ฉบับที่ 105 แซลมอนซูชิ

“ซูชิ” เสน่ห์ข้าวปั้นญี่ปุ่นถ้าพูดถึงแดนอาทิตย์อุทัย เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอดนึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ซูชิ” (Sushi) ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นซูชิหน้าปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาบะ หรืออีกสารพัดหน้า นึกภาพแล้วน้ำลายก็เริ่มสอ ด้วยรสชาติอันโอชะและคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อปลาดิบ ซูชิจึงดูเหมือนจะกลายเป็นอาหารจานโปรดของบรรดานักบริโภคทั้งหลาย เพราะทั้งสะดวกและอร่อย ปัจจุบันร้านขายซูชิผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่ร้านค้าชั้นนำลงมากระทั่งร้านแผงลอยริมฟุตบาท   แม้หลายคนนิยมชมชอบการกินซูชิ แต่ก็คงนึกหวาดๆ กับคำเตือนให้ระวังเชื้อโรคจากการกิน “ซูชิ” โดยเฉพาะหน้าปลาดิบต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ร่วมกับฉลาดซื้อ จึงลองสุ่มสำรวจซูชิหน้าปลาแซลมอน ซึ่งเป็นหน้าปลาดิบที่คนไทยนิยมรับประทาน จากร้านค้า 5 แห่ง ได้แก่ โออิชิ ฟูจิ เซน มิกะซูชิ และพรานทะเล ส่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ Fecal coliform, Salmonella, S.aureus และ V.parahaemolyticus ผลการทดสอบ ไม่พบเชื้อ Salmonella ในทุกตัวอย่าง ส่วนเชื้อ Fecal coliform S.aureus และV.parahaemolyticus พบในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด (เว้นแต่จะปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนเชื้อโรคขยายตัว) ผลการทดสอบ ซูชิหน้าปลาแซลมอน ผู้ผลิต     วันที่เก็บตัวอย่าง ราคา (บาท)/ชิ้น สถานที่เก็บตัวอย่าง   ผลทดสอบจุลินทรีย์   Fecal coliform Salmo nella S. aureus V.parahaemolyticus โออิชิ   7/09/52 23 สถานีรถไฟฟ้าสยาม < 3 ไม่พบ   < 10 cfu < 10 cfu ฟูจิ 7/09/52 35 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu เซน 7/09/52 45 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu มิกะ ซูชิ 7/09/52 15 โลตัสอ่อนนุช < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu พรานทะเล 7/09/52 10 บิ๊กซีพระรามสอง < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu                             วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในซูชินั้น จะพบเชื้อโรคในปริมาณน้อยมาก แต่การทดสอบนี้ก็ทำเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารฯ และฉลาดซื้อได้เลือกสำรวจและนำมาศึกษาเท่านั้น ผู้บริโภคก็ยังคงต้องระมัดระวัง โดยเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า “ซูชิ” ที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี ภาชนะที่เก็บวัตถุดิบมีการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นละออง และอาหารสดก็ต้องมีการรักษาอุณหภูมิเพื่อมิให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนอาจก่อปัญหาต่อสุขภาพ จะได้รับประทานซูชิกันอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย ฉลาดซื้อแนะนำ1.เลือกร้านค้าที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี2.ควรเลือกซูชิจากร้านที่ขายดี มีการทำแบบสดใหม่จะดีกว่า อีกอย่างมันมีการหมุนเวียนของซูชิออกไปอย่างต่อเนื่อง 3. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อซูชิที่จัดวางไว้เรียบร้อย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผ่านการปรุงแต่งมานานแค่ไหน4.หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกินหน้าที่ปรุงสุกดีกว่าหน้าที่เป็นของดิบ แต่ถ้ายังติดอกติดใจกับรสชาติอาหารดิบๆ ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป 5.ความเย็นสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ ดังนั้นซูชิที่เย็นย่อมดีกว่าซูชิที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ และนั่นแสดงให้เห็นว่าร้านนั้นๆ มีการเก็บรักษาอาหารอย่างเหมาะสม มารู้จักซูชิกันสักนิด...เริ่มแรกก่อนที่ ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้นมีหน้า” จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกนั้น ชาวญี่ปุ่นได้นำข้าวมาอัดเป็นก้อนและนำปลามาวางบนด้านหน้า ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารของพวกเขา ต่อมาเริ่มมีซูชิหน้าต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปลาหมึก กุ้ง ผัก ไข่ เห็ด ฯลฯ จนมีหน้าตาของซูชิให้เลือกมากมายและแพร่หลายไปทั่วอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิงิริซูชิ ซึ่งมีลักษณะเป็นข้าวรูปก้อนวงรี มีปลาดิบ ปลาหมึก กุ้ง ฯลฯ วางไว้ด้านบน ตกแต่งด้วยวาซาบิ สาหร่ายทะเลทำให้อร่อย ดูน่ารับประทาน มักได้รับความนิยมมากที่สุดและหาทานได้ง่ายตามภัตตาคารหรือร้านอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังมีซูชิประเภทต่างๆ อีก ได้แก่ มากิซูชิ ซึ่งมีทั้งแบบห่อข้าวอยู่ด้านในสาหร่าย ห่อสาหร่ายอยู่ด้านใน และห่อเป็นรูปกรวย ส่วน ชิราชิซูชิ จะนำกุ้ง ผัก ไข่ ปลาดิบ ปลาหมึก ฯลฯ โดยหั่นเป็นชิ้นๆ มาเรียงบนข้าวที่ใส่อยู่ในกล่อง รวมถึง โอชิซูชิ เป็นการนำข้าวมาอัดลงในแม่พิมพ์รูปสี่เหลี่ยมตามยาว หั่นพอดีคำและนำปลามาวางไว้บนข้าว และสุดท้ายก็คือ อินะริซูชิ ซึ่งเป็นซูชิที่นำเนื้อมาใส่ในเต้าหู้ที่มีลักษณะเป็นถุง ชนิดของเชื้อก่อโรค- Fecal coliform คือ เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์เลือดอุ่น และเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกันที่อยู่ในอุจจาระคน เมื่อพ่อครัว แม่ครัวที่ประกอบอาหารซูชิทั้งหลายล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ส่งผลให้เกิดโรคท้องร่วงได้- Salmonella เป็นแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่ง มักพบในเนื้อดิบ นม ไข่ ไก่ ปลา กุ้ง ซอสน้ำสลัด ครีมที่ใช้ทำเค้กและของหวาน เป็นต้น เมื่อเชื้อโรค Salmonella ผ่านเข้าไปในลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดบาดแผลเป็นพิษที่ลำไส้ และมักจะแสดงอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงปวดศรีษะ- S. aureus (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เมื่อทานอาหารที่มีเชื้อนี้ปนอยู่ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องร่วงและ ที่สำคัญเชื้อโรคตัวนี้จะสามารถอำพรางตัวในอาหารได้เป็นอย่างดีเชียวแหละ เพราะอาหารจะไม่มีกลิ่น สี หรือรสชาติที่เปลี่ยนไป- V. parahaemolyticus พบมากในอาหารทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเชื้อโรคตัวนี้ก็เป็นแบคทีเรียอีกชนิดที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือทางเดินอาหารอักเสบ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผลได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point