ฉบับที่ 179 สารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้ง

คราวก่อนฉลาดซื้อพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันราในเห็ดหอมแห้ง คราวนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องเห็ดเหมือนเดิม แต่เป็นการทดสอบสารฟอกขาว หรือ Sulphur dioxide ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแทน “เห็ดหูหนูขาว” เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารโปรดของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นแกงจืด ยำแซบหรือเย็นตาโฟ ซึ่งชาวจีนได้ยกย่องให้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ เพราะมีส่วนช่วยในการระบายท้อง และมีธาตุชิลีเนียมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณประโยชน์ที่มากมายของเห็ดหูขาวนั้น อาจต้องเจอกับสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนอยู่ในเห็ดหูหนูขาวด้วย โดยจากการสุ่มตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านมา จะพบปริมาณสารฟอกขาวในอาหารแห้งที่นำมาสุ่มตรวจทุกครั้ง และแน่นอนว่าอยู่ปริมาณที่สูงด้วย     โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับฉลาดซื้อ ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวจากตลาดใหญ่ๆ ในภาคต่างๆ และในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยจากการฟอกขาวที่ปนเปื้อนในเห็ดหูหนูขาว  ผลทดสอบสารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแต่ละยี่ห้อ                                 สรุปผลการทดสอบ- มีตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้งทั้งหมด 4 ยี่ห้อ คือ เอโร่ Aro, Home Fresh Mart, เทสโก้ และ ปลาทอง ที่ไม่พบสารฟอกขาวปนเปื้อนเลย- มีเพียงตัวอย่างเดียว คือเห็ดหูหนูขาวแห้งยี่ห้อ มายช้อยส์ My choice ที่มีปริมาณสารฟอกขาวน้อยกว่า 10 มก./กก.- ตัวอย่างที่เหลืออีก 7 ยี่ห้อ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างทั้งหมด คือ AAA และไม่ระบุยี่ห้อ จากตลาดที่เชียงราย, กิมหยง, บางกะปิ, คลองเตย, เยาวราช และ Food land สาขาลาดพร้าว มีปริมาณสารฟอกขาวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (กระทรวงสาธารณสุขก็ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้พบปริมาณสารฟอกขาว ในอาหารแห้งต่างๆ ได้ไม่เกิน 1,500 มก./กก.) แนะนำวิธีบริโภคเห็ดหูหนูขาวแห้งให้ปลอดภัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิธีการ ลดปริมาณสารฟอกขาวในเห็ดหูหนูขาวก่อนนำไปปรุงอาหาร คือ ควรนำมาล้างน้ำและลวกในน้ำเดือด 2 นาที ซึ่งพบว่าสามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ร้อยละ 90ทั้งนี้สำหรับอาหารแห้งอื่นๆ เช่น ดอกไม้จีน ก็ควรนำมาล้างน้ำ 5 นาทีก่อนนำไปปรุงก็จะช่วยลดการปนเปื้อนได้ หรือใช้วิธีการเลือกซื้ออาหารแห้งที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ และหลีกเลี่ยงการซื้อถั่วงอกหรือขิงซอย ที่ไม่มีดำคล้ำแม้สัมผัสอากาศมานานแล้ว-----------------------------------------------------------สารฟอกขาวคืออะไรสารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล ทำให้อาหารแห้งมีสีน่ารับประทานยิ่งขึ้น แต่ภายหลังได้มีการนำสารดังกล่าวมาใช้ในอาหารหลายชนิดในปริมาณสูง ทำให้เกิดการตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สารฟอกขาวมีพิษต่อร่างกายเราอย่างไรแม้ร่างกายของเราสามารถขับสารดังกล่าวผ่านทางปัสสาวะได้ แต่หากอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ขนมจีน เยื่อไผ่หรือผลไม้อบแห้งต่างๆ เหล่านี้ มีการปนเปื้อนสารฟอกขาวมากเกินกว่าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO/WHO) กำหนดไว้ คือ 0.7 มิลลิกรัม/วัน/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับสารฟอกขาวเกิน 42 มิลลิกรัมต่อวัน ก็สามารถส่งผลให้ผู้ที่รับประทานเกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น แน่นหน้าอก อาเจียน ความดันโลหิตลดลง และในกรณีที่ผู้รับประทานมีความไวต่อสารชนิดนี้บริโภคมากเกินไป หรือบริโภคเกิน 30 กรัม/วัน ก็อาจส่งผลให้ไตวาย หรือเสียชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ผลทดสอบ เห็ดหอม เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายทะเล

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอรายงานผลการทดสอบของแห้งสำหรับปรุงอาหารยอดนิยม 3 ชนิดคือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายทะเลแห้ง ครับผลการทดสอบที่จะนำเสนอคราวนี้มาจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกันยายน และครั้งที่สอง เดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเก็บตัวอย่างจากทั้งในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสด ของพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สตูล และสงขลา เห็ดหอมแห้ง จำนวนรวมของตัวอย่างที่ทดสอบ คือ 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 9 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ตัวอย่าง 1. การทดสอบสารตกค้างทางการเกษตรประเภทยากันรา พบยากันรา (คาร์เบนดาซิม: Carbendazim) 12 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง + ทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ดังนี้ (1) 1.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อและไม่ระบุผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น (2) 0.67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อ และไม่ทราบผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูล (3) 0.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตราตะวัน บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม 2. การทดสอบสารเคมีตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) พบตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 9 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 4 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.016 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณสารเคมีที่พบซึ่งมีค่าสูงกว่า 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง คือ (1) ยี่ห้อเทสโก้ โลตัส ปริมาณที่พบ 0.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาจังหวัดสมุทรสงคราม และ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.035 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ 3. การทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน จำนวน 5 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 3 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 2 ตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 5.42 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งระบุไว้ว่าไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม) โดยมีปริมาณอะฟลาทอกซินทั้งหมดที่พบสูง 3 อันดับดังนี้ (1) ตราคุ้มค่า ของ บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ปริมาณที่พบ 11.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาบางประกอก กรุงเทพฯ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ปริมาณที่พบ 8.1 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ (3) ยี่ห้อ เทสโก้ โลตัส ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กรุงเทพฯ ปริมาณที่พบ 5.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 7 ตัวอย่าง จาก 17 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เชื้อรา (Mold) ซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดในกระบวนการผลิต และมีอัตราเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 1,764.3 โคโลนี/กรัม (เกณฑ์มาตรฐานกรมวิทย์ฯ เท่ากับ 500 โคโลนี/กรัม)2. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่าง (อีก 15 ตัวอย่าง ไม่ได้วิเคราะห์) ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินมาตรฐาน โดยทั้งสองตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบ 2,379.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบเท่ากับ 2,065.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. ผลิตภัณฑ์กว่า 3 ใน 4 ของที่เก็บตัวอย่างไม่สามารถระบุวันผลิตและวันหมดอายุได้ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีอายุแค่ไหน เหมาะสมแก่การบริโภคหรือไม่4. ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากห้างค้าส่งหรือค้าปลีกขนาดใหญ่หรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสด ล้วนมีความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร อะฟลาทอกซิน หรือแม้กระทั่งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่แตกต่างกัน ** อย่างไรก็ตามปริมาณการปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้งที่พบโดยภาพรวมยังถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก และไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายฉับพลันจากการบริโภค ยกเว้น แต่ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะพบอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจจากการบริโภคเห็ดหอมแห้งที่มีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงได้   เห็ดหูหนูขาว เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 16 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน และครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 ครั้งละ 8 ตัวอย่าง) 1.พบการปนเปื้อนของยากันรา – คาร์เบนดาซิม 2 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ทั้งหมดพบในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 12.5 โดยตัวอย่างที่พบ ได้แก่ ยี่ห้อปลาทอง ของ บ. เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสตูล ปริมาณที่พบ 0.282 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดพะเยา ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2.พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 6 จาก 16 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.073 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารเคมีที่พบ มี 2 ชนิดคือ Methamidophos (จำนวน 2 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.28 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ตามลำดับ) และ Chlorpyrifos (จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.0037 – 0.0027 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม, ตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพฯ, ห้างแมคโคร เชียงใหม่, และตลาดเมืองพะเยา 3.พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างทั้งสิ้น 12 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ปริมาณเฉลี่ยที่พบ 1,638.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มี 8 ตัวอย่างที่พบมีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหาร (1,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ดังนี้ (1) ตัวอย่างนำเข้าจากประเทศจีนไม่ทราบยี่ห้อ ที่เก็บจากตลาดนิวกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3,588 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ยี่ห้อ Tai Liang Yao เก็บตัวอย่างจากตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพ ฯ ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,978.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(3) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 3 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,585 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ของ บ. ทริปเปิ้ลทู มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ สาขารังสิต ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,226.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,250.49 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (6) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,183.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,038.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1526.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4.พบสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน 1 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากการเก็บต้วอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม สารพิษที่พบ คือ อะฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปริมาณที่พบ 0.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 1 ตัวอย่างจากทั้งหมด 16 ตัวอย่างที่พบค่าเชื้อรา (Mold) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดจากการผลิตเกินมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ไม่เกิน 500 โคโลนี/ต่อกรัม) ที่จำนวน 5,800 โคโลนี/กรัม โดยเป็นตัวอย่าง ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม2. ผลิตภัณฑ์ที่เก็บส่วนใหญ่ ( 14 จาก 16 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 87.5) ไม่มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุ สาหร่ายทะเลแห้ง เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 22 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 52 จำนวน 7 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 15 ตัวอย่าง) ผลทดสอบ1.ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันรา – คาร์เบนดาซิม ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ2.พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 10 จาก 22 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 52 จำนวน 2 ตัวอย่างและตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 8 ตัวอย่าง ปริมาณเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคปกติจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย3.ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ 4.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ตะกั่ว (Lead) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.57 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนด (ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เมื่อนำมาตรฐานมาเทียบพบว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ตัวอย่างมีค่าตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐาน (ร้อยละ 13.6) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ เขียวธรรมชาติ เก็บตัวอย่างจาก เทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม ปริมาณที่พบ 1.31 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ Seaweed ผลิตโดย Poo tradind and export ,Pinang , Malaysia เก็บตัวอย่างจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 1.88 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อ ใบเขียว ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบเท่ากับ 1.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก แคดเมียม (Cadmium) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบเท่ากับ 1.86 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เกือบสิบเท่าของมาตรฐานอาหารสากลกำหนด (CODEX ใบผัก – 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแคดเมียมสูงกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากตลาดสดมหาสารคาม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 ปริมาณที่พบเท่ากับ 5.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 4.66 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Donghu seaweed เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณที่แคดเมียมที่พบ เท่ากับ 3.93 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองพะเยาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 3.26 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น เดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(6) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเป็นภาษาจีน เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.11 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(9) สาหร่ายทะเลแห้งตราแมกซ์ นำเข้าโดย บจก.แมกซ์เมริตี้ เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 2.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ข้อมูลที่ต้องลงกำกับไปพร้อมกับตาราง • ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดลภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่นคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อ “ของแห้ง”1. ทั้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายแห้ง ส่วนมากเป็นอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงยากที่เราจะทราบเรื่องวันเดือนปีที่ผลิต ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราพอจะทำได้ในการสังเกตคุณภาพของอาหารแห้งเหล่านี้ก็คือ ดูที่บรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ไม่มีร่องรอยฉีกขาด หรือดูไม่สะอาดจนน่าสงสัย2. ขึ้นชื่อว่าอาหารแห้ง ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องอยู่ในสภาพที่แห้งจริงๆ ไม่มีความชื้น เพราะถ้าหากมีความชื้นปนเปื้อนมาในอาหารแห้งที่เราซื้อ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสินค้าตัวนั้นไม่มีคุณภาพ3. เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแห้ง ที่ซื้อมาควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แช่น้ำให้นานๆ ก่อนนำไปปรุงอาหาร ช่วยกำจัดได้ทั้งฝุ่นและแมลงตัวเล็กๆ ที่มักปนเปื้อนมากับอาหารแห้ง รวมทั้งยังช่วยชะล้างสารเคมีบางชนิดได้ด้วย 4. ไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูขาวจนผิดธรรมชาติ เพราะมีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวแน่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point