ฉบับที่ 199 แพ้ยา ใครรับผิดชอบ

คุณชัยเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอที่โรงพยาบาลวิภาวดี โดยก่อนผ่าตัดแพทย์ได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ซึ่งเขาก็รับทราบและตกลงรับการรักษา หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วย คุณชัยมีอาการปวดแผล พยาบาลจึงได้ฉีดยาแก้ปวดให้ หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปประมาณ 5 นาที เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคุณชัยเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก  ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบาก เหมือนมีอะไรติดในคอ จึงเรียกให้พยาบาลกลับมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการชงน้ำขิงให้เขาดื่ม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอให้แทน อย่างไรก็ตามอาการของคุณชัยกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มหายใจไม่ออก หน้า ลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด ทำให้พยาบาลรีบนำคุณชัยเข้าห้องไอซียู และภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้ยา ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลนั่นเองหลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล คุณสุชัยก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อพบว่า ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เขาจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้คุณชัยชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยาจะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้คุณสุชัยไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ทางโรงพยาบาลให้คุณชัยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 200,000 กว่าบาท โดยเป็นยอดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการแพ้ยา ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เห็นว่าการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วย เพราะแพทย์ควรมีความระมัดระวังต่อการรักษามากกว่านี้ หรือควรสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยาบรรเทาอาการปวดแผลเป็นอาการแพ้ยา และรีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายเป็นความประมาทเลินเล่อก็ได้ และทางโรงพยาบาลควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ป่วย รวมทั้งคุณชัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามที่ตกลงกับโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ฯ จึงช่วยส่งหนังสือแจ้งโรงพยาบาลให้ระงับการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย โดยขณะนี้กำลังรอการตอบกลับจากโรงพยาบาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม

  ผู้ป่วยรายหนึ่งไม่สบาย มีอาการไข้ เจ็บคอ จึงไปซื้อยาจากร้านขายยาแห่งหนึ่ง หลังจากรับประทานแล้วปรากฏว่าไข้ยังรุมๆ อยู่ แต่ตามตัวกลับมีผื่นแดงขึ้นเล็กน้อย ด้วยเข้าใจว่ายาที่ได้รับมาไม่ถูกกับโรคจึงได้เปลี่ยนไปซื้อยาจากขายยาอีกร้านหนึ่ง ปรากฏว่าครั้งนี้นอกจากไข้ไม่ลดแล้ว อาการผื่นกลับลุกลามมากขึ้นไปอีก ผิวหนังลอกออกเป็นบริเวณมาก ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลโดยใช้ใบตองรองตามตัวเพื่อไม่ให้เนื้อติดเสื้อผ้า  เหตุการณ์จริงข้างต้นนี้ เป็นอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาการแพ้ยาซ้ำในครั้งที่สองจะยิ่งรุนแรงมากกว่าครั้งแรก ผู้ป่วยรายนี้จะไม่ได้รับอันตรายรุนแรงเลย ถ้าเขามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการแพ้ยาและกลับไปถามชื่อยาที่ร้านขายยาร้านแรก เพราะเขาจะสามารถบอกให้ผู้ขายยาในร้านที่สองทราบได้ว่าตนแพ้ยาอะไร   ถึงเวลาหรือยังที่ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม”   จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ยาโดยไม่รู้จักชื่อจริงๆ ของยา (ที่เรียกว่า “ ชื่อสามัญของยา ”) แต่กลับไปรู้จักแต่ “ ชื่อการค้า ” (หรือชื่อยี่ห้อ) ที่บริษัทพยายามให้เราติดหูติดตา ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ใช้ยาซ้ำๆ กันโดยไม่รู้ตัวจนอาจได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดการแพ้ยาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองแพ้ยาอะไร ก่อให้เกิดอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นบริษัทยา จึงพยายามทำให้ประชาชนติดกับชื่อการค้าของยามากขึ้น โดยเฉพาะยาจากต่างประเทศ (หรือที่บางคนเรียกว่า “ยาฝรั่ง”) ทำให้เราหลงใช้ยาที่แพง ทั้งๆ ที่มียาตัวเดียวกันที่คุณภาพเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่ามาก  ดังนั้นแทนที่ผู้บริโภคอย่างเราจะยอมให้ตัวเองเสี่ยงไปเรื่อยๆ ขอให้พวกเราตั้งสติให้ดี ด้วยคาถาป้องกันตัวคือ “ ก่อนรับยาต้องกล้าถาม ”  ถาม..ถาม..ถาม...ง่ายๆ 4 – 5 ข้อ ดังนี้  1. ชื่อสามัญของยานี้คืออะไร?2. ยานี้มีสรรพคุณอย่างไร?3. ยานี้ใช้อย่างไร?4. ยานี้ต้องระวังอย่างไร? (หมายถึงคำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างๆ)และที่สำคัญอย่าลืมถามข้อที่ 5  หากรับยาจากร้านขายยาแผนปัจจุบันให้ถาม ข้อที่ 5 ด้วยว่า “ เภสัชกรอยู่มั้ย? ” เพราะถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่จะต้องอยู่ทำหน้าที่ของตนในการส่งมอบยาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย  (กฎหมายกำหนดว่าร้านขายยาปัจจุบันทุกแห่ง ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดจำหน่ายยา หากไม่พบ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสภาเภสัชกรรม)

อ่านเพิ่มเติม >