ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ระวัง! ยาเหลืองเขียวคร่าชีวิต

ผมเคยเห็นคลิปที่แพร่ในอินเตอร์เน็ต เด็กวัยรุ่นหญิงมีอาการชักเกร็งในดินโคลน จากข้อมูลที่ปรากฎในคลิปทราบว่าเด็กวัยรุ่นคนนี้ นำยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมารับประทานผสมกับยาแก้ไอหวัดเพื่อให้มึนเมา แล้วเกิดอาการชักเกร็ง เท่าที่ตามข่าวทราบว่า สุดท้ายเด็กวัยรุ่นหญิงคนนี้ได้เสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นก็มีข่าวปรากฏผ่านทางสื่อเป็นระยะๆ ว่าเด็กวัยรุ่น นำยาแก้แพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ยาป๊อคมาผสมกับยาแก้ปวดชนิดหนึ่งจำนวน 20 - 40 เม็ด (วัยรุ่นบางกลุ่มยังนำยาต่างๆ ไปผสมกับน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ หรือบางครั้งอาจใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดชนิดอื่นๆ มาผสมแทน) เพื่อทำให้เกิดอาการมึนเมา จนหลายคนเกิดอาการชักเกร็งต้องส่งโรงพยาบาลล่าสุดผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเนื่องจากมั่วสุมกันและมีการใช้ยาเพื่อให้มึนเมา มียาของกลางเป็นยาแบบนี้กล่าวมาข้างต้นมากมาย โดยแอบซื้อมาจากจังหวัดข้างเคียง จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ถูกชักชวนให้ลองใช้ยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว โดยบอกว่าถ้าใช้แล้วจะฟิน สมองโล่ง บางคนจะรับประทานยานี้ชนิดเดียว ครั้งละ 5 – 10 เม็ด ในขณะที่บางคนจะไปซื้อยาน้ำเชื่อมแก้แพ้หรือแก้ไอหวัดชนิดต่างๆ แล้วแกะแคปซูลเทยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว ใส่ลงไปครั้งละ 10 -20 แคปซูล เขย่าให้เข้ากัน แล้วจึงเทยาออกมาประมาณ 1 – 2 ฝา ใส่น้ำอัดลมดื่มแบ่งกันดื่ม เด็กเล่าให้ฟังว่าหลังจากดื่มจะมึนๆ สมองโล่ง บางคนก็มีอาการเกร็งจนเพื่อนต้องพาส่งโรงพยาบาล แต่หลายคนก็ยังไม่เข็ดเพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากจากข้อมูลทางวิชาการ ยาแคปซูลเหลืองเขียวคือ ยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งเป็นยาที่ ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ใช้สำหรับระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ในทางการแพทย์จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนยาป๊อค เป็นยาน้ำเชื่อม แก้แพ้ ลมพิษ เมารถเมาเรือ การใช้ยาเหล่านี้อย่างผิดๆ เช่น ใช้ในขนาดหรือปริมาณที่มากเกินปกติ หรือนำทั้งสองชนิดมารวมกัน (หรือใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดแทนยาป๊อค) การใช้ยาอย่างผิดๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว ชักเกร็ง และอาจอันตรายถึงชีวิตได้จากการกดการหายใจในแง่กฎหมาย ยาเหล่านี้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันได้ เนื่องจากเป็นยาจำเป็นที่ใช้ในการรักษาโรคบางอย่าง แต่ยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงจำกัดการจ่ายยาแก้ปวดทรามาดอล จะจ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 10 แคปซูล ส่วนยาแก้ไอน้ำเชื่อม จำกัดการขายไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด โดยแต่ละร้านต้องจำหน่ายไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และก่อนจ่ายจะต้องพิจารณาว่าผู้ซื้อมีความจำเป็นจะต้องใช้หรือไม่ และต้องทำบัญชีขายยาไว้เป็นหลักฐานด้วยด้วยเหตุที่ยาเหล่านี้เริ่มถูกควบคุมการจำหน่ายมากขึ้น เด็กวัยรุ่นจึงมักจะแบ่งกันเพื่อทยอยไปซื้อยามาสะสมไว้ หรือบางกลุ่มก็ใช้วิธีการสั่งซื้อยาทางตลาดมืดทางอินเตอร์เน็ต โดยให้ส่งทางไปรษณีย์รู้อย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองคอยสอดส่องดูแลลูกหลานให้ดีนะครับ และหากพบเห็นว่า ร้านยาแผนปัจจุบันร้านไหนจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม หรือมีร้านค้าชำแอบลักลอบจำหน่าย แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >