ฉบับที่ 130 ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ความยั่งยืนของอาหาร ที่คุณทำได้

  “ถ้าปีหน้าน้ำมันท่วมอีก ข้าวของก็คงขาดตลาดอีก คนก็ตุนมาม่า ปลากระป๋อง ไข่ พอมีความต้องการเยอะ ราคาของก็แพงขึ้น ทำไมเราไม่คิดกลับบ้าง ซื้ออาหารสดพวกปลา หมู มาทำหมูเค็ม ปลาเค็ม ก็เก็บไว้ได้นานเหมือนกัน ที่สำคัญคือผัก น้ำท่วมเราปลูกกินเองได้ ถั่วงอก ผักบุ้งนี่ก็ปลูกง่ายคุณค่าทางโภชนาการก็เยอะ” แก้วตา ธัมอิน นักเขียนบทกวีคนรุ่นใหม่เผยแนวคิดที่แตกต่าง แต่ลงตัวให้กับฉลาดซื้อได้เห็นในอีกมุมมองของการใช้ชีวิต เพื่อจะมีชีวิตอยู่และอยู่อย่างมีชีวิต ในการข้ามฝ่าวิกฤต ที่อาจอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด ฉลาดซื้อขอบอกเล่ากิจกรรมโครงการรณรงค์ของมูลนิธิชีววิถี โดยผ่านเรื่องราวจากปากของ แก้วตา ธัมอิน ที่วันนี้ไม่ได้มาในบทบาทของกวี แต่มาในบทบาทของเจ้าหน้าที่รณรงค์ เกิดกอ ก่อเมล็ดพันธุ์“โครงการ(ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์) นี้เกิดขึ้นมาเพราะภาวะน้ำท่วมขังที่ยาวนาน บางพื้นที่ เช่น จ.นครสวรรค์ ท่วมนานกว่า 3 เดือนทำให้พื้นที่การเกษตร ทั้งที่นา ที่สวน จนสวนรอบบ้าน ไม้ผล และพืชผักสวนครัว ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เกษตรกรไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกเพื่อการผลิตในรอบต่อไปได้อีกเลย และเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในระยะฟื้นฟู เราจึงรับบริจาคเมล็ดพันธุ์ผัก-ข้าว กิ่งพันธุ์ผัก-ผลไม้ ที่เกษตรกรสามารถเก็บและขยายพันธุ์ไปปลูกต่อได้ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่น พืชผักสวนครัว เมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกเพื่อเป็นรายได้ช่วงหลังน้ำท่วม” นั่นคือที่มาของโครงการดี ดี แบบนี้ แต่จุดหมายหลักๆ ก็คือความพยายามจะสร้างความยั่งยืนด้านอาหารนั่นเอง ไม่ให้เมล็ดพันธุ์ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือบรรษัทไม่กี่บรรษัท เพราะตลาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล ซึ่งเมล็ดพันธุ์นั้นถือเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร ถ้าหากเกษตรกรไม่ได้จัดการเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง สุดท้ายพันธุ์พื้นเมืองก็จะสูญหายไป ความหลากหลาย การเข้าถึงด้านอาหารก็ยากขึ้น ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นที่ทางมูลนิธิชีวิถีเล็งเห็นก็คือ เกษตรกรมีรายได้น้อยเมื่อต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ที่จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม(hybrid) ทั้งหมด แล้วไหนจะต้องติดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดวงจรการเข้าไม่ถึงอาหาร ต้องเข้าเป็นหนี้ และยากจน หมุนวนเป็นวงจร เมล็ดพันธุ์ที่ทางมูลนิธิชีววิถีจับตาและรณรงค์อยู่ก็คือเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด รวมถึงผักพื้นบ้าน ที่พยายามให้พื้นที่เครือข่ายได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายนั่นเอง ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ความยั่งยืนด้านอาหาร พื้นที่เครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่เราทำงานด้วยอย่างจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีการแบ่งปันพันธุ์ข้าวมาให้กัน อย่างคนที่อบรมกับเครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่อยู่จังหวัดกำแพงเพชรก็ปันเมล็ดข้าวมาให้ ถึงแม้มันไม่มากมายแต่ก็ถือว่าเบาแรงกับต้นทุนที่ต้องลงทุนใหม่ ตอนนี้ชาวบ้านต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อายุสั้น เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว เพราะว่าไม่ได้ทำนามารอบหนึ่งแล้ว แล้วข้าวที่ทางเรามีอยู่ก็เป็นข้าวปี ซึ่งต้องใช้เวลานาน ข้าวอายุสั้นจึงเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน เพราะถ้าดูแล้วในฤดูกาลหน้า น้ำก็จะมาอีกแล้ว พฤษภาคม น้ำก็จะมีอีกแล้ว ถึงแม้ทาง.ธ.ก.ส.ที่ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเกษตรกร โดยการนำพันธุ์ข้าว ซีพี 111 มาขายให้ชาวบ้านในราคาถูก แต่ก็ต้องพ่วงปุ๋ย พ่วงยาของเขาไปด้วยพร้อมๆ กัน เรื่องผักที่เรารวบรวมก็เป็นพวกเครื่องเทศต่างๆ เพราะมันตายหมดเลยนะ ทั้งพริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา คือเหมือนห้องครัวของบ้านหายไปเลย เราก็รวบรวมให้ได้เยอะที่สุดแล้วนำไปให้กับชาวบ้าน รวมกันเป็นผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ 12 – 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้นำไปมอบเป็นผ้าป่าให้กับชาวนครสวรรค์ ซึ่งรวบรวมจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน ยกตัวอย่างจังหวัดฉะเซิงเทรา จะทำพวกผักพื้นบ้านเยอะ ก็จะรวมมาให้เยอะ ตอนนี้ก็จะมีพันธุ์พริก มะเขือ ถั่วพู เราจะไม่เพาะเป็นกล้านะ เพราะจะยากตอนขนย้าย ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ไปเลยจะสะดวกกว่า สวนผักคนเมืองที่นครปฐม คลองโยงก็ได้รับผลกระทบนะ ทางเครือข่ายเชียงใหม่ที่จับเรื่องที่ดินก็จะระดมเมล็ดพันธุ์ไปช่วย ชาวบ้านที่ปลูกผักออร์แกนิคที่ลาดหลุมแก้ว ก็ได้รับผลกระทบเยอะก็คิดไว้ว่าน่าจะมีผ้าป่าเมล็ดพันธุ์เพื่อไปช่วยเหลือชาวบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วมด้วย ภาพการเคลื่อนไหวในหลายๆ ส่วนที่เราระดมช่วยเหลือกันเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งน่าจะได้มาพูดกันในเรื่องวิกฤติของอาหาร ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ทั้งเรื่องการจะถูกคุกคามจากบรรษัทด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหนหมด  การพึ่งตัวเองในภาวะวิกฤต ถ้าหากภาวะวิกฤตแบบนี้เกิดขึ้นอีก คุณจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง หลายคนอาจเตรียมตัวไว้แล้วว่าจะตุนอะไรไว้บ้าง ทั้งอาหาร น้ำ แต่สำหรับแก้วตาเธอมีแผนไว้แล้วว่า จะอยู่กับน้ำยังไง “น้ำมาอีก ก็ปลูกผักลอยน้ำเลย หลายคนอาจเตรียมมาม่า ปลากระป๋อง มีน้องคนหนึ่งบ้านอยู่แถวนนทบุรี บอกว่าซื้อไข่เก็บไว้เป็นแข่งเลย ครอบครัวก็พยายามสต๊อกอาหารไว้เพื่อจะผ่านน้ำท่วมไป แต่ว่าไม่ได้คิดเรื่องผัก ไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตคนเราต้องกินผักเหมือนกันนะ กินอาหารกระป๋องเยอะมันก็เบื่อ ขาดคุณค่าโภชนาการด้วยนะ แล้วทำไมไม่ตุนผักไว้บ้างละ อย่างฟักทอง ฟักเขียว นี่ก็เก็บไว้ได้นาน จินตนาการเกี่ยวกับอาหารของคนมันหายไปไหน ทำไมจินตนาการไม่พ้นอาหารกระป๋องใช่ไหม พวกปลาเค็ม ปลาแห้ง เก็บไว้ได้ตั้งเยอะ หน่อไม้ดอง หน่อไม้อัด แต่คนเราจินตนาการไปไม่ได้ ก็ไปแย่งกันซื้อไข่ ซื้ออาหารกระป๋อง อยากมีผักกินสดกินใช่ไหม อ้าวก็เพาะถั่วงอกสิ คือมันต้องคิดถึงการสำรองอาหารในอีกรูปแบบ อ่ะอยากซื้อหมูใช่ไหม เราก็เก็บได้ ซื้อมา ไม่ใช่ไปเก็บในช่องฟรีซในตู้เย็นนะ พอถูกตัดไฟขึ้นมาจะทำไง คุณก็ทำแหนม ทำหมูเค็ม หมูแดดเดียว เห็นไหมทำได้ตั้งหลายอย่างง่ายๆ แต่พอถึงสถานการณ์นั้นจริงๆ คิดอะไรไม่ออกเลย ก็นะมันเป็นเรื่องที่เราต้องจินตนาการกับมันหน่อย แล้วเราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีชีวิต” สำหรับใครที่อยากร่วมทำบุญผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ส่งมาได้ที่ มูลนิธิชีววิถี 125/356 ม.3 หมู่บ้านนราธิป ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 หากเป็นกิ่งพันธุ์ หรือต้นกล้าจะขนมาส่งที่มูลนิธิชีววิถีก็ได้ หรือไม่สะดวกจะให้ไปช่วยขนก็สามารถแจ้งมาได้ที่ 02-9853837-8 หรือ คุณสุบิน 086-9194868,คุณนนทวรรณ 086-1828423 ทำบุญกับคนที่เขาต้องการจริงๆ ด้วยของที่ขาดแคลนจริงๆ ได้บุญเยอะนะเออ 

อ่านเพิ่มเติม >