นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ยาลดเอว…วัตถุทานที่อานิสงส์สูงยิ่ง?

ผมได้รับเอกสารสองชิ้นจากผู้บริโภครายหนึ่ง เล่าว่าได้รับเอกสารนี้จากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ข้อความในเอกสารจั่วหัวว่า “เหตุใดยาลดเอว จึงมีคนสั่งซื้อมากที่สุด” ต่อจากนั้นก็เป็นการตอบคำถามดังกล่าว 10 ข้อ ดังนี้ (1) กำจัดสิวหนองได้อย่างราบคาบ (2) กำจัดเซลล์ดำๆ ที่ทำให้หน้าหมองคล้ำหายไป หน้าใสคืนมา (3) ผู้ที่เดินขาลากเพราะขาไม่มีกำลังให้กินยาลดเอวหายเป็นปลิดทิ้ง เดินวิ่ง ทำนาทำไร่ได้เหมือนเดิม (4) ผู้ที่ขึ้นบันไดไม่ไหว ทานยาลดเอวแล้วเดินขึ้นบันไดตัวปลิว (5) อยากไปวัดแต่นั่งพับเพียบไม่ได้ กินยาลดเอวแล้วนั่งพับเพียบได้อย่างเก่า (6) หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นอก ตกขาว รอบพุง-โคนขาใหญ่ๆ ต้นแขนย้วยๆ ยาลดเอวแก้ไขได้หมด (7) คนผอมก็มาอุดหนุนเพราะเขาเป็นช่างทำผม-รีดผ้า-ตัดผ้า-ยืนขายของทั้งวัน-เดินทั้งวัน ขาไม่มีแรง กินยาลดเอว+ยาแก้เส้นแผลหายหมด (8) คนที่ตามตัวเป็นแผลเป็นตุ่มคล้ายเอดส์ กินยาลดเอว+ยาแก้เส้นแผลหายหมด (9) ผู้คนเขารู้ทั่วกันว่ายาที่ผลิตมาจากสถานพยาบาลไม่ต้องจด อย. ให้ผลิตรักษาคนไข้ได้เลย เพราะสถานพยาบาลเขารับผิดชอบตรงๆ ต่อสุขภาพของเขาอยู่แล้ว ปรีชาโอสถเป็นสถานพยาบาล ไม่ใช่ร้าน ไม่ใช่โรงงาน ทุกคนจึงกินลดเอวได้อย่างสนิทใจ (10) พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดปรารถนาอุปัฏฐากจากเรา ตถาคต จงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด เหมือนได้ปฏิบัติกับเรา” ภิกษุเดินไม่ไหวมากมาย ผู้คนถวายยาลดเอว ฉันแล้วต่างพากันเดินได้ รับบาตรได้ ยาลดเอวกลายเป็นวัตถุทานที่อานิสงส์สูงยิ่ง เหตุ 10 ประการนี้+สรรพคุณอื่นในหน้าหลัง ทำให้ยาลดเอวขายดีที่สุด คนปกติธรรมดาก็ทานได้ (ใหม่ๆ ทานแล้วเพลีย ต้องกินน้ำตาล น้ำหวานช่วย อย่าลืม!)   เท่าที่อ่านมา มันยามหัศจรรย์เลยนะครับ มีการอ้างถึงสรรพโรคและสรรพสงฆ์อีกด้วย ส่วนเอกสารชิ้นที่สองมีการระบุสรรพคุณของยาต่างๆ ที่สถานพยาบาลแห่งนี้มีจำหน่าย โดยระบุชัดเจนว่ายาลดเอวมีสรรพคุณ ขับไขมันทั่วร่างกาย ทำให้ผอมลง ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ปวดเข่า เดินไม่ไหว ขาไม่มีแรง ตกขาว หน้าหมอง แก้สิว (300 บ.) ท้ายเอกสารยังระบุด้วยว่า “ยาทุกขนานคนปกติธรรมดากินได้หมดสิ้น ไม่ตีกับยาโรงพยาบาลด้วย ก็เหมือนกินแกงนั่นแล ไกลแค่ไหนสั่งซื้อยามาได้โดยโอนเงินเข้าบัญชี....” (ระบุทั้งชื่อและหมายเลขบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาแคลาย) แถมระบุรายการยาที่ให้กินร่วมด้วย เช่น กลิ่นตัวแรงมากๆ (หายเด็ดขาดด้วย ยาลดเอว+ละลายไขมัน) ภูมิแพ้ตัวเอง (ยาแก้เส้น+ยาลดเอว+ไต) ปวดข้อ เก๊าท์ (หายเร็วด้วยยาเบอร์1+ยาลดเอว) ลมบ้าหมู/พาร์คินสัน/โรคสั่น (ยาตับสู้+ยาลดเอว+ยาไต) สมองเสื่อม/อัลไซเมอร์ (ยาไต+ยาลดเอว+ยาคลายกล้ามเนื้อ) กรนเสียงดัง (ยาละลายไขมัน) สิว (ยาลดเอว) ผมอ่านแล้วก็งงว่า ผู้ทำเอกสารเผยแพร่ชิ้นนี้ เข้าใจผิดเปล่า เพราะที่บอกว่าสถานพยาบาลให้ผลิตยารักษาคนไข้นั้น ที่ถูกต้องคือต้องเฉพาะคนไข้เฉพาะรายและต้องรักษาที่สถานพยาบาลเท่านั้น การที่มาเร่ส่งขายทางไปรษณีย์แบบที่ระบุในเอกสาร นอกจากจะผิดกฎหมายสถานพยาบาลแล้ว ยังผิดกฎหมายยา ข้อหาผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน รวมทั้งขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ...ใครเห็นเอกสารชิ้นนี้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >