ฉบับที่ 137 คลอดเหมาจ่าย เลือกยังไงให้ถูกใจคุณแม่

ฉลาดซื้อฉบับนี้มาพร้อมกับบรรยากาศอบอุ่นไอรักรับช่วง “วันแม่” ด้วยข้อมูลดีๆ สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวจะเป็นคุณแม่ กับการเลือกใช้บริการ “แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย”   แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่ายสำคัญอย่างไร การคลอดแบบเหมาจ่าย ถือเป็นบริการที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจคลายกังวลเรื่องการคลอด เพราะทางโรงพยาบาลจะรวบรวมการบริการที่จำเป็นสำหรับการคลอดมาไว้ในแพ็คเก็จ ที่สำคัญคือมีการระบุราคาเอาไว้ให้เรียบร้อย ทำให้คุณแม่สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกโรงพยาบาลมีให้บริการการคลอดแบบเหมาจ่าย (โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน) ซึ่งแน่นอนว่าทุกที่ต่างแข่งขันกันเรื่องบริการและราคา ฉลาดซื้อจึงอยากนำเสนอคำแนะนำง่ายๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจเรื่องใช้บริการแพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย สิ่งที่คุณแม่ต้องได้รับจากบริการคลอดแบบเหมาจ่าย 1.แพทย์ ซึ่งต้องเป็น สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ กรณีผ่าตัดคลอดแล้วมีการใช้ยาสลบ ซึ่งในบางโรงพยาบาล เราสามารถเลือกแพทย์ที่จะทำการคลอดได้ด้วย   2.ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการคลอด ซึ่งในส่วนนี้คุณแม่ต้องดูรายละเอียดให้ดี เพราะบางโรงพยาบาลก็จัดยาและเวชภัณฑ์เฉพาะที่ใช้ภายในห้องคลอดหรือเกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น หากเป็นยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ อาจจะมีการคิดราคาเพิ่มนอกเหนือจากราคาที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ 3.ห้องคลอด ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยทำงานอยู่ในห้อง พยาบาล แพทย์ ผู้ช่วย อุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ ซึ่งในบางโรงพยาบาลจะมีการพาคุณแม่ไปชมห้องคลอดก่อนการตัดสินใจเลือกใช้บริการ 4.ค่าห้องพักทั้งของคุณแม่และคุณลูก ซึ่งในแพ็คเก็จจะมีการแจ้งระยะเวลาเอาไว้ชัดเจน เช่น 2 หรือ 3 คืน หากพักเกิน ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าบริการเพิ่มตามจำนวนวันที่เกินมา นอกจากนี้ด้วยความที่โรงพยาบาลเอกชนแข่งขันกันเรื่องบริการ การจัดทำห้องพิเศษต่างๆ ก็ถือเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ใช้จูงใจคุณแม่ที่อยากได้ความสะดวกสบาย ความมั่นใจ หรือความเป็นส่วนตัว เรียกว่าห้องพักโรงพยาบาลเอกชนเดี่ยวนี้ก็ไม่ต่างจากห้องพักตามโรงแรม 5 ดาว ซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างของห้องพักมีผลต่อความแตกต่างของราคา 5.การตรวจพื้นฐาน เช่น สุขภาพของคุณแม่ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด สุขภาพของลูกในท้องสภาวะการเต้นของหัวใจ ตรวจสุขของเด็กหลังคลอด ความผิดปกติทางสมอง การตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมนสัมพันธ์ธัยรอยด์ การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส 6.การให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ทารกแรกเกิด ซึ่งประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันวัณโรค วิตามินเค รวมทั้งการยาหยอดตาเพื่อป้องกันตาอักเสบ และการตรวจคัดกรองการได้ยิน   แพ็กเก็จคลอดเหมาจ่าย ตารางแสดงตัวอย่างราคาแพ็คเก็จการคลอดของโรงพยาบาลต่างๆ โรงพยาบาล คลอดแบบธรรมชาติ ผ่าตัดคลอด ค่าคลอดธรรมชาติ จ่ายเพิ่มกรณีฉีดยาที่ไขสันหลัง (ลดการเจ็บปวด) เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล ค่าผ่าตัดคลอด เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ บางแค   22,900 6,000 2 คืน 37,900 3 คืน ทักษิณ จ.สุราษฎร์ธานี 21,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 33,500 3 คืน บำรุงราษฎร์ 49,900 10,000 2 คืน 69,900 3 คืน ปิยะเวท 29,900 8,000 2 คืน 49,900 3 คืน พญาไท 37,000 6,000 2 คืน 51,000 3 คืน พระรามเก้า 39,000 6,000 2 คืน 59,000 3 คืน รามคำแหง 36,000   2 คืน 48,000 3 คืน ราษฎร์บูรณะ   20,000 4,000 2 คืน 34,000 3 คืน วิภาวดี 28,900 3,500 2 คืน 43,900 3 คืน นนทเวช 32,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 46,500 3 คืน ลาดพร้าว 29,900 ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 2 คืน 39,900 3 คืน เวชธานี 36,900 10,000 2 คืน 49,900 3 คืน สมิตเวช สรีนครินทร์ 44,900 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 68,700 3 คืน หัวเฉียว 39,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 3 คืน 50,000 4 คืน รามาธิบดี 4,000 – 5,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 8,000 – 10,000 3 คืน   *สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 *ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงควรสอบถามไปยังโรงพยาบาลก่อนใช้บริการ *ตามค่าใช้จ่ายจริง คือค่าบริการมาตรฐานปกติของโรงพยาบาล ควรสอบถามราคาและเงื่อนไขก่อนใช้บริการ   รู้ไว้ก่อนใช้บริการคลอดแบบเหมาจ่าย -ราคาค่าบริการต่างๆ ที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ โรงพยาบาลอาจปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า -คุณแม่ที่สามารถใช้บริการได้ต้องเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุครรภ์อย่างน้อย 36 สัปดาห์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ -คุณแม่ที่คลอดลูกแฝดหมดสิทธิใช้แพ็คเก็จ -ทางโรงพยาบาลมักจะขายพ่วงบริการอื่นๆ แถมไปกับแพ็คเก็จคลอด เช่น การทำหมัน ผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งถ้าจะใช้บริการก็ต้องมีการจ่ายเพิ่มตามราคาที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด -หากหลังจากคลอดแล้วไม่ว่าจะแม่หรือเด็กเกิดภาวะแทรกซ้อนต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม ค่าบริการก็จะถูกบวกเพิ่มตามแต่อาการเจ็บป่วยและวิธีการรักษา ในบางโรงพยาบาลก็ใช้วิธีคิดค่าใช้จ่ายแยก เช่น หากในกรณีที่คลอดแล้วคุณแม่ปกติแต่ลูกมีภาวะแทรกซ้อน ก็ใช้วิธีคิดค่าบริการเฉพาะของแม่แล้วหักของลูกออก โดยจะนำไปคิดค่าใช้จ่ายรวมกับการรักษาพยาบาลในส่วนความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังคลอด -บางโรงพยาบาลมีการกำหนดเรื่องของเวลา เช่น หากคุณแม่เจาะจงเลือกคลอดบางช่วงเวลาก็ไม่สามารถใช้ราคาแพ็คเก็จได้ เช่น โรงพยาบาลนนทเวช แจ้งไว้ว่าหากคุณแม่คนไหนต้องการคลอดช่วง 21.00 - 07.00 น. จะไม่สามารถใช้แพ็คเก็จผ่าคลอดได้ ---------------------------------------------------------------------------------------   สิทธิที่เกี่ยวกับการคลอด สิทธิประกันสังคม สำหรับคุณแม่ที่ใช้สิทธิประกันสังคม จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง (แต่ถ้าคุณพ่อก็ใช้ประกันสังคมเหมือนกันก็จะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 2 ครั้ง) โดยสามารถฝากคลอดกับโรงพยาบาลใดก็ได้ นอกจากนี้คุณแม่คนใหม่ยังจะได้รับเงินชดเชยการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะได้รับในอัตรา 50% ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ใช้สิทธิคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่แจ้งสิทธิไว้ โดยสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพการตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด สิทธิข้าราชการ นอกจากจะสามารถเบิกค่าคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้แล้ว คุณแม่ยังมีสิทธิลาคลอดได้อีก 90 วัน และที่ตากต่างจากสิทธิ์อื่นๆ คือคุณพ่อที่เป็นข้าราชการยังสามารถลาไปช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกได้ 15 วัน นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง 45 วัน How to คุณแม่มือใหม่ เพราะการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของลูกผู้หญิง แม้จะเป็นเรื่องที่น่าดีใจแต่ก็มีเรื่องที่ทำให้คุณแม่มือใหม่ (หรือแม้แต่คุณแม่มืออาชีพที่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว) ต้องหนักใจด้วยเช่นกัน กลัวไปสารพัดอย่าง ดังนั้นขอเอาใจคนใกล้เป็นแม่ หรือเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ด้วยเรื่องราวที่ควรรู้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้ 1.การฝากครรภ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ ซึ่งในการฝากครรภ์กับสถานพยาบาลต่างๆ คุณหมอหรือแพทย์ที่ดูแลจะให้ทั้งคำแนะนำในการดูแลครรภ์ การดูแลคุณแม่ไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจที่อาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ ที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพของคุณแม่ว่ามีภาวะเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือแม้แต่ตัวคุณแม่เองหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะต้นก็อาจจะช่วยรักษาหรือหาทางแก้ไขที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สำหรับระยะเวลาในการฝากครรภ์ที่เหมาะสม คือ ไปฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยในช่วงอายุครรภ์ 7 เดือนแรก (28 สัปดาห์) จะต้องมีการนัดพบกับคุณหมอผู้ดูครรภ์อย่างน้อยทุกๆ 4 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้ง ในช่วงเดือนที่ 8 ให้เพิ่มเป็น 2 อาทิตย์ต่อครั้ง พออายุครรภ์ครบ 9 เดือน ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด   2.เลือกสถานพยาบาล สิ่งที่คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและน่าจะเป็นคำถามลำดับแรกๆ ในใจของหลายๆ คนก็คือ “การเลือกโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์” ฉลาดซื้อมีคำแนะนำง่ายๆ ให้คุณแม่นำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลเพื่อการคลอด   -ดูที่ความสะดวกในการไปใช้บริการ แน่นอนว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ คุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกที่จะคลอดออกมาได้รับการบริการและดูแลอย่างดีที่สุด คุณแม่ส่วนใหญ่ก็อยากจะไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลชื่อดังเพราะมั่นใจเรื่องการบริการ แต่ก่อนเลือกก็อย่าลืมดูเรื่องความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ถ้าหากการไปพบหมอแต่ละครั้งนำมาซึ่งความยากลำบาก ยิ่งเมื่อคุณแม่ท้องใหญ่ขึ้นการเดินเหินไปไหนมาไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นหากจะเลือกโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์ก็อย่าลืมช่างใจระหว่างโรงพยาบาลที่ไว้วางใจกับโรงพยาบาลที่เดินทางไปได้สะดวก เวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินคุณแม่จะได้ไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที   -เปรียบเทียบค่าบริการ เรื่องของค่าบริการน่าจะเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจเรื่องแรกๆ ของหลายๆ คน ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบเรื่องของราคาให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุด ก็ต้องแบ่งประเภทของโรงพยาบาลออกเป็น โรงพยาบาลของรัฐ กับ โรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของราคาจะมีความแตกต่างกันมาก ในโรงพยาบาลของรัฐค่าบริการเรื่องการคลอดก็จะอยู่ในหลักพันบาทจนไปถึงหมื่นต้นๆ แต่หากเป็นของโรงพยาบาลเอกชนก็จะขยับสูงขึ้นไปถึงระดับหลายหมื่นบาท เรียกว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก แน่นอนว่าความแตกต่างของราคาก็ย่อมมีผลกับเรื่องของการให้บริการ ในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งจะผู้มาใช้บริการมากกว่าในโรงพยาบาลเอกชน การเข้าไปใช้บริการก็อาจต้องมีการรอคิวอยู่บ้าง คุณหมอที่มาตรวจก็อาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันไป เพราะคุณหมอในโรงพยาบาลรัฐมักไม่ใช่คุณหมอที่อยู่ประจำ แต่ก็สามารถติดต่อนัดเป็นพิเศษได้ แต่หากเป็นในโรงพยาบาลของเอกชนเราสามารถเลือกที่จะตรวจกับคุณหมอที่เราต้องการได้ สามารถเลือกห้องที่ต้องการได้ ไม่ต้องรอคิว ส่วนความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลของเอกชนรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้น อาจไม่จริงเสมอไป เพราะเดี๋ยวนี้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นราคาที่แพงกว่าอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้รับการบริการทีดีกว่า เอาเป็นว่าขอให้เป็นเรื่องของความสบายใจ ใครที่พอจะมีเงินอยู่บ้างแล้วรู้สึกว่าการคลอดโรงพยาบาลเอกชนน่าจะอุ่นใจสบายใจกว่าก็คงไม่เป็นปัญหาที่จะเลือกใช้บริการ แต่ถ้าใครไม่มีทุนทรัพย์มากพอหรืออยากใช้เงินอยากประหยัดจะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ต้องกังวลใจ ขอแค่ให้ศึกษาเรื่องบริการต่างๆ ให้เข้าใจ คำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เมื่อเลือกแล้วก็ขอให้ทำจิตใจให้สบาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพียงแค่นี้ก็รับรองได้ว่าการคลอดก็จะเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย   -ศึกษารายละเอียดการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล ปัจจุบันนี้บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของเอกชน) ได้จัดทำแพ็คเก็จการคลอดแบบเหมาจ่ายมาให้คุณแม่ได้เลือกใช้บริการ ซึ่งแน่นอนว่าจุดเด่นของโรงพยาบาลเอกชนก็คือเรื่องของการบริการ ดังนั้นหากคิดจะเลือกใช้บริการการคลอดแบบเหมาจ่ายกับโรงพยาบาลเอกชน คุณแม่ก็ต้องศึกษารายละเอียดบริการต่างๆ ที่จะได้รับให้ดี เพราะแต่ละที่ราคาไม่เท่ากัน (แถมราคาก็สูงมากด้วย) แม้บริการหลักๆ คือการทำคลอดเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ประเภทของห้องที่พัก บริการเสริมอื่นๆ ที่บางโรงพยาบาลอาจมีการเพิ่มเข้าไป อย่างการอบรมการเลี้ยงลูกให้กับคุณแม่ เทคนิคการให้นมแม่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้กับทารก ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรศึกษาเปรียบเทียบดูหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการบริการที่คุ้มค่าคุ้มราคา ตรงตามความต้องการของคุณแม่ มั่นใจและปลอดภัยมากที่สุด   -สอบถามข้อมูลจากคนที่มีประสบการณ์ เป็นธรรมดาที่คุณแม่ท้องแรกหรือคุณแม่มือใหม่ จะมีความกังวลใจเรื่องการคลอด การสอบถามพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้คุณแม่มือใหม่คลายความสงสัยและคลายความกังวลใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point