ฉบับที่ 260 ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์

        ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว        ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์  ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา)        เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้         ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น         ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง          เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย          ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้         เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว)        ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน         ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ         ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์         จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้         - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%)         - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์         - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ           - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ        - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ        - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย         - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)         - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ        - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก         - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ         - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์         - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์         อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ         จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง         สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น  Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป         ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน       ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด         2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้         3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด        4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า         5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้         6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย *         8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่         9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้         10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า        11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง         13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน         15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com

อ่านเพิ่มเติม >