ฉบับที่ 258 วิธีจัดการสีตกใส่เสื้อผ้าสีขาว

        ฉบับที่แล้วฉลาดซื้อมีวิธีการจัดการกับปัญหากลิ่นของเสื้อผ้าเหม็นอับ มาฉบับนี้ขอต่อเนื่องด้วยวิธีจัดการกับปัญหาเสื้อผ้าสีขาวที่มักโดนสีจากเสื้อสีอื่นๆ ตกใส่มาฝากกันบ้าง         ส่วนใหญ่ปัญหาสีตกใส่ผ้าขาวนั้น สาเหตุมักเกิดจากเวลาที่เราซักผ้าอาจจะลืมแยกผ้าสี ผ้าขาว แล้วนำผ้าทั้งหมดไปแช่และซักรวมกัน  ดังนั้นการป้องกันย่อมดีกว่าการคอยแก้ไข การป้องกันเบื้องต้น มีดังนี้         1.เราควรแยกผ้าสีออกจากผ้าขาวทุกครั้งทำเป็นประจำเพื่อให้ติดเป็นนิสัยยิ่งดี  เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันผ้าสีตกใส่         2. หากซื้อเสื้อผ้ามาใหม่และเป็นเสื้อผ้าสี ให้ลองนำผ้าจุ่มน้ำให้เปียกหมาดๆ และถูที่บริเวณเสื้อ หากมีติดออกมาแสดงว่าต้องรีบนำผ้าแยกออกจากเสื้อผ้าตัวอื่นๆ           3.หากทำตามแบบที่ 2 แล้วยังไม่ชัดเจนให้เอาเสื้อผ้ามาลองแช่น้ำไว้ก่อนเพื่อดูว่าเสื้อผ้าตัวนั้นสีตกหรือไม่ ถ้าตกก็ควรแยกออกจากเสื้อผ้าตัวอื่นๆ เช่นกัน         4. นำเสื้อผ้าสีสดตัวที่ทดลองแช่น้ำแล้วพบว่าสีตกมาแช่ใส่น้ำที่ผสมเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร ทิ้งไว้สัก 6 ชั่วโมงหรือข้ามคืน หลังจากนั้นนำไปซักเพื่อใช้งานตามปกติ ทั้งนี้ หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ได้ผลในส่วนของผ้าสีนั้น  อาจจะต้องเพิ่มปริมาณเกลือมากขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรแยกซักเดี่ยวๆ ไปเลย         แต่ไม่ว่าเราจะมีวิธีป้องกันยังไง ยังไงคนเราก็อาจพลาดกันได้อาจจะลืมบ้างอะไรบ้าง นำเสื้อผ้าสี ผ้าขาวไปปั่นรวมกันในเครื่องซักผ้าจนสีตกใส่ ก็ลองมาดูวิธีการต่อไปนี้         วิธีแรก คือ ถ้าเป็นผ้าขาวที่เพิ่งถูกสีอื่นตกใส่หมาดๆ อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวตามท้องตลาดเป็นอย่างแรกผสมกับผงซักฟอกแล้วแช่ผ้าทิ้งไว้ 15-20 นาที แล้วลองดูว่าดีขึ้นไหม         วิธีที่สอง ตั้งหม้อใส่น้ำบนเตาไฟ ต้มให้เดือดจากนั้นใส่ผ้าที่สีตกใส่ลงไป แล้วตามด้วยน้ำส้มสายชู สักประมาณให้ได้กลิ่นฉุนนิดๆ ทิ้งไว้สักพักจนสีที่ตกใส่จางลงจนออกหมดจด จึงนำออกจากหม้อ และแช่น้ำเย็นพักไว้แล้วนำมาซักใช้ได้ตามปกติ การใช้วิธีนี้หลังจากซักแล้วอาจจะยังคงมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดอยู่จางๆ บ้าง ไม่ต้องกังวลใจไปว่ากลิ่นจะติดไว้ตลอดไป เมื่อซักไปเรื่อยๆ กลิ่นก็จะจางหายไปเอง         วิธีที่สาม นำผงซักฟอก น้ำส้มสายชู ผสมเข้าด้วยกันจากนั้นทาไปบริเวณเสื้อผ้าที่เปื้อน จากนั้นขยี้ที่บริเวณที่เปื้อนและทิ้งไว้ซักพักประมาณ 15-20 นาที หรือมากกว่านั้นก็ได้ หลังจากนั้นนำมาซักและใช้งานได้ปกติ           ทั้งนี้  วิธีต่างๆ ข้างต้น ควรต้องระวังเกี่ยวกับเนื้อผ้าด้วย เนื่องจากลักษณะผ้าบางชนิดอาจจะไม่เหมาะสำหรับใช้น้ำร้อนในการซัก ให้มั่นสังเกตตรงป้ายเสื้อไว้ เพราะมีสัญลักษณ์สำหรับวิธีการใช้ที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเสียหายมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ต้องระวังเรื่องส่วนผสมแปลกๆ ที่นำมามิกซ์กันด้วย เพราะบางอย่างอาจสั่งซื้อมาตามอินเทอร์เน็ตเพื่อความสะดวกสบาย แต่ผลิตภัณฑ์นั้นอาจไม่ได้มาตรฐานหรือมีสารเคมีที่ห้ามผสมรวมกับสารอื่นๆ ดังนั้น ควรอ่านฉลากก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย ข้อมูลจาก  สุดยอดแม่บ้าน : ป้องกันเสื้อผ้าสีตก  https://www.youtube.com/watch?v=SEADSA7qyzohttps://www.cleanipedia.com/thhttps://homeguru.homepro.co.th/6-ways-to-restore-fading-clothes/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เหม็นกลิ่นขี้ยางจากข้างบ้าน

ขี้ยางหรือเศษยาง เป็นสิ่งที่เหลือจากการกระบวนการทำยางก้อนและยางแผ่น ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับยางที่มีสีดำอย่างยางรถยนต์ต่อได้ อย่างไรก็ตามขี้ยางมักมีกลิ่นแรง โดยหากไม่มีการจัดเก็บที่ดี อาจส่งปัญหาต่อบ้านใกล้เรือนเคียงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณกุญชร ได้กลิ่นเหม็นรบกวนจากเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งมาทราบภายหลังว่าสาเหตุของกลิ่นมาจากการที่เพื่อนบ้าน รับซื้อขี้ยางมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำให้เขาต้องการทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่อยากทนกลิ่นเหม็นของขี้ยางอีกต่อไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (4) ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการกระทำผิด ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ. นี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถแจ้งให้ปรับปรุง/แก้ไข  ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และหากล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานก็มีอำนาจสั่งรื้อ/ปรับได้ ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองท้องถิ่นก่อนเบื้องต้น โดยภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการบอกผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งไปแจ้งเตือนคู่กรณีให้มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อย จึงยินดีขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็น

เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็นเราจะคุ้มครองสิทธิตนเองอย่างไรเมื่อพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดี ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคสากลที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ของเรา  และกฎหมายไทยเราก็มีการเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า ใครก็ตามจะใช้สิทธิ หากทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนเกินไปกว่าปกติ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อจัดการความเดือดร้อน ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนเพื่อให้เห็นภาพชัด ก็ขอยกตัวอย่างคดีหนึ่ง โจทก์เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง และบังเอิญเพื่อนบ้านเปิดฟาร์มเลี้ยงสุกร อยู่ไปอยู่มาดูแลไม่ดี เพราะต่อมาได้เลี้ยงสุกรมากขึ้นจึงได้ใช้ผ้าพลาสติกคลุมคอกสุกรแล้วใช้พัดลมดูดเอากลิ่นเหม็นสิ่งปฏิลออกจากคอกสุกรส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นรบกวนสุขภาพและอนามัยของโจทก์ เขาทนไม่ไหว ก็ไปฟ้องคดี ให้เพื่อนบ้านกำจัดสิ่งเน่าเหม็น และย้ายที่เลี้ยงไปที่อื่น  ศาลก็ตัดสิน โดยใช้หลักกฎหมายดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  8309/2548คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 บัญญัติไว้ในกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้สิทธิของตนจนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะใดๆเกินกว่าที่บุคคลทั่วไปจะทนได้ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะนั้นให้มีสุขลักษณะที่ดิน โดยคำฟ้องของ ผ.มีคำขอให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฏิกูลที่รบกวนสุขภาพอนามัยของ ผ.ด้วย แสดงให้เห็นว่าการขจัดความเดือนร้อนที่ ผ.ได้รับอาจทำได้โดยวิธีอื่น หาใช้ต้องขับไล่ ฉ.ตามฎีกาของ ผ. ดังนั้น ที่ ผ.ฎีกาขอให้ขับไล่ ฉ.ให้ขนย้ายสุกรไปเลี้ยงให้ห่างไกลจากบ้านของ ผ.จึงเป็นวิธีการที่เกินกว่าความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผ.ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า อบต.ออกข้อบัญญัติอย่างไร รวมทั้งไม่นำสืบว่า ฉ.ฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวอย่างไร คำขอของ ผ.ที่ให้ ฉ.กำจัดสิ่งเน่าเหม็นอันเกิดจากมูลสุกรเป็นคำขอที่ไม่ชัดเจนพอที่จะบังคับให้ ฉ.ปฏิบัติได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนารมณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 เป็นคนละปัญหากับการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะเข้าแก้ไข คำขอของ ผ.ไม่มีความหมายกว้างเกินไปและไม่ชัดเจนพอที่ ฉ.จะปฏิบัติได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ผ. ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฎิกูลเน่าเหม็นอันเกิดสจากมูลสุกรที่ ฉ.เลี้ยงไว้คำพิพากษาที่ 8309/2548การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่ การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองเมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไปการตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 แก้ปัญหาเท้าเหม็น ส้นเท้าแตก อย่างถูกวิธี

  เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัยในคนที่ต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น ทำให้อับชื้นเพราะอากาศไม่สามารถถ่ายเทได้สะดวก น้ำเหงื่อที่คายออกมาจากผิวหนังจะส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อระเหยออกไม่ได้ กลิ่นเหม็นนี้แน่นอนเกิดจากการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ฝ่าเท้าและรองเท้าหรือถุงเท้าที่อับชื้นทั้งวัน สาเหตุหนึ่งที่พบคือการเลือกใช้ถุงเท้าหรือรองเท้าที่ทำจากวัสดุที่หนาแน่นเกินไป ไม่สามารถระบายความชื้นได้ เช่น รองเท้าที่ทำด้วยพลาสติกหรือใยสังเคราะห์ไนล่อนที่ไม่มีรูระบายอากาศ หรือวัสดุที่ไม่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ ทำให้ฝ่าเท้าชื้นตลอดเวลา รวมทั้งการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าคับและแน่นเกินไป   การจัดการกับถุงเท้า 1 ถุงเท้า ควรเลือกซื้อถุงเท้าที่ดูดซับความชื้นได้ดี และระบายอากาศได้ดี 2 เลือกถุงเท้าที่ไม่คับจนเกินไป 3 เปลี่ยนถุงเท้าที่สะอาดทุกวัน เวลาซักต้องตากให้แห้งสนิท และถ้าซักด้วยน้ำร้อนได้ยิ่งดีเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค 4 ควรพิจารณาใช้แป้งฝุ่นผสมยาต้านเชื้อจุลินทรีย์ โรยผิวเท้าและฝ่าเท้าก่อนสวมใส่ถุงเท้าเป็นครั้งคราวเมื่อพบกลิ่นเหม็น แป้งฝุ่นจะช่วยดูดซับความชื้นได้ดี ในขณะเดียวกันยาต้านเชื้อจุลินทรีย์จะช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่บริเวณฝ่าเท้าและถุงเท้าได้ อย่างไรก็ตามการใช้แป้งฝุ่นผสมยาต้านเชื้อจุลินทรีย์จะไม่ได้ผลหากไม่ยอมรักษาความสะอาดของเท้าและถุงเท้า   การจัดการกับรองเท้า 1 ตรวจสอบผ้าซับที่บุอยู่ภายในรองเท้า รองเท้าหนังมักจะมีผ้าใยสังเคราะห์เป็นไนล่อนบุภายในรองเท้า ซึ่งจะทำให้เท้าอับชื้นได้ง่าย ควรเลือกรองเท้าที่บุภายในด้วยหนังล้วน ซึ่งจะช่วยคายความชื้นได้ดีกว่า 2 เลือกรองเท้าชนิดที่สามารถซักล้าง/ทำความสะอาดได้ และควรทำความสะอาดทุกวัน วางรองเท้าไว้ในที่อากาศถ่ายเท ไม่ความเก็บในตู้รองเท้าที่ปิดมิดชิด ซึ่งเป็นการบ่มเพาะเชื้อโรคได้รวดเร็ว 3 ทุก 2-3 สัปดาห์ ควรทำความสะอาดภายในรองเท้าด้วยผ้าชุบแอลกอฮอล์หมาดๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค 4 ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน ควรเปลี่ยนทุก 2 วัน เพื่อให้รองเท้าได้พักและระบายความอับชื้น   การจัดการกับเท้า 1 ตรวจสอบส้นเท้าว่าแห้งและแตกเป็นขุยหรือไม่ หนังหนาๆ ที่แห้งแตกเป็นขุยจะเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรคได้ง่ายที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชื้นแฉะ หากพบว่าส้นเท้าแห้งเป็นขุย อาจใช้ตะไบหรือหินสำหรับขัดส้นเท้าเพื่อขจัดหนังหนาๆ ให้บางลง หรืออาจใช้ครีมผสมตัวยาซาลิไซลิค แอซิด จากร้านขายยา ทาทุกวันเพื่อลอกหนังที่หนาและแตกออก 2 ล้างเท้าและแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นครั้งละ 10-15 นาที หลังจากซับให้แห้งสนิท หากมีน้ำมันไพลหรือครีมผสมน้ำมันไพล ให้ทาบางๆ ให้ทั่วฝ่าเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามซอกนิ้วเท้า น้ำมันไพลมีสรรพคุณฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ดี นอกจากนั้นยังเป็นน้ำมันหล่อลื่นธรรมชาติ ช่วยให้ฝ่าเท้าไม่แห้งแตกอีกด้วย 3 หากพบอาการผิดปกติ เช่น คัน/แดง อาจใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรย์เท้า ซึ่งมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีขายตามร้านขายยา สเปรย์ให้ทั่วตามซอกนิ้วเท้าหรือบริเวณที่มีปัญหา ควรใช้ยาต่อเนื่องจนกว่าอาการจะหายสนิท หากไม่ดีขึ้นหรือพบการติดเชื้อรุนแรง ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง 4 สำหรับผู้ที่เท้ามีเหงื่อออกมาก ชื้นและแฉะ ลองใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทระงับเหงื่อ ซึ่งมีส่วนผสมของเกลืออลูมิเนียมคลอไรด์ ทาบริเวณฝ่าเท้าและซอกนิ้วเท้า ควรทำความสะอาดเท้าให้สะอาดและซับให้แห้งสนิทก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ ควรใช้ตอนกลางคืนก่อนนอนและล้างออกตอนเช้า ควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 วัน และทุกสองสัปดาห์ แต่หากพบว่าฝ่าเท้ามีอาการอักเสบ คาดว่าน่าจะมีการติดเชื้อ ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อชนิดนี้ แต่ควรไปปรึกษาแพทย์แทน 5 ครีมบำรุงผิวเท้า คนที่ผิวเท้าแห้งและแตก เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วจากข้อแนะนำข้างต้น ควรจะบำรุงผิวเท้าด้วยครีมบำรุงผิวเท้าอย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่ข้นและเหนียว ไม่ต้องกลัวครีมเหนียวเหนอะหนะ เพราะครีมที่ยิ่งข้นและยิ่งเหนียวเหนอะหนะ จะให้ความชุ่มชื้นได้มากและปกป้องผิวได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่าเท้าที่ทั้งแห้งและแตกเป็นขุย หากบำรุงเป็นประจำ ฝ่าเท้าจะไม่กลับมาแห้งแตกอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 ผู้บริโภคร้องฟอร์ดเฟียสต้าเหม็นไหม้

คุณลลิตา ชาวจังหวัดพิจิตร ได้ซื้อรถเก๋งฟอร์ดเฟียสต้าสีน้ำเงินจากศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในราคา 699,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ผ่อนได้ไม่กี่เดือนรถก็มีปัญหาคุณลลิตาบอกว่า ตั้งแต่ได้รับรถมาก็ใช้รถตามปกติ ไม่เคยทำการดัดแปลงใดๆ กับรถเลย แต่ต่อมาไม่กี่เดือนพบอาการผิดปกติของรถ คือขณะที่ขับรถอยู่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ที่หน้าเครื่องยนต์ จึงรับนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิจิตร ศูนย์น แจ้งว่าไม่พบสาเหตุ อาจจะเป็นที่ผ้าเบรค ช่างก็ได้ถอดผ้าเบรคมาขัดและเช็ด แต่อาการเหม็นไหม้ก็ยังมีอยู่“ช่างบอกว่าให้นำรถกลับไปใช้ก่อน ถ้าอาการยังไม่หายให้นำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกที่ได้ซื้อรถมา”เมื่อนำรถกลับมาใช้อาการก็เป็นเหมือนเดิม คุณลลิตาจึงนำรถไปตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลก ในวันนั้นช่างรับรถและเปิดห้องเครื่องปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมา ช่างบอกว่าต้องทิ้งรถไว้เพราะไดร์ชาร์ตไหม้ ช่างบอกว่าจะเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องรออะไหล่มาจากกรุงเทพฯ“ดิฉันไม่มีรถใช้เพราะต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน และต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานทุกวัน จึงขอรถใช้ระหว่างซ่อมกับทางศูนย์ฯ”ศูนย์ฯ บอกว่าไม่มีรถสำรองให้ใช้ และไม่มีโครงการนี้ ! เมื่อเจอคำตอบแบบไร้เยื่อขาดใย คุณลลิตาก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ทิ้งรถไว้ให้ช่าง ส่วนตัวเองก็กลับมาบ้านและคอยติดตามถามไถ่ความคืบหน้าการซ่อมรถเป็นระยะๆคุณลลิตาส่งรถเข้าศูนย์ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน ช่างของศูนย์ฯ ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดฟันธงได้ว่าปัญหาที่รถมีกลิ่นไหม้เวลาวิ่งนั้นเกิดจากอะไรแน่“ช่างบอกว่าเปลี่ยนไดร์ชาร์ตให้ใหม่แล้ว พอทดลองติดเครื่องและเปิดแอร์อาการก็ยังเหมือนเดิม พอถึงวันที่ 19 กันยายน ช่างประจำศูนย์ฯ จึงโทรมาแจ้งว่าพบสาเหตุแล้ว แต่บอกว่าอาจเป็นที่แผ่นครัช เบรก หรือเกียร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด”ช่างบอกว่าต้องถอดออกมาดูก่อน ทางคุณลลิตาก็มองว่าเป็นการถอดไปเรื่อยๆ  จึงเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของรถคันนี้ และมองว่ารถคันนี้ไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน จึงติดต่อไปที่ศูนย์ฟอร์ดฮอตไลน์เพื่อแจ้งขอให้เปลี่ยนรถคันใหม่ให้“ฟอร์ดฮอตไลน์บอกว่า ทางบริษัททำได้แค่การเปลี่ยนอะไหล่ให้ คงจะไม่เปลี่ยนรถให้ใหม่เพราะรถได้มีการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ถามว่า ซ่อมแล้วจะมีอะไรรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าเสียอีกจะทำอย่างไร”“เสียอีกก็ต้องซ่อมอีก รถเสียก็ต้องซ่อม” ฟอร์ดฮอตไลน์ตอบคำถามของคุณลลิตาอย่างชัดถ้อยชัดคำพอได้รับคำตอบแบบนี้ คุณลลิตาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับทางฟอร์ดขอรับเงินดาวน์พร้อมค่างวดรถจำนวน 272,215 บาทที่ได้จ่ายไปแล้วคืน แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากการร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ ครั้งแรกคุณลลิตาต้องการให้ฟอร์ดเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ และต้องการเรียกร้องค่าขาดโอกาสในการใช้รถในระหว่างซ่อมด้วย แต่เมื่อคุณลลิตาได้มีการเจรจากับศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในเวลาต่อมา ก็ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจคือ ศูนย์ฟอร์ดฯ จะทำการเปลี่ยนไดร์ชาร์ตและยกชุดเกียร์ให้ใหม่ และจะมีการรับประกันอะไหล่ให้ 4 ปี หรือที่ระยะทาง 120,000 กิโลเมตร และฟรีโปรแกรมเช็คระยะ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คุณลลิตาจึงได้รถกลับมาใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และขอยุติเรื่องร้องเรียนในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัวกิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้นชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดแต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวันต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯกรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันโดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบแทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >