ฉบับที่ 183 เท่าทันแคลอรี่กับ Scannerd Plus

อากาศร้อนอบอ้าวต่อเนื่องแบบนี้ หลายคนคงดับกระหายคลายร้อนด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ โดยเฉพาะน้ำอัดลม น่าจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่จะเลือกหยิบมาบริโภค  ไม่ใช่เพียงแต่แค่น้ำอัดลมเท่านั้น แต่เครื่องดื่มจำพวกที่ให้น้ำตาลเป็นหลักหลายประเภทมักจะถูกเลือกหยิบมาช่วยคลายร้อนด้วยเช่นกัน  ผู้เขียนก็ดื่มน้ำบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเน้นดื่มน้ำเปล่า รอบโต๊ะทำงานจะมีแต่น้ำที่มีรสหวานทั้งนั้น  ดื่มน้ำหวานๆ แล้วชื่นใจดีจริงๆ สุดท้ายผลที่ตามมาก็คือร่างกายบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แถมมาด้วยแคลอรี่มาพุ่งกระฉูด น้ำหนักมีตัวเลขที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำอย่างไรดีล่ะคะ!!   ปรับการบริโภคด่วนค่ะ...แต่การลดการบริโภคน้ำหวานๆ ช่างยากเหลือเกิน ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องหาเครื่องมือมาช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและแคลอรี่ที่จะบริโภคในแต่ละวัน นั่นคือ แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ภายในแอพพลิเคชั่น Scannerd Plus จะมีข้อมูลเครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถบอกปริมาณแคลอรี่  ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมัน โดยเพียงนำสินค้ามาสแกนด้วยแอพพลิเคชั่น ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้านั้นจะขึ้นมาปรากฏ ในแต่ละวันจะบริโภคกี่ชนิดก็ได้ เพียงแค่สแกนและเก็บเป็นข้อมูลไว้  แอพพลิเคชั่นจะคำนวณปริมาณแคลอรี่  ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมันที่ได้บริโภคไปแล้ว พร้อมทั้งบอกปริมาณที่ผู้บริโภคควรได้รับต่อวันไว้ เช่น ปริมาณแคลอรี่ไม่ควรเกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน  ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และปริมาณไขมันไม่ควรเกิน 13 ช้อนชาต่อวัน ในส่วนของแคลอรี่ ถ้ามีการบริโภคในปริมาณที่มากกว่า 2,000 แคลอรี่ต่อวัน แอพพลิเคชั่นจะแนะนำการเผาผลาญส่วนเกิน โดยคิดปริมาณที่ต้องเผาผลาญเป็นนาที ซึ่งมีวิธีการเผาผลาญ 3 รูปแบบ ได้แก่ การวิ่ง การเดิน และการขี่จักรยาน นอกจากการคำนวณในแต่ละวันแล้ว แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ยังเก็บสถิติโดยรวมได้  ทั้งในเรื่องการบอกสถิติการดื่มในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี  ดื่มอะไรมากที่สุด   ครั้งล่าสุดดื่มอะไร จากการตรวจวัดโดยใช้แอพพลิเคชั่น  ทำให้ผู้เขียนได้ทราบตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป  จึงต้องขอกลับมาดูแลตัวเองด้วยการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสักนิด อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ขอแนะนำว่าบริโภคน้ำเปล่าดีที่สุดค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 154 อาหารใส่ปากและการคำนวณแคลอรี่

ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เขียนถึงอาหารที่ควรใส่บาตรให้พระสงฆ์ จากนั้นก็มานึกได้ว่า แล้วอาหารที่ควรใส่ปากเรานั้นน่าจะเป็นอย่างไรดี ความจริงประเด็นนี้หลายท่านคงพอนึกออกแล้ว และบางท่านได้กระทำมาเป็นเวลานานด้วย ในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงเพียงหวังเพื่อกระตุ้นหรือเสนอทางเลือกใหม่ในการหาความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ เนื่องจากผู้เขียนได้ไปพบเว็บหนึ่งบนอินเตอร์เน็ตชื่อ www.nhs.uk NHS (National Health Service) เป็นองค์กรอิสระสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ตั้งขึ้นมาตามพระราชบัญญัติชื่อ Health and Social Care Act 2012 คำว่า “องค์กรอิสระ” นี้เรียกกันเป็นทางการว่า Non Departmental Public Bodies (NDPB) ซึ่งอังกฤษมีเป็นจำนวนมากทั้งใหญ่และเล็ก ทั้งระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น องค์กรอิสระในอังกฤษนั้นรับผิดชอบงานที่ไม่เหมาะจะให้รัฐเป็นผู้กระทำการเอง หรือเพื่อเป็นการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับบ้านเรานั้นองค์กรอิสระที่มีลักษณะเดียวกันคือ “ไทยพีบีเอส” ความน่าสนใจของเว็บนี้คือ มีบทความซึ่งอ่านไม่ยากนัก(แต่จะลำบากสำหรับท่านที่มีอาการภาษาอังกฤษเป็นพิษ) หลายเรื่องซึ่งอาจตอบปัญหาที่ค้างคาใจผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรด้านโภชนาการได้ ที่จะกล่าวถึงในฉบับนี้คือ ในการกล่าวถึงอาหารที่ให้พลังงาน 100 แคลอรี ท่านผู้อ่านสามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ว่าได้แก่อะไร ปริมาณเท่าใดบ้าง ถ้าคำตอบคือ ไม่ ท่านน่าจะไปลองอ่านบทความเรื่อง What does 100 calories look like? ในบทความ What does 100 calories look like? นั้น กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องเข้าใจว่า แคลอรี(ซึ่งความหมายจริง ๆ ทางโภชนาการนั้นคือ กิโลแคลอรี) ซึ่งเป็นหน่วยวัดของพลังงานที่ได้จากอาหารนั้นจำเป็นอย่างไร เพราะถ้าท่านไม่สามารถประเมินได้ว่า การกินอาหารของท่านแต่ละมื้อนั้นท่านได้พลังงานสักเท่าไร โอกาสที่ท่านจะได้รับพลังงานจากอาหารเกินกว่าที่ต้องการและถูกนำไปสะสมในรูปไขมันโดยเฉพาะที่หน้าท้องก็มีมาก ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินเพื่อนบางคนที่พยายามดูแลสุขภาพตนเองพูดเป็นเชิงว่า “วันนี้กินอาหารมากเกินไปหน่อยเพราะมันอร่อยจนอดใจไม่ได้ เดี๋ยวต้องไปวิ่งเพื่อรีดไขมันออกบ้าง” โดยมีความหมายในเชิงว่า จะได้ไม่ต้องกังวลต่อการขึ้นของน้ำหนักตัว ซึ่งร้อยทั้งร้อยมักเอาออกได้ไม่หมด ยกเว้นเพื่อนผู้นั้นเป็นผู้ที่รักในการเล่นกีฬาแบบจริงจัง หลังจากได้ทราบความหมายของคำว่า แคลอรี จากบทความดังกล่าวแล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจมีอาการเหมือนผู้เขียนคือ ลืมคำจำกัดความนี้ได้ในทันทีที่ละสายตาไปอ่านบรรทัดต่อไป เพราะสำหรับผู้เขียนแล้วมันดูไม่มีความหมายอะไรนัก เพราะสิ่งที่อยากรู้นั้นอยู่ในตอนต่อไปของบทความ ข้อมูลหนึ่งที่นักโภชนาการ(ซึ่งผู้เขียนไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนี้) มักบอกกับคนทั่วไปว่า ผู้หญิงควรได้รับพลังงานจากอาหารโดยเฉลี่ยต่อวันคือ 2000 แคลอรี ส่วนผู้ชายนั้นตัวเลขคือ 2500 แคลอรี ข้อมูลนี้ค่อนข้างหยาบมาก เพราะควรบอกเป็นจำนวนแคลอรีต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม เนื่องจากมนุษย์ไม่ว่าเพศใด น้ำหนักตัวควรเป็นไปตามความสูง เช่น สตรีสูง 100 เซนติเมตร ถ้าได้พลังงาน 2000 แคลอรี ก็ย่อมอ้วนได้ ต่างจากสตรีที่สูง 200 เซนติเมตรซึ่งจะดูผอมทันที อย่างไรก็ดี ตัวเลข 2000 และ 2500 ก็ยังเป็นที่นิยมของนักโภชนาการอยู่ดี ก่อนที่จะรู้ว่ากินอะไรจึงจะได้พลังงานที่เพียงพอในแต่ละวัน บทความดังกล่าวได้กล่าวถึงสัดส่วนของพลังงานที่คุณควรได้ในแต่ละวันว่า มื้อเช้าควรให้พลังงานร้อยละ 20 มื้อเที่ยงให้ร้อยละ 30 และมื้อค่ำให้อีกร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 20 นั้นอาจได้จากขนมนมเนยและเครื่องดื่ม ซึ่งก็ดูเป็นธรรมดี เพราะการห้ามมนุษย์กินขนมนั้นเป็นการทารุณจิตใจมาก นักโภชนาการไทยหลายคนนิยมห้ามในเรื่องนี้ จึงทำให้คำปรึกษาในเรื่องการจำกัดน้ำหนักต่อผู้เป็นโรคอ้วนล้มเหลว เพราะมันฝืนธรรมชาติของมนุษย์เกินไป เมื่ออ่านบทความนี้จบผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า สิ่งที่กล่าวในบทความนี้เป็นหลักการง่ายของ food exchange เพื่อให้เราเตือนตัวเองว่า เช้าวันนี้กินขนมมากเกินไปแล้ว ควรลดปริมาณอาหารในมื้ออื่นเพื่อให้ปริมาณพลังงานรวมในวันนั้นไม่เบี่ยงเบนไปจากค่าที่มีการแนะนำ บทความได้ยกตัวอย่างพร้อมรูปภาพปริมาณอาหารที่ให้พลังงาน 100 แคลอรี ซึ่งความรู้นี้เมื่อทำให้ง่ายแล้ว ประชาชนบางส่วนน่าจะใช้ประเมินปริมาณพลังงานที่ได้รับแต่ละมื้อ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมน้ำหนักตัว ส่วนข้อมูลในลักษณะเดียวกันที่เป็นภาษาไทยนั้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีใครสักคนทำไว้บ้างแล้ว แต่จากการเข้าเว็บเจ้าประจำที่มักดูคือ เว็บของสำนักโภชนาการ กรมอนามัยนั้น มีเอกสารให้ดูแต่เข้าใจยากเพราะมองไม่เห็นภาพ ตัวอย่างเช่น ตารางปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว นึกภาพไม่ออกเลยเพราะเป็นตัวเลข ซึ่งต้องมาจากการนำเอาพลังงานจากที่ผู้บริโภคได้รับจากอาหารแต่ละชนิดมาบวกกัน อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลใน google โดยใช้คำว่า อาหารแลกเปลี่ยน (food exchange)  ผู้เขียนก็ได้พบข้อมูลที่มีการทำเป็นตารางว่า อาหารแต่ละชนิดในปริมาณหนึ่งนั้นให้พลังงานเท่าใด ซึ่งน่าจะพอทำให้กะได้ว่าท่านได้รับพลังงานสักเท่าใดในแต่ละมื้อ ท่านผู้อ่านเข้าไปดูตารางนั้นดูได้จาก www.bloggang.com/data/l/lovelydear/picture/1280891409.png ตัวอย่างปริมาณอาหารที่ให้พลังงาน 100 แคลอรี ได้จาก www.nhs.uk ที่น่าสนใจอีกเว็บคือ เว็บของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งมีเอกสารชื่อ รายการอาหารแลกเปลี่ยน เขียนโดย อาจารย์ศรีสมัย วิบูลยานนท์ ซึ่งมีรูปภาพน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ถึงกับทำให้การกะระดับพลังงานที่ได้ในแต่ละมื้อเป็นไปอย่างสะดวกนัก ท่านผู้สนใจเข้าไปดูได้ที่ www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/news_files/12_44_1.pdf ความสามารถในการกะปริมาณพลังงานในอาหารที่บริโภคนั้น เป็นเรื่องน่าจะสำคัญมากในเรื่องสุขภาพของคนไทย ดังนั้นในการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการนั้น น่าจะบรรจุเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้แล้วส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น การกะปริมาณพลังงานจานอาหารแต่ละมื้อก็จะดี //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 พลังงานที่ซ่อนอยู่ในแซนวิชแฮมชีส

ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเวลาที่เราเร่งรีบและหิวไปพร้อมๆ กัน อาหารอะไรจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ไม่แน่ว่าเมนูที่มาแรงเป็นอันดับแรกอาจจะหนีไม่พ้น “แซนวิช” อาหารหลักของคนอังกฤษ ที่ได้แพร่หลายความนิยมมาสู่คนไทยในวงกว้าง เพราะเป็นอาหารที่รับประทานได้อย่างสะดวก (ขนมปังประกบกัน สอดไส้ด้วยเนื้อสัตว์ที่ชอบ ราดซอสที่ต้องการก็เสร็จ) แถมยังอยู่ท้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดของแซนวิช จึงอาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่าอาหารชนิดนี้มีพลังงานน้อย เป็นแค่อาหารว่างแคลอรีต่ำ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปพิสูจน์กันว่า จริงๆ แล้วแซนวิชมีปริมาณไขมันและพลังงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะขอเลือกแซนวิชไส้แฮมชีส ซึ่งเป็นไส้ที่ถูกปากคนส่วนใหญ่มากที่สุดมาทดสอบจำนวน 13 ยี่ห้อสรุปผลการทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แซนวิสไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค) คือยี่ห้อ Bread Talk 395 กิโลแคลอรี เพราะเป็นขนมปังชุบไข่ รองลงมาคือยี่ห้อ S&P 316 กิโลแคลอรี และแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือยี่ห้อ Victory 110 กิโลแคลอรี - สำหรับตัวอย่างแซนวิชไส้แฮมชีสที่มีปริมาณไขมันมากที่สุด(ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)คือ ยี่ห้อ Flavor Field 17 กรัม และปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ Puff & Pie และ UFM ที่มีค่าไขมัน 5 กรัมเท่ากัน- มีแซนวิชไส้แฮมชีส 7 ตัวอย่างที่มีปริมาณพลังงานมากกว่าการรับประทานข้าวสวย 1 จานหรือมากกว่า 240 กิโลแคลอรี แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรับประทาน แซนวิชก็ไม่สามารถเป็นอาหารว่างมื้อเบาๆ แคลอรีต่ำได้       ตามหลักโภชนาการปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี และสำหรับของว่างหรืออาหารว่างควรมีค่าพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการหรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณพลังงานที่เกินความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานสูตรคำนวณพลังงานที่น้อยที่สุดร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือในกรณีที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย สามารถคำนวณได้ดังนี้BMR สำหรับผู้ชาย = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(5 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(6.8 x อายุ)BMR สำหรับผู้หญิง = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัว (กิโลกรัม))+(1.8 x ส่วนสูง (เซนติเมตร))-(4.7 x อายุ)เช่น สมมติให้ ก เป็นผู้หญิง อายุ 22 ปี ส่วนสูง 155 ซม. น้ำหนัก 45 กก. BMR จะเท่ากับ 665+(9.6 x 45)+(1.8 x 155)-(4.7 x 22) = 1,273 กิโลแคลอรี**สูตรคำนวณ Basal Metabolic Rate (BMR) ของ Harris Benedict Formula ในกรณีที่วันนั้นเราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย-----------------------------------------------------------------แซนวิชมาจากไหนจากหนังสือตำนานอาหารโลก คำว่า แซนวิช มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ จอห์น มอนทากิว (John Montague 1781-1792) หรือ เอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกองทัพเรืออังกฤษและมีนิสัยชอบเล่นการพนัน โดยเขาได้คิดค้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยการนำเนื้อประกบขนมปัง 2 แผ่น เพื่อให้นิ้วของเขาไม่มันจนเกิดตำหนิบนไพ่ให้คู่แข่งเดารูปแบบการเล่นได้ ซึ่งไม่นานอาหารดังกล่าวก็ได้รับความนิยมตามโต๊ะพนันของอังกฤษจนแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวอังกฤษอย่างรวดเร็วแม้แซนวิชจะอยู่ท้องแต่มีสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันน้อยไปหน่อย เพราะส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งและไขมัน จึงควรเพิ่มสารอาหารด้วยการเติมผักที่ชอบเช่น ผักสลัด ผักกาดหอม มะเขือเทศ และควรเลือกแซนวิชที่ใช้ขนมปังโฮลวีท (Whole wheat bread) เพราะมีสารอาหารและใยอาหารมากกว่าขนมปังขัดขาว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 167 เช็ค “แคลอรี” ในขนมหวานยอดฮิต

“ฮันนี่ โทสต์”, “เครปเค้ก”, “แพนเค้ก”, “เอแคลร์”, “ชูครีม” “มาการอง” ฯลฯ เหล่านี้คือ เมนูเบเกอรี่สูตรอินเตอร์ที่กำลังฮิตติดเทรนด์สุดๆ ในหมู่บรรดาผู้นิยมขนมหวาน ผู้ซึ่งไม่หวั่นต่อปริมาณน้ำตาลและไขมัน เรียกว่าฮิตขนาดที่ร้านดังๆ มีคนเฝ้ารอต่อแถวซื้อยาวเหยียด บางคนต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ชิม แบบเดียวกับปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อขนมยอดฮิตในอดีตอย่าง “โรตีบอย” และ โดนัท “คริสปี้ครีม” ซึ่งขนมที่เคยฮิตทั้ง 2 ประเภท (ปัจจุบันนี้โรตีบอยไม่มีขายในไทยแล้ว ส่วนโดนัทคริสปี้ครีมหลังขยายสาขาปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว) “ฉลาดซื้อ” ของเราก็เคยนำมาทดสอบดูปริมาณน้ำตาลและไขมันมาแล้ว เมื่อมีของกินมาใหม่และกำลังได้รับความนิยม แบบนี้ “ฉลาดซื้อ” ของเราไม่พลาดที่จะนำมาวิเคราะห์กันดูสิว่า แต่ละร้านแต่ละเมนูให้ พลังงาน น้ำตาล และไขมัน แค่ไหนกันบ้าง   ผลทดสอบค่าพลังงานในตัวอย่างขนมหวานยอดนิยม จากผลวิเคราะห์ที่ได้ จะเห็นว่าบรรดาขนมหวานยอดนิยมทั้งหลาย ล้วนแล้วให้ค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง อย่าง Round & Brown ของร้าน แพนเค้ก คาเฟ่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานถึง 617.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน หรือจะเป็นเมนูยอดนิยมที่สุดในตอนนี้อย่าง ชิบูญ่า ฮันนี่ โทสต์ ของร้าน อาฟเตอร์ยู ที่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานสูงถึง 802.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปกินขนมหวานเหล่านี้ ไม่ได้กินคนเดียวหมด 1 เสิร์ฟ เพราะ 1 จากที่ทางร้านเสิร์ฟมา ก็มักจะช่วยๆ กันกิน ที่เห็นส่วนมาก จาน 1 ก็กินกันที 2 – 3 คน ถ้าเป็นแบบนี้ค่าพลังงานที่ได้ก็จะลดลง ไม่ถึงกับน่ากลัว ถ้าบริหารดีๆ ค่าพลังงานที่ได้จากการกินอาหารใน 1 วัน ก็น่าจะยังไม่เกินกับที่ร่างกายของเราต้องการ(ไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี) แต่เห็นค่าพลังงานแบบนี้แล้ว บางคนที่คิดว่าไหนๆ พลังงานก็สูงแล้วกินมันแทนข้าวไปเลยแล้วกัน ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ดีแน่ๆ เพราะแม้จะให้พลังงานสูงเทียบเท่าอาหารมื้อหลัก แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ขนมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำจากแป้ง น้ำตาล ครีม ยังขาดสารอาหารสำคัญๆ อีกมากที่ร่างกายต้องการ อย่าง โปรตีน วิตามิน ใยอาหาร กินแต่ขนมก็ได้แต่ แป้ง ไขมัน น้ำตาล ถ้าอ้วนขึ้นมาจะหาว่าฉลาดซื้อไม่เตือนไม่ได้นะ ส่วนพวกที่เป็นขนมทานเล่นเป็นชิ้นๆ อย่าง ปารีส เอแคลร์ รส ไอเฟล ที่ 1 ชิ้นให้พลังงาน 306 กิโลแคลอรี ถ้ากิน 2 ชิ้น 612 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง หรืออย่าง ขนมปังหน้าสังขยา จากร้าน มนต์นมสด ที่ปริมาณแคลอรีต่อ 1 แผ่นอยู่ที่ 268.6 กิโลแคลอรี 2 ชิ้นก็จะกลายเป็น 537.2 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าค่อนข้างสูง ประมาณ 1 ใน 4 ของ พลังงานที่ร่างกายเราควรได้รับใน 1 วัน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่กินขนมชิ้น 2 ชิ้น คงไม่อ้วน ถ้าหากมื้อหลักอื่นๆ เรายังกินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน โดยเฉพาะพวกของทอด แล้วยิ่งถ้ากินพวกน้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น ด้วยพลังงานที่เราได้รับมีสิทธิพุ่งทะยาน กินแบบนี้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ไขมันจะมาเพิ่มที่รอบเอว แต่สุขภาพก็จะมีปัญหาตามมาด้วย เทคนิคกินขนมหวานให้มีความสุข สุขใจไม่ทำร้ายสุขภาพ กินขนมให้เป็นขนม อย่ากินโดยคิดว่าจะกินแทนข้าว กินแค่พออร่อย อย่ากินเอาอิ่ม ขนมชิ้นใหญ่ จานใหญ่ อย่ากินคนเดียว แชร์กันกินกับเพื่อนหลายๆ คน ไม่ทำร้ายสุขภาพ แถมประหยัดเงินด้วย เพราะช่วยๆ กันจ่าย กินขนมหวาน อย่ากินคู่กับน้ำหวาน เดี๋ยว น้ำตาล กับ ไขมัน จะทวีคูณ กินของคาวแล้วไม่จำเป็นต้องกินขนมหวานเสมอไป ถ้าอิ่มแล้ว ก็ขอให้พอ เอาไว้กิน มื้อหน้า วันหน้า ก็ได้ กินขนมหวานแล้วอย่าลืมออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะ ลุกไปออกกำลังกายบ้าง เผาผลาญแคลอรี   กินถูกหลัก “พลังงานไม่เกิน” คนที่กลัวอ้วนหรือกำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหลายคนกังวลเรื่องปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอย่างมาก ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดเรื่องการคุมพลังงานจากการกินอาหาร ความจริงแล้วพลังงานถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการทำงานของสมอง ระบบการเต้นของหัวใจ ระบบการหายใจ ล้วนแล้วต้องอาศัยพลังงานที่เราได้จากการกินอาหารและพลังงานบางส่วนที่ร่างกายเราสะสมเอาไว้ ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งหากเราต้องกินอาหาร 3 มื้อต่อ 1 วัน ใน 1 มื้อ ปริมาณแคลอรีที่เราได้จะอยู่ประมาณ 350 – 500 กิโลแคลอรี ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วถือว่าเหมาะสมพอดีกับที่ร่างกายของเราต้องการ แถมยังเหลือพอให้เรากินพวกผลไม้ต่างๆ เป็นว่างของหวานหลังการกินอาหารมื้อหลักได้อีก แต่สาเหตุที่หลายคนน้ำหนักเพิ่มหรือมีรูปร่างอ้วนจากการกิน ส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่เพิ่มมาจาก 3 มื้อหลัก พวกขนมหวาน น้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น พวกนี้แหละคือตัวร้ายที่ทำให้หลายคนอ้วนขึ้น เพราะบรรดาขนมหวาน กับเครื่องดื่มรสหวานทั้งหลายให้พลังงานสูง สูงพอๆ กับอาหารจานหลัก อย่างเมนูเบเกอรี่ยอดฮิตทั้งหลายที่ฉลาดซื้อนำมาทดสอบล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบหลักคือ แป้ง น้ำตาล นม เนย ครีม บางสูตรก็เติมน้ำเชื่อม แยม ช็อกโกแลต เพิ่มความอร่อย เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้ากินขนมพวกนี้บ่อยๆ แล้วพุงน้อยๆ จะเริ่มย้อยออกมา เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ก็กินข้าวแค่ 3 มื้อปกติ แต่ลืมคิดว่าระหว่างมื้อหลักก็กินขนมหวานของว่างจุบจิบอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แบบนี้จะไม่ให้แคลอรีเกินได้ยังไง   ค่าพลังงานในอาหารแต่ละประเภท   ที่มา : การดูแลสุขภาพทางโภชนาการด้วยตนเอง, ดร. บุญศรี   กิตติโชติพาณิชย์ ภาควิชาการพยาบาลสูติ-นารีเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   ปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน   -พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี -โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม) -ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม -กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม -โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม -คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม -ใยอาหาร 25 กรัม -โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม -น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา) ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))   ออกกำลังกายช่วยเผาผลาญแคลอรี ใน 1 ชั่วโมง เราเผาพลังงานด้านได้แค่ไหน วิ่งเร็ว                                       560 กิโลแคลอรี วิ่งช้า (จ๊อกกิ้ง)                           490 กิโลแคลอรี เดิน                                         245 กิโลแคลอรี ปั่นจักรยาน                                420 กิโลแคลอรี ที่มา : http://manycalorie.com/calories-burned-running/

อ่านเพิ่มเติม >