนมาปิดบัญชีไปแล้วเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญ (12,000 ล้านบาท) นักวิเคราะห์บอกว่า คนกลุ่มนี้น่าจะคิดถูกแล้ว เพราะแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลกและกำลังเปิดเหมืองเพิ่มอีก 120 แห่ง แต่ทั้งราคาถ่านหินกำลังและความต้องการใช้ถ่านหินกลับน้อยลง จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียก็มีแผนจะปิดโรงงานถลุงเหล็กเพื่อลดมลภาวะในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญ (405,000 ล้านบาท) ของออสเตรเลีย และยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ก็อยู่ในกลุ่มธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากจากผลตอบแทนที่สูง เงินอย่างเดียวไม่พอ เวเนซูเอล่ามีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 114,000 ล้านเหรียญ (3,700,000 ล้านบาท) ต่อปี แต่ประชากรในประเทศกลับขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องจำกัดการซื้อเหมือนที่คิวบาและเกาหลีเหนือ ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าจะต้องถูกสแกนนิ้วมือ (บางร้านใช้บัตรประจำตัวประชาชน) เพราะรัฐต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเกินหนึ่งรอบต่อวัน ใครต้องการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ต้องนำสูติบัตรของลูกมาแสดงด้วย หรือสินค้าที่มีค่าดั่งทอง อย่างนมผง รัฐก็กำหนดให้ซื้อได้สัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมเท่านั้น รัฐบาลบอกว่ามาตรการสแกนนิ้วมือนี้ออกมาเพื่อดัดหลังพวกที่ซื้อสินค้าควบคุมราคาเหล่านี้แล้วนำข้ามชายแดนไปขายทำกำไรที่ประเทศโคลัมเบีย ประธานาธิบดีของเขาให้ข้อมูลว่าร้อยละ 40 ของสินค้าจากเวเนซูเอลาไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดโคลัมเบีย (... แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าร้อยละ 10 นะ) เรื่องของเรื่อง เวเนซูเอลาประกาศให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคา เช่น นม น้ำมัน ข้าว เนื้อไก่ กาแฟ ยาสีฟัน และผงซักฟอก แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ กลับมีของเหล่านี้เพียงร้อยละ 30 ของสต็อคปกติเท่านั้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควบคุมผ่านบาร์โค้ดที่กระจกหน้ารถ เพราะกลัวน้ำมันจะไหลไปที่โคลัมเบียหมด น้ำมันที่เวเนซูเอล่าราคาไม่ถึง 1 เซนต์ต่อแกลลอน แต่ถ้าในโคลัมเบียที่ชายแดนติดกันนั้น น้ำมันราคาเกือบ 4.5 เหรียญต่อแกลลอน) ยังไม่หมดนะ รัฐบาลเขาควบคุมการ “ใช้” น้ำด้วยการหยุดปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 108 ชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่า การควบคุมพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนได้ตรงไหน จริงๆ แล้วควรยกเครื่องเศรษฐกิจทั้งประเทศต่างหาก ลดเปลือก ปีหนึ่งๆ สินค้าต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 207 ล้านตัน และถ้ายังไม่มีความพยายามใดๆ เพิ่มเติม บวกกับกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมใช้ของอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าของผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 2025 ตัวเลขนั้นอาจคิดตามยาก เอาเป็นว่า 1 ใน 3 ของขยะในเมืองหลวงก็คือบรรจุภัณฑ์นั่นเอง บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็กำลังหาทางลดเจ้าหีบห่อพวกนี้ด้วยการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบน้อยลงและเสียค่าขนส่งน้อยลง เช่น ซิสโก้สามารถลดบรรจุภัณฑ์ลงได้ 855,000 กิโลกรัม เดลล์ก็หันมาใช้ฟางและวัสดุที่ทำจากเห็ดเป็นตัวกันกระแทกในกล่องชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แม้แต่ยูนิลิเวอร์ก็ให้คำมั่นว่าจะลดบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือแม้แต่ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะได้เห็นขวดรูปร่างผอมสูงกันมากขึ้น เพราะมันใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าขวดเตี้ยสั้น แถมมีน้ำหนักเบากว่าด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะเน้นการมีมากกว่าหนึ่ง “ชีวิต” เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือการไม่ต้องผลิตมันออกมาแต่แรกนั่นเอง เพราะมันดีกว่าการตามไปเก็บตอนหลังเห็นๆ

อ่านเพิ่มเติม >