ฉบับที่ 269 กินบุฟเฟ่ต์ร้านหรูแต่เจอเศษแก้วบาดในช่องปาก

        การจ่ายเงินเพื่อเข้าร้านอาหารแน่นอนว่าทุกคนคงจะคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย สะอาด และปลอดภัยกันใช่ไหม เพราะว่ามันคือมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะต้องมีอยู่แล้ว ทว่าหลายครั้งเราก็พบข่าวการพบสิ่งแปลกปลอมในร้านอาหารและมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็บ่อยครั้ง คราวนี้มาในระดับร้านบุฟเฟ่ต์หรูเสียด้วย          คุณน้ำตาลร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณน้ำตาลกับแฟนได้ไปรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติหรูหราที่ห้างดังใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารบุพเฟ่ต์ที่มีอาหารหลากหลายทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และตะวันตก เรียกได้ว่าคุ้มเลยทีเดียวกับราคาที่จ่ายไป ราคาต่อคนก็ประมาณหนึ่งแบงค์เทากับอีกหนึ่งใบแดง มีตังค์ทอนนิดหน่อย แต่...ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะเธอได้เล่าว่าเมื่อเริ่มรับประทานไปจนอิ่มอาหารคาวแล้ว ก็เลยสั่งของหวานมาตบท้ายเป็น บิงซู ในขณะที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแตกในปาก ตอนแรกผู้ร้องก็คิดว่าก้อนหินหรือพลาสติกอะไรหรือเปล่าหนอ เลยพยายามเอาลิ้นดัน แต่คราวนี้มาพร้อมกับอาการเจ็บและเลือดออก ผู้ร้องจึงหยิบมันออกมาดูสรุปว่า มันคือเศษแก้ว จึงพยายามหยิบเศษพวกนั้นออกมาให้มากที่สุด และเข้าห้องน้ำเพื่อล้างปาก         หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางแฟนและเธอก็ได้เข้าไปพบผู้บริหารของร้านดังกล่าว ซึ่งตอนแรกผู้ร้องแจ้งว่าทางร้านยินดีจะลดค่าอาหารให้ 50% ซึ่งทางผู้ร้องเองปฏิเสธที่รับเงื่อนไขนั้น เนื่องจากตกใจในมาตรฐานของร้านและกังวลเรื่องที่เศษแก้วอาจเข้าไปรบกวนในทางเดินอาหาร ขอให้ทางผู้บริหารไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนั้นผู้บริหารก็เลยพิจารณาใหม่และให้ทางผู้ร้องกับแฟนนั้นทานฟรีสำหรับอาหารมื้อนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ร้องได้เข้าไปโรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจปรากฎว่า ในช่องปากของผู้ร้องยังคงมีเศษแก้วปักอยู่ที่เหงือกอยู่ถึง 2-3 อัน ซึ่งแพทย์ก็ได้ถอนออกมาพร้อมให้ยาฆ่าเชื้อโรคมาด้วย เพราะในเศษแก้วอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ได้ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2,000 กว่าบาท จึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ ว่าสามารถทำสิ่งใดเพิ่มเติมได้อีกบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางผู้ร้องได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ  เพื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ให้คำแนะนำดังนี้           1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ (สน.ในพื้นที่ของห้างซึ่งร้านค้าตั้งอยู่)  เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้แกล้งหรือใส่ความทางร้านค้าแต่ประการใด        2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านค้า แบบไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนไขเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย        3. เมื่อพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการติดต่อจากทางคู่กรณี ทางมูลนิธิอาจจะเชิญผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง        4. และหากหลังจากมีการไกล่เกลี่ยแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้  ผู้ร้องสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร        ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 66 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อทางผู้ร้องอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่า ได้ติดต่อกับทาง สคบ. เพื่อให้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เนื่องจากตัวผู้ร้องเองไม่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งกลัวว่าอาจจะทำให้เสียเปรียบจึงต้องการหน่วยงานของรัฐเข้ามาพูดคุยเป็นตัวแทน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้คำปรึกษากับทางผู้ร้องเสมอ  

อ่านเพิ่มเติม >